ภาพพระบฏ

“พระบฏ” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้น และแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า “บฏ” มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือผืนผ้า

จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรม เสนอหลักฐานว่า ชาวสยามนิยมทำพระบฏถวายเป็นพุทธบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังนี้

“หลักฐานการกล่าวถึงพระบฏในดินแดนประเทศไทยที่เก่าที่สุด ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ พบที่วัดช้างล้อม จึงเรียกว่าจารึกวัดช้างล้อม ระบุปีพุทธศักราช ๑๙๒๗ กล่าวถึง นักบวชรูปหนึ่งชื่อว่า พนมไสดำ ได้สร้างพระบฏขนาดใหญ่สูงถึง ๗ เมตร เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่พระมหาธรรมราชา และนอกจากนี้ในจารึกยังกล่าวถึงพระบฏจีน ที่มีขนาดเล็กกว่าและใช้ในการประดับตกแต่งภายในอาคาร

คติการสร้างพระบฏตั้งแต่ครั้งสุโขทัยได้มีการสืบทอดต่อกันมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ พระบฏที่เก่าแก่ที่สุดที่พบ คือพระบฏที่พบได้จากกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ขนาดสูง ๓.๔๐ เมตร และกว้าง ๑.๘๐ เมตร เป็นฝีมือสกุลช่างล้านนา อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นภาพพระพุทธเจ้าปางลีลาขนาดใหญ่ กึ่งกลางผ้า ด้านข้างเป็นแถวของเทพชุมนุม ด้านบนเป็นพระเจดีย์ทอง ส่วนด้านล่างเป็นแถวของภิกษุ กษัตริย์และชาวเมือง ซึ่งเป็นเรื่องราวในพระพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระบฏที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพระบฏที่เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา”

ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น

“…ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาว ๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี…” (กรมศิลปากร ๒๕๑๗)

สำหรับต้นกำเนิดของพระบฏนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ หลักฐานที่น่าเชื่อถือคือวิทยานิพนธ์เรื่อง

“เรื่องราวและหน้าที่ของพระบฏในสมัยรัตนโกสินทร์” โดย ทิฆัมพร ตระกูลกิตติไพศาล มหาวิทยาลัยศิลปากร ดังนี้

“การเขียนภาพพระพุทธเจ้าบนผืนผ้านั้นอาจมีที่มาจากตำนานพระพุทธฉาย กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรูทูลขอพระพุทธฉายจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระพุทธฉายประทับบนผืนผ้าผืนหนึ่ง

การประดับอาคารศาสนสถานด้วยพระบฏเป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่พุทธศาสนามหายานไปถึง เช่น จีน ญี่ปุ่นดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่ราชวงศ์สุยและถัง (ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒)

นอกจากนี้ยังพบหลักฐานอ้างอิงถึงจิตรกรรมบนผืนผ้าปรากฏในพระสุตตันตปิฎกแปลจากภาษาบาลีได้ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตรกรผู้กระทำจิตรกรรมนั้น เมื่อมีเครื่องเขียนและสีต่าง ๆ พร้อมแล้ว เป็นต้นว่า ครั่ง ขมิ้น สีเขียว สีแดง จึงกระทำจิตรกรรม เป็นรูปบูราหรือรูปสตรี ประกอบด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ลงบนแผ่นกระดานอันราบเรียบ หรือบนฝาผนัง หรือบนแผ่นผ้า”

(บทที่ ๑ วิทยานิพนธ์ “เรื่องราวและหน้าที่ของพระบฏในสมัยรัตนโกสินทร์” โดย ทิฆัมพร ตระกูลกิตติไพศาล)

ความนิยมทำผ้าพระบฏขนาดใหญ่มาก ๆ เท่าภูเขาเลากานั้น มีในทิเบต เรียกกันว่า “ผ้าทังก้า”

คำว่า “ทังก้า” มาจากภาษาทิเบต ทัง (Thang) แปลว่า “ธง” กา (Ka) แปลว่า “ภาพวาด” ดังนั้น ทังก้า จึงมีความหมายว่า จิตรกรรมบนผืนธง ประวัติความเป็นมาของทังก้ายังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เท่าที่มีการค้นคว้าและรวบรวมจิตรกรรมทังก้าในแบบอย่างศิลปะหิมาลัย พบผ้าทังก้าที่เก่าแก่ที่สุดในเนปาล วาดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑

ผ้าทังก้า (THANGKA) หรือ ที่ภาษาไทย เรียกว่า ผ้าพระบฏ คือภาพวาดและภาพปักบนผืนผ้าไหม เขียนเป็นรูปของพระพุทธเจ้า, เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า (เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก), เทพเจ้า, พระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในพุทธศาสนา หรือเป็นภาพจักรวาลตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาวัชรยานสายทิเบต

ผ้าทังก้าถือเป็นพุทธศิลป์ชั้นสูงของพุทธศาสนิกชนสายวัชรยาน อันได้แก่ ชาวทิเบต เนปาล สิกขิม และภูฏาน ทำขึ้นเพื่อเทิดทูนบูชาพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์องค์ที่ตนเองนับถือ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายในการประกาศธรรม โดยนิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูปเพื่อเป็นที่เคารพบูชา นอกจากนี้ ผ้าทังก้ายังมีสถานะดั่งยันต์ กันภูตผีและวิญญาณร้าย รวมถึงอวิชชาความโง่เขลามิให้มาแผ้วพาน และสุดท้ายคือประดับให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่สำหรับภูฏาน รัฐบาลยังกำหนดให้ใช้เป็นเครื่องบรรณาการแด่อาคันตุกะที่มาจากประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอีกด้วย

(ข้อมูลจาก https://www.9chaichana.com/blogview-54.html)

ภาพพระบฏสยามนั้น เริ่มแรกอาจจะได้รับอิทธิพลของพุทธมหายาน แต่แม้ภายหลังจากที่สยามนิยมพุทธเถรวาทสายลังกาแล้ว การวาดภาพพระบฏก็ยังเป็นที่นิยมสืบทอดกันมาจนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน

ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด

ภาพพระบฏสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน อายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘-๑๙พระบฏที่ได้จากกรุพระเจดีย์วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ภาพพระบฏสมัยอยุธยา พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน อายุในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗

คอลัมน์ มรดกวัฒนธรรมจากบ้านจิมฯ

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๐
ปีที่ ๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com