ยโสธร*

*ทางกองบรรณาธิการขอขอบพระคุณ อ.วิวัฒน์ วงศ์บุญหนุน ที่ให้เกียรติมาช่วยเล่าเกร็ดน่ารู้ต่าง ๆ ของเมืองยโสธร ซึ่งเป็นประสบการณ์ตอนที่ท่านทํางานที่จังหวัดนี้ ตลอดจนขยายความในบางประเด็น ซึ่งช่วยทําให้การเรียบเรียง บทความชิ้นนี้มีสีสันมากขึ้น

*****


ข้อมูลประจําจังหวัด  จ.ยโสธร จังหวัดที่ ๗๑ ของประเทศไทย มีเนื้อที่ ๔,๑๖๒ ตร.กม. อาณาเขตทิศ เหนือติดต่อกับ จ.มุกดาหาร ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.อํานาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ทิศใต้ติดต่อกับ จ.ศรีสะเกษ ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.ร้อยเอ็ด ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบมีภูเขาขนาดเล็กเป็นบาง บริเวณในตอนเหนือของจังหวัด ด้านตะวันตกของจังหวัดมีลํานํ้ายังไหลผ่านจากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่แม่นํ้าชี

ในด้านเศรษฐกิจ จ.ยโสธร มีการทํานาปลูกปอแก้ว มันสําปะหลัง และถั่วลิสง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ของยโสธรนั้นได้ชื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีที่สุด นุ่มและหุงขึ้นหม้อ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตแตงโม คุณภาพดีของประเทศ จ.ยโสธร เดิมเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงยกฐานะเป็นเมืองยโสธร มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ รวม เข้าอยู่ในบริเวณอุบลราชธานี จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อยุบบริเวณอุบลราชธานี จัดตั้งเป็นจังหวัดอุบลราชธานี จึงเป็นอําเภอใน จ.อุบลราชธานี ถึง พ.ศ. ๒๕๑๕ มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๗๐ ให้จัดตั้ง จ.ยโสธร แยกจากพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

ปัจจุบัน จ.ยโสธรมี ๙ อําเภอ คือ ๑. เมืองยโสธร ๒. กุดชุม ๓. ค้อวัง ๔. คําเขื่อนแก้ว ๕. ทรายมูล ๖. ไทยเจริญ ๗. ป่าติ้ว ๘. มหาชนะชัย ๙. เลิงนกทา อําเภอเมือง ทิศเหนือติดต่อกับ อ.ทรายมูล และ อ.กุดชุม ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.ป่าติ้ว ทิศใต้ติดต่อ กับ อ.คําเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด อ.เมือง ยโสธร ตั้งเป็นอําเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เดิมเรียกชื่อว่า อ.ปราจิมยโสธร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ยโสธรใน พ.ศ. ๒๔๕๖ เมื่อมีการจัดตั้ง จ.ยโสธร ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๕ อ.ยโสธร ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัด จึงเรียกชื่อว่า อ.เมือง ยโสธร มี ๑๘ ตําบล คือ ๑. ในเมือง ๒. ขั้นไดใหญ่ ๓. ขุมเงิน ๔. เขื่องคํา ๕. ค้อเหนือ ๖. ดู่ทุ่ง ๗. เดิด ๘. ตาด ทอง ๙. ทุ่งแต้ ๑๐. ทุ่งนางโอก ๑๑. นาสะไมย์ ๑๒. นํ้าคําใหญ่ ๑๓. สําราญ ๑๔. สิงห์ ๑๕. หนองคู ๑๖. หนองเป็ด ๑๗. หนองเรือ ๑๘. หนองหิน

จ. ยโสธรมีจํานวนประชากร ๕๔๐, ๒๔๒ คน (ข้อมูลเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ จากเว็บไซต์สํานักงานสถิติ แห่งชาติ และอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน)

ต้นไม้ประจําจังหวัด : ต้นยางนา

ดอกไม้ประจําจังหวัด : ดอกบัวแดง

คําขวัญประจําจังหวัด : เมืองประชาธิปไตยบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ

ดวงตราประจําจังหวัด : รูปพระธาตุอานนท์ มี ดอกบัวรองรับใต้ฐานพระธาตุ และรูปสิงห์ขนาบข้าง ซึ่ง สิงห์ ๒ ตัว หมายถึงสิงโตที่พระวรวงศาพบบริเวณที่ตั้ง เมือง “บ้านสิงห์ท่า” และ “บ้านสิงห์โคก” พระเจดีย์ หมายถึง พระธาตุอานนท์ ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของ จังหวัดอุบลราชธานี เดิมอําเภอยโสธรขึ้นอยู่กับจังหวัด อุบลราชธานี ต่อมาโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ มีการยกฐานะอําเภอ ยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร ดังนั้น เพื่อสืบประวัติว่าครั้ง หนึ่งจังหวัดยโสธรเคยสังกัดอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้คงภาพ “ดอกบัว” ไว้เป็นอนุสรณ์

จังหวัดยโสธรเป็นเส้นทางผ่านสู่ประตูอินโดจีน เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง ถึง แม้ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการค้า แต่ยโสธรมีชื่อเสียงในฐานะ “เมืองประชาธิปไตย” เพราะเป็นจังหวัดที่ ประชาชนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุดของประเทศโดยครองตําแหน่งหลายสมัย อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์การ พัฒนาจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ได้กําหนดให้จังหวัดยโสธรเป็นเมืองอุตสาหกรรมและแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมือง ควบคู่กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นจุดพักสินค้าระหว่างโครงการชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกกับอินโดจีน

ตราประจำจังหวัดยโสธร

ประวัติความเป็นมา

ยโสธรเป็นเมืองเก่า จากพงศาวดารเมืองยโสธรบันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๐ พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์ ได้นําผู้คนอพยพจะไปอาศัยกับเจ้าเมืองนครจําปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทําเลดี จึงได้ลงหลักปักฐานสร้างเมืองขึ้นที่นี่ เรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองสิงห์ท่าเป็น “เมืองยโสธร” มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรราชวงศา เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ เมืองยโสธรก็ถูกยุบเป็นอําเภอ และขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เฉพาะตัวอําเภอเดิมมีเนื้อที่ ๑,๔๘๓ ตาราง กิโลเมตร จากนั้นใน พ.ศ. ๒๕๑๕ มีการยกฐานะยโสธรเป็นจังหวัดที่ ๗๑ ของประเทศไทยแยก ออกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะปฏิวัติได้ออกประกาศฉบับที่ ๗๐ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ มีข้อความสําคัญว่า ให้แยกพื้นที่อําเภอยโสธร อําเภอเลิงนกทา อําเภอมหาชนะชัย อําเภอกุดชุม อําเภอคําเขื่อนแก้ว และอําเภอป่าติ้ว จากจังหวัดอุบลราชธานี และจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ยโสธร เดิมมีชื่อเมืองว่า “ยศสุนทร” แปลว่า “ยศอันดีงาม” ในอดีตชาวเมืองเรียกตัวเอง อย่างภาคภูมิใจว่าชาวเมืองยศ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ยะโสธร” แปลว่าทรงไว้ซึ่งยศ เมื่อเรียกสั้น ๆ จะเหลือแต่ “ยะโส” ซึ่งดูไม่เป็นมงคล ทางจังหวัดจึงเปลี่ยนเสียใหม่เป็น “ยโสธร”

การเดินทาง

การคมนาคมจากกรุงเทพฯ โดยทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน ตอนกรุงเทพฯ-สระบุรี) ระยะทาง ๑๐๗ กม. แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒ (มิตรภาพ ตอนสระบุรี-บ้านวัด) ระยะทาง ๒๐๙ กม. แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๗ (บ้านวัด-พล) ระยะทาง ๕๐ กม. แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๐๒ (บ้าน ใหม่ไชยพจน์-ยโสธร) ระยะทางอีก ๑๗๓ กม. รวมระยะทาง ๕๓๙ กม.

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ

เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน อยู่ที่วัดสงเปือย บริเวณแหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย ตําบลสงเปือย อําเภอคําเขื่อนแก้ว เป็นเจดีย์เก่าแก่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ได้บริจาคทุนทรัพย์ บูรณะต่อเติมขึ้นใหม่ พระปลัดเขียน อัมมาพันธ์เป็นผู้นําดินจากสังเวชนียสถาน ๔ แห่งใน ๒ ประเทศมาบรรจุไว้ ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี จะมีพุทธศาสนิกชนไปบูชาสักการะเจดีย์แห่งนี้เป็นจํานวนมาก

พระธาตุก่องข้าวน้อย และภาพวาดจินตนาการเรื่อง “ลูกฆ่าแม่” ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ก่องข้าวน้อย”

ธาตุก่องข้าวน้อย หรือธาตุตาดทอง อยู่ที่ บ้านตาดทอง ตําบลตาดทอง อําเภอเมืองฯ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมแบบอีสาน สูงประมาณ ๑๐ เมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕ ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อว่าสร้างขึ้นจากวรรณกรรมมุขปาฐะ (Oral Literature) ของจังหวัดยโสธรและอุบลราชธานี เรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับลูก ที่ฆ่าแม่ด้วยโทสะอันเกิดจากความหิว ชาวบ้านบางคนเรียกว่า “เจดีย์ไถ่บาปลูกฆ่าแม่”

แท้จริงพระธาตุองค์นี้เป็นเจดีย์เก่าสร้างใน พุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๔ ศิลปะลาวผสมล้านนา บริเวณที่ตั้งองค์ธาตุน่าทึ่งยิ่งกว่านั้น เพราะบรรดาเสมาหินทรายที่ถูกทิ้งเกะกะอยู่แถวนั้น เป็นของเก่ายุคทวารวดีหลุดไปอยู่ที่นั่นมาก ทั้งที่ย่านนั้นไม่ใช่ย่านที่ค้นพบหินทรายสีแดง ซึ่งบริเวณนั้นน่าจะเป็นที่ตั้งสิ่งสําคัญอะไรสักอย่างมาก่อนมีองค์ธาตุก็ได้ ขณะนี้ที่ลานองค์ธาตุเป็นที่ตั้งของตลาดนัดไปแล้ว

งานสักการะธาตุก่องข้าวน้อย มีขึ้นในเดือน ๕ (ประมาณเดือนเมษายน) ชาวบ้านจะมาสรงนํ้า ปิดทอง และอธิษฐานให้ฝนตกตามฤดูกาล

แต่เอกสารบางเล่มระบุว่าธาตุก่องข้าวน้อยที่แท้จริงอยู่ในเขตวัดทุ่งสะเดา ตําบลทุ่งตาดทอง เป็นสถูปเจดีย์ ๒ องค์ องค์แรกมี ๘ เหลี่ยม องค์หลังเหลือแต่ฐาน ป้ายกรมศิลปากรระบุอายุ สร้างราว ๒๐๐ ปี และพบว่าในองค์สถูปพบภาชนะบรรจุกระดูกและพระพิมพ์จํานวนหนึ่งขณะนี้ทางวัดเอากระดูกและพระพิมพ์ไปเก็บแล้ว ค่อนข้างเด่นชัดว่าเป็นธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่แน่ เพราะป้ายกรมศิลปากรระบุไปตรง ๆ ว่า “ธาตุลูกฆ่าแม่” แต่ปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเรื่องขององค์เจดีย์ และสถานที่ตั้ง

โบราณสถานดงเมืองเตย เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย เมืองเตย เป็นชุมชนโบราณ ขอบเขตเมืองมีรูปทรงไม่สมํ่าเสมอ มีร่องรอยคูนํ้าและคันดิน ๑ ชั้นล้อมรอบเป็นรูปวงกลม บริเวณกลางเนินปรากฏซากโบราณสถาน ๑ หลัง พบชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบอาคารหลายชิ้น ทําด้วยแท่งหินทราย พบใบ เสมาหินทรายแดง และศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมหลายชิ้น นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าดงเมืองเตย มีพัฒนาการต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ก็ปรากฏหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสมัยวัฒนธรรมทวารวดีและสมัยวัฒนธรรมขอม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ รวมถึงมีการค้นพบจารึกดอนเมืองเตย ณ ที่แห่ง นี้ด้วย


โบราณสถานดงเมืองเตย ร่องรอยหลักฐานโบราณคดีที่แสดงถึงถิ่นกําเนิดของอาณาจักรเจนละ 

(ขอบคุณภาพจาก อ.นันทพร บุญพรหม)

โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ หรือวัดอัครเทวดามีคาแอล อยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ ตําบลคําเตย อําเภอไทยเจริญ เป็นโบสถ์ในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ แรกสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ บูรณะเป็นอาคารไม้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวมุมมองใหม่ (Unseen Thailand) ประเภทสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

พระธาตุกู่จาน อยู่ที่วัดบ้านกู่จาน ในแหล่งโบราณคดีบ้านกู่จาน ตําบลกู่จาน อําเภอคําเขื่อนแก้ว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุฯ กว้าง ๕.๑๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร ตั้งอยู่กลางลานวัดกู่จาน ดูลักษณะแล้วคล้ายคลึงกับองค์พระธาตุพนมต่างกันเพียงขนาด ซึ่งพระธาตุกู่จานมีขนาดเล็กกว่าพระธาตุองค์นี้เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ ทุก ๆ ปี ชาวตําบลกู่จานจะนํานํ้าอบนํ้าหอมไปทําพิธีสรงนํ้าพระธาตุในช่วงเช้าของวันเพ็ญเดือน ๖ (ประมาณเดือนพฤษภาคม) ตอนบ่ายจะไปทําพิธีสรงนํ้ากู่ หลังจากนั้นจะพากันไปที่หนองสระพัง หรือ ตระพัง เพื่อนํานํ้าที่หนองสระพัง มาทําพิธีสรงนํ้าพระธาตุและใบเสมา ซึ่งพิธีกรรมนี้ต้องกระทําเป็นประจําทุกปี มีความเชื่อว่าหากไม่ทําพิธีนี้แล้ว จะทําให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล


องค์พระธาตุกู่จาน ตั้งอยู่กลางลานวัดกู่จาน

พระธาตุยโสธร (พระธาตุอานนท์) อยู่หน้าพระอุโบสถวัดมหาธาตุ บริเวณย่านเมืองเก่า บ้านสิงห์ท่า เขตเทศบาลเมืองยโสธร อําเภอเมืองฯ เป็นพระธาตุเก่าแก่และสําคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน ซึ่งมีรูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับ ธาตุก่องข้าวน้อย ส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุของพระอานนท์ รูป ทรงเจดีย์ได้รับอิทธิพลศิลปะล้านช้าง (ลาว) และงานสมโภชพระธาตุฯ จะจัดขึ้นเป็นประจําทุกปี ในเดือนมีนาคม พิพิธภัณฑ์ของโบราณ อยู่ที่แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย ตําบลสงเปือย อําเภอคําเขื่อนแก้ว เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณเมืองโบราณดงเมืองเตย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตําบลสงเปือย โดยมีสํานักสงฆ์ดอนเมืองเตยที่ตั้งอยู่คอยดูแลความสะอาดในพิพิธภัณฑ์ฯ มีแท่นศิลาที่สันนิษฐานว่าเป็นเตียงของเจ้าเมืองศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจําวันในยุคสมัยหนึ่ง เช่น เตารีดที่ใช้ความร้อนจากถ่านไม้ ถ้วยชามดินเผา เชี่ยนหมากรูปทรงต่าง ๆ ตะกร้าไม้ไผ่ กระชังจับปลา โม่หิน กระต่ายขูดมะพร้าว ฯลฯ


พระธาตุอานนท์ โบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองยโสธร

ภูถํ้าพระ อยู่ที่ตําบลกุดเชียงหมี อําเภอเลิงนกทา เป็นเนินที่มีเพิงหินคล้ายถํ้าอยู่ข้างใต้บริเวณชะง่อนภูด้านทิศใต้เพิงหินหรือถํ้ากว้าง ประมาณ ๑.๕ เมตร ยาวประมาณ ๔ เมตร จากปากเพิงหินหรือถํ้าไปทางเหนือ สามารถเดินลอด และมีทางแยกไปตามซอกอุโมงค์ ซึ่งมีพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้อยู่เป็นจํานวนมาก ใกล้ทางขึ้นภูมีซุ่มประตูอิฐภูโง (ประตูโขง) ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของภูถํ้าพระไปไกลประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง ซึ่งชื่อภูถํ้าพระมีที่มากล่าวคือ ในอดีตบริเวณนี้มีสัตว์ป่าอาศัยชุกชุม พรานป่าที่จะขึ้นมาล่าสัตว์มักบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองผืนป่า และเมื่อล่าสัตว์ได้ก็จะแก้บนด้วยการแกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูปนําไปประดิษฐานไว้ตามเพิงผาหรือถํ้าเงิบ นอกจากนี้ชาวบ้านก็มักนําพระพุทธรูปขึ้นไป ประดิษฐานเป็นการสะเดาะเคราะห์ จึงพบพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่เป็นจํานวนมากเป็นที่มาของ ชื่อ “ภูถํ้าพระ” ในปัจจุบัน


ภายในภูถํ้าพระเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จํานวนมาก โดยเฉพาะพระนอน

ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า อยู่บริเวณคุ้มบ่านสิงห์ท่า อําเภอเมืองฯ เป็นย่านเมืองเก่าที่มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองยโสธร และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เหมาะสําหรับการเดินทางท่องเที่ยวชมอาคารเก่านิทรรศการประวัติเมืองศาสนสถานศึกษา หาความรู้เรื่องการทําบั้งไฟ หรือการทําอาหาร และขนม เช่น ลอดช่อง ขนมจีนนํ้าวัว และปลาส้ม ซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารด้วยภูมิปัญญาโบราณที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความดั้งเดิมของเขตนี้ยังอยู่ครบตั้งแต่คนย่านนี้ล้วนเป็นชาวเวียงจันทน์ที่มากับพระวอพระตา บ้านเรือนไม่ว่าเรือนไม้หรือตึกเป็นสิ่งก่อสร้างรูปทรงเก่าย่านการค้าเดิมเป็นตึกแถวยุคอาณานิคมฝรั่งเศส ในอดีตย่านนี้คึกคักมากเป็นร้านขายยา ขายเครื่องอุปโภคบริโภคนําสมัย และเป็นร้านขายทอง ปัจจุบันเงียบเหงาวังเวงอย่างบอกไม่ถูก เมื่อเดินเข้าไปในย่านนี้คล้ายเดินย้อนเข้าไปใน อดีต ๗๐ – ๘๐ ปีของยโสธรโดยแท้ เป็นฉากหนังย้อนอดีตที่ไม่ต้องเสียเงินสร้างได้ดีที่สุด


ย่านกลางประชาคมใหญ่แถว ๆ บริเวณวัดสิงห์ท่า อําเภอเมืองฯ คือศูนย์กลางดั้งเดิมของตัวเมืองยโสธรเก่าติดลํานํ้า ชีก่อนจะย้ายตัวเมืองไปยังสถานที่ปัจจุบัน (ขอบคุณภาพจาก อ.วิวัฒน์ วงศ์บุญหนุน)

วัดมหาธาตุ อยู่ในบริเวณย่านเมืองเก่า บ้านสิงห์ท่า สร้างขึ้นคู่กับบ้านสิงห์ท่าและเมืองยโสธรเมื่อกว่า ๒๐๐ ปี มาแล้ว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ (พระแก้วหยดนํ้าค้าง) พระพุทธรูปประจําเมืองยโสธรปางสมาธิ และภายในวัดยังมีหอไตรกลางนํ้า สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงรัชกาลที่ ๔ – ๕

วัดหอก่อง อยู่ในชุมชนคุ้มวัดหอก่อง ตําบลฟ้าหยาด อําเภอมหาชนะชัย สิ่งสําคัญในวัดหอก่องคือธงมาลัยข้าวตอก ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ศาลาวัดทั้ง ๒ ชั้น เป็นธงมาลัยที่พุทธศาสนิกชนร้อยมาถวายวัดในแต่ละปี  มาลัยข้าวตอกใช้เวลาร้อยนานนับเดือน หลังจากเข้าขบวนแห่ และถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ก็จะนํามาเก็บรวบรวมไว้ที่ศาลาวัดหอก่อง มีจํานวนมากมายหลายขนาดและหลากสี

ประเพณีสําคัญที่จัดขึ้น ณ วัดหอก่อง คือ บุญพวงมาลัย ในวันขึ้น ๑๔ คํ่า เดือน ๓ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ต่อเนื่องกับบุญข้าวจี่ ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๓ หรือวันมาฆบูชา ชาวตําบลฟ้าหยาดจะนําพวงมาลัยข้าวตอกและดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดหอก่อง ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมานานนับ ๑๐๐ ปี

หมู่บ้านทําหมอนขิดบ้านศรีฐาน อยู่ที่บ้านศรีฐาน ตําบลศรีฐาน อําเภอป่าติ้ว มีชื่อในการทอผ้าขิดและเย็บเป็นหมอนส่งจําหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทํารายได้รองจากการทํานา


บริเวณทางเข้าหมู่บ้านศรีฐาน มีหมอนขิดขนาดใหญ่จำลองเป็นสัญลักษณ์

หมู่บ้านทุ่งนางโอก อยู่ที่ตําบลทุ่งนางโอก อําเภอเมืองฯ เป็นหมู่บ้านชาวนาที่มีอาชีพเสริม คืองานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่เป็นกระติบเก็บข้าวเหนียวนึ่ง หวดนึ่งข้าวเหนียว และผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่สานชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนและเป็นของที่ระลึก

หมู่บ้านนาสะไมย์ อยู่ที่อําเภอเมืองฯ มีชื่อเสียงในเรื่องการจักสานไม้ไผ่ การแกะสลักไม้ เช่น บานประตูโบสถ์ วิหาร หรือพิพิธภัณฑ์บาน ใหญ่ ๆ ด้วยไม้แผ่นเดียว ไม่ว่าไม้สักหรือไม้ตะเคียนเป็นลายกนก ลายเครือเถาประกอบเทวดา นางฟ้า ลูกค้าจะมาจากวัดวาอารามเป็นส่วนใหญ่ การทําเครื่องทองเหลือง การสร้างและประดิษฐ์เกวียนไม้โบราณที่สืบทอดมานานกว่า ๓ ชั่วอายุคนในชุมชนดั้งเดิม อีกทั้งช่างที่นี่บอกว่าสามารถแกะลวดลายบนแผ่นหินอ่อนได้ หากมีคนจ้าง มีเครื่องมือดี ๆ พร้อม และมีแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ที่ดี

หอไตรวัดมหาธาตุ เป็นหอไตรโบราณ   อยู่ที่วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่กลางสระนํ้า ขอบสระก่ออิฐถือปูนแบบเดียวกับหอไตรอีสานทั่วไป สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย – สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน ตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยง ชั้นวางคัมภีร์ที่นํามาจากนครเวียงจันทน์ ขณะนี้ น่าห่วงว่าหอไตรกลางนํ้าค้างคาวต่างยกโขยงไปจับจองเป็นที่อยู่และถ่ายมูล – ปัสสาวะรดคัมภีร์ ใบลานเสียหายไปมากแล้ว ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปหมด หากไม่แก้ปัญหาคัมภีร์เก่า ๆ วัดนี้จะไม่เหลือเลย

หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ อยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ (วัดนาเวียง) อําเภอทรายมูล อายุมากกว่า ๑๐๐ ปีสร้างอยู่กลางสระนํ้า เป็นอาคารไม้สถาปัตยกรรมล้านช้าง (ลาว)


หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์ ก่อสร้างโดยช่างชาวลาวที่อพยพมาเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านนาเวียง

แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย อําเภอคําเขื่อนแก้ว เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณดงเมืองเตยในลุ่มนํ้าชีตอนปลาย มีวิวัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีพบขวานหินขัดภาชนะดินเผา และขี้แรจากการถลุงเหล็ก พบเศษภาชนะดินเผาแบบเดียวกับที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ปนกับตะกรัน เหล็ก และพบโครงกระดูกมนุษย์ในภาชนะดินเผา คล้ายประเพณีฝั่งศพครั้งที่สองของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีหลักฐานว่าเคยเป็นชุมชนในสมัยวัฒนธรรมขอม

สวนสาธารณะพญาแถน อยู่ติดกับอ่างเก็บนํ้าลําทวน ถนนแจ้งสนิท เขตเทศบาลเมืองยโสธร มีทางนํ้าเล็ก ๆ คดเคี้ยวล้อมรอบพื้นที่ ๑๘ ไร่ ๒ งาน ๕๗ ตารางวา และมีสวนไม้ดอกไม้ประดับ รวมทั้งดอกบัวแดง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจํา จังหวัดยโสธร สังคีตศาลาและเวทีการแสดงกลางแจ้ง สนามเด็กเล็ก และสวนสุขภาพ เป็นสถานที่จัดงานประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร งานประเพณีลอยกระทง ในอดีตเคยเป็นสถานที่แข่งเรือสั้น ซึ่งเป็นเรือที่ชาวยโสธรใช้หาปลาขนาด ๕ – ๗ ฝีพาย ยาวประมาณ ๙ เมตรขึ้นไประยะทาง ๒๕๐ เมตร ภายหลังการแข่งเรือสั้นย้ายไปที่ลํานํ้ามูนบริเวณตําบลเขื่องในจังหวัดยโสธร

มิวเซียมพญาคันคาก สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของคนยโสธร 

(ขอบคุณภาพจากอาจารย์ ดร.อลงกต แผนสนิท)

ส่วนหาดทรายแม่ชี เป็นหาดทรายตามธรรมชาติริมฝั่งงแม่นํ้าชี บริเวณชายหาดมีร้านขายอาหารพื้นเมือง เช่น ส้มตํา กุ้งแม่นํ้า ปลาเผา และไก่อบฟาง สําหรับแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลํานํ้าชีหลง (ซึ่งเป็นลํานํ้าสาขาของแม่นํ้าชี) มีปลามากกว่า ๖๐ ชนิด มิวเซียมพญาคันคาก อาคารพญานาค และสิ่งก่อสร้างประดับมีลักษณะเป็นอาคารรูปพญาคักคาก หรือ คางคก สูงเท่าตึก ๕ ชั้น ตั้ง อยู่ริมแม่นํ้าทวน โดยภายในอาคารพญาคันคาก มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความสําคัญ ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนอีสาน เช่น ตํานานบั้งไฟ บริเวณใกล้เคียงกันมีอาคารรูปพญานาค และปูนปั้นแสดงวัฒนธรรมการแห่บั้งไฟของคนท้องถิ่น

 

ไหว้พระขอพร

พระธาตุก่องข้าวน้อย, วัดมหาธาตุ, วัดบ้านธาตุ, พระพุทธบาทจําลองบ้านมหาชนะชัย, พระธาตุคําบุ ฯลฯ

เทศกาลงานประเพณี


งานบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในช่วงวันหยุดสัปดาห์ ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน และมีชื่อเสียงที่สุดของ จังหวัดยโสธร ประกอบด้วยริ้วขบวนมากมายทุกอําเภอต่างมีดีเอาของดีมาอวด พอ ๆ กับที่กรุงรี โอเดจาเนโร สาธารณรัฐบราซิล ที่มีเทศกาลเต้นแซมบ้า แห่แหนไปตามถนน ทุกชุดการแสดงต่างเตรียมการมานานและมีการประชันความโดดเด่นในตัว

ประเพณีงานบุญบั้งไฟเกิดขึ้นจากความเชื่อ เพื่อขอให้เทวดาช่วยให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หรือที่ชาวยโสธรเรียกว่า “พญาแถน” เทพเจ้าแห่งฝน ภายในงานประเพณีจะมีการทําบั้งไฟในสมัยโบราณโดยใช้ไม้ไผ่อัดด้วยดินประสิว และผสมด้วยวัสดุอีกหลายชนิด ซึ่งเป็นความลับของแต่ละหมู่บ้าน แหล่งทําบั้งไฟและดอกไม้ เพลิงที่ดังที่สุดอยู่ที่หมู่บ้านสิงห์ท่า และความสามารถอย่างเยี่ยมในการทําบั้งไฟนี้เอง ทําให้ยโสธรกลายเป็นเมืองที่ผลิตช่างทําบั้งไฟเพื่อส่งออกมากที่สุด จนคิดว่าบั้งไฟที่ใช้ยิงขึ้นฟ้าทุกวัน นี้ล้วนทําจากฝีมือช่างทําบั้งไฟยโสธรทั้งสิ้น จนถึงกับเมืองผลิตพลุและดอกไม้เพลิงอันโด่งดังของญี่ปุ่น ได้ทําสัญญาเป็นเมืองฝาแฝดเมืองพี่ เมืองน้องกับยโสธรในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑

แต่ในปัจจุบันวัฒนธรรมวิถีชีวิตได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านได้นำท่อพีวีซีมาใช้แทนไม้ไผ่ จากนั้นจึงมีการทําบั้งไฟมาจุดแข่งขันระหว่างหมู่บ้านว่าบั้งไฟของใครจะจุดได้สูงกว่ากัน แต่หากบั้งไฟของหมู่บ้านใดแตก หรือไม่พุ่งขึ้น เจ้าของบั้งไฟจะถูกโยนลงบ่อนํ้าโคลน เพื่อเป็นการแก้เคล็ด

อีกทั้งบั้งไฟที่จะใช้จุดเป็นจรวดพุ่งขึ้นสู่อากาศที่ทุ่งพญาแถนสมัยนี้นั้นใช้หลักวิชาทําบั้งไฟ ในรูปจรวดมากขึ้น อุบัติเหตุพลาดพลั้งระหว่างการผลิตหรือการจุดถึงบาดเจ็บล้มตายเพราะเกิดระเบิดไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าบั้งไฟหมื่นหรือบั้งไฟแสน สมัยนี้การจุดบั้งไฟใช้รีโมตคอนโทรลแทนคนเข้าไปจุดกันแล้ว

งานแข่งเรือยาวประเพณียโสธร จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปีในลํานํ้าชี บริเวณท่าคําทอง หลังวัดศรีธรรมาราม อําเภอเมืองฯ เพื่ออนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล ๙ งานแข่งเรืออีสานสีสันแห่งสายนํ้าโขงชีมูล

งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จัดขึ้นที่บริเวณเทศบาลตําบลฟ้าหยาด อําเภอมหาชนะชัย ในช่วงเดือนยี่และเดือน ๓ (ประมาณเดือน มกราคมและกุมภาพันธ์) ชุมชนต่าง ๆ จะนําข้าวตอกที่คัดจากข้าวเปลือกที่ดีที่สุด มาร้อยเป็นมาลัยและประดับตกแต่งแทนดอกมณฑารพเพื่อนำไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดฟ้าหยาดและวัดหอก่อง ซึ่งเป็นวัดโบราณประจําตําบล

งานพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิก จัดขึ้นในวันแห่งความรักหรือวันวาเลนไทน์ (Valentine, s Day) ๑๔ กุมภาพันธ์ของทุกปีที่โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ หรือวัดอัครเทวดามิคาแอล

สินค้าและของฝากขึ้นชื่อ

ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี ที่หุงกินแล้วหอมอ่อนนุ่มโด่งดังมากขณะนี้คนที่โน้นกําลังตื่นเต้น เพราะค้นพบสูตรการหุงข้าวหอมมะลิยโสธรกินอร่อยกว่าใคร ๆ โดยถ้าหุงโดยใช้นํ้าดื่มยี่ห้อหนึ่งแทนนํ้าประปา จะได้ข้าวหอมมะลิกลิ่นหอม ราวกับใส่ใบเตยหุง จะออกรสชาติอย่างน่ากินอย่างที่สุด, ผ้าไหมมัดหมี่, หมอนขวานผ้าขิดบ้าน ศรีฐาน, กระติบข้าว, แตงโม, ต้นปูเล่ ผักอเนกประสงค์ ที่ใช้กินหรือเป็นไม้ประดับก็ได้, ลอดช่องยโสธร มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครทํา เส้นเล็ก ๆ เท่าเส้นซ่าหริ่ม, ปลาส้ม, เครื่องลายคราม

สําหรับสวรรค์ของนักนิยมกินแมลง หากเข้าไปในตลาดสด ไม่ว่าในอําเภอใหญ่หรือตลาดวางขายแบกะดินในหมู่บ้านเล็ก ๆ จะพบไข่มดแดง แมลงนานาชนิด ทั้งปีกอ่อนและปีกแข็ง กบ เขียดตัวเล็กตัวน้อย เห็ดนานาชนิดและผักพื้นเมืองอีกมามายวางขายกันเกร่อ นับเป็นสวรรค์ของนักนิยมกินแมลงโดยแท้

ร้านอาหารแนะนํา (ร้านดังชาวพื้นบ้าน) เมื่อไปเยือนเมืองยโสธร

อาหารพื้นเมืองอีสาน ได้แก่ ร้านอาหาร “รุ่งเรือง” ถนนแจ้งสนิท, ร้าน “ส้มตําปลาร้ายายดม”, ร้าน “ส้มตําป๋าหวิน” ที่ลูกค้านิยมสั่งปลาร้าสดปลาหมอ ฉีกจิ้มกับข้าวเหนียวร้อน ๆ กินคู่แกล้มส้มตํา และร้านส้มตํา “สองนางผู้ยิ่งใหญ่” ที่มีเมนูส้มตํา และเสริมความอร่อยลํ้ายิ่งขึ้นด้วยแกงหน่อไม้สด อ่อมหอยขม และแกงขี้ เหล็กใส่หนังวัวหรือเอ็นแก้วเปื่อย และที่ขาดไม่ได้คือจําพวกส้มผักกาดใบเขียว ส้มผักกะหลํ่าปลี ส้มใบกระเทียมหอม หรือส้มผักเสี้ยน ห่อหอยเชอรี่ หอยโข่งต้มสุก ก่อนขยุ้มกินกับส้มตําปลาร้า สูตรนี้จะขายดีช่วงหน้าแล้ง เพราะชาวยโสธรนิยมซื้อไปนั่งกินรวมกลุ่มกับญาติ ๆ ตามริมลําชี, ร้าน “คุณน้องอาหารไทย” เมนูเด็ดคือ ไข่ลูกเขย ที่ใช้วิธีต้มไข่เป็ดเป็นยางมะตูมในการปรุง เมนูต้มเค็มปลาทู และผัดเผ็ดกบ, ร้าน “เพ็ญข้าวแกง ปักษ์ใต้” ซึ่งเมนูเด็ด เช่น แกงไตปลา แกงส้มหน่อไม้กุ้งหวาน แกงส้มปลาซาบะใส่หน่อไม้ และคั่วกลิ้งหมู ที่เลือกใช้เนื้อส่วนที่ติดกระดูกอ่อน จึงกรุบกรอบติดใจลูกค้า,

“ร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นกุดชุม” มีทั้งหมู เนื้อ ไก่ ปลา ที่ริมถนนแจ้งสนิท โดยเฉพาะสูตรการทําลูกชิ้นเนื้อที่เลือกเนื้อโคนขาหลังของวัวที่ชําแหละสด ๆ แล่เอ็น ออกจนได้เนื้อล้วนมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก และ “ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋นยาจีนตั้งมิตรดี” ซึ่งคนยโสธรรู้จักกันในนาม “ก๋วยเตี๋ยวเจ๊กกวย” ที่ต้มกระดูกขาวัวทํานํ้าซุปเนื้อตุ๋นก็จะใช้เนื้อวัวสด ๆ บริเวณฝากระดูกข้างวัวหรือที่เรียกว่าเนื้อต่อเนื้อเสือก่อนเนื้อลาย และเอ็นแก้ว ล้างนํ้าให้สะอาด ก่อนนํามาลงหม้อต้มสูตรยาจีนโบราณที่เตรียมไว้ มีพริกสดจิ้มกะปิ ยอดผักโหระพา ถั่วฝักยาว เกาเหลาแห่งที่ทําจากเอ็นแก้วและเนื้อลายตุ๋นยาจีนเป็นอาหารเครื่องเคียง, ร้านลาบเป็ด “บ้านสะเดา” ตําบลตาดทอง อําเภอเมืองฯ ทางเข้าเจดีย์ลูกฆ่าแม่ รวมถึงมีอาหารแมลงนานาชนิดที่ “ร้านมิตรคันทรี่” ที่ห้องอาหารในโรงแรมใน โรงแรม เจ.พี. เอมเมอรัลด์ หากชอบทานไก่ย่าง ให้ไปที่ร้านไก่ย่างดงแคนใหญ่ ขายเต็มย่านข้างทางพรืดไปหมดตามถนนแจ้งสนิท – อุบลฯ ในเขตอําเภอคําเขื่อนแก้ว ถ้าอยู่อําเภอคําเขื่อนแก้วให้ไปที่ “ร้านไก่แก้ว”

**********

อ้างอิง/ภาพประกอบ

กรมศิลปากร. (๒๕๑๖). เมืองในภาคอีสาน. พระนคร: พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอุดรธานี (จิตร จิตตะยโศธร) ณ ฌาปนสถาน วัด โพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี วันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖.

กอง บ.ก.. (๒๕๕๘, สิงหาคม). “พิพิธภัณฑ์พญา คันคาก ยโสธร แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” ในคอลัมน์ “รายงานพิเศษ”. นิตยสารทางอีศาน. ๔(๔๐): ๑๒๕ – ๑๒๙. 

กองบรรณาธิการ. (๒๕๕๓). นายรอบรู้ : ยโสธร. กรุงเทพฯ: สารคดี.

กองบรรณาธิการข่าวสด. (๒๕๕๔). ก๋วยเตี๋ยวเด็ด ๗๗ จังหวัด. กรุงเทพฯ: มติชน

————–. (๒๕๕๕). ข้าวแกงเด็ด ๗๗ จังหวัด. กรุงเทพฯ: มติชน.

————–. (๒๕๕๖). ส้มตําเด็ด ๗๗ จังหวัด. กรุงเทพฯ: มติชน.

เกียรติประวัติ ธนรัฐลือสกล. (๒๕๕๕). ประวัติศาสตร์ไทย ๗๗ จังหวัด. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้ บุ๊คส์.

ชนิดา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์, บรรณาธิการ. (๒๕๕๐). ท่องเที่ยวไทย. กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง.

ดวงธิดา ราเมศวร์. (๒๕๓๗). ประเทศไทย ๗๖ จังหวัด. กรุงเทพฯ: มายิก.

เตชินี ชวลิตนิธิผลลาภ. (๒๕๔๕). คําขวัญ ๗๖ จังหวัด พร้อมตราประจําจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.

ถวิล มนัสน้อม. (๒๕๔๔). ไทยรัฐนําเที่ยวทั่วไทย. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น.

ธวัช ปุณโณทก. (๒๕๕๓). นิทานพื้นบ้าน. นนทบุรี: ปันรู้.

ธวัชชัย ปทุมล่องทอง. (๒๕๔๖). เกร็ดน่ารู้ ประเทศไทย ๗๖ จังหวัด. กรุงเทพฯ: นํ้าฝน.

บุรีรัตน์ สามัตถิยะ. (๒๕๔๔). ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

ยโสธร. (๒๕๕๓). กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.).

 ราชบัณฑิตยสถาน.(๒๕๔๕). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้ง ที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดยโสธร. (๒๕๔๒). กรุงเทพฯ: คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและ จดหมายเหตุฯ.

วิรัช ถิรพันธุ์เมธี. (๒๕๔๗). คําขวัญและสัญลักษณ์ ๗๕ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ ๕.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จํากัด.

วิโรจน์ เอี่ยมเจริญ; และคนอื่น ๆ. (๒๕๕๓). ไทยแลนด์แอตลาส. กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

เว็บไซต์สํานักงานจังหวัดยโสธร เข้าถึงได้จาก www.yasothon.go.th

เว็บไซต์สํานักงานสถิติแห่งชาติ เข้าถึงได้จาก www.nso.go.th

สัมภาษณ์ อ.วิวัฒน์ วงศ์บุญหนุน วันพุธที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ ตึกคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัย ราชภัฏศรีสะเกษ.

 

ขอบพระคุณคณาจารย์ผู้ให้ข้อมูลและคําแนะนํา

อ.ดร.อลงกต แผนสนิท วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

อ.วิวัฒน์ วงศ์บุญหนุน คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

อ.นันทพร บุญพรหม คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

คอลัมน์ The Plateau 20 Provinces ที่ราบสูง 20 จังหวัด

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๔๖
ปีที่ ๔ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
ฉบับ: เส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

Related Posts

คําผญา (๒)
พระสุเมรุกลางใจเรา
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com