ลูกอีศานรังสรรค์ลูกอีสาน

ลูกอีศานรังสรรค์ลูกอีสาน

“ของกินบ่ได้กินมันซิเน่า
ของเก่าบ่ได้เล่ามันซิลืม”

เป็นผญาในหนัง “ลูกอีสาน” ของผู้กำกับ คุณาวุฒิ มันโดนใจจนไม่ลืม และเมื่อเปิดหนังสือลูกอีสาน เพียงเริ่มต้นก็ได้รสอีสานแซ่บลืมไม่ลงเช่นกัน

“47 ปี ครั้งกระโน้น มีเรือนเสาไม้กลมหลังหนึ่งยืนอาบแดดอันระอุอ้าวอยู่ใต้ต้นมะพร้าวอันสูงลิ่ว ยามลมพัดฉิวมาแรง ๆ ผู้เป็นพ่อจะบอกลูกเล็กทั้งสามคนให้รีบลงไปอยู่ที่อื่น มะพร้าวต้นนี้อาจจะหักลงมาทับเรือนเอาก็ได้ เด็ก ๆ ที่อยู่บนเรือนอาจจะแขนขาหัก

ถ้าลมพัดไม่แรงนัก เด็กสามคนก็จะพากันนอนฟังเสียงซู่ซ่าตามข้างฝาและมองหลังคาสายตาเขม็ง ฝากั้นตับหญ้าคาถูกแดดเผาจนแห้งกรอบ เมื่อโดนลมพัด มันจึงมีเสียงซ่า ๆ ถ้ามีเสียงพ่อบอกว่าแล่นลงไปไว ๆ ก็จะได้วิ่งลงไปเร็วที่สุด

เรือนหลังนี้อยู่ในหมู่บ้านทางภาคอีสานแห่งหนึ่ง ทุกครัวเรือนจึงมีสภาพเหมือนกัน คือมียุ้งข้าวอยู่ใกล้ตัวเรือน และคอกวัวคอกควายอยู่ใต้ถุนเรือน รอบ ๆ หมู่บ้านก็เป็นทุ่งนาและหนองน้ำ ซึ่งจะแห้งขอดบ่อย ๆ เลยหนองน้ำไปอีกหน่อยจะเป็นป่าโปร่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่าโคกอีแหลว วันไหนแดดร้อนจัดจะไม่มีเด็กๆวิ่งในถนนเพราะพื้นดินส่วนมากเป็นทราย แต่การไปมาที่ไหน ๆ ก็เดินด้วยตีนเปล่าไม่ว่าดินทรายจะร้อนสักเพียงใด” (ลูกอีสาน คำพูน บุญทวี หน้า 7)

คนเขียนถ้าไม่ใช่ลูกอีสานจะถ่ายทอดสภาพร้อน ๆ แล้ง ๆ ถึงขนาดหมู่บ้านร้างเช่นนี้ได้อย่างไร ทำให้ได้คิด เมื่อเห็นหนังสือลูกอีสาน ฉบับครบรอบ 40 ปี หน้าปกเป็นรูปหนุ่มคูน ถือฉมวกห้อยข้องหาปลา คนออกแบบปกเป็นลูกอีสานบ้างหรือไม่ ทำไมจึงได้รสชาติเช่นนี้

เมื่อไปเดินในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เรื่องลูกอีสานยังอยู่ในห้วงความคิด จนเมื่อเดินไปถึงสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน ของ ป้ากิมหลั่น ภรรยาลุงคำพูน บุญทวี ป้ากิมหลั่น หรือลัลนา เจริญสิทธิชัย ยืนอยู่หน้าบูธพอดี จึงเข้าไปขอความรู้ดูหรือจะเป็นอย่างไร

สวัสดีครับป้า ป้างงละซี ผมบอกเป็นแฟนลุงคำพูน รู้จักกับป้าตั้งแต่สมัยป้าขายหนังสือกับลุงนั่นแหละ ป้าหัวเราะ ป้าครับ หนึ่งคำถามที่อยากรู้มานาน

“ป้าให้ใครออกแบบปกจัดรูปเล่มหนังสือ คนที่ออกแบบปกรูปเล่ม ลูกอีสาน เป็นลูกอีสานบ้างหรือเปล่าครับ?”

ป้าหัวเราะ “แต่ก่อนที่อยู่กับสำนักพิมพ์อื่น ป้าไม่รู้ แต่เมื่อมาอยู่กับลุงคำพูนกับป้า แล้วให้คนที่เป็นลูกอีสานทำให้ตลอด” แล้วป้าก็ถาม “อยากรู้จักเขาหรือ” ครับ ผมตอบป้ากิมหลั่นด้วยความอยากรู้จริง ๆ บังเอิญหรือตั้งใจใช่เลย ที่คนออกแบบปกลูกอีสานเป็นลูกอีสานด้วยเช่นนี้

“อาจารย์โด้ อยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รู้จักไหม นั่นแหละลูกอีสานแท้ ทำลูกอีสานให้ป้ามาตลอด” เพราะป้าเฉลยความจริงให้รู้ จึงอยากรู้จักตัวตนอาจารย์โด้ในบัดดล

ผลงานการออกแบบปก จัดรูปเล่ม ทั้งหมดฝีมือของลูกอีสาน ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ ลูกอีสานบ้านส้มป่อย ราษีไศล ลูกอีสานที่รังสรรค์ลูกอีสาน

อาจารย์โด้ หรือ อาจารย์วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ ของลูกศิษย์ที่ป้ากิมหลั่นบอก เป็นคนเกิดที่บ้านส้มป่อย ตำบลส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อีสานโดนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2517 สมัยเรียนหนังสือได้อ่าน ลูกอีสาน ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ครูให้อ่านให้รู้สึกชอบเพราะเป็นเรื่องวิถีชีวิตใกล้ตัวของเรา และไม่น่าเชื่อว่าเรื่องใกล้ตัวเช่นนี้ลุงคำพูนจะเอามาเขียนเป็นเรื่องราวได้

ส้มป่อย บ้านที่อยู่ตอนเด็ก ๆ สภาพทางบ้านกับในหนังสือ ลูกอีสาน ก็ยังมีให้เห็น สมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดอ่านหนังสือ และลูกอีสานก็เป็นหนังสือที่อ่านแล้วมีความสุขประทับใจเล่มหนึ่งในชีวิต ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้มาทำ ลูกอีสาน หนังสือที่เราผูกพันนั้นได้

อาจารย์โด้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากราษีไศล แล้วได้มาเรียนต่อที่ภาควิชาศิลปะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยไม่ไปแวะสอบเข้าที่ไหนเลย ระหว่างที่เรียนบ้านสมเด็จฯก็ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ อยู่ฝ่ายศิลป์ออกแบบปก ทำอาร์ตเวิร์ค ให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้าไปด้วย เรียนอยู่สามปีครึ่งก็จบแล้วได้ทำงานต่อที่ดอกหญ้า ทำงานโฆษณา แล้วได้กลับมาสอนที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากนั้นไปเรียนต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบปริญญาเอก ด้านพัฒนศึกษา เป็น ดร.คนแรกของบ้านส้มป่อยเลยทีเดียว

งานหลักของอาจารย์สอนออกแบบนิเทศศิลป์ อยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชามนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรม โดยเป็นประธานสาขาวิชา Graphic and Information Design หรือออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ชีวิตทำงานศิลปะในหลายด้าน นับแต่เป็นนักออกแบบอัตลักษณ์ชุมชนติดอันดับคนหนึ่ง ที่ตระเวนให้ความรู้และออกแบบให้กับชุมชนทั่วประเทศทุกภาคกับอมรินทร์ทีวี โดยไปทำเกี่ยวกับออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ทำสื่อช่วยในการขาย และสำหรับในภาคอีสาน ลูกอีสานคนนี้ก็ไปทำเช่นที่ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครพนม ที่บ้านเดื่อ นครพนมนั้นก็ยังใช้อัตลักษณ์ทำสินค้าชุมชนสืบมาจนทุกวันนี้

ลงไปสัมผัสเรียนรู้ ศึกษาวิเคราะห์แล้วจึงออกมาเป็นแบบผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นชุมชนต่าง ๆ ที่ได้ไปทำผลงานอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ไปลงมือออกแบบให้กับชุมชน

เป็นนักออกแบบฟอนต์ตัวหนังสือ ได้เพียรออกแบบไว้ถึง 50-60 ฟอนต์ ดังเช่นฟอนต์ลูกอีสานนี้ก็ออกแบบโดยทั้งหมด ทั้งภาษาไทย อังกฤษ สไตล์ลูกอีสานเป็นสไตล์ลูกทุ่ง พัฒนามาจากรูปทรงปากกาปลายตัดหรือสปีดบอลล์ เป็นฟอนต์ที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่น ช่างเขียนเขียนจากเครื่องมือในอดีต และพัฒนาให้สมัยใหม่ เรียบง่ายขึ้น

ได้ศึกษาตัวหนังสือจากหนังสือของยุคสมัยวังบูรพาเฟื่องฟู แล้วพัฒนาออกแบบเป็นฟอนต์ “วังบูรพา” จนได้รับรางวัลนริศ หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ประเภทการออกแบบตัวอักษรประดิษฐ์ ใน พ.ศ. 2560

นอกจากนั้นอาจารย์โด้ยังเป็นนักเขียน เริ่มเขียนเรื่องสั้นลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ลงมติชนสุดสัปดาห์ แล้วก็ขยับต่อเป็นการเขียนนวนิยาย ที่ชอบเป็นพิเศษแนวทางนิยายสืบสวนสอบสวน เรียกว่ารหัสคดีตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา เขียนนิยายมาถึงวันนี้ 6 เรื่องแล้ว ได้แก่ ทริปส์ ดอนเกลอ แท็กซี่มิเตอร์ อพาร์ตเมนท์ โดมิโน่ และแบรนด์ ใน 6 เรื่องนั้น มีนิยายสะท้อนภาพเหตุการณ์วิถีชีวิตทางอีสานอยู่ 2 เรื่องคือ ทริปส์ กับ ดอนเกลอ

“ทริปส์” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกฎหมายสิทธิบัตรพันธุ์พืช ความน่ากลัวที่เขาเขียนแล้วให้ตระหนักคือพันธุ์พืชพื้นเมืองจะหมดสิ้นไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด ฟักทอง ชาวบ้านตามหมู่บ้านซื้อพันธุ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่มาปลูกแล้วเอาไปใช้ทำพันธุ์ต่อไปไม่ได้ ชาวบ้านจะต้องตกเป็นเบี้ยล่างของบริษัททำพันธุ์พืชนั้นตลอดไป ส่วนพันธุ์พื้นเมืองที่ไม่นิยมปลูกเพราะขายไม่ได้ก็จะค่อย ๆ หายไป

ส่วน “ดอนเกลอ” เป็นชื่อของป่าไม้ ดอนเกลอ เขียนเล่าถึงวิถีชนบทอีสาน ที่ต้องปะทะกับวิถีแห่งความเจริญ ความทันสมัยที่เข้ามา เป็นเรื่องการอนุรักษ์ปะทะกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท จากการเล่าผ่านการตัดถนน คนในชนบทก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นกับชีวิตเพิ่มขึ้นมากมาย สภาพคนในชุมชนไม่สามารถควบคุมบังคับได้ ปรับตัวได้ก็อยู่รอด ปรับตัวไม่ได้ก็พ่ายแพ้ 

ฟอนต์ลูกอีสาน ที่คิดค้นประดิษฐ์เพื่อหนังสือลูกอีสานโดยเฉพาะเหรียญรางวัลวันนริศ ซึ่งเป็นประเภท ออกแบบประดิษฐ์ตัวอักษร ที่ได้รับใน พ.ศ. 2560โดมิโน นิยายที่ลูกอีสานเขียน เป็นนิยายสืบสวนสอบสวนดอนเกลอ นิยายเล่มหนึ่งที่มีฉากวิถีชีวิตของชนบทอีสาน

****

อาจารย์โด้บอกอีกว่า “ชีวิตของการเป็นลูกอีสาน เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กต้องใช้ความพยายามสูง ใช้ชีวิตหาโอกาสได้ยาก ชีวิตไม่มีเครื่องทุ่นแรง ต้องทำด้วยตัวเอง อยู่ในโซนยากลำบาก จึงต้องพยายามด้วยตัวเอง นับเป็นทุนที่สำคัญในการแสวงหาความรู้ เพื่อให้ก้าวพ้นความยากลำบากนั้น และใช้ความรู้มาพัฒนาชีวิตและสังคมรอบข้าง เท่าที่กำลังของเราจะพึงทำได้”

ชีวิตลูกอีสาน ที่พัฒนาชีวิตต่อสู้ด้วยการศึกษา มุ่งมั่นทำงานเพื่อสังคมและแผ่นดินถิ่นอีสาน เช่นลูกอีสาน ดร.วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ นั้นเป็นความหวังเป็นกำลังสำคัญของสังคม นี่คือลูกอีสานที่รังสรรค์ลูกอีสาน และถิ่นอีสาน ไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้และเจริญรอยตาม

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com