ข้าวโพด หรือข้าวสาลี

เมื่อเริ่มเขียนถึงข้าวโพด ก็ทำให้นึกถึงสมัยเด็ก ได้ยินแม่นมร้องเพลงขับกล่อมว่า

วัดเอยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี
พอลูกเขยตกยาก แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี

ความคิดตอนเป็นเด็กก็เลยคิดว่า ข้าวโพดกับข้าวสาลีเป็นข้าวอย่างเดียวกัน
แต่เมื่อโตขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้นจึงได้รู้ว่า

ข้าวโพดก็คือข้าวโพด
ข้าวสาลีก็คือข้าวสาลี

แต่ที่คนโบราณเอามาร้องเป็นเพลงกล่อมเด็กก็เพราะว่า ในสมัยก่อนไม่ได้มีการแยกแยะออกมาให้ชัดเจนก็กลายเป็นว่า

ข้าวโพดกับข้าวสาลี เป็นข้าวเดียว

แต่ความเป็นจริงแล้ว จะเป็นข้าวเดียวกันก็ได้ เพราะว่า
คนภาคกลางเรียกข้าวโพดว่าข้าวโพด ไม่ได้เรียกว่า “ข้าวสาลี” แต่คนภาคเหนือเรียกข้าวโพดว่า “ข้าวสาลี”

ส่วนคนภาคอีสานก็เรียก “ข้าวโพด”

สำหรับคนใต้ ที่ชอบพูดสั้น…สั้น ก็จะเรียกข้าวโพดว่า “โพด” ห้วน…ห้วน
หากจะเขียนถึงตามหลักโภชนาการก็ถือว่า

ข้าวโพด…ข้าวสาลี ต่างก็เป็นธัญพืชตระกูลต้นหญ้าเช่นกันจะผิดแผกแตกต่างว่า

“ข้าวโพด”…เป็นธัญพืชที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกากลาง

จึงจะเห็นว่าคนอเมริกากลางเช่นเม็กซิโก จะกินแป้งที่ทำจากข้าวโพดเป็นอาหารหลัก

“ข้าวสาลี”…เป็นธัญพืชที่เกิดขึ้นในแถบตะวันออกกลางของทวีปเอเชีย คนละแวกแถบนั้น ตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมีย ลุ่มน้ำไทกรีส – ยูเฟรทีส ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของโลก

ผู้คนในละแวกแถบนั้น เช่น อิรัก อิหร่าน ตุรกี ซีเรีย หรืออาหรับ จึงกินข้าวสาลีเป็นอาหารหลัก

(ก็เช่นเดียวกับ “ข้าวเจ้า…ข้าวเหนียว” เป็นธัญพืชที่เกิดในเอเชียตะวันออกกลาง ข้าวสองพันธุ์นี้จึงเป็นอาหารหลักของคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ลาว เขมร เวียดนาม รวมไปถึงฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)

สำหรับข้าวโพด ที่มีแหล่งกำเนิดเกิดขึ้นในทวีปอเมริกากลาง เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อใด ไม่มีหลักฐานแน่ชัด

แต่ในประวัติศาสตร์ของการเดินทางค้นพบโลกใหม่ หรือทวีปอเมริกา ของ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ไม่มีการระบุได้แน่ชัดว่า

“โคลัมบัส” ได้นำพันธุ์พืชข้าวโพด ที่คนพื้นเมือง หรือที่เรียกกันผิด…ผิดว่า “คนอินเดียแดง” เข้ามาสู่ทวีปยุโรปหรือไม่

แต่ที่มีหลักฐานชัดเจนก็มี “มะเขือเทศ” กับ “มะละกอ” รวมทั้ง “กาเกา” (โกโก้) ซึ่งเป็นพืชของทวีปอเมริกา บรรดานักเดินทางทางทะเลทั้งสเปน และปอร์ตุเกส นำมาสู่ทวีปยุโรปทั้งสิ้น

ซึ่งเรื่องนี้จึงแตกต่างไปจาก “ข้าวสาลี” ที่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นธัญพืชที่คนต่างประเทศนำเข้าสู่ประเทศไทย

ข้าวสาลี ภาษาอังกฤษเขียนว่า “WHEAT”

ข้าวโพด ภาษาอังกฤษเขียนว่า “CORN, MAIZE

ข้าวเจ้า ภาษาอังกฤษเรียกว่า “RICE”

(ข้าวเจ้ากับข้าวเหนียว รวมเรียกว่า “RICE” เหมือนกัน)

มีหลักฐานจากบันทึกของบาทหลวง “ลาลูแบร์” จารชนฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” เคยเขียนไว้ว่าในสยามไม่มีแป้งสาลีสำหรับใช้ทำขนมปัง จึงต้องนำมาจากอินเดีย

ทำให้ขนมปัง หรือขนมฝรั่ง ที่คนปอร์ตุเกส หรือคนฝรั่งเศสจะต้องคิดค้นเพื่อทำอาหารหลักนี้ขึ้นเอง

จึงจะเห็นได้จาก “ขนมฝรั่ง” ซึ่งความจริงก็คือ “ขนมเค้ก” ของฝรั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่มีเนย นม ต้องใช้กะทิจากมะพร้าวแทน ซึ่งก็เป็นสูตรการทำขนมฝรั่งที่เรียกว่า “กุฎีจีน”

ขนมฝรั่งกุฎีจีน จึงเป็นขนมเค้กดัดแปลงด้วยเครื่องไทย ใช้แป้งสาลี กับไข่ แต่ใช้กะทิ แทนนมเนย และประดับด้วยผลไม้แห้งของจีน

ด้วยเหตุที่ข้าวสาลี เป็นธัญพืชที่ปลูกในอากาศอบอุ่น ประเทศไทยจึงไม่สามารถปลูกข้าวสาลีได้

แต่ในขณะเดียวกัน “ข้าวโพด” ซึ่งเป็นธัญพืชที่ขึ้นได้ในอากาศเดียวกับประเทศไทย

ข้าวโพดจึงเป็นพืชที่ปลูกกันมานานแล้ว

(น่าเสียดายไม่มีการบันทึกไว้ว่า ปลูกข้าวโพดกันแต่เมื่อไหร่)

ข้าวโพดพันธุ์เก่าแก่ที่คนไทยปลูกกันมาเก่าก่อนเรียกว่า

“ข้าวโพดข้าวเหนียว” หรือ “ข้าวโพดเทียน”

ภายหลังมีผู้นำพันธุ์ “ข้าวโพดหวาน” (SWEET CORN) เข้ามาปลูกในเมืองไทย ได้รับความนิยมอย่างมากจนกระทั่ง

ปัจจุบันจะหา “ข้าวโพดเทียน” กินได้ยาก

แต่มีสิ่งที่ควรจะได้เขียนถึงความสามารถของเกษตรกรไทย ที่คิดค้นข้าวโพดพันธุ์หนึ่ง ที่เรียกว่า “ข้าวโพดทับทิมสยาม”

ข้าวโพดพันธุ์นี้มีลักษณะแปลกแตกต่างไปจากข้าวโพดทั่วไป คือสามารถกินดิบ…ดิบได้

(ข้าวโพดพันธุ์อื่นจะต้องทำให้สุกเสียก่อน)

นอกจากลักษณะพิเศษที่ว่านี้แล้ว เม็ดข้าวโพดยังมีสีแตกต่างไปจากข้าวโพดพันธุ์อื่น

ข้าวโพดเทียน จะมีสีขาวขุ่น บางทีเป็นสีคล้ำ
ข้าวโพดสวิต จะมีสีเหลือง
แต่ข้าวโพดทับทิมสยาม จะมีเม็ดสีแดง

อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า คนเอเชียตะวันออกกินข้าวเจ้า ซึ่งก็รวมไปถึงข้าวเหนียว

แต่คนทวีปอื่นก็กินข้าวแตกต่างกัน เช่นคนทวีปอเมริกา “กินข้าวโพด” คนทวีปยุโรปหรือตะวันออกกลางกิน “ข้าวสาลี”

แต่ก็มีข้าวพันธุ์อื่นที่คนในโลกกินแตกต่างกัน เช่นคนทวีปอาฟริกากิน “ข้าวฟ่าง”

แต่ก็มีข้าวที่ผู้เข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกันคือ ข้าวสาลีกับข้าวบาเล่ย์ ความจริงแล้วข้าวทั้งสองแตกต่างกัน

(บางคนทึกทักว่า “ลูกเดื่อย” ที่เรากินกันคือ “ข้าวบาเล่ย์” ถึงจะไม่ใช่ก็ใกล้เคียง)

นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวอีกชนิดคือ “ข้าวโอ๊ต” ซึ่งไม่ใช่ข้าวสาลีเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ข้าวไม่ว่าจะเป็นข้าวชนิดใดหรือพันธุ์ใด ต่างก็เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชาวโลก

เพราะพลโลกแทบทั้งหมดโลก ล้วนแล้วแต่กินข้าวเป็นอาหารหลัก

ส่วนวิธีการปรุงหรือกินก็แตกต่างกันไป

เพราะฉะนั้น คำประพันธ์ของท่านครูสุนทรภู่ ที่เขียนไว้ว่า

อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย
ไม่ตายดอกเพราะอดเสน่หา

จึงเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง

การเขียนเรื่องข้าวยืดยาวติดต่อกันมาหลายตอน จึงขอจบลงด้วยขออัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงรับสั่งเกี่ยวกับข้าวเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ว่า

“ข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้องคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมกินกัน เพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน
ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง
ข้าวขาวเม็ดสวย
แต่เขาเอาของดีออกไปจนหมดแล้ว
มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง
เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน”

ขอบคุณภาพประกอบ
Abdulhakeem Samae จาก pixabay.com
www.matichonacademy.com

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com