เมืองนครจำปาศักดิ์ – ๒ –

อาณาเขตนครจำปาศักดิ์เวลานั้นมีว่า “ทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามขวาย หลักทอดยอดยัง[๑]อันเป็นเขตของจันทรสุริวงศ์รักษา ทิศตะวันออกถึงเขาแดนญวน (หรือเขาบรรทัดก็เรียก) ทิศตะวันตกจดลำน้ำกระยุงหรือที่เรียกกันว่า “ห้วยก๊ากวากปากกระยุง” คือแดนเมืองพิมายเป็นเขตแดนท้าวจารย์แก้วรักษา ทิศใต้ตั้งแต่ริมน้ำโขงฝั่งตะวันตกปากคลอง น้ำจะหลีกไปตามปลายคลอง ถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองกำปงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำคลองสะบา

เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๕ เจ้าองค์หล่อโอรสพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เชษฐาเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ซึ่งหนีไปอยู่เมืองญวนนั้น กิติศัพท์ทราบไปว่า พญาเมืองแสนชิงราชสมบัติเวียงจันทน์ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน แล้วข่มเหงพระมารดา เมื่อเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนได้กำลังเป็นอันมากแล้วจึงยกกำลังมาตีกรุงศรีสัตนาคนหุต จับพญาเมืองแสนสำเร็จโทษเสีย แล้วเจ้าองค์หล่อก็ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุตสืบไป

ลุถึงจุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก (พ.ศ.๒๒๖๓) วันพฤหัสบดีขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พระครูโพนสะเม็กมรณภาพด้วยโรคชรา อายุได้ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรพร้อมด้วยแสนท้าวพญา กระทำการปลงศพพระครูโพนสะเม็กเสร็จแล้วจึงสร้างเจดีย์ตรงหอไว้ศพ ๓ องค์[๒] กับสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ปลงศพพระครูโพนสะเม็กหนึ่งองค์ เจดีย์นี้เรียกว่า “ธาตุฝุ่น” ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นปรากฏนามต่อมาว่า วัดธาตุฝุ่น จนทุกวันนี้ ส่วนอัฐิของท่านได้แบ่งขึ้นมาก่อเจดีย์ไว้ที่วัดธาตุพนม ๑ องค์ เมื่อราว พ.ศ.๒๒๖๔ ยังพากันเรียกอยู่เท่าทุกวันนี้ว่า “ธาตุอาญาท่านโพนสะเม็ก” หรือ “ธาตุท่านพระครูขี้หอม” ก็เรียก เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรถึงแก่พิราลัยเมื่อจุลศักราช ๑๐๙๙ ปีมะเส็งนพศก (พ.ศ.๒๒๘๑) ครองราชย์สมบัติอยู่ได้ ๒๕ ปี พระชนม์ ๕๐ พรรษา  เจ้าไชยกุมาร โอรสขึ้นครองราชย์แทนทรงนามว่า พระเจ้าองค์หลวง ครองนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี ให้ เจ้าธรรมเทโว  ผู้น้องเป็นอุปฮาด และในสมัยพระเจ้าองค์หลวงนี้ได้สร้างพระพุทธรูปทองเหลืองไว้หนึ่งองค์ ยังประดิษฐานปรากฏอยู่ ณ  วัดศรีสุมัง จนบัดนี้

 

[๑]* เติม สิงหัษฐิต.  ฝั่งขวาแม่น้ำโขง : ภาค ๔ การปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บทที่ ๒๑ เมืองนครจำปาศักดิ์  (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๔๙๙).  หน้า 351 – 404.
 หลักทอด คือเสาหินล้มอยู่กับดิน ยอดยัง คือต้นแม่น้ำยัง, อยู่ในเขต อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เชิงภูพานด้านหรดี แม่น้ำยังไหลตกลำชี ระหว่าง อ.ยะโสธร และอ.เสลภูมิ เป็นเส้นกั้นเขตจ.อุบลฯ กับ จ.ร้อยเอ็ดด้วย ถามราษฎรว่ายังเห็นหลักทอดอยู่ในต้นน้ำยังนั้นมาเท่าทุกวันนี้
[๒] เจดีย์ ๓ องค์นี้ทราบว่าพังลงน้ำโขงแล้ว

ครั้นอยู่มาพระเจ้าองค์หลวงกับเจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) เกิดวิวาทกัน เจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) คบคิดกับท้าวศรีธาตุ (บุตรจารย์ฮวด) ผู้รักษาเมืองโขง มีกำลังยกไพร่พลมายังเมืองนครจำปาศักดิ์ แต่พระเจ้าองค์หลวงไม่คิดจะต่อสู้จึงได้หนีไปอยู่ดอนมดแดง เจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) จึงเกณฑ์ไพร่พลจะยกไปขับไล่มิให้อยู่ในเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายมารดาเจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) จึงห้ามปรามไว้แลว่าเป็นพี่น้องเดียวกันให้คืนดีกันเสีย เจ้าอุปฮาดฯ จึงได้แต่งให้แสนท้าวพญาไปเชิญพระเจ้าองค์หลวงกลับคืนมาครองเมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม

ครั้นกาลจำเนียรมา พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราลัย เจ้าองค์บุญ[๓] ราชนัดดา- บุตรเจ้าองค์รอง โอรสเจ้าองค์หล่อ ได้ครองราชสมบัติเวียงจันทน์สืบมาคือ พระเจ้าศิริบุญสาร ดังกล่าวแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยกรุงธนบุรีแห่งราชอาณาจักรสยาม เป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย

ครั้นต่อมาพระวรราชภักดีและพระตาเสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ เกิดอริกับพระเจ้าศิริบุญสาร จึงได้อพยพมาตั้งอยู่หนองบัวลุ่มภูทำนองจะแข็งเมือง พระเจ้าศิริบุญสารแต่งทัพมาตี ตัวพระตาตายในที่รบ พระวอฯ กับพวกจึงได้อพยพไปอยู่แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ บ้านดู่บ้านแก เป็นเวลาที่เจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) ถึงแก่กรรม เจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) มีบุตร ๕ คน ชาย ๔ หญิง ๑ คือ เจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าธรรมกิติกา เจ้าคำสุก และ เจ้านางตุ่ย

 

[๓] พงศาวดารล้านช้างฉบับภาษาพื้นเมืองหน้าสุดท้าย ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) พระยาประมวลรับรองไว้ในหน้า ๓๔ ว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (องค์หล่อหรือพระไชยองค์เวียต, องค์แว) มีราชโอรสว่า เจ้าองค์รอง ๆ มีโอรสคือเจ้าองค์บุญหรือเจ้าบุญสาร ได้แก่พระเจ้าศิริบุญสารนั้นเอง

 

ในปีเดียวกันนี้ พระเจ้าองค์หลวงดำริห์จะสร้างเมืองใหม่ห่างจากเมืองเก่าไปทางทิศใต้แม่น้ำโขงประมาณ ๒๐๐ เส้น[๔] พระวอฯรับอาสาจะสร้างกำแพงถวาย พระมโนสาราช กับ พระศรีอัคร์ฮาด เมืองโขงรับอาสาจะสร้างหอคำถวาย ครั้นสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๕ แล้วก็ยกไปตั้งอยู่เมืองใหม่ อยู่มาวันหนึ่งขณะที่พระเจ้าองค์หลวงออกว่าราชการพร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพญา ณ หอราชสิงห์หาญ[๕] พระวอฯ ได้ทูลถามว่า “การที่ตนได้สร้างกำแพงเมืองถวายกับผู้ที่ได้สร้างหอคำถวายนั้น สิ่งใดจักประเสริฐกว่ากัน?พระเจ้าองค์หลวงตอบว่า “หอคำดีกว่า” พระวอฯ ก็เกิดความอัปยศพาครอบครัวหนีขึ้นไปตั้งซ่อมสุมผู้คนอยู่ที่ ดอนมดแดง[๖] แล้วมีบอกให้ เพียแก้วโยธา กับ แก้วท้ายช้าง คุมเครื่องราชบรรณาการไปเมืองนครราชสีมา บอกขอสมัครขึ้นอยู่ในความปกครองของกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ดอนมดแดงสืบไป

พ.ศ.๒๓๑๙ พระเจ้าศิริบุญสารทราบว่าพระวอฯ เป็นอริกับพระเจ้าองค์หลวง ยกครอบครัวมาอยู่ที่ดอนมดแดงริมแม่น้ำมูล เกรงจะมีกำลังกล้าแข็ง จึงให้ พญาสุโพ คุมกองทัพมาตีพระวอฯ  พระวอฯ เห็นจะสู้ไม่ได้จึงได้พาครอบครัวยกหนีจากดอนมดแดง ครั้งสุดท้ายไปตั้งอยู่บ้านดู่บ้านแกแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ตามเดิมอีก แล้วแต่งคนให้ไปขอกำลังเมืองนครจำปาศักดิ์มาช่วย แต่คราวนี้เจ้านครจำปาศักดิ์ไม่เล่นด้วย กองทัพพญาสุโพก็ยกตามตีพระวอฯ จับได้แล้วฆ่าเสีย (ดูบทที่ ๘ หน้า ๔๗) ที่บ้านสักเมืองสมอเลียบริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้นเอง[๗]

 

[๔] คือเมืองนครจำปาศักดิ์หินรอด บ้านพะสิม ส่วนเมืองนครจำปาศักดิ์เดี๋ยวนี้อยู่ระหว่างโพนบกกับวักลคร
[๕] ที่ว่าการหรือโฮงการ ส่วนที่ว่าหอคำนั้นเป็นที่บรรทมหรือที่นอน
[๖] เป็นเกาะเล็ก ๆ ริมแม่น้ำมูล ใต้เมืองอุบลฯ ราว ๑๕ ก.ม. เวลานั้นเมืองอุบลยังไม่ตั้ง ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งขึ้นอำเภอเมืองอุบลฯ จ.อุบลราชธานี
[๗] ที่ซึ่งพระวอฯ ตายนี้ ภายหลังท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตา ได้เป็นเจ้าพระวิชัยขัติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้สร้างเจดีย์สวมไว้เรียกว่า “ธาตุพระวอ” อยู่ ณ บ้านสักเมืองสมอเลียบ แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ปรากฏตราบเท่าทุกวันนี้

ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าพระเจ้ากรุงศรีสันตนาคนหุตเวียงจันทน์ ดูหมิ่นข้าขอบขัณฑสีมา (เวลานั้นต้องการขยายอำนาจอยู่แล้ว จึงพอเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น) จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเจ้ากับพระยาสุรสีห์ฯ เป็นแม่ทัพบกทัพเรือสมทบเกณฑ์กำลังเมืองสุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ฯลฯ และเกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบเรือไล่ยกขึ้นไปตามแม่น้ำโขง กองทัพพญาสุโพรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงฯ ยกขึ้นไป ก็ถอยจากนครจำปาศักดิ์กลับไปยังเมืองจันทน์ พระเจ้าองค์หลวงพาครอบครัวหนีไปอยู่ที่เกาะชัย กองทัพกรุงฯ ก็ยกเข้านครจำปาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๑ ยกเลยขึ้นไปตีเมืองนครพนมได้ แล้วยกต่อไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้าศิริบุญสารหนีไปอยู่เมืองคำเกิด กองทัพไทยยกเข้าเมืองได้แล้วแต่งให้ พญาสุโพเป็นผู้รักษาเมืองแล้วอัญเชิญ พระแก้วมรกต กับ พระบาง ยกทัพกลับทางเมืองนครจำปาศักดิ์ ตามจับพระเจ้าองค์หลวงได้ที่เกาะชัย แล้วก็คุมเอาตัวพระเจ้าองค์หลวงยกกองทัพกลับกรุงธนบุรี

พระเจ้าองค์หลวงได้กราบทูลสาเหตุที่เกิดขึ้นกับพระวอฯ พระตาตั้งแต่แรก จนพระเจ้าศิริบุญสารให้พญาสุโพยกทัพตามลงมาจับพระวอฯฆ่าตายนั้นว่า “ชั้นต้นพระเจ้าองค์หลวงได้ทัดทานห้ามปรามพระวอฯ ที่จะมาขออาศัยอยู่ด้วยว่า “เหมือนจะเอาหว้านมาใส่เรือเอาเสือมาใส่บ้าน” คือเกรงศึกใหญ่จะเกิดขึ้นและก็เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เห็นว่าพระวอฯ หนีร้อนมาพึ่งเย็นขัดไม่ได้ ก็ให้อยู่ในเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้นพระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ส่งกองทัพมาตามจับพระวอฯ ก็ได้ให้ พญาพลเชียงสา คุมทัพไปต้านทานไว้ แล้วได้มีศุภอักษรถึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขอโทษพระวอฯ ไว้ก่อนฯ ซึ่งทั้งนี้พระองค์หลวงมิได้เป็นใจสมรู้ร่วมคิดกับพระเจ้าศิริบุญสารหรือพญาสุโพ คิดต่อสู้กองทัพกรุงธนบุรีแต่ประการใด ขอบารมีพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่พึ่งสืบไป”

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพิจารณาเป็นสัตย์ตามที่เจ้านครจำปาศักดิ์กราบทูลแล้ว จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าองค์หลวงกลับไปครองนครจำปาศักดิ์ตามเดิม ในฐานะเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงธนบุรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปีนี้ เจ้าสุริโย เจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ ถึงแก่กรรม มีบุตรชื่อ เจ้าหมาน้อย ส่วน ท้าวคำผง บุตรพระตาไปได้กับ เจ้านางตุ่ย บุตรีเจ้าอุปฮาด (ธรรมเทโว) เป็นภรรยา พระเจ้าองค์หลวงเห็นว่าท้าวคำผงมาเกี่ยวเป็นหลานเขย และเป็นผู้ที่มีครอบครัวบ่าวไพร่มากจึงตั้งให้ท้าวคำผงเป็น พระประทุมสุรราช เป็นนายกองใหญ่ควบคุมตัวเลขขึ้นนครจำปาศักดิ์อยู่ ณ บ้านดู่บ้านแก[๘] ต่อไป

จุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก (พ.ศ.๒๓๒๓) ประเทศเขมรเกิดจลาจล พระประทุมสุรราช (คำผง) ก็ได้ถูกเกณฑ์ไปราชการทัพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ไปปราบเขมรในคราวนั้นด้วย แต่ทำการยังมิทันสำเร็จ ทางกรุงธนบุรีเกิดจลาจลขึ้นก่อน กองทัพกรุงฯ จำต้องยกกลับ

ครั้นมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๓๒๙  พระประทุมสุรราช (คำผง) ท้าวทิดพรหม, ท้าวก่ำ จึงขอพระราชทานย้ายครอบครัวจากบ้านดู่บ้านแก ไปตั้งบ้านใหม่ที่ บ้านห้วยแจะระแม[๙] ท้าวฝ่ายหน้า, ท้าวสิงห์ (บุตรท้าวฝ่ายหน้า) ขอไปตั้งอยู่ บ้านสิงห์ท่า เพื่อเป็นความชอบในคราวที่พระประทุมสุรราช (คำผง) กับพวกซึ่งได้คุมหมวดกองไปช่วยสมทบศึกเวียงจันทน์ (พ.ศ.๒๓๒๑) และศึกเมืองเขมรครั้งนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามที่ขอ

ส่วนท้าวฝ่ายหน้าเมื่อไปถึงบ้านสิงห์ท่า ก็จัดสร้างบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โต โดยประสงค์จะตั้งให้เป็นเมืองต่อไป และได้สร้าง วัดมหาธาตุ กับเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น ชาวเมืองจึงได้เรียกวัดมหาธาตุต่อมา กับได้สร้างวัดสิงห์ท่าอีกวัดหนึ่ง กับสร้างเจดีย์องค์หนึ่งทางทิศใต้ของวัดสิงห์ท่า ฐานกว้าง ๕ วา สูง ๘ วา แล้วศิลาจารึกไว้ที่วัดมหาธาตุเมืองยะโสธรสืบมาจนทุกวันนี้

พ.ศ.๒๓๓๔ เกิดกบฏ อ้ายเชียงแก้ว อยู่บ้านเขาโอง แขวงเมืองโขงฝั่งตะวันออก อ้ายเชียงแก้วแสดงตนว่าเป็นผู้วิเศษมีคนนับถือมาก ยกกำลังมาล้อมเมืองนครจำปาศักดิ์ไว้ได้ พระเจ้าองค์หลวงเวลานั้นกำลังป่วยอาการหนักและชรามากมีอายุตั้ง ๘๑ ปี ตกใจโรคกำเริบถึงแก่พิราลัย ครองนครจำปาศักดิ์มาได้ ๕๓ ปี มีบุตร ๓ คนคือ ๔ เจ้าหน่อเมือง เจ้านางป่อม หัวขวา และ เจ้านางท่อนแก้ว

 

[๘] เจ้าราชดนัย (หยุย) ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อคราวไปเยี่ยมท่านที่นครจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ บ้านดู่บ้านแก หรือตำบลเวียงดอนกองนี้ อยู่ในเขตเมืองโพนทองเดี๋ยวนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมทางหลวงสายที่ ๑๑ (พิบูล-ช่องเม็ก) ริมห้วยพรึง ห่างจากโพนทองไปราว ๔ ก.ม.
[๙] เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตสังฆนายกได้วิจารณ์ไว้ว่า ท่านได้พบคำพูดของส่วย (เป็นชาติหนึ่งเจริญกว่าข่าหน่อย) คำหนึ่งว่า “จะแม” ซึ่งแปลว่า “อีเห็น” ฉนั้นคำว่า “แจะระแม” คงเพี้ยนมาจากจะแมเป็นแน่ คำว่าห้วยแจะระแมก็คือห้วยอีเห็น หรือห้วยเห็นนั้นเอง

 

ส่วนเจ้าหน่อเมือง ขณะที่อ้ายเชียงแก้วยกทัพมาประชิดนครจำปาศักดิ์นั้น ไม่ทันรู้ตัวเตรียมสู้ไม่ทัน จึงพร้อมด้วยญาติวงศ์ไปอยู่ด้วยข่าพะนัง ความทราบถึงกรุงเทพมหานครจึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสิมา (ทองอิน)[๑๐] ยกกองทัพไปปราบอ้ายเชียงแก้ว และจัดราชการเมืองนครจำปาศักดิ์แต่ยังมิทันจะยกทัพไปถึง พระประทุมสุรราช (คำผง) เวลานั้นอยู่ที่บ้านห้วยแจะระแม พร้อมด้วย ท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้องนายกองบ้านสิงห์ท่า จึงพากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้ว อ้ายเชียงแก้วยกพวกมาต่อสู้รับศึกที่แก่งตะนะ[๑๑] กองทัพอ้ายเชียงแก้วแตก ท้าวฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วได้แล้วฆ่าเสีย พอดีกองทัพเจ้าพระยานครราชสิมาไปถึง ก็พากันกลับลงไปยังนครจำปาศักดิ์ และติดตามจับเจ้าหน่อเมืองที่หลบหนีภัยไปดั่งกล่าวแล้วได้ที่ข่าพะนัง แล้วก็ปราบปรามพวกที่ยังเป็นพรรคพวกของอ้ายเชียงแก้ว มีพวกข่าระแดจะรายสวางและพวกกระเซ็ง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับมาได้เป็นอันมาก

เพื่อเป็นบำเหน็จความชอบครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าเป็น เจ้าพระวิชัยราชขัติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์ โปรดให้ เจ้าเชษ เจ้าหนู[๑๒] ช่วยราชการอยู่ด้วยเมื่อ พ.ศ.๒๓๓๙ เจ้าพระวิชัยราชขัติยวงศา (หน้า) จึงได้ย้ายเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาตั้งอยู่ทางเหนือแม่น้ำโขง คือ เมืองเก่าคันเกิง ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามปากเซเดี๋ยวนี้อีก แล้วตั้ง ท้าวสิงห์ ผู้หลานไปเป็นราชวงศ์เมืองโขง และทูลขอตั้ง ท้าวบุด (บุตรท้าวสิงห์) เป็นเจ้าเมืองนครพนมเพราะเวลานั้นยังว่างอยู่ แต่ยังมิได้ไปประจำเมืองนครพนม

ลุถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระวิชัยราชขัติยวงศา (หน้า) ครองเมืองนครจำปาศักดิ์มาได้ ๒๑ ปี การบ้านเมืองเรียบร้อยตลอดมา ครั้นถึงวันอังคาร ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๒ (พ.ศ.๒๓๕๔) ก็ถึงแก่พิราลัย มีบุตรทั้งสิ้น ๔ คนคือ เจ้าบุด เจ้านางแดง เจ้านางไทย และเจ้านางก้อนแก้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยากลาโหมราชเสนา เป็นข้าหลวงนำหีบศิลาหน้าเพลิงเครื่องไทยทานไปปลงศพเจ้านครจำปาศักดิ์ อันเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พระมหากษัตริย์ของไทย จะพึงประทานแก่เจ้าประเทศราช และให้นำสุพรรณบัฏไปพระราชทานตั้งให้เจ้านูบุตรเจ้าหน่อเมือง เป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์สืบไป เมื่อพร้อมกันกระทำการปลงศพเจ้าพระวิชัยราชขัติยาวงศา (หน้า) เสร็จแล้ว ได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัด เหนือในเมืองเก่าคันเกิง ซึ่งตามภาษาพื้นนี้เรียกว่า “ธาตุหลวงเฒ่า” มาจนทุกวันนี้

ในสมัยที่เจ้านูครองเมืองนครจำปาศักดิ์ มีการสำคัญควรจะนำมากล่าวในตอนนี้ด้วย คือเมื่อคราวพระยากลาโหมฯ โปรดฯ ให้เป็นข้าหลวง มาปลงศพเจ้าพระวิชัยราชขัติยวงศา (หน้า) ได้ไปพบพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นพระแก้วผลึก เป็นเนื้อแก้วสนิทและเป็นแท่งขนาดใหญ่ยังไม่เคยปรากฏทรวดทรงพระพุทธปฏิมาทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกัน อย่างที่ช่างเรียกว่าเพชรน้ำค้าง หรือ บุษน้ำขาว ขนาดมีประมาณ สูงแต่ที่สุดทับเกษขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ ๑๒ นิ้ว ๒ กระเบียดอัษฎางค์ หน้าตักวัดแต่พระชานุทั้งสอง ๙ นิ้วกับ ๔ กระเบียดอัษฎางค์ ฯลฯ ก้อนแก้วเดิมจะได้มาแต่ที่ใด ผู้ใดจะเป็นผู้สร้างและสร้างที่ไหนไม่ปรากฏ ตามตำนานที่สืบรู้ต้นเรื่องได้เพียงว่า

พระแก้วผลึกองค์นี้ มีผู้พาหนีภัยอันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน[๑๓] มีพราน ๒ คน ชื่อพรานทึง และพรานเทือง เป็นข่าอยู่บ้านส้มป่อยนายอน ขณะไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่าไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำในตอนปลายสมัยกรุงเก่าเป็นราชธานี พรานทั้งสองคนเข้าใจว่าเป็นรูปมนุษย์น้อย จึงเอาเชือกผูกพระศอให้บุตรลากเล่น แก้วตรงพระกรรณข้างขวาลิไปหน่อยหนึ่ง ครั้นมาใน พ.ศ.๒๒๗๙ ก่อนเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร จะถึงแก่พิราลัยเพียง ๒ ปี ได้ทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังและเขาสัตว์ตามบ้านพราน เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงให้ท้าวพญาไปว่ากล่าวแก่พรานทั้งสอง ได้พระแก้วมาเห็นว่าเป็นพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จนพระยากลาโหมฯ ไปพบเข้าเพราะข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิ์ได้พระแก้วผลึกเวลานั้นไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพกรุงยกไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุตผ่านนครจำปาศักดิ์คราวได้พระแก้วมรกตกับพระบางมา ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยชาวเมืองนครจำปาศักดิ์พากันปกปิดซ่อนเร้น พึ่งมารู้ก็ต่อเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๒ ดังกล่าวแล้ว พระยากลาโหมฯ จึงบอกแก่ท้าวพญาเมืองนครจำปาศักดิ์ว่า พระแก้วผลึกนี้เป็นของวิเศษไม่ควรจะเอาไว้เมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ชายแดนพระราชอาณาจักร์ และเคยมีโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมืองอยู่เนือง ๆ ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอีกของวิเศษอาจจะเป็นอันตรายสูญหายไปเสีย พวกท้าวพญาเมืองนครจำปาศักดิ์เห็นชอบด้วย จึงมีบอกเข้ามา ให้กราบบังคมทูลถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้น จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมฯ รับแห่พระแก้วผลึกมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๕ และมีการสมโภชน์ตามหัวเมืองรายทางตลอดจนถึงกรุงเทพฯ พระแก้วผลึกอันมีพระนามปรากฏในปัจจุบันว่า พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิ์พิมลมณีมัย สำหรับเป็นพระประธานในงานพิธีหลวงที่สำคัญเช่น พิธีโสกันต์ พิธีสมพัจฉรฉินต์ พิธีพิรุณศาสตร์ และพิธีอาพาธวินาศอุทโกสรณะ เป็นต้น

 

[๑๐] แต่ครั้งยังเป็นพระพรหมภักดี ยกบัตรเมืองนครราชสีมา
[๑๑] เป็นแก่งที่ดุร้ายและแก่งสุดท้ายในลำแม่น้ำมูล จวนจะถึงปากมูล ใกล้อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ
[๑๒] บุตรเจ้าหน่อเมือง หลานพระเจ้าองค์หลวง
[๑๓] คือที่เรียกเมืองสะพาดเวลานั้น
 

Related Posts

“เมรุนกหัสดีลิงค์” อริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com