ข้างหลังภาพ…ฮูปแต้มม้าวัดไชยศรี


ฮูปแต้มม้าวัดไชยศรี อยู่ที่ผนังรีฝั่งทิศใต้ บริเวณรูปงานพิธีแห่งสินไซเข้าเมือง

“ห๊ะ! ไปวัดไชยศรีอีกแล้วเหรอ?”

ได้ยินว่าจะไปดูฮูปแต้มวัดไชยศรี ก็อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อน ว่าชาวบ้านชาวเมืองเขาไปดู ไปเขียนรายงานเรื่องราวสังสินไซกันจนปรุแล้วแม่คุณ เอาน่า…วัดไชยศรีไม่ได้มีความดีจำกัดแค่ฮูปแต้มสังสินไซหรือการศึกษาทางทัศนศิลป์เท่านั้น แต่เรายังสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านภาพกากได้อีกด้วย และวันนี้ฉันจะพาไปดูภาพ “กากสัตว์” ไม่ใช่คำสบถหยาบคายของวัยรุ่นนะ แต่ฉันหมายถึงภาพกากสัตว์จริง ๆ …ไปมองอดีตผ่าน “ฮูปแต้มม้าวัดไชยศรี” กัน

จากตัวเมืองขอนแก่นไม่ไกล มุ่งหน้าสู่วัดที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวหมู่บ้านสาวัตถี เส้นทางลาดยางมะตอยที่ฉันใช้ผ่านทางครั้งแล้วครั้งเล่า จนจดจำทุกหลุมบ่อได้เป็นอย่างดี ยังคงรับใช้ผู้คนในหมู่บ้านอย่างซื่อสัตย์ ศาสนคารหลังกะทัดรัดยังอยู่ที่เดิม อวดโอ่ภาพโทนสีครามโดดเด่นโลดแล่นเต็มฝาผนังอย่างที่ไม่มีสิมหลังไหนเสมอเหมือน ที่ผนังรีฝั่งทิศใต้ บริเวณกลุ่มภาพแห่สินไซเข้าเมือง ภาพม้าที่ฉันตั้งใจมาหาอยู่ที่นั่น

“นี่มันม้าพื้นบ้านชัด ๆ”
หลังพิศดูลักษณะจนคิดว่าใช่แน่แล้วหัวใจของฉันก็พองฟู

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าม้าในฮูปแต้มน่ะ ไม่ใช่ม้าเทศที่นำเข้ามาจากแดนไกล? ขอเรียกว่าข้อสันนิษฐานก็แล้วกัน อันดับแรกดูที่ส่วนสัดความสูง ม้าพื้นเมืองจะมีความสูงไม่มาก คือ ไม่เกิน ๑๔๐ เซนติเมตร จัดอยู่ในตระกูลโพนี่ (Ponies) อย่างที่นักวิชาการฝรั่งเขาเรียก Thai native ponies ก็ดูในภาพสิ ขาของคนขี่แทบจะลากพื้นอยู่แล้วเห็นไหม แถมกีบตีนยังใหญ่ ตัวหนา หน้าทู่ ไม่ตื่นกลัวเสียงอึกทึกง่าย ๆ นี่มันคุณสมบัติของม้าพื้นเมืองชัด ๆ

ข้อที่ ๒ ในสมัยที่สร้างสิมวัดไชยศรีประมาณพุทธศักราช ๒๔๐๘ แม้จะเริ่มนำม้าเทศตัวใหญ่เข้ามาจากทางสิงคโปร์ มาเลเซียแล้วก็จริง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในความดูแลของกลุ่มผู้มีอันจะกินทางเมืองหลวงอยู่ ยังไม่แพร่หลายทางท้องถิ่นนัก ซึ่งนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ ๓

ข้อ ๓ ช่างพื้นบ้านมักจะวาดจากสิ่งใกล้ตัวที่พบเห็นบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ม้าที่พบเห็นได้ทั่วไป ที่เป็นทั้งพาหนะ สัตว์ต่าง ร่วมขบวนงานบวช งานแห่ต่าง ๆ ก็เป็นม้าพื้นเมืองหรือม้าบักจ้อนนี่เอง

ลักษณะม้าพื้นไทยเมือง ความสูงไม่เกิน ๑๔๐ เซนติเมตร หน้าทู่ ลำตัวกว้าง กีบตีนแข็งแรง สามารถตะกุยขึ้นภูเขาได้อย่างกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวไฟ มีความทรหดอดทน อย่างที่ม้าฝรั่งทำไม่ได้

เดิมบริเวณที่เป็นแผ่นดินไทยไม่เคยมีม้ามาก่อน?

จบแล้วใช่ไหม?

ยัง ยังไม่จบแค่นี้ ตั้งแต่ต้นก็ได้บอกแล้วว่าเป็นเรื่องราวข้างหลังภาพฮูปแต้มม้า ดังนั้นจึงขอเล่าประวัติศาสตร์ของมันอีกสักหน่อย เชื่อไหมว่าในยุคก่อนประวัติศาสตร์แผ่นดินที่เราเรียกว่า “ประเทศไทย”นี้ ไม่มีสัตว์จำพวกม้าวิวัฒนาการหรืออาศัยอยู่เลย?

ที่จริงจะไปฟันธงแบบนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะหลักฐานจาก “ยุคก่อนประวัติศาสตร์” ในคาบนีโอจีน (Neogene) ถูกค้นพบที่ลุ่มแม่น้ำมูน จ.นครราชสีมา

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๔ คุณชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เปิดเผยว่า ได้มีการขุดค้นพบกระดูกม้าสามนิ้วสกุลฮิปปาเรียน (Hipparion spp.) โดยพบอยู่ ๒ ชนิด อายุประมาณ ๒๐ – ๐.๑ ล้านปี อยู่ในยุคไมโอซีน (Miocene) ที่ อ.โคกสูง แห่งเมืองย่าโมนี่เอง

ซึ่งในยุคนี้บริเวณที่เป็นประเทศไทยยังเป็นที่ราบและติดทะเล แต่พอเข้าสู่ยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) คือเมื่อประมาณ ๑.๘ – ๑.๖ ล้านปีมาแล้ว ในยุคนี้มีน้ำแข็งปกคลุมโลกเราถึง ร้อยละ ๗๕ หลักฐานของยุคไพลสโตซีนพบทั้งแพนด้า อุรังอุตัง ไฮยีน่า แต่ก็ยังไม่เจอม้า อาจเป็นเพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศในยุคนั้นไม่เหมาะแก่การดำรงชีพของมัน หรืออาจเป็นเพราะยังไม่เจอหลักฐานใหม่ ๆ ก็เป็นไปได้

เรื่องราวของม้าขาดช่วงไปนาน จนล่วงเข้าสู่ “ยุคประวัติศาสตร์” จึงได้พบหลักฐานเกี่ยวกับพวกมันอีกครั้ง และครั้งนี้อยู่ที่ “เวียงท่ากาน” ราวพุทธศักราช ๒๕๔๖ มีการขุดค้นพบโครงกระดูกม้าที่มีความสมบูรณ์ที่สุด จากโบราณสถานเวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อนำไปตรวจหาสัดส่วนความสมมาตรทางกายวิภาค พบว่าโครงกระดูกม้านั้นสูงเพียง ๑๒๐ เซนติเมตรเท่านั้น แต่เมื่อตรวจดูฟัน ลักษณะการผุกร่อนจากการบดเคี้ยวนั้น แสดงว่าเป็นม้าโตเต็มวัยที่มีอายุ ๑๕ – ๑๘ ปีแล้ว แน่นอนว่าด้วยความสูงที่ไม่เกิน ๑๔๐ เซนติเมตร เท่านี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มโพนี่ เมื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี “การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี” (radiocarbon dating) ก็พบว่าเจ้าของโครงกระดูกเหล่านี้เคยโลดแล่นมีชีวิตชีวาเมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีที่แล้ว จัดว่าเป็นม้ายุคประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้

ม้าเข้าสู่บริเวณที่กลายเป็นอาณาจักรไทยปัจจุบันได้อย่างไร?

ราวพุทธศักราช ๒๕๔๖ สัตวแพทย์หญิงดอกเตอร์ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิม้าลำปาง ได้ร่วมกับดร.คาร์ล่า คาร์ลีตัน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน จัดตั้งกองทุนคลินิกม้าขึ้นมา ในขณะเดียวกันได้สังเกตว่า ม้าไทยพื้นเมืองมีลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกับม้ามองโกล จึงเริ่มเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) ของม้าไทยพื้นเมืองโดยเปรียบเทียบกับ DNA ม้าสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ไม่พบว่าตรงกับสายพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเลย จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นธรรมชาติ ทีมวิจัยจึงเดินทางไปมองโกเลียเพื่อพิสูจน์สมมุติฐาน

ม้าในมองโกเลียนั้นมี ๒ กลุ่ม คือกลุ่มที่เป็นม้าป่า (กลุ่มนี้ไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้) และกลุ่มที่เป็นม้าเลี้ยงพื้นเมือง หลังจากเก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ พบว่าม้าพื้นเมืองไทยมี DNA อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับม้าพื้นเมืองมองโกล

เส้นทางม้า

สันนิษฐานว่าภายหลังสงครามเจงกิสข่าน แห่งจักรวรรดิมองโกล ม้าสายพันธุ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายตัวผ่านทางพม่าเข้าสู่พรมแดนทางเหนือของไทย รวมทั้งพรมแดนในภูมิภาคอื่นที่ติดต่อกัน

นอกจากนี้ม้ายังอาจเข้าสู่บ้านเราผ่านการค้าขาย เช่น เส้นทางชาม้า (tea horse road) ซึ่งมีการขนส่งใบชาจากยูนนานไปยังทิเบต อินเดีย เวียดนาม ซึ่งกระจายเข้ามาทางภาคเหนือของไทยและกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ในที่สุด รวมทั้งการนำเข้าม้าในฐานะเครื่องบรรณาการ เป็นต้น

ภาระหน้าที่ในปัจจุบัน

จากจุดสูงสุดในฐานะม้าศึก เหลือเพียงบทบาทในสนามประลองความเร็ว แต่เมื่อเจ้าของคอกม้าหลายแห่งได้หันไปนิยมม้าเทศที่นำเข้ามาทางมาเลเซีย ด้วยลักษณะที่สูงใหญ่ ช่วงขายาวกว่าและทำความเร็วได้ดีกว่า ม้าไทยพื้นเมืองจึงหายหน้าไปจากสนามแข่ง แต่กระนั้นหลายปีที่ผ่านมาวงการม้าแข่งถึงจุดตกต่ำอย่างที่สุด สนามม้าในต่างจังหวัดเริ่มทยอยปิดตัว และถึงคราวของสนามม้านางเลิ้งด้วยเช่นกัน แม้ม้าบักจ้อนของเราจะถูกลดบทบาทจากสนามแข่ง แต่ยังมีภาระหน้าที่หนึ่งที่รอพวกมันอยู่กับการเป็น “ม้าอาชาบำบัด”

อาชาบำบัด เป็นกิจกรรมช่วยส่งเสริมการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัว เช่น ผู้ป่วยออทิสติก ความผิดปรกติจากระบบประสาทกลาง ข้ออักเสบ สมองหรือไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง และพฤติกรรมผิดปรกติ เป็นต้น ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและเชิงกรานของผู้ป่วย เนื่องจากจังหวะการย่างก้าวของม้าสอดคล้องกับจังหวะการเดินของคน จึงช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทสั่งการไปยังเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้น

โดยโพนี่เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับบำบัดผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากความสูงไม่มาก เหมาะสมกับการที่ผู้ดูแลสามารถประคับประคองผู้ป่วย มีแผ่นหลังกว้างให้ความรู้สึกมั่นคง ด้วยความสูงไม่เกิน ๑๔๐ เซนติเมตร ม้าพื้นเมืองไทยจึงดูจะมีภาษีมากกว่าม้าตระกูลโพนี่สายพันธุ์จากต่างประเทศ ค่าที่ทนกับโรคประจำถิ่น กำลังใจเข้มแข็ง อดทน ไม่ขี้กลัว ราคาไม่แพง

และนอกจากม้าบำบัดผู้ป่วยดังที่กล่าวไปแล้ว ในต่างประเทศเริ่มมีม้านำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา สำหรับผู้ที่กลัวสุนัข หรือตามหลักความเชื่อทางศาสนา และเพราะม้าอายุยืนถึง ๓๐ ปี จึงไม่ต้องเปลี่ยนคู่หูบ่อย นี่จึงเป็นบทพิสูจน์บทใหม่ของม้าไทยพื้นเมืองว่าคุณค่าของมันไม่ได้ลดน้อยลงหรือหายไปเลย

นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า “ไวเท่าความคิด” เพราะหลังจากพิเคราะห์แล้วว่าม้าในฮูปแต้มเป็นม้าพื้นเมืองแน่ ๆ ในเวลาไม่กี่นาทีความคิดได้ประมวลผลเรื่องราวต่าง ๆ ออกเป็นฉาก ๆ ทีเดียว และถ้าไม่ได้คิดเข้าข้างตนเองจนเกินไป ฉันรู้สึกว่าเจ้าม้าสีเหลืองและเจ้าตัวย้อมสีครามดูจะคึกคักเป็นพิเศษ ที่คราวนี้มีคนสนใจจ้องมองมันจริง ๆ จัง ๆ กับเขาเสียที

อ้างอิง
kola, T. T. and Ataseven, H. (2015). What is hippotherapy? Indications and Effectioness of Hippotherapy. North Clin Istanb. 2 (3); 247-252.
Siraya Chunekamrai. Importance of preserving the Thai Native Pony.

การประชุมวิชาการวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2555 “ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล” ระหว่าง วันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องรวยเพชร โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ.

http://www.geo.sc.chula.ac.th/v2552/Thai/e_learning/pdf/Veerote/pleistocene_ice_age.pdf 5/5/2562.
https://www.thairath.co.th/content/175839 5/5/2562.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com