ลุ่มแม่น้ำโขงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในตำนานอุรังคธาตุ

ลุ่มแม่น้ำโขงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในตำนานอุรังคธาตุ

ยุคประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อมนุษย์มีการจดบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษร สำหรับดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงแล้วน่าจะเริ่มต้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา ซึ่งหมายความว่าก่อนหน้านั้นเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้จากร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและพิธีกรรม เช่น ภาพเขียนสีตามเพิงผาหน้าถ้ำ หรือการฝังศพในหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อค้นพบจากวิธีวิทยาสมัยใหม่แตกต่างจากการถ่ายทอดของคนในอดีตที่มีการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปของตำนาน ซึ่งจะได้เปิดผ้าม่านกั้งตั้งประเด็นว่า ตำนานสำคัญของลุ่มแม่น้ำโขงที่ชื่อ “ตำนานอุรังคธาตุ” มีการบันทึกเรื่องราวของลุ่มแม่น้ำโขงยุคก่อนประวัติศาสตร์ไว้ว่าอย่างไร

 

ลุ่มแม่น้ำโขง

บริเวณที่เรียกว่าลุ่มแม่น้ำโขง ที่สัมพันธ์กับพรมแดนประเทศไทย ครอบคลุมทั้งฝั่งลาวในฝั่งซ้ายและภาคอีสานของไทยทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงโดยดินแดนในฝั่งภาคอีสานของไทยถูกแบ่งตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ออกเป็น ๒ เขต คือ แอ่งโคราชกับแอ่งสกลนคร มีเทือกเขาภูพานเป็นเส้นแบ่ง ในแอ่งสกลนครที่อยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาภูพาน มีลำน้ำสายสั้น ๆ ไหลจากเทือกเขาภูพานไปลงแม่น้ำโขง เช่น ลำน้ำสงครามลำน้ำก่ำ เป็นต้น ส่วนแอ่งโคราชที่อยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาภูพานมีแม่น้ำสำคัญคือแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดเป็นพื้นที่ทางสังคม โดยตำนานอุรังคธาตุได้สะท้อนปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ทางสังคมที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงผ่านกาลเวลาที่เรียกว่าประวัติศาสตร์

ดังนั้น การอธิบายถึงพัฒนาการของพื้นที่และสังคมสองฝั่งแม่น้ำโขงจึงเป็นการอธิบายถึงประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงไปพร้อมกัน ซึ่งการอธิบายนั้นไม่อาจใช้ข้อมูลหลักฐานจากแหล่งหนึ่งแหล่งใดเป็นการเฉพาะ แต่ต้องมีการผสมผสานและบูรณาการหลักฐานทั้งตำนาน การขุดค้นทางโบราณคดี และข้อมูลอื่น ๆ ประกอบ

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตำนานอุรังคธาตุเป็นสื่อสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ทางสังคม เรื่องราวจากตำนานอุรังคธาตุจึงมีนัยสำคัญที่ให้ภาพสะท้อนถึงเรื่องราวของลุ่มแม่น้ำโขง

งานวิจัยของผู้เขียนชื่อ “ตำนานอุรังคธาตุ : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง” ได้จัดแบ่งยุคสมัยเรื่องราวของลุ่มแม่น้ำโขงโดยอ้างอิงกับเรื่องราวในตำนานอุรังคธาตุ เปรียบเทียบกับแบบแผนวัฒนธรรมอันเป็นพื้นที่ทางสังคมที่สะท้อนถึงคติความเชื่อ หรือศาสนาของผู้คนที่มีลักษณะเป็นอุดมการณ์ของบ้านเมืองหรือรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ทางสังคม โดยจัดแบ่งออกได้เป็น ๖ ยุค ประกอบด้วย ๑. ยุคผี ๒. ยุคนาค ๓. ยุคพุทธ ๔. ยุคพราหมณ์ – ฮินดู ๕. ยุคแถน และ ๖. ยุคพญาธรรมิกราชาธิราช โดยยุคผีและยุคนาค เป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนที่การเผยแพร่วัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ จากชมพูทวีปจะนำการใช้ภาษาเขียนเข้ามาในอุษาคเนย์ ดังนั้น เรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์ในตำนานอุรังคธาตุ จึงเป็นเรื่องราวของยุคผี และยุคนาค

 

ยุคผี

ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงจากตำนานอุรังคธาตุที่แสดงให้เห็นถึงยุคเริ่มต้นของผู้คน และพื้นที่ทางสังคมของผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินสองฝั่งแม่น้ำโขง จากหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับกลุ่มชนดั้งเดิมในลุ่มแม่น้ำโขงยืนยันว่า มีผู้คนยุคดั้งเดิมที่มีชีวิตร่อนเร่อาศัยอยู่บนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขงมาก่อนแล้วมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ปี โดยไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงพวกแรกเป็นชนกลุ่มใด แต่จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานของคนยุคนี้ทำให้เราสามารถแบ่งคนกลุ่มแรกที่ตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำโขงออกได้เป็น ๒ พวก คือ พวกที่สูงกับพวกที่ราบ โดยกลุ่มพวกที่สูงจะอาศัยอยู่บริเวณป่าเขา มีการเพาะปลูกด้วยระบบการทำไร่ลักษณะทางสังคมเป็นแบบชนเผ่าที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นการถาวร

ส่วนพวกที่ราบจะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบหุบเขาหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีพัฒนาการในการจัดการน้ำเพื่อการทำการเกษตร ทำให้สามารถตั้งถิ่นฐานได้มั่นคง ชุมชนของพวกที่ราบมีการขยายตัวมีพัฒนาการจากหมู่บ้านเป็นเมือง แล้วก้าวหน้าเป็นรัฐและเป็นอาณาจักร

หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วคนในลุ่มแม่น้ำโขง ชี และมูลรู้จักการปลูกข้าวเหนียว เช่นหลักฐานที่บ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา และบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เป็นต้น นอกจากนี้คนในลุ่มแม่น้ำโขงยังมีการทำภาชนะดินเผา ทำเครื่องมือหินขัดเรียบ ทอผ้า ทำเครื่องประดับ ต้มเกลือ ถลุงโลหะ เลี้ยงสัตว์ รู้จักสร้างที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องผูก มีเสาสูง ยกย่องผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรม ใช้แคนเป็นเสียงสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ มีพิธีการทำศพโดยที่ฝังศพถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์กลางของชุมชน และนับถือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น งู กบ หมา มีระบบความเชื่อเรียกว่า ศาสนาผี พวกที่สูงมีความชำนาญในการถลุงโลหะ ส่วนพวกที่ราบมีความชำนาญในการทำนาปลูกข้าว คนสองพวกนี้ติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน จนกระทั่งพวกที่สูงลงมาอาศัยอยู่บนพื้นที่ราบ

เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับเนื้อความในตำนานอุรังคธาตุที่กล่าวถึงผู้คนในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงในยุคเริ่มต้น พบว่า ตำนานอุรังคธาตุได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุคเริ่มแรกของดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องในส่วนของศาสนานครนิทาน โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดินแดนลุ่มแม่น้ำ โขง ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของ นาค ผี และยักษ์ ว่า

“…ดูราอานนท์ ตถาคตเห็นแลนคำตัว ๑ แมบลิ้นให้เป็นเหตุแล เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย มีสุวรรณนาคราชาเป็นเค้า แลผีเสื้อน้ำเสื้อบก แลยักษ์ทั้งมวล…

การเริ่มต้นตำนานอุรังคธาตุด้วยการอธิบายภูมิลักษณ์ของดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงเป็นการอธิบายบริบททางสังคมวัฒนธรรมก่อนนำเข้าสู่เนื้อหา ดังนั้น เนื้อความที่ปรากฏจึงเป็นภาพสะท้อนของเรื่องราวในยุคบรรพกาลของผู้คนในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง หากจะวิเคราะห์ถึงนัยยะที่แฝงอยู่ในเนื้อความของตำนานอุรังคธาตุส่วนนี้ จะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้เรื่องราวของนาค ผีเสื้อน้ำเสื้อบก และยักษ์ มาเป็นสัญลักษณ์แทนคนพื้นเมืองในยุคแรก แต่หากพิจารณาเกี่ยวกับเนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุต่อไปจะพบว่าตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงการอพยพของนาคจากหนองแสเข้ามาแย่งพื้นที่ของผี

ดังนั้น ข้อความในตำนานอุรังคธาตุส่วนนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นว่า ในยุคบรรพกาลผู้คนในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงนับถือศาสนาผีมาก่อน

เนื้อหาของตำนานอุรังคธาตุในส่วนต่อไปได้ลำดับเรื่องราวว่า เมื่อกลุ่มนาคอพยพออกจากหนองแส กลุ่มนาคได้เข้ามาในอาณาเขตของกลุ่มผี พวกผีเห็นนาคออกมาจำนวนมากเกรงว่าจะมาแย่งชิงอาหาร ผีทั้งหลายจึงเข้าทำร้ายนาคและเงือกจนบาดเจ็บล้มตาย นาคพวกหนึ่งจึงไปหลบอยู่ที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า น้ำลี่ผี

“…ส่วนว่านาคทั้งหลายมี สุวรรณนาคกุทโธทปาปนาค ปัพพารนาค สุกขรนาคหัตถีสีสาสัตตนาค มี ๗ หัว คหัตถีนาค เป็นเค้า แลนาคทั้งหลายฝูงเป็นบริวารมากนัก อยู่น้ำหนองแสนั้นบ่ได้ เหตุว่าน้ำหนองแสขุ่นมัวเสียมากนักจีงออกมาอยู่แคมน้ำเหนือบก ผีเห็นนาคทั้งหลายออกมาอยู่เหนือบกดังนั้น เขาก็มาหวงแหนกินซากว่านาคจักมายาดชิงกินดอมเขา ก็ลวดกระทำร้ายให้เป็นอนตายแก่นาคทั้งหลายด้วยพยาธิเจ็บไข้ผอมเหลืองต่าง ๒ เป็นต้น ลางพ่องก็ตายไปแม่นว่าเงือกก็ดั่งเดียว

 นาคทั้งหลายจีงเอากันหนีจากแคมหนองแสหั้นนำคองน้ำอุรังคนที แล้วจีงควาหาที่อยู่ลี่ผีสางทั้งหลายแล นาคแลเงือกงูทั้งมวล ก็ล่องนำแม่น้ำของลงมาใต้…แต่นั้นจีงว่า น้ำลี่ผี มาเท่าบัดนี้หั้นแล…

 

เนื้อความข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงลำดับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขงว่า กลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยบนบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มที่นับถือผี ต่อมาจึงได้มีกลุ่มคนที่นับถือนาคและเงือกงูอพยพเข้ามาอาศัย หรือมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

แม้ว่าตำนานอุรังคธาตุจะไม่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มชนดั้งเดิมที่อาศัยบนแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขงไว้มากนัก แต่การบอกเล่าเรื่องราวของนาคที่อพยพเข้ามาอาศัยในถิ่นที่อยู่ของผี ช่วยให้เราเห็นภาพสะท้อนของสังคมลุ่มแม่น้ำโขงในยุคบรรพกาลตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่า

มีผู้คนอาศัยในดินแดนสองฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงอยู่ก่อนและคนเหล่านั้นนับถือศาสนาผี หลังจากนั้นคติการนับถือนาคเงือกงูจึงเผยแผ่เข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงพร้อมกับผู้คนจากทางเหนือ โดยความเชื่อทั้งสองฝ่ายได้มีการปะทะกัน เกิดภาพสะท้อนผ่านตำนานอุรังคธาตุว่า ในยุคแรกกลุ่มชนดั้งเดิมที่นับถือผีไม่ยอมรับกลุ่มที่นับถือนาคเงือกงู จนทำให้กลุ่มที่นับถือนาคเงือกงูไม่อาจอยู่ร่วมกันต้องไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น

ยุคผีจึงเป็นยุคที่กล่าวถึงกลุ่มชนดั้งเดิมกลุ่มแรกที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีน่าจะอยู่ในช่วงประมาณก่อน ๑๐,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ยุคนี้น่าจะเทียบได้กับยุคหินที่ผู้คนอาศัยการเก็บของป่าล่าสัตว์ในการดำรงชีวิต

ยุคนาค

จากตำนานอุรังคธาตุให้ภาพสะท้อนเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำโขงในยุคต่อมา ที่แสดงให้เห็นถึงยุคที่ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงเปลี่ยนผ่านจากสังคมชนเผ่าเป็นสังคมเมือง จนกระทั่งเกิดเป็นรัฐและเกิดเป็นอาณาจักรในที่สุดโดยในยุคนี้วัฒนธรรมจากคนนอกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเกิดพัฒนาการทางสังคมโดยเฉพาะวัฒนธรรมคนนอกจากตอนใต้ของจีน

จากเดิมที่ลุ่มแม่น้ำโขงมีผู้คนอาศัยอยู่ก่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จากนั้นในช่วง๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มคนนอกจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แถบกวางสี – กวางตุ้ง ยูนนาน และเวียดนาม เข้ามาในแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง สิ่งที่คนนอกเหล่านี้นำเข้ามาด้วยคือภาษาตระกูลไท – ลาว เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่าเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา คนพื้นเมืองในกวางสี – กวางตุ้ง พูดภาษาตระกูลไท-ลาว และต่อมาได้ใช้เป็นภาษาการค้าในการติดต่อกับกลุ่มอื่นนอกจากนี้ยังนำระบบความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรมฝังศพครั้งที่สอง และเทคโนโลยีสำริด เช่น กลองมโหระทึก เข้ามาด้วย

คนนอกที่กล่าวถึงนี้เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่ชาวจีนดังเดิมเรียกว่า ไป่ผู หรือ ไป่เยวี่ย ซึ่งเป็นคำเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ ๑,๑๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาหลังคริสศตวรรษที่ ๓ ชาวจีนเรียกชนพื้นเมืองทางใต้ว่า เหล่า หรือ ลาว หมายถึงคนพื้นเมืองในแถบเสฉวน ฉงชิ่ง หูหนาน กุ้ยโจว กวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ ส่วนชื่อเผ่า ไท – ไต เริ่มปรากฏในยุคราชวงศ์ซ่ง วัฒนธรรมของชาวไป่ผูไป่เยวี่ยยังพบได้ชัดเจนในกลุ่มชาวจ้วง ในมณฑลกวางสีอันเป็นหลักแหล่งของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว โดยมีลักษณะพิเศษคือ ทำนาลุ่ม มีพิธีขอฝน บูชากบ ใช้กลองมโหระทึก แคนน้ำเต้า ติดต่อกับผีบนฟ้าเชี่ยวชาญทางน้ำและมีการฝังศพครั้งที่สอง นอกจากนี้ยังพบว่า สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวจ้วงที่สำคัญคือ เงือก ลวง นาค โดยตำนานปู้ลัวทัวบรรพชนผู้ให้กำเนิดชาวจ้วงเล่าว่า ปู้ลัวทัวมีสัตว์วิเศษเป็นลูกน้อง ๑๒ ตัว ตัวที่มีความสำคัญลำดับที่สามคือ ตัวเงี่ยหรือเงือก โดยรูปเคารพของเงี่ยจะทำหัวเป็นรูปจระเข้ เงือกจึงเป็นสัญลักษณ์แทนผีน้ำในยุคแรกของชาวจ้วง ส่วนคำว่า ลวง มาจากคำว่า หลง ในภาษาจีนฮั่น หมายถึงพญางูที่สวมมงกุฎหรืองูที่มีหงอน ต่อมาคนจ้วง ลาว ไท รับเอาคำว่า หลง เจ้าแห่งน้ำและผู้ให้ฝนตามคติจีนเข้ามาแทนจระเข้หรือเงือกดั้งเดิม เรียกว่า ตัวลวง เมื่อชาวสุวรรณภูมิรับวัฒนธรรมพุทธ – ฮินดู จึงได้นำคำว่านาคเข้ามาใช้ปะปนกันจนแทบจะสืบร่องรอยไม่ได้

ความเชื่อในการนับถือเจ้าแห่งน้ำซึ่งเดิมคือเงือก ที่มีหัวเป็นจระเข้ ต่อมารับวัฒนธรรมจีนที่นับถืองูใหญ่มีหงอนเรียกว่า ลวง จนกระทั่งรับคำว่า นาค เข้ามาซ้อนทับในความหมายเจ้าแห่งน้ำงานวิจัยนี้จึงใช้ว่ายุควัฒนธรรมนาค หมายถึง ยุคที่คนนอกที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว ที่นับถือเงือก ลวง หรือ นาค นำเอาเทคโนโลยีเกี่ยวการทำนาทดน้ำทำนาที่ลุ่ม รวมถึงความเชื่อ ภาษาวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาจากชาว ไป่ผู หรือ ไป่เยวี่ย เข้ามาในดินแดนลมุ่ แม่น้ำโขง แล้วเกิดการปะทะกับกล่มุ วัฒนธรรมผีซึ่งเป็นคนกล่มุ แรก ดังที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่า

“…ผีเห็นนาคทั้งหลายออกมาอยู่เหนือบกดังนั้น เขาก็มาหวงแหนกินซากว่านาคจักมายาดชิงกินดอมเขา ก็ลวดกระทำร้ายให้เป็นอนตายแก่นาคทั้งหลายด้วยพยาธิเจ็บไข้ผอมเหลืองต่าง ๒ เป็นต้น ลางพ่องก็ตายไป แม่นว่าเงือกก็ดั่งเดียว

 นาคทั้งหลายจีงเอากันหนีจากแคมหนองแสหั้นนำคองน้ำอุรังคนที แล้วจีงควาหาที่อยู่ลี่ผีสางทั้งหลายแล นาคแลเงือกงูทั้งมวล ก็ล่องนำแม่น้ำของลงมาใต้…แต่นั้นจีงว่า น้ำลี่ผี มาเท่าบัดนี้หั้นแล…

ตำนานอุรังคธาตุได้แสดงนัยยะสำคัญให้เห็นว่า ในช่วงแรกที่คนนอกซึ่งพูดภาษาตระกูลไต และนับถือเงือก – ลวง – นาค ได้นำวัฒนธรรมใหม่เข้ามาสู่แผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง ได้เกิดการไม่ยอมรับจากกลุ่มวัฒนธรรมเดิม แต่ในที่สุดดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงได้มีการรับเอาภาษา เทคโนโลยีรวมถึงการทำนาลุ่มเข้ามาใช้ ทำให้ชุมชนมีพัฒนาการจากบ้านเป็นเมือง ปรากฏเป็นภาพสะท้อนจากตำนานอุรังคธาตุเกี่ยวกับการยอมรับวัฒนธรรมคนนอก ดังจะเห็นได้จากตอนที่กล่าวถึงบุรีอ้วยล่วย ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุบอกไว้ชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มของพ่อท้าวคำบางที่อพยพมาจากเมืองหนองหาญหลวงหนองหาญน้อย แต่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หนองคันแทเสื้อน้ำอยู่ก่อนแล้ว เรื่องราวของบุรีอ้วยล่วยมาสอนคนให้รู้จักทำนาแซงหรือนาปรังพร้อมทั้งสอนความรู้ต่าง ๆ ให้กับญาติวงศาและคนในชุมชนของตน จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนของการรับวัฒนธรรมจากคนนอก โดยมีบุรีอ้วยล่วยเป็นสัญลักษณ์แทนของคนนอกที่นำเทคโนโลยีในการทำนาแซง หรือนาปรัง มาถ่ายทอดให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองเดิม ดังปรากฏความในตำนานอุรังคธาตุว่า

 

“…ยังมีกระทาชายผู้ ๑ ดำปูมใหญ่กระทาชายผู้นั้นประกอบด้วยใจกุศลบุญยิ่งนักเรือนอยู่ที่เพียงแคมปากร่องซะแกปลายหนองคันแทเสื้อน้ำ อันไหลมาจุะน้ำบึงหั้น กระทาชายปูมใหญ่ผู้นั้นก็อุปัฏฐากแก่อรหันตาเจ้า ๒ ตนนั้นด้วยข้าวบิณฑบาตแลข้าวสงฆ์ออกเป็นปกติอรหันตาเจ้าทั้ง ๒ จีงว่า ปูมหลวงมักพำเพ็งบุญก็ใส่ชื่อให้ปรากฏว่า บุรีอ้วยล่วยหั้นแล

คนทั้งหลายฝูงเป็นวงศาญาติ แลฝูงร่วมบ้านเขาก็เอาเป็นครูบาอาจารย์แก่เขาซุคน ก็รักอยำแอยงยิ่งนัก บุรีอ้วยล่วยก็ยอมสั่งสอนให้รักศาตรศิลป์ ฟังธรรมกระทำกุศลบุญมากนัก แลชักชวนอันกระทำนาปี นาแซงแก่เขาทุกปี…

ในตำนานอุรังคธาตุยังให้ภาพสะท้อนของคนนอกที่มีความรู้เรื่องการทดน้ำ อันเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการจัดการน้ำสำหรับทำนาว่าเป็นความรู้ของกลุ่มวัฒนธรรมนาค เช่นตอนที่กล่าวถึงพญาสุวรรณนาคให้เสฏฐไชยนาคตัวเนรมิตเป็นคันแททดน้ำไว้ที่หนองเสื้อน้ำในฤดูเก็บเกี่ยว อันเป็นที่มาของชื่อหนองคันแทเสื้อน้ำปรากฏความตามตำนานอุรังคธาตุว่า

“…ยังมีกาลคาบอัน ๑ บุรีอ้วยล่วยพาเพื่อนบ้านหลานเมืองหมู่ซุมแห่งตนมากระทำนาปีนาแซงที่หนองเบื้องนอกบ้านหั้นก็มีแล เถิงเมื่อข้าวพอเป็นรวงแก่แล้วพอเสียน้ำก็พร้อมกันไปเป่งน้ำเสีย

เมื่อนั้นพญาสุวรรณนาคก็จีงให้เสฏฐไชยนาคตัวอยู่หนองเสื้อน้ำนั้นนีรมิตเป็นคันแททดน้ำไว้ที่หนองเสื้อน้ำนั้นให้น้ำมาท่วมข้าวจ่งไว้แต่รวงข้าว คนทั้งหลายเห็นว่าผิดฤดูน้ำมากเอากันไปดู ว่าฉันนี้คนทั้งหลายหญิงชายน้ำใหญ่หลั่งกันไปดูก็เห็นเป็นคันแททดน้ำไว้ก็ยิ่งไหลเข้ามาร่องหั้นแล คนทั้งหลายจีงเรียกชื่อว่า หนองคันแทเสื้อน้ำ เหตุว่าหนองนี้มีผีเสื้อน้ำ มันแฮ็งกินคนเขาจีงว่าหนองผีเสื้อน้ำแต่บุราณสืบ ๒ มาในกาลบัดนี้แล เขาเหน็ คันแททดน้ำมากไหลไวเขาจีงใสชื่อว่าหนองคันแท แต่นั้นมาแล คนทั้งหลายจีงลงสับลงม้างเสีย…

การเปิดรับเทคโนโลยีในการทำนาปลูกข้าวในที่ลุ่ม เกิดผลดีต่อการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในดินแดนสองฝั่งแม่น้ำโขง เนื่องจากทำให้ชุมชนไม่ต้องโยกย้ายไปหาที่เพาะปลูกใหม่เหมือนการทำข้าวไร่ นอกจากนี้ยังทำให้ได้ผลผลิตเพียงพอที่สามารถเลี้ยงผู้คนในชุมชนได้ และหากมีปริมาณมากพอสามารถใช้แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นได้ทำให้มีการพัฒนาจากหมู่บ้านเป็นเมือง ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในยุคนี้ ดังที่ในตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงการเกิดเมืองจันทบุรีว่าเป็นการเนรมิตของพวกนาคปรากฏความตามตำนานอุรังคธาตุว่า

“…ยามนั้น นาคแลเทวดา จื่อจำแล้วก็ลาพรากจากกัน อ้อมเวียนเมือง นีรมิตให้เป็นเวียงต้ายแล้วด้วยไม้จันทน์หอมทั้งมวลก็หอมทั่วทั้งเมืองอันนี้จีงปรากฏว่า จันทบุรี เพื่ออันดาย แล้วนาคแลเทวดาก็จีงหนีเมือหาที่อยู่แห่งตนแล…

 

พัฒนาการของสังคมก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนจากสังคมหมู่บ้านเป็นเมือง จึงเกิดจากการเปิดรับวัฒนธรรมของกลุ่มคนนอกที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้นับถือนาค ส่วนการที่กลุ่มพ่อท้าวคำบางเป็นกลุ่มที่อพยพมาตั้งเมืองสุวรรณภูมิที่ห้วยเก้าคดเก้าเลี้ยว หลังจากเมืองหนองหาญหลวงและหนองหาญน้อยถูกพวกนาคทำลาย แสดงให้เห็นว่ากลุ่มของพ่อท้าวคำบางไม่ใช่กลุ่มนาค

นัยยะนี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มพ่อท้าวคำบางคือ กลุ่มวัฒนธรรมผี หรือกลุ่มชนในอีสานยุคแรกนั่นเอง ดังนั้น ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำโขงจากบทบาทของบุรีอ้วยล่วยจึงหมายถึงกลุ่มคนนอกที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว และนับถือนาค ที่เข้ามาในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงภายหลัง หรือหากจะกำหนดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ กลุ่มคนนอกที่พูดภาษาตระกูลไท – ลาว และมีความเชื่อเกี่ยวกับน้ำ มีคติการนับถือนาค คตินี้ได้พัฒนาขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขงในช่วง ๓,๐๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา

ตำนานอุรังคธาตุตอนที่กล่าวถึงท้าวคำบางยกนางอินสว่างลงลอดให้เป็นมเหสีของท้าวบุรีอ้วยล่วยและมอบเมืองเวียงจันทน์ให้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุควัฒนธรรมผีมาสู่ยุควัฒนธรรมนาค สะท้อนถึงการยอมรับเทคโนโลยีและวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท – ลาว เข้ามาในกลุ่มวัฒนธรรมผี นอกจากนี้ การเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการทำนาแซงและมีระบบชลประทานที่ดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมั่งคั่ง จนมีพัฒนาการทางสังคมจากสังคมหมู่บ้านพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองและรัฐที่ปรากฏอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ

เรื่องราวในตำนานจึงไม่ใช่เรื่องเล่าที่เหลวไหลไปเสียทั้งหมด หากแต่เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่เกิดในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์มากกว่าคนในยุคปัจจุบันตำนานเหล่านี้เต็มไปด้วยภาษาสัญลักษณ์ที่คนปัจจุบันต้องถอดรหัสเพื่อเรียนรู้อดีตสำหรับสร้างก้าวต่อไปที่มั่นคงของอนาคต

 

 

***

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๙ | มกราคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ความยากจนและเครื่องชี้วัด
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com