แถนในตำนานไทมาว ไทใหญ่ ไทอาหม (๒)

ฉบับที่แล้ว นำเสนอเอกสารชั้นต้นเกี่ยวกับ “แถน” คือพงศาวดารล้านช้าง ที่แปลเป็นภาษาไทย

ฉบับนี้ขอเสนอเรื่องเกี่ยวกับ แถนคำ, แลงดอน, ขุนตุงคำ (ซึ่งน่าจะตรงกับ “แถนหลวงฟ้าคื่น” ในพงศาวดารล้านช้าง) ที่ส่งคนลงมาปกครองเมืองลุ่ม ตามเอกสารของ ไทมาว ไทใหญ่ไทอาหม ที่ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา สรุปเนื้อความไว้ในบทความวิชาการเรื่อง “ไก่แสง :ไก่เสี่ยงทายตัวแรกในตำนานปรัมปราของชนชาติไท” วารสารวิชาการ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดังต่อไปนี้

เรื่องที่ ๑ พงศาวดารไทยใหญ่ ฉบับของ N.Elias พิมพ์ขึ้นที่กัลกัตตาใน พ.ศ. ๒๔๑๙ กรมพระนราธิป ประพันธ์พงศ์ แปลเป็นภาษาไทยจัดพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๒ เล่ม

เรื่องเกี่ยวกับไก่เสี่ยงทายอยู่ในตอนต้นของเล่มที่ ๑ มีความโดยย่อว่า

ในปี พ.ศ. ๑๑๑๑ ขุนตูงคำแห่งเมืองสวรรค์ส่งลูกชายสองคน ขุนลู –ขุนไล พร้อมโหราจารย์ชื่อขุนตุน ขุนพุน ไต่สะพานทองคำลงมายังลุ่มแม่นํ้าเมา

ขุนตูงคำ มอบไก่ ๑ ตัว มีด ๑ เล่ม ให้โอรสทั้งสองและสั่งว่าเมื่อลงไปถึงโลกมนุษย์ให้ฆ่าไก่ด้วยมีดเล่มนั้น แล้วส่งขึ้นมาถวายทันที และสั่งให้ทั้งคู่กินหัวไก่ก่อนค่อยแบ่งไก่แจกจ่ายให้อำมาตย์และบริวาร

ขุนทั้งสองลืมทำตามคำสั่ง ไก่และมีดจึงหายไป ขุนทั้งสองมอบให้เจ้าลองคู หรือเลาวู ซึ่งก่อนหน้านี้เข้ามาขอเป็นบริวาร ให้กลับไปเอามีดและไก่ที่เมืองสวรรค์ เจ้าติกานกลับลงมา และบอกว่าขุนตุงคำสั่งให้สองขุนฆ่าไก่และเสวยไก่แต่เพียงบางส่วน หัวไก่มอบให้เจ้าติกานและตาไก่มอบให้บริวาร

เจ้าติกานขอรางวัลตอบแทน สองขุนจึงโปรดให้ไปครองอาณาจักรมิถิลา

เจ้าติกานได้กินหัวไก่จึงได้ครองมิถิลาหรือยูนนาน ได้สถาปนาเมืองแปหรือกแย หรือแสหลวง (หนองแส) ขึ้นใน พ.ศ. ๑๑๑๑ เชื่อกันว่าเจ้าติกานเป็นคนจีน

เรื่องที่ ๒ พงศาวดารเมืองมาว จากหนังสือคนไทยในพม่า ของ บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ไม่ได้บอกว่าได้มาจากที่ใด มีเรื่องย่อว่า

ขุนตึงคำ เมืองสวรรค์ มอบไก่ ๑ ตัว มีด (ดาบ) ๑ เล่มให้ขุนลู ขุนลาย ก่อนส่งลงไปครองเมืองมาว โดยสั่งให้ใช้มีดนั้นฆ่าไก่บูชาเทพเจ้าเมื่อลงมาถึงเมืองดินแล้ว โดยให้สังเวยหัวไก่แก่เทพ ก่อนที่จะให้คนอื่น

สองขุนลงมาถึงเมืองมาวได้รับการต้อนรับจากผู้คนจนลืมนึกถึงคำสั่งของขุนตึงคำ ไก่กับมีดจึงลอยกลับคืนสู่สวรรค์

ต่อมาภายหลังนึกขึ้นได้จึงใช้ให้เจ้าเลาวูหรือทีคำ ซึ่งไทอาหมเรียก เจ้าลังคู้ ซึ่งเป็นคนรับใช้ไต่บันไดขึ้นไปเอามาให้

เจ้าทีคำกลับลงมาเล่าว่าขุนตึงคำโกรธ สั่งให้ขุนลูขุนลายกินแต่ตัวไก่ ส่วนหัวไก่ให้บริวารกินไปขุนทั้งสองก็ปฏิบัติตาม เจ้าทีคำได้ลอบกินหัวไก่จึงได้ไปครองอาณาจักรเมกถีลา (มิถิลา

หรือเมืองจีน) เมื่อเจ้าทีคำถึงแดนจีนก็ได้ตั้งเมืองหลวงนามว่า กเย (บุญช่วย สันนิษฐานว่าาจะเป็นเมืองเจ้หลวง หรือ แสหลวง)

เรื่องที่ ๓ ตำนานเมืองเมาฉบับไตพ่าเก่ ศาสตราจารย์คุณบรรจบ พันธุเมธา ได้จากหมู่บ้านชาวไทพ่าเกหรือผาแก่ ใน รัฐอัสสัมอินเดีย ได้เขียนเรียบเรียงไว้ใน หนังสือ ยูนนาน สันนิษฐานว่าได้เค้ามาจาก อาหมบุราญจี ฉบับของ G. Chandra Barua ซึ่งรวบรวมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ สรุปความได้ว่า

เมื่อแรกสร้างโลก มีแต่มนุษย์กับสัตว์ ยังไม่มีผู้ปกครอง ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงเพราะคนแข็งแรงข่มเหงคนอ่อนแอ จึงไม่มีมนุษย์อยู่ได้จนแก่เฒ่า

ย่าแสงฟ้าผู้เรืองปัญญาสงสารมนุษย์จึงไปเฝ้า แล้งหลอน (เทพผู้เป็นใหญ่) พร้อมกับเฒ่าหลาวแข่ เฒ่านิปนิง เฒ่าหมวกส่านและเฒ่ามากาง ขอประทานลูกหลานให้ลงมาเป็นเจ้าปกครอง

แล้งหลอนจึงส่งสองพี่น้องอ้ายขุนลู้ และหงี่ขุนไล้ ไต่บันไดจากเมืองสวรรค์ลงมายังเมืองฮี่ เมืองฮำ เพื่อปกครองและสั่งสอนคนเมืองเต้ออพ่า (เมืองใต้ฟ้า) หรือเมืองลุ่ม

คนเมืองลุ่มดีใจพากันสร้างหอถวายให้เจ้าขุนทั้งสองพำนัก อ้ายขุนลู้จึงให้ขุนไล้ไปครองเมืองเมา และได้ขอให้ขุนแซวไปครองเมืองปองละโคยไปครองเมืองแข่ (จีน) ไต้ผ่าไปครองเมืองโยน (ลาว)

แล้งหลอนประทานไก่แสงฟ้าหงอนแสงมาให้ตัวหนึ่ง สั่งให้ฆ่าไก่เพื่อจะได้ใช้กระดูกไก่ทำนายอนาคต

ให้อ้ายขุนลู้กินหัวไก่เพื่อจะได้ปกครองอาณาจักรทั้งหมด ให้ หงี่ขุนไล้ กินปีกเพื่อจะช่วยพี่ปกครองอาณาจักร คอไก่มอบให้ขุนเครือเจ้าหัวศึกเพราะต้องเฝ้าดูแลบ้านเมือง ตับไก่มอบให้

ขุนฝ่ายขวา เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญของบ้านเมือง กระเพาะไก่มอบให้ขุนฝ่ายซ้ายเพราะจะดูแลกิจการทั่วไป ตีนไก่มอบให้เจ้าผู้เจ้อา หรือคนใช้ได้กินเพราะเป็นผู้สื่อข่าว ได้ยินข่าวอะไรต้องมารายงานให้รู้ ส่วนเนื้อไก่มอบให้บริวาร

แล้งหลอนยังสอนให้ปกครองบ้านเมืองอย่างรอบคอบและเป็นสุข และสอนให้เจ้าทั้งสองสอนผู้คนให้รู้จักทำนาในฤดูฝนและในที่ลุ่มสอนให้ปลูกพืชผลต่าง ๆ

ขุนทั้งสองโฉดเขลาเบาปัญญาได้ครองอาณาจักรเมืองไท และเอาแต่แย่งชิงอำนาจ

ต่อมาขุนลู้สละอาณาจักรมาวให้ขุนไล้พาบริวารเดินทางไปตั้งเมืองหลวงใหม่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ใกล้แม่นํ้า

อุยุนาม คือ เมืองกอง เมืองยอง บริเวณแม่นํ้าชินตะวิน อันเป็นที่อยู่ของชาวลูกไต หรือไทคำตี่ เมืองจะแกง

เรื่องที่ ๔ ตำนานอาหม ใน อาหมบุราญจีฉบับพิมพ์ คุณบรรจบ พันธุเมธา เรียบเรียงไว้ ในหนังสือ ยูนนาน ตำนานเรื่องนี้มีตอนต้นเหมือนกับตำนานเมืองเมาของชาวไทพ่าเก ต่างกันที่ชื่อเป็น ขุนลุงขุนไล และแลงดอน เรื่องมีว่า

แลงดอนส่งขุนลุง ขุนไล ลูกหลานของแถนคำ มายังเมืองมนุษย์พร้อมกับให้ไก่แสงเมืองและดาบ

ขุนทั้งสองไต่บันไดเหล็กลงมาจากสวรรค์จนถึงเมืองล่างแล้วจึงนึกได้ว่าลืมดาบกับไก่แสงเมือง

ละงู ชาวป่าอาสาไต่บันไดกลับไปเอามาให้และขอรางวัลเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองแข่ (เมืองจีน)

ย่าแสงฟ้าสั่งให้มาบอกว่า ห้ามขุนทั้งสองกินกระดูกขาไก่ ละงูเปลี่ยนข้อความเป็นให้ขุนทั้งสองและพวกเจ้านายกินเนื้อกับตับของไก่ แต่ห้ามกินขากับหัว หัวให้ยกให้ละงูไป

ละงูจึงได้ปกครองเมืองแข่ ส่วนขุนทั้งสองต่อมาก็ทะเลาะกัน ขุนไลต้องการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขุนลุงจึงขึ้นไปฟ้องแลงดอน

แลงดอนกริ้วขุนไลและได้สาปแช่งว่าขุนไลและลูกหลานจะไม่ได้ครองเมืองยืนยาว โปรดให้ขุนลุงไปครองเมืองครุมเมืองย่า

เรื่องที่ ๕ อาหมบุราญจี ฉบับของ G. L. Barua ม.จ.ประสบสุข สุขสวัสดิ์ แปลให้ชื่อว่าประวัติศาสตร์อาหม

ผู้แปลเขียนในคำนำว่าต้นฉบับเขียนบนเปลือกไม้ซาชิ (ประสบสุข สุขสวัสดิ์ ม.จ., 2536)

ตอนที่กล่าวถึงนี้อยู่ในบทที่ ๑ และ ๒ เนื้อเรื่องย่อมีว่า

เลงดอน (พระอินทร์) สั่งให้เจ้าสิงฟ้าเทพแห่งปัญญามาเฝ้า

ให้ขุนหลวงขุนหลายลูกของสิงห์เท้าเย็นไก่ฟ้า หลานของเจ้าดาคำ กับ นางแสงดาวน้องสาวของเลงดอน พร้อมกับภูภิกษุลงไปเกิดเป็นกษัตริย์เพื่อให้โลกสงบสุข

เลงดอนมอบไก่แสงเมือง ๑ ตัวเพื่อให้ใช้ทำนายเหตุการณ์ในอนาคตโดยให้สังเกตจากปากไก่ ไส้ไก่และขาไก่ ส่วนเนื้อไก่ให้แจกจ่ายให้ชาวอาหมกินจะได้มีความมั่งคั่ง

เลงดอนยังมอบผ้าปัก ๑ ผืน และกลอง ๒ ใบ เพื่อใช้ตีเวลาศึกประชิดเมือง ตีแล้วจะได้ชัยชนะ และให้ตีบอกเทวดาเพื่อขอฝนยามฝนแล้ง หรือตีเพื่อให้ตะวันฉายแสง

ขุนหลวงขุนหลายลงมาบนพื้นโลกทางบันไดเหล็ก

ขุนหลวงขุนหลายลืมเอาไก่แสงเมืองลงมาด้วย

ชาวลังกูจากเมืองป่าอาสาขึ้นไปเอามาให้แต่มีข้อแม้ว่า จะต้องให้ไปครองเมืองแข้ (เมืองจีน)

เจ้าสิงฟ้าสั่งลังกูให้ไปบอกขุนทั้งสองว่าอย่าเอากระดูกโคนขาของไก่แสงเมืองไปใช้ และให้นำดาบมาปักไว้กลางบ้าน ติดกับเสาใกล้ที่ประทับ กลองห้ามนำไปตี ยกเว้นยามทำสงครามหรือในยัญพิธีบูชาเทวดา

ลังกูแบกไก่สวรรค์ลงมา และโกหกว่า เจ้าสิงฟ้าสั่งให้ขุนหลวงขุนหลายกินเนื้อและตับไก่ห้ามกินหัวไก่และขาไก่เพราะทุกเช้าไก่จะใช้ขาเขี่ยขี้กระจาย จึงไม่ควรกิน และสั่งให้แบ่งหัวไก่และปีกให้ลังกู พร้อมกับให้ประทานแสงดาบให้ลังกู ให้ไปปกครองประเทศทางเหนือ หากทำตามนี้ได้จะได้ครองโลก

ทั้งสองทำตามคำสั่ง เอาไก่สวรรค์ไปในวังถอดกระดูกน่องไก่ออกมาทำความสะอาด แล้วนำไปใช้ในการเสี่ยงทายทำนายอนาคต การทำนายครั้งที่ ๑ ฝ่ายขุนหลวงขุนหลายจะมีความเจริญก้าวหน้า ส่วนฝ่ายศัตรูจะพินาศ การทำนายครั้งที่ ๒ ขุนหลวงจะได้เป็นผู้ครองอาณาจักรที่มีอำนาจสูงสุด มีช้างและทรัพย์สินจำนวนมหาศาล การทำนายครั้งที่ ๓ ขุนหลวงจะได้เป็นผู้ครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ ขณะเดียวกัน

ศัตรูก็จะมีดินแดนเป็นปึกแผ่นเช่นเดียวกัน

การทำนายครั้งที่ ๔ ขุนหลวงขุนหลายจะปกครองบ้านเมืองได้เจริญรุ่งเรือง

ตรวจสอบการทำนายกระดูกไก่บนโลกอีกครั้งหนึ่ง และมีการทำนายว่า ลังกูจะได้เป็นเจ้าผู้ครองดินแดนอันกว้างใหญ่ซึ่งจะขยายไปจรดคาบสมุทร

ขุนหลายยึดอำนาจจากพี่ชายโดยใช้กลอุบาย

ขุนหลวงกลับขึ้นสวรรค์ไป ฟ้องเลงดอน ๆ สาปแช่งขุนหลายและวงศ์สกุล โปรดให้ขุนหลวงไปครองมันครูมันหยา

เรื่องที่ ๖ อาหมบุราญจี ฉบับ British Library เรณู วิชาศิลป์ ปริวรรต ให้ชื่อว่าพงศาวดารไทอาหม เล่ม ๑

ตำนานตอนสร้างโลกนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารต้นฉบับแผ่นที่ ๗ หน้า ๑ – ๑๐

หลังจากน้ำท่วมโลก ผีฟ้าลงมาปลูกน้ำเต้า นํ้าเต้าแตกเป็นคน

ผีฟ้าลงมาใหม่ หว่านพันธุ์คนแต่ยังไม่เต็มทุกเมือง จึงให้เจ้าผาลานลงมาหว่านพันธุ์คนอีก

 ต่อจากนั้นให้เฒ่าเล็บลิงกับเฒ่าวันแสงลงมาสอนคนบนโลก

แลงดอนเจ้าฟ้าแผดให้หลานแถน คือ ขุนหลวง ขุนหลาย ลงมาอยู่เมืองรี เมืองรำ พร้อมบริวาร ๘๐,๐๐๐ ขุน และมอบดาบล้างบ้านกลองล้างเมือง และสั่งสอนให้เคารพญาติฝ่ายเมีย

ต่อจากนั้น จึงให้เสี่ยงทายไก่ เมื่อฆ่าไก่และดูผลออกมาดีจึงชวนกันไต่บันไดเหล็กลงมายังพื้นโลก

มาครองเมืองรี เมืองรำ

ทำไมต้องใส่ใจเรื่อง แถน

“แถน” มิใช่มีความสำคัญในการจุดบั้งไฟเท่านั้น “แถน” เป็นหนึ่งในแก่นวัฒนธรรมไทดึกดำบรรพ์ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์

แก่นวัฒนธรรมไทดึกดำบรรพ์ก่อนรับอิทธิพลพุทธ-พราหมณ์ ประกอบด้วย วัฒนธรรมข้าว, ระบบผี, ระบบแถน, เงือก และขวัญ

“แถน” เกี่ยวโยงกับชีวิตเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิต (ข้าว), ระบบการเมืองการปกครอง (แถนหลวงส่งลูกหลานจากเมืองฟ้าลงมาปกครองเมืองลุ่ม), สุขภาวะ (ผีฟ้ารักษาโรค), กำหนดชะตาชีวิตคน (แถนแนน) ฯลฯ

การศึกษาเรื่อง “วัฒนธรรมแถน” จึงสำคัญมาก

และต้องศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มคนไต/ไท ทุกกลุ่มด้วย เพราะไทกลุ่มที่รับพุทธศาสนาแทบจะทิ้งคติความเชื่อเรื่อง “แถน” ไปหมดสิ้นแล้ว

เอกสารสำคัญที่ขอแนะนำให้อ่าน คือ

“การวิเคราะห์ตำนานสร้างโลกของคนไท : รายงานการวิจัย” ของ “ศิราพร ณ ถลาง Available from: tttps://www.researchgate.n e t / p u b l i c a t i o n / 2 7 8 0 3 5 5 5 _karwikheraahtanansranglokkhxngkhnthi_rayngankarwicay [accessed Jan 06 2018].

อันมีบทสรุปย่อ ดังต่อไปนี้

“ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไทแต่ละกลุ่ม : ไทใหญ่-ไทอาหม ; ไทลื้อ; ไทเขิน ; ไทยวน-ล้านนา ; ลาว-ล้านช้าง ; อีสาน; ไทดำ-ไทขาว ; จ้วง

— แหล่งที่มาของตำนานการสร้างโลกของคนไทสำนวนต่าง ๆ

— ตำนานสร้างโลกในฐานะเป็นเครื่องบอกความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนชาติไท

— ความคิดเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติกับจริยธรรมในทัศนะของคนไท

— การผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมของคนไทกับพุทธศาสนา

— วัฒนธรรมข้าวในฐานะที่เป็นส่วนร่วมของชนชาติไท

— ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทกับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ

— ตำนานสร้างโลกของคนไท เปรียบเทียบกับ ตำนานสร้างโลกในวัฒนธรรมอื่น

งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบตำนานสร้างโลกของคนไทยกล่มุ ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย อันได้แก่ ไทอาหม ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ไทยวน-ล้านนา อีสาน ลาว ไทดำ ไทขาว และจ้วง ทั้งนี้โดยใช้วิธีการทางคติชนวิทยาและมานุษยวิทยา ในการศึกษาโครงสร้างและเนื้อหาของตำนานสร้างโลกของคนไท ทั้งสำนวนบอกเล่าและสำนวนลายลักษณ์ที่รวบรวมมาได้ ๕๐ สำนวน เพื่อวิเคราะห์ความ

เชื่อดั้งเดิมของคนไทเกี่ยวกับการสร้างโลกการสร้างมนุษย์ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของคนไทแต่ละกลุ่ม โดยพิจารณาจากความแตกต่างและความเหมือนคล้ายของตำนานสร้างโลกของคนไทยแต่ละกลุ่ม การวิเคราะห์โครงสร้างของตำนานสร้างโลกของคนไทด้วยระเบียบวิธีทางคติชนวิทยา ทำให้แยกประเภทของตำนานสร้างโลกได้ ๓ แบบเรื่อง คือ

แบบเรื่องประเภทปู่สังกะสา-ย่าสังกะสีสร้างโลก

แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า

และแบบเรื่องประเภทเทวดาลงมากินง้วนดิน

แบบเรื่องประเภทปู่-ย่าสร้างโลก พบมากในกลุ่มตำนานไทลื้อ ไทเขิน ไทยวน-ล้านนา และอีสาน

แบบเรื่องประเภทมนุษย์ออกมาจากน้ำเต้า พบมากในกลุ่มตำนานลาว ไทดำ ไทขาว

และแบบเรื่องเทวดาลงมากินง้วนดินพบในตำนานทางล้านนา และตำนานไทใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งแบบเรื่องประเภทหลังนี้ได้อิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสาน

ส่วนตำนานสร้างโลกของไทอาหม ซึ่งนับเป็นชนชาติไทที่อยู่ตะวันตกสุด กับตำนานของจ้วงซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุด แม้โครงเรื่องจะไม่ตรงทีเดียวนักกับแบบเรื่องทั้ง ๓ แบบ ซึ่งพบในตำนานสร้างโลกส่วนใหญ่ของชนชาติไท แต่ก็ยังคงปรากฏแนวคิดเรื่องมีผู้สร้างโลก มีผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เลือนไปจากความเชื่อของคนไทยภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนามากแล้ว

การวิเคราะห์เนื้อหาของตำนานสร้างโลกของคนไทสะท้อนระบบคิด และวัฒนธรรมของคนไทหลายประการ

ประการแรก ชี้ให้เห็นว่าคนไทดั้งเดิมที่กระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนมีความเชื่อดั้งเดิมเรื่องมีผู้สร้างโลก ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของปู่สังกะสา-ย่าสังกะสีสร้างโลก สร้างมนุษย์ หรือปู่แถนที่นำน้ำเต้าที่บรรจุมนุษย์ไว้ลงมายังโลก

ประการที่สอง ตำนานสร้างโลกของคนไทไม่ว่าจะเป็นแบบเรื่องแบบใด สะท้อนระบบคิดและความเชื่อที่อธิบายให้เห็นว่าคนไทเป็น “ลูกฟ้า” มีชาติกำเนิดและความสัมพันธ์กับสวรรค์ตำนานของคนไทบางกลุ่มเน้นให้เห็นว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นผู้ที่ถูก “ฟ้าส่งมา” หรือสืบเชื้อสายมาจากเทวดาบนสวรรค์ ในแง่นี้

ตำนานสร้างโลกจึงเป็นสิ่งอธิบายสถานภาพทางสังคมของคนไทและผู้ปกครองที่เป็นชาติพันธุ์ไท

ประการที่สาม ตำนานสร้างโลกของคนไทเกือบทุกกลุ่มสอดแทรกเนื้อหาเรื่องปู่-ย่า หรือแถนสอนให้คนไททำนาปลูกข้าว เป็นหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมข้าวเป็นสิ่งที่เป็นแก่นและอยู่คู่กับวัฒนธรรมของคนไทมาตั้งแต่ดั้งเดิม

ประการที่สี่ ตำนานของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาว สะท้อนวิถีชีวิตและบริบททางสังคมที่คนไทต้องสัมพันธ์กับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ จึงอธิบายกำเนิดมนุษย์ในลักษณะที่เป็นพี่น้องกับคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่ออกมาจากน้ำเต้าเดียวกันอย่างไรก็ตาม ตำนานก็สะท้อนระบบคิดที่จำแนกคนไท-ลาว ออกจากคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เป็นข่าขมุ ลาว แกว ฮ่อ ในแง่นี้ตำนานจึงเป็นสิ่งสะท้อนเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ไทว่า “ไท” ต่างจากคนชาติพันธุ์อื่นอย่างไรด้วย

จากการวิเคราะห์บริเวณที่มีการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของตำนานสร้างโลกทั้ง ๓ แบบ เรื่องหลักพบว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลางกินอาณาเขตตั้งแต่ตอนใต้ของจีน ตอนเหนือของไทย ตอนเหนือของลาวเป็น “ชุมทาง” ที่เป็นแหล่งปะทะสังสรรค์ของชนชาติไทหลายกลุ่ม แม้บริเวณดังกล่าวอาจจะไม่ใช่แหล่งกำเนิดของคนไท แต่หลักฐานจากตำนานสร้างโลกบอกเราว่าเป็นชุมทางวัฒนธรรมแหล่งสำคัญของชนชาติไทที่สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ ร่องรอยของวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนพัฒนาการทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อของคนไท

งานวิจัยเรื่องนี้พยายามจะชี้ให้เห็นความสำคัญของตำนานในฐานะที่เป็นข้อมูลที่จะใช้ศึกษาเรื่องชนชาติไท ทั้งในเรื่องความคิดความเชื่อ การกระจายของคนไท และความสัมพันธ์ของคนไทกลุ่มต่าง ๆ ในทำนองเดียวกันกับที่นักวิชาการในสาขาอื่น ๆ พยายามใช้หลักฐานทางด้านภาษา ความเชื่อพิธีกรรม ประเพณี ลายผ้าสิ่งทอ ฯลฯ ในการศึกษาความสัมพันธ์ของชนชาติไท

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com