คนกับกลอน – คำว่า “กลอน” ๒

คนกับกลอน – คำว่า “กลอน”

๒. คำว่า “กลอน”

“กลอน” คือร้อยกรองที่มีสัมผัสสระร้อยโยงเชื่อมระหว่างวรรค

“โคลง-กลอน” เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่มีลักษณะร่วมกัน ในกลุ่มตระกูลภาษาไท กะได คือมีส่งสัมผัสสระไปที่กลางวรรคต่อไป นี่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของบทกวีในตระกูลภาษาไท กะได

โคลงกับกลอน มีบังคับเสียงวรรณยุกต์ แต่ตัดเรื่องนี้ไปก่อน เมื่อดูสัมผัสสระ ก็จะเห็นว่า ส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไปทำนองเดียวกัน

ฉันทลักษณ์โบราณของชาวจ้วงในกวางสี เรียกว่า เฟิน หรือ เวิน (อักษรภาษาจ้วงเขียนว่า fwen) มีส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไป

ส่วนฉันทลักษณ์ของจีนและอังกฤษ ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่บังคับส่งสัมผัสสระไปท้ายวรรคเท่านั้น

ตัวอย่าง “กลอนลำ” ภาษาถิ่นอีสาน (ลาว)

ชื่อกลอนลำ : ล่องโขง

ชื่อผู้แต่ง : หมอลำคำพอง

ชื่อหมอลำ : ขันทอง

(บทที่ 1)

โอน่อเหลียวไปทางเหนือพุ้นเวียงจันทร์ปากน้ำงึ่ม

เป็นแต่ดอนต่อ ขั้นขัน ต่อแจ้งกระแสน้ำปั่นปลิว

(บทที่ 2)

เหลียวไป ทิวบนถ้านโพธะรามก้ำบ้านโป่ง

เลาะตามสายแม่น้ำโขงเห็นแต่เรือพ่อค้าลงแก้งท่ากระเบา

 

(ขอบคุณเว็บ ราตรี ศรีวิไล http://ratreesrivilai.igetweb.com/index.php…)

ฉันทลักษณ์ “กลอน” พัฒนาขึ้นมาจาก “คำขับ” (เพลง) โบราณ ซึ่งมีส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไป หรือสัมผัสสระเดียวท้ายวรรค (กลอนหัวเดียว) คำกลอนโบราณหาดูได้จาก เนื้อเพลง “ขับมโหรี” ครั้งกรุงเก่า, บท “ดอกสร้อยสวรรค์” (คือเนื้อเพลงขับมโหรีนั่นเอง) ครั้งกรุงเก่า, เนื้อเพลงพื้นบ้าน รุ่นโบราณ, เนื้อเพลงโคราช รุ่นโบราณ

เนื้อเพลงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นายนิโคลาส แชร์แวส บันทึกเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อเพลง Sout Chai ซึ่งมักถอดออกมาเป็นคำไทยว่า “สุดใจ”

สุดใจเอย สายเจ้าจะจำพระไปสู่อัน
นะนูอันเจ้ามาชิดตักพี่บ้าน
(ถอดคำโดยสมเด็จฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)

ดูแล้วก็นึกถึง “บทดอกสร้อยสวรรค์” ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า

บทชาย ร้องลำล่องเรือ ทับนางไห้ (ทำนองมโหรี)

 

๐ มาเอยมาพบ ดอกสร้อยสวรรค์มาลัย

เรียมรักจำนงใจ จะใคร่ได้ดอกสุมณฑา

ภุมรีภิรมย์ชมรส กลิ่นฟุ้งปรากฏเป็นหนักหนา

แม้นได้มิให้เจ้าโรยรา บุษบาแย้มบานตระการใจ

อันดวงดอกสร้อยเกษี ในท้องธรณีไม่หาได้

มิให้เสียพุ่มพวงดวงดอกไม้ จะให้รุ่งฟ้าทั้งธาตรี ๐ ฯ ๖ คำ ฯ

 

เพลงพิษฐาน จากชาวบ้านตำบลสระทะเล อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

ชาย : พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน พานเอาดอกพิกุล

ลูกคู่ : มือหนึ่งถือพาน พานเอาดอกพิกุล

ชาย : เกิดชาติใดแสนใดเอย ขอให้ลูกได้ส่วนบุญ

ลูกคู่ : พิษฐานวานไหว้ ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย เอ๋ยเนรมิต ยอดพระพิษฐานเอย

หญิง : พิษฐานเอย มือหนึ่งถือพาน พานเอาดอกจำปี

ลูกคู่ : มือหนึ่งถือพาน พานเอาดอกจำปี

หญิง : ลูกเกิดมาชาติใดแสนใด ขอให้ลูกได้ไอ้ที่ดีๆ

ลูกคู่ : พิษฐานวานไหว้ ขอให้ได้ดังพิษฐานเอย เอ๋ยเนรมิต ยอดพระพิษฐาน เอย

 

เพลงกล่อมเด็ก ภาคเหนือ

อื่อ ชา ชา หลับสองตาอย่าไห้

แก้วแก่นไท้ แม่จักอื่อชาชา

นายไห้อยากกินชื้น บ่มีไผไพหา

นายไห้อยากกินปลา บ่มีไผไพส้อน

มีเข้าเย็นสองสามก้อน ป้อนแล้วลวดหลับไพ

จากเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ๆ จนเป็นฉันทลักษณ์กลอนที่สมบูรณ์ เกิดวรรณคดีประเภท เพลงยาว, กลอนบทละคร เป็นที่นิยมกันทั่วไปทั้งสามัญชนและราชสำนักในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ฉันทลักษณ์กลอนที่สมบูรณ์น่าจะมีตั้งแต่ก่อนรัชกาลพระเจ้าบรมโกศ เพราะในรัชกาลนี้มีกลอนนิทาน เช่น เวตาลปกรณัม, กลอนบทละคร เช่น อิเหนา, เพลงยาวเจ้าฟ้ากุ้ง เป็นต้น แสดงว่าฉันทลักษณ์กลอนมีพัฒนาการจนถึงขั้นสูงแล้ว

ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com