คุณหมอณัฐวุฒิ มาสาซ้าย นายแพทย์ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์และเทใจให้บ้านเกิด

คุณหมอณัฐวุฒิ มาสาซ้าย นายแพทย์ผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์และเทใจให้บ้านเกิด


นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับนี้ พาผู้อ่านเดินทางไปพบคุณหมอณัฐวุฒิ มาสาซ้าย ที่โรงพยาบาลโกสุมพิสัย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม

มาพบคุณหมอเพื่อคุย ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ หนึ่งคือเรื่องชีวิตสุขภาพอนามัยของพี่น้องคนอีสานบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นอะไรบ้าง ได้ไข้เจ็บป่วยมาจากอะไรบ้าง การกินอยู่ของพี่น้องเรามันเป็นสมมุติฐานในการเกิดโรคอย่างไรบ้าง

ลักษณะเฉพาะของคนอีสาน แล้วจะแก้ไขป้องกันอย่างไร หลังจากนั้นจะคุยเรื่องประวัติศาสตร์ที่คุณหมอรัก และเรียนจบแพทย์มาแล้วมาอยู่บ้าน ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์มีส่วนอย่างไรในด้านสุขภาพอนามัย ด้านการเข้าใจโลก เข้าใจสังคม แล้วก็ในด้านการทำงานที่ทำให้คุณหมอทำงานอย่างมีความสุข

 เชิญรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากคุณหมอณัฐวุฒิ มาสาซ้าย แพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

คุณหมอณัฐวุฒิ : เอาประเด็นแรกก่อนนะครับ…สภาพการเจ็บป่วยของคนบ้านเฮา หมายถึงคนอีสานโดยทั่วไป รวมถึงในพื้นที่ของโกสุมพิสัย มหาสารคาม ทุกพื้นที่ก็จะคล้าย ๆ กัน โรคที่คนแถบนี้เป็นบ่อย ๆ ๑. เบาหวาน ๒. ความดันโลหิตสูง ๓. ไตวาย

 ปัญหาตอนนี้จะเป็นในอดีต ขอพูดถึงในอดีตก่อนนะครับ… ในอดีตจะเป็นเรื่องของโรคติดต่อ อย่างเช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออกโรคไข้ ฉี่หนู หรือการติดเชื้ออหิวาตกโรค ปัญหาจะเป็นเรื่องของการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือ พาราไซต์ (ปรสิต) แต่ทีนี้เนื่องจากวิวัฒนาการด้านการแพทย์มันดีขึ้น โรคเหล่านี้เรามียา เราก็เรียนรู้วงจรวิถีชีวิตของโรคติดเชื้อพวกนี้ เราก็สามารถที่จะทำลาย ตัดวงจรได้ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันโรคกลุ่มนี้น้อยลงเรื่อย ๆ ก็จะมีบ้างที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ก็อย่างเช่น ไข้เลือดออกตามฤดูกาล โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ซึ่งยังเป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่หลัก ๆ แล้ว ในตอนหลังมาปรากฏว่าโรคที่ไม่ติดต่อมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเป็นปัญหาสุขภาพ

โรคสำคัญที่เราคุ้นชินก็คือ โรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ซึ่งมันจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง อัมพฤกษ์ อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แล้วก็มีโรคมะเร็ง ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกอวัยวะของร่างกาย

โรคไม่ติดต่อ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แล้วมาบวกกับพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่อาจจะไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม ก็เลยทำให้ปัญหาตรงนี้มันรุนแรงมากขึ้น เช่นถ้าเป็นเบาหวานจากกรรมพันธุ์แล้ว ปรากฏว่าควบคุมอาหารการกินได้ไม่ดี หรือไม่ออกกำลังกาย กินอาหารโดยไม่เลือกให้เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่ ทำให้ภาวะน้ำตาลควบคุมยาก สุดท้ายก็เกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นไตวาย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เสียชีวิตกะทันหันตามมา

 

เพราะฉะนั้น สรุปแล้ว มันก็เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์แล้วบวกกับพฤติกรรมด้านสุขภาพตอนนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามที่จะรณรงค์ เรื่องกรรมพันธุ์นี้อาจจะแก้ไขยาก เพราะเป็นโรคที่สืบทอดกันมา แต่สิ่งที่เราพยายามปรับก็คือเรื่องของพฤติกรรมด้านสุขภาพ เราก็เลยมีการรณรงค์ ‘ลดเค็ม ลดโรค’ การงดบุหรี่ เพื่อที่จะระวังไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หัวใจขาดเลือด หรือแม้แต่โรคถุงลมโป่งพอง เราก็จะมีการกระตุ้นให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งแนวทางตรงนี้ก็ไม่เฉพาะแค่คนอีสาน คนไทย หรือทั่วโลกก็มีแนวโน้มใกล้เคียงกัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากพัฒนาการทางด้านการแพทย์ดีขึ้น

ส่วนกลุ่มนึงที่เป็นกลุ่มใหญ่จะพูดถึงก็คือมะเร็ง ซึ่งส่วนหนึ่งมะเร็งก็มาจากกรรมพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมด้านสุขภาพ อย่างเช่น บุหรี่ สุรา เป็นสาเหตุหลัก แม้แต้พฤติกรรมที่คนอีสานเองมีพฤติกรรมกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ปลา ตระกูลปลาต่าง ๆ แล้วก็เอามาทำไม่สุกสะอาด ตรงนี้อาจจะมีพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งพออยู่ในร่างกายนาน ๆ ไป อยู่ที่ท่อน้ำดีก็ทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี แต่ที่มาแรงคือ มะเร็งปอด สำหรับคนชอบสูบบุหรี่ หรือคนที่ไม่ได้สูบแต่ได้กลิ่นก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

แล้วก็ในส่วนที่ผมมีความสนใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ ที่ไปที่มาของคนอีสาน ที่จริงเป็นความสนใจส่วนตัวมาตั้งนานแล้ว แต่พอดีเราได้มีโอกาสมาทำหน้าที่แพทย์ ดูแลสุขภาพประชาชน ทำให้เราเข้าใจสังคมในบริบทของความเป็นอีสานมากขึ้น อย่างเช่นเราเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตว่าเขามีความเป็นอยู่ยังไง อัตลักษณ์ของคนอีสานเป็นยังไง มีผลต่อสิ่งที่เขาแสดงออกมาด้วย ที่มาของแต่ละบ้านแต่ละเมืองที่แตกต่างกัน สังคมที่แตกต่างกันทำให้มีพฤติกรรมทางสุขภาพที่แตกต่างกันไปด้วย สิ่งเหล่านี้นำมาบูรณาการได้

 

ทางอีศาน : อย่างของอีสาน ความเป็นวัฒนธรรม ความเป็นอัตลักษณ์ ชีวิตแบบนี้มีข้อดีข้ออ่อน ต่อด้านสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

คุณหมอณัฐวุฒิ : ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เท่าที่สังเกต คนอีสานจะบริโภคอาหารง่าย ๆ หาได้ตามท้องถิ่น ไม่ผ่านการปรุงแต่งมาก ทำง่าย ๆ รับประทานง่าย ๆ จริง ๆ มันอาจจะมีรสชาติที่ดี แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการทางด้านสาธารณสุข อย่างเช่น การกินสุก ๆ ดิบ ๆ ก็จะมีพยาธิ หรือเนื้อวัว เนื้อหมู ที่เรานำมาทำเป็นลาบ ก้อย จะมีการปนเปื้อนของไข่พยาธิมา ทำให้ติดเชื้อ มีโรคภัยไข้เจ็บตามมาอันนี้เป็นส่วนของพฤติกรรมในด้านการกิน

ส่วนความเชื่อ คนอีสานเชื่อในภูตผีปีศาจวิญญาณ หรือเรื่องของความดีความชั่ว ก็มีผลเช่นมีความเชื่อที่ว่าโรคนี้เกิดจากภูตผีปีศาจ ก็จะไปปรึกษาหมอผี ไปแก้ตามวิธีการ ซึ่งในอดีตเป็นปัญหามากที่เราจะปรับทัศนคติความเชื่อของเขา ให้ทำตามหลักวิธีของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งปัจจุบันผมเข้าใจว่าความเชื่อเหล่านี้ค่อย ๆ ที่จะน้อยลง ให้ความสำคัญกับการแพทย์สมัยใหม่มาเป็นอันดับหนึ่ง เป็นเหตุผลรองที่มารับรองในเรื่องของจิตใจ แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจในวิธีการรักษาคนไข้ตามความเชื่อเหล่านี้

แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น คือความเชื่อเรื่องบุญกรรม บาปบุญคุณโทษ ยังมีในวิถีของคนอีสานพอสมควร การดูแลกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่ทอดทิ้งท่านยามเจ็บไข้ได้ป่วย คนอีสานยึดถือแล้วก็ยังคงปฏิบัติ ส่วนใหญ่หลายคนต้องไปทำงานที่อื่น แต่ก็ยังมีบางคนที่ต้องดูแลลูก พ่อแม่อยู่ อันนี้ก็เป็นวิถีชีวิตความเชื่อที่น่ายกย่อง เพราะในปัจจุบันสมัยนี้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่จำเป็นคือมันขาดคนดูแลผู้สูงอายุ ถ้าครอบครัวไหนไม่มีวัฒนธรรมในการดูแลผู้สูงอายุพอไม่มีมันก็เกิดการปล่อยปละละเลย ปล่อยทิ้งผู้สูงอายุจะไม่มีคนดูแล ทั้งหมดนี้มันมีส่วนอย่างมากในการที่จะบูรณาการเข้ากับในเรื่องของการดูแลคนเจ็บคนไข้

ทางอีศาน : แต่วัฒนธรรมการกินดิบนี่รู้สึกจะมีทั่วโลกนะคุณหมอ อย่างของญี่ปุ่นกินปลาดิบ ฝรั่งกินสเต๊ก มีระดับความดิบความสุกอย่างสุกสักสิบเปอร์เซ็นต์ โรคภัยเหล่านี้มันมีทั่วไปหรือมันเฉพาะ

คุณหมอณัฐวุฒิ : มันเป็นจำเพาะ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ครับ อย่างเช่นคนญี่ปุ่นกินปลาดิบ เป็นปลาทะเล ซึ่งพยาธิจะไม่มี แต่ของอีสานเป็นปลาน้ำจืดแล้วมันสัมผัสกับแหล่งเชื้อโรค ทำให้มีโอกาสมีจะรับเชื้อเข้ามา มันแล้วแต่พื้นที่

ทางอีศาน : อย่างเนื้อวัว เชื้อโรคในเนื้อดิบมีมั้ย

คุณหมอณัฐวุฒิ : มีครับ

ทางอีศาน : ผมเคยได้ยินโรคชนิดหนึ่งของบ้านเรา ว่า โรคอีสานรวมมิตร เกิดจากการที่เรากินเค็ม อย่างผงชูรสมีส่วนมั้ยครับ

คุณหมอณัฐวุฒิ : แน่นอนครับ พฤติกรรมการบริโภคที่เราชอบกินเค็ม กินนัว ที่มีผงชูรสเยอะ กลุ่มนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น คนที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ทำให้โรคเหล่านี้มันควบคุมยาก สุดท้ายก็อาจจะเป็นโรคไตวายตามมา ก็เป็นปัจจัยเสี่ยง กระตุ้นให้อาการของโรคมันแย่ลง เพราะฉะนั้นโดยส่วนตัวในทางการแพทย์ก็จะแนะนำให้ลดกินเค็ม ลดนัว กินอาหารรสจืดเพื่อที่จะทำให้เบาหวาน ความดัน นั้นควบคุมง่าย

ทางอีศาน : ถ้าเทียบกับภาคอื่นของเราสูงกว่าชัดเจนเลย

คุณหมอณัฐวุฒิ : ใช่ครับ ของเราจะสูงกว่าอย่างเช่นตัวเลขของโรคไต คนไข้โรคไตเฉพาะพื้นที่โกสุมพิสัย เครื่องฟอกไต ๑๖ เครื่อง มาแล้ว ๓ รอบ ตอนนี้กำลังจะล้นนะครับ เริ่มที่ ๔ เครื่อง เมื่อตอน ๘-๙ ปีที่แล้ว คนไข้โรคไตเราเยอะ ต้องมีล้างหน้าท้องอีก ซึ่งเป็นไตวายระยะสุดท้ายเทียบอัตราส่วนแล้วมากที่สุดในประเทศ ก็แปรผกผันกับประชากรที่มากขึ้นด้วย คนภาคอีสานก็ ๑ ใน ๓ ของประเทศ แล้วพฤติกรรมตรงนี้ก็ทำให้ไตทำงานแย่ลง ร่างกายเสื่อมโทรมลงรวดเร็ว นี่เป็นส่วนของพฤติกรรม คนอีสานจะชอบอาหารง่าย ๆ อาหารรสจัด รสเผ็ด รสเค็มที่ชัด ๆ แรง ๆ ก็เป็นบุคลิกของคนอีสานประมาณนั้นครับ

ทางอีศาน : คนที่เป็นโรคไต เป็นได้ตั้งแต่กี่ปี

คุณหมอณัฐวุฒิ : จริง ๆ เป็นได้ทุกกลุ่มวัยเด็ก ๆ ก็เป็นได้ มันแล้วแต่สาเหตุของไตว่าเกิดจากอะไร เช่น อาจจะเกิดจากเส้นเลือดที่ผิดปกติหรือเกิดจากโรคภูมิแพ้ อันนี้ก็จะพบได้จากคนที่อายุน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาจากเบาหวานความดัน เป็นหลัก สุดท้ายมันก็จะจบที่ไตวายเว้นแต่ในระยะนั้นมีโรคแทรกซ้อนตามมา เช่นหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือว่าเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ก็อาจทำให้คนไข้ต้องจบชีวิตก่อน แต่ถ้าเกิดว่าไม่มีปัญหาพวกนั้นคนไข้ก็จะดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงไตวาย เป็นฉากสุดท้ายของเบาหวาน ความดัน

ทางอีศาน : เมื่อเร็ว ๆ นี้ เห็นพี่น้องเราที่ทำปลาร้าขาย ปรากฏว่าวัสดุที่ใช้มากที่สุดคือผงชูรส สั่งซื้อมาเตรียมไว้เยอะมากเพื่อผสม นี่ขนาดปลาร้า แล้วไปใส่อาหารก็เติมผงชูรสเข้าไปอีก ในส่วนของการรณรงค์ของสาธารณสุขมีส่วนช่วยอย่างไรบ้าง

คุณหมอณัฐวุฒิ : ในการรณรงค์ส่วนใหญ่เราจะไปรณรงค์กับผู้บริโภค เพราะในส่วนของผู้ผลิตคงจะยากที่จะไปใช้มาตรการใด ๆ ในส่วนของผู้บริโภค เราก็จะพยายามชี้ให้ผู้บริโภคเห็นพิษภัยของการกินเค็ม เพื่อที่จะให้หลีกเลี่ยงแล้วก็ปรับเป็นการชะลอ เรามีการทำงานในส่วนของการชะลอไตเสื่อมในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในลักษณะของชุมชนรักษ์ไต การรณรงค์ให้คนในหมู่บ้านกินอาหารรสจืดร่วมกับออกกำลังกาย ป้องกันยาที่มีผลกับไต เรามารณรงค์ในส่วนของผู้บริโภคมากกว่า ในส่วนของผู้ผลิตเองนั้นเป็นการพยายามที่จะไปให้ข้อมูล ให้ผู้ผลิตได้เห็นถึงภัยที่จะเกิดขึ้น ใช้มาตรการเชิงสังคมมากกว่าใช้กฎหมายนี่คงจะยาก มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่ต้องปรับพฤติกรรมด้วย

ทางอีศาน : ระยะหลังเราก็นิยมส้มตำแบบที่ต้มน้ำปลาร้า ส่วนผสมหลักคือน้ำปลาร้านี่ก็เยอะมาก แล้วก็จะเค็มมาก

คุณหมอณัฐวุฒิ : ต้มก็อาจจะเป็นส่วนที่ทำให้สุกสะอาด ปลอดเชื้อโรค แต่ก็ยังแก้เค็มไม่ได้ ต้องเจือจาง แต่มันก็จะไม่อร่อย อันนี้ก็เป็นปัญหา อย่างผมพยายามทำชุมชนรักษ์ไตก็จะให้คนในชุมชนทำกินเอง อาจจะมีเมนูสุขภาพ เวลาที่เราจะไปสั่งส้มตำก็จะบอกว่าเรามีคนไข้ เป็นกลุ่มเสี่ยงนะ ขอเป็นเมนูสุขภาพที่จะทำให้เขามีความเสี่ยงต่ำ

ทางอีศาน : ทีนี้ขอถามเรื่องสมุนไพร ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ในส่วนนี้ได้มีการฟื้นฟูหรือนำกลับมาใช้บ้างไหม

คุณหมอณัฐวุฒิ : คือในส่วนของสมุนไพรอย่างเช่นของโรงพยาบาลนี้เราจะไม่ได้ผลิตเองแต่จะเป็นการรับมากจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศรหรือทางกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่าปัญหาของสมุนไพรคือ สมุนไพรที่ไม่ได้รับการส่งเสริมยังไม่ได้รับการวิจัย เรายังไม่ทราบผลข้างเคียงที่สำคัญของยา เมื่อไม่ทราบผลข้างเคียง บางทีคนไข้กลุ่มเบาหวานความดันกินเข้าไป ทำให้ไตแย่ลง นี่ก็คือปัญหา แล้วสมุนไพรที่ผลิตกันเองเอามาขายกันเอง บางทีมีการผสมยา ใส่สารสเตียรอยด์ ซึ่งระยะยาวกินไปแล้วก็มีโทษต่อคนไข้ซึ่งนี่ก็คือสมุนไพรที่ไม่ผ่านการรับรองของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าผ่านการรับรอง ก็จะมีอย. รับรอง มีกระทรวงรับรอง เราก็เอามาให้คนไข้ได้ เช่น ยาระบายมะขามแขก หรือขมิ้นชันในกรณีที่ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือยาที่ใช้คลายปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ที่อาจจะไม่ได้รุนแรงมาก เราก็จะเอามาใช้ในระบบสั่งยาปกติของโรงพยาบาล

แต่เวลาที่อยู่ตามชุมชน ชาวบ้านก็อาจจะมียาสมุนไพรที่เป็นเหมือนกับผักที่เขากินอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน อันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหา แล้วก็สนับสนุนให้กินเป็นผักสวนครัวไป ไปเน้นเชิงส่งเสริมสุขภาพมากกว่า แต่ในกระบวนรักษาจริง ๆ ข้อจำกัดของสมุนไพรคือมันไม่ได้สกัดเอาตัวยาออกมาโดยตรง เพราะฉะนั้นมันแรง มันไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเอามาสกัดหรือคัดสรรประสิทธิภาพของยาออกมาก่อน ถึงจะเอามาใช้ได้ ซึ่งในส่วนของพื้นที่แล้วน่าจะเป็นในส่วนของการส่งเสริมให้กินเป็นผักไป ลักษณะนั้นมากกว่าครับ

ทางอีศาน : เวลาได้ยินข่าว มียาบางตัวสมุนไพรบางตัว ประเทศนั้น ประเทศญี่ปุ่นซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว เอาไปแล้วก็สามารถผลิตได้ สงสัยว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ทุ่มเทเพื่อจะศึกษาสมุนไพรจริงจังแค่ไหน

คุณหมอณัฐวุฒิ : อันนี้ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ คือเราก็เสียดายนะครับว่าทรัพยากรที่เรามีอยู่แม้กระทั่งเขาเอาคัมภีร์โบราณไปถอดออกได้ยาอะไรต่าง ๆ ผมรู้สึกว่าในประเทศไทยบ้านเรายังไม่ทำเป็นกิจจะลักษณะเท่าที่ควร คือผมยังมองว่าเราให้น้ำหนักยาที่มาจากต่างประเทศทางตะวันตกมาก เราศรัทธาในกระบวนการศึกษาวิจัยของเขา แต่ทีนี้เราก็มีการตั้งคำถามว่า เราก็มียาไทยที่ดี ๆ ประสิทธิภาพประสิทธิผลคนโบราณใช้กันมา ทำไมเราไม่มีวิธีการที่จะศึกษาค้นคว้าให้เป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งตรงนี้เราก็ได้พูดได้คุยกันอยู่ แต่ก็ไม่เห็นมีหน่วยงานอะไรที่ออกมาประกาศตัวชัดเจน ก็เห็นมีสถาบันบางแห่ง เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เอายาไทยบางอย่างไปสกัดดู แต่ก็ยังไม่ได้ทำอย่างกว้างขวาง ผมจึงคิดว่าต้องทำอย่างจริงจัง แล้วมันจะเกิดผลจริงๆ ก็คงเป็นผลงานต่างประเทศที่เขาเอาไปทำก่อน ประเทศของเราก็ค่อย ๆ พัฒนาไป แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาก็เล็งเห็นอยู่ เพียงแต่ว่าที่จะผ่านมาความเป็นกิจจะลักษณะของเรา มันยังไม่ได้เข้มข้นถึงขนาดที่จะเอามาผลิต เอามาเปิดเผย ใช้ในทางการค้าอะไรได้

ทางอีศาน : ยกตัวอย่างเรื่องสมุนไพรไปเทียบกับด้านอื่น อย่างไทยอย่างภูมิภาคแถวนี้มันจะมีสารตั้งต้น มีพืชพันธุ์ที่เป็นสมุนไพรเยอะพอเราไปติดค่านิยมสั่งเข้านำเข้า ตัวเลขเท่าที่ผมได้ยินรู้สึกจะเป็นหมื่นล้านต่อปี โดยเฉพาะยาเคมีจากต่างประเทศ ที่สำคัญคือ ทัศนะที่ดูถูกภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้แพทย์ พ่อแม่ ปู่ย่าตา

ยายที่ไปทดลองกิน ถูกกดแล้วก็หายไป อันนี้ก็เป็นกรณีหนึ่งที่ไปเทียบอย่างอื่นได้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ถ้าเราตระหนัก น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

คุณหมอณัฐวุฒิ : ก็เห็นด้วยนะครับ ตามจริงที่เราให้น้ำหนักแก่ยาที่มาจากต่างประเทศ ก็เพราะมันผ่านมาจากกระบวนการวิจัยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการวิจัยเชิงระบบซึ่งมันเห็นผลลัพธ์ ทำให้คนเชื่อและศรัทธา ที่จริงแล้วถ้าบ้านเราทำได้ ผมมองว่าในอนาคตบ้านเราก็น่าจะมีโอกาสทำขึ้นมาได้ มีความโดดเด่นในการรักษาเพราะสรรพคุณยาไทยหลาย ๆ ตัวที่เขาใช้มาแต่โบร่ำโบราณ ยอมรับว่ามันดีจริง เพียงแต่มันไม่ผ่านกระบวนการวิจัย แล้วการที่ไม่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรงนี้มันก็เลยไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของหมอสมัยใหม่ได้ เราจึงเอามาบูรณาการกัน ตรงไหนที่ยาไทยใช้ได้ดีเราก็จะเอามาใช้คู่กับยาแผนปัจจุบันเป็นลักษณะนี้มากกว่าครับ

ทางอีศาน : ทราบหรือยังว่ามีการให้ความสำคัญในระดับวาระแห่งชาติแล้วหรือไม่

คุณหมอณัฐวุฒิ : คิดว่ายังนะครับ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดถึงขนาดนั้น

ทางอีศาน : เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะในแง่ความเป็นจริงถ้าเกิดภาวะวิกฤต ภัยธรรมชาติหรือสงครามขึ้น คิดว่าเราจะมียาใช้กันไม่กี่เดือน

คุณหมอณัฐวุฒิ : แน่นอนครับ อันนี้เป็นข้อที่น่ากังวล คือถ้าเราพึ่งตะวันตกมาก เราก็ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราไป ถ้ามันเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นจริง ๆ ในอนาคตนะครับก็เป็นปัญหาคือเขาสามารถที่จะยึดเราโดยเอาตัวนี้เป็นประกันได้เลย เราจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 

ทางอีศาน : พูดถึงด้านเศรษฐกิจเราก็เสียดุลทางการค้า ทีนี้เราก็มาเรื่องประวัติศาสตร์นะครับ คุณหมอเป็นคนท้องถิ่น อยากให้เล่าประวัติศาสตร์อำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคามเท่าที่มีการบันทึก มีปู่ย่าตายายเล่าไว้

คุณหมอณัฐวุฒิ : ในส่วนของประวัติศาสตร์เมืองโกสุมพิสัย ตั้งมานาน เท่าที่มีหลักฐานจะเป็นพงศาวดารของอีสาน ของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) ที่ให้กรมการเมืองโกสุมพิสัยได้ทำไปถวายกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงมณฑลลาวกาว ตั้งที่ทำการอยู่ที่อุบลราชธานี ขณะนั้นได้บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอำเภอโกสุมพิสัย คือกล่าวถึงที่มาที่ไปของเมืองนี้ ว่าเมืองนี้ตั้งอยู่ฝั่งริมแม่น้ำชี เดิมชื่อ ดงวังท่า เป็นป่ารกชัฏ ตรงนี้เป็นป่า ทีนี้มีพรานป่าจากบ้านโนนเมือง ตำบลแพง เมืองขอนแก่นเก่า ตั้งอยู่ที่โนนเมืองก่อนที่จะย้ายไปอยู่บึงแก่นนคร เพราะเกิดเหตุการณ์อาเพศ ชาวเมืองขอนแก่นจึงอพยพไปบึงแก่นนคร บริเวณนี้ก็กลายเป็นเมืองร้าง ต่อมาอุปฮาดเมืองขอนแก่นคิดถึงบ้านเมืองเก่าก็เลยย้ายกลับมาตั้งบ้านสองคอน ใกล้ ๆ กับบ้านโนนเมือง แล้วก็มีพรานหมา พรานบัว จากบ้านโนนเมือง ตำบลแพง เดินทางล่าเนื้อมาตามชัยภูมิ ตามลำน้ำแม่น้ำมา จนมืดค่ำ จึงมาพักตรงนี้ โดยที่ไม่ได้เนื้ออะไรมา ในคืนนั้นเองฝันว่า น่าจะเป็นคนแปดศอกหรือคนโบราณมาขู่ในลักษณะว่ามารบกวนทำนองว่าจะฆ่าสูให้ตาย ถ้าไม่อยากตาย ถ้าอยากได้เนื้อ ก็ให้ปลูกหอสร้างหอขวางตะวันเพื่อจะได้สักการบูชาและเป็นที่สิงสถิตของคน

แปดศอก เจ้าที่เจ้าทาง ตื่นเช้ามาพรานก็เล่าให้กันฟัง แล้วร่วมกันสร้างหอขึ้นมา หาดอกไม้ธูปเทียนมาสักการบูชา เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้พบเนื้อจริง ๆ ติดมือกลับบ้านไป

ภายหลังต่อมามีชาวบ้านที่อพยพมาจากแขวงเมืองสุวรรณภูมิ เพราะว่า ในอดีตตั้งแต่สมัยที่เมืองจำปาศักดิ์ เมืองใหญ่ มีหม่อมเจ้าสร้อยสมุทรพุทธางกูรสร้างเมืองจำปาศักดิ์ ให้อาจารย์แก้วมงคลมาสร้างเมืองสุวรรณภูมิเป็นเมืองหลัก

แล้วก็มีลูกหลานแผ่ขยายออกไปสร้างเมืองร้อยเอ็ด มหาสารคาม ก็มีคนจากสุวรรณภูมิเดินทางมาหาถิ่นทำเลใหม่ เห็นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำชีนี้อุดมสมบูรณ์ดี แล้วก็มาเห็นหอขวางสร้างไว้ ก็จัดการถางป่า สร้างบ้านสร้างเมือง ภายหลังก็มีมาจากเมืองมหาสารคาม บ้านเชียงเหียน บ้านส่องนางใย อพยพมาเพิ่ม ภายหลังอุปฮาดเมืองมหาสารคามก็พาคนอพยพมาอยู่ บ้านเมืองจึงเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เมื่อตั้งเมืองมหาสารคาม เขาก็เห็นว่ามีชุมชนบ้านนี้เป็นหมู่บ้านใหญ่ จึงก่อตั้งเป็นเมืองชื่อ โกสุมพิสัย (เมืองแห่งดอกมะขามป่า) โดยพระสุนทรพิพิธ คู่กับเมืองวาปีปทุม โดยพระพิทักษ์นรากรสันนิษฐานชื่อเมือง โกสุมพิสัย เมืองแห่งดอกมะขามป่า น่าจะมาจากแนวคิดการตั้งชื่อตามเอกลักษณ์ว่าเมืองนั้นมีอะไรเด่น ก็เคยมีการถกเถียงกันว่าอะไรกันแน่คือดอกมะขามป่า ภายหลังมีการสืบค้นว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ในวนอุทยานโกสัมพี ซึ่งผมได้รีวิวไว้ในหนังสือที่ระลึกของเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ที่วัดเกาะแก้ว

ทางอีศาน : ปัจจุบันได้ค้นพบวัตถุโบราณสมัยก่อนในเมืองโกสุมพิสัยบ้างไหม

คุณหมอณัฐวุฒิ : ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่มีการสืบค้นที่เป็นกิจจะลักษณะ สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นเมืองอยู่แต่เก่าก่อนในสมัยขอม หรือทวารวดี พบเศษซากพัทธสีมา (ผมยังไม่ฟันธงว่าใช่) เป็นซากปรักหักพัง เป็นปรางค์กู่ พบพระพุทธรูปที่เขาเรียกว่า พระคอกุ้น ก็คือพระพุทธรูปเศียรขาด แขนขาด นอนอยู่ตรงซากปรักหักพัง ต่อมาชาวบ้านจึงบูรณปฏิสังขรณ์ต่อแขน ทำเศียรขึ้นมาใหม่ เรียกว่าหลวงพ่อมิ่งเมือง ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาแต่สมัยโบราณ

ทางอีศาน : ตอนนี้ประดิษฐานอยู่ที่ไหน

คุณหมอณัฐวุฒิ : อยู่ที่ทางเข้าวนอุทยานโกสัมพีครับ เดี๋ยวผมจะพาไปดูเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองโกสุมพิสัยครั้งนึงก็มีคนอยากจะได้เอาไป จะมาลักขโมยเอาลงเรือก็ลักไปไม่ได้

ทางอีศาน : พบสิมเก่าที่ไหนบ้าง

คุณหมอณัฐวุฒิ : สิมเก่าที่ยังสมบูรณ์จะอยู่ที่วัดกลาง อำเภอโกสุมพิสัย ติดกับหลวงพ่อมิ่งเมือง

ทางอีศาน : เป็นสิมยุคไหน มีลวดลายประดิษฐ์ หรือเป็นสิมแบบไหน

คุณหมอณัฐวุฒิ : คือลักษณะจะมีช่องไว้สำหรับพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ หน้าบั้นเป็นรูปนาค เป็นศิลปะอีสาน น่าจะเป็นสิมที่เก่าแก่ที่สุดในโกสุมพิสัยที่ยังอยู่ที่วัดกลาง ส่วนบ้านนอกหรือเขตนอกออกไป พบที่บ้านโคกกลางใหญ่ก็จะมีโบสถ์มหาอุตม์ มีทางเข้าทางเดียว มีลวดลายจิตรกรรมฝาผนังที่ยังสมบูรณ์อยู่ มีการสร้างโบสถ์ใหม่ครอบไว้อีกทีหนึ่ง

 

ทางอีศาน: ปัจจุบันอย่างในท้องถิ่นโกสุมพิสัย ได้ต่อยอดหรือมีงานบุญอะไรที่โดดเด่น หรือต่อยอดจากฮีตสิบสองคลองสิบสี่ที่ทำกันเป็นงานประจำปี มีอะไรบ้าง

คุณหมอณัฐวุฒิ : ที่นี่ค่อนข้างจะอนุรักษ์ไว้ได้ครบทุกประเพณี ที่โดดเด่นขึ้นชื่อก็น่าจะเป็น บุญเดือนห้า บุญสงกรานต์ มีการจัดงานจากการที่ชาวบ้านลงไปเล่นน้ำชีในวนอุทยานโกสัมพี กระทั่งพัฒนาเป็นงานประจำปี ส่วนงานอื่น ๆ เช่นของชาวคุ้มกลางก็จะเป็นงานเทศกาลหลวงพ่อมิ่งเมืองประจำปี หรือจะเรียกว่าเป็นบุญเผวดที่บูรณาการเข้ากับการให้ความสำคัญกับหลวงพ่อมิ่งเมืองไปในตัว จัดงานสักการะประจำปีสามวันสามคืน

ส่วนงานอื่นเช่น งานบุญบั้งไฟ ไหลเรือไฟที่นี่เป็นต้นแบบของเรือไฟโบราณ ของนครพนมยังถือว่าเป็นของสมัยใหม่ ของเราจะเป็นแบบโบราณ ใช้ผ้าสบงจีวรขาดไปชุบน้ำมันยางที่อยู่ในวนอุทยาน เขาจะขึ้นรูปก่อน แล้วเอาไม้ไผ่มาสานเป็นตาข่าย ส่วนใหญ่จะขึ้นเป็นรูปในวรรณคดี เช่น หนุมานถวายแหวน พระรามแผลงศร ขึ้นรูปเสร็จก็เอาขี้ตะบองพันทำเป็นเหมือนไต้ แล้วก็เอาไปติดไว้ตามรูปที่ขึ้น พอ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำเป็นแพลงน้ำชี ตีฆ้อง ตีกลองอยู่ในนั้น ไฟก็จะลุกท่วมเป็นเรือไฟ พอไฟจะค่อย ๆ ดับมันจะเริ่มเห็นว่าเป็นรูปอะไร คลาสสิกมาก

เข้าใจว่านครพนมทำทีหลัง เอาน้ำมันใส่ตะเกียง ใช้ขวดลิโพทำ แต่ว่ามันจะไม่ได้อารมณ์คือภาพมันจะแข็ง ของโกสุมจะเป็นเหมือนลายกนกเปลวเพลิงแล้วมันค่อยเป็นรูป ถ้ามาช่วง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็จะเห็น สมัยก่อนจะเป็นพระเณรทำ เพราะมีเวลาทำ ใช้เวลาทำสองสามเดือนเลยมันจะใหญ่มาก เต็มลำน้ำชีเลย

ทางอีศาน : ใช้เรืออะไร

คุณหมอณัฐวุฒิ : ใช้แพครับ ใช้ถังแกลลอนที่ใส่ยางมะตอย แล้วก็ขึ้นรูป ทำอย่างนั้นอยู่เป็นเดือน

ทางอีศาน : กระดานก็ใช้ลำไม้ไผ่

คุณหมอณัฐวุฒิ: ใช่ครับ แล้วก็ขึ้นไปตีกลองอยู่บนนั้น แต่ปัจจุบันเค้ามองว่า เนื่องจากว่าภาพมันไม่งาม ที่มีพระเณรขึ้นไปอยู่บนนั้นอย่างสนุกสนาน ดูแล้วมันไม่เหมาะ ภายหลังก็ให้โยมทำ แต่โยมไม่มีเวลาทำก็เลยทำง่าย ๆ ทำเหมือนนครพนม อันนี้น่าจะอนุรักษ์ไว้

ทางอีศาน : โดยส่วนตัว คุณหมอได้ใช้ประวัติศาสตร์มาใช้ในการทำอาชีพแพทย์ปฐมพยาบาล หรือดูแลสุขภาพพี่น้องยังไงบ้าง

คุณหมอณัฐวุฒิ: ด้วยความที่หมอเป็นคนในพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจในบริบทที่มาที่ต่างกันของสังคม เราสามารถคุยกับเขาให้เป็นภาษาเดียวกัน เขาก็มีความไว้วางใจเรา ผมเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริการกับผู้ให้บริการ ความเป็นพวกเป็นไทมันทำให้เราพูดคุยกันง่าย เวลาที่เราจะขอร้องหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อของเขา แม้กระทั่งเวลาที่เขามีปัญหากับหมอ กับเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ ปรับความเข้าใจต่าง ๆ เราสามารถที่จะพูดคุยได้ โดยใช้ความสัมพันธ์ความเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละสังคมเข้าไปแก้ไขได้ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่แล้วทำให้เรามีความสุข

ส่วนใหญ่คนจะบอกว่าทำงานกับบ้านมันจะลำบากใจนะ เพราะคนนั้นก็พี่น้อง คนนี้ก็รู้จักแต่สำหรับผมกลับมองว่ามันเป็นจุดแข็งเสียอีกว่าทำยังไงเราจะประนีประนอม พูดคุยให้เขาเข้าใจ ชี้แนะตามแนวทางที่สมควรในแต่ละคนแต่ละโรค แต่ละเคส ถ้าเราไปอยู่ในที่ที่เราไม่รู้พื้นเพ ไม่รู้ที่มาที่ไป มันทำให้เราตัดสินใจบนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ไม่ได้มองบริบทอื่นของเขา มันทำให้เราขาดความเป็นแพทย์โดยสมบูรณ์ไป ทำได้แค่รักษาตามตัวโรคไม่ได้รักษาที่ตัวคน คนมันมีความรู้สึก มีอารมณ์มีเหตุผลหลายอย่างที่ประกอบขึ้นเป็นตัวคน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากให้คนที่มาทำงานที่นี่ได้รู้สึก ได้เข้าใจในบริบทของสังคม วิถีชีวิตผู้คน 

หมอก็มีความสุขมากขึ้น ไม่ต้องมาตั้งคำถามทำไมเขาจึงคิดแบบนี้ หมอให้ทำอย่างนี้ทำไมไปทำอย่างนั้น มันเกิดความขัดแย้งขึ้น ถ้าเขาพยายามทำความเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจอยู่ตอนนี้เราก็มีความสุข รวมถึงแม้เวลาเขาทำผิดเราก็มองอย่างเข้าใจว่ามันเป็นความหลากหลายทางความคิด ภูมิหลังเขาเป็นแบบนี้ ชุมชนเขาเป็นนี้ อย่าเข้าไปปรับเลย มันจะเจ็บ ต้องค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป เราอยู่ในชุมชน เป็นที่พึ่งของคนที่นี่ ก็ใช้ความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ในการพูดคุย คอยแนะนำ ประนีประนอม ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของคนในชุมชน

ทางอีศาน : อยากให้คุณหมอพูดกับลูกหลาน ญาติพี่น้อง ผู้ป่วย เพื่อฝากฝังหรือแนะนำเรื่องสุขภาพ

คุณหมอณัฐวุฒิ : ก็ในฐานะที่เป็นคนบ้านเรา สิ่งที่ผมห่วงและเป็นกังวลคือ คนอีสานสบาย ๆ ทำอะไรง่าย ๆ ไม่ค่อยมีพีธีรีตองมาก ไม่ได้ควบคุม ไม่ได้ป้องกัน สุดท้ายมันทำให้การรักษาโรคไม่เป็นไปตามแผน เพราะเวลาที่เราให้คำแนะนำไปก็พูดทำนองว่า “คุณหมอกะเว้าดีอยู่ดอก แต่ฉันกะเฮ็ดบ่ได้” เป็นจั่งซี่ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราเจอประจำแล้วส่งผลเสียจริง ๆ สิ่งที่อยากได้ก็คือว่า สิ่งที่คุณหมอพูดแล้วมันดีก็อยากจะให้กลับไปคิด ทบทวน แล้วก็พยายามปรับปรุงครับแล้วก็เอามาคุยกันคราวหน้า ถ้ามันยังไม่ดีสุดท้ายมันก็เป็นผลดีต่อตัวท่านเอง ถ้าทำอย่างนี้ได้ คุณหมอก็จะเบาแรงไปอีกเยอะ ไม่เสียเวลาที่จะต้องมาพูดซ้ำ ๆ ก็คือพูดเรื่องใหม่ไปเรื่อยจะได้เกิดประโยชน์ นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากฝากไว้

ส่วนอื่นก็คงจะไม่ค่อยมีปัญหาแล้วล่ะ แต่ก่อนมันก็จะมีในส่วนของการรักษาพยาบาล ไม่มีหลักประกันสุขภาพ แต่เดี๋ยวนี้เราก็มีแล้ว ก็ไม่ค่อยได้ห่วงแล้วก็อยากจะฝากตรงนี้ครับ

ทางอีศาน : มีการพูดกันมากขึ้นเรื่องสุขภาพ เช่นบอกว่า ตัวของเราเป็นนายแพทย์ที่ดีที่สุด อาหารเป็นยาที่ดีที่สุด ออกกำลังกายคือการป้องกันการเจ็บป่วย ตรงนี้บ้านเราสามารถรณรงค์ได้มากน้อยแค่ไหน

คุณหมอณัฐวุฒิ : กระแสความตื่นตัว ผมมองว่าสมัยนี้คนมีความตื่นตัวกันมาก คนให้ความสนใจกับการส่งเสริมสุขภาพ เพราะว่าเขามองเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สื่อต่าง ๆ ก็ช่วยได้มาก แต่ว่าในขณะเดียวกัน ความยั่งยืนส่วนใหญ่มันจะติดภารกิจโน่นนี่นั่น สุดท้ายทำให้กิจกรรมเหล่านี้มันไม่ต่อเนื่องยั่งยืน ก็ทำให้เราขาดกำลังใจที่จะทำ เพราะฉะนั้นก็ฝากในเรื่องของความพยายามตั้งใจ มันก็อาจจะเหมือนเราพายเรือไม่เห็นฝั่ง แต่ก็ต้องพยายามทำต่อไป เหมือนดังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ท่านให้เราดูพระมหาชนกเป็นแบบอย่างว่ายน้ำข้ามไปโดยที่ไม่รู้เป้าหมายมันอยู่ที่ไหน ก็ต้องทำไป อย่างน้อยตัวเองได้รับผลประโยชน์ ในภาพรวมคือสังคมก็ได้ประโยชน์

ทางอีศาน : เห็นข่าว CNN รายงานว่าอีสานเป็นที่ที่คนตะวันตกอยากเข้ามาดูอารยธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่ยังรักษาไว้ คุณหมอคิดว่าเราจะตอบโจทย์ยังไงมาต้อนรับ หรือเอาวัฒนธรรมมาเป็นพลังชีวิตให้คนในชุมชนเข้มแข็งขึ้น แล้วก็ในทางเศรษฐกิจ มีคนมาดูศิลปวัฒนธรรมจริง ๆ ไม่ใช่เอาไปทำเป็นพาณิชย์ ตรงนี้หมอคิดว่ามีความเป็นไปได้ไหม

คุณหมอณัฐวุฒิ : คือตอนนี้พวกผมก็อยู่ในทีมงานขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สะดืออีสานเราอยากที่จะให้อัตลักษณ์ท้องถิ่นเรา ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องที่อลังการหรือเลิศหรูอะไร แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นวิถีชีวิต เป็นไลฟ์สไตล์ของเรา อยากนำเสนอสู่สากล วิถีชีวิตแบบเรา ทำแบบง่าย ๆ เรียบ ๆ แต่มันแฝงไปด้วยปรัชญาและแนวคิด อันนี้คือในเรื่องของวิถีชีวิต แล้วก็สิ่งปลูกสร้างที่เป็นโบราณสถานวัตถุ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้ใหญ่โตอลังการมาก แต่มันมาจากศรัทธา ความเชื่อของผู้คน ตรงนี้มันทำให้การดำรงอยู่ของวิถีชีวิตของคนอีสานยังคงอยู่ได้ เกิดเป็นประเพณีวัฒนธรรมอะไรต่าง ๆ ตามมา ความใหญ่โตแล้วมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จริง ๆ แล้วจุดที่มาคือมันมาจากจุด เล็ก ๆ การที่มองเห็นคุณค่า

ความอบอุ่นของสังคมอีสานมันสืบทอดมาอย่างยาวนาน ลูกหลานไปอยู่ที่ไหนจะต้องกลับมา คือมันเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง มันไม่มีอะไรที่จะสวยสดงดงาม แต่ทำไมมันมีความอบอุ่น ลูกหลานไปอยู่ที่ไหนก็ต้องกลับคืนมาเป็นเสน่ห์ที่น่าคิดนะว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง ผมอยู่ในทีมตรงนี้ว่าจะผลักดันยังไงที่จะให้อัตลักษณ์ความเป็นพื้นบ้านพื้นเมือง แต่มีความอบอุ่นเชื่อมโยงสมัครสมานสามัคคีนี้ขับเคลื่อนต่อไป

ตอนนี้เราก็ร่วมมือกับราชภัฏมหาสารคามมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอนแก่น ศิลปากรให้เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนให้มันเป็นอัตลักษณ์อะไรต่าง ๆ ซึ่งถามว่ายากไหม ยากนะเพราะมันไม่มีจุดขาย แต่มันอาจจะทำได้ในลักษณะที่ว่า ถ้าเขาเข้ามาในลักษณะเป็นโฮมสเตย์ ศึกษาวิถีชีวิตแล้วมาอยู่กับเรา มองเห็นอะไรต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ในช่วงดำเนินการ

ผมคิดว่าถ้าพื้นที่สะดืออีสาน โกสุมพิสัยหรือพื้นที่อื่น ๆ ถ้ามีอัตลักษณ์เราก็จะทำได้เช่นเดียวกัน เป็นการตอบโจทย์ไทยแลนด์ ๔.๐ วิธีการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่เบื้องต้นเราจะทำแบบนี้ ทำในลักษณะของเชิงวิชาการ ดึงแขกหรือนักท่องเที่ยวที่มีการศึกษาหน่อย ที่ไม่ได้มาเพียงฉาบฉวย ต้องการแค่เที่ยวเล่น สนุกสนาน จะเน้นเป็นกลุ่มวิชาการเพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่สิ่งที่ดี ๆ เป็นประโยชน์ต่อไป

ทางอีศาน : ขอคำขยายความ คำว่า สะดืออีสาน เพิ่งเริ่มหรือว่ามีมานานแล้ว แล้วมันมีลักษณะยังไง

คุณหมอณัฐวุฒิ : จริง ๆ คำว่า สะดืออีสานมีมาเป็นสิบปีแล้ว มันคือพิกัดทางภูมิศาสตร์จุดกึ่งกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการโต้แย้งกันว่ามันอยู่ในพื้นที่ไหน เพราะพื้นที่ภาคอีสาน เหมือนจะเป็นรูปทรงกลมหรือใกล้เคียง เขาก็พยายามหาระบุ ล่าสุดโดยกรมแผนที่ทหารก็จับได้ว่ามันคือบริเวณของบ้านเขวา ตำบลเหล่า อำเภอโกสุมพิสัย แล้วก็มีการทำสัญลักษณ์เป็นรูปเหมือนเสาหลักเมือง เป็นเหมือนเสาหลักเมืองที่เป็นสัญลักษณ์ของภาคอีสาน บริเวณรอบ ๆ เราก็เรียกว่าเป็นพื้นที่สะดืออีสาน จุดกึ่งกลางมีพื้นที่ที่สำคัญก็คือบึงกุย

ทางอีศาน : ตอนนี้พัฒนาอะไรบ้างแล้ว

คุณหมอณัฐวุฒิ : ตอนนี้ก็มีโครงการที่ทำมาสเตอร์แพลนไว้ดีมากของมหาวิทยาลัย มหาสารคาม เป็นโปรเจคที่ใช้เงินเยอะ แต่ว่าทรัพยากรที่มียังไม่พอ คือเป็นแหล่งรวบรวมสิ่งที่เป็นสิ่งดี ๆ ของภาคอีสานทั้งหมด ทั้งชาติพันธุ์วิถีชีวิต อะไรต่าง ๆ ของคนอีสานทั้งหมดมาไว้ที่บึงกุย ปรับปรุงไว้เป็นที่ศึกษา มีถนนรอบบึงกุยเพื่อที่จะทำเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ๆ ถ้าใครอยากจะศึกษาก็ให้มาที่บึงกุย มาที่เดียวศึกษาได้หมดอันนี้ก็เป็นความตั้งใจจริง ๆ เป็นโปรเจคที่ใหญ่แต่ว่าตอนหลังมาเนื่องจากว่าไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน แล้วก็มีมากะปริดกะปรอยของหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้

แต่ก็ไม่พอที่จะทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาการพัฒนาก็เลยไม่ต่อเนื่อง แต่ก็มีความพยายามของประชาชน ชาวบ้าน เนื่องจากว่ามันยาวนานเขาก็อยากเห็นว่ามันจะเป็นยังไง เราก็ยังพยายามที่จะทำ ตอนนี้เราก็สร้างสะพานไม้ไผ่

ข้ามบึงจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งเพื่อที่จะให้คนสัญจรไปมาได้ โดยที่อาศัยศรัทธา ไม่ได้เสียเงินประชาชนเขาขอรับบริจาคไม้ไผ่ ลงทุนลงแรงสร้าง ถ้าทำสำเร็จอาจจะสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นแลนด์มาร์ค ถวายพระราชกุศลแก่ในหลวง

ทางอีศาน : ติดใจชื่อบึง ทำไมถึงชื่อกุย

คุณหมอณัฐวุฒิ : กุย ตัวนี้แปลว่า เหม็นคาว ตรงนี้มันจะเป็นบึง แล้วก็มีห้วยเชื่อมไปถึงน้ำชี ในอดีตมันเคยมีความอุดมสมบูรณ์มาก แล้วก็มีเรื่องเล่าเป็นมุขปาฐะว่า มีความเกี่ยวข้องกับห้วยนางใยที่เชื่อมไปแม่น้ำชี แล้วก็มีลูกสาวเจ้าเมืองเชียงเหียน ในสมัยทวารวดี เขาอยากเห็นจระเข้ที่มีมนตร์ คือคนแปลงร่างเป็นจระเข้ได้ แต่มีข้อเงื่อนไขว่ามาถึงต้องเอาน้ำมนตร์เทใส่แล้วจะแปลงร่างกลับมาเป็นคน แต่ทีนี้ลูกสาวเจ้าเมืองตกใจ ตื่นเต้น ไม่ได้เอาน้ำเทใส่ จระเข้เลยคาบนางลงมาตามห้วยนางใย แล้วก็ว่ายไปตามลำน้ำชี ชาวเมืองก็พากันไล่ตามมาถึงห้วยวังลาวแล้วก็มาพักที่บึงกุย กินปลาอยู่ในหนองน้ำ เน่าเหม็นเป็นบึงกุยเหม็น ตอนหลังเขาไล่มา จระเข้ตัวนี้ก็ดั้นด้นขึ้นไปตามลำห้วยจนถึงกุดรัง ก็ไปเจอจับได้ที่กุดรัง จึงเป็นที่มาของชื่อบึงกุย   

*****

Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com