ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (๑)

ก่อนเป็น “อีสาน” และเจ้าแก้วมงคลสร้างเมืองทุ่ง (๑)

ขอบคุณภาพ : อ้างอิง http://www.aseanthai.net

บทเกริ่นนำ

หากนับย้อนไปในอดีตนั้นไม่ว่าผู้คนจากฝั่งซ้ายหรือลาวขวาแม่น้ำโขง ก็มีพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกัน กล่าวคือ มีวิวัฒนาการทางสังคมการเมืองมาจากแหล่งเดียวกัน นั้นก็คือ “อาณาจักรล้านช้าง” อาณาจักรดังกล่าวได้สถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และการมีพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์ร่วมกันนี้เอง ที่ทำผู้คนทั้งในอีสานและลาว มีความคล้ายกันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ศาสนา ภาษา ธรรมเนียม ประเพณี คติความเชื่อตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิต

การอพยพเข้ามาครั้งใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวมาจากการที่อาณาจักรล้านช้างถูกแบ่งแยกออกเป็น ๓ อาณาจักร การถ่ายเทเข้ามาของผู้คนดังกล่าวจึงนับว่าเป็นการก่อตั้งชุมชนและการจับจองพื้นที่สำหรับเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพ เมื่อมีผู้คนอพยพเข้าเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ทางรัฐจากส่วนกลางหรือสยาม จะเข้าครอบครองทรัพยากรอันประกอบไปด้วยพื้นที่และผู้คน เพราะต้องไม่ลืมว่ากำลังคนนั้นในอดีตถือเป็นปัจจัยพื้นฐานทางการเมือง การทหาร รวมทั้งทางเศรษฐกิจ (จากการเก็บส่วย)

ชลิต วิพัทนะพร. “การอพยพย้ายถิ่นฐานในดินแดนอีสานระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๒๑-๒๔๕๓.” ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม มกราคม ๒๕๒๙, หน้า ๗๑

 

วิธีการหนึ่งในอดีตที่ทางสยามมักใช้ในการที่จะได้ครอบครองทรัพยากรคนและพื้นที่ นั้นก็คือ การกวาดต้อนผู้คนหลังจากทำสงครามชนะหรือการเกลี้ยกล่อมให้ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง เพราะในแง่หนึ่งก็เป็นการเพิ่มกำลังทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร และที่สำคัญยังเป็นการลดทอนกำลังของรัฐฝ่ายตรงข้ามให้มีความอ่อนแอลง

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ รัฐบาลสยามส่วนกลางได้ปฏิรูประบบและระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ อำนาจรัฐบาลส่วนกลางเริ่มขยายอิทธิพลมายังบริเวณภาคอีสาน โดยการจัดรูปแบบการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน การปรับเปลี่ยนระบบราชการภายในหัวเมืองทางภาคอีสานนี้ สามารถกระทำได้เป็นผลสำเร็จดีนับตั้งแต่ใน พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นต้นมา

เพิ่งอ้าง, หน้า ๑
ประนุช ทรัพยสาร. “พัฒนาการของสังคมอีสาน ในพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕.” วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาสารคาม, ว.มรม. ปีที่๒ ฉบับที่ ๒: พฤษภาคม-สิงหาคม ๒๕๕๑: ๓๙-๓๔ , หน้า ๔๑

ต่อมา ในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของระบบการเมืองใหม่ และการพัฒนาประเทศเข้าสู่ความทันสมัย (modernity) และได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งสำคัญของภูมิภาคอีสานทั้งทางกายภาพ และความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานในอดีตขึ้นอยู่กับการทำนาและการหาของป่า ในฤดูแล้งบางคนก็เป็นนายฮ้อยค้าวัว ควาย ขณะเดียวกันก็มีชาวกุลาเข้ามาทำการค้า โดยมีสินค้าได้แก่พลอย หม้อทองเหลือง ฆ้อง เป็นต้น ต่อมาเริ่มมีชาวจีนเข้ามายังภาคอีสาน โดยเฉพาะเมื่อมีทางรถไฟ ทำให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางการค้า สินค้าอย่างเช่นข้าวและหมูกลายเป็นสินค้าส่งออกมายังภาคกลางโดยทางรถไฟ มีสินค้าต่างประเทศเข้ามามากขึ้น ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจของอีสานจึงเริ่มมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ

ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำเสนอประวัติความเป็นมาหรือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านช้าง ตลอดจนการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว (กลุ่มจารย์เมืองทุ่ง) ซึ่งพอที่จะทำให้เราเห็นพัฒนาการทางสังคมช่วงดังกล่าวในการส่งผู้คนออกไปสร้างบ้านตั้งเมือง

กำเนิดอาณาจักรล้านช้าง

ประวัติความเป็นมาของกลุ่มคนวัฒนธรรมลาว เริ่มต้นเมื่อก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แต่ไม่อาจหาหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่แน่ชัดได้นอกเสียจาก ตำนาน นิยายเท่านั้น จากงานเขียนของสีลา วีระวงศ์ ได้กล่าวถึง “ขุนลอ” ปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้าง สืบเชื้อสายมาจากขุนบรมราชาธิราช (จีนเรียกว่า พีล้อโก๊ะ) เสวยราชอยู่หนองแส (จีนเรียก ต้าหลีฟู) ได้สร้างเมืองที่ทุ่งนาน้อยอ้อยหนูแล้วขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า“เมืองแถน” หรือ “เมืองกาหลง (เก๋าหลง)” นอกจากที่นาน้อยอ้อยหนูแล้วยังสร้างเมืองใหม่
อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า “เมืองต้าหอ” ห่างจากนครหนองแสออกไปทางเหนือ ๔๐ ลี้ ขุนบรมราชาธิราชมีพระราชโอรสรวมทั้งหมด ๗ พระองค์ ได้ให้โอรสทั้ง ๗ แยกย้ายไปสร้างอยู่ตามที่ต่าง ๆ และหนึ่งในบรรดาโอรสทั้ง ๗ ของขุนบรม ที่รับรู้กันดีในหมู่คนวัฒนธรรมลาวซึ่งเป็นผู้สร้าง “เชียงดงเชียงทอง” หรือ “หลวงพระบาง” คือ “ขุนลอ” หลังจากนั้นมีพระมหากษัตริย์ลาวเสวยราชย์ในนครหลวงพระบางสืบต่อกันมาอีก ๒๒ พระองค์ จึงมาถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม หรือ “ฟ้างุ่ม” (๑๘๙๖-๑๙๑๖)

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “การเมืองสองฝั่งโขง: งานค้นคว้าระดับปริญญาเอกของจุฬามหาวิทยาลัย เรื่องการรวมกลุ่มของ ส.ส. อีสาน พ.ศ.๒๔๗๖-๒๔๙๔ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.” กรุงเทพฯ; สำนักพิมพ์มติชน: ๒๕๔๖, หน้า ๓๔

ในรัชสมัยของพระองค์เอง ถูกขนานนามว่า “ยุคสร้างชาติลาว” เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๖ พระเจ้าฟ้างุ้มทรงทำสงครามตีเอาเชียงดงเชียงทองได้ ตลอดจนหัวเมืองอีกหลายแห่งที่อยู่รายทางให้ยอมรับในพระราชอำนาจของพระองค์ และผนวกเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระองค์เข้าครอบครองหัวเมืองเหล่านี้เป็นผลสำเร็จ คือพระองค์ได้รับการช่วยเหลือจากราชสำนักเขมรพระองค์ได้แต่งงานกับเจ้าหญิงเขมร จึงทำให้พระองค์ทรงมีกองทัพในการก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างขึ้น บนดินแดนที่อยู่กลางระหว่างลุ่มน้ำโขงกับเทือกเขาอันหนำ (เหตุที่ได้ชื่อว่าล้านช้างเนื่องจาก พื้นที่บริเวณนี้มีช้างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก) ศูนย์กลางของอาณาจักรล้านช้างตั้งอยู่เมืองเชียงดง – เชียงทอง (เมืองเชียงดงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำดงจึงถูกเรียกว่า เมืองเชียงดง ตามชื่อแม่น้ำ ปัจจุบันคือ บ้านสังคโลก ส่วนเมืองเชียงทอง เหตุที่มีชื่อนี้เนื่องจากมีต้นทองยักษ์ ภาษาไทยเรียกว่าต้นงิ้ว เกิดอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณตั้งเมือง)

มาร์ติน สจ๊วจ-ฟอกซ์ (เขียน) จิราภรณ์ วิญญรัตน์ (แปล) กาญจนี ละอองศรี และปรียา แววหงส์ (บรรณาธิการ). “ประวัติศาสตร์ลาว (A History of Laos).” กรุงเทพฯ ; มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย: ๒๕๕๓, หน้า ๑๐

พระเจ้าฟ้างุ้มได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำพุทธศาสนามาสู่ประเทศลาว แม้ตามหลักฐานมีความชัดเจนว่าไม่ถูกต้องก็ตาม จากการค้นพบหลักฐานที่หลวงพระบางชี้ให้เห็นอย่างแน่ชัดว่าพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักกันอย่างดีก่อนแล้วในรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม แม้ว่ามเหสีชาวเขมรของพระองค์อาจจะเป็นผู้ที่แนะนำนิกายใหม่คือเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาที่ยังคงปฏิบัติอยู่ในลาวจนทุกวันนี้

เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๑

อาณาจักรล้านช้างเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน หลังจากสถาปนาเมืองเชียงดง-เชียงทองแล้ว พระเจ้าฟ้างุ้มทรงรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ (นิกายเถรวาท) จากราชสำนักเขมรมาเป็นศาสนาประจำชาติ เชื่อกันว่า “นางแก้วเกงยา” มเหสีของพระองค์เป็นผู้ทูลแนะพระองค์ให้นำเอาพุทธศาสนาไปเป็นแบบปฏิบัติในล้านช้าง เพราะในขณะนั้นชาวเมืองนับถือผี  จึงได้อัญเชิญพระบาง พระพุทธรูปศิลปะสิงหลจากราชสำนักเขมรมายังล้านช้าง พระเจ้าฟ้างุ้มทรงเปลี่ยนชื่อเมืองจากเชียงดง – เชียงทอง เป็นหลวงพระบาง ซึ่งแปลว่า “เมืองที่มีพระบางประดิษฐานอยู่”

พูทอง แสงอาคม. “ซาดลาว คนลาว อดีตและปะจุบัน (สะบับดัดแปง).” โรงพิมพ์นครหลวง: ๒๕๔๙, หน้าที่ ๓๐
เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๕

เมื่อพระเจ้าฟ้างุ้มสิ้นพระชนม์ พระยาแสนไทไตรภูวนาถ โอรสของพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้ขึ้นครองราชย์ต่อ อาณาจักรล้านช้างเริ่มเสื่อมลงเพราะการแย่งชิงอำนาจทางการปกครองของชนชั้นผู้ปกครอง จนถึง พ.ศ.๒๐๖๓ พระโพธิสาราชเจ้าขึ้นครองราชย์ และทรงรวบรวมแผ่นดินขึ้นมาใหม่ให้เป็นปึกแผ่น ด้วยทรงมีสายพระเนตรยาวไกลทรงให้พระไชยเชษฐาธิราชพระราชโอรสไปครองอาณาจักรล้านนา เพื่อเป็นการคานอำนาจของพม่า ครั้นพระเจ้าโพธิสาราชเจ้าเสด็จสวรรคตพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงต้องเสด็จกลับมายังล้านช้าง และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปยังเวียงจันทน์ ในรัชสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก และทรงสร้างวัดพระธาตุหลวง หรือเรียกว่า “พระธาตุเจดีย์โลกจุฬามณี” และวัดพระแก้วขึ้นเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต


ภาพจำลองเจ้าแก้วมงคล วัดเจริญราษฎร์ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

หลังจากพระเจ้าโพธิสาราชเจ้าสวรรคตเนื่องจากตกหลังช้างและถูกช้างเหยียบ ภายหลังที่ได้แต่งตั้งพระราชโอรส คือ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไปปกครองล้านนา ในทุ่สดพระองค์ต้องทิ้งพระราชบัลลังก์ที่ล้านนากลับไปปกครองล้านช้าง ดังนั้นโอกาสที่จะผนวกอาณาจักรทั้งสองให้เป็นอาณาจักรลาวจึงหมดไป๑๐ และในระหว่างเดินทางกลับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ไปยังอาณาจักรล้านช้างด้วย๑๑

๑๐มาร์ติน สจ๊วจ-ฟอกซ์ (เขียน) จิราภรณ์ วิญญรัตน์ (แปล) กาญจนี ละอองศรี และปรียา แววหงส์ (บรรณาธิการ).
“ประวัติศาสตร์ลาว (A History of Laos).” กรุงเทพฯ; มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย : ๒๕๕๓, หน้า ๑๕
๑๑เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. “พระราชพงศาวดารรัชกาลที่๑.” (ไม่ปรากฎจังหวัดที่พิมพ์); องค์การคุรุสภาศึกษาภัณฑ์พาณิชย์: ๒๕๐๓, หน้า ๘๔-๘๗

ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเจ้านี้เอง ที่ทางกองทัพจากพม่าบุกยึดอาณาจักรล้านนาใน พ.ศ.๒๑๐๑ และตกเป็นรัฐบรรณาการของพม่าเป็นระยะเวลากว่าสองศตวรรษ ส่วนลาวพยายามปกป้องตัวเองจากการคุกคามของพม่าด้วยวิธีการตั้งรับ ในพ.ศ.๒๑๐๓พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตกลงเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับอยุธยา และในปีเดียวกันนั้นเองที่พระองค์มีคำสั่งย้ายเมืองหลวงของลาวมายังเวียงจันทน์ ซึ่งในความคิดเรื่องนี้พระราชบิดาของพระองค์เองเคยครุ่นคิดไตร่ตรองมาแล้วเพราะการย้ายนั้นมีเหตุผลในแง่ของการเปลี่ยนดุลอำนาจในภูมิภาค ทั้งทางด้านประชากรเศรษฐกิจ ตลอดจนยุทธศาสตร์

เมื่อผู้ตั้งถิ่นฐานชาวลาวอพยพเคลื่อนย้ายลงไปตามลำน้ำโขงสู่แว่นแคว้นจำปาศักดิ์ และที่ราบสูงโคราชนั้นก็ทำให้ศูนย์ถ่วงของอำนาจลาวเปลี่ยนไปด้วย๑๒ ระยะเวลาแรกของการสร้างเมืองหลวงใหม่ นอกเหนือจากเตรียมตัวเพื่อตั้งรับเพียงอย่างเดียว ยังสร้างพระราชวังใหม่ สร้างวัดในบวรพุทธศาสนาขึ้นอีกหลายแห่ง มีการสร้างวัดพระแก้วเพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต๑๓

๑๒มาร์ติน สจ๊วจ-ฟอกซ์ (เขียน) จิราภรณ์ วิญญรัตน์ (แปล) กาญจนี ละอองศรี และปรียา แววหงส์ (บรรณาธิการ).
“ประวัติศาสตร์ลาว (A History of Laos).” กรุงเทพฯ ; มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย: ๒๕๕๓, หน้า ๑๕
๑๓เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๕-๑๖

การคุกคามของพม่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อยุธยาพ่ายแพ้ พ.ศ.๒๑๑๒ และปล่อยทิ้งให้ล้านช้างรับศึกพม่าอยู่ฝ่ายเดียว นั้นก็คือ ศึกของพระเจ้าบุเรงนอง หรือพระเจ้าชนะสิบทิศกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชหลบหลีกด้วยการทำสงครามแบบกองโจรถึงแม้ว่าพม่าจะเข้ายึดครองเวียงจันทน์ได้ แต่ก็ต้องถูกบีบบังคับให้ถอนกำลังกลับเพราะขาดยุทธปัจจัยทุกอย่าง พระองค์มีอำนาจสูงสุดเมื่อพระองค์ยกทัพรุกรานเขมร แต่พระองค์กลับพ่ายแพ้อย่างราบคาบ พระองค์สูญหายอย่างไร้ร่องรอยในขณะถอยทัพขึ้นเหนือ และในที่สุดอาณาจักรล้านช้างก็ต้องตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงและอ่อนแอลง จากปัญหาการครองราชย์๑๔

๑๔เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๖

หลังจากสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาหลายรัชกาลด้วยกัน แต่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ล้านช้างเข้าสู่ความสงบสุข ถือว่าเป็นยุคทองแห่งอาณาจักรล้านช้าง ปรากฏหลักฐานว่ามีชาวตะวันตกเข้ามาค้าขาย และพำนักอยู่ในเวียงจันทน์เป็นครั้งแรก คือ ชาวดัตช์ นายแกริตฟาน วูสตอฟ (Gerritt van Wuystoff) และจินวานนี่ – มาเรีย เลอเรีย (Giovanni – Maria Lerria) นักบวชนิกายเยชูอิตชาวอิตาเลียน๑๕ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงเป็นที่รักและนับถือของประชาชน

๑๕ เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๖-๑๗

หลังจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชสวรรคตแล้ว อาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็น ๓ อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์๑๖ ซึ่งในระยะเวลาต่อมาอาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแห่งสยาม

๑๖สุวิทย์ ธีรศาสวัต. “ประวัติศาสตร์ลาว ๑๗๗๙-๑๙๗๕ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).” กรุงเทพฯ ; สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ : ๒๕๔๓, หน้า ๑๕

ใน พ.ศ.๒๓๖๕ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์(พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕) ทรงวางแผนเพื่อกอบกู้เอกราชแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ กองทัพสยามที่ยกมาปราบในครั้งนั้นได้ทำการทำลายกำแพงเมือง เอาไฟเผาราบทั้งเมือง ทรัพย์สินถูกปล้นผู้คนถูกกวาดต้อน วัดในเวียงจันทน์เหลือเพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาไหม้ คือ “วัดสะเกด” ซึ่งมีสถาปัตยกรรมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงรอดจากการเผาทำลายในครั้งนั้น อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์มีเจ้าผู้ปกครองตามลำดับดังนี้

– พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒ (๒๒๕๐-๒๒๗๓) เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าสุริวงศาธรรมิกราช

– เจ้าองค์ลอง (๒๒๗๓-๒๓๒๒) เป็นพระราชโอรสในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๒

– เจ้าอุปราช (ท้าวนอง) (๒๒๘๓-๒๒๙๔) อนุชาในพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

– พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๓ (๒๒๙๔-๒๓๒๒) พระราชโอรสในพระเจ้าองค์ลองเสียเอกราชให้กับสยามใน พ.ศ.๒๓๒๒

– พระเจ้านันทเสน (๒๓๒๕-๒๓๓๗) พระราชโอรสในพระเจ้าศิริบุญสาร

– พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๔ (๒๓๓๗-๒๓๔๘) พระอนุชาในพระเจ้านันทเสน พระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

– พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๕ (เจ้าอนุวงศ์) (๒๓๔๘-๒๓๗๑) พระอนุชาในพระเจ้านันทเสนและเจ้าอินทวงศ์ พระองค์ทรงวางแผนในการกอบกู้เอกราชให้ลาวแต่ไม่สำเร็จ๑๗

๑๗เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. “พระราชพงศาวดารรัชกาลที่๓ เล่ม ๑.” (ไม่ปรากฏจังหวัดที่พิมพ์); องค์การคุรุสภาศึกษาภัณฑ์พาณิชย์: ๒๕๐๓, หน้า ๖๐
อาณาจักรนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี

หลังจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.๒๒๓๗ พระยาเมืองแสน (บางฉบับเรียกพญาเมืองจันทน์)๑๘ คิดมีใจกำเริบเลยแย่งชิงเอาราชสมบัติบังคับนางสุมังคละให้เป็นมเหสี แต่นางหายอมไม่ พระยาเมืองแสนผู้นี้ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองอันชาญฉลาดกล่าวคือใช้วิธีการราชาภิเษกและแต่งตั้งตนเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยอ้างว่าเจ้าองค์หล่อยังทรงพระเยาว์ และเพียงไม่กี่เดือนพระองค์ก็ถูกขับออกจากราชบัลลังก์อย่างเงียบ ๆ ออกจากราชบัลลังก์อย่างเงียบ ๆ๑๙ แต่อำมาตย์ แต่อำมาตย์คนสนิทนำเจ้าองค์หล่อหนีไปอาศัยเวียดนาม(ต่อมาเรียก องค์เวียด หรือ องค์เว้)

.

๑๘ ในที่นี้จะถือตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ฉบับของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ปฐม คะเนจร)

๑๙ บุญช่วย อัตถากร. ประวัติศาสตร์ภาคอีสาน และเมืองมหาสารคาม และผลงานต่าง ๆ (ความเบื้องต้นประวัติศาสตร์ภาคอีสานและสารคาม).” จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบุญช่วยอัตถากร วันจันทร์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๒ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม, หน้า๕๘

ส่วนนางสุมังคละซึ่งทรงพระครรภ์หลบหนีไปพึ่งใบบุญพระครูวัดโพนสะเม็ก๒๐ แต่พระครูเกรงว่าจะถูกครหา จึงให้นางไปซ่อนตัวอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับภูสะง้อหอคำ ครั้งครบทศมาสนางให้ประสูติโอรส คนทั้งหลายพากันเรียก “เจ้าหน่อกษัตริย์” ฝ่ายพระยาเมืองแสนเกรงว่าเจ้าหัวโพนสะเม็กจะเป็นภัยต่อราชสมบัติเพราะเป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชนเป็นอันมากจึงคิดกำจัดเสีย ฝ่ายเจ้าหัววัดโพนสะเม็กแจ้งในอุบาย จึงพาไพร่พลบริวารรวมทั้งเหล่าสานุศิษย์ประมาณ ๒,๐๐๐ เศษ อพยพออกจากเวียงจันทน์ลงมาตามแม่น้ำของ (โขง)

๒๐บางครั้งเขียน “โพนเสม็ด” หรือ “ญาครูขี้หอม” ก็เรียก

ครั้นไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก จึงแบ่งญาติโยมและให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาตั้งเคหะสถานอยู่ที่นั้น เมื่อถึงที่ตำบลแห่งใดก็มีประชาชนตามติดไปเป็นอันมาก เจ้าหัวครูมุ่งตรงไปถึงเขตแดนเขมรจนถึงแขวงเมืองบรรทายเพชร์ (หรือไผทเพชร์) ก็คิดจะพักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ฝ่ายพระเจ้ากรุงกัมพูชาจึงสั่งให้มีการเรียกเก็บเงินจากชาวเวียงจันทน์ ครัวละ ๒ ตำลึง (๘ บาท) เจ้าหัวครูเห็นว่าจะเป็นการเดือดร้อนบรรดาญาติโยมและสานุศิษย์ จึงอพยพออกจากดินแดนเขมรมาถึงเมืองนครกาลจำบากนัคบุรีศรี๒๑

๒๑​เรื่องเดียวกัน

ฝ่ายนางเภา นางแพง ธิดาผู้ครองเมืองนครจำบาก เมื่อบิดาของนางถึงพิราลัยแล้ว นางก็เป็นผู้บัญชาการบ้านเมืองต่อมาจนกระทั้งปีที่เจ้าหัวครูโพนสะเม็กมาถึงเมือง ทั้งสองทราบข่าวก็มีจิตเลื่อมใส จึงพาแสนท้าวพญาเสนาอำมาตย์ออกไปอาราธนาเข้ามาในเมือง

ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๒๔๒ ชาวเมืองนครจำบากนาคบุรีศรี บางพวกพากันซ่องสุมกำลังก่อการกำเริบมีจิตเป็นโจรผู้ร้ายออกไปก่อกวนปล้นสะดมในตำบลต่าง ๆ ทำให้ราษฎรผู้มีความสุจริตธรรมต้องได้รับความเดือนร้อน เจ้าหัวโพนสะเม็กพยายามปราบปรามโดยการเที่ยวอบรมสั่งสอนแต่ก็ไม่เป็นผล ครั้นจะทำการกำราบเสียก็จะผิดวินัยสงฆ์ ทั้งจะเป็นที่นินทาของประชาชนทั้งหลาย จึงได้จัดให้บ่าวไพร่แลเสนามหาอำมาตย์ ออกไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์และมารดามายังนครจำบาก แล้วเจ้าหัวโพนสะเม็กก็ทำพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร” และ
ได้เปลี่ยนนามเมืองนครจำบากนัคบุรีศรีเป็นเมือง “นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี”๒๒

๒๒​เรื่องเดียวกัน

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร ทรงดำริขยับขยายบ้านเมือง จึงส่งบรรดาเสนาอำมาตย์บ่าวไพร่คนสนิทไปสร้างบ้านแปงเมืองเพื่อที่ความสะดวกในการปกครองซึ่งปรากฏดังนี้ บ้านดอนโขง (อยู่กลางแม่น้ำโขง) เป็นเมืองสีทันดร (จารย์หวดเป็นเจ้าเมือง) บ้านโพนเป็นเมืองสาละวัน (นายมั่นเป็นเจ้าเมือง) บ้านหางโค ปากน้ำเซกอง เป็นเมืองเชียงแตง (ท้าวสุดเป็นเจ้าเมือง) บ้านแก้วอาเฮิม เป็นเมืองทองคำใหญ่ (ท้าวพรมเป็นเจ้าเมือง) บ้านอิ้ดกระบือ เป็นเมืองอัตตปือ (จารย์โสมเป็นเจ้าเมือง) บ้านโขงเจียง เป็นเมืองโขงเจียม (ท้าวหลวงเป็นเจ้าเมือง) บ้านทุ่ง (ภาษาอีสานออกเสียงว่า “ท่ง”) เป็นเมืองสุวรรณภูมิ (จารย์แก้วเป็นเจ้าเมือง)

ในเวลาต่อมา เมืองทุ่งได้ขยับขยายเป็นเมืองอีกมากมาย เช่น ร้อยเอ็ด หนองหาร ขอนแก่น ชนบท (ชลบท) พุทไธสง ซึ่งจะกล่าวต่อไป

 

******

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๗๑ | มีนาคม ๒๕๖๑

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ข้าว มะพร้าว กัญชา
สงสารเมีย
ปีที่สร้างพระธาตุพนมในตำนานอุรังคธาตุ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com