มังมูน บุญข้าว : เสาค้ำวัฒนธรรมอีสาน

มนุษย์ที่อาศัยในแผ่นดินอีสานค้นพบข้าวป่าและนำมาเป็นอาหาร จากยุคเก็บหาจนสามารถนำมาเพาะปลูกในผืนนาที่จัดการระบบนํ้าอย่างชาญฉลาด บนเส้นเวลาทอดยาวกว่าหมื่นปีที่วิถีข้าวและวิถีคนปรับปนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ผูกพันก่อเกิดเรื่องราวของการผลิต การแปรรูป ความเชื่อ และประเพณี ที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์มั่งคั่งโดยมีข้าวเป็นแก่นสารของการก่อเกิดวัฒนธรรม

การนับจำนวนปีแต่โบราณมา มักใช้จุดอ้างอิงจากสภาพธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบปี มีคำที่ใช้นับปีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันหลายคำ เช่นคำว่า “ฝน” อย่างว่า เกิดมายี่สิบฝน หรือการนับจำนวนปีที่บวชของพระว่า “พรรษา” ซึ่งหมายถึงจำนวนฤดูฝนที่ผ่านไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า “ข้าว” แทนคำว่าปีในกฎหมายลักษณะพยาน ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา ความว่า “เด็กเจ็ดเข้า (ข้าว) เฒ่าเจ็ดสิบ” หมายถึง เด็กอายุตํ่ากว่าเจ็ดปีจะยังไม่รู้สำนึกผิดชอบ หรือคนแก่อายุมากกว่าเจ็ดสิบปีมักจะหลงลืม จึงอย่าได้ลงอาญาหรือปรับไหม ดังนั้น ฝน ข้าว ปี จึงมีความหมายที่ใช้เกี่ยวข้องกันมาแต่โบราณและเกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตในรอบปีของชาวนา

การเฮ็ดนาจากอดีตถึงปัจจุบันได้พัฒนาไปตามความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นไปที่การผลิตข้าวที่มีคุณภาพและมีปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น คุ้มค่าแก่การลงทุนลงแรงในแต่ละปีตามวิถีทุนนิยมในยุคที่การเฮ็ดนาไม่ต้องอาศัยนํ้าฟ้า

ในอดีตชาวนาปลูกข้าว พระสังฆเจ้าปลูกบุญชาวนาเอาข้าวไปสร้างบุญเกิดเป็น “บุญข้าว” แต่ปัจจุบันข้าวในนาไม่ได้ผลิตมาเพื่อแลกบุญเช่นกาลก่อน แต่เสน่ห์ของบุญข้าวยังเย้ายวนให้เราเปิดผ้าม่านกั้งตั้งใจถอดรหัสในฐานะเสาคํ้าวัฒนธรรมอีสานอย่างไม่เสื่อมมนต์ขลัง บุญข้าวที่ปรากฏในฮีต ๑๒ ของคนอีสาน จะเริ่มตั้งแต่การขอฝนบนฟ้าในเดือนหก จนถึงรอลุ้นฝนรอบใหม่ในเดือนสี่ ก่อนฉลองปีใหม่อย่างแขกในเดือนห้า

มังมูน บุญข้าว

มังมูน หมายถึง ของดีที่มีอยู่อย่างมากมายพร้อมพรั่ง มังมูนบุญข้าว จึงหมายถึงเรื่องราวของงานบุญที่เกี่ยวกับข้าว ทั้งที่เป็นการผลิต การแปรรูปความเชื่อ และพิธีกรรม ซึ่งนับว่าเป็นของดีที่มีอยู่อย่างมากมายพร้อมพรั่งในสังคมอีสาน การเรียนรู้เรื่องราวของบุญข้าวจะทำให้เราเข้าใจในวัฒนธรรมอีสาน อันจะเกิดเปน็ ฐานความรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

บุญข้าวในฮีต ๑๒ ได้แก่ เดือนหกบุญบั้งไฟเดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนยี่บุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ และเดือนสี่บุญผะเหวด บุญทั้งหกในรอบปีนี้ชาวอีสานใช้ข้าวเป็นต้นทุนสร้างบุญ โดยการปรับทั้งคติความเชื่อแบบผี พราหมณ์ และพุทธ ผสมกลมกลืนกัน เกิดเป็นอัตลักษณ์พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (popular Buddhism) ที่มีความสำคัญต่อพลังชุมชนมาตั้งแต่อดีต

เดือนหก – บุญบั้งไฟ เลี้ยงปู่ตา แฮกนา ไหว้ตาแฮก

เริ่มต้นวงวัฏของบุญข้าวด้วยช่วงเดือนหกที่นํ้าฝนเริ่มโปรยมาสู่พื้นดิน แม้ว่ามนุษย์จะพัฒนาการปลูกข้าวจากการเก็บข้าวป่า มาถึงขั้นการเฮ็ดไฮ่ (dry rice) เฮ็ดนา (wet rice) แต่ปัจจัยสำคัญคือ “นํ้าฟ้า” ซึ่งการที่มนุษย์สังเกตว่าเสียงกบร้องมักจะมีขึ้นพร้อมกับฝนตกเสมอ กบจึงถูกยกให้เป็นสัตว์วิเศษที่สามารถสื่อสารกับพญาแถน เทวดาผู้เก็บกักนํ้าไว้บนฟ้าตามความเชื่อเรื่องการสร้างโลก เกิดเป็นชาดกพื้นบ้านซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของพญาคันคากที่ไปรบชิงนํ้าฟ้ากับพญาแถน จนมีสัญญาใจกันว่า ถ้ามนุษย์ต้องการฝนสำหรับทำนาให้จุดบั้งไฟเป็นสัญญาณไปบอกพญาแถน บุญบั้งไฟที่จัดขึ้นในเดือนหก จึงเป็นการการสร้างขวัญกำลังใจต่อความไม่แน่นอนของธรรมชาติ เพื่อให้มีนํ้าไว้เฮ็ดนา อันเป็นต้นทางของบุญข้าว

นอกจากบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชนแล้ว ยังมีพิธีกรรมสำคัญของชุมชนคือการเลี้ยงปู่ตา ผีบรรพชนประจำชุมชนที่คนอีสานได้สั่งสอนลูกหลานไว้ว่า “ขึ้นให้ปลงลงให้เลี้ยง” คือเสร็จจากหน้านาให้เลี้ยงขึ้นครั้งหนึ่ง ก่อนจะลงทำนาให้เลี้ยงลงอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น ๒ ครั้งต่อปี การเลี้ยงลงนี้จะจัดพร้อมกันกับบุญบั้งไฟของหมู่บ้านก่อนจุดบั้งไฟต้องมีการเลี้ยงปู่ตาเพื่อบอกกล่าวขอความอุดมสมบูรณ์ บางหมู่บ้านในอำเภอเชียงขวัญจังหวัดร้อยเอ็ด จะมีพิธีกรรมบวชควายจ่า อันสะท้อนถึงรอ่ งรอยของการนับถือควายตามตำนานน้ำเต้าปุ้ง นิทานการสร้างโลกคติแถนที่บอกความสัมพันธ์ระหว่าง คน ควาย และแถน

นอกจากบุญบั้งไฟและการเลี้ยงปู่ตาก่อนลงนาแล้ว ในระดับปัจเจกจะมีการไหว้ตาแฮกซึ่งเป็นผีประจำนา และพิธีแฮกนา ในเช้าวันพฤหัสบดี ชาวนาจะเตรียมเทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ และต้นกล้า ไปทำพิธีที่ศาลตาแฮกในนาของตน มีการกันพื้นที่ไว้พอประมาณ เรียกว่า นาตาแฮก เสียงกล่าวคาถาปักกกแฮกถูกร่ายขึ้นพร้อมกับการปักดำต้นกล้าลงในนาตาแฮก “…ปักกกนี้นกจิบตาบอดให้มึงบินหนี ปักกกนี้นกจอกตาหวานให้มึงบินหนี ปักกกนี้แมงคาโตฮ้องฮํ่ากกเข้าให้มึงบินหนี…” เสร็จจากการแฮกนาตามฤกษ์ยามนี้แล้วจึงเริ่มปักดำ

ใน นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) กล่าวถึงพิธีในเดือนหกว่า “…เดือนหกสรกฝนสวรรค์ จรดนังคัลตามพิธี แรกนาเข้าธรณี พี่ดูเจ้าเปล่าใจหาย…” เป็นที่น่าสนใจว่าในลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงเดือนหกไม่มีบุญบั้งไฟ แต่ยังมีร่องรอยการใช้ฆ้องและมโหระทึกประโคมประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่หน้ามโหระทึกจะมีรูปหล่อกบอันเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ปรากฏให้เห็น เป็นหลักฐานถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกันของคนกลุ่มต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ ที่นับถือกบนอกจากนี้ ในวัฒนธรรมล้านนาจะมีประเพณี “จิบ

อกไฟ” หรือจุดบั้งไฟ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่อไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี และใช้ในงานศพ โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการขอฝนเลย

สำหรับชาวอีสานได้เอาบั้งไฟมาใช้ร่วมกับคติการบูชากบในพิธีขอนํ้าฟ้า ที่สืบทอดมาจาก

วัฒนธรรมแถนดั้งเดิม ก่อนจะรับคติทางพุทธศาสนาเราจึงพบเห็นขบวนแห่บั้งไฟที่มีการแห่ปลัดขิกหรือหุ่นไม้ชักแสดงการร่วมเพศของชายหญิง พร้อมทั้งขบวนเซิ้งบั้งไฟที่มีการจ่ายกาพย์เซิ้งด้วยบทกลอนที่พูดถึงเรื่องเพศ เพราะเชื่อว่าเรื่องเพศเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

บุญเดือนหกแม้จะไม่ได้เอาข้าวมาเป็นต้นทุนในการทำบุญ แต่เดือนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของบุญข้าวเพราะหากไม่มีนํ้าฟ้า ชาวนาคงไม่สามารถปลูกข้าวไปทำบุญได้ กิจกรรมของชาวนาในเดือนหกจึงมีทั้งบุญบั้งไฟ เลี้ยงปู่ตา แฮกนา ไหว้ตาแฮก ซึ่งล้วนแต่เป็นการสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติที่เชื่อว่าหากเลี้ยงดีพลีถูกจะมีนํ้าฟ้าหรือฝนสวรรค์มาให้ทำนาอย่างแน่นอน

เดือนเก้า – บุญข้าวประดับดิน ไหว้แม่ธรณีไหว้ผีบรรพชน

หลังจากได้นํ้าฝนมาทำนาจนผ่านพ้นฤดูกาลปักดำมาแล้ว ปีที่ฟ้าหล่นฝนดีข้าวในนาเริ่มแตกกอเติบโตเต็มทุ่งนาประดับพื้นดินให้เขียวขจี จนเรียกกันว่า ข้าวประดับดิน ด้วยความมั่นใจในผลผลิตที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงได้ทำบุญข้าวเพื่อสำนึกถึงบุญคุณของแผ่นดินขึ้น เรียกว่า “บุญข้าวประดับดิน” มีกำหนดตายตัวว่าต้องจัดในวันแรม ๑๔ คํ่า เดือน ๙ เท่านั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารพร้อมทั้งหมากพลูบุหรี่ ห่อด้วยใบตอง เรียกว่า “ห่อข้าวน้อย” แล้วนำไปวางไว้ตามพื้นดินหรือฝังลงในดินเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเป็นการบูชาพระแม่ธรณีที่ช่วยให้ข้าวกล้างอกงามต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มพิธีกรรมทางพุทธศาสนาโดยการตักบาตร ถวายภัตตาหาร ฟังเทศน์ และกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ

เทวดารักษาผืนดินหรือแม่พระธรณีนี้มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์โดยตรง ตามนิทานเรื่อง “ปฐมมูล” ที่เล่าถึงการเกิดมนุษย์คู่แรกคือชายชื่อ ปุตถังไดยะสังกะสา และหญิงชื่อ อีถิงไดยะสังกะสี ทั้งสองเป็นผู้สร้างจักรวาล สัตว์ พืช ต่อมาทั้งคู่ได้กิน “ข้าว” เกิดความกำหนัดจึงได้สมสู่จนมีลูกคือ ท้าวอุบง นางพนงกงพาน นางโภคาวดี นางธรณีศรีสร้อยฟ้า นางเมขลา เมื่ออีถิงไดยะสังกะสีตายได้ไปเกิดเป็นพื้นดิน ส่วนปุตถังไดยะสังกะสาไปเกิดเป็นนกกระแดดเด้า เพราะก่อนสิ้นใจได้นึกถึงการสมสู่กับเมียตน แผ่นดินจึงเกิดจากเพศแม่ซึ่งต่างจากตำนานสร้างโลกของศาสนาคริสต์ที่บอกว่าพระเจ้าสร้างอาดัมจากแผ่นดิน เป็นที่น่าสังเกตว่าข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตประชากรมนุษย์ ดังในเรื่องปฐมมูลว่า “…คนจึงกินหมากเข้า (ข้าว) เป็นปาติดต่อ อาศัยเซิ่งเข้า (ข้าว) เดียวนี้สืบมา อาการสู้กามคุณสังโยค แล้วเล่ามีลูกเต้า เดี๋ยวนี้สืบมา…”

นัยสำคัญจากบุญข้าวประดับดิน สะท้อนถึงการนับถือเพศหญิงเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นข้อสรุปทางวิชาการในการศึกษาโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มชนต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ แม้ว่าปัจจุบันการยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่จะเข้ามาแทนที่ แต่ร่องรอยของวัฒนธรรมดั้งเดิมยังสะท้อนให้เห็นบทบาทผู้หญิงในฐานะผู้น้ำชุมชนผ่านพิธีกรรม เช่น แม่เมืองของกลุ่มหมอเหยา เป็นต้น บุญข้าวประดับดินอันเป็นการทำบุญอุทิศให้แผ่นดินหรืออีถิงไดยะสังกะสี มารดาผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งตามความเชื่อในวัฒนธรรมผี ก่อนคลี่คลายปรับปนและแทนที่ด้วยคติพุทธ ทำให้เห็นถึงร่องรอยความสัมพันธ์อันยาวนานของพิธีกรรมระหว่าง ผี คน ข้าว และผืนดิน ของคนอีสาน

เดือนสิบ – บุญข้าวสาก ให้พระ ให้ผี ให้คน

บุญข้าวสากเป็นบุญข้าวที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือนสิบ ถูกอธิบายว่ามาจากคำว่า “บุญข้าวสลากภัต” ชาวอีสานออกเสียงเป็น “บุญข้าวสาก” ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรตไร้ญาติ โดยผู้ถวายทานจะจัดสำรับกับข้าว พร้อมด้วยปัจจัยไทยทานเขียนชื่อตนเองไว้ที่พาข้าวนั้น และเขียนชื่อติดสลากใส่ในบาตรรวมกัน เมื่อกล่าวคำถวายแล้วพระสงฆ์จะจับสลาก ถ้าจับได้ชื่อผู้ใด เจ้าของสลากนั้นจะนำของทานนั้นไปถวาย

น่าสังเกตว่า บุญข้าวสลากภัตนั้นในลุ่มนํ้าเจ้าพระยานิยมจัดกันก่อนเข้าพรรษา เช่นในนิราศเดือนของ เสมียนมี หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร กวีในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ว่า “…กระทั่งถึงเดือนเจ็ดไม่เสร็จโศก บังเกิดโรคแรงหนักด้วยรักสมร สลากภัตรจัดแจงแต่งหาบคอน อย่างแต่ก่อนหาบกระทายมีลายทอง…ทั้งผูดี้เข็ญใจไปก็มาก จับสลากหนังสือชื่อพระสงฆ์รู้จักนามตามพบระสบองค์ ต่างจำนงน้อมถวายรายกันไป…” นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า สลากภัตจะทำเดือนใดให้ถือเอาทุเรียนเป็นเกณฑ์ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า “…การซึ่งกำหนดสลากภัตในเดือนเจ็ดก็ด้วยอาศัยผลไม้บริบูรณ์ ผลไม้อื่นก็ทำเนา ดูเป็นข้อใหญ่ใจความอยูที่ทุเรียน ถ้าฤดูสลากภัตต้องคราวทุเรียนชุกชุมแล้ว ก็เห็นจะเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น…” ส่วนชาวล้านนาจะมีพิธี “ทานข้าวสลาก” หรือ “กิ๋นก๋วยสลาก” จัดตั้งแต่เดือน ๑๐ ถึงสิ้นเดือน ๑๑ มีรูปแบบเป็นการจับสลากไม่ต่างจากที่อธิบายไว้แล้ว

แต่ในชุมชนลุ่มนํ้าชี บริเวณร้อยเอ็ดมหาสารคาม ยโสธร มีการทำบุญข้าวสากที่ไม่เกี่ยวกับการจับสลาก แต่มีแบบแผนการกระทำที่สำคัญคือ “ยามข้าวสาก” “ยาด (แย่ง) ข้าวสาก” และ “ยายข้าวสาก” เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑ คํ่า ถึงวันขึ้น ๑๔ คํ่า เดือนสิบ ชาวบ้านจะนำนํ้าตาล แป้ง ถั่ว งา หอมแดง จัดเป็นชุดนำไปให้กับญาติพี่น้องในหมู่บ้าน โดยอีกฝ่ายจะเตรียมของไว้แลกเปลี่ยนเช่นกัน เรียกว่า “ยามข้าวสาก”

เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือนสิบ หลังจากถวายจังหัน (ภัตตาหารเข้า) แล้ว ชาวบ้านจะกลับไปเตรียมอาหารสำหรับไปถวายเพล เรียกว่า “ห่อข้าวใหญ่ห่อข้าวน้อย” คือพันห่ออาหารด้วยใบตองแบ่งเป็นสองชุด ห่อข้าวใหญ่จะเป็นชุดที่ถวายพระ ส่วนห่อข้าวน้อยจะแบ่งอาหารอย่างละเล็กละน้อยใส่ในห่อใบตองสำหรับอุทิศให้ผี เมื่อถวายห่อข้าวใหญ่แล้ว หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเพล ชาวบ้านจะเอาห่อข้าวน้อยไปแขวนไว้ตามต้นไม้ในวัด รอเวลาครูหนึ่ง แล้วต่างเข้าไปเก็บห่อข้าวน้อยที่แขวนไวนั้นเพื่อนำกลับบ้าน เรียกว่า “ยาด (แย่ง) ข้าวสาก” จากนั้นจะนำห่อข้าวน้อยไปวางไว้ตามท้องนา เพื่อให้ผีทั้งหลายมากิน เรียกว่า “ยายข้าวสาก”

จะเห็นได้ว่าแม้จะใช้ชื่อว่า “บุญข้าวสาก” แต่หลายชุมชนได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจับสลากตามชื่อบุญแต่อย่างใด หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าการแบ่งปันอาหารให้คนให้ผีเป็นแบบแผนที่มีมาแต่เดิม ต่อมาจึงให้พระและสวมทับด้วยชื่อบุญข้าวสลากภัตตามถิ่นอื่น แต่ยังไม่สามารถแทนที่แบบแผนอันเป็นสาระสำคัญของกิจกรรมดั้งเดิมก็เป็นได้

เดือนยี่ – บุญคูนลาน ถวายทานกุ้มข้าวใหญ่

หลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว ชาวนาจะนำมัดข้าวมากองรวมกันเรียกว่า “ลอมข้าว” จัดตกแต่งบริเวณด้วย “ตาแหลว” รอเวลาจนพ้นหน้ากฐินจึงทำการ “ปลงขวัญข้าว” เพื่อตีข้าว แล้วจึงไปนิมนต์พระมาฉันภัตตาหาร สวดมนต์ ประพรมนํ้าพระพุทธมนต์ บางแห่งมีการสู่ขวัญลานเพื่อฉลองความอุดมสมบูรณ์และขอบคุณพระแม่โพสพ บางชุมชนเมื่อได้ข้าวเปลือกแล้ว ชาวนาจะแบ่งข้าวใหม่ส่วนหนึ่งไปถวายวัด เรียกว่า “บุญกุ้มข้าวใหญ่” หรือ บุญกองข้าวใหญ่ ในบางชุมชนมีการจัดใช้รวงข้าวที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคมามัดตกแต่งเป็นปราสาทข้าวเป็นการแสดงถึงฝีมือในเชิงช่างของชาวอีสาน

ปฏิทินสุริยคติที่เราใช้ในปัจจุบัน กำหนดให้เดือนธันวาคมเป็นเดือนส่งท้ายปีเก่า มนุษย์เงินเดือนหลายองค์กรจึงรอคอยโบนัสปลายปี ไม่ต่างจากวิถีชาวนาอีสานที่เฝ้ารอเดือนเจียงซึ่งตรงกับช่วงเดือนธันวาคม เดือนแรกตามปฏิทินจันทรคติ หลังจากหน้ากฐินทานและงานเข้าปริวาสกรรมของพระสงฆ์ชาวนาเตรียมตัวลงลานเพื่อตีข้าวที่เก็บกองเรียงตั้งตีนช้างเป็นลอมไว้ในลาน ดังคำผญาที่ว่า “เฮามาพากันสร้างกฐินธรรมทานทอด เสร็จแล้วจั่งได้ลงท่งกว้างเก็บเข้าขึ้นสู่ลาน” เมื่อชาวนามีข้าว ก้าวต่อไปคือสร้างบุญจากข้าวเพื่อเป็นเสบียงของชีวิตสำหรับ

การเดินทางไปสู่โลกหน้าอย่างท้าทาย และเป็นกำลังใจของชีวิตในโลกนี้ บุญข้าวจึงเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของข้าว คน ฝน ปี ที่น่าหลงใหล

ความสำคัญของลานข้าวไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ฉลองความสำเร็จของชาวนา แต่ยังเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างบุญ ดังที่ถูกเปรียบเทียบไว้ในคำสู่ขวัญลาน ว่า

“…จึงได้สู่ขวัญลานอันใหญ่กว้าง เทียมดังลานพระเกศแก้วจุฬามณี คือดังลานพระศรีมหาโพธิ อันให้สำเร็จประโยชน์แก่พระโพธิญาณ เป็นรมณียสถานอันวิเศษ เทียมดังลานพระเจ้าตัดเกศแทบฝั่งอโนมา คือดังลานเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตรเป็นดั่งลานพระเจ้าประสูติในสวนลุมพินี เป็นดังลานพระเจดีย์ดอยสิงกุตตะราช เป็นที่บรรจุอุรังคธาตุพระศาสดา คือลานบ่อนพระสงฆ์ทำสังคายนาธรรมวินัยแต่ก่อน เปรียบดังบ่อนพระพุทธเจ้าเข้าสูนี่รพานเป็นที่โมทนาสาธุการแห่งเทวาทุกหมู่ ลานนี้เป็นอู่แห่งพระสังฆเจ้าและทวยชน เป็นที่บำเพ็ญผลแก่คนทั้งมวล…”

ลานข้าวจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่แห่งการอิ่มกายแต่มีความหมายในฐานะพื้นที่แห่งความอิ่มใจที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ การทำลานจึงมีแบบแผนพิธีกรรมตั้งแต่พิธีขอขมาเสียหญ้าลานจนถึงการปลงขวัญข้าวแต่ในปัจจุบัน ลานได้ถูกแทนที่ด้วยตาข่ายพลาสติกหรือบางแห่งไม่มีแม้กระทั่งลาน เพราะรถเกี่ยวข้าวสามารถเปลี่ยนรวงข้าวให้เป็นเมล็ดบรรจุกระสอบพร้อมนำไปขาย น่าเสียดายที่คนปัจจุบันขายข้าวใหม่เพื่อซื้อข้าวเก่าของตัวเองกลับมากิน

เดือนสาม – บุญข้าวจี่ เผาข้าวหลาม

บุญข้าวจี่ เป็นบุญข้าวที่จัดขึ้นในเดือนสามอ้างอิงจากตำนานเรื่องนางปุณณทาสี หญิงยากจน

ที่ได้ทำข้าวจี่ถวายพระพุทธเจ้า ในขณะที่นางคิดในใจว่าพระพุทธเจ้าจะทรงรับข้าวจี่ของคนยากจนเช่นนางหรือไม่ ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงรับข้าวจี่จากนาง เกิดมีผลอานิสงส์มากมาย

ชาวอีสานทำบุญข้าวจี่ โดยจะนำข้าวเหนียวสุกปั้นหุ้มน้ำตาลอ้อยชุบด้วยไข่แล้วเอาไปจี่ไฟ นำไปรวมกันเพื่อถวายพระที่หอแจก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา และข้าวจี่ที่เหลือจะถูกนำมาแบ่งปันกันกินเพื่อความเป็นสิริมงคล ในเดือนยี่ถวายข้าวเปลือก ในเดือนสามทำไมถวายข้าวจี่

ในกฎหมายโบราณล้านช้างได้กำหนดไว้ว่าการเผาตอข้าวในเดือนสาม หากไฟลามไปไหม้บ้านเรือนใคร ไม่ให้ถือเป็นโทษ ข้อนี้น่าจะได้เค้าโครงมาจากพิธีอย่างพราหมณ์ในการส่งแม่โพสพ ปรากฏในทวาทศมาสโคลงดั้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า“ฤดูส่งพระไพสพราช” จะมี “เผาเข้า” คือการเผาตอข้าวในนา เรียกว่า “ธานยเทาะห์” (ธานฺย แปลว่าข้าว เทาะห์ แปลว่าเผา) ซึ่งเป็นพิธีเก่าทำสืบต่อมาถึงปลายกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ว่า “…เดือนสามเคยตามพี่ ดูพิธีธานย์เทาะห์แสดง เผาเข้า (ข้าว) เจ้างามแฝง พงศ์พวกพ้องน้องเคยดู…”

การเผาตอข้าวนี้ วัตถุประสงค์สำคัญคือการกำจัดเพลี้ยในตอข้าว และเตรียมพื้นที่นาสำหรับฤดูเพาะปลูกต่อไป แต่ที่น่าสนใจคือ พราหมณ์เขาใช้คำว่าพิธีเผาข้าว ไม่ใช้เผาตอข้าว ซึ่งหากมองข้ามนิทานเรื่องนางปุณณทาสีถวายข้าวจี่ที่น่าจะถูกนำมาอธิบายความในยุคหลัง ไปให้ความสำคัญกับคำว่า “พิธีเผาข้าว” แบบตรงตัว คือเอาข้าวมาเผาในเดือนสาม น่าจะเป็นต้นเค้าความเชื่อของบุญข้าวจี่ในอีสาน ที่พ้องกันกับพิธีพราหมณ์โดยไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ และนอกจากนี้ในเดือนสามชาวมอญยังมีพิธี “จองโอะห์ต่าน” (จอง แปลว่า เผา โอะห์ แปลว่า ฟืน ต่าน แปลว่า การให้ทาน) บุญนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญส่งฟืน โดยจะมีการเผาข้าวหลามไปทำบุญเลี้ยงพระ บุญข้าวในเดือนสามของกลุ่มชนต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นการเผาข้าวแล้วนำไปถวายทาน

หลังจากเสร็จบุญคูณลานในเดือนยี่ ได้ข้าวเหนียวใหม่มาเก็บเต็มเล้า รอวันออกใหม่สามคํ่าเดือนสาม เพื่อทำพิธีจกปากเล้าเอาข้าวใหม่ออกมากิน คนอีสานจึงปรารถนาที่จะส่งข้าวใหม่ไปให้ผู้มีพระคุณทางจิตใจ การเผาข้าวใหม่ด้วยไฟ เป็นข้าวหลาม ข้าวจี่ ข้าวโป่ง เพื่อนำไปไหว้ผีตามประเพณีเก่า จนกลายมาเป็นการถวายพระ เป็นภูมิปัญญาการแปรรูปอาหารที่ไม่เพียงเลี้ยงสุขทางกาย แต่ลึกซึ้งไปถึงการเลี้ยงสุขทางใจ

เดือนสี่ – กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด

บุญผะเหวด เป็นบุญใหญ่ที่ชาวอีสานให้ความสำคัญมากกว่าบุญอื่น ๆ เป็นบุญข้าวที่จัดขึ้นในเดือนสี่ เกิดจากความเชื่อจากเรื่องพระมาลัยที่ว่าผู้ใดปรารถนาจะเกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตตรัยแล้วจะต้องได้ฟังเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกให้จบภายในวันเดียว ในงานบุญมีการทำข้าวปุ้นหรือขนมจีนเป็นอาหารหลักสำหรับผู้มาร่วมงาน บางที่จึงเรียกว่า “บุญข้าวปุ้น” การจัดหอแจกสำหรับเทศน์จะเป็นการจำลองสภาพเขาวงกตที่พระเวสสันดรไปบำเพ็ญบารมี โดยทำรูปสัตว์ป่า พรรณไม้ มาประดับตกแต่งรอบศาลา และแขวนผ้าผะเหวดที่เขียนเรื่องราวมหาเวสสันดรชาดกไว้รอบหอแจกให้ผู้ฟังเทศน์ได้ดูประกอบไปเป็นตอน ๆ

มหาชาติเป็นเรื่องราวการสร้างทานบารมีของพระโพธิสัตว์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมอุษาคเนย์ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีการแต่งมหาชาติคำหลวงซึ่งถือว่าเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาเรื่องแรกที่แต่งในสมัยอยุธยา ในลุ่มเจ้าพระยาภาคใต้และล้านนาไม่ได้กำหนดเดือนที่แน่นอนในการจัดเทศน์มหาชาติ แต่นิยมจัดกันหลังจากออกพรรษาในล้านนาเรียกว่าพิธีตั้งธรรมหลวง สะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคอื่นจัดเทศน์มหาชาติ ในช่วงที่มีผลผลิตสมบูรณ์ประหนึ่งเป็นการฉลองผลผลิตจากท้องนานั่นเอง

การจัดงานบุญผะเหวดของอีสานกำหนดช่วงเวลาในเดือนสี่ ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง กำหนดเวลาในการจัดน่าจะมีมูลเหตุ ๒ ประการ คือ เดือนสี่เป็นเดือนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์และได้แสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดกโปรดพระญาติประการหนึ่ง และเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อขวัญกำลังใจเพื่อให้มีนํ้าฟ้าหล่นมาสู่ท้องนาในอีก ๒ – ๓ เดือนข้างหน้าอีกประการหนึ่ง

แบบแผนพิธีของบุญผะเหวดของชาวอีสานจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของนํ้าฟ้า จากเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงช้างปัจจัยนาเคน ช้างเผือกมงคลที่ไปอยู่เมืองใดเมืองนั้นฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ฝนโบกขรพรรษหรือฝนห่าแก้ว การจัดบุญผะเหวดในชุมชนอีสานมีแบบแผนการจัดที่เคร่งครัด ทั้งสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมและขั้นตอนการประกอบพิธี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวอีสานจะมีการนำเอาข้าวมาเป็นสัญลักษณ์และองค์ประกอบในบุญผะเหวดอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การนำข้าวมาปั้นเป็นก้อน เพื่อบูชากัณฑ์เทศน์จำนวนพันพระคาถา เรียกว่า “ข้าวพันก้อน” ในระหว่างการเทศน์มีการหว่านข้าวสารเป็นระยะ หรือการใช้เชือกที่ติดด้วยเมล็ดข้าวสารผูกประดับรอบธรรมาสน์เทศน์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงฝนแก้วสัตตรัตน์ หรือฝนโบกขรพรรษ ที่กำลังตกลงมาตามเนื้อเรื่อง บุญผะเหวดและข้าวจึงมีความสัมพันธ์กันในเชิงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนชาวนา ที่อาศัยนํ้าฟ้าในการทำเกษตรกรรม

การร่วมกันทำบุญผะเหวดของชาวอีสานจึงไม่ใช่การทำบุญสุนทรทานตามคติจากเรื่องพระมาลัยเท่านั้น แต่เป็นการสร้างสำนึกร่วมและบทบาทสมมติว่าตนคือชาวเมืองสีพี ที่ไม่มั่นใจว่าจะมีนํ้าทำนาหรือไม่ เพราะช้างปัจจัยนาเคนถูกพระเวสสันดรให้ทานไปแล้ว การเชิญพระเวสสันดรพร้อมช้างมงคลกลับเข้าเมืองจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล กิจกรรมแห่พระเวสสันดรเข้าเมืองจึงเป็นวาทกรรมที่ผลิตซํ้าเพื่อตอกยํ้าสำนึกร่วมของความเป็นคนในชุมชนเดียวกัน ที่ต้องพร้อมเผชิญปัญหาภัยแล้งร่วมกันด้วยพลังสามัคคี ซึ่งทุกคนได้ร่วมเป็นตัวละครที่ต้องผสานความสามัคคีเพื่อให้มีนํ้าฟ้าและนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชุมชนของตน

เสาคํ้าวัฒนธรรมอีสาน

เมื่อได้ทบทวนเรื่องราวของบุญข้าวทั้งในส่วนที่มองได้ด้วยตานอก และสะท้อนในส่วนที่ต้องสัมผัสด้วยตาใน ทำให้เห็นได้ว่าบุญข้าวไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนาที่งมงาย ฉาบฉวย แต่บุญข้าวเป็นพิธีกรรมเพื่อชีวิตทางสังคม (Social Life) ในหนึ่งรอบปีของคนอีสาน ชีวิตทางสังคมของชาวนาที่รอคอยนํ้าฟ้ามาโปรด แบบแผนพิธีกรรมของบุญข้าวที่แตกต่างหลากหลาย ต่างมุ่งเน้น ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนมั่งคั่งของชุมชน

ปัจจุบันการจัดงานบุญประเพณีที่เคยมีมากำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นท่ามกลางกระแสโหยหาอดีต บ้างก็เป็นประเพณีประดิษฐ์เพื่อติดตาทาบกิ่งสำหรับการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อชุมชนอย่างน้อยนิด และต้องติดกับดักอยู่เพียงรูปแบบที่ผิวเผินในมโนภาพว่าต้องยิ่งใหญ่ สวยงาม เพราะการแทรกแซงจากคนนอก การวัดผลสำเร็จจากยอดเงิน แล้วเลิกราจบลงด้วยขยะกองโต ชุมชนยังคงยากจนอดอยากแตกแยก ยิ่งทำยิ่งเต็มไปด้วยปัญหาทางสังคมแบบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ในขณะที่งานบุญประเพณีในอดีต เช่น บุญข้าวที่ได้ยกมานั้น มีรากเหง้าที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งคติผี พราหมณ์ และพุทธ แต่ทั้งหมดมุ่งเน้นตอบสนองความเข้มแข็งของชุมชน สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันนี้ ความสำเร็จวัดได้จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนที่ไม่ใช่การจัดตั้ง และเลิกราจบลงด้วยการเรียนรู้ในบรรทัดฐาน ค่านิยมกฎระเบียบ อันเป็นแก่นสารสำคัญของวัฒนธรรมชุมชน

หากเราเข้าใจเรื่องราวของ “บุญข้าว” ว่าไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อโลกหน้าที่ห่างไกล แต่มีเป้าหมายเพื่อชีวิตในโลกนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชน เห็นความเชื่อมโยงของข้าวทั้งในส่วนของการผลิต การแปรรูป ความเชื่อและประเพณี จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมข้าวที่มีคุณค่าทั้งต่อร่างกายและจิตใจชาวอีสาน

การเรียนรู้เรื่องราวของบุญข้าว ในฐานะเครื่องมือสำคัญของการสร้างพลังชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน ทำให้ชุมชนสามารถหยัดยืนอย่างท้าทายต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของโลกาภิวัตน์ ที่ถั่งโถมเข้ามาอย่างบ้าคลั่งอย่างไม่ปราณีใคร ผู้เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะอยู่รอด เราจึงควรกลับมาตั้งหลักคิดติดอาวุธทางปัญญา ศึกษาเรื่องราวของ “มังมูน บุญข้าว” อันเป็นเสาคํ้าวัฒนธรรมอีสานที่จะทำให้เราไม่หงายหลังพังพับจนยับเยินเกินเยียวยา

Related Posts

ถั่วเหลือง ถั่วแระ และถั่วเน่า
คันไถโบราณ ตํานานและความเชื่อของชาวนา
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com