ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน

ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสานหลายใบ มีภาพเล่าเรื่องนิบาตชาดกสลักตกแต่งอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ในจำนวนนิบาตชาดกมากมายหลายร้อยเรื่องพบว่าทศชาดก หรือชาดก ๑๐ ชาติสุดท้าย ได้รับความนิยมมาก เตมีย์ชาดกซึ่งเป็นชาดกเรื่องแรกในกลุ่มทศชาติ เป็นหนึ่งในเรื่องที่นำมาสลักไว้บนใบเสมาค่อนข้างมาก เช่น ใบเสมาจากเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ, ใบเสมาจากบ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ และใบเสมาที่วัดโนนศิลาอาสน์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

เรื่องราวโดยย่อของเตมีย์ชาดกมีว่า… พระโพธิสัตว์ (อดีตชาติของพระพุทธเจ้า) เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ เป็นพระโอรสของพระเจ้ากาสิกราชแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่งเมื่อยังทรงพระเยาว์ได้เห็นพระราชบิดาสั่งให้ลงโทษโจร ๔ คนอย่างทารุณพระองค์จึงสะดุ้งกลัวยิ่งนักและระลึกชาติได้ว่าพระองค์เคยเป็นพระราชาและทำบาปกรรมไว้มากส่งผลให้พระองค์ต้องตกนรกถึงแปดหมื่นปี ในชาตินี้พระองค์จะต้องเป็นกษัตริย์อีกในภายหน้าอย่างแน่นอน และจะต้องกระทำบาปกรรมเช่นเดียวกับพระบิดาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลที่สุดก็ต้องตกลงสู่นรกเมื่อดำริเช่นนี้แล้วจึงไม่ปรารถนาที่จะครองราชย์สมบัติอีกต่อไป จึงนึกหาอุบายวิธีที่จะไม่ต้องขึ้นครองราชย์สมบัติ

ในที่สุดพระเตมีย์จึงแสร้งทำเป็นคนง่อย หูหนวก และเป็นใบ้ แม้จะถูกทดสอบอย่างไรก็ไม่แสดงพิรุธให้ทราบว่าตนเป็นคนปกติ ตราบกระทั่งมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พวกพราหมณ์ได้ทำนายว่าพระองค์เป็นกาลกิณี พระเจ้ากาสิกราชจึงตรัสมอบหมายให้นายสารถีออกราชรถเพื่อนำพระเตมีย์ไปฝังที่ป่าช้า

ขณะที่นายสารถีกำลังขุดหลุมนั้น พระเตมีย์เห็นว่าความปรารถนาของพระองค์ใกล้เป็นสัมฤทธิ์ผลแล้ว พระองค์จึงอยากทดลองกำลังว่ายังดีสมบูรณ์เพียงใด จึงทดลองด้วยการยกราชรถขึ้นนายสารถีเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็ตกใจ พระองค์จึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมทั้งเทศนาสั่งสอนธรรมเรื่องการไม่ประทุษร้ายต่อมิตร จากนั้นพระองค์จึงได้ออกบวชและอาศัยอยู่ในป่า

เมื่อความทราบถึงพระเจ้ากาสิกราชว่าพระเตมีย์มิได้เป็นง่อย หูหนวก และเป็นใบ้แต่อย่างใด ก็ทรงโสมนัสยินดี จึงให้จัดเตรียมการอภิเษกพระเตมีย์ไว้ในราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จไปตามพระโอรส เมื่อพบว่าพระเตมีย์ผนวชเป็นฤาษีก็พยายามอ้อนวอนให้กลับไปยังพระราชวังเพื่อครองบ้านเมือง แต่พระเตมีย์ได้ตอบปฏิเสธและเทศนาธรรม จนทำให้พระเจ้ากาสิกราชและข้าราชบริพารที่ติดตามมาต่างเลื่อมใสศรัทธา พากันออกบวชในสำนักของพระเตมีย์…

ตามปกติแล้วงานพุทธศิลป์ไทยทั่วไปจะนิยมนำเหตุการณ์ที่พระเตมีย์กำลังยกราชรถด้วยพระกรข้างเดียวมาถ่ายทอด ทว่าภาพสลักบนใบเสมาสมัยทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะไม่นิยมทำฉากดังกล่าวนี้ แต่จะนิยมฉากที่พระเตมีย์เทศนาสั่งสอนธรรมแก่สารถี

ภาพเตมีย์ชาดกจากเมืองฟ้าแดดสงยาง สื่อถึงฉากที่พระเตมีย์เทศนาสั่งสอนธรรมแก่นายสารถีโดยพระเตมีย์อยู่ในอิริยาบถยืนอยู่ทางขวาและก้มมองไปยังนายสารถี ส่วนนายสารถีอยู่ในท่าคุกเข่าในมือถือเสียมขุดดิน หันมามองพระเตมีย์ด้วยความตกใจ เบื้องหลังมีต้นไม้เพื่อสื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในป่า สำหรับภาพเตมีย์ชาดกจากวัดโนนศิลาอาสน์มีรายละเอียดแตกต่างไปเล็กน้อย คือ พระเตมีย์ประทับยืนอยู่ตรงกลาง เบื้องขวาเป็นราชรถเทียมม้า เบื้องซ้ายเป็นนายสารถีกำลังนั่งและหันมามองพระเตมีย์ ในมือยังคงถือเสียมขุดดิน

ใบเสมาสลักภาพเตมีย์ชาดก จากเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ใบเสมาสลักภาพเตมีย์ชาดก จากวัดโนนศิลาอาสน์ อำเภอ บ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ภาพเตมีย์ชาดกที่สลักบนใบเสมาเป็นสิ่งสะท้อนให้ทราบว่า ผู้คนในอีสานเมื่อราว ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา รู้จักเรื่องราวชาดกเป็นอย่างดีแล้ว คำสอนเรื่องการไม่ประทุษร้ายต่อมิตรที่พระเตมีย์สั่งสอน นายสารถีคงเป็นที่เชื่อถือของผู้คนสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย

Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)
ขับ ลำ เพลงลาว
คุยเรื่องพริกกับคนช่างสงสัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com