เมื่อม้ากัณฐกะไม่ได้มีสีขาวปลอดและม้าเฝ้าอุรังคธาตุน่ะมีสี

เมื่อม้ากัณฐกะไม่ได้มีสีขาวปลอดและม้าเฝ้าอุรังคธาตุน่ะมีสี


ฮูปแต้มตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จภิเนษกรมณ์ ช่างมักจะวาดภาพม้าขาว

ม้าและมนุษย์มีความผูกพันกันมากว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว ในวรรณกรรมต่าง ๆ ม้ายังเป็นตัวละครที่ช่วยเสริมอรรถรสด้วย เห็นในแต่ละเรื่องมีอภินิหารเป็นสุดยอดอาชาที่เก่งกล้าสามารถ แต่ก็ใช่ผู้แต่งจะเขียนบรรยายลักษณะกันเรื่อยเปื่อยนะ เชื่อไหมว่าเขามีการอ้างอิงตำราไม่ต่างจากนักเขียนนิยายสมัยใหม่เลยเชียว ตำราที่ว่านั่นคือ “ตำราม้าของเก่า” และ “ตำราม้าคำโคลง”

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเล่าถึงตำราม้านี้ว่า “หนังสือตำราม้าของไทยเราที่พบเห็นมาก มี ๓ ตำรา คือ ตำราลักษณะม้าเขียนรูปสีเขียวสีแดงแลสีอะไรต่าง ๆ แลมีโคลงแต่งบอกลักษณะไว้ประจำรูป นี้ตำรา ๑ ตำรา หัดม้า เขียนรูปม้าแลบอกวิธีผูกเชือกระยางล่ามเท้าแลปากม้า ที่จะฝึกให้มาวิ่งเรียบนี้ ๑ ตำรา เพลงทวนเขียนเป็นรูปเส้นทางสำหรับชักม้าเดินเพลงทวนกระบวน ต่าง ๆ นี้ตำรา ๑ ที่ในหอพระสมุดวชิรญาณมีแต่ ๓ ตำรานี้มาช้านาน ครั้นภายหลังหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ตำราม้าของเก่ามาอีกฉบับ ๑ เป็นหนังสือชุดเดียวกัน ๓ เล่ม สมุดไทยขนาดบาง ๆ เล่มหนึ่ง ว่าด้วยลักษณะม้า เล่ม ๒ ว่าด้วยวิธีขี่ม้า เล่ม ๓ ว่าด้วยตำรายาม้า สังเกตดูถ้อยคำเห็นจะเป็นหนังสือเก่าแต่งมาช้านาน ตัวตำราฉบับที่ได้มาฝีมือที่เขียนตัวรง เข้าใจว่าเขียนเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ตำราม้าฉบับนี้ เห็นจะเป็นของผู้ใดผู้หนึ่งที่เอาใจใส่ในวิชาม้ามาแต่ก่อน ได้เลือกเก็บความจากหนังสืออื่น ฤาจำคติที่ได้ยินได้ฟังจากที่อื่น ซึ่งถือว่าเป็นของจริง ของดีมาเรียบเรียงไว้ แต่จะจริงหรือจะดีเพียงใด กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณรับรองไม่ได้อยู่เอง รับรองได้แต่ว่าตำรานี้เป็นหนังสือเก่าแลเป็นหนังสือแปลกซึ่งพึ่งพบฉบับเดียว”

เอาล่ะ! เข้าเรื่องกันดีกว่า ถ้าพูดวรรณกรรมทางพุทธศาสนา สุดยอดอาชาที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ใครที่ได้เรียนหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา ๑๐๑ จะต้องรู้จัก เพราะเป็นตัวละครหนึ่งที่สำคัญของพุทธประวัติ ในตอนมหาภิเนษกรมณ์…“ม้ากัณฐกะ” เป็นพาหนะวิเศษที่พาเจ้าชายสิทธัตถะหลบออกจากเมืองไปพร้อมนายฉันนะ

เท่าที่เห็นตามภาพจิตรกรรมฝาผนัง ช่างมักจะวาดเป็นภาพม้าสีขาวปลอด ด้วยนิสัยของคนจิตไม่ว่าง ฉันจึงลองสืบค้นดูว่าลักษณะของม้ากัณฐกะนั้นเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่วาดกันเช่นนั้นหรือไม่ ก็พบว่าบางอ้างอิงก็บอกสั้น ๆ บางอ้างอิงก็บอกยาว ๆ แน่ะมีอย่างนี้ด้วย

ฉบับที่บอกสั้น ๆ กล่าวว่า “ม้ากัณฐกะ ตัวยาว ๑๘ ศอก ส่วนสูงพอสมควรแก่กัน มีสีขาวดังสังข์ที่ขัดใหม่”

ส่วนฉบับยาวนั้นกลับมีข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมาดังนี้ “ม้ากัณฐกะ ตัวยาว ๑๘ ศอก ส่วนสูงพอสมควรแก่กัน มีสีขาวดังสังข์ที่ขัดใหม่ ศีรษะดำเหมือนสีแห่งกา ผมที่หน้าผากขาวเหมือนไส้หญ้าปล้อง มีกำลังมาก สมเป็นราชพาหนะของพระเจ้าจักรพรรดิ

ลองถามอ้างอิงชนิดบุคคลอย่างพระอาจารย์ไพวัน มาลาวง พระนักคิดนักเขียนจากฝั่ง สปป.ลาว ว่าทางบ้านอาจารย์มีการกล่าวถึงลักษณะของพญาม้านี้ไว้หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่า “บ่มี” ฉันจึงต้องเรียกหาตัวช่วย… “ตำราม้าของเก่า” จึงถูกหยิบมาพลิกอีกครั้ง

ตำราฉบับนี้กล่าวถึงที่มาว่า “…เดิมพระอัศมุขีฤาษีเป็นบุตร จันทิมาเป็นบิดา สุริยเป็นมารดาและพระอัศมุขีองค์นี้ทิวากลางวันเธออาศัยในประทุม ฉัตทันต์รัต์ตี ครั้นเพลาราตรีเธออาศัยในยอดกลีบเมฆ พระองค์จึ่งนำลักษณะม้าสำแดงไว้ม้ามี ๔ ตระกูล หนึ่งชื่อเวลาหกะ ๑ ชื่ออัสสาชาไนย ๑ ชื่อสินธพ ๑ ชื่ออัศดร ๑ จึ่งสืบกันมาบัดนี้แลฯ”

ตามตำราม้าของเก่านี้แบ่งลักษณะม้าออกเป็นลักษณะม้าเอก ลักษณะม้าโท ลักษณะม้าโทเสนาราช (เข้าใจว่าคือลักษณะม้าตรี) และลักษณะม้าจัตวา

 

ลักษณะม้าเอกที่ควรด้วยพระมหากษัตริย์ตามตำราม้าของเก่า และเป็นม้าในตระกูลพลาหกมงคล ๒ลักษณะม้าอาชาไนยตามตำราม้าคำโคลง

ซึ่งลักษณะม้าเอกในตำราฉบับนี้มี ๗ อย่างโดยลำดับแรกข้อความว่า “อย่างหนึ่งขาวล้วนเศียรดำ ท่านว่าประเสริฐ สมควรด้วยพระมหากษัตริย์” ซึ่งตรงกับลักษณะที่บรรยายไว้แบบยาว

ส่วนข้อที่บรรยายลักษณะสั้น ๆ ที่กล่าวเพียงกายสีขาวดั่งสังข์ขัดใหม่นั้น ไปตรงกับลักษณะม้าโท ๑๕ อย่าง ในลำดับที่ ๑๐ ชื่อสังข์มีสีขาวล้วน หูเล็ก มีขนละเอียดอ่อน ยามเมื่อนอนถ้าได้ยินเสียงนกก็ตื่น

ถ้าเปรียบเทียบความสำคัญโดยไม่ลำเอียงตามท้องเรื่องม้าที่เหมาะกับมหาบุรุษผู้มาโปรดเวไนยสัตว์ จึงน่าจะเป็นลักษณะม้าเอกที่ควรด้วยพระมหากษัตริย์ เสียมากกว่าม้าลักษณะโทที่คุณสมบัติด้อยกว่า

สำหรับในตำราม้าคำโคลงที่แบ่งตระกูลแห่งม้าออกเป็น ม้าทิพย์๔ ม้าพลาหกมงคล๒ ม้าสินธพ๘ และม้าพลาหก๑๔ นั้น ม้ากัณฐกะมีหน้าตาไปตรงกับลักษณะม้าของบูรรนยักษ์ ซึ่งเป็นม้าในตระกูล พลาหกมงคล ๑ ใน ๒ ลักษณะ ดังโคลงว่า

“ม้าบูรรนยักษ์ไซร์        มหิมา

กายผ่องเพียงสังข์ปรา- กฎแท้

ศีรษะดังปีกกา               ดำขลับ

เชื้อชาติพลาหกแล้       กล่าวเบื้องบาลีฯ”

ซึ่งนิสัยของม้าพลาหกทั้ง ๒ ลักษณะนี้มีความกล้าหาญ มีฤทธิ์เดช เหาะรอบจักรวาลได้รวดเร็ว มีความห้าวคะนองดั่งชายหนุ่ม ดังโคลงว่า

“ทั้งสองพลาหกนี้                ฮึกหาญ

ฦาเดชฦาฦทธิชาญ               ทั่วด้าว

เหาะรอบขอบจักรวาล            เร็วรวด

เฉกหนึ่งชายคะนองห้าว           แกว่งดุ้นเพลิงเวียนฯ”

คุณวิเศษและรูปร่างหน้าตาของม้ากัณฐกะจึงน่าจะเป็นไปในลักษณะนี้

บทความเล่ามาถึงตอนนี้เหมือนจะจบแต่ก็ยังไม่จบ เพราะยังมีวรรณกรรมทางพุทธศาสนาอีกเรื่องที่โด่งดังไม่แพ้เรื่องนี้ ถ้าไม่เล่าก็คงจะรู้สึกค้าง ๆ คา ๆ เป็นตำนานที่มีชื่อเสียงมากบริเวณ ๒ ฝั่งแม่น้ำโขง ลองเดากันดูว่าเรื่องอะไร ถ้าเดาไม่ถูกก็เขยิบมาฉันจะเฉลยให้ฟัง ก็ตำนาน “อุรังคธาตุนิทาน” ไงเล่า

อุรังคธาตุนิทานเป็นวรรณกรรมที่สันนิษฐานว่าเรียบเรียงขึ้นโดยพระยาศรีไชยชมพูข้าราชสำนักในพระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราชเล่าถึงตำนานนาค รอยพระพุทธบาท พุทธทำนาย การสถาปนาพระอุรังคธาตุ รวมถึงการสร้างเมืองเวียงจันทน์ เป็นต้น

แล้วตำนานการสร้างพระธาตุพนมอันแสนพิสดารนี้เล่าถึงม้าตรงไหน เอาล่ะ! เปิดหนังสือพร้อมกัน ไปที่บั้นการสถาปนาพระอุรังคธาตุ ในตอนนี้กล่าวถึงว่า “…หลังจากสถาปนาจนเรียบร้อยสมบูรณ์ พญาสุวรรณพิงคารได้สร้างรูปม้าอาชาไนย ไว้ตัวหนึ่งให้ผินหน้าไปทางทิศเหนือ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระบรมธาตุได้เสด็จมาทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากทิศเหนือเจือมาใต้

“ส่วนพระมหากัสสปะเถระ ให้คนสร้างรูปม้าพลาหก ไว้อีกหนึ่งตัวเป็นคู่กัน ให้ผินหน้าไปทางเหนือเช่นเดียวกัน และเพื่อเป็นปริศนาให้รู้ว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวัสสา”

ปัจจุบันม้าศิลาทั้งคู่ตั้งอยู่ข้างบันไดทางขึ้นพระวิหารหอพระแก้วทางทิศเหนือ ๆ แต่ในเนื้อเรื่องก็บอกเพียงชื่อไม่ได้บอกรูปร่างหน้าตาไว้ต่อมความอยากรู้ของฉันเริ่มทำงานอย่างแข็งขันอีกครั้ง หนังสือโบราณที่วางไว้ใกล้มือจึงถูกหยิบออกมาอย่างทันท่วงที

แรกคือม้าอาชาไนยศิลาที่พญาสุวรรณภิงคารสร้างขึ้นปรากฏใน ตระกูลสินธพ๘ มี ๘ ลักษณะ คือ

 

“อาชาไนยนาถท้าว         กุฎกัณ

สีเฉกน้ำอ้อยอัน              หยาดย้อย

รู้เหตุใช่เหตุสรรพ์            สามารถ

เดียวแต่ตนสู้ร้อย             พ่ายแพ้เดชาฯ”

หมายถึงม้าอาชาไนยเป็นม้าของท้าวกุฎกัณมีสีเหมือนน้ำอ้อย มีความแสนรู้ ตัวเดียวสามารถสู้ศัตรู ๑๐๐ คน ให้พ่ายแพ้ได้

โชคดีที่การสืบค้นลักษณะของม้าอาชาไนยซึ่งเปิดตำรามาก็เจอได้เลย แต่ปัญหามาตกอยู่ที่ม้าพลาหกนี่เอง เพราะจากตำราม้าคำโคลงพลาหก นี้เป็นตระกูลหนึ่ง ซึ่งมี ๑๔ ลักษณะ มีสีสันที่แตกต่างกันไป ไม่รู้ตัวไหนเป็นตัวไหน นักวิทยาศาสตร์อย่างฉันก็ไม่อยากคาดเดา

จำได้ว่าในตำราม้าของเก่า กล่าวถึง ม้าลักษณะโท ๑๕ อย่าง ซึ่งลำดับที่ ๑๑ กล่าวถึงม้าชื่อ พลาหก ว่ามีกำลังมาก สีขาวทั้งตัว

เมื่อเปิดหาภาพม้ากายขาวปลอดในตระกูลพลาหก กลับมีชื่ออื่นว่าเพชรมณี จึงละไว้ก่อนเพราะยังไม่มั่นใจ ไปตรวจดูคุณลักษณะโดยสรุปของม้าตระกูลนี้แทน

ซึ่งจากคำโคลงได้สรุปลักษณะของม้าในตระกูลพลาหก ๑๔ ไว้อยู่ว่า

“พลาหกสิบสี่ล้วน          สีสรรพ์ ต่างนา

เหินรอบจักรวาลผัน         แต่เช้า

คืนลุที่สถานอัน               สิงสถิต

สุริเยศบทันเท้า               เที่ยงพ้นเพลาฯ

สิบสี่แม้ร่านร้อน              โกลา

เสียงหนึ่งกลโกญจา        เรื่อยร้อง

สรวลศัพท์กรวิกร             ดุเหว่า ไซร้แฮ

กลองอีกแตรสังข์ฆ้อง      เพราะพริ้ง ควรผดงุ ฯ”

มีความหมายว่า “ม้าตระกูลพลาหกมีสีสันต่าง ๆ สามารถเหาะได้อย่างรวดเร็ว ๑ รอบจักรวาลใช้เวลาไม่นานก็กลับคืนสู่ที่อยู่ แม้พระอาทิตย์ก็ยังไม่อาจตามฝีเท้าได้ทัน

ม้าทั้ง ๑๔ มีความคึกคัก มีเสียงดังกึกก้องแต่ก็ไพเราะเหมือนเสียงนกดุเหว่าร้อง รวมถึงเสียงเหมือนวงมโหรีที่มีกลอง แตร สังข์ และฆ้องซึ่งมีความไพเราะก็ควรเลี้ยงไว้

ที่เล่ามานี้จึงเป็นลักษณะของม้าศิลาที่พระยาสุวรรณภิงคารและพระมหากัสสปะได้สร้างเป็นอนุสรณ์ไว้ ซึ่งทำให้อดคิดเล่น ๆ ไม่ได้ว่าบางทีวัดโบราณในภาคอีสานที่สร้างม้าไว้ที่บันไดทางขึ้นสิมแทนพญานาค อย่างสิมวัดไชยศรีในอดีต จะเป็นเพราะได้รับอิทธิพลมาจากวัดพระธาตุพนมหรือไม่

นอกจากเรื่องราวที่เล่ามายังมีม้าวิเศษที่ปรากฏในปัญญาสชาดกอย่างม้ามณีกาก จากเรื่องสุธนูชาดก ม้าของท้าวพรหมทัต และ ม้ามณีกักขะ จาก สินนุราชคำกาพย์ เป็นต้น

จากเรื่องราวที่ยกมานี้สิ่งที่สังเกตเห็นไม่เพียงเป็นการดูลักษณะม้าเล่นเพลิน ๆ เท่านั้นแต่ยังได้ข้อสันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่งตำราม้าฉบับนี้อาจใช้แพร่หลายทั้งในดินแดนสยาม ล้านนาและล้านช้างก็เป็นไปได้ ส่วนจะคาบเกี่ยวไปทางเขมรด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่แน่ใจเพราะในโคลงพบเพียงคำศัพท์บางคำที่เป็นคำเขมร ซึ่งอาจนำมาใช้เพื่อความคล้องจองเท่านั้นก็ได้ ถ้าเจอหลักฐานอ้างอิงเพิ่มเติมจะมาเล่าให้อ่านกันใหม่ในครั้งหน้าค่ะ

ม้าอาชาไนยศิลาที่วัดพระธาตุพนม คาดว่าที่พระยา สุวรรณภิงคารใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงปริศนาธรรม เนื่องจากมีอดีตพระพุทธเจ้าถึง ๖ พระองค์ ที่ใช้ม้า อาชาไนยเป็นพาหนะในการออกบรรพชาบันไดทางขึ้นสิมวัดไชยศรีเดิม ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นบันไดนาค ภาพถ่ายจากสไลด์ของอ.ไพโรจน์ สโมสร ในงานประชุมวิชาการภาพถ่ายอีสานช่วงสงครามเย็น

อ้างอิง

ประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนมและภาพโบราณวัตถุค่ามหาศาลในกรุพระธาตุพนม. (2522). วัดพระธาตุพนม. พิมพ์ที่บริษัท จูน พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 248 หน้า.

ตำราม้าของเก่า (ไม่ปรากฏผู้แต่ง)

ตำราม้าคำโคลง (ไม่ปรากฏผู้แต่ง)

h t t p s : / / b u d d h a f a c t s . w o r d p r e s s .com/2015/08/27/ม้ากัณฐกะ/. 30/5/2562.tripitaka.fandom.com. 9/6/2562.

 

 

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com