ตำนานพญาศรีโคตรตะบอง

ศรีโคตรบูร, ศรีโคตรตระบอง เป็นชื่อเฉพาะเรียกชื่อคนและเรียกชื่อรัฐ ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องชื่อคนเท่านั้น

ตำนานพญาศรีโคตร, พญาศรีโคตรตระบอง, ພະຍາສີໂຄດຕະບອງ เป็นตำนานร่วมกันทั้ง แขมร, สยาม, ลาว เรื่องราวในตำนานคล้ายคลึงกัน พิจารณาแล้วน่าจะสะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ช่วง “มืดมน” คือช่วงล่มสลายของ “ยุคพระนครหลวง” (ยโศธรปุระ – นครธม) ร่วมสมัยกับการรุ่งเรืองขึ้นมาของรัฐที่ปกครองโดยชาวสยาม-ลาว

จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าไว้ใน ตำนานแห่งนครวัด (ฉบับพิมพ์ล่าสุด โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง) ว่า “๔. ถัดจากสมัยศรีนทรวรมัน คือนับแต่ พ.ศ. ๑๘๕๐ ลงมา คือสมัยของกษัตริย์ศรีนทรวรมัน และชยวรรมปรเมศวร เรื่องราวปีเริ่มแรกของสมัยชยวรรมปรเมศวร คือตั้งแต่ปี ๑๘๗๐ ในระยะนี้เองคือระยะแห่งการจลาจลของทาส เรื่องพระยาตะบองทยุงและพระยาแกรกอยู่ในระยะนี้”

ตำนานพญาศรีโคตรตระบอง ปรากฏในพระราชพงศาวดารกัมพูชา ฉบับนักองค์นพรัตน์ พ.ศ.๒๔๒๐ (นัยว่าได้เค้าเรื่องไปจาก “พระราชพงศาวดารเหนือ” ด้วย), พระราชพงศาวดารเหนือ(เรื่องพระยาแกรก), ตำนานเมืองพิจิตร (พระยาศรีโคตรเทวราช), ตำนานเมืองศรีสะเกษ, ตำนานพะยาสีโคดตะบอง ของลาว และแม้กระทั่งในความทรงจำของเชลยศึกอยุธยาที่พม่า จับไปอยู่พม่า เช่น “คำให้การชาวกรุงเก่า” เป็นต้น

เมื่ออ่านตำนานเรื่องพญาศรีโคตรตะบอง โปรดอย่าลืมว่า ชื่อนี้เป็นตำนาน มิใช่ชื่อบุคคลคนใดคนหนึ่งคนเดียว ทำนองเดียวกับชื่อ “พระร่วง”, “พระเจ้าอู่ทอง” เป็นนามที่นิยมใช้ในตำนานของภาคกลาง เป็นบุคลาธิษฐานถึงบุคคลหลายคน มิได้หมายถึงใครคนหนึ่งคนเดียว

พื้นสืบ (ตำนานอิงประวัติศาสตร์ลาว) เรื่อง “ศรีโคตรตะบอง” ພະຍາສີໂຄດຕະບອງ

“ครั้งหนึ่งดนนานมาแล้ว มีครอบครัวหนึ่งที่ทุกข์ยากมีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า ท้าวศรี เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง ถึงพ่อแม่จะทุกข์ยากแต่ก็เป็นห่วงอนาคตของลูกชาย จึ่งได้นำเอาลูกชายไปบวชอยู่วัดแต่อายุ ๑๐ ขวบ จนท้าวเซียงอายุได้ ๑๘ ปี ก็ลาสึกออกเป็นฆราวาสไปเป็นเซียงศรี อยู่เรือนเลี้ยงพ่อ แม่ที่เฒ่าแก่แล้ว

พ่อกับแม่จึ่งนำเอาเซียงศรีไปมอบเป็น ข้อยข้ารับใช้อยู่เฮือนพญา (ชื่อเมืองใดบ่ปรากฏ) หน้าที่ของท้าวเซียงศรี คือไปตัดหญ้าเลี้ยงช้างม้า และไปตักนํ้ามันยางมาเฮ็ดกระบองไต้ อยู่เรือนพญามีข้อยข้าม้าใช้หลายสิบคน บางมื้อเซียงศรีก็ถูกสั่งให้ไปตัดหญ้าเลี้ยงช้างม้า บางมื้อก็ถูกสั่งให้ไปดงใหญ่กับหมู่เพื่อไปตัดเอาฟืน ย้อนว่าเซียงศรีมีรูปร่างบอบบางหมู่คนใช้ด้วยกันจึ่งคิดอิดู (เอ็นดู) ตนชาติ จึงมอบให้เซียงศรีเป็นผู้นึ่งข้าวแต่งกินท่า (รอ) หมู่อยู่บ่อนพักเซากลางดง ส่วนพวกหมู่ก็ออกซอก (ค้น) หาไม้ยาง

เซียงศรีได้ออกไปกับขบวนตัดไม้ยางหลายเทื่อแล้ว และเทื่อใดก็มีแต่เป็นผู้นึ่งข้าวแต่งกิน เทื่อนี้ก็เช่นเดียวกัน พอหวดข้าวออกอายสุกดีแล้ว แต่บ่มีไม้กะด้ามวีข้าว ท้าวเซียงศรีจึ่งเอาพร้าตัดเอาไม้มาเฮ็ดเป็นไม้กะด้ามวีข้าว เหลียวซอกหาอยู่ใกล้เคียงนั้นก็บ่เห็นมีง่าไม้ใดพอจะเอามาเฮ็ดเป็นไม้กะด้ามได้ ขณะนั้นจึ่งแนมไปเห็นตอไม้ที่ถูกตัดแล้วแต่ดนเป็น ตอดำขนาดสามคนอุม้ (ตอกกติ้วดำ) มีง่าหนึ่งชี้ออกมาเท่ากับแขน มีแง่หนึ่งเท่ากับกกขาโต้ ท้าวเซียงศรีก็บ่คิดสงสัยอันใด เพราะญ้าน (กลัว) ข้าวสุกจะเหลวโพด (มาก) จึ่งฟ้าว (รีบ) ตัดเอาง่าไม้เท่ากับแขนนั้นไปถาก แล้วก็เอาไปสว่ายข้าวอยู่กับหวดนั้นโลด พอแต่ท้าวเซียงศรีเอาไม้กะด้ามสว่ายข้าวถูกบ่อนใดเข้าบ่อนนั้นก็ดำปี้ปานขี้ถ่านไฟทันทีโลด ดังนั้นลาวจึ่งบ่เอาไม้กะด้ามสว่ายข้าวตื่ม (อีก) ลาวฟ้าวกอบเอาข้าวดำนั้นออกไปไว้ข้างนอกด้วยความตกใจข้าวที่ดำนั้นได้ประมาณปั้นใหญ่หนึ่ง ท้าวเซียงศรีแกว่งไม้กะด้ามถิ้ม (ทิ้ง) แล้วตัดสินใจเอามือวีข้าว

ข้าวนึ่งแต่ละเทื่อก็เพียงพอให้ทุกคนได้กินจนอิ่ม ท้าวเซียงศรีคิดว่า ถ้าจะเอาข้าวที่ดำนั้นถิ้ม (ทิ้ง) แล้วพากันกินส่วนที่ดีก็อาจจะบ่พอกันกิน ท้าวเซียงศรีจึงตัดสินใจกินข้าวดำปั้นนั้น

พอแต่ท้าวเซียงศรีกินข้าวดำปั้นนั้นหมดก็รู้สึกว่าร่างกายเกิดมีกำลังวังชาอย่างน่าแปลกประหาดจึ่งลองเอาไม้กะด้ามลำเท่าแขนนั้นมาหักเบิ่ง ก็เห็นว่าหักได้โดยง่าย จากนั้นลองยู้กกไม้ลำเท่าตัวคนเบิ่งกกไม้ก็ล้มลงอย่างง่ายดาย ท้าวเซียงศรีดีใจหลายจึงลองดึงง่ายูงใหญ่อยู่ใกล้นั้นเบิ่ง กกยูงทั้งต้นก็ก่องลงมา จึ่งคิดอยากหยอกพวกหมู่ท้าวเชียงศรีจึ่งก่องกกยางลง แล้วเอาติบข้าว (กล่องข้าว) ห้อยไว้ปลายยางใหญ่สูงจนแหงนคอติดหลัง จากนั้นท้าวเซียงศรีก็แต่งอยู่ครัวกิน (ทำกับข้าว) ท่า (รอ) หมู่ พอหมู่พากันหาบไม้ยางและหาบนํ้ามันยางมาแล้วก็เตรียมตัวกินข้าว ท้าวเซียงศรีแต่งอาหารแต่บ่มีติบข้าวใหญ่ที่ทุกคนเคยจกกินข้าวจึ่งถามท้าวเซียงศรี ท้าวเซียงศรีทั้งหัว (หัวเราะ) ทั้งชี้มือขึ้นปลายยุง ทุกคนแนมขึ้นไปเห็นติบข้าวห้อยอยู่ปลายยางใหญ่ก็ตกใจ

ในขณะที่หมู่คู่ทั้งตกใจทั้งแปลกใจอยู่นั้น ท้าวเซียงศรีก็ใช้มือก่องกกยางลงมาจนปลายถึงดิน แล้วจับเอาติบข้าวมาสู่หมู่กิน

ตั้งแต่นั้นมาชื่อเสียงของเซียงศรีก็ดังไปทั่วเมืองจนเฮ็ดให้พญาสนอกสนใจ พญาได้พาเซียงศรีไปคล้องช้างนำ พอเห็นช้างป่า ท้าวเซียงศรีก็ออกไปจับช้างมามอบให้พญาโดยง่าย จนพญาคิดว่าท้าวเซียงศรีบ่แม่นคนธรรมดา จึ่งนำเอาเรื่องนี้ไปทูลพระเจ้าแผ่นดินอยู่เวียงจัน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับศึกช้างพวมทำลายม้างเพอยู่นครเวียงจันพอดี ว่ามีฝูงช้างล้านตัวอาละวาดทำลายม้างเพเฮือนชาน และไล่ฆ่าประชาราษฎรไปทั่วเมือง

ท้าวเชียงศรีจึ่งขันอาสาไปปราบช้าง แต่ก่อนจะขึ้นไปเวียงจัน ท้าวเซียงศรีได้เข้าไปป่า ไปเอาง่าไม้ดำที่ใช้เฮ็ดเป็นไม้กะด้ามนั้นมาเฮ็ดเป็นค้อนกะบองถือเป็นอาวุธประจำตัว

ท้าวเซียงศรีสู้กับช้างนับเป็นล้านตัวอยู่นครเวียงจัน เสียงฟาดค้อนของท้าวเซียงศรีฟาดใส่หัวช้างดังปานเสียงภูผาถล่ม ปานฟ้าร้อง เมื่อถูกช้างตัวใดก็ฟ้งไปทั่วทีป บางตัวฟ้งข้ามนํ้าของไปก็มี

หัวหน้าช้างเห็นแนวนั้นจึงสั่งให้ฝูงช้างหยุด แล้วหัวหน้าฝูงช้างจึ่งเข้าสู้กับท้าวเซียงศรี ๓ วัน ๓ คืนหัวหน้าช้างจึ่งตาย แล้วพวกช้างที่ยังเหลือก็แตกเข้าป่า บ่ออกมาอาละวาดบ้านเมืองอีก

เจ้าแผ่นดินเวียงจันพอใจกับความเก่งกล้าสามารถของท้าวเซียงศรีหลาย จึ่งยกลูกสาวให้และแต่งให้ท้าวเซียงศรีเป็นพญาศรีโคตรตะบอง ทั้งมอบเมืองที่ท้าวเซียงศรีอยู่ให้เป็นเมืองศรีโคตรตะบองแต่บัดนั้นเมื่อพญาคนเก่าถูกปลดจากอำนาจก็มีความเสียใจ แล้วเกิดมีความอาฆาตผูกพยาบาทต่อพญาศรีโคตรตะบองหลาย จึงขึ้นไปเวียงจันปลุกปั่นหมู่คู่ที่เคยเป็นพญาด้วยกันว่า เดี๋ยวนี้พญาศรีโคตรตะบองอ้างว่าเป็นผู้เก่งกล้าจึ่งแอบฝึกกำลังเพื่อจะขึ้นมาตีเอาเมืองพ่อตาอยู่เวียงจัน

เมื่อเรื่องนี้เข้าไปถึงหูเจ้าแผ่นดินเวียงจัน จึงเกิดมีความญ้านกลัวหลาย จึ่งเรียกเอาลูกสาวที่เป็นมเหสีของพญาศรีโคตรตะบองขึ้นเมือปรึกษา

เพื่อเอาใจพญาศรีโคตรตะบอง เจ้าแผ่นดินเวียงจันจึงเปลี่ยนชื่อนครหลวงเวียงจันมาเป็น “นครล้านช้างเวียงจัน” เพราะลูกเขยปราบช้างได้หลายล้านตัว

พอมเหสีกลับมาอยูกั่บพญาศรีโคตรตะบองก็มีแต่ถามว่า พญาศรีโคตรตะบองเก่งกล้าสามารถหลาย บ่ฮู้ว่ามีอันใดเป็นจุดอ่อนเพราะนางจะเป็นผู้ระวังภัยช่วย พญาศรีโคตรตะบองบอกว่า อันตัวเฮานี้บ่มีอันใดจะทำลายให้ตายได้ ปืนผาหน้าไม้ ฟืนไฟหรือเอาจมนํ้าก็เฮ็ดให้ตายบ่ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะหลองเข้ารูเก่า

พอฮู้ดั่งนั้นแล้ว นางเขียวค้อมจึ่งฟ้าวขึ้นไปกราบทูลให้บิดาทรงทราบ พระเจ้าแผ่นดินล้านช้างเวียงจันจึงแต่งให้เสนาอำมาตย์แปงห่วงยนต์ “ห้างหอกอยู่ห้องถ่ายหนัก” พอก้อนอาจมตกลงถูกสายห่วงยนต์ ลูกห่วงยนต์ก็จะพุ่งขึ้นไปเสียบรูทวารทันที

พอห้างหากะเกียม (ตระเตรียม) ดีคักแน่แล้ว ก็อัญเชิญลูกเขยพญาศรีโคตรตะบองขึ้นไปเญี่ยมญาม (เยี่ยมยาม) ทั้งจัดห้องนอนห้องกินห้องถ่ายพิเศษให้

ตอนเช้าพญาศรีโคตรตะบองเข้าห้องถ่ายหนักลูกยนต์ก็พุ่งเข้ารูทวารตนฮอดคอหอย ก่อนพญาศรีโคตรตะบองจะขาดใจตายก็ได้สาปแช่งเอาไว้ว่า เมื่อใดพวกคนลาวบ่สร้างเมืองศรีโคตรตะบองให้รุ่งเรืองเวียงจันก็รุ่งเรืองบ่ไ ด้ และขอให้เมืองลาวนี้รุ่งเท่าช้างพับหู เท่างูแลบลิ้นเท่านั้น

จากนั้นพญาศรีโคตรตะบองก็ขาดใจตาย แล้วเสนาอำมาตย์จึ่งนำศพของพญาศรีโคตรล่องแพลงไปที่เมืองศรีโคตรเพื่อคบงันและเมี้ยนเผา

คำที่ว่า “เมืองศรีโคตรบูร” คนลาวอยู่ทางฝั่งซ้ายเอิ้นว่า “เมืองศรีโคตรตะบอง” ก็เพราะระลึกถึงท้าว เซียงศรีสามัญชนคนธรรมดา แต่มีความสามารถเก่งกล้าเหนือคน จนได้เป็นพญา และมีค้อนตะบองเพชรเป็นอาวุธ ส่วนคนลาวอยู่ทางฝั่งขวา มีความเห็นเอิ้นว่า “เมืองศรีโคตร” ก็แม่นระลึกถึงบุญคุณเพิ่น ส่วน “ตะบูน” ก็เพราะว่าที่ตั้งของเมืองอยู่ก้องนํ้าหินบูน (ก้อง : วัดจะนุกมพาสาลาว แปลว่า – อ่างนํ้าลึกที่ปลาอาศัย) ก็ควรจะเอาสายนํ้าเป็นสัญลักษณ์เหตุผล ได้กล่าวอยู่ในตำนานแล้วว่า “ศรีโคตรตะบอง” แม่นนิทานปรัมปรา กล่าวต่อกันมาบ่แม่นประวัติศาสตร์และบ่มีอยู่ในพงศาวดารลาว

นับแต่นั้นมา ชาวศรีโคตรตะบองจึ่งได้พร้อมเพรียงกันสร้างพระธาตุศรีโคตรตะบองขึ้น เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของเพิ่น แล้วพากันเคารพบูชามาจนถึงทุกวันนี้”

(ถ่ายคำจากหนังสือ แบบเรียนวรรณคดี ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๒ กระทรวงศึกษาธิการ สปป.ลาว ๒๐๑๑)

เรื่องพญาศรีโคตรตระบองในพงศาวดารกัมพูชานั้น ตอนเริ่มต้นคล้ายคลึงกับตำนานทางล้านช้าง คือ ตัวพญาศรีโคตรตระบองเดิมเป็นสามัญชน ถูกเกณฑ์ไปตัดไม้ในป่า เอาไม้งิ้วดำมาทำกระจ่าคดข้าว ทำให้ข้าวกลายเป็นสีดำ เมื่อกินข้าวสีดำนั้นเข้าไปทำให้มีพละกำลังมหาศาล

“จิตร ภูมิศักดิ์” เล่าเรื่องนี้ไว้ย่อ ๆ ในหนังสือ“ตำนานแห่งนครวัด” (ฉบับพิมพ์ล่าสุด โดย สำนักพิมพ์แม่คำผาง) ดังนี้

“พงศาวดารเขมรกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าสังขจักรสวรรคตแลว้ ก็ถึงสมัยของพระมหาจักรพัตราธิราชผู้เป็นโอรส พระมหาจักรพัตราธิราชครองราชย์อยู่นานก็สวรรคต พระราชบุตรซึ่งได้สืบสันตติวงศ์จึงเตรียมงานพระเมรุถวายพระเพลิงพระราชบิดา ได้ออกหมายสั่งให้เกณฑ์หัวเมืองต่าง ๆ ส่งไม้และซุงเข้ามายังกรุงศรียโศธรปุระเพื่อปลูกสร้างพระเมรุมาศ พวกเจ้าเมืองกรมการเกณฑ์อาณาประชาราษฎรไปตัดไมซุ้งไม้เสาในป่าในหมู่ประชาชนที่ถูกเกณฑ์นั้น มีการผลัดเวรกันหุงต้มอาหาร

“วันหนึ่งชายผู้รับเวรหุงต้มอาหารหากระจ่าคนข้าวไม่ได้ ก็ฉวยเอาไม้งิ้วดำที่ทิ้งอยู่ใกล้ ๆ มาคนหม้อข้าว ข้าวเลยดำไปทั้งหม้อ พอข้าวสุกก็คดออกมากินก่อน อารามอร่อยกินจนเกือบหมดหม้อ จึงต้องหุงขึ้นใหม่ พอสุกแล้วก็เอาหม้อใส่สาแหรกและเหนี่ยวกิ่งไม้ลงมาจะแขวนหม้อ แต่ปรากฏว่าต้นไม้เอนตามมือมา เห็นว่าต้นไม้อ่อนนักจึงเหนี่ยวกิ่งยางใหญ่ ต้นยางก็เอนลู่ลงมา แล้วเอาหม้อข้าวแขวนไว้ พวกตัดไม้กลับมาจะกินข้าว มองไม่เห็นหม้อข้าวหม้อแกงถามดูก็ได้ความว่าแขวนอยู่บนยอดยาง แล้วชายผู้นั้นก็เหนี่ยวต้นยางหยิบหม้อข้าวหม้อแกงลงมาให้พวกตัดไม้เลือกกินแต่ข้าวขาว ชายผู้นั้นกินข้าวดำหมดแต่ผู้เดียว

 “พวกที่ตัดไม้ทั้งปวงเห็นชายผู้นั้นมีเรี่ยวแรงเกินมนุษย์ ก็อัศจรรย์ใจและเกรงกลัว แล้วจึงพูดกันขึ้นว่า “ถ้ามีฤทธิ์ถึงเพียงนี้แล้ว จะเป็นเจ้าแผ่นดินมิดีหรือ ขอแต่ให้บรรดาพวกเราทุกคนได้รับความสุขอย่าได้ทุกข์ลำบากก็แล้วกัน” 

“ชายผู้นั้นก็ตอบว่าถ้าต้องการเช่นนั้นก็ต้องยกทัพไป แล้วตัดไม้ทยุงทำเป็นตะบองใหญ่เลยได้ฉายาว่าพระยาตะบองทยุง คือพระยาโคตรตะบอง จากนั้นก็พากันยกทัพไปยังนครหลวง คือกรุงยโศธรปุระบุกเข้าตีได้เมือง พระราชบุตรที่เตรียมงานพระเมรุก็ตกใจจนทิวงคต แต่พระราชบุตรีซึ่งเป็นน้องและมีสวามีเป็นเจ้านายในเชื้อพระวงศ์ ได้พาพระบรมวงศานุวงศ์หลบหนีไปอาศัยอยู่ตามป่าตามเขา รอดไปได้ พระยาตะบองทยุงก็ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์เปลี่ยนวงศ์ใหม่ ทรงนามว่า พระโคดมเทวราชครอบครองบ้านเมืองเป็นสุขสืบมา”

จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ว่าการต่อสู้โค่นล้มกษัตริย์โดย “พระยาตะบองทยุง” (บางที่เขียนว่าตะบองขยุง) เป็นการต่อสู้ปลดแอกของพวกทาสที่ถูกเกณฑ์แรงงานต่อเนื่องมาเกือบร้อยปีไม่หยุดหย่อน เฉพาะในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ รัชกาลเดียวก็มีการก่อสร้าง “มฤตกเทวาลัย” (เทวาลัยสำหรับกษัตริย์ หรือพระญาติวงศ์) ขนาดใหญ่มหึมาถึงสิบกว่าแห่ง เช่น ปราสาทนครธม, ปราสาทตาพรหม, ปราสาทบันทายกฎี, ปราสาทพระขรรค์, ปราสาทนาคพัน, ปราสาทตาโสม, ปราสาทบันทายฉมาร์, ประตูเมืองนครธม ๕ ประตู กำแพงและป้อมมุมเมือง ฯลฯ

“พงศาวดารเขมรเรื่องพระยาตะบองทยุง หรือพระยาโคตรตะบองนี้ นับว่ามีเค้าปรากฏได้ชัดเจนทีเดียว ว่าเป็นการลุกฮือขึ้นของพวกประชาชนที่ทนการเกณฑ์งานสร้างอะไรต่ออะไรของกษัตริย์ไม่ไหวตัวพระยาตะบองทยุงก็ดี กองทัพของเขาก็ดี ล้วนเป็นพวกทาสถูกเกณฑ์แรงงานทั้งนั้น” (จิตร ภูมิศักดิ์ : ตำนานแห่งนครวัด)

แต่เรื่องของพระยาตะบองทยุง (พระโคดมเทวราช) ยังไมจ่ บ เพราะยังมีการลุกขึ้นสู้ของราษฎรอีกกลุ่มหนึ่ง (จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ว่าเป็นกลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนา) ลุกขึ้นขับไล่พระยาตะบองทยุงจนต้องหนีไปล้านช้าง (ตามตำนาน) วีรบุรุษที่โค่นล้มพระยาตะบองทยุงนั้น ตามตำนานว่าเป็นเด็กพิการ ไทยสยามเรียกว่า “พระยาแกรก” (จะไปไหนต้องนั่งถัดไป เกิดเสียงกรากแกรก) ลาวเรียกว่า “ท้าวขาติด” (ดูเรื่อง “พระยาศรีโคตร : เมืองศรีโคตรบูร เมืองของสองฝั่ง เรืองจริงอิงตำนาน” – สุเนด โพทิสาน , เด่นชัย ไตรยะถา , ทองแถม นาถจำนง , ณรงค์ ชินสาร หนังสือ “น้ำของ : แม่น้ำโขง ณ นครพนม เล่ม II )

จิตร ภูมิศักดิ์ เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า

“เรื่องการต่อสู้ของประชาชนเขมรเพื่อปลดเปลื้องภาวะความเป็นทาสนั้น ยังมิได้สิ้นสุดลงที่พระยาตะบองทยุงหรือพระเจ้าโคดมเทวราชพงศาวดารเล่าต่อไปอีกว่า หลังจากพระยาตะบองทยุงตั้งตนเป็นเจ้าแล้วไม่นาน โหราจารย์ก็ทำนายว่าผู้มีบุญได้เข้ามาถือกำเนิดในครรภ์มารดาแล้วพระยาตะบองทยุงเกรงว่าต่อไปภายหน้าผู้มีบุญจะแย่งชิงราชสมบัติจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาคลอกไฟแต่บุญของทารกบันดาลให้ท้องของหญิงผู้เป็นมารดาไหม้ปะทุ ทารกกระเด็นไปตกอยู่ที่นอกชานกุฏีพระสงฆ์ มือเท้าถูกไฟลวกแต่ไม่ถึงตาย พระภิกษุจึงเลี้ยงไว้จนเจริญวัยได้ ๗ ปี

“ครั้นพระยาตะบองทยุงครองราชย์ได้ครบ ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ก็ถึงกำหนดผู้มีบุญจะมาปรากฏทางทิศอีสาน เด็กที่ถูกไฟลวกก็ตะเกียกตะกายกระถัดไปดูกับเขาด้วย พระอินทร์จึงลงมายังโลก แปลงเป็นคนแก่เอาม้าและย่ามมาฝากไว้ แล้วหายไป เด็กนั้นเปิดย่ามกินข้าวที่มีอยู่ข้างใน และเอาบังเหียนคล้องแขน แขนที่หงิกงอติดกันเพราะไฟลวกก็เหยียดตรง เปิดดูในย่ามเห็นมีนํ้ามันก็ทาตัวสุกอร่ามเป็นทอง ทั้งมีเครื่องต้นเครื่องทรงอีกด้วย จึงรู้ชัดว่าตัวคือคนมีบุญ ขึ้นขี่ม้าเหาะมายังนครธม พระยาตะบองทยุงเอาตะบองใหญ่ของตนขว้างไป แต่ไม่ถูกตะบองนั้นเลยไปตกที่เมืองล้านช้าง พระยาตะบองทยุงจึงถวายบังคมผูมี้บุญแลว้ ตามตะบองของตนไปถึงเมืองลาว และไปถูกกลธิดากษัตริย์ลาว ต้องหอกยนต์แทงสวนทวารทิวงคตในเว็จสถาน

“เด็กผู้มีบุญนั้นจึงได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าสินธพอมรินทร์ หรือพระยาพรหมเกล หรือนัยหนึ่งคือ พระยาแกรก เพราะเมื่อเป็นง่อยอยู่กับพระนั้นต้องถัดไปตามพื้นถนนดังเสียงแกรก ๆ” ( จิตร ภูมิศักดิ์, อ้างแล้วข้างต้น)

ในพงศาวดารเหนือ มีตำนานพระยาแกรกคล้ายคลึงกับพงศาวดารกัมพูชาดังกล่าวข้างต้นพงศาวดารเหนือนี้ พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมเรียบเรียงขึ้นตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พ.ศ. ๒๓๕๐) เรื่องพระยาแกรกในพงศาวดารเหนือนี้ เนื้อหาตรงกับเรื่องผู้มีบุญมาปราบพระยาโคตรตะบองในพงศาวดารกัมพูชาข้างต้น ตำนานกล่าวว่า พระยาโคตรตะบองสืบราชสมบัติจากราชบิดา ครองเมืองแห่งหนึ่งที่วัดเดิมริมเกาะหนองโสน หมายถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพ (ปัจจุบันคือ บริเวณฟากตะวันออกของอยุธยา) ซึ่งเป็นเมืองมีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา (ขอนำเนื้อความลงทั้งหมด เพราะอยากให้อ่านข้อมูลปฐมภูมิกันบ้างการเขียนสะกดการันต์ตามต้นฉบับดั้งเดิม)

“ศักราชได้ ๓๓๖ ปี พระยาโคดมได้ครองราชย์สมบัติอยู่ ณ วัดเดิม ๓๐ ปี สวรรคต มีพระราชโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อพระยาโคตรตะบอง ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดา ทรงอานุภาพยิ่งนัก

“อยู่มาโหราทำฎีกาถวายทำนายว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสียทั่วขอบเขตทุกแห่ง ครั้นมานานโหรากราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองสั่งให้ป่าวร้องเอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้นไฟคลอกไม่พองด้วยเทวดารักษาอยู่จึงมิตายครั้นเวลาเช้าสมณะไปบิณฑบาตพบทารกเอามาเลี้ยงไว้

“ครั้นอยู่นานมาราษฎรมาป่าวร้องกันว่า โหรทูลว่าผู้มีบุญจะมาก็ตื่นกันเป็นโกลาหลจะไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่า ถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ชาวเมืองชวนกันไปดูผู้มีบุญ ทารกที่เพลิงคลอกนั้นอยู่วัดโพธิ์ผีไห้ อายุได้ ๑๗ ปี ก็ถัดไปดูผู้มีบุญ สมเด็จพระอำมรินทราแปลงตัวลงมาเป็นคนชราจูงม้ามาถึงที่ทารกผู้นั้นอยู่ จึงถามทารกว่าจะไปไหน ทารกตอบว่าจะไปดูผู้มีบุญเจ้าของม้าจึงว่า ถัดไปเมื่อไรจะถึง ฝากม้าไว้ด้วยเถิดจะมาเล่าให้ฟัง ทารกก็รับเอาม้าไว้ เจ้าของม้าจึงว่าถ้าอยากข้าว เอาข้าวของเราในแฟ้มกินเถิด อนุญาตให้แล้ว เจ้าของม้าก็ไป

“แต่ทารกคอยนานอยู่แล้วหารู้ว่าตัวเป็นผู้มีบุญไม่ จึงเปิดแฟ้มดูเห็นของกินแล้วก็หยิบกินเข้าไปด้วยเป็นเครื่องทิพย์ก็มีกำลังขึ้น จึงเห็นนํ้ามันในขวดก็เอาทาตัวเข้า แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้หมด หายบาดแผลสิ้น จึงแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ ก็คิดในใจว่ากูนี้ผู้มีบุญฤา เอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่เข้าเผ่นขึ้นหลังม้า ม้าก็เหาะมา พอถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองแลเห็นก็หวาดหวั่นตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไป หาถูกพระองค์ไม่ ไปตกลงเมืองล้านช้าง พระยาโคตรตะบองก็หนีไปพระยาแกรกครองราชย์สมบัติ ชะพ่อพราหมณ์ถวายพระนามชื่อพระเจ้าสินธพอำรินทร์ ราษฎรเป็นสุขยิ่งนัก

“พระยาโคตรตะบองตามตะบองไปเมืองล้านช้าง เจ้าเมืองสัจจะนาหะกลัวบุญญาธิการพระยาโคตรตะบอง จึงยกพระราชบุตรีให้เป็นอัครมเหสีเจ้าเมืองสัจจาหะรำพึงคิดแต่ในพระทัยว่า ที่ไหนคงจะคิดขบถต่อกูเป็นมั่นคง จะจับฆ่าเสีย มารำพึงในใจว่าทำไฉนจะรู้แยบคาย จึงให้ไปหาลูกสาวมาให้ลอบถามดูว่าทำอย่างไรจึงจะตาย นางก็รับคำพระราชบิดาแล้ว ก็กลับมาอ้อนวอนพระราชสามีว่าพระองค์ก็ทรงมหิทธิฤทธิ์ลํ้าเลิศไม่มีผู้ใดจะเสมอทำไมพระองค์จึงจะตาย แต่นางรํ่าไรอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง พระยาโคตรตะบองจึงบอกว่า อันตัวเรานี้มีกำลัง หามีผู้ใดจะเข้ามาทำร้ายเราได้ จะฆ่าด้วยอาวุธอันใดมิได้ตาย ถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย

“นางปลอบประโลมถามได้ความดังนั้นแล้วจึงบอกแก่พระราชบิดา ๆ ได้ฟังดังนั้นก็ดีพระไทยนักจึงคิดกับเสนาบดีทำกาจับหลักไว้ที่พระบังคน เอาหอกขัดเข้าไว้ ทำสายใย ครั้นพระยาโคตรตะบองเข้าที่พระบังคน อุจาระตกลงไปถูกใยเข้า หอกก็ลั่นขึ้นมาสวนทวารเข้าไป พระยาโคตรตะบองมานึกในใจว่าเสียรู้ด้วยสตรี จะอยู่ทำไมในเมืองนี้ จะกลับลงไปในแดนเมืองเราเถิด พระองค์ดำริดังนั้นก็หนีไป พอเข้าแดนกรุงพระนครแล้ว ก็ข้ามไปถึงที่นั้นก็สิ้นพระชนม์ลง เสนาบดีกราบทูลพระเจ้าสินธพอำมารินทร์ว่า พระยาโคตรตะบองมาสิ้นพระชนม์ลงที่หลังวัด…”

ต่อจากนั้น ในพงศาวดารเหนือยังมีเรื่อง“พระยาสุทัศน” ผู้ครองเมืองอินทปัต กับพระยาแกรก เนื้อความซํ้ากับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่มีเรื่องราวเพิ่มเติมว่า พระยาโคตมเทวราช ผู้เป็นหลานชายของพระยาสุทัศน พ่ายแพ้บารมีผู้มีบุญ(พระยาแกรก) จึงโยกย้ายไปสร้างเมืองใหม่ แล้วลูกชายของพระยาโคตมเทวราชสร้างเมือง “พิจิตร” ขึ้น (ในพงศาวดารเหนือว่า “พระเจ้าสุทัศน” ในพงศาวดารกัมพูชาว่า “พระเจ้าสังขจักร”)

“ครั้นพระยาโคตมเทวราชแลเห็นผู้มีบุญเหาะมาในอากาศ ก็สะดุ้งตกใจกลัว จึงพานางอัครมเหสีแลบุตรี ทั้งเสนาอำมาตย์ไพร่พลโยธา พลช้างม้าออกจากพระนครในวันนั้นทั้ง ๘๐,๐๐๐ ไปทางปราจิณทิศ ได้ ๑๕ วัน แล้วแสวงหาที่จะตั้งเมือง…

“แลพระยาโคตมเทวราชเสด็จมาถึงบ้านโกญฑัญญคาม พราหมณ์ชื่อโกญฑัญญพราหมณ์เป็น

ใหญ่กว่าพราหมณ์ทั้งหลายได้ ๕๐๐ …สมเด็จพระเจ้าโคตมเทวราชเสด็จอยู่สำราญเป็นสุข พุทธศาสนาได้ ๑๖๐๐ ปี…แลพระยาโคตมเทวราชมีพระราชบุตรองค์หนึ่งชื่อเจ้ากาญจนกุมาร เป็นพระยาแทนบิดา นานมาจึงชื่อเจ้าไวยยักษา ครั้นใหญ่มาชื่อเจ้าโคตรตะบอง ไปสร้างเมืองพิจิตร จึงมีชื่อพระยาโคตรตะบอง เจ้าไวยยักษาไปสร้างเมืองพิไชย จึงได้ชื่อพระยามือเหล็ก”

เรื่องนี้ทำให้สับสนขึ้นไปอีก ทำนองว่า พระยาโคตมเทวราช หรือพระยาโคตรตะบอง หนีพระยา

แกรกผู้มีบุญไปอยู่ทางเมืองพิจิตร

ส่วนเรื่องตำนานพระยาศรีโคตรตะบอง ในตำนานเมืองพระตะบองและเมืองศรีสะเกษนั้น มี

เค้าเกี่ยวโยงใยกับเรื่องพระยาแกรก และโยงไปถึงพื้นที่ทางล้านช้างมากกว่าตำนานทางเมืองพิจิตร

เมืองพระตะบอง หรือชื่อกัมพูชาว่า บัดตัมบอง หรือ บัตดอมบอง แปลว่า “ตะบองหาย”) เป็น

จังหวัดหนึ่งของประเทศกัมพูชา อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ มีเขตติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว และจันทบุรี ประเทศไทย เมืองนี้มีตำนานที่ต่อเนื่องจากเรื่องพระยาแกรก ดังนี้

“ชื่อของพระตะบองในภาษาเขมรคือ บัตดอมบอง แปลว่ากระบองหาย มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จสินธพอมรินทร์เป็นกษัตริย์ โหรได้ทำนายว่าเชื้อสายของราชวงศ์เก่าจะได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ พระองค์จึงให้ทหารฆ่าเชื้อสายราชวงศ์เก่าให้หมด มีเพียงกุมารองค์เดียวที่ตากุเหเอาไปเลี้ยงไว้ ที่รอดชีวิตได้ ตากุเหพากุมารไปต้อนโคด้วย แล้วทำกระบองหายไปในลำห้วย หาเท่าใดก็ไม่พบ ที่ที่กระบองหายจึงเรียก

บัตดอมบอง ต่อมา กุมารนั้นได้ครองราชย์ที่พระนครหลวง มีนามว่าพระบาทสมเด็จพระกมรแดงอัญ” (วิกิพีเดียภาษาไทย เรื่อง “พระตะบอง”)

เรื่องนี้ตรงกับพงศาวดารกัมพูชาฉบับที่อ้างแล้วข้างต้น คือเชื้อกษัตริย์ราชวงศ์เดิม (ที่พระยาโคตรตะบองโค่นล้มไป) ได้ฟื้นอำนาจเป็นกษัตริย์อีก ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ว่าคือ พระเจ้าปักษีจำกรุง

แต่พระเจ้าปักษีจำกรุงก็ครองอำนาจอยู่ไม่นานกษัตริย์ (พระอนุชา) องค์ต่อ ๆ มา ขัดแย้งกับพวกปุโรหิตอย่างรุนแรง และเกิดอุทกภัยนํ้าท่วมยโศธรปุระ (นครธม) ร้ายแรงมาก

กษัตริย์อโยธยา ส่งเรือสำเภาไปรับวงศ์กษัตริยย์ โศธรปุระ มาลี้ภัยน้ำทว่ มอยูที่อโยธยาจนกษัตริย์ยโศธรปุระสิ้นพระชนม์ พระราชวงศ์กลับไปฟื้นฟูหลังนํ้าลด แต่ต่อมาเมื่อกษัตริย์วงศ์อโยธยา(เก่า ) สร้างราชธานีใหม่ที่อยุธยา พระเจ้าอู่ทองส่งกองทัพตียโสธรปุระแตก (ข้อหา “ขอมแปรพักตร์”)

ส่วนตำนานเมืองศรีสะเกษมีหลายตำนานตำนานที่เกี่ยวโยงถึงพระยาศรีโคตรตะบอง ดังนี้

“เอโก กิร ราชา กมฺโพชรฏฺเฐ รชฺชํ กาเรนฺโต สปุตฺตทาโร สิริสตนาคนหุตนครํ อคมาสิ ได้ยินมาว่ามีพระยาองค์หนึ่ง นามว่า พระยาศรีโคตรตะบองเพชร แห่งอาณาจักรขอม พร้อมด้วยมเหสีและพระโอรสธิดา เสด็จไปยังอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต เมืองล้านช้าง คราเสด็จกลับผ่านมาถึงสระอโนดาตในระหว่างทาง จึงหยุดพักอิริยาบถ และสรงสนานสรีระที่สระอโนดาตใหญ่นั้นโดยเข้าใจว่า เป็นสระนํ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเหล่าเทพผู้มีมเหศักดิ์นัยว่าตำนานที่ ๓ นี้ มีความเชื่อกันโดยมากว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับชื่อเมืองศรีสะเกษ อันมีปฐมตำนานสืบต่อว่า พระนางศรี มเหสีของพระยาศรีโคตรตะบองเพชร กษัตริย์ขอม ได้ประพาสเมืองปริมณฑลแห่งมหานคร (Angkor นครวัด นครธม) มาถึงบริเวณสระนํ้าใหญ่แห่งหนึ่ง มีนํ้าใสเย็น ดารดาษไปด้วยมวลปทุมมาลย์นานาพันธุ์ (คาดเดากันว่า เป็นบริเวณพื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษกับอำเภออุทุมพรพิสัย ปัจจุบัน) จึงลงสรงสนานที่สระนํ้านี้ เพราะเหตุที่นางพญาสรงสนานและสระผม สระนี้จึงเรียกว่า สระเกศ จำเนียรกาลต่อมา เมื่อมีการสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนี้ จึงตั้งชื่อว่าศรีสะเกศ และกลายมาเป็น ศรีสะเกษ ในปัจจุบัน”

(ที่มา :: วัดมหาพุทธาราม :: mahabuddharam.com ตำนานเมืองศรีสะเกษ)

อีกตำนานหนึ่งจากหนังสือ “ออดหลอด ซอดศรีสะเกษ” สำนักงานจังหวัดศรีสะเกษ จัดพิมพ์

เล่าว่า

“พระยาศรีโคตรตะบองเพชรผู้ครองเมืองกัมพูชา เดินทางไปปราบช้าง ขว้างตะบองเพชรไปถูกช้างล้มตายเป็นจำนวนมาก ได้สั่งให้นำช้างที่ตายไปทิ้งแม่น้ำทำให้ส่งกลิ่นเหม็นโขงทั้งแม่น้ำ เป็นที่มาของชื่อแม่นํ้าโขง จากนั้นจึงได้ตั้งเมือง ณ บริเวณที่ปราบช้างชื่อเมืองล้านช้าง ต่อมามีโหรทำนายว่าจะมีผู้มีบุญมาปราบ พระองค์จึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์โยนเข้ากองไฟและให้ฆ่าเด็กทั้งหมด แต่มีเด็กคนหนึ่งรอดมาได้เพราะเห็นว่าพิการแขนขาติดกัน ต่อมาเด็กคนนี้พระอินทร์ได้มาช่วยให้หายพิการ เมื่อเติบโตขึ้นได้ต่อสู้กับพระยาศรีโคตรตะบองเพชรพระองค์ทำอะไรเด็กคนนี้ไม่ได้จึงยกเมืองล้านช้างให้และเดินทางกลับราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะเดินทางกลับได้แวะหยุดพักที่บ้านสระกำแพงซึ่งมีสระนํ้ามเหสีของพระองค์ได้สระผมที่บริเวณนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อศรีสะเกษในเวลาต่อมา

พระยาศรีโคตรตะบอง วัดพระธาตุศรีโคตรตะบอง แขวงคำม่วน สปป. ลาวพระยาโคตรตะบอง ที่จังหวัดพิจิตรอนุสาวรีย์ตาตัมบอง ถือพานรองมีตะบองที่เคยหายไป กลางเมืองพระตะบอง

อีกตำนานหนึ่งจากเว็บไซต์ของเทศบาลเมืองศรีสะเกษ พาดพิงไปถึงแคว้นศรีโคตรบูรด้วย ดังนี้

“ตามตำนานพระนางศรีสระผม (ชื่อเดิม) เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้) ตามสันนิษฐานเข้าใจว่าเป็นราชธิดาของท้าวสุริยวรมันกับพระนางพิณสวัณคราวดี ตำแหน่งเป็นอุปราชครองพิมานมงคลในแควน้ โคตรบูร พระนางศรีสระผมเป็นผู้อำนวยการสร้างปราสาทสระกำแพง เป็นผู้รู้วิชานาฏศิลปะชำนาญการฟ้อนรำ ทรงเป็นครูฝึกหัดการฟ้อนรำทรงเป็นประธานในพิธีถวายเทวาลัยปราสาทสระกำแพง พระนางศรีฯ ได้เข้าพิธีสรงสนานลงอาบนํ้าสระผมในสระกำแพง แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศสวยงาม มีดนตรีบรรเลง ทรงฟ้อนรำบวงสรวงเดี่ยวหน้าเทวรูปพระวิษณุ อัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ศักดานุภาพมารับมอบเทวาลัยเป็นที่สิงสถิต คนทั่วไปได้ซาบซึ้งและระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น จึงได้เรียกขานว่าพระนางศรีสระผม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ตั้งเมืองใหม่ แยกจาก เมืองขุขันธ์ ชื่อว่า เมืองศรีสะเกษ เพื่อเป็นการให้เกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่พระนางศรีสระผม”

ตำนานพระยาโคตรตะบองนี้ ยังมีอีกหลายตำนาน บางเรื่องก็ว่าพระยาโคตรตะบองมาจากลพบุรีบ้าง มาจากเวียงจันบ้าง มาจากเมืองระแหงบ้าง มาจากเมืองสวรรค์บุรีบ้าง ในฉบับ คำให้การของชาวกรุงเก่า กล่าวว่าพระยาโคตรตะบองเป็นโอรสพระร่วง หนีจากกรุงสุโขทัย ได้มาครองเมืองล้านช้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะได้กับธิดาพระเจ้าเวียงจัน แล้วจึงให้มาครองเมืองโคตรบูรเป็นเมืองลูกหลวงขึ้นแก่นครล้านช้าง

ยังมีตำนานอีกว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชประสงค์จะให้ราชบุตรองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าโคตะ (คงเป็นราชบุตรเขย) ครองเมือง จึงได้สร้างเมือง ๆ หนึ่งที่ปากนํ้าหินปูน (ตรงข้ามอำเภอท่าอุเทนในปัจจุบัน) ให้ชื่อเมืองศรีโคตรบูรเป็นเมืองเวียงจัน ตั้งให้เจ้าโคตะเป็นพระยาศรีโคตรบูรสืบเป็นเจ้าครองนครมาได้หลายพระองค์จนถึงพระองค์ที่มีฤทธิ์ด้วยกระบอง จึงได้พระนามว่าพระศรีโคตรตะบอง และได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ป่าไม้รวก ห้วยศรีมัง ริมฝั่งแม่นํ้าโขงฝั่งซ้าย (คือเมืองเก่าใต้เมืองท่าแขกในปัจจุบัน) เมื่อพระยาศรีโคตรตะบองถึงแก่กรรม เจ้าสุบินราชโอรสพระยาศรีโคตรตะบอง ครอบครองนครสืบแทนเรียกว่าพระยาสุมิตรธรรมราช เมื่อถึงแก่อนิจกรรม เจ้าโพธิสารราชโอรสครองนครสืบแทน ต่อมามีอำมาตย์ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเมือง

ตำนานเกี่ยวกับบุคคล “พระยาศรีโคตรตะบอง” เป็นเรื่องราวของตัวบุคคลที่เคยมีฐานะโดดเด่นในกาละและเทศะหนึ่ง วิเคราะห์นิทานทิ้งกากเอาแก่นแล้ว พอสรุปได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปลายของราชวงศ์ยโศธรปุระ (นครธม) ต่อเนื่องกับช่วงที่แคว้นไท-ลาว เริ่มเข้มแข็งเรืองอำนาจขึ้น กำลังจะแทนที่ชนขั้นปกครองชาวแขมร์

ส่วนตำนาน “ศรีโคตรบูร” นั้น เป็นเรื่องราวของแคว้นหนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานความเจริญมาแล้วตั้งแต่ยุคสำริด ดังมีหลักฐานโบราณวัตถุยุคสำริดในสะหวันนะเขต, มุกดาหาร, คำม่วน, นครพนม, สกลนคร มากมาย ที่สำคัญยิ่งคือ หลักฐานการหล่อมโหระทึก ที่อำเภอนิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร, ร่องรอยศาสนสถานฐานรากเดิมของพระธาตุพนม ซึ่งคาดว่าเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ใกล้เคียงกับยุค “อีศานปุระ” รวมทั้งหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง ของจีน (คริสต์ศตวรรษที่ ๘)

ชื่อแคว้น “ศรีโคตรบูร” อาจจะมิใช่ชื่อดั้งเดิมแท้เมื่อสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๘ แต่เราก็พบหลักฐานว่ามีแคว้นโบราณที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่บริเวณนี้อย่างชัดแจ้ง

เรื่องราวรายละเอียดของแคว้นศรีโคตรบูรยุคต่าง ๆ นั้น เรามีข้อมูลพอสมควร แต่เนื่องจากพื้นที่จำ กัด เดือนนี้เราจึงนำ เสนอเฉพาะหลักฐานจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ถัง อันเป็นข้อมูลใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายนักในวงวิชาการ

เจดีย์เก่า ที่วัดเก้าเลี้ยว บ้านท่าแขกใต้ภาพปูนปั้นนูนตํ่า พระยาศรีโคตรตะบองกับช้าง วัดพระธาตุศรีโคตรพระธาตุบ้านจอมแจ้ง เมืองศรีโคตรบูร ฝั่งท่าแขกวัดพระธาตุศรีโคตรพระธาตุเมืองเก่า ที่บ้านเมืองเก่า ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนมเงินเหรียญฟูนัน รูปคล้ายคนถือตะบองเหรียญพระยาโคตรตะบอง นครไชยบวร (พิจิตร) หลวงพ่อปั่น

****

ชื่อเมืองโคตรบองในกฎมณเฑียรบาลของสยาม

(คัดจากหนังสือ “สังคมไทยลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา ก่อนสมัยอยุธยา” : จิตร ภูมิศักดิ์

หน้า ๒๖๗ – ๒๖๙ ; จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ. ๒๕๒๗)

“…กฎมณเฑียรบาลซึ่งตราขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ระบุว่า “ฝ่ายกษัตริย์แต่ได้ถวายดอกไม้ทองเงินทั้งนั้น ๒๐ เมือง…” ในรายชื่อทั้ง ๒๐ เมืองนั้น เป็นรัฐประเทศขนาดใหญ่ก็มีแต่ เมืองนครหลวง (ศรียโศธรปุระ หรือกัมพูชา) กับ ศรีสตนาคนหุต (ล้านช้าง) เท่านั้น, นอกจากนั้นก็ล้วนแต่เป็นกษัตริย์นครรัฐเล็ก ๆ ทั้งนั้น เช่น “เมืองเชียงใหม่ เมืองตองอู เมืองเชียงไกร เมืองเชียงกราน เมืองเชียงแสนเมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงราย เมืองแสนหวี เมืองเขมราช (เชียงตุง) เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองใต้ทอง เมืองโคตรบอง เมืองเรอแดว” เป็นต้น.

จากรายชื่อนี้จะเห็นว่า เมืองแพร่ เมืองน่านสองเมืองนี้เป็นนครรัฐขนาดกระเป๋าทีเดียว ส่วนกษัตริย์ของชนชาติล้าหลังก็มีอยู่สองรัฐคือ เมืองโคตรบอง กับเมืองเรอแดว

เมืองโคตรบองนั้น ฟังดูชื่อปรัมปราเต็มประดา, คล้ายกับจะเป็นเมืองนิยายเรื่องพระยาแกรกกับท้าวโคตรบอง. แต่เมืองนี้เป็นเมืองมีจริง ตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่นํ้าโขงตอนบริเวณเมืองท่าแขกตรงข้ามจังหวัดนครพนม, ตัวเมืองตั้งอยู่ที่ปากนํ้าเซบั้ง ซึ่งไหลมาตกแม่น้ำโขงตรงข้ามอำเภอธาตุพนมเดี๋ยวนี้. เมืองโคตรบองเป็นเมืองเก่าแก่ เมื่อสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ. ๑๘๙๕ – ๑๙๑๖) เป็นกษัตริย์ล้านช้าง ก็ได้ยกทัพมาปราบปรามกษัตริย์เมืองโคตรบองนี้ด้วย. ต่อมาภายหลังเมืองนี้เปลี่ยนชื่อเป็นศรีโคตรบูร (ศรีโคตรปุระ) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕ แล้วจึงย้ายข้ามโขงมาตั้งใหม่เรียกว่าเมืองนคร ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๐ (โดยการนำของพระบรมราชาแอวก่าน เจ้านครศรีโคตรบูรองค์สุดท้าย) จน พ.ศ. ๒๓๓๙ จึงได้รับการแต่งตั้งจากกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นเมืองนครพนม ถือเอาพระธาตุพนมเป็นนิมิตร.

เมืองโคตรบองนั้น เดิมทีเดียวเป็นเมืองชนชาติข่าในตระกูลมอญ-เขมร, แม่นํ้าสำคัญของตัวเมืองที่เรียกว่า เซบั้ง นั้น ยังแสดงความเป็นของชนชาติข่าอยู่ (เซ ในภาษาข่า แปลว่า แม่นํ้า ; ในบริเวณนั้นมีแม่นํ้าที่เรียกด้วยคำว่า เซ อยู่หลายสาย). แต่ทำไมจึงชื่อว่าโคตรบอง – พงศาวดารลาวเรียก – ศรีโคตะบอง- ข้อนี้ไม่ทราบได้.

เมืองที่ชื่อเกี่ยวกับตะบองนี้ยังมีอีกเมืองหนึ่งคือเมืองพระตะบองของเขมร. เมืองพระตะบองนี้เป็นชื่อไทยแปลง ชื่อในภาษาเขมรคือ บัตดำบอง แปลว่า ตะบองหาย. มีนิยายเล่าว่าเป็นที่ซึ่งตะบองกายสิทธิ์ของท้าวโคตรบองที่ใช้ขว้างพระยาแกรกลอยมาตกที่นั่น แล้วหายไป. ตรงที่ตะบองตกนั้นเป็นคลองสายหนึ่งในบริเวณเมืองนั้น จึงเรียกว่าโอดำบอง (คลองตะบอง) ไทยเรียกคลองนี้เมื่อครั้งเข้ายึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ว่า คลองตะพด ! จะรู้สึกว่าชื่อเมืองพิสดารนั้น ถึงจะฟังพิสดารเพียงไร แต่มันก็มีอยู่จริง ๆ เหมือนเมืองศรีโคตะบองและเมืองพระตะบอง.

เมืองศรีโคตะบองนั้น เป็นเมืองของกษัตริย์ข่าตระกูลมอญ-เขมรทางเหนือ ส่วนทางใต้ มีรัฐชนชาติข่าตระกูลชวา-มลายู อีกรัฐหนึ่งซึ่งกฎมณเฑียรบาลเรียกว่า เมืองเรอแดว (เขียนเป็นเรอแกว ก็มี). เมืองเรอแดวนั้นคือเมืองของพวกข่าระแด-ข่าจราย อันเป็นข่าในตระกูลชวา-มลายู หรือตระกูลเดียวกับพวกจาม. เขตรัฐเรอแดวนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในแขวงจำปาศักดิ์บัดนี้ หรือมิฉะนั้นก็คงเป็นในบริเวณใกล้เคียง.”

Related Posts

ผักหวานบ้าน-ผักหวานป่า
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com