ฟันดาบไทย-ลาว การละเล่นใน “สมุทรโฆษคำฉันท์”

ฟันดาบไทย-ลาว การละเล่นใน “สมุทรโฆษคำฉันท์”

มหรสพ (entertainment) หรือการละเล่น (amusement) ของสยามในอดีต ส่วนใหญ่สูญหาย ไม่มีแสดงกันแล้วในสังคมทั่ว ๆ ไป หลักฐานที่จะสืบค้นหาได้ คือ พวกเอกสารประวัติศาสตร์, วรรณคดี และภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น

เนื้อหาในวรรณคดีโบราณ นอกจากงดงามด้านวรรณศิลป์แล้ว ยังมีคุณค่าทางด้านประวัติวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ด้วย เช่น โคลงประพาสคล้องช้างนครสวรรค์ ของหลวงศรีมโหสถ บันทึกเวลาที่ถูกต้อง ช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดในพงศาวดารได้, กาพย์ห่อโคลง ของหลวงศรีมโหสถ บรรยายการแต่งกายของคนอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไว้ชัดเจน

วรรณคดีที่บรรยายเรื่องมหรสพการละเล่นสยามไว้มาก คือเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” ช่วงต้น ๆ ซึ่งเป็นฝีมือของ “มหาราชครู” กล่าวถึงมหรสพต่าง ๆ เช่น หัวล้านชนกัน, ไทย – ลาวฟันดาบ, ชวาแทงกฤช, ชนแรด ฯลฯ

ดาบไทยดาบล้านนา ภาพจาก www.pralanna.com

“ฟันดาบไทย – ลาว”

“มหาราชครู” เขียนเกริ่นถึงการละเล่นนี้ไว้ว่า

๏ จะเล่นเถลิงลาว ทั้งสองสามหาว
ชวนกันฟันแทง ผู้ใดดีจริง จักรู้จักแรง
ใครดีคำแหง จะเห็นฝีมือ ฯ

และเขียนบรรยายฉากฟันดาบอย่างละเอียดไว้ต่อจากเรื่อง “หัวล้านชนกัน” เนื้อหาเรื่องฟันดาบไทย – ลาวนี้นับว่ายาวกว่าในวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ “คนลาว” ในเรื่องนี้เป็นคนเมืองพะเยา ชื่อ “ไกรหาญ” “คนไทย” ในเรื่องนี้เป็นคนสุโขทัย ชื่อ “กาไต”

น่าสังเกตว่าการละเล่น ไทย – ลาวฟันดาบนั้นทั้งในเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” และ “บุณโณวาทคำฉันท์” ฝ่ายลาวเป็นลาวล้านนา และฝ่ายลาวพ่ายแพ้ทั้งสองเรื่อง คาดว่าการละเล่นนี้เป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยา ฝ่ายไทยจึงต้องชนะเสมอ

เนื้อความรายละเอียดมีดังนี้ (สะกดการันต์ตามต้นฉบับ โรงพิมพ์คุรุสภา พ.ศ.๒๕๐๒)

๏ ตำนานหนึ่งมา ลาวไทอาสา
ฟันแย่งระบิน ใครดีได้กัน กระชั้นโดยถวิล
คะค้าเอาดิน ทั้งสอง บ นาน
กูนี้เนื้อลาว แต่ยังพะยาว
บมีผู้ปาน เขาขึ้นชื่อกู ชื่อเสียงไกรหาญ
ปานปล้นเมืองมาร ขุนมารหักหัน
แม้ว่ามึงหาญ ออกมาอย่านาน
จะเลี้ยวลองกัน จะให้หัวมึง
จงแตกเหิรหัน กูนี้คนขัน จะขามคนใด
กูนี้ไทแท้ ท่านลือกูแล้ ในสุโขไทย
ไปลาดไปลอง ทุกทีมีไชย
หาญจริงเจ้าไท ธ ให้อาสา
ธ ไว้วางใจ บำเหน็จกูไกร
ผู้ใดจะมา ต่อกูจงดี
อย่าพลันระอา บำนาญกูครา นี้เรียกกาไต
แม้ว่ามึงหาญ จงออกมาพาน
ด้วยกูว่าไซร้ ลุกออกมาพลัน
อย่าทัน ธ ใช้ ต่อกูจะให้ จงหัวมึงหาย
ไกรหาญหาญจริง ครั้นฟังวางวิ่ง
ออกมาทะทาย ว่ากูนี้แล
เลิศลํ้าเลยชาย ดาบเข

กาไตได้ตาวแล่นตาม ต่อสู้บมิขาม

แลสองก็กริ้วโกธา

สองสู้ฟันกันไปมา ดูสองสหัสา

สระแสรกสระเสื้องกลางแปลง

สองฟันสองกันสองแทง สองเที้ยรพอแรง

แลใจมิมลายสักอัน

ฉาดฉาดเสียงตาวฝืนฟัน สองต่อสู้กัน

ทั้งเขนก็แหลกบินบน

ต่างรู้รับตาวกันตน กาไตใส่กล

ว่าเหวยไกรหาญมึงกลัว

เดิมฟันกันสองชมชัว แต่ตัวต่อตัว

แลมึง บ มาเดียวดาย

สู้กันผกฟันผันผาย ฤาเพื่อนมึงหลาย

จะเข้ามาโซรมกูเดียว

ไกรหาญเดือดฟุนฉุนเฉียว กาไตลอยเลี้ยว

ก็ล้มตะแบงแหงนหงาย

ฝูงลาวพ่ายแพ้ทุกพาย กลัวแกลนเกลื่อนหาย

บรู้หลักแหล่งโหงโห ฯ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com