ตำนานเกี่ยวกับเมืองสุวรรณโคมคำ ฉบับภาษาลาว

ตำนานเกี่ยวกับเมืองสุวรรณโคมคำ ฉบับภาษาลาว

การก่อตั้งแว่นแคว้นทางภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันตามตำนาน (ตำนานก็คือการเขียนประวัติศาสตร์ตามแบบของคนโบราณ) แว่นแคว้นแรกคือ “สุวรรณโคมคำ”

แว่นแคว้นสุวรรณโคมคำนี้ ข้าพเจ้ากำหนดอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ (ตรงกับราชวงศ์ถังของจีน และหนานเจา หรือน่านเจ้าในยูนนาน, “เหวินตาน” หรือ “เหวินส้าน” ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า “ศรีโคตรบูร และอีศานปุระ” ที่กำปงธม ดูเรื่อง “ต้นเค้าล้านนา-ล้านช้าง” ใน “ทางอีศาน” ฉบับเดือนสิงหาคม)

ต่อมาจึงเปลี่ยนวงศ์เป็นสายราชวงศ์ “สิงหนวติกุมาร” หรือ “สิงหนวัติ” (ข้าพเจ้ากำหนดอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓) แล้วเปลี่ยนเป็นสายลาวจกราชวงศ์ “ลวจักราช” หรือ “ลวจังกราช”


การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสุวรรณโคมคำจึงมีความสำคัญมาก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ก่อตั้งเมืองสุวรรณโคมคำนั้น ขึ้นไปจากทิศใต้ จึงถูกเรียกว่า “กล๋อม” หรือ“ขอม”

 

ตำนานสุวรรณโคมคำ อักษรล้านนามีหลายฉบับ มีการปริวรรต การชำระตรวจสอบกันหลายครั้งแล้ว แต่ทุกฉบับก็มีความสำคัญ ควรอ่านตรวจสอบให้ละเอียด

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ สุวันนะโคมคำ บูรานะสะถานแห่งชาดลาว เขียนโดย หุมพัน รัดตะนะวง และนำมาเสนอไว้ในคอลัมน์นี้แล้ว

ในภาคผนวกของหนังสือนั้น มีเอกสารโบราณหัวเรื่องว่า ตำนานลี่ผี เจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ ที่ได้ชื่อเช่นนั้น คงเพราะว่ามีเนื้อหาบอกว่า “ลี่ผี” หรือ“ฝายนาค” ได้ชื่อมาเพราะเหตุใด และเอกสารชิ้นนี้เป็นของ “เจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ”

ในความเห็นของข้าพเจ้า ความสำคัญของเอกสารชิ้นนี้คือ เรื่องราวการเดินทางตามแม่นํ้าโขงขึ้นมาตั้งเมืองสุวรรณโคมคำ

หนังสือ พื้นตำนานเชียงแสน ฉบับของพระยาหลวงพินิจอัยการ เมืองเชียงราย ซึ่งพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วัดศรีโคมคำ)เปน็ ผูป้ ริวรรต มีเนื้อหาเรื่องเมืองสุวรรณโคมคำ ตรงกับเรื่อง “ตำนานลี่ผี เจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ” แต่ละเอียดครบครันกว่า (ควรหามาอ่านครับ) จุดที่ต่างจากฉบับภาษาลาวเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อเฉพาะ และมิได้กล่าวถึงที่มาของชื่อ “ลี่ผี” และ “ห้วยขี้นาค” เท่านั้น

แม้ว่าฉบับที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ปริวรรตไว้จะมีเนื้อหาละเอียดแล้ว แต่การเพิ่มข้อมูลเอกสารภาษาลาวไว้อีกชิ้นหนึ่งก็มีประโยชน์ เอกสารนั้นมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

ตำนานแก่งลี่ผีเจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ

ยังมีพระยานครตนชื่อ สีวงสา ได้ครองเมืองโพทิสานหลวง ท้าวเธอมีพระราชโอรส ๒ องค์ องค์พี่ทรงนามว่า อินทรวงสา องค์น้องทรงนามว่า ไชยะกุมมาร ครั้นพระราชบิดาสวรรคตแล้วองค์พี่ได้ครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์สืบสนองพระราชบิดา แต่องค์น้องได้เป็นพระมหาอุปราช

พระอินทรวงสา มีโอรสทรงพระนาม พระอินทรปถม แต่ ไชยะกุมมารมหาอุปราช มีธิดาชื่อนางอุรสา แล้วโอรสกับธิดานี้ได้อภิเษกเป็นสามีภริยากันครั้นพระยาอินทรวงสา สวรรคตแล้ว พระอินทรปถมได้ครองราชย์สมบัติสืบขัติวงศ์ต่อมา จึ่งตั้ง พระนางอุรสา เป็นเอกมเหสี พระนางมีโอรส ๖ พระองค์ องค์ที่ ๖ ทรงนามกรว่า องค์เทวินบวร

 

ฝ่าย ไอยะมหาอุปราช นั้น ครั้นเมื่อ พระอินทรปถม ได้เสวยราชสมบัติแล้วก็ลาออกจากตำแหน่งมหาอุปราช แล้วพาบริวารลงเรือขึ้นไปตามลำแม่นํ้าขละนที ได้ ๓ เดือนก็เถิง (ถึง) ที่เกาะเขินเนินทรายแม่นํ้าขละนที ถัดปากแม่นํ้ากกมาเบื้องปราจีนทิศเกาะนั้นทรงสัญฐานคล้ายรูปสำเภาหงาย (ท้องสำเภา) ที่บนหัวเกาะเป็นป่ารกขชาติ(รุกขชาติ)ร่มเย็นเรียบเพียง งามเป็นที่พอใจ ไอยะมหาอุปราชจึงพาบริวารขึ้นตั้งพักพลอยู่ที่นั้น แล้วให้แผ้วถางสร้างขึ้นเป็นนิคมอันหนึ่ง สำเร็จในวันศุกร์ เพ็ง(เพ็ญ) เดือน ๔ ไอยะมหาอุปราช ก็เสด็จเข้าครองนครนั้น มีราษฎรตั้งคามเขตใหญ่น้อยรวม ๓,๐๐๐ เรือนปฐม เมืองบ่อนนี้ตั้งอยู่หน อาคเนย์ แห่ง อุทกะหา คือว่าถํ้ากุม ซึ่งเป็นที่ไว้นํ้าสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์นั้นแล

ภายหลังแต่ ไอยะอุปราช ลาไปแล้ว พระยาอินทรปถม จึ่งตั้งพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งชื่อ ย่าพาหิรพราหมณ์ ไว้ในที่เป็นราชครูและอัครมหาเสนาบดีพราหมณ์ผู้นี้เป็นเชื้อชาติขอมเก่าแห่งเมืองโพทิสานหลวง บ่เป็นเชื้อสายเกี่ยวพันกับพระยาเจ้าเมืองนี้

ครั้นอยู่มา นางอุรสา ทรงครรภ์เป็นครั้งที่ ๗ เมื่อครบกำ หนดทศมาสแล้ว เถิงวันพะหัส(พฤหัสบดี) เพ็ง ๕ ยามใกล้รุ่งยุททั่งราชาโชคพระนางก็ประสูติกุมารทางมุขทวาร คือว่าออกทางปากร่วงลงใส่ถาดทองคำ ยามนั้นก็บังเกิดมหัศจรรย์กึกก้องโกลาหลต่าง ๆ มีฟ้าร้องแผ่นดินไหว เป็นต้น

ถัดนั้นไป ก็กล่าวด้วยอภินิหารแห่งราชกุมารแรกประสูตินั้น โดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า พูดได้เดินได้ รู้จักรักษาศีลบำเพ็ญทาน และการประหลาดต่าง ๆ ด้วยเหตุที่พระราชกุมารนั้นประสูติออกจากโอษฐ์พระมารดาลงในถาดสุวรรณ พระบิดาจึงขนานนามว่า องค์สุวรรณมุขทวาร

ครั้นราชกุมารนั้นเจริญวัยวัฒนามาพระชนมายุได้ ๗ เดือน จึ่งมีอภินิหารแรงกล้าขึ้นเป็นอัศจรรย์หวั่นไหวแก่พระราชบิดา และเหล่าประชาชาวเมืองเกิดปริวิตกไปต่าง ๆ จึ่ง พาหิรพราหมณ์อามาตย์เข้าไปกราบทูลแด่ พระอินทรปถม ว่า ราชกุมารนี้เป็นอุบาทว์ อาจที่จะทำลายพระนครและประชาราษฎรให้เถิงซึ่งพินาศอันตราย จะละไว้บ่ได้ ให้เอาใส่แพไหลเสีย พระยาอินทรปถม ผู้เป็นพระราชบิดาแห่งราชกุมารนั้นได้ทรงฟังก็ตกพระทัย และทรงพระเสน่หาอาลัยในราชกุมารนั้นเป็นที่สุด แต่หากกลัวภัยนั้นใหญ่ยิ่ง จำต้องหักนํ้าพระทัยอนุญาต สุดแล้วแต่พราหมณ์ราชจะจัดการเสียอุบาทว์ ให้พ้นภัยอันจะบังเกิดแก่พระนคร ครั้นว่าพาหิรพราหมณ์ได้อนุญาตแต่พระยานั้นแล้ว จึงมาจัดการเสียอุบาทว์สงเคราะห์เมือง แล้วเชิญเสด็จ พระนางอุรสา กับสุวรรณมุขทวารราชกุมาร ลงเรือขนานปล่อยตามกระแสนํ้าแม่ขละนที

 

ฝ่าย ไอยะมหาอุปราช ซึ่งไปตั้งเมืองอยู่ ณ ดอยหลาย ฝ่ายเหนือนั้น เมื่อได้ทราบข่าวว่าธิดาประสูติราชกุมาร จึงลงไปเมือง โพทิสานหลวง เพื่อจะเยี่ยมนัดดา ครั้นมาได้ทราบเหตุการณ์ที่พระนางและราชกุมารถืก (ถูก) เอาใส่เรือไหล ก็เสียใจ เสด็จกลับคืนสู่นครแห่งตน แล้วให้ตั้งการบวงสรวงนาคา ปักเสาตามประทีปโคมทองบูชาทุกท่านํ้า ดังนั้นนาคราชทั้งหลาย มี พระยาสีสัตตนาค เป็นต้น ก็พาบริวารรี้พลนาครีบล่องไปขนศิลาปิดกั้นป้านต้นนํ้าขละนทีไว้ บ่ให้ไหลแรงล่องไปยังมหาสมุทร ทำนบนั้นจึงได้ปรากฏจนทุกวันนี้เรียกว่า ฝายนาค แต่สามัญเอิ้น (เรียก)ว่า ลี่ผี ตามความหมายของคนภายหลังว่าเป็นที่ดักปลาของผี หรือซากศพคนตายไหลไปค้างอยู่ที่นั้นหลาย (มาก) เมื่อนาคราชได้ปิดกั้นป้านแม่นํ้าขละนทีไว้นั้น ได้พากันไปขี้ใส่ห้วยหนึ่งฝั่งซ้ายขาล่องก้องลี่ผี ห้วยนั้นจึ่งได้ปรากฏมาจนทุกวันนี้เรียกว่า ห้วยขี้นาค และแม่นํ้าในแม่นํ้าขละนทีก็ทูมทุลขึ้นเต็มฝั่ง จึ่งบันดาลมหาวาตะพยุพัดพาเรือทรงพระนางอุรสา และราชกุมารนั้นไหลขึ้นไปตามลำแม่นํ้าขละนที ก็ลุเถิงท่าโคมคำในวันจันทร์เพ็ง เดือน ๘ เวลาเช้า ไอยะมหาอุปราช ก็ได้พบราชธิดาและนัดดาแห่งตน มีความชมชื่นยินดีและก็รับราชธิดาไว้ในที่นั้น ภายหลังจึ่งให้สร้างเป็นนครขนานนามว่าเมืองสุวันนะโคมคำ เหตุนั้น

ฝ่ายข้าง เมืองโพทิสานหลวง นั้น ตั้งแต่เนรเทศพระมเหสีและราชกุมารแล้วมา ก็บังเกิดโรคันตรายและทุพิขันตรายระบาดนานา ฝนฟ้าบ่ตกตามฤดูกาล ไพร่พลเมืองก็แตกซ่านอพยพหนีไปทิศานุทิศ และขึ้นไปตั้งอยู่ในแว่นแคว้น สุวันโคมคำก็หลาย อาณาจักรแห่ง สุวันโคมคำ ก็มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นใน ๓ ปี มีพลเมืองมากกว่าแสนเรือน.

มีหมายเหตุท้ายเรื่องว่า

เมืองโพทิสานหลวง อยู่ที่ปากห้วยหินบูนริมฝั่งซ้ายแม่นํ้าของ เหนือเมืองท่าแขก ตรงข้ามกับอำเภอท่าอุเทน

 


Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)
ขับ ลำ เพลงลาว
คุยเรื่องพริกกับคนช่างสงสัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com