เมืองที สุรินทร์ / เมืองทีโคราช, เปลาะปลอ – ปลูง – ปรู (๑)

เมืองที สุรินทร์ / เมืองทีโคราช, เปลาะปลอ – ปลูง – ปรู (๑)

บ้าน เมืองที หมู่ ๖ ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ตรงเด๊ะกับ เมืองที หมู่ ๑ ต.เมืองที อ.เมืองฯ จ.สุรินทร์

ผมบึ่งมาโคราช แวะร้านค้าปากทางจะเข้าบ้านเมืองที ระยะทาง ๔.๕ กิโลเมตร เห็นชายวัยห้าสิบปีเศษ เผอิญอยู่บ้านเมืองที แต่เมื่อถาม “เมืองที” หมายถึงอะไร?

“…เมืองที ชื่อบ้านเมืองที!” ตอบเหมือนไม่ได้ตอบ

ถามถึงบรรพชนชาวเมืองที มีเชื้อสายพูดเขมร, กวย หรือ กูย (ถูกเรียก ส่วย), มอญ บ้างมั้ย? เขาตอบไม่ได้ ผมจึงหันไปถามหญิงเจ้าของร้านค้าด้วยคำถามเดียวกัน ได้คำตอบกว้าง ๆ ว่า สองหมู่บ้านนี้อยู่ติดกันใกล้ลำนํ้ามูล ภาษาพูดก็คือไทยโคราช

ตอนนี้เข้าไปหมู่บ้านดีที่สุด ได้ทักถามนาย เสริง สินปรุ วัย ๗๔ ปี ภูมิลำเนาเกิดที่นี่ ได้ความว่า

อยู่บ้านเลขที่ ๑๔ หมู่ ๖ บ้านเมืองที ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ให้ข้อมูลเมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘

 

เมืองทีเป็นเมืองเก่า ตอนขุดดินโนนไปถมสร้างบ้าน เจอไหหม้อแตกบิ่น หม้อยาวสูงคอกิ่วกำไลทองเหลือง กำไลแบน ๆ เรียก พระยาชะชันพากันเอาขายไปหมด

พระยาชะชัน เป็นโลหะหรือกระดูกสัตว์? คำตอบ ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ลักษณะแผ่นกลมแบน รูตรงกลางกว้าง ๓ – ๔ นิ้ว หนา ๒ – ๓ มิลลิเมตร น่าจะสวมแขน แต่ไม่พบกระดูกมนุษย์โบราณ จากนี้ไปทิศตะวันออก สักกิโลเมตรเศษ จะตกลำนํ้ามูล ในอดีตมีจีนค้าขายนำเรือมาจอดท่าเมืองที และเคยมีเรือล่มด้วย

ลุงเสริง เล่าเชิงตำนานสมัยปู่ ย่า มีเรือนแค่ ๓ หลัง เป็นของ ย่าผม (ชื่อผม) กับ ย่าบุญ (ชาวโคราชมักเรียกหญิงชราว่า “ย่า” โดยไม่จำเป็นต้องเป็นญาติตามสายเลือด) กับ ยายเข็มตกเรือ

เน้นที่ ยายเข็ม (ไม่เรียกย่า) บอกเป็นลาว ถูกเจ๊กเรือค้าปล่อยทิ้งท่านํ้า ลือว่า “ยายเข็ม” เป็นหญิงงามเมือง (โสเภณี) พวกพ่อค้าจีนพามาปล่อยทิ้ง จากนั้นนางเดินไปขออาศัยอยู่บ้านเปลาะปลอ

ป้ายต้นทางเข้าหมู่บ้านเขียน เมืองที-เปลาะปลอ สองหมู่บ้านนี้คงมีประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างลึกซึ้งป้ายในหมู่บ้านเขียน เปลาะปลอ – เมืองทีรถโดยสารเส้นทาง อำเภอศีขรภูมิ – “เมืองที” – เมืองสุรินทร์ พ้องกับ “บ้านเมืองที” นครราชสีมาเสริง สินปรุ ถือกำเนิด ณ บ้านเมืองที (นครราชสีมา) ก็ยังไม่แน่ใจความหมายแท้จริงของชื่อหมู่บ้าน

สำหรับ เมืองที สุรินทร์ มีประวัติชัดเจน เช่น “ตำนานจำปาศักดิ์” (โดย หม่อมอมรวงศ์วิจิตรรวบรวมระหว่าง พ.ศ.๒๔๔๓ – ๒๔๔๖) สรุปกระชับ ดังนี้ เมื่อต้นพุทธศักราช บริเวณนี้ (จำปาศักดิ์และแดนอีศานตอนล่าง) เป็นป่าดงถิ่นของพวกฅนป่า ซึ่งต่อมาถูกเรียก ข่า, ส่วย ต่อมา กลุ่มชนชาติเขมรเข้ามา โดยเฉพาะช่วงพุทธศตวรรษ ๑๖ – ๑๘ ได้ผสานผสมกับชนเผ่าดั้งเดิม ในสมัยรัตนโกสินทร์เรียกชนเหล่านี้ว่า “เขมรป่าดง” ส่วนพวกลาวเข้ามาเป็นระยะ และมากทวีในช่วงพ.ศ.๒๒๕๗-๒๒๖๑ ลาวแตกแยกเป็น ๓ ฝ่าย

พ.ศ.๒๒๖๐ ชาวกวย (คำเรียกรวม ๆ) โยกย้ายเข้าภาคอีศานครั้งใหญ่ ๖ กลุ่ม หนึ่งกลุ่มนั้นมีหัวหน้าชื่อ เชียงปุม นำพวกมาอยู่ “เมืองที” ฅนเชื้อสายกวยบอกหมายถึง “เมืองบนทำเลสูง” ซึ่งป่าทิศตะวันตกเป็นเนินสูง นํ้าจะไหลลงไปทิศใต้ผ่านบ้านจารพัต (ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ) ไปลงห้วยพอก ไหลไปรวมห้วยทับทัน

อรุณศักดิ์ โอชารส และ วีระ สุดสังข์ ให้ความหมาย

นัยสำคัญตามเรื่องเล่าของ ลุงเสริงคือเมืองทีโคราช ก็มีเนินดินสูงถูกขุดมาถมสร้างบ้านเรือน!

มาต่อที่บ้าน เปลาะปลอ หมู่ ๗ ต.ดอนชมพูอ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ถามนาย สำราญ กระจัดกลาง ผู้ใหญ่บ้านเปลาะปลอ บอกที่นี่พบโครงกระดูกฅนโบราณ หม้อ ไห เครื่องประดับ บ่งบอกเป็นชุมชนโบราณ เมื่อตั้งหมู่บ้านเป็นทางการมีผู้ใหญ่บ้านรวมแล้ว ๑๓ ฅน (ยุคแรกอยู่ในตำแหน่งตลอดชีพ ถัดมาเปลี่ยนเป็นเกษียณอายุ ๖๐ ปี ปัจจุบันกำหนดวาระ ๕ ปี) รวมอายุตั้งหมู่บ้านประมาณ ๓๕๐ – ๓๐๐ ปี

ให้ข้อมูลเมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘

สันนิษฐานชื่อมาจาก “ต้นปอ” สมัยก่อน ตำบลธารละหลอด ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย ปลูกปอมาก ตัดแช่นํ้าลอกเปลือกตากแล้วม้วนลำเลียงลงเรือมาขึ้นท่าเปลาะปลอ รวมกับปอที่นี่แล้วนำขึ้นรถบรรทุกส่งไปจุดรับซื้อ ณ ตำบลจอหอ ห่างไปราว ๓๐ กิโลเมตร

ผมชวนคิด “ปอ” นั้นปลูกประปรายมานาน ต่อมารัฐได้ส่งเสริมขยายปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ ก่อนหน้าไม่นานจะมี แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๐๙) มาถึงปัจจุบันก็ไม่น่าเกิน ๖๐ ปี

ผู้ใหญ่ สำราญ ทบทวนถึงช่วงพ่อแม่ปลูกปอนับมาถึงปัจจุบันคงไม่เกิน ๗๐ ปี จึงไม่แน่ใจ “ปอ” จะเป็นที่มาของ “ปลอ” แต่เชื่อว่าคงเรียกให้คล้องจองกับ “เปลาะ” ซึ่งก็ไม่รู้ความหมายอยู่นั่นเอง

“ปอ” มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น ปอกะเจา (สระบุรี) ปอลมปม (ปราจีนบุรี, อุบลฯ) ลมปม (ชัยภูมิ) ก็น่าคิด!

ข้อมูลพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ข้อมูลออนไลน์). http://www.qsbg.org/Database/plantdb/mdp/medicinal-specimen.asp?id=487

ลองเทียบหากับพืช เปราะ ในชื่ออื่น ๆ เช่น ตูบหมูบ, อีอูบ (ลาวอีศาน) เปราะเถื่อน (ปราจีนบุรี) ขึ้นตามทุ่งนาชุ่มชื้น กินผักสดได้ “หัว” กลิ่นหอมรสร้อน ใช้ทำลูกประคบ “เหง้า” ตำพอกแก้แมลงกัดต่อย

หรือ ปรอปฺรอก/ปปฺรก/ ว่าน ใบมีแฉก งอกเป็นกาฝากในต้นไม้อื่น (หารูปไม่ได้)

หรือ ปอเปฺรอะส์/ปปฺรึส, ปเปฺรีส/ ไม้เถามีหัวเล็ก ๆ เป็นพวง กินดิบได้ (หารูปไม่ได้)

พจนานุกรมภาษาเขมร – ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน เล่ม ๒. กรุงเทพฯ. รุ่งเรืองสาส์น ๒๕๒๑ : ๓๒๕
เพิ่งอ้าง หน้า ๓๒๖

ลองขุดความทรงจำของชาวเปลาะปลอ, ชาวเมืองที ถามว่าผู้เฒ่าเคยเล่าถึงกลุ่มชาวกวย, เขมร, มอญ อยู่ในชุมชนนี้หรือไม? คำตอบยืนยันไม่เคยเล่านอกจากมาเป็นเขย, สะใภ้ ในรุ่นปัจจุบัน จึงไม่มีอิทธิพลภาษา

 

กระนั้น นาย เสริง สินปรุ ชาวบ้านเมืองที ยังจำได้ในวัยหนุ่ม มีฅนเขมรต่ำกัมพูชามาทำงานแถวนี้มักพูดประโยค

ขญม มันเฎง (มินฎึง) ซีม แปลว่า ฉันไม่รู้ภาษาไทย

พูดจนจำได้ ผู้เฒ่าสมัยนั้นจึงล้อให้ตลกด้วยสำเนียงโคราชว่า

เอ๋งไม่เด้ง กู๋ก็ไม่เด้งกั้บมึง

เรื่องมันไม่ง่ายจะสรุปลงในตอนนี้ จึงขอมิตรรักนักอ่านติดตามตอนหน้า ซึ่งจะเสนอชื่อหมู่บ้านกับชื่อพืชพ้องกันในเสียง โดยเฉพาะจะเสนอทัศนะในแฟนเพจเฟซบุ๊ก กลุ่มกวย เยอ มูไฮ จากฅนเชื้อสายกวย อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ, กวย อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ และกวย จากอุบลราชธานี โปรดรออ่านครับ

โครงกระดูกฅนโบราณยุคสำริด ณ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด (ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา) ซึ่งเก่าถึงยุคหินใหม่ (๔ พันปี) และสืบเนื่องมายุคสำริด ยุคเหล็ก จนถึงสมัยทวารวดี, เขมรโบราณ, อยุธยา, รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบันกำไลสวมแขนแผ่นใหญ่ของโครงกระดูก น่าจะเข้าลักษณะ“พระยาชะชัน” ตามอย่างบรรยายของนายเสริงฯผักเปราะ ใบดอกบอบบาง กินสดเป็นผัก หัว และ เหง้า มี สรรพคุณเป็นยา ลองนำมาเทียบชื่อ “เปลาะปลอ”

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com