ข้าว เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าว เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน

จำได้ว่า…เมื่อเริ่มเขียน “แม่ช้อย นางรำ” ให้กับนิตยสาร “ทางอีศาน” เมื่อสองปีที่ผ่านมา ได้เคยเขียนเรื่อง “ขวัญข้าว…แม่โพสพ”

การเขียนคราวนั้น เป็นการเล่าเรื่องความเป็นมาของ “พระแม่โพสพ” เทวีธัญญาหารแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

กอปรกับที่มีลูกสาวชื่อ “ขวัญข้าว”  ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวนาใช้เรียกข้าวในการทำขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีไทยแท้แต่โบราณ ที่ทำกันมาเป็นร้อย…เป็นพันปี

แต่การเขียนคราวนี้ จะเป็นเรื่องที่แตกต่าง เพราะว่า

ตั้งใจจะเขียนถึงความเป็นมาของข้าว ที่กล่าวเล่ากันมาเป็นตำนานคู่กับคนไทย ที่เริ่มรู้จักปลูกข้าว กินข้าว

ซึ่งอาจจะถึงคำกล่าวถึงความทุกข์ยากของชาวนาที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งชาติ แต่ถูกกดขี่รังแกเอาเปรียบกันมาชั่วนาตาปี

การเขียนคราวนี้ จึงขอบูชาชาวนาผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า

หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน

 

ขอเริ่มต้นเรื่อง “ข้าว” ด้วยบทประพันธ์ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ที่เขียนพรรณนาถึงเรื่องราวความเป็นมาของข้าวไว้ เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่าน

บทประพันธ์นี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย โดยเฉพาะบรรดานักต่อสู้ทางการเมือง ที่เล็งเห็นว่าชาวนาผู้ปลูกข้าวเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศถูกนายทุนซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยเอารัดเอาเปรียบ

 “จิตร ภูมิศักดิ์” เขียนไว้ว่า

    เปิปข้าวทุกคราวคำ     

จงสูจำเป็นอาจิณ

เหงื่อกูที่สูกิน                

จึงก่อเกิดมาเป็นคน

    ข้าวนี้นะมีรส            

ให้ชมชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสิทุกข์ทน      

และขมขื่นจนเขียวคาว

    จากแรงมาเป็นรวง       

ระยะทางนั้นเหยียดยาว

จากรวงเป็นเม็ดพราว  

ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ

    เหงื่อหยดสักกี่หยาด                

ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น

ปูดโปนกี่เส้นเอ็น              

จึงแปรรวงมาเป็นกิน

    น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง          

และน้ำแรงอันหลั่งริน

สายเลือดกูทั้งสิ้น             

ที่สูซดกำซาบฟัน

กาพย์ยานี ๑๑ ที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” เขียน เข้าใจว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ ในตอนท้ายกาพย์จะเห็นว่า คงจะมีเรื่องของ “ข้าว” ที่จะต้องแต่งต่อ จึงขอเข้าใจด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า

กาพย์ยานีบทที่ว่าด้วยเรื่อง “ข้าว” นี้ ยังไม่ครบถ้วนขบวนความเป็นมาของข้าว

สำหรับเรื่อง “ข้าว” นั้น

นักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ต่างประเทศ มีความเห็นตรงกันว่า

มนุษย์กินข้าวกันมานานกว่า ๕,๐๐๐ ปี

สำหรับการกินข้าวของมนุษย์โบราณ ที่เคยอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมิเคยมีผู้พบเมล็ดข้าวเก่าที่สุดภายใน “ถ้ำปุงฮุง” จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบแล้วกำหนดว่า

ข้าวที่พบนี้มีอายุประมาณ ๓,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล

ยังมีผู้คนพบข้าวที่ปลูกโดยมนุษย์ที่ “บ้านเชียง” จังหวัดอุดรธานี และบ้านโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี จึงเชื่อว่า

มนุษย์ปลูกไว้อายุถึง ๗,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ ปี

นักวิทยาศาสตร์ได้นำข้าวเปลือกที่พบในถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปตรวจสอบและจัดข้าวนี้เป็นข้าวไร่ ซึ่งจะขึ้นในบริเวณที่ราบสูง

ข้าวที่พบนี้ มีทั้งข้าวเหนียวเมล็ดใหญ่ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “LARGE TYPE” จัดเป็นข้าวพันธุ์ “ชวานิคา” (JAVANICA)

ส่วนข้าวเจ้าที่พบมีเมล็ดเรียวยาว ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “SLENDE TYPE”

จัดเป็นข้าวพันธุ์ “อินดิกา” (INDICA)

ในหนังสือ “เตภูมิคถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” มีการเขียนเล่าเรื่องราวของ “ข้าว” ไว้ว่า

เมื่อเทพชั้นพรหม เมื่อสิ้นบุญจึงมาจุติบนโลก

บริโภคแต่เครื่องทิพย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศ

แต่ต่อมาเทพบางองค์บริโภคแต่ “ง้วนดิน” รักมีร่าง

ก็จางหายไป จึงตกอยู่ในความมืดมนอนธการ

กระทั้งดวงอาทิตย์อุบัติขึ้นมาและดวงจันทร์ปรากฏขึ้น

ดาวนักขัตฤกษ์แห่งจักรราศีอุบัติตาม

เขาพระสุเมรุก่อรูปขึ้น ภูเขากั้นขอบโลก จักรวาล

ทะเล สระ แม่น้ำ พฤกษณาชาติ รุกขชาติจึงเกิดขึ้น

รสหวานหอมขึ้นมาแทน ฝูงชนจึงบริโภคจนสูญพันธุ์

แล้วจึงมีเถาวัลย์ไม้เลื้อยปรากฏขึ้นมาอีก

ฝูงชนจึงบริโภคจนหมดสิ้น  

จึงมีข้าวสาลีออกรวงใหญ่ เนื้อขาว ไม่มีเปลือกปลูกวันนี้

พรุ่งนี้ก็เติบโตสุก หมุนเวียนตลอด

ข้าวนี้มีรสชาติตามความปรารถนาของผู้บริโภค แต่ที่มีกากหยาบ จึงทำให้มนุษย์เกิดทวารหนัก ทวารเบาและเพศขึ้น มีการสมสู่และคลอดบุตร

ด้วยความรังเกียจข้าวสาลี จึงกลายเป็นข้าวธรรมดาและจะต้องมีการเพาะปลูก

แต่ก็ยังมีตำนานเรื่อง “ข้าว” ของคนไทยสิบสองจุไท ที่ปรากฏอยู่เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาเป็นเวลานับร้อยนับพันปีว่า

แต่คนเราอาศัยอยู่ในดิน เกิดมาจากดิน

ยังไม่รู้จักออกลูก ต่อมาก็ออกมาจากรูดิน อาศัยอยู่บนดิน

มีชีวิตอยู่ด้วยการกินข้าวเหนียว

นึ่งข้าวสุกแล้วเอาไปใส่ถาดไม้เรียกว่า “พาข้าว”

เอาพัดไล่ไอน้ำระเหยออกมาจนหมด แล้วจึงเก็บใส่กระติบไว้กินเป็นอาหาร

วันหนึ่งแม่หญิงคนหนึ่งแบกพาข้าวออกมาจากใต้ดิน

แม่หญิงตัวออกมาได้ แต่พาข้าวมีขนาดใหญ่จึงติดคารูดิน

คนที่อยู่ในดินจะออกตามมาก็ไม่ได้ จึงตะโกนด่าว่า

“มึงจะตายก็ตายเสีย มึงบ่ตายมึงต้อง

เอาพาข้าวออกไปเสีย คนอื่นจะออกไปได้”

แม่หญิงตะโกนตอบว่า

“กูบ่ตาย กูจะออกไป”

แล้วจึงออกแรงดึงพาข้าวหลุดออกได้จากตัวแม่หญิง แต่ก็ปิดรูไม่ให้ผู้อื่นรอดออกมา

แต่มีบางคนก็สามารถเล็ดรอดออกมาได้ จึงพากันไปอาศัยบริเวณหนองน้ำชื่อ

“หนองอูวา” ซึ่งเป็นที่อุดมสมบูรณ์มีต้นหญ้าขึ้นมากมาย ปีหนึ่งจึงจะออกรวงครั้งหนึ่ง

เมื่อถึงฤดู ต้นหญ้าก็จะออกรวง “นกปิ๊ด” มีจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพันตัว ก็จะพากันมากินเมล็ดของต้นหญ้า

พวกคนเห็นนกกินเมล็ดหญ้า จึงเก็บไปกินด้วย

เมื่อกินแล้วก็รู้สึกแข็งแรง ตั้งแต่นั้นจึงเสาะหาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มาเป็นอาหาร และไล่ “นกปิ๊ด” ออกไป

ต้นหญ้าชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “ต้นหญ้านกปิ๊ด”

(ต้นหญ้าหรือข้าวพันธุ์นี้จึงถูกเรียกว่า “ข้าวพันธุ์นกปิ๊ด” ทุกวันนี้ยังมีปลูกอยู่แถบเมืองแถน เมืองม่วย ในจังหวัดเชิงลา ประเทศเวียดนาม)

ตำนานเรื่อง “ข้าว” ของคนไทยมีอีกหลายเรื่อง อย่างตำนานของ “คนไทย-ลาว” ก็จะเล่าว่า

ข้าวเป็นพืชบนสวรรค์ มีหมาเก้าหางคาบข้าวลงมาให้กับหญิงม่าย

เมล็ดข้าวจะมีขนาดใหญ่ จนต้องใช้มีดผ่า

และมีความอัศจรรย์ที่เมล็ดข้าวบินได้ สามารถบินเข้าไปอยู่ในยุ้งฉาง

แต่หญิงม่ายใช้ไม้กวาดไล่ตีเมล็ดข้าวไม่ให้บิน ต่อมาเมล็ดข้าวจึงบินไม่ได้

กลายเป็นเมล็ดข้าวอย่างเช่นทุกวันนี้

เรื่องของ “ข้าว” ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายหลายเรื่อง จะได้เขียนเล่าในตอนต่อไป


Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com