มหัศจรรย์ ‘ภูพาน’ บันดาลใจ

ทางอีศาน ฉบับที่๑๔ ปีที่๒ ประจำเดือนมิถุนาย ๒๕๕๖
คอลัมน์: ห้องศิลป์อีศาน
Column: Esan Gallery
ธีรภาพ โลหิตกุล* : เรื่องและภาพ


กลางเดือนมกราคม บนผืนป่าเต็งรังแห่งอุทยานแห่งชาติภูพาน สกลนคร เราพบดอกเหียงสีชมพูสดใสบนใบเหียงแห้ง ที่ปลิดปลิวลงเกลื่อนกล่นบนพื้นดินปนทราย

รูปลักษณ์ของดอกเหียงแลดูคล้ายเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” ของชาวพุทธฝ่ายมหายาน ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก “สวัสดิกะ” ของชาวฮินดู เพียงแต่หมุนกลับข้างกัน (ของฮินดูหมุนวนทางขวา ของฝ่ายพุทธหมุนวนซ้าย)

เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์มงคล เป็นเครื่องหมายแห่งพลวัตร การเคลื่อนไหว ความไม่หยุดนิ่ง ความเปลี่ยนแปลง และยังใช้เป็นคำอวยพร ให้สุขสวัสดีมีชัย (สุ+อัสดิ+กะ=สวัสดิกะ) บ้างว่าเป็นเครื่องหมายแห่งสิริมงคล โชคลาภ และอายุมั่นขวัญยืน (ที่มา: www.siamganesh.com)

สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมเผด็จการฮิตเลอร์ใช้ “สวัสดิกะ” (เอียง ๔๕ องศา) เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของเผ่าพันธุ์อารยันผู้สร้างสรรค์โลก เป็นข้ออ้างในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นโดยเฉพาะชาวยิว จนชาวฮินดูต้องออกมาร้องทุกข์ว่า “สวัสดิกะ” เป็นเครื่องหมายมงคลสันติที่แพร่หลายมานานก่อนที่พรรคนาซีของฮิตเลอร์จะนำไปประยุกต์ใช้

ต้นเหียง หรือยางเหียง หรือซาด นอกจากออกดอกสีชมพูสดใสแล้ว ยังเป็นไม้ที่คนอีสานนิยมใช้สร้างบ้าน และคอกสัตว์ มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร แก้ปวดฟัน รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ แก้ตกขาว แก้ท้องเสีย

นี่คือหนึ่งในมหัศจรรย์ภูพาน ที่นักศึกษากว่า ๒๐๐ ชีวิต เก็บกำเป็นข้อมูลและแรงบันดาลใจในการเขียนข่าว เรื่องสั้น สารคดี บทกวี ในวาระ “๒๐ ปี ค่ายวรรณกรรมสัญจร” ที่ชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติภูพาน สกลนคร เมื่อ ๒๑ – ๒๓ มกราคม ๒๕๕๕

ค่ายนี้มีคำขวัญว่า “การเดินทางหาความฝันฤๅมีวันสิ้นสุด” และคติประจำใจชาวค่าย คือ “ประสบการณ์และจินตนาการ คือต้นธารของงานเขียน” ซึ่งผมอยากจะเพิ่มอีกนิดว่า …เป็นต้นธารของชีวิต (โดยแท้)

ประทับรอยเท้าแรก ณ ผืนป่าภูพาน เห็นใบเต็ง รัง พลวง เหียง ร่วงหล่นทับถมกัน ดั่งผืนพรมหนานุ่มห่มคลุมป่าไว้ นึกในใจว่าอย่างนี้นี่เอง เขาถึงจัดป่าเต็งรังอยู่ในจำพวก “ป่าผลัดใบ”

เพราะพอถึงหน้าแล้งก็จะพร้อมใจกันสลัดใบทิ้งหมดทั้งลำต้น จนคนที่ไม่เข้าใจคิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม หารู้ไม่ว่านี่คือแผนการอันแยบยลของธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ ในการให้ป่า “Fresh up” (บานใหม่) ตัวเอง เพื่อดำรงยงยืนต่อไปอย่างมีอนาคต

เพราะใบไม้แห้งจะเป็นเชื้อไฟอย่างดี ก่อให้เกิด “ไฟป่า” ชนิดที่มีประโยชน์ ช่วยกำจัดต้นไม้ที่มีโรคและแมลง อีกทั้งความร้อนจากไฟยังช่วยให้ผลของต้นไม้บางชนิดโปรยเมล็ดหลุดออกมาได้และช่วยเร่งการงอกของเมล็ดพืชที่มีเปลือกหนาและใบไม้ที่เปื่อยยุ่ย ยังกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินชั้นดี

จากนั้น เมื่อย่างเข้าหน้าฝน ไม้ต่าง ๆ ก็จะออกดอกออกใบ ไม้ชั้นล่างก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ป่าดูเขียวชอุ่มเช่นเดิม จนมีคำกล่าวว่า ไฟป่าในวงวัฏของป่าผลัดใบ คือการที่ป่า “Format” (ปรับฟื้น) ตัวเอง เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราติดไวรัส ก็ต้องไป Format ใหม่

ไฟป่าตามธรรมชาติจึงมีคุณ แต่คนที่เผาป่าเพื่อประโยชน์ตนจนป่าไม้วายวอด ต่อให้จับมา Format สมองใหม่หมด ยังไม่สาสมเคราะห์กรรมที่ทำไว้

 


* เจ้าของผลงานสารคดีชิ้นเลิศมากมาย และ “นักเขียนรางวัลศรีบูรพา” ประจำ ๒๕๕๖ นี้ มาร่วมทาง    “ทางอีศาน” ประเดิมด้วยงานชุด “ภูพาน” จากนั้นจะพาท่านผู้อ่านออกเดินทางไปทั่วอาเซียนและทั่วโลก.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com