การปั้นพระปางปฐมเทศนา

ทันทีที่ทราบข่าว ผมนัดหมายกับอาจารย์กิตติพงษ์ สุริยทองชื่น จากนั้นก็เดินทางไปยังโรงปั้น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีโอกาสเห็นการทำงานและได้พูดคุยสอบถาม เทียวไปเทียวมาอยู่สองสามรอบ เพื่อเก็บข้อมูล-ความคิด ปัญหา-อุปสรรค ตลอดจนการวางแผน-แก้ปัญหากระทั่งชิ้นงานสำเร็จลุล่วง

จากนั้นเป็นหน้าที่ของผม ที่จะบันทึกเรื่องราวการปั้นพระปางปฐมเทศนาเอาไว้ แม้จะไม่ได้ลงลึกในความเป็นประติมากรรมอย่างอ้างได้ตามทฤษฎีศิลปะ แต่เลือกบอกเล่าสิ่งละอันพันละน้อยเป็นหลัก ด้วยเชื่อว่านี่เป็นอีกมุมมอง ผ่านประติมากรผู้สร้างงานที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

ต้นทางแห่งศรัทธา

วัดแห่งหนึ่งยังขาดพระประธาน จึงติดต่อว่าจ้างผู้ปั้นพระพุทธรูป แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทั้งหมดจึงไม่สามารถเริ่มต้นได้กระทั่งได้มาพบกับอาจารย์กิตติพงษ์ ซึ่งเมื่อรู้ต้นสายปลายเหตุ ก็ไม่รอช้าที่จะใช้โอกาสและฝีมือร่วมบุญครั้งนี้ โดยขอรับเพียงค่าวัสดุกับค่าขนส่งเท่านั้น ส่วนค่าแรงถือเป็นพุทธบูชา

“ทำเต็มที่ ถือว่าเราได้ร่วมบุญ คิดแบบนี้ดีกว่า เพราะถ้าทำแล้วกลายเป็นลักทรัพย์ผู้อื่น ผมจะกลัวมาก โอ้โฮ… ทุกคนเขาสาธุแล้วบริจาคมานะ”

สำหรับพระพุทธรูปปางปฐมเทศนานั้น อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วเป็นรูปวงกลมเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นประคอง ด้านหลังแผ่พระรัศมีวงกลม (วงล้อธรรมจักร) ส่วนที่พุทธบัลลังก์มีธรรมจักรกวางหมอบ พร้อมด้วยปัญจวัคคีย์ทั้งห้า

หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหปุณมี ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตรใจความสำคัญคือให้งดเว้นทางสุดโต่ง ๒ สายได้แก่ กามสุขขัลลิกานุโยค คือการประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือการทำตนเองให้ลำบาก

ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และเมื่อทรงแสดงธรรมจบ โกณฑัญญะพราหมณ์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จพระโสดาบัน ในวันนั้นพระรัตนตรัยได้ครบองค์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ความยากจนและเครื่องชี้วัด
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com