ศาสตร์และศิลป์กับคนอีสาน

มีคนให้ข้อสังเกตว่า ทำไมผู้ชายฝรั่งชอบแต่งงานกับสาวอีสาน ทั้ง ๆ ที่ส่วนใหญ่อาจไม่สะสวยอะไรนัก ผิวดำคล้ำ ล่ำบึ้กก็มาก หรือเป็นเพราะเครือข่ายเส้นสายไปถึงหมู่บ้าน เกิดความไว้วางใจ แนะนำใครต่อใครให้กันและกัน จนได้เขยฝรั่งเต็มหมู่บ้าน

อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือที่ได้คุยด้วยบอกว่า ฝรั่งชอบสาวอีสานน่าจะเป็นเพราะมีความเป็นธรรมชาติมากไม่เสแสร้ง จริงใจ สวยจากภายใน ไม่ใช่ภายนอกจิตใจอ่อนโยน เอาใจผู้ชายเก่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะยอมทุกอย่าง ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง

เข้าใจว่ามีงานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องนี้หลายชิ้น ไม่ทราบว่าวิเคราะห์แบบนี้หรือไม่ ผมเขียนจากประสบการณ์และญาณทัศนะที่พอจะเข้าถึงเข้าใจปรากฏการณ์นี้ ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนสตรีชาวอีสาน แต่ที่เห็นได้จากศาสตร์และศิลป์ของวัฒนธรรมคนอีสานโดยรวม

ภาคอีสานเป็นสังคมปิดมานาน ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมมากเหมือนคนใต้ ที่ทะเลเปิดทั้งซ้ายขวา ไม่ว่าแขกจีน อาหรับ ฝรั่งก็มาเทียบท่า ย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยปะปนมาหลายร้อยปี ทำให้คนใต้คุ้นเคยกับคนแปลกหน้า และกลายเป็นความไม่ไว้ใจไปด้วยภาพโดย สุชีลา เพชรแก้ว เพราะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคนแปลกหน้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มาดี คนใต้รู้จักเงินตราและค้าขายกับคนต่างถิ่นก่อนคนไทยภาคอื่น ๆ

คนอีสานรับแขก รับคนแปลกหน้าเหมือนไม่มีอคติ มาถึงเรือนชานก็ต้อนรับ หาน้ำท่าให้ดื่ม หายเหนื่อยค่อยพูดจากันว่าไปมาอย่างไร

แน่นอน ย่อมมีคนไม่ดีที่มาเยือนด้วย ฝรั่งก็ไม่ได้ดีไปหมด มีคนมาหลอกสาวอีสานไปขายตัว ไปค้ามนุษย์ แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยเพราะส่วนใหญ่รู้ที่มาที่ไปกันหมดแล้วเมื่อนัดหมายให้เจอกันระหว่างญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ในชุมชนในหมู่บ้าน

สาวอีสานไปอยู่กันมากมายหลายประเทศในยุโรป นอกจากที่เยอรมนี สวิสฯ ฝรั่งเศส กับประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่เห็นมากก็มีที่อิตาลีที่น่าแปลกใจว่า หญิงสาวอีสานที่ไปแต่งงานอยู่ที่นั่นหลายคนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำสวนทำไร่องุ่นอย่างที่เกาะซาร์ดีเนีย เกาะซิซิลี เห็นว่ามีความสุขดี ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไกลบ้านเกิดแบบสุดหล้าฟ้าเขียวได้ดี เจอคนไทยไปก็ดีใจต้อนรับขับสู้

ที่เยอรมนี ไม่แปลกใจที่ชายเยอรมันชอบสาวไทยสาวอีสาน เพราะ “ความเป็นธรรมชาติ” และความอ่อนโยนที่แตกต่างจากสาวเยอรมันทดแทนการขาดรสชาติชีวิตของชายเยอรมันได้เป็นอย่างดี แต่ที่อิตาลี คงเป็นเพราะนิสัยชอบสนุกของชายอิตาเลียน และความขี้เล่นของสาวไทยสาวอีสานก็เป็นได้

จากที่คุ้นเคยกับอิตาลีและคนอิตาเลียนบ้าง พบว่าคนอิตาเลียนกับคนอีสานมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกัน มีศาสตร์และศิลป์ของการดำเนินชีวิตที่มีความละเอียดอ่อนและ “ร่ำรวย” เหมือนกัน มีความเป็นกันเองรวดเร็วพอ ๆ กันนั่งรถไฟไปกับคนอิตาลี ไม่นานแกจะเล่าให้ฟังว่ามีลูกกี่คน ชื่ออะไร เรียนชั้นไหน ดูก็เป็นความจริงใจ ตรงไปตรงมา เปิดเผย เป็นธรรมชาติ

แม้หลายอย่างจะคล้ายกัน แต่อิตาลีมีฐานสำคัญของพลังสร้างสรรค์ที่พัฒนาได้ดีกว่า ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่เอื้อมากกว่า

ลองคิดถึง “กุชชี่” ยี่ห้อดังที่รู้จักกันทั่วโลกมาจากนายกุชชี่ที่เป็นคนงานอพยพไปรับจ้างเป็นคนถือกระเป๋าให้แขกที่โรงแรมในกรุงปารีสเห็นกระเป๋าหนังสวยงามของแขกทุกวันก็นึกได้ว่า ที่บ้านของตนที่เมืองฟลอเรนซ์ก็มีวัตถุดิบ มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีศาสตร์และศิลป์ที่น่าจะทำอะไรต่อยอดได้ดี จึงลาออกจากการเป็นบ๋อยโรงแรมกลับบ้านเกิด

นั่นคือที่มาของกุชชี่ยี่ห้อเครื่องหนังที่โด่งดัง แฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องใช้ต่างๆ มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ที่เกิดจากแรงงานอพยพจากคนเล็กๆ ธรรมดา

แฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เข็มขัดเนกไท และอื่น ๆ ของอิตาลีล้วนมาจากคนเล็ก ๆ ในชุมชน มาจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน ก่อนที่จะเติบโตขยายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติอย่าง เวอร์ซาเช่, อาร์มานี, ปราดา, เบเนตอนและอื่น ๆ

ยังเรื่องเกษตร เรื่องอาหาร ซึ่งอิตาลีมีชื่อเสียงมากที่สามารถจัดการให้ผู้ผลิต เกษตกรรวมตัวกันบริหารจัดการผลผลิต แปรรูป ส่งออก ไม่ปล่อยให้นายทุนผูกขาดการจัดการการผลิตการเกษตร ซึ่งก็เกิดจากการนำภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาสืบทอด ปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสังคมวันนี้ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าช่วย

อาหารอิตาลีอย่างพาสต้าสารพัดรูปแบบพิซซ่า เจลาโต (ไอศกรีมอิตาเลียน) ขนม นม เนย ไวน์ เครื่องดื่มต่าง ๆ มีการจัดการเชิงธุรกิจเล็ก ๆ ที่สานเป็นเครือข่ายมากกว่าที่จะเป็นบริษัทยักษ์ข้ามชาติ แม้ว่าจะมีบ้างแต่ไม่มากและไม่ได้มีสัดส่วนที่ใหญ่เหมือนเมืองไทย ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็กจนปลาเล็กหมด

กลับมาดูอีสานบ้านเรา วันนี้เห็นการเกิดใหม่ของโอทอปหลายดาวมากมาย ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุดิบในท้องถิ่น ที่มีการต่อยอด ปรับประยุกต์ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากที่ไปทำงานที่ภาคอื่น ประเทศอื่นมาใช้ที่บ้านเกิดที่อีสาน

เห็นการท่องเที่ยววัฒนธรรม ท่องเที่ยวเกษตรที่หมู่บ้าน ชุมชนมากมายทุกจังหวัด อาจจะขลุกขลักตอนเริ่มต้นเพราะถูกโปรโมทจากราชการและไม่เป็นธรรมชาติ แต่ไม่นานหลายแห่งก็ตั้งตัวได้และยืนด้วยตัวเอง มีของดีที่หมู่บ้านไปอวดไปขายนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศได้

ไม่ใช่แต่ข้าวของเท่านั้น แต่ศาสตร์และศิลป์ของวิถีชุมชนอีสานที่มีเสน่ห์ ความเป็นคนอัธยาศัยดี รับแขก ต้อนรับขับสู้ผู้มาเที่ยวมาเยือนที่แสดงออกด้วยความจริงใจและเป็นธรรมชาติทำให้คนอยากไปเที่ยวไปชม เพราะไปแล้วมีความสุข

สิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตสังคมยุคใหม่ คือ “ความเป็นธรรมชาติ” เพราะสังคมเต็มไปด้วยสิ่งแปลกปลอม ที่ทำให้แปลกแยก ผู้คนโหยหาความจริงใจ ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ในวิถีวัฒนธรรมอีสาน และกำลังแสดงออกในการพบปะกับผู้คนจากต่างถิ่นที่มาท่องเที่ยว

ถ้ามีการเรียนรู้ที่ดี มีโอกาสพัฒนาตนเองให้มาก อีสานจะพัฒนาไปได้ไกล เพราะมีศักยภาพ มีพลังภายในที่พร้อมจะ “ระเบิด” คือ ศักยภาพที่สั่งสมมาจากอดีต เป็นภูมิปัญญาเป็นศาสตร์และศิลป์ของการดำเนินชีวิต ที่พร้อมที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ให้ชีวิตให้พลังแก่สังคม


Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com