ศีลธรรมกับวัฒนธรรม

นึกสงสัยขึ้นมาว่า “ศีลธรรม” หมายถึงอะไร ?

ข้าพเจ้านั้นคิดง่าย ๆ แบบชาวพุทธว่า ศีล ก็คือศีล, ข้อห้าม สำหรับสมาชิกสังคมระดับปุถุชนก็คือศีลห้า ส่วนธรรมก็คือ ธรรมห้า หรือเบญจธรรม

เมื่อลองเปิดดูความหมายใน “วิกิพีเดีย” ท่านว่า

ศีลธรรม (Morality) หมายถึง ความประพฤติที่ดีที่ชอบทั้งศีลและธรรม

ศีลธรรม ในคำวัดหมายถึง เบญจศีล และเบญจธรรม คือ ศีล ๕ และธรรม ๕ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมระดับต้นสำหรับให้สมาชิกสังคมประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสงบสุข ไม่สะดุ้งกลัว ไม่หวาดระแวงภัย เป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญสังคมที่สงบสุข ไว้วางใจกันได้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันไม่เบียดเบียน ไม่ทะเลาะ ไม่กดขี่ข่มเหง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นต้น ก็เพราะสมาชิกของสังคมยึดมั่นอยู่ในหลักศีลธรรมนี้

ศีลธรรม เป็นชื่อวิชาหนึ่งในโรงเรียนที่กำหนด ให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนมาตั้งแต่สมัยโบราณเรียกว่า วิชาศีลธรรม ปัจจุบันเรียกว่า วิชาพุทธศาสนา

Morality ในทัศนะตะวันตก มาจากภาษาลาตินว่า “moralitas” ที่แปลว่า “กิริยา, ลักษณะและการปฏิบัติอันเหมาะสม” (manner, character, proper behavior) มีความหมายหลักสามประการ

ประการแรกหมายถึง ประมวลความประพฤติ (code of conduct) หรือความเชื่อซึ่งถือเป็นหลักวัดความถูกและผิด “จริยธรรม” เป็นสิ่งที่ไม่เป็นกลางที่ขึ้นอยู่กับการให้คำจำกัดความของสังคมหลักปรัชญา หลักศาสนา และ/หรือ ทัศนคติของแต่ละบุคคล ฉะนั้นกฎการปฏิบัติจึงเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือกฎการปฏิบัติที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องในสมัยหนึ่ง อาจจะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในสมัยต่อมา หรือมาตรฐานของกฎการปฏิบัติอันเหมาะสมของสังคมหนึ่ง อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติในอีกสังคมหนึ่ง เป็นต้น

ประการที่สองในความหมายอย่างกว้าง ๆ ศีลธรรมหมายถึง กฎความเชื่อและหลักปฏิบัติอันเป็นอุดมคติ เช่น ในปรัชญาที่ว่า “การฆาตกรรมเป็นการผิดจริยธรรม” ซึ่งในการตีความหมายในข้อแรกอาจจะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งผิดด้วยเหตุผลบางประการก็เป็นได้ แต่ก็อาจจะบ่งว่าไม่ควรจะใช้เป็นกฎการปฏิบัติเพราะเป็นความเชื่อโดยทั่วไป กรณีที่ว่านี้เรียกว่าวิมตินิยมทางศีลธรรม (moral skepticism)

ประการที่สาม “ศีลธรรม” มีความหมายพ้องกับคำว่าจริยธรรม หรือจริยศาสตร์ (Ethics) จริยศาสตร์เป็นการศึกษาของระบบปรัชญาที่เกี่ยวกับจริยธรรม จริยศาสตร์แสวงหาคำตอบของปัญหาต่าง ๆ เช่นการกระทำเช่นใดจึงจะทำให้เกิดผลทางจริยธรรมในสถานการณ์ที่ระบุ (จริยศาสตร์ประยุกต์/applied ethics) คุณค่าของจริยธรรมวัดกันได้อย่างไร (จริยศาสตร์เชิงปทัสถาน/normative ethics) ผู้มีจริยธรรมปฏิบัติตามกฎใด (จริยศาสตร์เชิงพรรณนา/descriptive ethics) พื้นฐานของจริยศาสตร์หรือจริยธรรมคืออะไร และรวมทั้งปัญหาที่ว่ามีจุดประสงค์ที่เป็นกลางหรือไม่ (อภิจริยศาสตร์/meta ethics) จริยศาสตร์และจริยธรรมวิวัฒนาการขึ้นได้อย่างไร และธรรมชาติของสองสิ่งนี้คืออะไร (จิตวิทยาศีลธรรม/moral psychology)

อ่านแนวคิดทางตะวันตกแล้วก็…งง

แต่คนปัจจุบันก็เรียนหนังสือตาม “ศาสตร์” ของตะวันตกกันทั้งนั้น ซึ่งก็คงจะงุนงงกับเรื่อง “ศีลธรรม” ด้วย

ข้าพเจ้าคิดต่อไปถึงคำว่า “วัฒนธรรม”

ซึ่งข้าพเจ้าเห็นแย้งกับนักวิชาการวัฒนธรรมส่วนใหญ่ ข้าพเจ้าเห็นว่า “วัฒนธรรม” มิใช่มีแต่เรื่องที่เป็นความดีงาม ความไม่ดีไม่งามก็เป็นวัฒนธรรมของสังคม

ผู้ที่เปรียบเทียบเรื่องศีลธรรมกับวัฒนธรรมได้ดี คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

 

วัฒนธรรมกับศีลธรรมแตกต่างกัน คือคนที่มีวัฒนธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องมีศีลธรรมเลยก็ได้ และบั้นปลายหรือจุดประสงค์ก็ต้องเป็นคนละอันกันเพราะของที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันจะต้องมีความเจริญหรือเสื่อมพร้อม ๆ กัน ขึ้นก็ขึ้นด้วยกันลงก็ลงด้วยกัน แต่ในสายตาของผมเห็นว่า วัฒนธรรมและศีลธรรมไม่เป็นไปด้วยกันอย่างนี้ แต่กลับปรากฏว่าในยุคใดที่วัฒนธรรมรุ่งเรืองมาก ๆ ศีลธรรมก็ชักจะตกตํ่าลงไป(ตอบปัญหาประจำวัน วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๙๘)

 

ทุกวันนี้ เมื่อพูดกันถึงปัญหาของชาติบ้านเมืองผู้คนมักนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมืองก่อน แต่เมื่อวิเคราะห์กันลึก ๆ แล้วจะพบว่า ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองมีรากเหง้าต้นตอเริ่มจากเรื่อง “วัฒนธรรม”

การเมืองไทยเป็นอย่างนี้ ก็เพราะคนไทยมีวัฒนธรรมเป็นอย่างนี้

การต่อสู้ทางการเมือง การพัฒนาการเมืองเวียนว่ายในวังวนเลวร้าย

นรชนคนดีเรียกร้องการปฏิรูปสังคม การปฏิรูปการเมือง และปฏิรูป ๆ ๆ ๆ ทุกด้าน…

อย่าลืมว่า งานพื้นฐานสำคัญที่สุดคืองานปฏิรูปวัฒนธรรม !

และต้องทำให้ทั้งวัฒนธรรมและศีลธรรม ดีและเข้มแข็งพร้อม ๆ กันด้วย


“Talking about problems of a nation, one often thinks about the economic and political issues first. But those economic and political problems are actually rooted in the ‘culture’

Good citizens demand reforms in all aspects: social, political, educational etc.

But the most important basic is the cultural reformation !

Both culture and morality must be strengthened at the same time”

Related Posts

มหัศจรรย์สี่พันดอน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ลักษณะลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com