หนี้กรรม เพลงหักปากกาเซียน

หนี้กรรม

เพลงหักปากกาเซียน

ปกแผ่น CD เพลงชุดหนี้กรรม

ผู้เขียนเป็นคนชอบฟังเพลงทุกประเภท เพลงนานาชาติ ฝรั่ง แขก จีน อินเดีย เพลงชาติไหนเข้ามาดังในเมืองไทย ผู้เขียนจะหยิบมาแต่งเป็นเพลงไทยและเป็นเพลงดังก็หลายเพลง เพลงชาติต่าง ๆ ที่แต่งไว้ถึง 10 ชาติที่ไม่ดังก็หลายเพลง จนคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งตั้งฉายาให้ว่าครูสุรินทร์ คือ “คิงส์อ๊อฟอินเตอร์เนชัลแนลไทยคันทรีซองค์” (ราชาเพลงนานาชาติ) เพลงทำนองนานาชาติที่ ผู้เขียนแต่งดังส่วนมากจะเป็นทำนองอินเดีย เช่นเพลง “วอนลมฝากรัก” เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่องชาติลำชี เพลง “สาวนาคอยคู่” เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ขับร้องโดย บุปผา สายชล และเพลง “หนี้กรรม” สุมิตร สัจจเทพ และยุพิน แพรทอง ขับร้อง

ปี 2514 เป็นปีกำเนิดของ “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย” ที่ผู้เขียนเป็นผู้สนับสนุนเปิดกิจการแบบส้มหล่น แบบถูกรางวัลที่ 1 เลย ได้เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” มาจัดจำหน่ายขายดีราวเทน้ำเทท่า นักร้องทุกคนที่ผู้เขียนนำมาสังกัด เช่น “บุปผา สายชล” “บรรจบ เจริญพร” “กาเหว่า เสียงทอง” และ “ศรคีรี ศรีประจวบ” ล้วนเป็นนักร้องดังขายดีทุกคน

หนุ่มน้อยเชื้อสายจีน จากอาตี๋เซลล์แมน ขายแผ่นเสียงก้าวขึ้นมาเป็นนายห้างแผ่นเสียง มี นักแต่งเพลงระดับอาจารย์เป็นผู้ปั้นนักร้องป้อนให้ “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทย” กิจการเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วจนสื่อบันเทิงตั้งฉายาว่า “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทยยักษ์ใหญ่วงการลูกทุ่ง” มีนักแต่งเพลงระดับปรมาจารย์ ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นเครื่องหมายการค้านำทัพหน้า มี 2 นักแต่งเพลงคู่แฝดจากที่ราบสูงคือครูสุรินทร์ ภาคศิริ กับ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นทัพหลัง มีนักร้องระดับแผ่นเสียงพระราชทานหลายคน

น้ำขึ้นให้รีบตัก ผู้เขียนในฐานะผู้ดูแลการผลิต (โปรดิวเซอร์) จึงแนะนำให้นายห้างคือคุณประเสริฐ หวังสันติพร หรือ “เฮียจุ่นกรุงไทย” ฉายาที่ผู้เขียนตั้งให้ไปเช่าเวลาสถานีวิทยุ “ตชด.เอเอ็ม” มาจัดรายการเพื่อโปรโมทเพลงและโฆษณาห้าง ตั้งชื่อว่า “20 ชั่วโมงสุขสันต์วันอาทิตย์” แบ่งเวลาให้ครูเพลง และนักจัดรายการมาจัดทั้งเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง และหมอลำส่วนผู้เขียนไปจัดเพลงลูกทุ่งกับหมอลำและรายการประกวดร้องเพลง รายการนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้นของนักร้องลูกทุ่งอาชีพหลายคนในเวลาต่อมา

คนหนึ่งก็คือ สุมิตร สัจจเทพ เป็นแขกอินเดียโพกหัวหนวดเครา มาสมัครประกวดร้องเพลงและเพลงที่จะร้องคือเพลงแหล่ของ “พร ภิรมย์” ตอนแรกที่โฆษกประกาศชื่อให้ขึ้นมาร้องบนเวที แฟน ๆ คนดูก็งง คิดว่าแขกจะมาร้องเพลงแหล่ได้หรือ แต่พอเด็กหนุ่มชาวแขกซิกข์ จับไมค์ร้องเพลงคนดูรอบเวทีต่างเงียบเพราะเสียงเขาคล้าย “พร ภิรมย์” ลีลาการร้องก็ใช้ได้ พอร้องจบมีเสียงปรบมือกราวใหญ่ปรากฏว่าเขาเข้ารอบ 5 คน ก่อนกลับหนุ่มน้อยอินเดียเข้ามากราบ ผู้เขียนให้กำลังใจไปว่า “ฝึกฝนให้ดีอาจเป็นนักร้องลูกทุ่งอินเดียคนแรก” หลังจากนั้นก็ลืม ๆ ไป

ผ่านมาอีกหลายปี วันหนึ่งอยู่ ๆ ก็มีแขกโพกหัวมาที่บ้าน นึกว่าจะมาเก็บดอก เขายกมือไหว้ “สวัสดีครับครู จำผมได้ไหมที่เคยไปประกวดร้องเพลงกับครู ผมพยายามตามหาที่อยู่ครูมาหลายปี จุดประสงค์มาขอให้ครูแต่งเพลงให้” เขาเอาเทปเพลงอินเดียมาให้ฟังให้แต่งเนื้อไทยให้ เขาจะร้องคู่กับนักร้องหญิง ยุพิน แพรทอง ให้เป็นเนื้อเพลงเกี่ยวกับหนุ่มจีบสาว สาวจีบหนุ่ม ผู้เขียนฟังทำนองเพลงอินเดียที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์อินเดีย เรื่อง “หนี้กรรม” ฟังเสร็จผู้เขียนก็มีไอเดียว่าน่าจะเป็นเพลงธรรมะสอนใจ แต่หนุ่มอินเดียยังยืนยันอยากให้เป็นเพลงรัก ๆ ใคร่ ๆ เพราะเพลงธรรมะมันคงไม่ดัง ผู้เขียนบอกว่าคุณเป็นคนอินเดียร้องเพลงธรรมะภาพพจน์มันให้ แต่ผู้เขียนจะไม่ใช้ภาษาธรรมะเกินไปจะใช้ภาษาบ้าน ๆ ฟังง่ายหนุ่มอินเดียรู้สึกผิดหวังแต่ไม่กล้าแย้ง

วันต่อมาแต่งเสร็จร้องอัดเทปให้หนุ่มอินเดียเอาไปซ้อม หายไปนานเป็นเดือน วันหนึ่งผู้เขียนกำลังจัดรายการวิทยุอยู่ที่สถานีวิทยุ “กรมการรักษาดินแดน” หนุ่มอินเดียโผล่มาพร้อมแผ่นเสียงบอกว่าผมอัดแผ่นเสียงเสร็จแล้วชื่อเพลง “หนี้กรรม” สุมิตร สัจจเทพ ร้องคู่กับยุพิน แพรทอง ผู้เขียนถือโอกาสแนะนำเพลงใหม่และเปิดออกอากาศทันที

หนี้กรรม

          อนิจจาเกิดมาเป็นมนุษย์

ดังคำพุทธะเตือนให้อาวรณ์

จนมี ผู้ดีไหม้ ไฟฟอน

เมื่อตอน ถึงวัน สิ้นลมปราณ

          เวลา มีชีวิตวายวุ่น

ทำบุญ เป็นกุศล ให้คงมั่น

ดับขันธ์ เราจะไปไหนกัน

ขึ้นสวรรค์ หรือนรก ให้เลือกเอา

          เกิดมา ต้องตายใครจะค้ำฟ้า

วัฏฏะ สังขาราอย่ามัวเมา

บารมี นั้นมีไม่นานเนา

ถูกเผา แล้วได้อะไรไป

          อวดศักดิ์บารมี จึงหลงคิดทำชั่ว

เมามัวลืมตน หลงอำนาจ

ขาดคุณธรรม ค้ำคอยเจือจุน

กรรมจึงหนุน ให้ต้องได้เป็นไป

          เกิดแก่ ดับจิต เป็นนิมิตฝัน

ใครจะสรรหา ได้ดังใจ

เกิดทำไม แล้วตายไม่จีรัง

ถูกฝัง แล้วไปที่ใดกัน

          หยุดพนมมือ ยึดถือพระธรรมมั่น

เบียดเบียนกัน สวรรค์ไม่คอยท่า

หลับตาลง ฟังพุทธวาจา

กิเลศหนา ขอจงจางไป

          พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เดตุลทิยา ปานียาฮี…ลันลาลันลา…

ผ่านไปไม่กี่วันสถานีวิทยุต่าง ๆ เปิดเพลง “หนี้กรรม” ตามคำขอทางโทรศัพท์ ทางจดหมายของแฟน ๆ เพลง เป็นเพลงดังอย่างรวดเร็ว จนคนในวงการวิจารณ์กันว่าเป็นเพลง “หักปากกาเซียน” เพราะคนทั่วไปจะรู้ว่าเพลงที่เป็นสาระ เพลงเกี่ยวกับสถาบัน เกี่ยวกับธรรมะจะไม่ดังแต่เพลง “หนี้กรรม” กลับดังได้

จนต่อมา นักร้องแขกอินเดียโพกหัวต้องตั้งวงดนตรีชื่อวง “สุมิตร สัจจเทพ วงดนตรีลูกทุ่งภารตะวงแรกของประเทศไทย” นำวงดนตรีเดินสายทั่วประเทศอยู่นานหลายปี จึงเลิกวงไปร้องเพลงตามร้านอาหาร บาร์ คลับ วิ่งรอกคืนละหลายแห่งอยู่อีกหลายปีจึงเลิกร้องเพลง

เพลง “หนี้กรรม” ได้รับรางวัล “กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย” จัดโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2437 ได้รับการนำไปบันทึกเสียงใหม่ โดยนักร้องลูกทุ่งชาย หญิง ถึง 11 ครั้ง

ทุกสิ้นปี สุมิตร สัจจเทพ จะต้องมาอวยพรปีใหม่ ทำมาหลายสิบปีไปออกรายการ “สารพันลั่นทุ่งบางเขน” สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส

**นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๘๙ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๒ คอลัมน์ ลูกเถ้าแก่บ้านนอก (เจ๊กโคก)

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

โทร. 086-378-2516 บริษัท ทางอีศาน จำกัด 244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

การค้นพบสมุนไพรวิเศษ
คำโตงโตย
ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com