บ้านปากอูน : จากหมู่บ้านปลาชุม (แต่ขาดข้าว) มาเป็นตลาดสดห้าดาว

บ้านปากอูน : จากหมู่บ้านปลาชุม (แต่ขาดข้าว) มาเป็นตลาดสดห้าดาว


ตลาดสดศรีสงครามในปัจจุบัน ตุลาคม 2560

บ้านปากอูนเป็นหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดในแอ่งสกลนคร และเป็นแม่น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสาน หมู่บ้านนี้จึงเคยเป็นหมู่บ้านที่จำหน่ายปลาสด ปลาแห้ง ปลาร้า ไปทั่วทั้งอีสานเหนือ และหลายจังหวัดในแอ่งโคราช


ตลาดศรีสงครามจากอดีตถึงตลาดสดปัจจุบัน

บ้านปากอูนในอดีต

บ้านปากอูน ตั้งในปี 2436 ถ้านับถึงปัจจุบันก็ 126 ปีแล้ว ตั้งกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้มาตั้งหมู่บ้านชื่อ นายอินทิสิทธิ์ และนายลา ซึ่งเป็นน้องชาย อพยพมาจากวังขอนสระ ริมแม่น้ำอูน ต่อมาอีก 15 ปี ก็มีคนจากหมู่บ้านอื่น ๆ เช่น บ้านโพน บ้านยางงอย (ห่างไป 8 – 9 กิโลเมตร) บ้านท่าบ่อสงคราม (6 กิโลเมตร) บ้านท่าอุเทน (36 กิโลเมตร) เมืองท่าแขก ประเทศลาว (67 กิโลเมตร) เมืองกุสุมาลย์ (49 กิโลเมตร) เมืองร้อยเอ็ด (217 กิโลเมตร) อพยพมาตั้งอยู่ในบ้านปากอูน

บ้านปากอูนมีแม่เหล็กดึงดูดผู้คนมาตั้งรกรากคือ มีปลาอุดมสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยสำรวจมา ผู้เฒ่าซึ่งเกิดที่บ้านนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อปี 2529 ว่าในปี 2467 แม่น้ำสงครามโดยเฉพาะที่บ้านปากอูนอุดมสมบูรณ์มาก เพราะแม่น้ำนี้ไหลช้ามาก ในฤดูฝนน้ำไหลลงแม่น้ำโขงไม่ทัน น้ำจึงเอ่อล้น 2 ฟากแม่น้ำเป็นพื้นที่หลายแสนไร่ ปลาจึงว่ายเข้าไปในป่าไผ่ป่าหูลิง ฯลฯ กิน มด ปลวก แมลง และเป็นแหล่งที่ปลาวางไข่ และอนุบาลตัวอ่อน อีกประการหนึ่งปลาขึ้นมากินดินโป่ง ริมแม่น้ำสงครามและแม่น้ำอูน รวมทั้งปลาบึกจากแม่น้ำโขงก็ว่ายมากินดินโป่งทุกปี ชาวบ้านสมัยก่อนจึงรวมกลุ่มพากันไปล่าปลาบึกได้ทุกปีเป็นจำนวนมาก ตัวละ 200 – 300 กิโลกรัม โดยใช้ฉมวกบ้าง แต่บางคนใช้ตาข่ายซึ่งสมัยนั้นไม่มีไนล่อน ต้องใช้ป่านสานเป็นตาข่ายห่าง ๆ แต่บางปีเกิดเรื่องผิดคาด ควายลงไปกินน้ำในแม่น้ำสงครามไปติดตาข่ายดักปลาชักจมน้ำตายก็มี

ผู้เฒ่าเล่าว่าเมื่อก่อนหญิงมีครรภ์ลงน้ำไม่ได้ ปลามันจะชนตาย เพราะเคยมีหญิงมีครรภ์ ถูกปลาชะโดชนจนแท้งลูกมาแล้ว หญิงมีครรภ์ เวลาอาบน้ำต้องตักขึ้นมาอาบบนฝั่ง (สุวิทย์ ธีร ศาศวัต และคณะ, 2530 : 92 – 96) ในช่วงราวปี 2509 ขึ้นไป ความอุดมสมบูรณ์ยังเห็นได้ชัดเจน ชาวบ้านเล่าว่าใช้เรือแนบ (ภาคกลางเรียกว่าเรือ ผีหลอก) ซึ่งเอากาบกล้วยหรือสังกะสีตอกติดข้าง เรือพาย พอกลางคืนเดือนมืดก็พายเรือออกไป ปลาเห็นแสงสะท้อนจากกาบกล้วยหรือสังกะสี จะตกใจกระโดดเข้าเรือเอง ปลาใหญ่ที่มาคอยกิน ปลาเล็กก็ตกใจกระโดดเข้าเรือด้วย เพียง 2 ชั่วโมงปลาก็เต็มลำเรือ บางครั้งหาปลาเพลินปลากระโดดเข้าเรือเต็มลำจนเรือล่ม (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ, 2530 : 131)

การผลิตและการค้าขายแลกเปลี่ยนในอดีต

หมู่บ้านอีสานก่อนปี 2504 มีลักษณะที่คล้ายกันคือ มีระบบเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวคือพึ่งตัวเองได้เพราะประชากรน้อย และทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทุกหมู่บ้านผลิตอาหารคือ ทำนาอาศัยน้ำฝน กับข้าวไม่ต้องซื้อ เพราะได้จากธรรมชาติรอบ ๆ ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปลาและสัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น ปู กบ เขียด อึ่ง แมลงนานาชนิด ผักป่า เห็ดนานาชนิด เก้ง กวาง กระรอก กระแต กระต่าย หมูป่า ฯลฯ ป่าและแหล่งน้ำจึงเป็นเสมือนห้างสรรพสินค้าของชาวบ้าน เป็นแหล่งอาหาร ไม้พื้น ไม้ที่ใช้ก่อสร้างเรือน คอกสัตว์ เครื่องมือทำมาหากิน และเป็นแหล่งสมุนไพรด้วย (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ, 2558 : 26 – 27)

แต่อย่างไรก็ตามในบางปีก็เกิดภัยแล้ง หรือน้ำท่วมใหญ่สำหรับบางหมู่บ้าน ทำให้บางหมู่บ้านต้องนำของที่พอหาได้ไปแลกข้าว แต่บางหมู่บ้านแม้ไม่มีภัยแล้ง หรืออุทกภัย ก็ขาดเครื่องมือเหล็กเพราะไม่มีช่างเหล็ก ไม่มีเครื่องปั้นดินเผา เพราะไม่มีดินที่เหมาะสมจะมาทำเครื่องปั้นดินเผา และไม่มีช่างปั้นดินเผา จึงเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างหมู่บ้านที่ขาดแคลนกับหมู่บ้านที่มี แต่สำหรับบ้านปากอูนมีลักษณะพิเศษต่างจากหมู่บ้านทั่ว ๆ ไปในภาคอีสาน กล่าวคือ มีที่นาน้อยมาก คือ เฉลี่ยพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 2.66 ไร่/ครัวเรือนในปี 2529 และครัวเรือนที่มีอาชีพทำนากันเพียงร้อยละ 6.85 ทำนาทำไร่พร้อม ๆ กัน ร้อยละ 1.39 ทำไร่ ร้อยละ 15.07 ทำอาชีพอื่น ๆ ส่วนใหญ่หาปลา, ค้าขาย ถึงร้อยละ 76.71 (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ, 2530 : 235) เพราะเหตุที่มีที่ทำกินน้อย ชาวบ้านปากอูนจึงมีอาชีพจับปลาเป็นหลักมาตั้งแต่ตั้งหมู่บ้าน แล้วนำปลาไปแลกข้าวกับหมู่บ้านที่มีข้าวเหลือกินหากไปแลกใกล้ ๆ ก็หาบไป ใช้ปลาสดแลกข้าวแต่ถ้าไปไกล 3 – 7 วัน ก็ใช้เกวียนบรรทุกปลาร้าปลาเค็ม ปลาย่างไปแลกข้าว และสินค้าอื่นที่ต้องการ เช่น หินลับมีด ไห สีเสียด หวาย และต่อมาเมื่อมีตลาดเกิดขึ้นในบ้านปากอูนก็มีเสื้อผ้าและข้าวของอื่น ๆ คล้ายตลาดในปัจจุบัน

เนื่องจากบ้านปากอูนขึ้นชื่อว่า ปลาอุดมสมบูรณ์จึงมีพ่อค้าจากหมู่บ้านไกล ๆ จากโคราช ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร นครพนม วาริชภูมิ ธาตุพนม ท่าอุเทน กุสุมาลย์ เซกา นำเกวียนมาซื้อและแลกปลาที่แปรรูป (ปลาร้าปลาส้ม ปลาย่าง) จากบ้านปากอูน อัตราการแลกไม่แน่นอน แล้วแต่ความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย แต่อัตราที่ใช้กันตามที่ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังคือ ปลาร้า 1 หมื่น (12 กิโลกรัม) ได้ข้าวเปลือก 1 หาบ (2 หมื่น – 5 หมื่น) อัตราส่วนโดยน้ำหนักประมาณ 1 : 5 (ปลาร้าต่อข้าวเปลือก) ปลาสด 1 หมื่น แลกข้าวเปลือกได้ 3 หมื่น (1 : 3) (สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ, 2530 : 177) (ปัจจุบันข้าวเปลือกกิโลกรัมละ 7 – 10 บาท) ปลาเค้า 200 – 250 บาท/กิโลกรัม ปลาช่อน 150 บาท/กิโลกรัม ปลาดุก 80 บาท/กิโลกรัม หมายความว่าปัจจุบันถ้าน้ำหนักเท่ากันปลาสดมีมูลค่ามากกว่าข้าวเปลือก 11, 21, 36 เท่า แล้วแต่ชนิดของปลา ในขณะที่สมัยเมื่อปี 2509 ขึ้นไป ปลาสดมีมูลค่ามากกว่าข้าวเปลือก 3 เท่า เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน ข้าวเปลือกมีมูลค่าลดลงมากในขณะที่ปลามีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับข้าวเปลือก

แผงผลไม้ในตลาดศรีสงคราม 21 ตุลาคม 2560ปลาแห้งในตลาดศรีสงคราม ตัวเล็กกว่าสมัยก่อนมาก 20 ธันวาคม 2561

พัฒนาการของตลาดสดศรีสงคราม (ปากอูน)

ตลาดสดเทศบาลตำบลศรีสงคราม ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านปากอูนเกิดขึ้นพร้อมกับการย้ายกิ่งอำเภอท่าบ่อสงครามจากบ้านท่าบ่อซึ่งห่างไปทางตะวันตกของบ้านปากอูนปัจจุบัน 6 กิโลเมตร สาเหตุที่ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอ เพราะที่ว่าการกิ่งอำเภอเดิมถูกน้ำท่วมเป็นประจำเพราะอยู่ในที่ลุ่มริมแม่น้ำสงคราม มาตั้งที่บ้านปากอูนใน พ.ศ.2485 ซึ่งบริเวณที่ตั้งใหม่ที่สูงกว่าเดิม ต่อมาอีก 11 ปี ก็ยกฐานะเป็นอำเภอศรีสงคราม (และเปลี่ยนชื่อจากท่าบ่อสงครามเป็นศรีสงครามด้วย) ตลาดสดเกิดขึ้นเพื่อให้บริการขายสินค้าให้ข้าราชการและครอบครัวคนจีน คนเวียดนาม และชาวบ้านที่ต้องการสินค้าที่ผลิตไม่ได้ เช่น ตะปู เครื่องมือเหล็ก เช่น มีด ขวาน เลื่อย สิ่ว ค้อน (ซึ่งใช้ในการต่อเรือ) ไม้ขีดไฟ เกลือ น้ำตาล ด้ายตราสมอใช้สานแห ตาข่ายไนล่อน ตลาดสดกับร้านค้าของคนจีนซึ่งตั้งอยู่รอบ ๆ ตลาดสด ให้บริการขายสินค้าเหล่านี้

ตลาดสดตลาดแรกตั้งอยู่บริเวณคิวรถ (ซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของหมู่บ้านปากอูนไปทางตะวันออกราว 300 – 400 เมตร) ต่อมาในราวปี 2500 จึงเกิดตลาดสดที่สองบริเวณบ่อน้ำของหมู่บ้าน มีต้นฉำฉาใหญ่ มีสนามเด็กเล่น และอยู่ใกล้ตลาดห้องแถวของคนจีน พื้นที่ตลาดเป็นรูปสามเหลี่ยม ชาวบ้านจึงเรียกว่า ตลาดสามเหลี่ยม หรือ ตลาดต้นฉำฉา ส่วนตลาดแรกก็ยังคงมีการซื้อขายกันระหว่างแม่ค้าจากบ้านนอกกับแม่ค้าในตลาดสามเหลี่ยม ต่อมาจนมาเลิกจริงในปี 2520 ตลาดสามเหลี่ยมไม่มีอาคาร แม่ค้าวางตะกร้าบนดิน บางคนก็ปูผ้ายางแล้ววางสินค้า ผู้เขียนเคยเห็นในปี 2529 สินค้าส่วนมากเป็นปลา ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล หน่อไม้ เห็ดนานาชนิด แมลง เช่น แมงกุดจี่ แมงเม้า

ตลาดแรกและตลาดที่สอง เป็นตลาดเช้าทั้งคู่ ในระยะหลังมีการสร้างอาคารตลาดสดและขยายเวลาขายตั้งแต่เช้าถึงเย็น ส่วนแม่ค้าที่หาบหิ้วตะกร้ามาขายจะขายเฉพาะช่วงเช้าและเย็น ตลาดสามเหลี่ยมอยู่มาจนปี 2552 มีสภาพทรุดโทรมมาก ทางเทศบาลจึงของบประมาณสร้างอาคารตลาดใหม่ ประกอบกับตรงตลาดสามเหลี่ยมรถติดมาก จึงทุบตลาดทิ้ง และเกิดตลาดสดที่สามซึ่งเป็นตลาดชั่วคราวขึ้นที่หน้าสถานีตำรวจ ช่วงปี 2552 – 2558

ในปี 2558 เกิดตลาดสดที่สี่ตรงห้าแยกติดกับตลาดสามเหลี่ยมเดิม และเลิกขายเมื่อเกิดตลาดที่หก ขณะเดียวกัน เอกชนก็ได้สร้างตลาดสดที่ห้าคือ ตลาดพูนสุข เป็นอาคารสูงโปร่งสะอาด แต่มีข้อเสียคือ อยู่ห่างศูนย์กลางชุมชนมากเกินไปคือราว 2 กิโลเมตรเศษ ลูกค้ายิ่งน้อยผู้เขียนไปสำรวจมีผู้ค้าราว 30 ราย และยังเปิดขายอยู่ในขณะนี้

ตลาดที่หกคือ ตลาดสดปัจจุบัน เทศบาลตำบลศรีสงครามสร้างด้วยงบประมาณ 15 ล้านบาท อยู่ทางทิศเหนือของชุมชนและติดชุมชน มีพื้นที่ 8 ไร่ มีที่จอดรถยนต์ได้เป็นร้อยคัน อาคารสูงโปร่งไม่มีฝา มี 144 แผงถาวรซึ่งสะอาด และจัดสินค้าเป็นโซน และยังมีอาคารห้องแถวชั้นเดียวสร้างรอบ ๆ ตลาดอีก 3 ด้าน เป็นของเอกชน มีราว 50 ห้อง ตลาดสดนี้เปิดใช้งานวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ในปี 2561 ได้รับรางวัล 5 ดาวของกระทรวงสาธารณสุขเป็นตลาดแรกของจังหวัดนครพนม ตลาดนี้ใช้งานคุ้มมากคือใช้งานถึง 3 รอบ กล่าวคือ รอบที่ 1 เริ่มขายตี 1 ถึง 8 โมงเช้า ลูกค้ามีทั้งผู้ค้าขายส่งผัก ผลไม้ ฯลฯ มาส่งผู้ซื้อ ส่วนมากเป็นรถ “พุ่มพวง” ซึ่งเป็นรถกระบะ 50 – 60 คัน ซื้อผัก ผลไม้ ปลาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ของโชห่วยไปขายในหมู่บ้านชนบท (ในช่วงเทศกาลรถพุ่มพวงมีประมาณ100 คัน) มีราว 10 คันที่ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเป็นรถพุ่มพวง การซื้อขายส่วนมากทำในพื้นที่รอบ ๆ ตลาด และร้านห้องแถวรอบตลาดรอบที่ 2 ขายช่วง 8.00 – 14.00 น. เป็นช่วงขายปลีกในตัวอาคารตลาดเท่านั้น รอบที่ 3 ขายช่วง 14.00 – 17.00 น. เป็นตลาดเย็น มีแม่ค้านำผัก ปลา ที่ปลูกที่หาได้มาขาย ผู้เขียนเห็นมีทั้งปลาสด กุ้งฝอย กบ ไข่มดแดง แมลงน้ำ ผักนานาชนิด ผลไม้ และกับข้าวสำเร็จรูป ซึ่งรายการหลังไม่มีขายในรอบที่ 1 และ 2 ค่าเช่าแผง 300 บาท/เดือน ส่วนผู้ค้าจรเก็บรายวัน วันละ 3, 5,10 บาท/ราย แล้วแต่ขนาดของพื้นที่ขาย

ปัจจัยที่ทำให้บ้านปากอูนและตลาดสดศรีสงครามถดถอย

บ้านปากอูนและตลาดศรีสงครามในช่วงต้นรุ่งเรือง เพราะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่บางช่วงและหลายช่วงที่เศรษฐกิจของชุมชนและตลาดสดถดถอยซึ่งจากการสัมภาษณ์แม่ค้าและผู้รู้ประวัติของชุมชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทราบว่า ทางเดินของประวัติศาสตร์หมู่บ้านตลาดสดมิได้เป็นกราฟเส้นตรง แต่มีขึ้นมีลง ซึ่งพอสรุปปัจจัยที่ทำให้ถดถอย 5 ประการคือ

1) การลดลงของป่าบุ่งป่าทาม จากการตั้งโรงงานแปรรูปมะเขือเทศ (ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) การขยายที่ทำกิน ทำให้แหล่งขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำตามธรรมชาติลดลง ส่งผลให้จำนวนปลาลดลง

2) การใช้เครื่องมือจับปลาได้คราวละมาก ๆ ทั้งปลาใหญ่ ปลาเล็ก เช่น สะดุ้งและตาข่ายไนล่อน เริ่มนำมาใช้ในปี 2500 โต่งปี 2513 อวนปี 2490 โต่งเป็นเครื่องมือที่จับปลาได้ถึง 2,400 – 9,000 กิโลกรัม/ครั้ง (ในเวลาเพียงครึ่งวัน) เครื่องมือดังกล่าวส่งผลในระยะแรกคือ ตลาดศรีสงครามขยายตัว เพราะจับปลาได้มาก จนเป็นตลาดปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของอีสานเหนือ แต่ในระยะยาวส่งผลเสียอย่างร้ายแรง ทำให้ปริมาณปลาในแม่น้ำสงครามลดลงและไม่เคยกลับไปมากอีกเลย ปลาที่จับได้ในแม่น้ำสงครามคือ ร้อยละ 78.5 ของปลาทั้งจังหวัด ในปี 2510 ก็ลดเหลือ ร้อยละ 12.7 ในปี 2529 (สพสันต์ เพชรคำ, 2540 : 242 – 273)

3) การขยายตัวของตลาดนัดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในเขตเทศบาลตำบลศรีสงครามมีตลาดนัดทุก 15 ค่ำ หรือเดือนละ 2 ครั้ง และยังมีตลาดนัดนอกเขตเทศบาลตำบลศรีสงครามอีกเดือนละหลายนัด สินค้าที่ขายก็คล้ายคลึงกัน จึงมีส่วนดึงลูกค้าไปจากตลาดศรีสงครามไม่น้อย

4) การขยายตัวของ Modern Trade คือมีห้างโลตัสขนาดกลาง พื้นที่ขายราว 900 ตารางเมตร มาเปิดขายเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา มีที่จอดรถกว้างขวาง มีแอร์เย็น สามารถดึงลูกค้าไปส่วนหนึ่ง

5) ราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้อำนาจการซื้อของเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของตลาดศรีสงครามลดลง

ปัจจัยบวกที่มีต่อบ้านปากอูนและตลาดศรีสงคราม

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าในตลาดศรีสงคราม และผู้บริหารตลาดก็พยายามปรับตัวหลายอย่าง ทำให้ตลาดศรีสงครามซึ่งเป็นเสมือน “ท้อง” ของคนที่นี่ ยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญที่สุดของ อำเภอ ปัจจัยบวกที่ว่าสรุปได้ดังนี้

1) การนำเรือยนต์ – รถยนต์มาใช้ และการ สร้างถนน เมื่อก่อนในแม่น้ำสงครามใช้เรือพาย ขนส่งปลาและหาปลาทำให้หาปลาได้ในรัศมีใกล้ ๆ เมื่อมีคนนำเรือยนต์มาใช้ในปี 2500 เป็นต้นมา ทำให้หาปลาได้ไกลขึ้น และการขนส่งปลาเร็วขึ้น ทำให้ปลามีสภาพสดมากกว่าเดิมเมื่อถึงมือผู้บริโภค ส่วนถนนนั้นมีการลาดยาง ถนนช่วงศรีสงคราม – ท่าอุเทน – นครพนม เสร็จในปี 2516 ทำให้คนเดินทางไปตัวจังหวัดระยะทาง 69 กิโลเมตร ลดเวลา 3 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง ส่วนถนนช่วงศรีสงคราม – นาหว้า – สกลนคร ระยะทาง 63 กิโลเมตร เดิมต้องข้ามแม่น้ำหลายช่วง ใช้เวลา 1 วัน ลดเหลือเพียง 1 ชั่วโมง เมื่อสร้างสะพานและถนนลาดยางเสร็จในปี 2532 ผลที่ตามมาคือ ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างศรีสงครามกับนครพนมและสกลนครรวดเร็วและถูกลง (ปราโมทย์ รักษ์ชุมชน และหทัยรัตน์ รักษ์ชุมชน 2562 ; ประดิษฐ์ เกษมสินธุ์, 2562)

2) การสร้างอาคารตลาดใหม่และเปิดใช้ในปี 2560 ทำให้มีที่ขายที่กว้างขวาง ที่จอดรถพอเพียง ประกอบกับความเอาใจใส่ของผู้บริหารตลาดและความร่วมมือของผู้ขายในการดูแลรักษาความสะอาด การจัดโซนสินค้าที่ดี ทำให้ตลาดนี้ได้รางวัล 5 ดาว ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 นับเป็นตลาดแรกของจังหวัดนครพนมที่ได้รางวัลนี้

3) การปรับตัวของผู้ค้าเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การแปรรูปสินค้าให้ผู้ซื้อสะดวกเวลานำไปประกอบอาหาร เช่น การปั่นเนื้อหมูสำหรับผู้ซื้อที่นำไปปรุงอาหารขาย การหั่นผัก เช่น แครอท ฟักทอง การปั่นกระเทียม การปั่นพริกสด ให้พร้อมปรุงสำหรับผู้ซื้อที่ต้องการ ทำให้ผู้ซื้อสะดวกรวดเร็วในการทำอาหาร ความสดของผัก ปลา ไก่ หมู เนื้อวัว สดกว่าของในห้าง เป็นแรงจูงใจสำคัญให้ผู้ซื้อมาใช้บริการ การที่ผู้ขายช่วยกันรับผิดชอบความสะอาดบริเวณแผงของตนทำให้ตลาดสะอาด จูงใจให้ผู้ซื้ออยากเข้ามาจับจ่ายในตลาดนี้ ตลาดนี้จึงเป็นตลาดที่เป็นตัวอย่างให้ตลาดสดอื่น ๆ ได้

บ้านปากอูนในอดีตเป็นหมู่บ้านประมงที่มีตลาดศรีสงครามเป็นตลาดปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครพนม ผู้คนยังชีพด้วยการจับปลาไปแลกข้าวและสิ่งจำเป็น ต่อมาเมื่อป่าบุ่งป่าทามลดลง ปลาลดลงมากเพราะการนำเครื่องมือประมงแบบทุนนิยมที่จับปลาได้คราวละมาก ๆ มาใช้ ส่งผลให้ตลาดสดและชุมชนถดถอยลง การเปิดตลาดนัดและห้าง Modern Trade ก็มีผลลบต่อตลาด แต่การปรับตัวของชาวปากอูนและผู้บริหารตลาด โดยการสร้างตลาดใหม่ที่กว้างขวาง ที่จอดรถสะดวกและความร่วมมือของผู้ค้าในการรักษาความสะอาดตลาด และการปรับตัวของผู้ค้าหลายอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ตลาดนี้ยังเป็นแหล่งอาหารสดที่สำคัญที่สุดของอำเภอศรีสงคราม

ปลากรายที่ขายในตลาดศรีสงครามตัวเล็กกว่าสมัยก่อนมาก 21 ตุลาคม 2560เห็ดที่ขายใรตลาดศรีสงคราม 21 ตุลาคม 2560

การอ้างอิง

นิลวดี พรหมพักพิง และคณะ. (2562). รายงาน วิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องกำเนิดและพัฒนาการของตลาดสดท้องถิ่นและผู้ค้ารายย่อยในจังหวัดนครพนม. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สพสันต์ เพชรคำ. (2540). ปากยามหมู่บ้านประมงในลุ่มแม่น้ำสงครามกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2546). ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้านอีสาน 2488 2554. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ. (2530). รายงาน การวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชุมชน ลุ่มแม่น้ำสงครามตั้งแต่ .. 2475 ถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ. (2558). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเงินอีสาน. ขอนแก่น:ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ. (2562). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์กำเนิดและพัฒนาการของตลาดสดและผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่นอีสาน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

รายชื่อผู้รู้ที่ให้สัมภาษณ์

ประดิษฐ์ เกษมสินธุ์ 14 เมษายน 2562

ปราโมทย์ รักษ์ชุมชน 25 กุมภาพันธ์ 2561, 14 เมษายน 2562

หทัยรัตน์ รักษ์ชุมชน 25 กุมภาพันธ์ 2561, 14 เมษายน 2562.

 

 

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com