รอด พอเพียง มั่นคงยั่งยืน

รอด พอเพียง มั่นคงยั่งยืน

Focusing on the City ส่องเมือง

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๗

ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐

ภาพ : ก่อพงษ์ พงษพรชาญวิชช์

ประมาณสิบกว่าปีก่อน ทันตแพทย์สุธี สุขสุเดช จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอะเดเลด ประเทศออสเตรเลีย ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง ทุนทางสังคมไทย:ปัจจัยทางสังคมของสุขภาพปาก (The Thai social capital as a social determinant of oral health)

คุณหมอสุธีไปกินนอนสามเดือนกว่าที่ “ศูนย์อินแปง” ที่บ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยใช้กรอบคิดทฤษฎี 3S ที่ผมได้สังเคราะห์จากการทำงานกับชุมชน คือ Survived (รอด) Sufficient (พอเพียง) Sustainable (มั่นคงยั่งยืน)

นับเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่แปลกสำหรับทั้งฝรั่งและไทย คุณหมอสุธีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าปัญหาปากของคนไทยเกี่ยวกับ “ปากท้อง” เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ทุกส่วนรวมกัน ถ้าคนอยู่แบบอด ๆ อยาก ๆ เป็นทุกข์ด้วยปัญหาหนี้สิน การทำมาหากิน ทุกข์ด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม ชุมชนเสื่อมสลาย ผู้คนต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป ก็มีผลกระทบไปถึงสุขภาพปากสุขภาพฟัน

ตรงกันข้าม ถ้าหากผู้คนกินอิ่มนอนอุ่น มีความมั่นคงในชีวิต ชุมชนเข้มแข็ง จารีตประเพณีวิถีชุมชนยังโอบอุ้มและร้อยรัดผู้คนให้เป็นพี่เป็นน้อง เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สุขภาพใจสุขภาพกาย สุขภาพปากย่อมดีไปด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดสุขภาพองค์รวมที่คุ้นเคยกันมานาน

แต่ที่วิทยานิพนธ์นี้ได้รับการชื่นชมเป็นเพราะคุณหมอสุธีลงไปสัมผัสชีวิตจริง และมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ของเครือข่ายอินแปง ที่ได้เรียนรู้จักตนเอง รู้จักศักยภาพที่แท้จริงของตน และพัฒนาพลังภายในนั้นด้วยกระบวนการเรียนรู้ หรือด้วยความรู้ด้วยปัญญามากกว่าด้วย “งบประมาณ”

คุณหมอสุธีได้ชี้ให้เห็นว่า อินแปงได้ผ่านขั้นตอนของ “การอยู่รอด” จากปัญหาหนี้สินและอื่น ๆ มาถึงระดับ “พอเพียง” เกิดระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อพึ่งตนเอง และค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ขั้น “มั่นคงยั่งยืน” ด้วยการขยายเครือข่ายไปยังชุมชนต่าง ๆ ในหลายตำบล อำเภอ และจังหวัดรอบตีนภูพาน

เนื่องจากผมได้ให้คำปรึกษาคุณหมอสุธีระหว่างทำวิทยานิพนธ์ และได้เป็นกรรมการสอบคนหนึ่งได้พบว่า สิ่งที่คุณหมอสุธี “ค้นพบ” และ “ชี้ให้เห็น” เป็นเรื่องเดียวกันกับที่ศาสตราจารย์เจมส์ ซี สก็อต ได้พยายามอธิบายในหนังสือ เศรษฐกิจคุณธรรมของชาวนา (The Moral Economy of the Peasants) ที่เขาได้ศึกษาที่เวียดนามและที่พม่า

ประเด็นร่วมของชุมชนชาวนาไม่ว่าที่เวียดนาม พม่าหรือไทยในสังคมเกษตรกรรม คือความอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันของชุมชน หรือที่เรียกสั้น ๆ ก็ได้ว่า “ทุนทางสังคม” ที่แสดงออกทางจารีตประเพณีวิถีชุมชน กฎระเบียบของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งสะท้อนโลกทัศน์ชีวทัศน์ ความเชื่อ ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ การอยู่แบบเกื้อกูลไม่เอาเปรียบกัน ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ

ปรัชญาชีวิตของสังคมดั้งเดิมจึงน่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ปรัชญาเพื่อความอยู่รอด” ซึ่งอุ้มเอาคำว่าพอเพียงและมั่นคงยั่งยืนไว้ในตัว แตกต่างจาก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งมีฐานคิดบน “เสรีนิยม-ทุนนิยม”

อาจารย์สก็อตพยายามอธิบายว่า กบฏชาวนาไม่ใช่มาจากการลุกขึ้นต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการทำลาย “ทุนทางสังคม” ของชุมชน โดยการนำเอา “ค่านิยม” ของระบบทุน ที่มุ่งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องกำไร เรื่องการผลิต การบริโภคเหนือสิ่งอื่นใด

อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้คิดถึงอันโตนิโ อ  กรัมชี มาร์กซิสต์ที่วิพากษ์คาร์ล มาร์กซ์ว่า เน้นเรื่องการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ กดขี่แรงงาน การใช้อำนาจกฎหมาย อำนาจทุนครอบงำประชาชนเขาบอกว่า การครอบงำที่สำคัญกว่านั้น คือ ครอบงำทางวัฒนธรรม ด้วยการสร้างค่านิยมผิด ๆ ให้สังคมที่ “เชื่อฟัง” เห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัยและไม่โต้เถียง ที่เขาเรียกว่า “hegemony”

ผมโยง ๓ คนเข้าด้วยกัน คุณหมอสุธี อาจารย์สก็อต และอันโตนิโอ กรัมชี เพื่อมาพิจารณาในกรณีของ “อินแปง” ว่า ก่อนเกิดอินแปง ชุมชนบ้านบัวก็เหมือนกับชุมชนหมู่บ้านในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ถูกผลักเข้าสู่ระบบทุนนิยม ปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะเชื่อในนิยายของการพัฒนาที่ว่า “พรุ่งนี้จะรวย” แต่ที่สุดก็เป็นหนี้เป็นสิน เอาสินทรัพย์จากธรรมชาติและของตนไปขายเพื่อจะได้อยู่รอด แต่ก็ “ไม่รอด” ไม่พออยู่และไม่พอกิน ดิ้นรนออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เหลือแต่คนแก่คนเฒ่ากับเด็ก ๆ

ในความเห็นของอาจารย์สก็อตสถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลของการไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ที่ไปทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนจาก “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน” มา “ทำมาค้าขาย” เพราะแนวคิดเบื้องหลังของวิถีการผลิตแบบยังชีพหรือเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน คือ การผลิตเพื่อให้อยู่รอดแบบพึ่งพาอาศัยกัน พึ่งพาอาศัยธรรมชาติพวกเขาอยู่รอดได้ด้วย “ทุนทางสังคม” ไม่ใช่ด้วย “รายได้หรือกำไร”

“ปลอดภัยไว้ก่อน” (safety first) ในทัศนะของอาจารย์สก็อต เป็นหัวใจของเศรษฐกิจยังชีพเพราะชีวิตชาวนาเปรียบได้กับคนอยู่ในน้ำที่สูงขึ้นมาท่วมปาก ระลอกคลื่นเล็ก ๆ ก็อาจท่วมจมูกและทำให้ตายได้ ความเป็นอยู่ในชุมชนจึงเป็นแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน” วัวควายหายก็ช่วยกันตาม น้ำท่วมฝนแล้งไม่มีข้าวกินก็ไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรที่อยู่ไกลออกไปที่มีข้าว มีอะไรติดไม้ติดมือไปฝาก

สิ่งที่เกิดกับอินแปงไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาปากท้องด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม “ยกป่ามาไว้บ้าน ยกภูพานมาไว้สวน” จัดการเรื่องอาหารให้พอเพียง แต่เรื่องการฟื้นฟูความเป็นชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชน จากกลุ่มผู้นำเล็ก ๆ ขยายออกไปเป็นเครือข่ายยังชุมชนอื่น

หวายที่ชาวบ้านเคยเก็บในป่ามากินสมัยก่อนได้หมดไป เมื่อชาวบ้านเป็นหนี้และตัดไปขายเพื่อหาเงินใช้หนี้จนหวายหมดป่า แม้หวายจะมีมากมายเพราะธรรมชาติช่วยปลูก แต่ก็โตไม่ทันดอกเบี้ย เมื่อได้เรียนรู้และเพาะพันธุ์หวายปลูกไว้เต็มสวนเช่นเดียวกันพืชอื่น ๆ อีกหลายร้อยชนิดก็มีกินมีใช้ ตอนฉลอง ๒๕ ปี ชาวอินแปงได้สรุปกันว่า ๒๕ ปีที่ผ่านมา ได้เพาะกล้าหวายได้กว่า ๕๐ ล้านต้น

อย่างที่ได้เล่าไปในบทความฉบับที่แล้วการฟื้นฟูการทำมาหากินแบบพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ และพึ่งพาอาศัยกันของอินแปงเป็นการฟื้นเศรษฐกิจคุณธรรมที่ไม่ได้เอากำไรเป็นตัวตั้ง แต่เอา “การอยู่รอดร่วมกัน” เป็นตัวตั้ง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจคุณธรรม

ระบบทุนนิยมใช้เงินแทนทุกอย่าง เอากำไรเป็นเป้าหมาย ทำลายทุนทางสังคม ทำลายระบบคุณค่าที่ทำผู้คนอยู่รอดได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ระบบทุนนิยมทำให้ไปพึ่งทุน พึ่งนายทุนเกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่ให้ความมั่นใจชาวนาว่าจะรอด กลายเป็นการครอบงำ ที่นำไปสู่การกดขี่และเอาเปรียบอีกแบบหนึ่ง

นักการเมือง พรรคการเมืองที่ “เข้าใจ” เรื่องนี้ที่ผ่านมาจึงมักทำตัวเป็น “ผีบุญ” ที่เสนอ “ทางรอด” ให้ชาวนาที่น้ำท่วมปากและกำลังจะท่วมจมูก นโยบายประชานิยมจึงถูกปล่อยออกมา โดยไม่ให้ความสนใจกับการสร้าง “ชุมชนเข้มแข็ง” อย่างจริงจัง

เพราะที่พยายามทำนั้นเป็นการอัดฉีดด้วยงบประมาณโครงการต่าง ๆ คล้ายกับการฉีดยาที่ทำให้ร่างกาย “บวม” ไม่ได้ทำให้แข็งแรง อาจแก้ปัญหาได้ชั่วคราว ชาวนาไม่ได้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แต่เป็นนายทุน ข้าราชการ รัฐบาลมากกว่า ขณะที่ชาวนาก็ต้องช่วยตัวเอง ดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดต่อไป

หรือที่ทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เหมือนที่นักล่าอาณานิคมไปถึงไหนก็ทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำลายทุนท้องถิ่น ทั้งทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคมคนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของท้องถิ่น เจ้าของประเทศจึงอ่อนแอ

เป็นเหมือนลูกไก่อยู่ในกำมือ บีบก็ตายคลายก็รอด ไม่มีพลังต่อต้านใด ๆ แม้จะมีกบฏชาวนาที่ทนการกดขี่ข่มเหงไม่ได้ แต่ก็เป็นเพียง “กบฏ” ไม่สามารถเอาชนะอำนาจจากภายนอกได้ เพราะทุนทางสังคมที่ถูกทำลาย ทำให้ชุมชนอ่อนแอไม่สามารถปกป้องตนเองได้

ระบบอุปถัมภ์ใหม่ ชาวนาต้องพึ่งพาอาศัยทั้งนายทุน พ่อค้า ข้าราชการ รัฐบาล ตัดการพึ่งพาอาศัยกัน ตัดทุนทางสังคมออกไป เหลือไว้แต่เพียง “พิธีกรรม” ที่ทุนนิยมก็ยังตามไปกระหน่ำนำเอามา “ขาย” ไม่ว่าพิธีกรรมเข้าพรรษา ออกพรรษา ผีตาโขน อ้างว่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ พัฒนาประเทศ

ตัดการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติออกไปรณรงค์ให้ใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ทำให้ดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษอากาศเป็นพิษ สิ่งแวดล้อมล่มสลาย ชาวนาเจ็บป่วยล้มตาย นายทุนไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะกำไรสำคัญกว่า อย่างที่เราเห็นการต่อสู้เรื่องสารเคมีร้ายแรง “พาราควอต” ที่ประเทศต่าง ๆ เขาห้ามใช้ แต่คนไทยโดยนายทุนทำทุกอย่างเพื่อให้ใช้ต่อไป อ้างว่าถ้าไม่ใช้สารเคมีเหล่านั้น ชาวนาจะต้องลงทุนการผลิตแพงขึ้นหลายเท่า แต่ไม่บอกว่าทุนตนเองจะหาย กำไรจะหดไปกี่หมื่นล้าน

โลกวันนี้กำลังมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญกำลังโหยหาธรรมชาติ อยากคืนดีกับธรรมชาติเพราะรับรู้หายนะที่กำลังเกิดขึ้นจากน้ำมือของตนเอง ที่ยึดมั่นในทุนนิยมและบริโภคนิยมแบบสามานย์ที่ทำลายล้าง จึงพยายามปรับความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ปรับวิถีการผลิต วิถีชีวิตเพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและให้เกิด “ความสมดุล” มากกว่าที่ผ่านมา

เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย อาหารสุขภาพ เสื้อผ้าทอมือ ย้อมสีธรรมชาติกระบวนการผลิตข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ใช้สารเคมีอันตราย พลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติโดยเฉพาะแสงแดดและลม ซึ่งกำลังจะมาแทนพลังงานฟอสซิล คือ ก๊าซ น้ำมัน ถ่านหิน และแม้กระทั่งพลังงานปรมาณู

มีการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น การคืนสู่รากเหง้า เอกลักษณ์อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ชนเผ่าก็กลับมา เห็นคุณค่าของการละเล่น ดนตรีพื้นบ้านอาหารพื้นเมือง ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น ดูถูกดูหมิ่นคนบ้านนอกคอกนา ชาวเขาชาวดอยน้อยลงกว่าเดิม

คนอยากไปเที่ยวทุ่งนาป่าเขา อยากชมธรรมชาติที่ไม่เพียงแต่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแต่รวมไปถึงวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ที่เมื่อก่อนไม่มีใครสนใจ เพราะเห็นว่าเป็นของ “บ้าน ๆ” วันนี้กลับมีเสน่ห์ อยากไปท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเกษตร ท่องเที่ยวนิเวศ ตลาดน้ำที่เกิดขึ้นมากมายก็มาจากการฟื้นฟูหรือสืบทอดวิถีดั้งเดิมของชุมชน มีโรงแรมห้าดาวที่ตื่นเช้าขึ้นมาเห็นทุ่งนาป่าเขา เห็นธรรมชาติมีควายไถนา มีคนดำนา เกี่ยวข้าวให้ดู ค่าที่พักคืนหนึ่งสามสี่หมื่นบาท เต็มทั้งปี

กระนั้นก็ดี แม้แนวทางการพัฒนาดังกล่าวจะฟื้นฟูคุณค่าดั้งเดิม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน และธรรมชาติ แต่โดยมากมักเด็ดยอดภูมิปัญญาเพื่อหาประโยชน์ กำไร โดยไม่เข้าใจคุณค่าแบบองค์รวม แยกส่วนและลดทอนเรื่องที่ซับซ้อนที่เป็นชีวิต และจิตวิญญาณ ของชุมชนลงมาเหลือแค่เรื่องเศรษฐกิจ

กระบวนการนี้ที่ดูเหมือนจะดีจึงต้องตั้งคำถามว่า ทำให้ชาวนา “รอด” ได้จริงหรือไม่รอดแล้วจะ “พอเพียง” ได้อย่างไร และจะ “มั่นคงยั่งยืน” ได้อย่างไร

แต่เดิม อุดมคติของชาวนาในยุคเศรษฐกิจยังชีพเป็นการอยู่รอด และก็น่าจะอยู่รอดได้จริงแม้จะไม่สะดวกไม่สบายเพราะไม่มีน้ำประปาไม่มีไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีหนี้สินและความทุกข์แบบยุคที่เต็มไปด้วยเงินทอง และข้าวของเครื่องใช้ เพื่อการบริโภคแบบทุกวันนี้

เราคงกลับไปอยู่ในยุคยังชีพหรือเฮ็ดอยู่เฮ็ดกินแบบเดิมไม่ได้ สิ่งที่ท้าทายคือ ทำอย่างไรจะสืบทอดคุณค่าดีงามของบรรพบุรุษในยุคนั้นสืบทอดทุนทางสังคมของชุมชนในรูปแบบที่เหมาะสมกับสังคมวันนี้ ที่ความจริงกระแสการเปลี่ยนแปลงก็กำลังกลับมาหาชุมชน กลับมาหาธรรมชาติ กลับมาค้นหาและสืบทอดภูมิปัญญาและมรดกของชุมชน

กรณีอินแปงและอีกหลายชุมชน หลายเครือข่ายในประเทศไทยได้พิสูจน์ว่า ทุนทางสังคมไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแบบวันวานยังหวานอยู่ของผู้โหยหาสวรรค์หาย หากเป็นเรื่องที่โลกวันนี้ขาดหาย ไม่มีและต้องการจะมี อยากได้กลับคืนมา เพราะตนเองได้ทำลายไปด้วยแนวคิดที่เอาเงิน เอากำไรเป็นตัวตั้ง

ถ้าเชื่อในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้เกิดขึ้นแน่ ไม่กี่ปีรถยนต์ใช้นำมันจะไม่ได้วิ่งบนถนนอีกต่อไปหลายประเทศกำหนดไว้เป็นนโยบายและเป้าหมายแล้ว มลพิษในอากาศจะลดลง อาหารการกินจะปลอดภัยมากขึ้น กระบวนการคืนสู่ธรรมชาติ คืนสู่รากเหง้าจะขยายผลและแสดงพลังออกมา

คนเล็ก ๆ ชุมชนเล็ก ๆ เครือข่ายเล็ก ๆ ล้วนแต่เล็กและมีพลัง (small is beautiful and powerful) ที่ส่งผลกระทบไปสู่สังคม สู่โลก สู่จักรวาล แบบ “ผีเสื้อกระพือปีก พสุธาสะท้านไหว” เพราะสรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กันเป็นหนึ่ง “เด็ดดอกไม้ดอกเดียว กระเทือนถึงดวงดาว” ที่ไอน์สไตน์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้พิสูจน์แล้วอย่างชัดเจน

สอดคล้องกับที่พระอรหันต์เกจิอาจารย์ท่านสอนว่า การแผ่เมตตา อโหสิกรรมนั้น ส่งผลดีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่นที่เป็นเป้าหมาย และมีผลกระทบไปถึงสรรพสิ่ง

ทุนทางสังคมจึงไม่ใช่เพียง สังคมของคนกับคน แต่คนกับธรรมชาติ คนกับสรรพสิ่งคือสิ่งที่ร้อยรัดทุกสิ่งทุกอย่างให้รวมกันเป็นหนึ่ง และหากเชื่อแบบคนไทยคนตะวันออก ก็รวมถึง ที่และเวลา” (space and time) คือรวมอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งชาติก่อนชาตินี้ และชาติหน้า

เป็นเอกภาพของสรรพสิ่งที่เป็นเอกภพเป็นนิรันดรภาพของกาลเวลาที่รวมอยู่ในขณะเดียว


Related Posts

มะเขือในครัวไทย
คนสร้างพิณ พิณสร้างคน โดยอาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์
วิธีระงับโกรธ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com