การปรากฏตัวของนักการเมืองคนกล้า กับฉากอำลาตำแหน่งนายกฯ ของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (๕)

การปรากฏตัวของนักการเมืองคนกล้า
กับฉากอำลาตำแหน่งนายกฯ
ของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (๕)


ก่อนจะพูดถึงบทบาทของ ส.ส. อีสานรุ่นที่ ๒ จากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และเป็นกลุ่มนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองอีสาน และของประเทศไทย ควรจะทำความเข้าใจบทบาทชีวิตทางการเมืองของพันเอกพระยาพหลฯ นายทหารนักประชาธิปไตย เพื่อจดจำรำลึกถึงคุณูปการของท่านเพิ่มเติมจากที่เขียนไว้ในบทที่สี่

ตามประวัติชีวิตของ พันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งบันทึกโดย ส.พลายน้อย และมอบให้สำนักพิมพ์มติชน จัดพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษชื่อ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์ ได้กล่าวถึงว่าพันเอกพระยาพหลฯเป็นคนสมถะ มีความเป็นอยู่เรียบง่าย มีนิสัยใจคอสุขุม เยือกเย็นเป็นคนเรียบร้อยก็ว่าได้

ที่สำคัญคือเป็นคนซื่อตรงต่อมิตร ไม่คิดทรยศหักหลังใคร ไม่ฝักใฝ่ในอำนาจ แม้ว่าท่านจะรับเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จ ท่านก็ไม่ปรารถนาตำแหน่งและท่านนั่นเองเป็นผู้แนะนำพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต่อนายทหารและคณะราษฎรที่ร่วมการปฏิวัติ (แต่จะแนะนำโดยการเสนอแนะของคณะราษฎรท่านใดไม่มีบันทึกไว้-ผู้เขียน) ต่อมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ้นมลทินจากข้อหาคอมมิวนิสต์

ย้อนไปพูดถึงตอนที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก ส. พลายน้อย บันทึกไว้ว่า ในวันเดินทางนั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ผู้ที่เคารพนับถือไปส่งที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานั้น ได้สวมกอดหลวงประดิษฐ์ฯ แสดงความอาลัยต่อหน้าประชาชนเป็นเวลานาน โดยไม่เกรงกลัวต่อคำครหาว่าจะเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ เหมือนดังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถูกกล่าวหา

การสอบสวนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ มีขึ้นภายหลังจากพันเอกพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดที่ ๕ แล้ว ส.พลายน้อย บันทึกไว้ว่าคณะกรรมาธิการได้เชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาสอบถามความคิดเห็น และพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหาเลย

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๗๗ ได้มีการพิจารณาเรื่องมติของคณะกรรมาธิการด้วย แล้วมีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมาธิการ

พันเอกพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้แถลงความในใจต่อที่ประชุมฯ เนื้อความโดยย่อมีว่าท่านไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างหลวงประดิษฐ์ฯ ทั้งที่ท่านก็รู้อยู่แก่ใจว่า หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนบริสุทธิ์มิได้เป็นไปตามข้อกล่าวหา แต่ท่านปล่อยให้ความจริงมันคลี่คลายออกมาเอง ที่ท่านสวมกอดหลวงประดิษฐ์ฯ ในวันเดินทางไปลงเรือนั้น ท่านก็ไม่กลัวว่าใครจะกล่าวหาอะไรท่าน เพราะท่านเชื่อว่าวันหนึ่งความยุติธรรมก็ย่อมเป็นความยุติธรรม

คนไม่ผิด และคนดี ๆ แท้ ๆ แต่ทว่าพูดไม่ออก เพราะไม่รู้จะเอาอะไรแสดงให้แลเห็นว่า คนดีถูกกล่าวหา ถูกเอาดินหม้อทาหน้า…

ข้าพเจ้าบอกกับหลวงประดิษฐ์ฯ ทีหลังว่า นี่คุณหลวงมีความรู้ดี แต่คุณหลวงขาดความชำนาญในเรื่องรู้จักมักคุ้นนิสัยของพวกเรา ในข้าราชการยังไม่ดีแท้ ข้าพเจ้าโดนอย่างนี้มาหลายครั้งหลายหนจึงได้รู้สึก แต่หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นคนมีความรู้แต่หาได้เคยชำนิชำนาญเช่นกับเรื่องที่จะทำไปในการเมืองก็ดี คนทำราชการก็ดี จึงได้พลาดท่าลงนอนหงายทีเดียว…

เป็นอันว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ้นมลทินจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ

แต่ความระแวงแคลงใจในตัว ดร.ปรีดี พนม ยงค์ เจ้าของร่างเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ หาได้หมดสิ้นไปจากใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ เพราะในห้วงเวลาเดียวกันนี้ ขบวนการคอมมิวนิสต์ตัวจริงในนามพรรคคอมมิวนิสต์สยาม (พคส.) ยังดำเนินการใต้ดินอยู่อย่างขะมักเขม้น

พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพของฝ่ายอนุรักษ์อำนาจนิยมที่ใช้กำราบปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองทั้งนักการเมือง และผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทั้งหลาย โดยไม่จำกัดว่าใครเป็นใคร เพียงมีความคิดเห็นต่างก็สามารถตั้งข้อหาจับกุมคุมขัง โดยไม่มีการสอบสวน (ขังลืม) ได้ กฎหมายนี้ใช้มายาวนานเกือบ ๗๐ ปี เพิ่งถูกยกเลิกในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ปี ๒๕๔๔

เตียง ศิริขันธ์ จ.สกลนครทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จ.อุบลราชธานีถวิล อุดล จ.ร้อยเอ็ดจำลอง ดาวเรือง จ.มหาสารคาม

การปรากฏตัวของกลุ่มนักการเมืองคนกล้าจากอีสาน

ได้นำเสนอไว้ในบทที่สี่แล้วว่า ในห้วงแรกของระบอบใหม่ พันเอกพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีได้เผชิญกับปัญหาท้าทายจากกลุ่มอำนาจเก่าที่พยายามหาทางฟื้นอำนาจ และจากสมาชิกสภาฯที่ยังขาดประสบการณ์ นอกนั้นสมาชิกในคณะราษฎรก็เริ่มมีความคิดเห็นแตกต่างกระทั่งขัดแย้งกัน รัฐมนตรีอยู่ร่วมกันได้เพียงเพราะบุคลิกของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (เดวิด เค วัย อาจประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป – อ้างแล้ว)

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้รับความนิยม เนื่องจากประสบความสำเร็จในการเจรจาแก้ไขเรื่องสนธิสัญญากับมหาอำนาจตะวันตก จนสามารถยืนยันอำนาจอธิปไตยของสยามโดยสมบูรณ์ แต่อิทธิพลเรื่องนโยบายภายในและเรื่องเศรษฐกิจลดน้อยลงไป ขณะที่บารมีของนายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำลังเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรก็เข้มแข็งมากขึ้น ได้คัดค้านงบประมาณที่สูงขึ้น (เป็นสองเท่า) ของฝ่ายทหาร กลุ่ม ส.ส.จากอีสาน มีนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าในการคัดค้านนี้ และกลุ่มนี้มีแนวโน้มสนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในทางการเมือง

ภาพการทำหน้าที่อย่างแข็งขันจริงจัง ของส.ส.จากอีสาน เห็นได้จากข้อเขียนของ ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ ในหนังสือ การเมืองสองฝั่งโขง ซึ่งยกเอาบันทึกของ นายสนิท เจริญรัฐอดีต ส.ส.นครราชสีมา รุ่นแรกที่กล่าวไว้ว่า

ในสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สองรุ่นแรกนั้นปรากฏว่า ส.ส.ที่ลุกขึ้นอภิปรายมากที่สุด และเอะอะมะเทิ่งที่สุด คือ เหล่า ส.ส.ของ ๑๔ จังหวัดในภาคอีสาน เจ้าคุณพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีรู้สึกพิศวง ถึงกับเคยเอ่ยปากถามข้าพเจ้าระหว่างหยุดพักการประชุมรับประทานอาหารว่างตอนบ่ายวันหนึ่ง ในปีแรกของสภาชุดนั้นว่า ทำไมพวก ส.ส.ทางภาคอีสานจึง เฮี้ยว นักข้าพเจ้าบอกท่านว่า เพราะราษฎรในภาคอีสานนั้นมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ไม่ได้รับความเหลียวแลช่วยเหลือของรัฐบาลตามสมควร การประกอบอาชีพก็ต้องต่อสู้กับธรรมชาติอันโหดร้ายไปโดยยถากรรมแท้ ๆ การส่งเสริมต่าง ๆ ที่รัฐควรจะทำได้บ้าง เช่น ชลประทานและการขนส่งก็ไม่ได้ทำให้ แล้วจะไม่ให้พวกผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานรุ่นแรกส่งเสียงเอ็ดอึงไปทั้งสภาอย่างไรได้

สมาชิกสภาผู้แทนรุ่นที่ ๒ มี ส.ส.ประเภทที่ ๑ เพิ่มขึ้นเป็น ๙๑ คน เป็น ส.ส.อีสานจำนวน ๒๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๘ ของ ส.ส.ทั้งประเทศ มีส.ส.เก่าจากรุ่นแรกได้รับเลือกกลับเข้าสภาฯ อีกเพียง ๓ คน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเลียง ไชยกาล จากอุบลราชธานี และ ขุนวรสิษฐ์ ดรุณเวทย์ จากหนองคาย ซึ่งทั้งสามคนนี้มี

นี่แสดงถึงคุณภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้งของราษฎรในภาคอีสานเป็นอย่างดีว่า แม้เป็นภูมิภาคที่ล้าหลังในด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ขาดไร้ในหลายด้าน และมีความด้อยในด้านการศึกษาแต่ทว่าประชาชนในภาคอีสานก็เอาใจใส่ติดตามการทำหน้าที่ในสภาฯ ของผู้แทนของตน ว่าใครเป็นอย่างไร ใครมีบทบาทหรือไม่มี คนที่ทำหน้าที่ได้เข้มแข็งจริงจังและซื่อสัตย์ ยืนหยัดเคียงข้างประชาชน เอาใจใส่ทุกข์ร้อนของตน นำไปช่วยเหลือแก้ไขในสภาฯ จึงได้รับเลือกกลับเข้ามาอีกบทบาทสูงมากในสภาฯ ชุดที่ผ่านมาถือเป็นบรรทัดฐานในการใช้สิทธิลือกตั้งที่ถูกต้อง

ส.ส.อีสานรุ่นที่ ๒ ผู้มีเชื้อสายมาจากข้าราชการก็มี นายเทพ โชตินุชิต ส.ส.ขุขันธ์ เคยรับราชการที่ขุขันธ์ ๒ ปี, นายโสภัณ สุภธีระ ส.ส.ขอนแก่นเคยรับราชการเป็นครูและนายอำเภอ, นายพุฒเทศ กาญจนเสริม ส.ส.ขุขันธ์อีกคน ก็เคยรับราชการมาก่อน, นอกนั้นก็มี นายอ้วน นาครทรรพ ส.ส.อุดรธานี ผู้เป็นนายแพทย์, นายผล แสนสระดี ส.ส.ขอนแก่น เป็นบุตรข้าราชการตำรวจ, นายเลื่อน พงษ์โสภณ ส.ส.นครราชสีมา จบการบินจากสหรัฐอเมริกา และ นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ ส.ส.ร้อยเอ็ด เคยรับราชการมาก่อน

ส่วนพ่อค้าหรือนายฮ้อย ในท้องถิ่นก็มี นายเตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร พ่อเป็นพ่อค้าผู้กว้างขวางในอีสานเหนือ นายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งจะเป็นนักการเมืองคนสำคัญของประเทศไทยต่อไป จบ ป.ม. จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนรับราชการเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล นายเตียงเคยถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์ เมื่อปี ๒๔๗๖ ถูกขังนาน ๓ เดือน ภายหลังตำรวจตรวจสอบแล้วไม่มีหลักฐานอะไรก็ได้รับการปล่อยตัวออกมา (ประวัติโดยละเอียดของนายเตียง ศิริขันธ์ อ่านได้จากหนังสือชุด รำลึก ๑๐๐ ปี ขุนพลภูพาน ทั้ง ๓ เล่ม สำนักพิมพ์แม่คำผางจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปี ๒๕๕๓ – ผู้เขียน)

นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นลูกพ่อค้ามีฐานะดี มีใจโอบอ้อมอารี เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในร้อยเอ็ด นายถวิลเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบเช่นเดียวกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จบเนติบัณฑิต ประกอบอาชีพทนายความที่กรุงเทพฯและที่อุบลราชธานี ต่อมาเข้ารับราชการที่กรมราชทัณฑ์ แล้วโอนไปเป็นผู้ตรวจการเทศบาลที่อุบลฯ

กลุ่มที่มาจากเชื้อสายชาวนา และมีบทบาทสำคัญในอนาคต ก็มี นายจำลอง ดาวเรือง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม ลูกชาวนาจากบ้านหนองคู ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม อีกคนก็คือ นายฟอง สิทธิธรรม ส.ส.อุบลราชธานีคนใหม่ เป็นลูกชาวนาจากบ้านมะขามน้อย ตำบลหนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จบเนติบัณฑิตเช่นเดียวกัน ส.ส. อีสานรุ่นเดียวกัน รับราชการครู เคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัด และเป็นเสมียนตุลาการศาลมาก่อน ส.ส.อุบลฯ อีกคนก็คือ นายทิม ภูริพัฒน์ พี่ชายแท้ ๆ ของนายทองอินทร์ เป็นคนที่เข้ามาแทนที่นายเนย สุจิมา ส.ส.อุบลฯ รุ่นแรกที่ไม่ค่อยมีบทบาทเด่น

นอกนั้น ก็มี นายปรึกษ์ แก้วปลั่ง ส.ส.สุรินทร์, ขุนจรรยาวิเศษ และ นายทองดี ณ กาฬสินธุ์ ส.ส.มหาสารคาม (กาฬสินธุ์ถูกยุบมารวมกับมหาสารคาม), นายทัน พรหมมิทธิกุล ส.ส.บุรีรัมย์ เคยเป็นชาวนาและครูประชาบาล, นายสอน พงศ์สุวรรณ ส.ส.ชัยภูมิ, นายพันธุ์ อินทุวงศ์ ส.ส.นครพนม เคยเป็นผู้ตรวจการเทศบาล, ร.ต.ปุ่น สิทธิเวทย์ ส.ส.นครราชสีมา (ท่านผู้นี้เคยสมัครเป็น ส.ส.ชัยภูมิแต่สอบตกมาก่อน), นายเอี่ยม สุภาพกุล และ นายเฉลิม ศรีประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา และ นายบรรณ์ สวันตรัจฉ์ ส.ส.สุรินทร์ ซึ่ง ส.ส.อีสานส่วนใหญ่นี้ ล้วนมีการศึกษาสูง และผ่านการรับราชการมาทั้งสิ้น


พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

ฉากอำลาตำแหน่งนายกฯ ของนายทหารนักประชาธิปไตย

ควรจะบันทึกไว้สักหน่อยว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้น เมื่อถูกยึดอำนาจในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ ก็เดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่ปีนัง และถึงแก่อสัญกรรมที่นั่น

สำหรับนายพันเอกพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒ ของประเทศไทย ส.พลายน้อย บันทึกไว้ (อ้างแล้ว) ว่า ท่านเป็นนักเรียนนายร้อยเยอรมนีมีเพื่อนร่วมรุ่นที่โด่งดังระดับโลก คือ พลเอกเกอริง มือขวาของฮิตเลอร์ หัวหน้าพรรคนาซี ผู้นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกคนคือพลเอกฮิเดกิ  โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้นำญี่ปุ่นร่วมรบกับเยอรมนี และอิตาลี ซึ่งมีมุสโสลินีผู้นำพรรคฟาสซิสต์เป็นฝ่ายอักษะ

สามเกลอจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนีเป็นเพื่อนสนิท ที่เคยประดาบกันมาแล้ว และล้วนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในประเทศของตน ต่างแต่พลเอกพจน์ พหลโยธิน (ชื่อจริงของท่าน) หรือพระยาพหลฯ ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศเข้าสู่สงครามและลงจากตำแหน่งด้วยความสงบ

พันเอกพระยาพหลฯ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ รุ่นที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๐ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายของท่าน

ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ สรุปไว้ว่า ในระยะหลัง ๆ ของรัฐบาลชุดนี้ ต้องประสบปัญหารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกสภาฯที่ทำหน้าอย่างแข็งขันในการควบคุมการบริหารของรัฐบาล เป็นเหตุให้มีความขัดแย้งกันบ่อยระหว่างรัฐบาลกับสมาชิกสภาฯ

เฉพาะ ส.ส.อีสานในรุ่นที่ ๒ นี้ มีโอกาสแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสภาฯ กันทุกคน ต่างกันแต่ว่ามากบ้างน้อยบ้าง ดาวเด่นก็ยังเป็นนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเลียง ไชยกาล จากอุบลฯ ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้วจากสภาฯ ชุดที่ ๑ ส่วน ส.ส. หน้าใหม่ที่ฉายแววโดดเด่นขึ้นมาก็มีนายเทพ โชตินุชิต จากขุขันธ์ ซึ่งอภิปรายมากกว่าคนอื่น ตามมาด้วยนายเตียง ศิริขันธ์ จากสกลนคร นายจำลอง ดาวเรือง จากมหาสารคาม นายฟอง สิทธิธรรม จากอุบลฯ และนายถวิล อุดล จากร้อยเอ็ด เป็นต้น

เฉพาะนายจำลอง ดาวเรือง อาจจะยังไม่เผยบทบาทนักในสมัยแรก แต่ก็เป็นประเภทเสือซุ่มเหมือนนักมวยซุ่มซ้อมรอวันขึ้นเวที (นายจำลองเคยเป็นนักมวยชกหาเงินมาก่อน) ส่วนนายถวิลอุดล นั้น อาจเป็นคนพูดน้อย แต่ทว่าต่อยหนักหนักอย่างไร ในท้ายบทที่ห้านี้จะได้เห็นน้ำหนัก(คำพูดอภิปราย) ของเขา ว่าน็อครัฐบาลพระยาพหลฯลงได้อย่างไร

ส.ส.อีสานคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เอ่ยชื่อก็ใช่ว่าจะไม่มีบทบาทในสภาฯ หากแต่ทุกคนต่างมุ่งมั่นทำหน้าที่ ไม่อภิปรายโดยตรงก็ร่วมลงชื่อหรือยกมือสนับสนุนในญัตติต่าง ๆ ของ ส.ส.อีสานด้วยกันแสดงให้เห็นความพยายามในการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับรัฐบาล เพราะได้เห็นตัวอย่างมาแล้วจาก ส.ส.รุ่นแรกว่า คนที่ทำตัวเงียบหงอย ไม่ค่อยมีบทบาทอะไรในสภาฯ นั้น ล้วนถูกประชาชนในพื้นที่ของตนคัดออก ไม่เลือกเข้าสภาฯ อีก กลายเป็น ส.ต. ไป แทนที่จะเป็น ส.ส. (ส.ต. ก็สอบตกน่ะซี – ผู้เขียน)

พีรยา มหากิตติคุณ เขียนไว้ใน แนวคิดและบทบาททางการเมืองของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อ้างมาแล้ว) ว่า บรรยากาศในการประชุมสภาฯ ชุดที่ ๒ นี้ เต็มไปด้วย “ความวุ่นวาย” อันเกิดจากความกระตือรือร้นในการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาฯ ที่ต้องการสร้างชื่อเสียงและเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง มีการตั้งกระทู้ ยื่นญัตติและร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่สภาฯ เป็นจำนวนมากสมาชิกฯ บางนายใช้วาจาก้าวร้าวรุนแรง ไม่เคารพต่อข้อบังคับการประชุมฯ เป็นเหตุให้มีปากเสียงกับประธานสภาฯ บ่อยครั้ง

ถ้าเปรียบกับสภาผู้แทนยุคหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ คือในปี ๒๕๑๘ ซึ่งมี ท่านประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือ “โคว้ตงหมง” ส.ส.ฉะเชิงเทรา เป็นประธานสภาฯ ก็ต้องใช้คำว่า “ยุ่งตายห่ะ !”

แล้วในยุคปัจจุบัน สภาผู้แทนฯ ที่มี ท่านสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่นเป็นประธานเจอ ส.ส. ผู้มีเกียรติกระชากแขนลงจากบัลลังก์แย่งเก้าอี้ประธานฯ และปาแฟ้มใส่ จะใช้วาทะสะท้อนเหตุการณ์นี้ว่า “เอ้า อยากได้เอาไปเล้ย !” อย่างนี้จะตรงไหมครับ ?

สำหรับนายกรัฐมนตรี ผู้มีความสุขุม เยือกเย็น เป็นสุภาพบุรุษแท้ อย่างพระยาพหลฯ ท่านใช้ความอดทนนั่งฟังสมาชิกฯ อภิปรายงบประมาณยืดยาว ๒ วัน ๕ วันได้ อย่างดีท่านก็กล่าวตักเตือนเพียงว่า “อย่าให้มันหนักนัก !”

บ้าน “ดิษยบุตรปาร์ตี้” ยังเป็นที่ชุมนุมพบปะของสมาชิกฯ ฝ่ายค้าน และมีโอกาสต้อนรับสมาชิกใหม่จากภาคอีสาน คือนายถวิล อุดล(ร้อยเอ็ด), นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร), นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม), นายพันธุ์ อินทุวงศ์ (นครพนม), นายฟอง สิทธิธรรม และนายทิม ภูริพัฒน์ (อุบลฯ), นายเทพ โชตินุชิต (ขุขันธ์), นายปรึกษ์ แก้วปลั่ง (สุรินทร์), นายอ้วน นาครทรรพ(อุดรธานี) นอกนั้นก็มาจากภาคอื่น รวมแล้วก็มีประมาณ ๓๓ เสียง

การทำหน้าที่ในสภาฯ ของสมาชิกฯ กลุ่มนี้แข็งขันมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ. หรือการอภิปรายงบประมาณ จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีกล่าวตักเตือนนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้มีประสบการณ์จากสภาฯ ชุดแรก และสนใจติดตาม พ.ร.บ. งบประมาณอย่างจริงจัง ได้รับการเสนอชื่อและเลือกจากสมาชิกให้เป็นกรรมาธิการคณะต่าง ๆ โดยเฉพาะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ถือเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสมาชิกฝ่ายค้าน

สำหรับนายเตียง ศิริขันธ์ แม้จะเป็นสมาชิกหน้าใหม่ แต่ก็มีบทบาทสำคัญในกลุ่มฝ่ายค้านอย่างร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่เขาเสนอเข้าสภาฯ แม้ว่าจะตกไป แต่แสดงให้เห็นเจตนาของฝ่ายค้านว่า ต้องการให้รัฐบาลเปิดให้มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายนอกจากนายทองอินทร์แล้ว นายเตียงก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่แสดงออกในทางคัดค้านการทุ่มงบประมาณทางทหารถึงกับตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีกลาโหมในสภาฯ

ส่วนนายเลียง ไชยกาล แม้ลดบทบาทในการอภิปรายลง แต่ก็คงความสำคัญในหมู่สมาชิกฯฝ่ายค้าน ดังเมื่อกระแสต่อต้านชาวจีนในไทยเกิดขึ้น โดยคำปาฐกถาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของหลวงวิจิตรวาทการ รัฐมนตรี (ผู้แสดงออกว่าสนับสนุนนายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รมต.กลาโหม ในการเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง) เรื่อง“การรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมัน” เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากตาม นสพ. โดยเฉพาะข้อความทำนองว่า“จีนยิ่งกว่ายิว” ซึ่งในขณะนั้น พรรคนาซีเยอรมนีโดยฮิตเลอร์ผู้นำโจมตีชาวยิวอย่างหนัก นสพ.ยุทธโกษของฝ่ายทหาร ก็ลงบทความว่าร้ายเสียดสีชาวจีน จนทำให้สมาชิกฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามรัฐบาลหนึ่งในผู้ตั้งกระทู้ถามคือ นายเลียง ไชยกาล

เมื่อพักประชุม นายเลียงถูกสมาชิกประเภท ๒ จำนวนหนึ่ง นำโดย ขุนนิรันดรชัย, นายวิลาศ โอสถานนท์, นายวิเชียร สุวรรณทัต, นายชุณห์ ปิณฑานนท์ เป็นต้น ช่วยกันล้อเลียนและจับนายเลียงไปโยนที่สระน้ำหน้ารัฐสภา เหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจมากจากทุกฝ่าย สมาชิกฝ่ายค้านแสดงการประท้วงด้วยการไม่เข้าร่วมประชุม (พีรยา มหากิตติคุณ จาก แนวคิดและบทบาททางการเมืองของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ – อ้างแล้ว)

ฉากสุดท้ายในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันเอกพระยาพหลฯ เกิดขึ้นเมื่อนายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ด เสนอร่างข้อบังคับการประชุม และการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งมีเนื้อหาต้องการให้รัฐบาลเสนองบประมาณ โดยมีรายละเอียดมากขึ้น แทนการเสนออย่างย่อ ทำให้สมาชิกฯ ไม่อาจพิจารณาให้รอบคอบได้ แต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างว่ามีเวลาจำกัดและมีข้อจำกัด ไม่สามารถกระทำได้

หลังจาก พระยาไชยยศสมบัติ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปฏิเสธแล้ว นายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลฯ ก็กล่าวว่า

“ข้อบังคับอันนี้รัฐบาลรับไม่ได้ คือแม้ว่าจะลงมติไปว่าให้รับหลักการทำกันในโลกนี้ เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลต้องรับร่างข้อบังคับนี้แล้ว เมื่อไม่สามารถจะทำได้ ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลจะต้องลาออก”

การคัดค้านอย่างเด็ดขาดของพันเอกพระยาพหลฯ หัวหน้ารัฐบาล ทำให้นายถวิลลุกขึ้นมาตอบโต้ทันทีทันควัน “เอ้า ออกก็ออกไปซิ !” (สุวัฒน์ แสนราช – จาก แนวคิดและบทบาททางการเมืองของถวิล อุดลที่รวมอยู่ในหนังสือ ปรีดี พนมยงค์ และ ๔ รัฐมนตรีอีสาน + ๑)

นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่ขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก เมื่อลงมติโดยวิธีลับปรากฏว่ารัฐบาลแพ้มติ ๓๑ ต่อ ๔๕ เสียง ความพ่ายแพ้นี้เกิดจากรัฐบาลเตรียมระดมสมาชิกฝ่ายสนับสนุนไม่ดีพอ ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านอันนำโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์. นายเตียง ศิริขันธ์, นายจำลอง ดาวเรือง ฯลฯ เตรียมการกันได้ดี มีการวิเคราะห์ภายหลังต่อมาว่า ฝ่ายค้านวางแผนรวบรัดลงมติ โดยไม่ให้รัฐบาลตั้งตัว เหมือนว่าตั้งกลุ่มเป็นพรรคการเมืองกันแล้ว

เมื่อแพ้มติในสภาฯ พันเอกพระยาพหลฯนายกรัฐมนตรีเรียกคณะรัฐมนตรีประชุม ส่วนใหญ่เห็นว่าควรยุบสภาฯ แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรลาออก เมื่อยื่นใบลาออก คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่รับใบลาแต่แนะนำให้ยุบสภา เพื่อรักษาความสงบในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โลกในขณะนั้นตรึงเครียด จากการสะสมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น เหมือนหนึ่งจะเตรียมเปิดศึกสงครามใหญ่

เป็นอันว่า นายถวิล อุดล ส.ส.ร้อยเอ็ดเป็นคนสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย ให้มีการยุบสภาเป็นคนแรก ข่าวนี้ครึกโครมอยู่ในวงสนทนา สภากาแฟ และหน้าหนังสือพิมพ์อยู่นาน

รัฐบาลประกาศยุบสภาในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๑ และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๑

ภายหลังการเลือกตั้ง พันเอกพระยาพหลฯปฏิเสธไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมตรี สภาฯ จึงเลือกพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีบารมีเบ่งบานขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

 

ในบทที่หก จะนำเสนอการก้าวขึ้นมากุมอำนาจของพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ผู้มาพร้อมกับสงครามในภูมิภาคและสงครามโลก

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com