ฮีต-คอง : อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด

ฮีต-คอง : อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด


อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด

ประโยคคำสั่งนี้ดังกึกก้องในสังคม-ชุมชนอีสานเมื่อราว ๔๐ ปี และดังก้องในห้วงคำนึงของคนอีสานทุกผู้ทุกนามที่มีอายุเกิน ๕๐ ปี

อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด ประโยคนี้ให้สิ่งที่เป็นคุณค่าแก่คนอีสานมากกว่าอรรถหรือพยัญชนะ อิ่มแล้ว โดยอรรถหมายถึง อิ่มจากการรับประทานมื้อเย็น ซึ่งเป็นมื้อที่เย็นจริง ๆ คือ ข้าวไม่ร้อน เพราะยังไม่ถึงเวลาอุ่นข้าวเนื่องจากยังไม่เย็นมาก … ยังไม่ถึงยามแลง-ยามงาย เป็นช่วงที่พ่อ-แม่ยังวุ่นอยู่กับงาน ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องหุงหาอาหาร เป็นการกินเพื่อรองท้อง มากกว่าจะกินเอาอิ่มเอาออกและสะท้อนให้เห็นว่า ภารกิจนำน้องไปวัดนั้นต้องใช้เวลา และใช้พลังงานมาก จึงต้องรองท้องให้มีแรงก่อน

ภารกิจในวัด หมายถึงกิจกรรมที่เดิ่นวัดหรือลานวัด ซึ่งในอดีต ลานวัดอีสาน สำหรับเด็กคือ สนามเด็กเล่นอันมโหฬารที่จุเด็กในหมู่บ้านได้ทั้งหมด ในยุคนั้น เด็ก ๆ หาใครไม่ไปเล่นที่วัดเป็นไม่มี ใครที่ไม่ไปเล่นที่วัดถือว่าเป็นเด็กพิกล

อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด เป็นประโยคที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจเด็กอีสานเมื่อไม่นาน เป็นประโยคที่ให้ความอบอุ่น ความสุข ให้ความคิดคำนึง ให้ความยิ่งใหญ่ของอีสาน และยิ่งใหญ่เกินกว่าอีสานในยุคนี้มากนัก

การไปเล่นที่ลานวัด ยังสะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวัดอีสาน วัดอีสานมิได้เป็นเพียงที่ประกอบสังฆกิจ หรือเป็นที่ทำบุญทำทานของญาติโยมเท่านั้น แต่มันคือสมบัติของเด็ก ๆ ด้วย ความสนิทแนบแน่นกับวัดของคนอีสานในยุคก่อนมันเกินจะอธิบายให้คนยุคนี้เข้าใจ-เข้าถึง… อิ่มแล้ว…พาน้องไปเล่นวัด กว่าจะเป็นประโยคนี้ขึ้นมาได้ สังคมอีสานต้องถูกกล่อมเกลาอยู่ร่วมพันปี และอีสานก็คือ คนในกลุ่มไต-ไทย-ลาว ซึ่งในอดีตก่อนเกิดรัฐชาติ มิอาจแยกกันได้ว่า ใผเป็นใผ (ผู้เขียนใช้ “ใผ” มิใช่ “ไผ” เพราะคำนี้มาจาก “ผู้ใด”) ต่อมาเมื่อบ้านเมืองแตกสะลุผุพ่าย แตกพ่ายพลัดพรากกันนี่ดอก จึงชี้หน้ากันว่า ใผเป็นไทย ใผ เป็นลาว และใผเป็นไต และเวลานับพันปี นับแต่ปี ๑๒๗๒ ทำให้คนกลุ่มนี้ผูกพันกันเป็นชาติ

สิ่งที่เกาะเกี่ยวคนกลุ่มนี้มิใช่เพียงสงครามกับต่างชาติที่ทำให้ต้องผนึกกำลังกันสู้ศึกเท่านั้นยังมีสายใยเส้นสำคัญที่แม้ต่อมาจำต้องพลัดพรากกันแล้ว สิ่งนี้ยังคงฝังแน่นในใจและในสังคมคนไต-ไทย-ลาวอยู่จนบัดนี้

สิ่งที่เป็นเสมือนรหัสพันธุกรรมของไต-ไทย-ลาว คือ ฮีต และคอง

ฮีตและคอง หรือรู้จักกันทั่วไปว่า ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ นั้น มิใช่สิ่งที่คร่ำครึพ้นสมัยอย่างที่ลูกหลานเชื้อสายไต-ไทย-ลาว เข้าใจ หากมันเป็นสิ่งที่สมสมัย และเป็นเครื่องยืนยันแสดงว่า ไต-ไทย-ลาวนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด

ฮีตและคอง หรือรู้จักกันทั่วไปว่า ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ นั้น มิใช่สิ่งที่คร่ำครึพ้นสมัยอย่างที่ลูกหลานเชื้อสายไต-ไทย-ลาว เข้าใจ หากมันเป็นสิ่งที่สมสมัย และเป็นเครื่องยืนยันแสดงว่า ไต-ไทย-ลาวนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด

ฮีต คำนี้ นักปราชญ์ลาวและอีสานมักว่ากันว่า มาจากคำว่า “จาริตะ” ในภาษาบาลีสันสกฤตว่า “จาริตระ” หมายถึง ขนบ-ธรรมเนียม แบบแผน ความประพฤติที่ดีงาม(ปรีชา พิณทอง. ๒๕๓๔ : ๕๗) ซึ่งผู้เขียนคิดแย้งอยู่ในใจ และอยากบอกสิ่งที่อยู่ในใจออกมาดัง ๆ ว่า คำว่า ฮีต ไม่ได้มาจากไหน หากมันคือคำไต-ไทย-ลาว คือคำว่า ฮีต และคำนี้เป็นคำเก่า คำว่าคำเก่าหมายถึงคำที่อาจใช้ร่วมกันในยุคต้น ๆ ที่ภาษาไม่ได้หลากหลาย เช่น คำว่าอมตะ กับ immortal หรือพวกวิภัติ-ปัจจัย (prefix หรือ suffix) หรือคำที่ต่อเติมข้างหน้าหรือข้างหลังเพื่อให้ความหมายเปลี่ยน เช่น คำว่า อ (แปลว่า ไม่) ส (แปลว่า มี) เช่น มตะ แปลว่าตาย เติม อ ข้างหน้าเป็นอมตะ คือ ไม่ตายในภาษาอังกฤษมีคำพวกนี้อยู่มาก เช่น a, un,in, im เป็นต้น คำพวกนี้ถ้าอยู่หน้าคำใดความหมายก็จะเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น comfortable (แปลว่า สะดวกสบาย) เมื่อเติม uncomfortable ก็แปลว่า ไม่สะดวกสบาย เป็นต้น

คำว่า ฮีต ก็อาจเป็นเช่นเดียวกัน คือ อาจเป็นคำเก่าที่มีอยู่เดิม ซึ่งคำว่า ฮีต ภาษาอังกฤษใช้ว่า rite (รีต) ซึ่งผู้เขียนไม่เชื่อว่า คำว่า “rite” นี้จะมีที่มาจากคำว่า จาริตฺต หรือจาริตร หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้งคำว่า ฮีตจาริตฺต จาริตร และ rite อาจเป็นคำที่มาจากที่เดียวกัน ไม่มีใครยืมของใคร ทั้งนี้สาเหตุที่ผู้เขียนเชื่อเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า คำ หรือภาษาไต-ไทย-ลาว ในยุคนั้น ไม่มีที่ใดหยิบยืมมาจากบาลี-สันสกฤตเลย จะเห็นได้จากชื่อคนและชื่อตำแหน่งในยุคนั้น เช่น เจ้าฟ้าฮ่วม เจ้าขุนลอขุนซวา ขุนซวย ขุนคำ ขุนฮุ่ง ขุนคุ้ม เป็นต้น ซึ่งชื่อคนนั้น เป็นด่านหน้าที่ปะทะกับภาษาต่างประเทศ เป็นด่านแรกที่จะต้องถูกกระทบ และถูกแปรไปตามอิทธิพลทางภาษา หากชื่อคนไม่ได้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤตแล้ว คำที่ใช้ ๆ กันในสังคมก็ไม่น่าจะมาจากบาลี-สันสกฤต ดังจะเห็นได้จาก ชื่อคนไทย ซึ่งเป็นชนชาติเดียวที่มีพลวัตที่สุด คือ เปลี่ยนแปรไปตามกระแสและอิทธิพลอย่างยิ่ง ก่อนนี้เรารับอิทธิพลแขก ก็ใช้ชื่ออย่างแขก เช่น สมศักดิ์ สมบัติ นิรุตติ์ เป็นต้น แต่เมื่อได้รับอิทธิพลฝรั่งเข้า ก็แปรไปเป็นฝรั่งตาม เช่น แม็ค เชอรี่ เปิ้ล แหม่ม แต่ภาษาที่คนไทยใช้กันในชีวิตประจำวันกลับยังใช้ภาษาเดิมของตน เป็นต้น

ที่ว่ามาเสียยืดยาวก็เพียงเพื่อจะอธิบายว่าฮีต เป็นคำไต-ไทย-ลาว หรือคำโบราณที่ใช้กันทั่วไปของมนุษย์ในยุคนั้น เพราะหากฮีตมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ชื่อคนไต-ไทย-ลาวในยุคนั้นต้องเปลี่ยนตาม

การคัดค้าน (ในใจ) ของผู้เขียนที่เขียนออกมาดัง ๆ เช่นนี้ ก็สะท้อนแนวการศึกษาเรื่องฮีต-คอง ของผู้เขียนด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการศึกษาแบบตีความและวิเคราะห์ โดยเฉพาะเนื้อหาของฮีต-คอง เป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมาก โดยพยายามเค้นความรู้ทางภาษา โดยไม่ติดอยู่กับภาษาไทยและลาว หากเลยไปถึงภาษาไต และทางด้านกฎหมาย ตลอดจนใช้จริตและวิถีชีวิตที่ผู้เขียนดำรงอยู่ในสังคมอีสานอันน่าจะสะท้อนหรือเป็นตัวแทน (กลุ่มตัวอย่าง) ของคนไต-ไทย-ลาว ได้ไม่มากก็น้อย

นับแต่นี้เป็นต้นไป… เราจะดำดิ่งสู่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อจะได้รู้ว่า คำว่า “บ้านดีเมืองดี” นั้นเป็นเช่นไร การจะทำให้บ้านดี-เมืองดี-คนดี นั้นต้องทำอย่างไร

และจะได้รู้ว่า ฮีต-คอง มิใช่ของคร่ำครึอย่างที่เข้าใจ.

บรรณานุกรม

ปรีชา พิณทอง. ประเพณีโบราณ. ๒๕๓๔

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com