นิทานเรื่อง นางเต่าคำ

ผู้เขียนบันทึก: มังกรเดียวดาย
isan.clubs.chula.ac.th
ภาพ: sabcha

ของไทภาคกลางคือเรื่องปลาบู่ทอง ของไทใหญ่ ,ลาว คือเรื่องเต่าคำ ของชาวจ้วงในกวางสีเดิมที เมียหลวงตายไปเกิดเป็นปลา ต่อมาเนื้อเรื่องเปลี่ยนเป็นไปเกิดเป็นควาย เรื่องนี้เป็นนิทานเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ของคนตระกูลไท-จ้วง ต่อมาเรื่องนี้แพร่เข้าไปถึงราชสำนักน่านเจ้า(ในยูนนาน) แล้วนักเขียนชาวจีน(ฮีั่น)คนหนึ่งนำไปดัดแปลงเขียนเป็นนิยายภาษาจีนเรื่อง “ปลาหลีฮื้อทอง” สมัยก่อนนักวิชาการมองว่านิทานเรื่องนี้คือซินเดอเลราโลกตะวันออก แต่ตอนนี้มีผู้ศึกษาวิจัยใหม่ ฟันธงว่านิทานนางซินเดอเลราเอาเรื่องปลาบู่ทองไปเล่าใหม่ นั่นคือ “เอื้อย” เป็นต้นแบบของซินเดเลรา เรื่องนี้ผมเคยนำเสนอในการสัมนาวิชาการที่หนองคายเมื่อปีที่แล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม: โชติช่วง นาดอน

อดีตกาลนานมาแล้ว…

ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัว ชื่อกุปปิตา มีเมียสองคน เมียหลวงชื่อว่า จิตตา เมียน้อยชื่อว่าสาลี เป็นพวกนับถือผี ต่อมาก็เป็นเป้า (ผีเป้า) มักกินของดิบ เห็นปู ปลา กบเขียด ก็จับกินดิบๆ เลย

ต่อมา เมียทั้งสองก็ตั้งครรภ์ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน นางจิตตา คลอดลูกก่อน เป็นผู้หญิง ตั้งชื่อให้ลูกว่า “อุททาแก้ว”

ต่อมาอีกไม่นาน นางสาลี ก็คลอดลูกเป็นหญิงเช่นเดียวกัน ตั้งชื่อให้ลูกว่า “สามา”

เมียน้อย ไม่ค่อยถูกกันกับเมียหลวงอยู่แล้ว พอมีลูก นางสาลียิ่งยุแหย่ให้นางสามา เกลียดนางจิตตากับนางอุททา

นางสามา มักจะรังแกนางอุทททาอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน ยิ่งมีแม่คือนางสาลีให้ท้ายด้วยแล้ว ยิ่งรังแกนางอุททามากยิ่งขึ้น…. เหตุการณ์ได้ผ่านไปเรื่อยๆ จนลูกสาวทั้งสองคนอายุได้สิบสี่ปี

อยู่มาวันหนึ่ง กุปปิตา ได้พาเมียทั้งสอง ลงเรือออกหาปลา นางสาลี พายทางด้านหัวเรือ นางจิตตาพายทางด้านท้ายเรือ

เมื่อสามีทอดแหได้ปลา ก็แบ่งให้นางสาลีบ้าง ให้นางจิตตาบ้าง เท่าๆ กัน ทั้งสอง ก็จะเอาปลาใส่ในข้องของตน… แต่นางสาลี เนื่องจากเป็นเป้า.. ได้แอบจับปลาในข้องกินไปตลอดทาง

เมื่อตอนขากลับ นางสาลีเห็นว่า ปลาในข้องของตนเหลือน้อย ก็หาโอกาสเปลี่ยนสลับข้องของตนกับของนางจิตตา

เมื่อใกล้ถึงบ้าน กุปปิตา จะดูว่าได้ปลามากน้อยเท่าใด จึงตรวจดูปลาในข้องของเมียทั้งสอง พอเห็นปลาในข้องของนางจิตตาน้อยผิดปกติ ก็โกรธ ด่าว่าต่างๆ นานา นางสาลี ก็คอยพูดยุแหย่ จนกุปปิตา โมโหมากขึ้น คว้าไม้พายฟาดเข้าที่คอนางจิตตาเต็มแรง จนนางจิตตาเสียชีวิต ก็ผลักศพลงน้ำไป

ฝ่ายนางอุททาและนางสามา เมื่อเห็นพ่อแม่กลับมาแล้ว ก็รีบวิ่งออกไปรับ แต่นางอุททา ไม่เห็นแม่ของตนกลับมา ก็เลยถามพ่อว่า แม่ไปไหน พ่อก็ตอบเลี่ยงๆ ไปว่า แม่ไปธุระ วันหน้าถึงจะกลับ

นางอุททา ก็รอคอยแม่จนถึงวันรุ่งขึ้น ก็ไม่เห็นแม่มา จึงไปถามนางสาลี… นางสาลีก็บอกเป็นนัย ด้วยความสะใจว่า แม่ของนางอุททาไปอยู่บ้านกับหนอนแล้ว สงสัยจะอยู่นานจนกระดูกผุกร่อนนู่นแหละมั้ง จึงจะกลับบ้าน …

นางอุททา ได้ฟังเช่นนั้น ก็นึกสงสัยว่าแม่ของตน อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว อาจจะตกน้ำ จมน้ำตายไปแล้ว…. แต่ว่า ไปหาปลาด้วยกันตั้งสามคน ถ้าตกน้ำ ก็น่าจะช่วยเหลือกันขึ้นมาได้.. สงสัยคงโดนพ่อกับนางสาลีทำร้ายแน่ๆ … เมื่อคิดเช่นนั้น ถึงกับร้องไห้ฟูมฟาย

นางสาลี เห็นนางอุททาร้องไห้ ก็ด่า หาว่าสำออย ขี้เกียจทำงาน เอาแต่นั่งร้องไห้ จากนั้นก็ไล่ให้ไปทำงานบ้าน ถ้าไม่ทำตาม ก็เอาแส้ไล่ตี นางอุททา จึงอยู่ด้วยความทุกข์ยากลำบาก

กล่าวถึงนางจิตตาเมียหลวง เมื่อตายไปแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเต่ามีสีเหลืองเหมือนทองคำ อยู่ในหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้ๆ บ้าน

วันหนึ่งเต่านางจิตตา ได้ขึ้นมาเดินเล่นริมหนองน้ำ… มีหมาตัวหนึ่งมาเห็นเข้า… ด้วยบุญกรรมจึงมีอะไรดลใจให้หมาตัวนั้น ไปเรียกนางอุททามาดู

หมาตัวนั้น มาทำลุกลี้ลุกลน ฟุดๆ ฟิดๆ เพื่อให้นางอุททาตามไปดู นางอุททาสงสัย จึงเดินตามไปดู ก็พบเต่าสีทองตัวนั้น จึงเอามือลูบกระดองเต่าเล่น พูดคุย… แล้วน้ำตาเต่าคำก็ไหลออกมา…นางอุททาสงสาร จึงหาอาหารมาให้เต่าคำกิน

พอตกกลางคืน ก็ฝันว่า เต่าคำตัวนั้น คือแม่ของตนที่ตายไปแล้ว กับชาติมาเกิดเป็นเต่า… นางอุททาตื่นขึ้นมา ก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ รุ่งเช้า ก็ออกจากบ้านไปทีหนองน้ำนั้นอีก และได้เรียกเต่าคำตัวนั้นว่าแม่..พลางร้องไห้..เต่าคำนั้น ก็น้ำตาไหลเช่นกัน

จากนั้นเป็นต้นมา นางอุททา ก็ไปหาเต่าคำทุกวัน พูดคุยปรับทุกข์ เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เต่าคำฟัง เพื่อคลายเหงาไปวันๆ

วันหนึ่ง นางเต่าคำ ได้นำใบไม้หอมมาเคี้ยว ทำน้ำหอมให้นางอุททาชะโลมผม… เมื่อนางอุททากลับบ้าน นางสาลีได้กลิ่นเข้า ก็ถามว่า ไปเอาน้ำหอมมาจากไหน นางอุททา ก็ตอบบ่ายเบี่ยงว่า พวกเพื่อนๆ เอามาทาให้

นางสาลี ได้ไปสอบถามเพื่อนๆ ของนางอุททาดู ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง เมื่อทราบว่านางอุททาโกหก จึงโมโหมาก กลับมาดุด่าทุบตีนางอุททา ทั้งบอกว่า ไปแอบคบหาชายหนุ่มที่ไหน ชายหนุ่มที่ไหนเอานำมันหอมมาทาผมให้

ฝ่ายพ่อ มาเห็นเข้า และได้ฟังคำยุยงของนางสาลี ก็พลอยดุด่า ทุบตีนางอุททา ด้วย พร้อมทั้งบอกให้เล่าความจริงให้ฟัง

นางอุททา ทนเจ็บไม่ไหว ก็เล่าความจริงให้ฟังว่า แม่ของนางตายไปเกิดเป็นเต่า เอาน้ำมันหอมมาให้

เมื่อนางสาลีรู้ว่า นางจิตตาไปเกิดเป็นเต่า ก็คิดพยาบาท จะตามไปทำลายอีก… วันหนึ่ง นางสาลีแกล้งทำเป็นไม่สบาย ไม่ยอมกินข้าวปลา แล้วจู่ๆ ก็ทำตาเหลือกไปมา ลุกขึ้น พูดเสียงดัง ทำเป็นเหมือนคนถูกผีเข้า

ฝ่ายสามี นึกว่านางสาลีถูกผีเข้าจริงๆ ก็ ก็ยกมือไหว้ว่า อย่ามารบกวนเลย ต้องการอะไร ขอให้บอกมา จะไปหามาให้

นางสาลี ก็บอกว่า อยากกินหมาก อยากกินเหล้า และอยากกินต้มเต่าคำ… ถ้าได้กินต้มเต่าคำ นางสาลี จึงจะหายจากเจ็บไข้

นายกุปปิตา ไม่รู้เลห์กลอุบาย ก็รับปากจะหามาให้… จากนั้น ก็ไปบอกเพื่อนบ้าน ให้ไปช่วยกันหาจับเต่ามีสีเหลืองตามแม่น้ำ ตามห้วย ตามหนองต่างๆ

ส่วนนางอุททา พอทราบเรื่องที่พวกเพื่อนบ้านจะพากันไปหาจับเต่าทอง ก็รีบเอาวัวไปเลี้ยงแต่เช้า แล้วแอบไปบอกให้นางเต่าคำหลบซ่อนตัวเสีย

พอสายๆ หน่อย ชาวบ้าน ก็พากันออกไปหาจับเต่า แต่ก็ไม่พบเต่าที่มีสีเหลืองดังทองสักตัว

กุปปิตา จึงเรียกนางอุททามาที่หนองนั้น แล้วถามนางอุททาว่า เต่าสีทองตัวนั้น อยู่ที่ไหน… นางอุททา ก็ไม่ยอมบอก พ่อ ก็โมโห ทุบตีบังคับให้บอก นางอุททาทนเจ็บไม่ได้ จึงร้องเรียกหาแม่ บอกว่า แม่ช่วยด้วย แม่ช่วยด้วย…

เมื่อนางเต่าคำ ได้ยินเสียงลูกสาว ด้วยความสงสารลูก จึงออกมาจากที่หลบซ่อน ขึ้นมาบนบก… กุปปิตา ก็เลยจับเอาไป

เมื่อถึงบ้าน นางสาลี ก็ใช้ให้นางอุททาก่อไฟต้มน้ำ พอเดือด ก็บังคับให้นางอุททา เอาเต่ามาใส่ลงในกะทะ

นางอุททา จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะนางสาลี ถือไม้คอยตีอยู่… พอจะจุ่มเต่าลง นางเต่าคำร้อน ก็ดิ้นรน ร้องด้วยความเจ็บปวด… นางอุททาสงสารแม่ ก็ยกขึ้นมาอีก นางสาลี ก็เอาไม้ทุบตี บอกให้รีบทิ้งลงไป

นางเต่าคำเห็นลูกถูกตี ก็สงสารลูก จึงผงกหัวบอกให้ลูก ทิ้งตนลงไปเลย จะได้ตายทันที และขอให้ลูกเก็บกระดูกไปฝังไว้ที่ทางสี่แพร่ง…นางอุททา จำใจต้องทำ…นางเต่าคำ ก็ตาย

เมื่อเต่าสุกดีแล้ว นางสาลี ก็ตัดแบ่งแจกให้เพื่อนบ้านเอาไปกิน ที่ทำเช่นนี้ ก็เพื่อไม่ให้นางอุททา ได้กระดูกของนางเต่าคำนั่นเอง

พวกชาวบ้านที่รู้ว่า เต่าตัวนั้น คือนางจิตตากลับชาติมาเกิด ก็ไม่กล้ากิน ได้พากันเอาไปเททิ้ง

ฝ่ายนางอุททา ก็บอกให้สุนัขช่วยดมกลิ่นตามหากระดูกเต่าให้… สุนัข ก็ไปหาเก็บกระดูกเต่ามาให้นางอุททาจนหมด… นางอุททา เมื่อได้กระดูกเต่ามาแล้ว ก็เอาไปฝังไว้ที่ทางสี่แพร่ง… หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีต้นโพ งอกขึ้นมา ณ ที่ตรงนั้น

หนึ่งปีผ่านไป… ต้นโพต้นนั้น ก็ใหญ่โตขึ้น มีกิ่งก้านสาขางอกงาม ใบมีสีเหลืองดังทอง เมื่อยามต้องลม ก็เกิดเสียงดังราวกับเสียงดนตรี… ต้นโพต้นนั้น ให้ร่มเงาที่ร่มรื่น และให้เสียงขับกล่อมอันไพเราะ ทำให้ใครๆ ที่ผ่านไปผ่านมา ก็จะต้องนั่งพัก ข่าวเรื่องต้นโพ ได้ล่ำลือออกไป คนบ้านไกล ก็พากันมาเที่ยวดูชม…

ข่าวเรื่องต้นโพนั้น ก็ยิ่งแพร่กระจายออกไป จนไปถึงพระกรรณของท้าวพรหมทัต ผู้เป็นเจ้าเมือง

พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตร และอยากได้ต้นโพนี้ไปปลูกไว้ในพระราชฐาน จึงได้เกณฑ์ผู้คน ให้ไปขุดถอนเอาต้นโพต้นนั้น… แต่ว่า คนที่มาทั้งหลาย ไม่สามารถถอนเอาต้นโพต้นนั้นขึ้นมาได้ แม้จะใช้คนมากมายสักเท่าใด ก็ไม่สามารถจะขุดถอนต้นโพได้

ท้าวพรหมทัต ให้เกณฑ์คนทั้งตำบล มาช่วยกันดึง ก็ไม่สามารถจะดึงถอนขึ้นได้ ทำให้พระองค์แปลกพระทัยมาก จึงได้ตรัสถามว่า ได้เกณฑ์คนมาหมดทั้งตำบลแล้วหรือ

กุปปิตา ก็ทูลว่า ยังมีเหลืออยู่อีกคนหนึ่ง คือนางอุททา ตอนนี้ กำลังเลี้ยงวัวอยูที่ทุ่งนา

ท้าวพรหมทัต ก็ให้ทหาร ไปตามมาเฝ้า…. และได้ตรัสบอกถึงวัตถุประสงค์ที่จะเอาต้นโพนี้ไปปลูกไว้ในพระราชวัง ขอให้นางอุททาช่วย

นางอุททา จึงเข้าไปไหว้ต้นโพ บอกกล่าวให้แม่ทราบ… จากนั้น นางอุททา ก็ถอนต้นโพขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ทำให้ท้าวพรหมทัต ตลอดทั้งเสนาอำมาตย์ และชาวบ้านทั้งหลายพากันประหลาดใจไปตามๆ กัน

ท้าวพรหมทัตดีพระทัยมาก ตรัสสั่งให้นำต้นโพนั้นขึ้นบนหลังช้าง และได้ขอนางอุททาให้ไปอยู่ในวังด้วย จากนั้นได้เสด็จกลับพระนคร พร้อมทั้งนางอุททา

นางอุททา เมื่อได้มาอยู่ในวัง ไม่มีนางสาลีกับนางสามาคอยกลั่นแกล้ง ก็อยู่อย่างมีความสุข…ต่อมาท้าวพรหมทัต ได้แต่งตั้งให้นางอุททาเป็นมเหสี ให้เป็นใหญ่กว่านางสนมทั้งปวง…

หนึ่งปีผ่านไป นางอุททา ก็ประสูติพระธิดา และปีต่อมา ก็ประสูติพระโอรส

กล่าวถึงทางบ้านของกุปปิตา นับแต่นางอุททาเข้าไปอยู่ในเมืองแล้ว ฐานะก็ทรุดแย่ลงโดยลำดับ กุปปิตา กับนางสาลี จึงพากันคิดหาอุบายเพื่อจะอยู่อย่างสุขสบายในวัง…

เมื่อวางแผนกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้คนไปหานางอุททาถึงในวัง บอกว่าพ่อป่วยหนักมาก ใกล้จะตายแล้ว ให้รีบกลับไปเยี่ยม เพื่อดูใจ

นางอุททาทราบเรื่องราวแล้ว เป็นห่วงพ่อมาก จึงเข้าไปลาท้าวพรหมทัต แล้วเดินทางกลับไปเยี่ยมบิดา พร้อมกับสนมกำนัล

ฝ่ายทางกุปปิตา ก็ให้คนต้มน้ำร้อนใส่กะทะใหญ่เตรียมไว้

เมื่อนางอุททาไปถึงบ้านของพ่อ พวกบ่าวไพร่ก็ออกมาต้อนรับ และให้สนมกำนัลที่ตามมาด้วย คอยอยู่ด้านนอก ให้นางอุททาเข้าไปเพียงลำพัง

พอนางอุททาเข้าไปในบ้าน ก็ถูกนางสาลีและนางสามาจับถอดเสื้อผ้า พร้อมทั้งเครื่องประดับออกหมด และถูกจับโยนลงในกะทะน้ำร้อน จนขาดใจตาย

เมื่อกำจัดนางอุททาเสร็จแล้ว ก็เอาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของนางอุททา มาใส่ให้นางสามา แล้วพาออกมาส่ง

พวกสนมกำนัล เห็นกิริยาท่าทางผิดกับนางอุททา ก็พากันสงสัยอยู่ในใจ แต่ไม่มีใครกล้าปริปากพูดอะไร

พอไปถึงตำหนัก โอรสและธิดาของนางอุททา เข้ามาหา แต่พอเห็นหน้านางสามาเข้าเท่านั้น ก็พากันวิ่งหนีไปหาท้าวพรหมทัต บอกว่า คนนั้น ไม่ใช่แม่ของตน

ท้าวพรหมทัตและเสนาอำมาตย์ จึงสืบสวน ไต่สวนเรื่องราวดูจนตลอด ในที่สุด ก็ทราบว่า นางอุททาถูกฆ่าตาย

ท้าวพรหมทัต จึงให้ทหารนำนางสามาไปประหารชีวิต แล้วสับเป็นชิ้นๆ นำมาผสมลงในปลาร้า บรรจุใส่ไห ส่งไปเป็นของขวัญให้กุปปิตา บอกว่า ลูกสาวฝากปลาร้ามาให้

กุปปิตาและนางสาลีดีใจมาก เข้าใจว่าสามาลูกสาว ได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว จึงนำปลาร้าไหนั้นไปเก็บไว้กิน… และนำออกมากินวันละนิด เนื้อของนางสามาผสมเข้ากับเนื้อปลาแล้ว ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นปลาร้าเนื้อนางสามา (หรือสามาร้า)

กินไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณกลางไห ก็พบนิ้วมือของนางสามา แต่ตอนแรกยังไม่รู้ว่าเป็นนิ้วมือคน เข้าใจว่า เป็นปลาชนิดหนึ่ง แม้พบนิ้วมืออื่นๆ พบนิ้วเท้า ก็ยังเข้าใจว่า เป็นปลาชนิดหนึ่งอยู่นั่นเอง

กุปปิตาและนางสาลี พากันกินปลาร้าไหนั้นอย่างเอร็ดอร่อย จนอยู่มาวันหนึ่ง กินจนถึงประมาณก้นไห ล้วงมือลงไป พบวัตถุชิ้นใหญ่ๆ ก้อนหนึ่ง พอเอาออกมา พบว่า เป็นหัวคน เมื่อนำมาล้างออกดูดีๆ จึงทราบว่าเป็นหัวของนางสามาลูกสาวตน ทั้งสอง ถึงกับตกตะลึง เศร้าโศกเสียใจ นางสาลีถึงกับฟุบสลบไป

กล่าวถึงนางอุททา หลังจากตายไปแล้ว ก็ไปเกิดอยู่ในผลมะตูมของต้นมะตูมต้นหนึ่งในสวนมะตูม มะตูมลูกนั้น มีผลใหญ่โตมาก สองตายายซึ่งเป็นเจ้าของสวนมะตูมเห็นเข้า ก็เลยสอยเอาไปเก็บไว้ในเรือน

เวลาสองตายายไม่อยู่บ้าน นางอุททา ก็จะออกมาจากมะตูม ช่วยทำงานบ้าน ปัดกวาดบ้านเรือน ทำอาหารไว้รอท่า

เมื่อสองตายายกลับมา เห็นบ้านช่องเรียบร้อยสะอาดสะอ้าน ซ้ำยังมีของกินเตรียมไว้พร้อม ก็แปลกใจ นึกสงสัย

วันต่อมา จึงแอบดู หลังจากรู้เรื่องโดยตลอดแล้ว ก็รับเลี้ยงไว้เป็นลูก…. พวกชาวบ้านรู้ข่าว ก็เที่ยวพูดกันต่อไปเรื่อยๆ ปากต่อปาก จนความทราบไปถึงหูของท้าวพรหมทัต

วันหนึ่ง ท้าวพรหมทัต จึงเสด็จไปยังบ้านของสองตายาย ทำทีเป็นขอน้ำกิน ตา ก็ตักน้ำมาให้ แต่ท้าวพรหมทัตไม่รับ บอกไปบอกลูกสาว ให้เป็นคนเอาน้ำมาให้

ตายาย จึงไปบอกนางอุททา ให้นำน้ำไปถวาย

ท้าวพรหมทัต เห็น ก็จำได้ จึงขอรับนางอุททากลับเข้าเมือง และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

นับแต่นั้นมา ต้นโพ(มารดานางอุททา) ที่เหี่ยวเฉา ตอนที่นางอุททาตายจากไป ก็กลับผลิใบสะพรั่งเหลืองอร่ามดังทองเต็มต้น ยามลมพัดต้อง ใบโพ ก็พลิ้วสั่น ส่งเสียงประสานเสียงกันประหนึ่งดนตรีขับกล่อม ดังเดิม

ส่วนนายกุปปิตาและนางสาลีสองสามีภรรยา ก็ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยผลบาปกรรมที่ทำไว้ และต่อมาทั้งสอง ก็ถูกธรณีสูบจมหายไปในแผ่นดิน….

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com