ฮีตเดือนสี่

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๕

ประจำเดือน มีนาคม ๒๕๕๘

งานประเพณีบุญผะเหวดของจังหวัดร้อยเอ็ด จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี ณ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์

คำว่า “ผะเหวด” เป็นชื่อของพระโคตมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แสดงถึงพระจริยวัตรเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระโพธิสัตว์เวสสันดร มีการจารเป็นหนังสือชาดกเรื่องยาวถึง ๑๓ ผูก มักจัดงานบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติหลังออกพรรษาแล้ว จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่ส่วนมากนิยมทำกันในเดือนสี่ เพราะเดือนนี้ว่างไม่มีประเพณีใด ปราชญ์อีสานจึงจัดไว้เดือนนี้ซึ่งเป็นฤดูแล้ง ชาวบ้านว่างจากการทำไร่ทำนา โดยมีการรจนากลอนเทศน์ผะเหวดซึ่งเป็นวรรณคดีที่กำเนิดในหลวงพระบางมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐ ในการทำบุญผะเหวดจะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งหากใครปรารถนาที่จะพบพระศรีอริยเมตไตรย หรือเข้าถึงศาสนาของพระพุทธองค์แล้ว จงอย่าฆ่าบิดามารดา สมณะพราหมณาจารย์ อย่ายุยงให้พระสงฆ์แตกสามัคคีกันและให้ฟังเทศนาเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดกให้จบสิ้นภายในวันเดียว

ไผท ภูธา. ความเป็นมาคนอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๕๔), หน้า ๑๙๙.

การทำบุญเดือนสี่นั้น ก่อนถึงวันงานก็จะมีการเตรียมงานบุญ เรียกว่า วันโฮม ชาวบ้านจะออกมารวมตัวกัน มีการเตรียมดอกไม้ อาหารคาวหวานขนม ข้าวต้ม ไว้สำหรับถวายพระและเลี้ยงแขกในงาน และเตรียมหมากพันคำ เมี่ยงพันคำ เทียน ธูปมีดดาบอย่างละพัน พร้อมทั้งข้าวตอกดอกไม้สำหรับบูชาคาถาพัน ที่จัดอย่างละพันชิ้นนั้นมาจากความเชื่อที่ว่า เป็นการสักการบูชาพระคาถาในเรื่องพระเวสสันดรซึ่งเป็นพระบาลีจำนวน ๑,๐๐๐ บท นอกจากนี้ ในตอนเช้ามืดจะทำพิธีนิมนต์พระอุปคุตมาจากสระนํ้าแห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อช่วยปราบมารและป้องกันภัยในงานบุญนี้ด้วย

ประมาณบ่ายสามหรือสี่โมงก็จะเตรียมตัวจัดขบวนแห่ ไปอัญเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมติป่าแห่งใดแห่งหนึ่งในหมู่บ้านเป็นที่อยู่ของท่านทั้งสอง และในพิธีอัญเชิญจะมีพระพุทธรูป ๑ องค์ มีพระภิกษุ ๔ รูป ตามขบวนจะมีผ้าภาพเขียนเรื่องพระเวสสันดร เดินเวียนขวารอบวัดหรือศาลาโรงธรรม ๓ รอบ ในตอนเย็นก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ในระหว่างพระเทศน์ หากผู้ใดพอใจก็จะถวายเงินด้วยความเลื่อมใสศรัทธา เรียกว่า กัณฑ์หลอน เมื่อขบวนเครื่องไทยทานและเงินบริจาคที่รวบรวมไว้ไปถึงวัดในขณะที่พระรูปใดกำลังเทศน์อยู่ก็จะถวายรูปนั้น ส่วนกัณฑ์จอบก็คือหากชาวบ้านต้องการเจาะจงว่าจะมอบให้พระรูปใด ก็มักจะส่งสายลับไปแอบดูก่อนว่าพระรูปนั้นจะเทศน์ตอนไหน ซึ่งจะกะระยะเวลาเคลื่อนขบวนให้ถึงพอดีกับพระที่ตนเองเจาะจงถวาย

จะเห็นว่า การทำบุญผะเหวดมาจากคติความเชื่อเรื่องพระเวสสันดร และเรื่องมาลัยหมื่นมาลัยแสน เมื่อครั้งพระมาลัยเถระเจ้าเดินทางไปสักการะพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์2 ได้พบกับพระศรีอริยเมตไตรย แล้วได้ตรัสกับพระมาลัยว่า “หากมนุษย์ผู้ใดต้องการพบกับพระองค์และเกิดในศาสนาของพระศรีอารย์ก็ควรทำดีตั้งใจฟังเรื่องพระเวสสันดร” ซึ่งมีเรื่องดังต่อไปนี้

พระครูภาวนาโพธิคุณ. มรดกไทยมรดกธรรม. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา, ๒๕๕๑), หน้า ๑๕.

การเทศน์มหาชาติหรือเทศน์เวสสันดรชาดก เป็นพิธีกรรมที่มีขึ้นในช่วงเย็นภายหลังขบวนแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง เสร็จสิ้นลงภาพวาดการเทศน์มหาชาติของกลุ่มชาติพันธุ์สองฝั่งโขง โดย Loius Delaporte (ภาพจากหนังสือ The Land of The White Elephant)

ประวัติพระเวสสันดร : ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่

กาลครั้งหนึ่ง มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้าสญชัย ทรงครองราชสมบัติที่เมืองสีพี มีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางผุสดี ธิดาพระเจ้ากรุงมัททราช ขณะพระนางตั้งครรภ์จะให้กำเนิดบุตร ก็มีปรารถนาไปเที่ยวชมตลาดร้านค้าบังเอิญในขณะที่กำลังเสด็จอยูนั่้นก็ทรงเจ็บครรภ์ จึงได้ประสูติพระโอรสบริเวณนั้นเลย แล้วจึงตั้งพระนามให้กับโอรสว่า เวสสันดร หมายถึง ในท่ามกลางระหว่างย่านค้าขาย ในวันนั้นช้างของพระเจ้าสญชัยก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ จึงได้รับชื่อว่า ปัจจัยนาค ต่อมาได้เป็นช้างคู่บุญพระเวสสันดร

เมื่อพระกุมารเวสสันดรทรงเจริญวัยขึ้น ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบริจาคทาน มักจะขอพระราชทานทรัพย์จากพระบิดามารดาเพื่อบริจาคให้แก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงขอให้พระบิดาตั้งโรงทานไว้สี่มุมเมืองนอกพระนคร เพื่อบริจาคข้าวปลาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็น และหากมีผู้เดือดร้อนมาทูลขอก็จะทรงบริจาคให้โดยไม่เสียดาย เพราะทรงมีความเชื่อว่า การให้เป็นบุญกุศลและเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นความเดือดร้อน ส่วนผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขใจ

กาลต่อมาชื่อเสียงพระเกียรติคุณการให้ของพระเวสสันดรก็เลื่องลือไปทั่วทิศว่า “พระเวสสันดรท่านทรงมีจิตเมตตาแก่ผู้อื่น ไม่ได้ทรงเห็นแก่ความสุขสบายส่วนพระองค์เลย” และทรงอภิเษกสมรสกับพระนางมัทรีในเวลาต่อมา พร้อมทั้งมีโอรสด้วยกัน ๒ พระองค์ พระโอรสชื่อว่า ชาลี พระธิดาชื่อว่ากัณหา

อยู่มาวันหนึ่ง เมืองกลิงคราษฎร์เกิดข้าวยากหมากแพง เพราะเกิดฝนแล้งวิกฤติมากทำให้เพาะปลูกไม่ได้เลย ราษฎรอดอยาก ได้รับความเดือนร้อนไปทั่วเมือง ชาวกลิงคราษฎร์จึงพากันไปเฝ้าพระราชาแล้ว ทูลว่า “ในเมืองสีพีนั้นมีช้างเผือกคู่บุญพระเวสสันดรชื่อว่า ปัจจัยนาค เป็นช้างมีอำนาจพิเศษถ้าอยู่เมืองใดจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลพืชพันธุ์จะบริบูรณ์” ขอให้พระเจ้ากลิงคราษฎร์ส่งทูตไปทูลขอช้างนั้น พระเวสสันดรก็จะทรงบริจาคให้แน่เพราะไม่เคยขัดถ้ามีผู้ทูลขอสิ่งใด ฝ่ายพระเจ้ากลิงคราษฎร์ได้สดับเช่นนั้นจึงส่งพราหมณ์ไปเมืองสีพี เมื่อไปถึงแล้วก็ได้พบพระเวสสันดรขณะเสด็จ

ประทับอยู่บนหลังช้างปัจจัยนาค จึงได้ทูลขอช้างคู่บุญพระเวสสันดรตอนนั้นเลย แล้วก็โปรดประทานให้ตามที่ขอด้วย

ส่วนชาวสีพีทราบว่าพระเวสสันดรทรงบริจาคช้างปัจจัยนาคคู่บ้านคู่เมืองไปดังนั้น ก็เกิดความไม่พอใจจึงพากันออกมาประท้วงเพราะกลัวว่ากาลต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก จึงรวมตัวแล้วพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัย ทูลกล่าวโทษร้องทุกข์เอาผิดต่อพระเวสสันดรว่า “บริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญให้แก่ชาวเมืองอื่นไป ขอให้ขับพระเวสสันดรไปเสียจากเมืองสีพีเสียแต่วันนี้เลย”

ขุ.ชา. ๒๘/๑๖๘๗-๑๖๙๔/๔๕๓-๕๖๐.

เมื่อพระเจ้าสญชัยไม่อาจขัดราษฎรได้ จึงจำพระทัยมีพระราชโองการให้ขับพระเวสสันดรออกจากเมืองไปเสีย แต่ก่อนจะไป พระเวสสันดรก็ได้ทูลขอพระราชทานโอกาสบริจาคทานครั้งใหญ่ จึงทรงบริจาคสัตตสตกมหาทาน คือการบริจาคทาน ๗ สิ่งอย่างละเจ็ดร้อยแก่ชาวสีพี เป็นการสั่งลาก่อนเสด็จออกจากพระนครไป

เมื่อพระนางมัทรีทรงทราบว่าพระเวสสันดรถูกขับออกจากเมืองจึงกราบทูลว่า “พระองค์เป็นพระราชสวามีของหม่อมฉัน พระองค์เสด็จไปที่ใดจะขอติดตามไปด้วย ถึงจะลำบากอย่างไรหากขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยาแล้ว จะอยู่เคียงข้างกันในทุกที่ทุกเวลาไม่ว่ายามสุขหรือทุกข์…” ดังนั้น พระนางมัทรีจึงตามเสด็จพระเวสสันดรไปด้วย พร้อมกับพระชาลีและพระกัณหา

ในขณะที่กำลังเดินทางไปอยู่นั่้นก็ยังมีชาวบ้านตามมาทูลขอรถพระที่นั่ง เมื่อประทานให้แล้วทำให้ต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทไปสู่ป่ าเพื่อบำเพ็ญพรตภาวนาต่อไป เมื่อเสด็จมาถึงเมืองมาตุลนคร บรรดากษัตริย์เจตราชทรงทราบข่าวจึงพากันมาต้อนรับ จึงได้ทรงถามถึงเส้นทางไปสู่เขาวงกต กษัตริย์เจตราชก็ทรงบอกทางให้และเล่าว่า “เขาวงกตนั้นต้องเดินทางผ่านป่าใหญ่ที่อันตราย แต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็จะเป็นบริเวณร่มรื่นสะดวกสบาย มีไม้ผลที่จะใช้เป็นอาหารได้” พร้อมทั้งยังได้สั่งให้พรานป่า เจตบุตร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญป่าแถบนั้นให้คอยเฝ้าระวังรักษาต้นทางที่จะไปสู่เขาวงกต เพื่อไม่ให้ผู้ใดไปรบกวนในการบำเพ็ญพรต เว้นแต่ทูตจากเมืองสีพีที่จะมาทูลเชิญเสด็จกลับนครเท่านั้นจึงจะยินยอมให้ผ่านเข้าไปได้ เมื่อเสด็จไปถึงบริเวณดังกล่าวแล้ว ทั้งสี่พระองค์ก็ได้ผนวชเป็นฤๅษี บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ ที่นั้นเรื่อยมา

http://www.dhammathai.org
ขุ.ชา. ๒๘/๑๘๕๙-๑๘๖๐/๓๒๘.
http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-main-page.htm

หน้าบันรูปพระเวสสันดรพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์ ณ พระวิหารวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) เขตพระนคร กรุงเทพฯ

ในกาลครั้งนั้นยังมีผู้เฒ่ารูปร่างหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว มีอาชีพขอทานเขากินแต่รํ่ารวยจนผิดปกติคนหนึ่งชื่อ ชูชก อาศัยอยู่ตำบลบ้านทุนนวิฐเขตเมืองกลิงคราษฎร์ เมื่อขอทานได้เงินจำนวนมากหากจะเก็บไว้เองก็กลัวจะสูญหาย จึงนำไปฝากเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงให้เก็บรักษาไว้ให้อยู่มาวันหนึ่งได้ไปหาเพื่อนเพื่อขอเงินกลับคืน แต่ปรากฏว่าเพื่อนได้นำเงินไปใช้จนหมดแล้ว จะหามาใช้ก็หาไม่ทันจึงเอาลูกสาวชื่อว่า อมิตตดา ที่อายุยังน้อยและก้าวสู่วัยสาวพอดี และหน้าตางดงามตามวัยสาวแรกรุ่น มายกให้แก่ชูชกเพื่อขัดดอกแทนพร้อมกับกล่าวว่า “จะเอาไปเลี้ยงเป็นลูกหรือภรรยา หรือว่าจะเอาไปเป็นทาสรับใช้ปรนนิบัติก็สุดแล้วแต่จะเมตตา”เมื่อชูชกได้เห็นอมิตตดาหน้าตาสะสวยงดงามก็หลงรัก ด้วยความกตัญญูต่อพ่อแม่นางจึงยอมเป็นภรรยาชูชกจึงพานางกลับไปบ้านแล้วเลี้ยงดูนางในฐานะภรรยา

วันหนึ่งในขณะที่นางไปตักนํ้าในเขตนอกหมู่บ้าน บรรดาแม่บ้านใจมารก็เข้ามารุมเย้ยหยันและทำร้ายร่างกายนาง เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นตัวกาลกิณี จนนางทนไม่ได้ต้องร้องไห้วิ่งหนีกลับบ้านเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็ได้เล่าเหตุการณ์ให้ชูชกฟังฝ่ายชูชกเมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงบอกว่า “ต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการงานสิ่งใด เราจะเป็นฝ่ายทำให้เองทุกอย่าง” แต่นางไม่เห็นด้วยพร้อมกับแน่ะนำให้ไปหาคนรับใช้มาทำงานแทน พร้อมกับบอกว่า “ภรรยาที่ดีจะให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ไม่ได้หรอก พ่อแม่ไม่ให้นั่งนอนอยู่เฉย การชี้นิ้วใช้สามีปรนนิบัติตนก็ไม่ควร ถ้าท่านรักเราจริงจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติและคอยรับใช้เราดีกว่า…”

ปุ้ย แสงฉาย อนงคาราม. พระไตรปิฎกมหาวิตถารนัย ๕๐๐๐ กัณฑ์ พระสุตตันตปิฎก พระเจ้า ๕๐๐ ชาติพิสดาร เล่มที่ ๕. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘), หน้า ๔๐๒ – ๔๐๖.

เมื่อชูชกได้ฟังภรรยาดังนั้นก็อัดอั้นตันใจ เพราะกลัวนางอมิตตดาเมียสาวจะทิ้งและไม่ยอมอยู่กับตนอีกทั้งไม่รู้จะไปหาข้าทาสหญิงชายมาจากไหน ฝ่ายนางอมิตตดาเห็นพฤติกรรมสามีเฒ่าทำท่างง ๆ จึงแนะนำขึ้นว่า “ได้ยินข่าวมาว่า พระเวสสันดรนักให้ทานผู้ยิ่งใหญ่ได้เสด็จออกจากเมืองสีพีแล้ว ไปขอรับบริจาคเอาลูกชายหญิงชาลีและกัณหาของท่าน เอามาเป็นข้าทาสคนรับใช้ของเรา… ต้องรีบนะก่อนที่ผู้อื่นจะไปขอ ขณะนี้ท่านมาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าเขาวงกตโน้นแล้ว”

เมื่อชูชกได้ยินเช่นนั้นจึงตัดสินใจออกเดินทางในตอนนั้นอย่างไม่ลังเลใจ พอไปถึงบริเวณปากทางเข้าสู่เขาวงกต ก็ได้พบพรานเจตบุตรผู้รักษาปากทาง พร้อมกับหมาไล่เนื้อที่พรานเลี้ยงไว้พากันรุมไล่ต้อนชูชกขึ้นไปจนมุมอยู่บนต้นไม้ ฝ่ายเจตบุตรก็เข้าไปตะคอกขู่แต่ชูชกไม่กลัว อีกทั้งได้แสดงไหวพริบให้เห็นด้วยการสังเกตดูเจตบุตรก็รู้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีฝีมือเข้มแข็งแต่ขาดไหวพริบ จึงคิดใช้วาทกรรมลวงเจตบุตรให้หลงเชื่อ แล้วให้นำพาตนเข้าไปพบพระเวสสันดร

เมื่อชูชกเดินทางมาถึงอาศรมก็คิดได้ว่า “หากเราเข้าไปทูลขอพระโอรสธิดาในขณะพระนางมัทรีอยู่ด้วย พระนางคงจะไมยิ่นยอมยกให้ก็เพราะความรักอาลัย เราควรจะรอจนกว่าพระนางเสด็จไปหาผลไม้ในป่าเสียก่อน จึงค่อยจะเข้าไปทูลขอต่อพระเวสสันดรเพียงลำพัง”

http://www.phrasomrak.com/index.php?option=com_

ในคืนวันนั้นพระนางมัทรีทรงฝันร้ายว่า “มีบุรุษร่างกายกำยำถือดาบมาตัดแขนซ้ายขวาจนขาดออกจากกาย แล้วก็ควักดวงเนตรซ้ายขวาพร้อมทั้งผ่าเอาดวงพระทัยของนางไปด้วย” นางก็เลยรู้สึกสังหรณ์และไม่สบายพระทัยเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับนาง จึงทรงละล้าละลังไม่อยากออกไปไกลจากอาศรม แต่ถ้าจะไม่เสด็จไปก็จะไม่มีผลไม้เสวยพระนางจึงจูงโอรสธิดาไปทรงฝากฝังกับพระเวสสันดรขอให้ทรงดูแลเป็นพิเศษ พร้อมกับเล่าความฝันให้พระเวสสันดรทรงทราบ

พระเวสสันดรทรงหยั่งรู้ว่าจะมีผู้มาทูลขอพระโอรสธิดา แต่ครั้นจะบอกความตามตรงพระนางมัทรีก็คงจะรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงตรัสกับพระนางมัทรีว่า “จะดูแลพระโอรสธิดาให้เป็นอย่างดี” เมื่อพระนางมัทรีได้ยินเช่นนั้นก็เบาใจ จึงเสด็จไปหาผลไม้ในป่าแต่เพียงลำพัง

ฝ่ายชูชกเมื่อเห็นนางออกไปนานพอสมควรแล้วจึงเดินมุ่งมาที่อาศรมและได้พบพระชาลีพระกัณหาทรงเล่นอยู่ด้านหน้าอาศรม เมื่อเดินผ่านมาก็แกล้งขู่ให้สองพระองค์ตกพระทัยเพื่อข่มขวัญไว้ก่อน แล้วชูชกเฒ่าก็เข้าไปเฝ้าพระเวสสันดร จึงได้กล่าววาจากราบทูลขอพระโอรสธิดาไปเป็นข้ารับใช้ของตน

ส่วนพระเวสสันดรได้สดับเช่นนั้นก็ทรงมีพระทัยยินดีที่จะบริจาคบุตรให้เป็นทาน และตรัสเรียกหาพระโอรสธิดา แต่พระชาลีกัณหาซึ่งแอบฟังความอยู่ใกล้ ๆ ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดว่า “พระบิดาจะยกตนให้แก่ชูชกก็ทรงกลัว” จึงพากันเดินถอยหลังลงไปหลบซ่อนตัวอยู่ในสระบัว ใช้ใบบัวปิดบังเศียรเอาไว้ไม่ให้ใครเห็น

พระเวสสันดรจึงได้ออกตามหาพระชาลีและกัณหาสองพี่น้อง เมื่อทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าเดินลงไปที่สระนํ้า จึงตรัสเรียกว่า “ชาลีกัณหา… เจ้าจงขึ้นมาหาพ่อเถิดลูก หากเจ้านิ่งเฉยอยู่ผู้เฒ่าคนนี้ก็จะเยาะเย้ยหาว่าพ่อไม่มีวาจาสัตย์ พ่อตั้งใจจะบำเพ็ญทานบารมีเพื่อบรรลุพระโพธิญาณ จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกในอนาคต ให้พ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ลูกเอยเจ้าจงมาช่วยพ่อทำบุญเพื่อบรรลุผลพระโพธิญาณเถิด…”

เมื่อทั้งสองพี่น้องทรงได้ยินพระบิดาตรัสเรียกเช่นนั้นก็คิดได้ รำลึกถึงหน้าที่ความเป็นบุตรที่ดี ควรเชื่อฟังบิดามารดาที่มีความพากเพียรสร้างบารมีเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งยังรำลึกถึงสายเลือดผู้นำไม่สมควรจะกลัวต่อสิ่งใด จึงได้เสด็จขึ้นมาจากสระบัว พระบิดาก็จูงทั้งสองพระองค์มาทรงบริจาคเป็นทานแก่ชูชก ชูชกก็รับตัวพระชาลีและกัณหาเป็นสิทธิ์ขาดแล้ว ก็แสดงอำนาจฉุดลากเอาสองกุมารเข้าป่าเพื่อให้เกิดความยำเกรงตน

พอถึงเวลาใกล้พลบคํ่าพระนางมัทรีทรงกลับมาจากป่า เผอิญว่าวันนั้นในระหว่างทางเดินมีสัตว์ร้ายวนเวียนดักทางอยู่ จึงมาช้ากว่าปกติ จนเย็นคํ่าแล้วสัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงจากไป9 พอมาถึงอาศรมก็ไม่เห็นลูก ๆ จึงได้ออกเที่ยวตามหาโอรสธิดาแต่ก็ไม่พบ ก็มาเฝ้าทูลถามจากพระเวสสันดร พระเวสสันดรก็ตรัสเล่าว่า “ได้บริจาคโอรสธิดาแก่ชูชกเฒ่าไปแล้ว ขอให้พระนางอนุโมทนาในทานบารมีที่ทรงกระทำไป”

ต้นตำนานการยกเมียให้คนอื่น

ในกาลครั้งนั้นฝ่ายท้าวสักกเทวราชทรงเล็งเห็นว่า หากมีผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไป พระเวสสันดรก็จะทรงลำบากไม่อาจบำเพ็ญเพียรได้เต็มความปรารถนา จึงแปลงกายเป็นชายมาขอรับบริจาคพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ทรงปีติยินดีที่จะได้บริจาคภรรยา พระนางมัทรีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะได้ทรงมีส่วนในการบำเพ็ญทานบารมีด้วย ทำให้ท้าวสักกะได้กลับคืนร่างดังเดิมและตรัสสรรเสริญอนุโมทนาในกุศลแห่งทานบารมีของพระเวสสันดร แล้วถวายพระนางมัทรีกลับคืนไป

ฝ่ายชูชกพาสองกุมารเดินทางระหกระเหินมาในป่าได้รับความลำบาก และหลงทางไปจนถึงเมืองสีพี บังเอิญผ่านไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัย ทรงทอดพระเนตรเห็นหลานทั้งสองก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า และขอไถ่สองกุมารจากชูชกและโปรดให้จัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก เพื่อตอบแทนที่พาหลานกลับมาถึงเมือง ชูชกเฒ่าไม่เคยได้บริโภคอาหารดี ๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง กินมากไปจนท้องอืดร่างกายทนไม่ไหวจึงสิ้นใจตายไปในที่สุด

หลังจากนั้นพระเจ้าสญชัยจึงตรัสสั่งให้จัดขบวนเสด็จ เพื่อไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่เมืองสีพี เพราะบรรดาประชาชนก็พากันได้คิดว่า “พระเวสสันดรได้ทรงให้ทานบารมีอันยิ่งใหญ่ ก็เพื่อประโยชน์ผู้คนทั้งหลายไม่ใช่เพื่อตนเอง” เมื่อขบวนไปถึงอาศรมริมสระโบกขรณีก็ทรงได้พบกันด้วยความโสมนัสยินดี แล้วพระเจ้าสญชัยจึงตรัสบอกพระเวสสันดรว่า “ประชาชนชาวสีพีได้สำนึกและเข้าใจในทางที่ผิดไป ตอนนี้เห็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว จึงได้พากันรํ่าร้องไห้และมาขอขมาโทษด้วย”แล้วได้ทูลเชิญเสด็จกลับเมืองสีพีตามลำดับ หลังจากนั้นพระเจ้าสญชัยก็ทรงอภิเษกพระเวสสันดรขึ้นครองเมืองสืบต่อไป

เมื่อได้เป็นพระราชาปกครองเมืองสีพีแล้ว พระเวสสันดรก็ทรงยึดมั่นในการทำทานบารมี ทรงให้ตั้งโรงทานบริจาคเป็นประจำทุกวัน ชาวเมืองสีพีตลอดจนบ้านเมืองใกล้เคียงต่างก็ได้รับพระเมตตากรุณามีความร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ทุกคนมีจิตใจผ่องใสเป็นสุขเหมือนดังที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระปณิธานนั้นแล

ขบวนแห่จำลองเหตุการณ์ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนเมืองสีพี ในงานบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด

ประวัติพระมาลัยบอกทางนรกสวรรค์

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วประมาณ ๒๑๘ ปี มีพระเถระเจ้ารูปหนึ่งมีชื่อว่า พระมาลัย จำพรรษาอยู่ในวัดวิหารบรรพต ตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านชื่อว่า โพชคาม ไม่ไกลจากโลหชนบท เมืองลังกา (ประเทศศรีลังกา)๑๐ พระมาลัยเป็น ผู้รู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านปฏิสัมภิทา เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเมตตาปรานีต่อสัตว์โดยทั่วไป ท่านมีนิสัยชอบท่องเที่ยวไปเมืองนรกและเทวโลก เพื่อแสดงธรรมให้สรรพสัตว์ทั้ง ๓ ภพภูมิ คือ เทวโลก โลกมนุษย์ และเมืองนรก ให้รู้แจ้งตามพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า จะได้พ้นทุกข์ดับความโศกโสกาอาลัย

๑๐ สีลา วีระวงส์, ฮีตสิบสอง, (จัดพิมพ์โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุบลราชธานี กรมฝึกหัดครู, ๒๕๒๙), หน้า ๗๐.

 

กาลครั้งหนึ่งท่านลงไปเยี่ยมเมืองนรก ด้วยแรงแห่งอิทธิฤทธิ์บารมีทำให้ไฟในนรกดับ นํ้าร้อนในหม้อกระทะทองแดงกลับแปรเปลี่ยนเป็นเย็นหวานต้นงิ้วใหญ่มีหนามยาว ๑๖ นิ้ว หนามนั้นก็หักพังทลายลง แล้วบันดาลให้นํ้าฝนตกลงมาให้เหล่าสัตว์นรกได้รับความสุข

พระมาลัยได้ถามสัตว์นรกว่า ด้วยผลกรรมอันใดจึงได้มาเกิดเป็นสัตว์นรกที่ต้องมาเสวยทุกข์เวร ณ ที่นี้ เมื่อท่านได้รับคำตอบก็นำคำตอบนั้นมาบอกกล่าวให้มนุษย์ทั้งหลายรับทราบและเตือนว่าอย่าได้ทำกรรมนั้น ๆ จะได้ไม่ไปเกิดในนรกซึ่งเป็นสถานที่มีแต่ความทุกข์ล้วน ๆ พร้อมทั้งชี้แนะให้ฝักใฝ่ในการบุญกุศล

กาลบางคราวก็ขึ้นไปสวรรค์ แสดงธรรมให้เทวดาอินทร์พรหมทั้งหลายให้รับรู้พระธรรมแห่งพระพุทธองค์ จะได้พัฒนาตนให้เสวยสุขยิ่งขึ้น ๆ ไปและถามถึงเหตุใดจึงมาเกิดบนสวรรค์แห่งนี้ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลนำมาบอกกล่าวให้มนุษย์ทั้งหลายได้รับรู้ สำหรับเป็นทางเลือกที่จะได้ไปเกิดบนโลกสวรรค์

พระศรีอริยเมตไตรยสนทนากับพระมาลัยเถระเจ้า

ครั้งหนึ่ง พระศรีอารย์โพธิสัตว์หน่อพุทธางกูรพร้อมด้วยบริวาร เดิมทีสถิตอยู่ชั้นดุสิตพิมานโอฬาริกภพเทวโลก ได้เวลาจึงเสด็จลงมานมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ มีนางเทพกัลยาทั้งหลายล้วนงดงามแวดล้อม กล่าวคือ นางอยู่เบื้องหน้ามีสีขาวบริสุทธิ์เป็นอาภรณ์ นางฟ้าเบื้องขวาประดับด้วยอาภรณ์เหลืองรุ่งโรจน์ นางฟ้าที่มาเบื้องซ้ายประดับด้วยเครื่องอาภรณ์แดง นางฟ้าที่ตามเบื้องหลังประดับด้วยอาภรณ์สีเขียว ส่วนหน่อพุทธางกูรโพธิสัตว์มีความงดงามกว่านางฟ้าทั้งปวง ครั้นมาถึงบริเวณพระธาตุเจดีย์ ก็ถวายนมัสการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนอันเกิดจากทิพย์ ในโอกาสนั้นเอง

พระโพธิสัตว์เจ้าทอดพระเนตรเห็นพระมาลัยเถระเจ้านั่งอยู่จึงเดินเข้าไปถามไถ่นมัสการตามสมควรแก่ธรรมอัธยาศัยอันงาม ทั้งสองสนทนากันอย่างถูกคอมีอยู่ตอนหนึ่งพระมาลัยเถระเจ้าถามว่า “เพราะเหตุไรหนอนางเทพอัปสรทั้งหลายนี้จึงมีคุณลักษณ์แห่งสีไม่เหมือนกัน และนางฟ้าเหล่านั้นทำบุญด้วยอะไรจึงได้เกิดมาเป็นนางฟ้า”

พระศรีอารย์กล่าวตอบพระมาลัยเถระเจ้า ผู้มีความต้องการทราบความเป็นไปเป็นมาว่า “ด้วยว่าในสมัยที่เป็นมนุษย์ นางฟ้าทั้งหลายเคยได้ทำบุญรักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนา กล่าวคือ

นางฟ้าที่มาในเบื้องหน้าที่มีรัศมีและสีกายขาวสะอาดนั้น ด้วยอานิสงส์เคยถวายของขาวและนุ่งห่มผ้าขาวรักษาศีล

นางฟ้าที่มาในเบื้องขวาที่มีรัศมีและสีกายเหลือง ด้วยอานิสงส์เคยถวายสิ่งของที่มีสีเหลือง

นางฟ้าที่มาในเบื้องซ้ายที่มีรัศมีและสีกายแดงนั้น ด้วยอานิสงส์เคยถวายสิ่งของที่มีสีแดง แก่พระสงฆ์สามเณร

นางฟ้าที่อยู่เบื้องหลังที่มีรัศมีสีกายเป็นสีม่วงสีแดง ด้วยอานิสงส์ที่ถวายสิ่งของที่มีสีม่วงสีแดง แก่พระสงฆ์สามเณร”

พระมาลัยเถระเจ้ากล่าวถามด้วยเมตตาจิตที่มีต่อสรรพสัตว์โลกที่จะได้มีโอกาสได้ไปเกิดในสมัยศาสนาของพระศรีอารย์บ้างว่า “และมีอีกอย่างที่อาตมาอยากรู้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะได้ไปเกิดในสมัยที่พระองค์ท่านลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เผื่อว่าจะนำไปเทศนาบอกกล่าวให้มนุษย์ทั้งหลายได้รับทราบ จะได้ปฏิบัติได้ถูกทาง”

พระโพธิสัตว์เจ้าศรีอริยเมตไตรย กล่าวตอบด้วยความเต็มใจว่า “ข้อปฏิบัติที่มนุษย์จะต้องประพฤติกันนั้นมีอยู่ ถ้าใครปฏิบัติได้แล้วจะไปเกิดในศาสนาของเราคือ

 

ให้ฟังพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก โดยการนำประทีปจำนวน ๑,๐๐๐ ธูปเทียนดอกไม้อย่างละ ๑,๐๐๐ เช่น ดอกอุบลเขียว ดอกสามหาว ดอกอัญชัน ดอกคูน ฉัตร ธงตะขาบ และเครื่องอื่น ๆ เป็นต้นว่า ขนม กล้วย อ้อย นำมาสักการบูชา และให้ฟังธรรมให้จบในวันเดียว จึงจะได้สำเร็จอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณเฉพาะพระพักตร์

ส่วนผู้ที่จะไม่ได้ไปเกิดในศาสนาของเราคือบุคคลที่กล่าวติเตียนนินทาพระอริยเจ้า ทำร้ายนางภิกษุณี ทำร้ายตระกูลตนและคนอื่น ทำอนันตริยกรรม ๕ ทำลายเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ ตัดต้นพระศรีมหาโพธิ ฆ่าพระโพธิสัตว์เจ้า ลักฉ้อโกงของสงฆ์ และมัวเมาประมาทในกามคุณ ๕” ๑๑

๑๑ www.isan.clubs.chla.ac.th

เมื่อทั้งสองสนทนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว พระมาลัยเถระเจ้าจึงอำลาพระศรีอริยเมตไตรย และไปอำลาพระเกศธาตุเจดีย์ด้วยการนมัสการกราบไหว้แล้วกลับสู่เมืองมนุษยโลกต่อไป

นับตั้งแต่เรื่องเหล่านี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธาที่ฝังรากลึกต่อการปฏิบัติในการทำบุญกุศล จึงเป็นที่มาของการทำบุญเดือนสี่ ตามหลักความเชื่อในพระพุทธศาสนาที่สืบทอดมาแต่ครั้งพระเวสสันดร และเรื่องพระมาลัยหมื่นมาลัยแสนที่ท่านได้ไปไหว้พระธาตุได้พบพระศรีอารย์๑๒ จึงเป็นที่มาของการทำกิจกรรมงานบุญของชาวอีสานในเวลาต่อมา จะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรบริจาคทรัพย์สมบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นด้วยทรัพย์ทั้งหลายทำให้เกิดกิเลส คือความโลภ ความหลง หวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้วทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับความสุขความพึงพอใจ

๑๒ สาร สาระทัศนานันท์, ชีวิตไทยชุดบูชาพญาแถน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, ๒๕๕๑), หน้า ๒๗.

(ซ้าย) ประติมากรรมสำริดรูป พระศรีอริยเมตไตรย : พระอนาคตพุทธเจ้า ปัจจุบันจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี (ขวา) ประติมากรรมสำริดรูป พระมาลัยปางโปรดสวรรค์ พระเถระผู้โปรดสรรพสัตว์ใน ๓ โลก อันเป็นต้นเค้าคติความเชื่อของงานบุญผะเหวดและการฟังเทศน์มหาชาติในเดือนสี่ ปัจจุบันประติมากรรมนี้จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

**********

ตำนานการเกิดฮีตสิบสอง

ฮีตเดือนอ้าย

ฮีตเดือนยี่

ฮีตเดือนสาม

Related Posts

ต้นไม้กลิ่นเหม็น
อู่อารยธรรมอีสาน “อุบลราชธานี” เมืองนักปราชญ์
อีสานในนิมิต
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com