มะอื่อสูง… สวัสดีปีใหม่ (๕)

The Tai Epics
มหากาพย์ชนชาติไท

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๔ | เมษายน ๒๕๖๒


“มะอื่อสูง ปี้อีกน่อง แหล้น่องอีกปี้”

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทย เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตรงกับไตศักราช ๒๑๑๓

ใคร่ถือโอกาสนี้ กล่าวทักทายเพื่อนพ้อง น้องพี่ ญาติสนิท มิตรสหาย ชาวไท|ไต|ลาว|ไทย ให้เจริญสุขสวัสดี “อยู่ดีกินหวาน”

คำว่า /มะอื่อสูง/ หรือที่เขียนกันในชั้นหลัง ว่า |ใหม่สูง| เป็นคำทักทายที่ชาวไทใหญ่ใช้เมื่อ พบปะกัน มีความหมายทำนองเดียวกับคำ “สวัสดี” ที่ใช้กันทั่วไปในภาษาไทยกลาง

|สวัสดี| เป็นคำยืมจากภาษาสันสกฤตว่า |savasati|

คำนี้มีที่ใช้ในภาษาเขมรด้วย ออกเสียงว่า /suasadey/

ในภาษาไทใหญ่ /มะอื่อ/ คือคำที่ออกเสียงได้ค่อนข้างยากสำหรับคนไทยทั่วไป

ความหมายของคำนี้ เทียบได้ตรงกับคำ |ใหม่| ที่ใช้กันในภาษาไทยกลาง หมายถึง การทำอะไรที่ใหม่ ๆ ดี ๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน

ส่วนคำว่า |สูง| ในภาษาไทใหญ่นั้น ออกเสียงใกล้เคียงกับคำในภาษาไทยกลาง /สูง/

แปลตรงตัว ตามความหมายรูปธรรมเชิงกายภาพว่า ‘สูง’

จึงมีความหมายเชิงมโนทัศน์เข้าทำนอง “สูงส่ง” ตามที่ก็มีใช้ในสำนวนภาษาไทยด้วย

ความหมายอันเป็นนัยยะสำคัญคือ ความ “เจริญ-งอกงาม” (progression; advancement)

รวมความแล้ว คำทักทาย “ใหม่สูง” ของชาวไทใหญ่ โดยควรออกเสียงให้ถูกว่า /มะอื่อสูง/ ก็คือคำอวยชัยให้พรต่อกัน ใช้เมื่อพบปะกันแล้วทักทายกันให้ ‘มีก้าวใหม่สูง ๆ ยิ่งขึ้นไป’ หมายความว่า (ขอจง…) ‘ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้น’ (achievement) นั่นเอง

อันที่จริง ความหมายเชิงมโนทัศน์ทำนอง เดียวกันนี้ก็มีใช้กันเพื่อการทักทายในวัฒนธรรม ไทยสยามด้วย แต่ก่อนใช้ในบริบทที่ผู้ใหญ่ อำนวยชัยให้พรเด็กหรือผู้อ่อนวัยกว่า เช่นใช้ใน ภาษาพูดเป็นสำนวนไทยว่า “จำเริญ ๆ เถิด (พ่อคุณ…แม่คุณ)” แต่ก็ไม่ค่อยใช้ทั่วไปแล้ว ผู้ อาวุโสยังอาจใช้อยู่บ้างในบางท้องถิ่น แต่ทุกวัน นี้ก็ลดน้อยถอยลงตามลำดับในท่ามกลางการ พัฒนาทุนนิยมท้องถิ่น การเข้ามามีอิทธิพลของ ทุนนิยมชาติ และกระแสบ่าล้นของสื่อมวลชน สมัยใหม่

รูปศัพท์ของสำนวนไทยแต่ก่อนเก่านี้แสดง ชัดเจนว่าเป็นสำนวนทักทายที่ใช้คำยืมจากศัพท์ เขมร

|จำเริญ| มีความหมายว่า ก้าวหน้า (progress)

ไทย (สยาม) นิยมเอาคำนี้มาใช้ในรูปแบบ ‘คำซ้อน’ ทั้งในภาษาพูดและโดยเฉพาะในภาษา เขียน เพื่ออำนวยพรอย่างเป็นทางการ ช่วงสมัย หนึ่งใน ส.ค.ส. (บัตรส่งความสุข) วาระดิถีขึ้นปี ใหม่ จะปรากฏสำนวนคำซ้อนต่อเนื่อง เช่น

“ขอจงมีความสุขสวัสดี เจริญก้าวหน้า พัฒนาสถาพร”

คำอำนวยพรที่เจตนาทำให้ขลังนี้ ผูกถ้อย ร้อยคำให้เป็นไปตามระบบภาษาไทยสยามในชั้น หลังที่นิยมสร้างคำซ้อนที่มีความหมายใกล้เคียงกันให้ส่งสัมผัสต่อกันเป็นทอด ๆ เป็นการใช้คำที่มีรูปศัพท์แผลงมาจากรากคำภาษาเดิมถึง ๓-๔ ภาษาเรียงต่อกัน เริ่มจากคำภาษาเขมร (เจริญ) ; ภาษาไทย (ก้าวหน้า) ; ภาษาบาลี (พัฒนา) ; และ ภาษาสันสกฤต (สถาพร)

 ลักษณะการประกอบสร้างคำซ้อนให้เกิด เป็นสำนวนโวหารส่งสัมผัสต่อเนื่องกันเช่นนี้ อาจ กล่าวได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ประการหนึ่งของภาษา ไทย ที่จัดว่าเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมใน เชิงโครงสร้าง ทั้งในแง่ ‘ระบบภาษาไทยสยาม’ แต่เดิมมาที่ประกอบสร้างรูปคำผสมผสานจน กลายเป็นภาษาที่มีลักษณะ ‘ลูกผสม’ (hybridity) และในแง่ ‘การจัดตั้งสังคมไทย สยาม’ เรื่อยมาจนกลายเป็นสังคม ‘พหุลักษณ์’ ในสมัยปัจจุบัน นัยยะสำคัญเชิงทฤษฎีนี้คงจะ ได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นกิจจะลักษณะต่อไป

การร้อยคำ|มะอื่อสูง| : “กุญแจคำ” ไขรหัสวัฒนธรรมไทใหญ่

ผู้เขียนได้เคยใช้วิธีวิทยาแนวมานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ (Linguistic Anthropology) เสนอ วิธีการเสาะหา ‘คำสำคัญ’ ที่ได้ผ่านการขบคิด คัดสรร แล้วกำหนดให้เป็นเป้าหมายของการ ศึกษา โดยใช้เป็น ‘กุญแจคำ’ (Keyword) ไขรหัส ทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งอาจทำให้ได้คำตอบ ของปริศนาหรือข้อกังขาบางประการ เป็นการ ใช้ “กุญแจคำ” ข้ามบริบทกาลสมัย (Time) อีก ทั้งยังข้ามบริบทพื้นที่ ; ตำแหน่งแห่งที่ ; เขต วัฒนธรรม (Space ; Position ; Cultural Zone) ดังที่ได้ศึกษาชุดคำ|ด้ำแถน เสา หลัก ใจ| ปรากฏ เป็นผลวิจัยรกรากความเป็นไท|ไต|ลาว|สยาม ใน หนังสือ “ด้ำแถน กำเนิดรัฐไทฯ” ไปแล้ว (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ๒๕๖๑) สำหรับในงานวิจัยนี้ ก็ได้ เริ่มชี้ชวนให้ลองเล่นกับคำสำคัญ |เพรางาย| ดัง ที่ได้เกริ่นนำร่องในบทก่อนหน้านี้ใน “มหากาพย์ ชนชาติไท” (๒๕๖๒)

คำทักทาย |มะอื่อสูง| หรือที่ในเฟซบุ๊ก เครือข่ายหนุ่มสาวชาวไทใหญ่ในประเทศไทยมัก ใช้ว่า “ใหม่สูง” ก็จัดว่าเป็น “คำสำคัญ” อีก สำนวนหนึ่งในภาษาไทใหญ่ ที่อาจใช้เป็น ‘กุญแจ คำ’ ไขรหัส ‘วัฒนธรรมไทดั้งเดิม’ ทั้งของสังคม กลุ่มวัฒนธรรมไทใหญ่ และของสังคมชุมชน ชาติพันธุ์ไท-ลาว-สยามในภาพรวม ที่มีความ หมายในเชิง “โครงสร้าง” อันอาจมีนัยยะสำคัญ เชิงทฤษฎีได้

กุญแจคำ|มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ สะท้อน ระบบ (system) การใช้ภาษาของชาวไทใหญ่ว่า กลุ่มชนในโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมไทสายนี้ นิยม ‘ผูกถ้อย~ร้อยคำ’ (ภาษาไวยากรณ์ไทย สยาม เรียกว่า ‘คำประสม’) เพื่อประกอบสร้าง ขึ้นเป็น ‘สำนวนไท’ ที่มีความหมายเฉพาะ (‘สำนวน’ ในที่นี้ตรงกับ Idiom ในภาษาอังกฤษ) วิธีการ ‘ผูกถ้อย~ร้อยคำ~ประสมคำ’ ให้เกิดเป็น ความหมายใหม่เช่นนี้ อาจถือว่าเป็นอัตลักษณ์ ประการหนึ่งของระบบภาษาไทดั้งเดิม (Proto- Tai) ที่ชาวไทใหญ่ยังคงสามารถสั่งสมสืบทอดมา จนถึงปัจจุบัน

ที่น่าสังเกตก็คือ คำทักทายสำนวนนี้ยังมีใช้ ในชีวิตประจำวัน สะท้อนให้เห็นว่าจนถึงทุกวัน นี้ชุมชนชาวไทใหญ่ก็ยังคงสามารถรักษา ‘ความ ใสของน้ำคำ’ อันถือว่าเป็นความบริสุทธิ์ทางการ ใช้ภาษาไทดั้งเดิมไว้ได้อย่างมั่นยืนงดงามยิ่ง

คำทักทายนี้บ่งชี้ “ความเป็นไทนิยม” อยู่ในตัวเอง ต่างจากการใช้คำทักทายว่า “สวัสดี” ของชาวไทยสยาม การประกอบสร้าง ‘สำนวนไท’ โดยการ ‘ผูกถ้อย~ร้อยคำ’ ที่เป็น คำไทใสบริสุทธิ์ ปลอดพ้นจากการลากเข้าวัด ‘เข้าบาลี’ ยังมีพบและใช้ในท้องถิ่นไทในภูมิภาค ต่าง ๆ ด้วย ดังตัวอย่างที่ชัดแจ้งที่สุด เช่น

|ใจบ้าน~ใจเมือง|

คำว่า ‘ใจ-บ้าน-เมือง’ ทั้ง ๓ คำเป็นคำโดด เป็นคำไทล้วนที่มีความหมายใสบริสุทธิ์ในตัวเองปราศจากการปลอมปนจากภาษาอื่น

เมื่อประกอบรูป ‘ผูกถ้อย~ร้อยคำ’ แล้ว ก็เกิดเป็นคำประสม ที่กลายเป็น “สำนวน” ที่มี ความหมายใหม่ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม

ความหมายรูปธรรมเชิงกายภาพของ สำนวน ‘ใจบ้าน~ใจเมือง’ ถือเป็น ‘รูปสัญญะ’ ที่สื่อความหมายในระบบความเชื่อไทดั้งเดิม คือ ความเชื่อใน ‘ผีบรรพชน’ อันถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของชุมชนชาวไทและชนชาติไท ‘ใจบ้าน’ มัก ประดิษฐานอยู่ใจกลางชุมชน แต่เดิมในรูปของ หลักหิน ก้อนเส้า (สามเส้า) ต่อมาก่อรูปเป็น เสา หิน เสาไม้ หรือกระทั่งใช้ต้นไม้ (ที่มีความหมาย พิเศษบางพันธุ์เช่น ต้นชัยพฤกษ์) ปักหรือปลูก ไว้ใจกลางบ้านเรียกว่า ‘ใจบ้าน’ ใช้เป็นสัญลักษณ์ แทนความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใจกลางชุมชน เมื่อ ชุมชนขยายตัวจาก ‘บ้าน’ กลายเป็น ‘เมือง’ ก็ มีพัฒนาการของรูปสัญญะให้ขึงขังใหญ่โตขึ้น กลายเป็น ‘เสาเหล็ก~เสาสำริด’ จัดสร้างและ ประดิษฐานไว้ใจกลางเมืองก็เรียกว่า ‘ใจเมือง’ ต่อมา ‘รูปสัญญะ’ นี้จึงมีวิวัฒนาการเชิงมโนทัศน์ ถนัดชัดเจนขึ้นเป็น ‘เสาหลักเมือง’ ดังที่มีปรากฏ อยู่ทั่วไปในแผ่นดินไทยสยาม รวมทั้งใจกลางกรุงเทพมหานคร มีการจัดราชพิธีบวงสรวงเซ่น ไหว้ต่อเนื่องกันมานับแต่วันปฐมฤกษ์ตั้งเสา หลักเมืองกรุงเทพฯ สถาปนาราชวงศ์จักรี สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ระบบความเชื่ออันมีพิธีกรรมรองรับนี้ คือ ‘รหัสวัฒนธรรมไท’ ที่มีนัยยะสำคัญเชิงทฤษฎี เป็น ‘โครงสร้างเบื้องลึก’ (Deep Structure) ของแก่นแกนความเชื่ออันเป็นระบบ (Belief System) เกี่ยวกับ ‘ผีบรรพชนไท’ (Tai Anscestral Spirit) ที่สืบทอดต่อเนื่องกัน มายาวนานอย่างไม่ขาดตอน โดยยังคงมี ‘การ หน้าที่’ (Function) กำกับ อีกทั้งมี ‘วาทกรรม’ (Discourse) รองรับ และมี ‘ปฏิบัติการ’ (Operation) สนับสนุนอย่างเป็นพลวัตด้วยอย่างสอดคล้องต้องกัน

‘โครงสร้างเบื้องลึก’ ข้างต้น ไม่เพียงแต่มี บทบาทกำกับ ‘ระบบความเชื่อ’ ที่นำมาซึ่งการ แสดงออกรูปการณ์ต่าง ๆ เช่น พิธีกรรม คีตกรรม และนาฏกรรม ที่แวดล้อมระบบความเชื่อ หาก ยังมี ‘การหน้าที่’ สำคัญ คือ การสืบทอด ‘สาย ด้ำ’ ซึ่งก่อให้เกิดชมรม ‘สายตระกูล’ ต่าง ๆ ตลอดรวมถึง ‘ราชวงศ์’ ต่าง ๆ ที่มีการสืบทอด ทางสายเลือด การอบรมบ่มเพาะให้มีภูมิปัญญา และดำเนินภารกิจตามหน้าที่ที่กำหนด เช่น ผู้นำสายด้ำส่งลูกหลานสายด้ำต่าง ๆ ออกไปสร้าง บ้านแปงเมือง สมาชิกในสายตระกูลและสาขา ตระกูลย่อยรับมอบภารกิจของต้นด้ำในการศึก การศาสนา หรือการสร้างสรรค์ศิลปะวัฒนธรรม และวรรณกรรม เป็นต้น ในบริบทสังคมไทย สยาม ราชวงศ์จักรีก็กำลังดำเนินพันธกิจที่สืบทอดมาตามระบบคุณค่าเช่นที่กล่าวข้างต้น

‘การผูกถ้อย~ร้อยคำ’ |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ ขึ้นใช้เป็นสำนวนไทเพื่อทักทายกัน โดย มีความหมายเฉพาะแสดงความปรารถนาดีที่ งดงาม ก็เป็นกระบวนการวิวัฒน์ในทาง วัฒนธรรมด้าน ‘ภาษา’ ของชาวไทใหญ่อีกชุด หนึ่งที่เป็น ‘แนวเทียบ’ เดียวกันกับตัวอย่าง พิเศษข้างต้น และก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับ การตั้งชื่อด้วยภาษาไทที่เรียบง่ายและการแต่ง เพลงขับ “ความล่องคง” ด้วยเนื้อร้องที่เป็น ‘คำไท’ ล้วน ๆ กระบวนการเคลื่อนไหว |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ น่าจะมีนัยยะสำคัญเชิงโครงสร้างแฝง อยู่อีกเช่นกัน ซึ่งอาจจะนำมาใช้เป็น ‘กุญแจคำ’ เพื่อไข ‘รหัสวัฒนธรรมไทใหญ่’ ด้านอื่น ๆ ใน บริบทที่กว้างขวางขึ้นได้นอกเหนือจากรหัส วัฒนธรรมทางด้านระบบภาษา

กล่าวคือ ความหมายของกระบวนการ ความคิด |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ มีนัยยะสำคัญ ในมุมมองทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มี ความเป็นไปได้ว่า ชาวไทใหญ่ ‘ผูกถ้อย~ร้อยคำ’ ‘สร้างสำนวน’ และ ‘แต่งวรรณกรรม’ ด้วยความ คิด |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ อันเป็นชุดความคิด เชิงมโนทัศน์เดียวกันกับ “การสร้างชาติ” (ใหม่) คำว่า “ชาติ” ในที่นี้ ยังไม่ใช่ความหมายของ “รัฐชาติ” แบบ Nation-State หากใช้ในความ หมายของ ‘ความเป็นชนชาติ (ไท) นิยม’ (Nationalism)

หากอธิบายเชิงกระบวนทัศน์ กระบวนการ |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ หมายถึงวิธีคิดอย่างเป็น ระบบ ที่ใช้ประกอบสร้างสิ่งต่าง ๆ ในสังคมไท ใหญ่อย่างเป็นขบวนการ โดยมีการขับเคลื่อนทาง สังคม (Social Movement) จนอาจถือได้ ว่า |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ เป็น ‘จิตสำนึกทาง สังคม’ (Social Consciousness) ที่เคลื่อนไหว สืบทอดกันสืบมา ภายในโครงครอบความคิดนึก เชิงกระบวนทัศน์ของผู้คนในสังคมไท ที่มักจะ ไม่รู้ตัวและเป็นไปเอง ซึ่งในที่สุดก็วิวัฒน์เป็น ‘ระบบคิดหลัก’ ชุดสำคัญชุดหนึ่ง ที่มีปฏิบัติการ ในโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมไทใหญ่ในภาพรวม ก็ว่าได้

การแสดงออกด้านต่าง ๆ ของชาวไทใหญ่ ในทาง |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ จัดว่าเป็นกรณี ศึกษาพิเศษ “ชาวไทใหญ่” ในที่นี้หมายถึงชาว ไทใหญ่กลุ่มหลัก คือ ‘ไตมาว~ไตอาหม’ เป็นตัว แบบหนึ่งที่ชัดแจ้งในการแสดงออกด้านต่าง ๆ ทั้งการเคลื่อนไหวภายในและภายนอกสังคม โดย มี กระบวนทัศน์ชุดนี้ คือ |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ กำกับความนึกคิดและการเคลื่อนไหวทางสังคม ในสังคมร่วมสมัย ชุมชนชาวไททั้งสองกลุ่มหลัก นี้เป็นกลุ่มวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ที่มี ‘จิตสำนึก ทางสังคม’ |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ ที่มีความรัก ต่อกัน สมานสามัคคี มีการรวมกลุ่มก้อนแบบ “ชนชาตินิยม” มากเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจาก ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สังคม (ในที่นี้มิได้ หมายความถึง “เชื้อชาตินิยม ~ Racism”)

กล่าวในเชิงทฤษฎี |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ จัดว่าเป็น ‘วาทกรรมทางสังคม’ ด้วย วาทกรรม ที่ตอกแน่นฝังรากลึกนี้กำกับให้ขบวนการ เคลื่อนไหวทางสังคมของชาวไทใหญ่ ทั้งกลุ่มไต มาวและไตอาหม เป็นไปอย่างธรรมชาติ ด้วยน้ำใสใจจริงอย่างต่อเนื่อง เพราะ ‘เป็นคนไท~รัก ความเป็นไท~อยากแสดงออกซึ่งความเป็นไท’ ไทใหญ่บางกลุ่มในพม่ามีการเคลื่อนไหวที่พัฒนา ถึงขั้นก่อรูปการณ์ต่อสู้ด้วยอาวุธ ด้วยอยากสร้าง ‘ชาติไท’ ที่เป็นอิสระ ปลดปล่อย ‘ชนชาติไท ใหญ่’ จากอำนาจรัฐสหภาพเมียนมาร์ เพราะไม่ ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของใครอื่นที่มิใช่ ‘ไท’

การศึกษาวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีข้างต้น มิได้ละเลยหรือมองข้ามข้อเท็จจริงทาง ประวัติศาสตร์ก่อนหน้าลัทธิล่าอาณานิคมว่า ชุมชนไทใหญ่ในสหภาพเมียนมาร์ และในแคว้น อัสสัมของอินเดีย เคยถูกครอบงำด้วยอิทธิพล ทางการเมืองการปกครองของรัฐที่มีอำนาจเหนือ กว่า จนเกิดเป็นความนิยมที่จะใช้ภาษาและ วัฒนธรรมพม่า (กรณีไตมาวและฉานในพม่า) ภาษาและวัฒนธรรมฮินดู (กรณีไตอาหมและไต กลุ่มย่อยอื่น ๆ ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย) อีก ทั้งในบางสมัยยังนิยมหยิบยืมภาษาพม่า~ภาษา ฮินดี มาใช้ในการสร้างสรรค์วรรณคดีไตมาวและ ไตอาหมด้วย นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกถ้อยคำสำเนียงภาษา และสำนวน พม่า~ฮินดี ในภาษา พูดและภาษาเขียนของชาวไททั้งสองกลุ่ม กระบวนการกลืนกลายทางวัฒนธรรมเพิ่งจะมา ปรากฏในชั้นหลังเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยทำนองเดียวกัน การณ์เช่นนี้ก็เป็นไปในหมู่ชาวไท ใหญ่ที่มีภูมิลำเนาตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกับสังคมไทย สยามด้วย อย่างไรก็ตาม ‘ความเป็นชนชาติไท นิยม’ มีความเป็นมาคู่ขนานไปกับวาทกรรม |มะ อื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ ที่มีปฏิบัติการทางสังคมระดับ ลึก ใน ‘โครงสร้างส่วนลึก’ ก่อนหน้าที่ภาษาไท ถิ่นดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน รวมทั้งในลำพูน ลำปางจะถูกกัดเซาะลบเลือนไปเพราะอิทธิพลครอบงำเชิงโครงสร้างการเมืองการปกครองของราช อาณาจักรไทยสยาม อำนาจเศรษฐกิจรวมศูนย์ และพุทธศาสนาจากส่วนกลางของไทย รวมทั้ง อิทธิพลของสื่อไทยปัจจุบัน อันเป็นผลให้ภาษา ไทใหญ่ในบริบทกำกับของภาษาไทย (สยาม) ปัจจุบันมีการหยิบยืมทั้งคำเขมร คำบาลี สันสกฤต และคำต่างภาษาอื่นๆ มาใช้สื่อสารต่อ กัน ความเป็น “ชนชาตินิยมไท” ที่เดิมมีอยู่อย่าง เข้มข้นอาจจะลดระดับเจือจางลงบ้างในหมู่หนุ่ม สาวที่กลายเป็นพลเมืองไทยในปัจจุบัน แต่เมื่อ ศึกษาวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว คำทักทาย และแนวคิดเชิงมโนทัศน์ |มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ ยังคงเป็นวาทกรรมที่มีอำนาจภายในสังคม และ น่าจะยังคงมีปฏิบัติการอยู่อย่างลึกเร้น

|มะอื่อ| ~ ‘ใหม่’ กุญแจไขปริศนา “๒๐ ม้วน จำจงดี”

ดังได้กล่าวมาในช่วงต้น คำภาษาไทใหญ่ /มะอื่อ/ เป็นคำที่ออกเสียงได้ค่อนข้างยาก สำหรับคนไทยทั่วไป มีหลักฐานอ้างอิงได้แน่ชัด จากประสบการณ์ตรงของท่านอาจารย์ ดร.บรรจบ พันธุเมธา ดังปรากฏในข้อความต่อ ไปนี้

“ทั้งเจ้าฟ้าโหลงและมหาเทวีทรงฝักใฝ่ใน เรื่องภาษาอยู่ไม่น้อย นอกจากจะได้เชิญ ผู้มี ความรู้ในภาษาไทยใหญ่มาพบเพื่อให้ความรู้แก่ ข้าพเจ้าแล้ว ก็ยังได้ให้ความรู้ในเรื่องคำต่าง ๆ แก่ข้าพเจ้าอีกเป็นอันมาก…

ตลอดเวลาที่ได้สนทนาปราศรัยกัน มหา เทวีทรงปรารภว่าเด็กไทยใหญ่สมัยนี้พูดภาษาไม่ ได้เหมือนกับพวกผู้ใหญ่ แม้เสียงที่พูดก็ผิดเพี้ยน ไม่ชัดเจน

ได้ยินดังนี้ ข้าพเจ้าอดถามด้วยความสนใจ ไม่ได้ว่าเป็นเสียงใด เพราะเชื่อแน่ว่าต้องเป็น เสียงที่ออกได้ยาก เด็ก ๆ ก็ออกไม่ได้เหมือน…

และข้าพเจ้าก็ต้องอุทานออกมาด้วยความ ตื่นเต้น ในเมื่อมหาเทวีรับสั่งว่าเสียงที่ผิดเพี้ยน มีอยู่เสียงเดียวคือเสียง เออ-อ

เด็ก ๆ มักออกเสียง ไอ เช่น เผอ-อ (ใคร) เป็น ไผ เป็นต้น

และก็จริงดังนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเจ้านางทุก องค์รับสั่งว่า

ไผ ใส่ ใจ๋ แทนจะเป็น เผอ-อ เส่อ-อ เจ๋อ-อ อย่างคนในแถบอื่นทั่วไป…นี่เองเสียง “เออ-อ” นี่เองเป็นเสียงที่ออกได้ยากนักหนา

พวกเราไทยน้อยได้ประสบความยุ่งยาก อย่างนี้มานานหลายร้อยปีแล้ว

เสียง เออ-อ อันเป็นเสียงที่ผสมเสียง อา กับ อี จึงกลายเป็นเสียงไอ

ที่เป็นเสียงผสมของอากับอี…

แต่เสียง “ไอ” ของคำเหล่านี้ได้แก่ ให้ ใจ ใส ใน ใล (ใด) เป็นต้น นั้น

เท่าที่ข้าพเจ้าฟังเจ้านางรับสั่ง หรือแม้คน อื่น ๆ ในหอพูดกัน เสียงไม่เหมือนกับเสียงไอไม้ มลายทีเดียวนัก ข้าพเจ้าเองก็ออกไม่ได้เหมือน คงจะด้วยเหตุนี้เอง โบราณาจารย์ของเราต้องติด รูปไม้ม้วนไว้กำกับให้รู้ว่าเป็นเสียงที่ต่างกัน

การกลายเสียงของคนในรุ่นที่เห็นได้ทัน ๆ กันอย่างนี้ จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ดีที่สุด ประการหนึ่ง…”

บันทึกประสบการณ์ข้างต้น ช่วยยืนยันว่า การใช้กุญแจคำ|มะอื่อสูง| ~ ‘ใหม่สูง’ มีผลลัพธ์ ชัดเจน |มะอื่อสูง| ออกเสียงโดยชาวไทใหญ่รุ่น ผู้ ใหญ่ กับ ‘ใหม่สูง’ ที่ออกเสียงโดยเด็ก ๆ และ ขีดเขียนโดยวัยรุ่นไทใหญ่ปัจจุบันในชั้นหลัง แม้จะเป็นชาวไทใหญ่ด้วยกัน แต่ก็ออกเสียงได้ ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะชนรุ่นหลังได้ก้าว ย่างเข้าสู่สังคมไทยสยามอย่างเต็มพิกัดเสียแล้ว ความเคยชินกับการออกเสียงตามระบบเสียงเดิม จึงไม่มี หรือได้ถูกกลืนหายไปเพราะระบบเสียง ในภาษาไทยสยามในปัจจุบัน

ปรากฏการณ์นี้ได้ช่วยไขปริศนา อันเป็น ‘รหัสนัย’ ของเสียง /ay/ ที่เขียนด้วย ไม้ม้วน [ใ ] ในระบบการเขียนของภาษาไทยสยาม ที่เรา จำเป็นต้องท่องจำกันมาตลอดว่า “๒๐ ม้วน จำจงดี” ได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎี “กุญแจคำ” ไขรหัสนัยของอดีต สามารถใช้ได้กับปรากฏการณ์กลายเสียงจาก ระบบภาษาไทดั้งเดิมมาสู่ภาษาไทยสยาม จำเดิมไม่มีคำอธิบายกันให้เข้าใจในชั้นเรียนว่า ทำไมจึงต้อง ‘จำคำ ๒๐ ไม้ม้วนจนถึงขั้น ท่องจำกันให้ได้ แต่บัดนี้สามารถอธิบายได้จาก การศึกษาระบบเสียงภาษาไทใหญ่ที่ออกยาก เช่น เสียง /a-eu/

คำเพียงหนึ่งคำคือ |มะอื่อสูง| ออกเสียง กลายเป็น ‘ใหม่สูง’ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ เราว่า เมื่อสืบสาวจากระบบเสียงบางคำที่มี การกลายเสียง จากเสียงเดิม /a-eu/ เป็น /ay/ นั้น ชาวไทใหญ่กับชาวไทยน้อยใช่อื่นไกล เป็นพี่ เป็นน้องใกล้ชิดกันอย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์นี้ยังชวนชี้ให้เข้าใจว่า ในระบบความสัมพันธ์เดิมนั้น ‘ไทใหญ่เป็นพี่ ไทน้อยเป็นน้อง’

“ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่            ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ                มิหลงใหลใครขอดู

จะใคร่ลงเรือใบ               มีน้ำใสและปลาปู

สิ่งใดอยู่ในตู้                    มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง

บ้าใบ้ถือใยบัว                 หูตามัวมาใกล้เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง        ยี่สิบม้วนจำจงดี”

เอกสารอ้างอิง

บรรจบ พันธุเมธา กาเลหม่านไตในรัฐชาน ตอนที่ ๓๙ “ยืนยันเสียง “ใอ” กลายพันธุ์”

คัดลอกนำเสนอใหม่ในเฟซบุ๊กโดย ประสิทธิ์ ไชยชมพู, ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒.

*****

The Tai Era เบิกฟ้าปีใหม่ไท ไตศักราช (๑)

ศก ศักราช กับ ไตศักราช (๒)

The Dawn of the Tai วิธีวิทยาเจาะเวลาหา ‘ยุคเพรางาย’ ~ อรุณรุ่งของชนชาติไท (๓)

“ความล่องคง” ประวัติศาสตร์ขับขานของชนชาติไท (๔)

 

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com