จับตา ศาลโลกสั่งคดีปราสาทพระวิหารรอบ ๒

รายงานพิเศษ: จับตา ศาลโลกสั่งคดีปราสาทพระวิหารรอบ ๒
นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๙
ปีที่ ๒ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖

e-shann19_repoer

คดีปราสาทพระวิหารรอบสอง จะกลับมาให้สนใจอีกหน เชื่อว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก จะรับ ‘ตีความ’ ตามคำร้องของกัมพูชาแล้วจะมีคำพิพากษาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้

นับแต่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลก (เม.ย. ๒๕๕๔) คือ (๑) ให้ศาลวินิจฉัยรับ ‘ตีความ’ คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารรอบแรก (๑๕ มิ.ย. ๒๕๐๕) เพราะความเห็นต่อ ‘บริเวณรอบ’ ปราสาทพระวิหารไม่ตรงกัน…

ประเทศไทยมีพันธกรณี…ถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลที่ประเทศไทยส่งไปประจำอยูที่ปราสาทหรือในบริเวณใกล้เคียงปราสาทในดินแดนกัมพูชา (ข้อบทปฏิบัติการที่ ๒) เป็นพันธกรณีที่มีลักษณะทั่วไปและต่อเนื่องในการเคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชา โดยเส้นบนแผนที่ภาคผนวก ๑ ที่ศาลใช้เป็นพื้นฐานของคำพิพากษา [๑]

(๒) ขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน สั่งทหารไทยและเจ้าหน้าที่ไทยออกจากพื้นที่พิพาท ๔.๖ ตร.กม. ผู้แทนประเทศไทยได้ยื่นคำแก้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งไปแถลงด้วยวาจาแล้วก็ไม่อาจยับยั้งได้ ศาลวินิจฉัยมีคำสั่งเมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ขีดเส้นลงแผนที่ประมาณ ๑๗.๔ ตร.กม. เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราว

นัดสำคัญคือการแถลงด้วยวาจาต่อผู้พิพากษาศาลโลก (๑๕-๑๙ เม.ย.๒๕๕๖) แม้ผู้แทนประเทศไทย (วีรชัย พลาศรัย) ยํ้าขอบเขตอำนาจศาลโลกต้องเป็นไปตามข้อ ๖๐ การ ‘ตีความ’ ต้องอยู่ในคดีเดิม แต่กัมพูชาขอตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร นอกขอบเขตคำตัดสินเดิมซึ่งไทยปฏิบัติไปแล้ว ถือเป็นสิ้นสุด

แต่แทบทุกเวทีสัมมนากะเก็งเชื่อว่า ศาลโลกจะรับ ‘ตีความ’

ประเด็นคือ แล้วจะตัดสินอย่างไร?

เฉพาะเวทีล่าสุด (๓ ต.ค. ๒๕๕๖) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พูดยํ้าเหมือนเวทีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (๓๐ ก.ย. ๒๕๕๖) เป็นไปได้ ๔ แนวทาง คือ

หนึ่ง ศาลโลกไม่รับเรื่องทบทวนคำตัดสินอีกครั้ง โดยยกให้เจรจาระดับทวิภาคีสองประเทศ

สอง เปลี่ยนการตีความตัดสินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายไทย

สาม ยืนตามคำตัดสินเดิมซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายกัมพูชา

สี่ ศาลตัดสินเป็นกลาง อาจยกให้นำเรื่องไปไกล่เกลี่ยในเวทีอื่น เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)

ชุมพร ปัจจุสานนท์ [๒] ประจำคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นข้อโต้แย้งฝ่ายไทยมีนํ้าหนักกว่าฝ่ายกัมพูชา ซึ่งไม่เคยค้านเส้นตามมติคณะรัฐมนตรีของไทย (๑๐ ก.ค.๒๕๐๕) ซึ่งรวมพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร จึงเชื่อว่าไทยจะไม่เสียหายมากกว่าที่ล้อมรั้วตามมติดังกล่าว

สุรชาติ บำรุงสุข ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าฝ่ายไทยจะ “แพ้นิดหน่อย” แล้วโยนให้อาเซียนเข้ามาแก้ปัญหา

ส่วนเวทีประชุมนิติศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ ๙ (๑๙ ส.ค.๒๕๕๖) “คดีปราสาทพระวิหาร : เบื้องลึกเบื้องหลังและแนวโน้มของข้อยุติ” [๓] ท่านทูตวีรชัยฯ ได้เน้นยํ้าให้มั่นใจต่อแนวทางและข้อมูลชี้แจงต่อศาล

ถัดมา เวทีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่( ๒๓ ส.ค. ๒๕๕๖) วีรชัย พลาศรัย ระบุแนวโน้ม ๔ ลักษณะคือ
(๑) ศาลตัดสินไม่มีอำนาจตีความ
(๒) ศาลตัดสินให้พื้นที่ตามคำขอกัมพูชาหรือใกล้เคียง
(๓) ตัดสินเข้าข้างฝ่ายไทย และ
(๔) กำหนดเส้นเบ่งเขตขึ้นมาใหม่โดยฝ่ายไทยไม่เสียพื้นที่มากกว่ากัมพูชาร้องขอ

e-shann19_repoert2

แต่สำหรับฝ่ายคัดค้านแนวทางรัฐ จัดสัมมนาเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ [๔] หม่อมหลวง วัลย์วิภาจรูญโรจน์ ประเมินล่วงหน้าก่อนผู้แทนไทยจะไปแถลงด้วยวาจาในศาลโลกว่าจะออกมา ๓ ทาง

(๑) ตัดสินให้พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ๔.๖ ตร.กม. เป็นของกัมพูชาเกี่ยวเนื่องกับแผนที่ มาตรา ๑ ต่อ ๒ แสน
(๒) ให้กำหนดอาณาเขตพื้นที่รอบปราสาทกันต่อไป
(๓) ให้ปักปันเขตแดนโดยผ่านกลไกคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา

แต่ทั้ง ๓ ข้อไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย เพราะยอมให้ใช้แผนที่ ๑ ต่อ ๒ แสน (ฝรั่งเศสทำแผนที่ขึ้นฝ่ายเดียว) มากำหนดอาณาเขตทางบก จะเท่ากับจงใจสละอธิปไตย เพราะประเทศไทยใช้แผนที่มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕ หมื่น จะทำให้เส้นเขตแดนเคลื่อนเข้ามาในฝั่งไทยมาก ใครมีส่วนทำให้เสียดินแดนจะเข้าข่ายเป็น ‘กบฏ’ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ประเมินใกล้เคียงกับกระทรวงการต่างประเทศ แต่ระบุชัดเจนกว่า คือ ๔ แนวทาง
(๑) ศาลไม่รับการตีความ
(๒) ศาลรับและตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเท่ากับไทยล้อมรั้วไว้ตามมติ ครม. (๑๐ ก.ค. ๒๕๐๕)
(๓) ศาลรับและตีความว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารคือ ๔.๖ ตร.กม. ตามแผนที่ระวางดงรัก และ
(๔) ศาลตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเกินฝ่ายไทยล้อมรั้วไว้ แต่อาจไม่ถึง ๔.๖ ตร.กม.

ซึ่งข้อ (๑) เรียกว่าฝ่ายไทยชนะ ข้อ (๓) และ (๔) ฝ่ายไทยเจ๊ง โอกาสเจ๊าหรือเสมอตัวคือตามข้อ (๒)

e-shann19_repoert3

ฅนหลุดปาก ‘ฟันธง’ แต่ต้นว่าไทยมีแต่ ‘เจ๊ง กับ เจ๊า’ คือรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล) พ้องกับสำนักผลิตข้อมูลให้กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งก็มีมูลตามนั้น

ย้อนไปดูศาลโลก พ.ศ. ๒๕๐๕ มีพฤติการณ์อิงการเมืองชัดเจน เพราะแม้ฝ่ายไทยแสดงหลักฐานกัมพูชาผลิตแผนที่ปลอม ลงเส้นสันปันนํ้า ‘โอตาเซ็ม’ เป็นเท็จ (คำพิพากษาศาลฯ คดีปราสาทพระวิหาร. กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, มิ.ย.๒๕๐๕. หน้า ๑๙๕, ๑๙๗) และชี้แจงเหตุผลได้กระจ่าง (ดังคำบรรยายของผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยและคำพิพากษาเอกเทศยกขึ้นอธิบาย) แต่ก็ตัดสินให้ไทยพ่าย โดยยึดหลัก “กฎหมายปิดปาก”

การสู้คดี พ.ศ. ๒๕๕๖ แม้นฝ่ายไทยจะมีน้ำหนักเพียงใด ท้ายสุดขึ้นอยู่กับผู้พิพากษาซึ่งก็คือ ‘ฅน’ ย่อมมีอคติอยู่นั่นเอง จะวางใจมิได้

ข้อที่ผู้แทนไทยชี้เป็น ‘ไม้เด็ด’ คือประมุขกัมพูชา(เจ้าสีหนุ)เสด็จขึ้นทางบันไดหักสู่ปราสาทพระวิหาร (๕ ม.ค. ๒๕๐๖) เห็นรั้วลวดหนามแล้วกล่าวว่า “รั้วลวดหนามนี้อาจลํ้าเข้ามาหลายเมตรแต่ก็ไม่สำคัญ” (ตรวจสอบแล้วลํ้าเพียง ๐.๐๗ ตร.กม.) ปีเดียวกันก็ทรงแถลงไม่มีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารอีก…อันเป็นข้อต่อสู้ทำนองเดียวกับกัมพูชาอ้างว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ซึ่งศาลใช้เป็นเหตุผลสำคัญตัดสิน ‘ปิดปาก’

แต่ผู้แทนประเทศไทยไม่ยืนยันคำประกาศสงวนสิทธิ์ (ไม่มีอายุความ [๕] นอกจากไทยประกาศยกเลิกเป็นทางการ) ยืนยันเฉพาะเส้นตามมติ ครม. ดังกล่าว

ดังนั้น ‘หลักธง’ ฝ่ายไทยตั้งไว้จึงไม่น่าจะถูกต้อง กล่าวคือทำเสมือนยอมรับอำนาจศาลการเมืองโลกโดยปริยาย (ทั้งที่ประกาศถอนตัว ๕๐ ปีแล้ว) และถ้าศาลตัดสินให้เป็นเนื้อที่ตามมติ ครม. (๑๐ก.ค. ๒๕๐๕) ก็เสมือนฉีกคำประกาศสงวนสิทธิ์จะทวงคืนปราสาทพระวิหารไปโดยปริยาย ซึ่งครั้งต่อ ๆ ไปจะตอกยํ้าการสละสิทธิอธิปไตยอย่างหนักแน่นเพิ่มอีก

แถมมีสัญญาณไมสู่ดี้ระหวา่ งพิจารณาคดี ๑ ใน ๑๕ คณะผู้พิพากษา (อับดุลชาวี อาห์เหม็ด ยูซุฟ) ขอให้คู่กรณีส่งแผนที่ขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นข้อกังวลอาจนำไปล็อบบี้เพื่ออ้างเหตุผลตีความกำหนด ‘เฉลี่ย’ พื้นที่ก็เป็นไปได้

ส่วนจะตัดสินให้ถึง ๔.๖ ตร.กม. หรือไม่ นักกฎหมายชี้ว่าการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศเป็นหน้าที่คณะกรรมการปักปันเขตแดน ‘ไม่ใช่’ อำนาจศาล จึงอาจโยนไปให้เจรจาภายใต้กลไกที่มีอยู่ หรือใช้เวทีอาเซียนไกล่เกลี่ย ดังที่เคยทำมาช่วงสู้รบกันนั่นเอง
______________________________________________________
นับแต่เป็นคดีความรอบแรก ประเทศไทยไม่รับแผนที่ภาคผนวก ๑ (มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒ แสน หรือระวางดงเร็ก) แต่กลับพลาดลงนามเอ็มโอยู ๒๕๔๓ รับแผนที่นี้แทบท้าย. รายละเอียดดู : ทางอีศาน เล่ม ๑๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๖.


httpv://www.youtube.com/watch?v=dtpPJwsq3Bw.

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNM056WTNNVE0zTUE9PQ==&subcatid=

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000009842

เตช บุนนาค. รายการตอบโจทย์, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส. ๒๐ ก.พ. ๒๕๕๖
httpv://www.youtube.com/watch?v=o7gwwDvNu_U..

Related Posts

ท้าวผาแดง – นางไอ่
มั น ก ะ โ พ ด
คำผญา ปรัชญากวี : คนบนหลังเสือ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com