ทบทวนความรู้เรื่อง สมณยศ และพิธีหดสรง ในแผ่นดินอีสาน

ทบทวนความรู้เรื่อง
สมณยศ และพิธีหดสรง
ในแผ่นดินอีสาน

ในวัฒนธรรมอีสาน – ล้านช้าง มีธรรมเนียมแต่งตั้งสมณยศแก่พระสงฆ์ผู้บวชเข้ามาเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยพิธีกรรมที่เรียกว่า หดสรง ขั้นตอนสำคัญของพิธีกรรมคือการรดน้ำผ่าน รินสรง ที่ปัจจุบันมักเรียกว่า ฮางหด ซึ่งทำจากไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาคอย่างสวยงาม แม้ว่าปัจจุบันการเลื่อนสมณยศของพระสงฆ์ในอีสานในทางปกครอง

หดสรง ฮูปแต้มสิมวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

เถราภิเษก การรดน้ำแต่งตั้งพระผู้ใหญ่

อภิเษก คือการรดน้ำมีจุดหมายเพื่อ เปลี่ยนสถานะของผู้ได้รับการรดน้ำโดยนัยยะ แล้วคือการชำระล้างสถานะเดิมเพื่อรับสถานะ ใหม่ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะต้อง รดน้ำก่อนที่จะขึ้นครองราชย์สมบัติ

เถระ หมายถึง พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัย หมายถึงผู้ที่บวช ๑๐ พรรษาขึ้นไป จึงจะเรียกว่าพระเถระ

โดยการแบ่งสถานภาพของพระภิกษุกำหนดไว้ดังนี้

๑. พระนวกะ หมายถึง พระบวชใหม่ยังไม่พ้น ๕ พรรษา

๒. พระมะ หมายถึง พระผู้พ้นพรรษา ๕ ไปแล้ว

๓. พระเถระ หมายถึง พระผู้พ้นพรรษา ๑๐ ไปแล้ว

๔. พระมหาเถระ หมายถึง พระผู้พ้นพรรษา ๒๐ ไปแล้ว

ดังนั้น การเป็นพระเถระ หรือ พระผู้พ้นพรรษา ๑๐ ไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีกรรมใด ๆ หากแต่ถือเอาพรรษาในการบวชเป็นเกณฑ์เลื่อนสถานภาพตามที่พระวินัยกำหนด

แต่เนื่องจากคำว่า เถราภิเษก ตามความหมายโดยศัพท์ควรหมายถึง การรดน้ำพระสงฆ์ผู้พ้นพรรษา ๑๐ ไปแล้ว จึงเป็นประเด็นน่าคิดว่าการใช้คำว่า เถราภิเษก สามารถเทียบเคียงกับพิธีหดสรงได้อย่างถูกต้องลงตัวหรือไม่

ที่ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ เนื่องจากพระสงฆ์ที่ผ่านพิธีเถราภิเษกจะมีสมณยศเลื่อนชั้นขึ้นไปตามจำนวนครั้งที่ได้รับการหดสรง ซึ่งผู้ได้รับการหดสรงในตำแหน่งสูง ๆ ย่อมสัมพันธ์กับพรรษาที่สูงของพระสงฆ์รูปนั้นด้วย แต่ปัญหาเกิดอยู่กับตำแหน่งหลังจากการหดสรงในลำดับต้น ๆ ซึ่งมักเป็นผู้ที่ยังไม่ครบ ๑๐ พรรษาตามพระวินัย

ข้อสันนิษฐานเรื่องสมณยศโบราณ ของปราชญ์อีสาน

ข้อมูลเกี่ยวกับสมณยศเท่าที่สอบค้น มีการอ้างอิงกันไปมา แต่ที่น่าจะยึดเป็นหลักได้ประกอบด้วย งานของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) และพระอริยานุวัตร (เขมจารี)

ย้อนเวลาล่วงไปกว่าร้อยปี ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๕๖ ในการประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบ้านเมือง มีพระยาวเศษสิงหนาท ผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี กับฝ่ายสงฆ์ มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชมุนี มหาสังฆปาโมกข์ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ครั้งนั้นมีบันทึกถึงข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสมณยศโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสมณยศโบราณในช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นเพียงการ เดา ทั้งนี้เพราะขาดข้อมูลบันทึกและการปฏิบัติสืบทอดที่ถูกต้องเป็นแบบแผน ดังปรากฏข้อความในบันทึกการประชุมครั้งนั้นว่า

 

“…สมณศักดิ์นั้น ดูมีหลายชั้น แต่ไม่ทราบ ว่าลำดับกันอย่างไร เพราะไม่ปรากฏในบั้งจุ้มดัง ได้สดับจะลองเดาดู ดังต่อไปนี้

ที่ ๑ เจ้าหัวคูยอดแก้ว เห็นจะเป็นมหาสังฆราชคู (ครู) นั้นเอง คงมีหน้าที่อำนาจตลอดแคว้น

ที่ ๒ เจ้าหัวคูลูกแก้ว เห็นจะมีหน้าที่และอำนาจเป็นเจ้าคณะรางยอดแก้ว

ที่ ๓ เจ้าหัวคูหลักคำ เห็นจะมีหน้าที่และอำนาจคล้ายเจ้าคณะเมือง

ที่ ๔ เจ้าหัวคูด้าน เห็นจะมีหน้าที่และอำนาจคล้ายเจ้าคณะแขวง

ที่ ๕ เจ้าหัวคู ส่วนนี้เห็นจะไม่เกี่ยวกับการปกครอง คงจะเป็นแต่ผู้สั่งสอน แม้ถึงท่านที่ ๑

– ๔ ก็คงเป็นเจ้าหัวมาก่อนทั้งนั้น

ที่ ๖ เจ้าหัวซา ตำแหน่งนี้ยังตรองหาหน้าที่และอำนาจไม่แจ่ม แต่ ซา คำนี้ก็ยังสันนิษฐานยาก หรือจะเป็นผู้มีพรรษาแต่อายุยังอ่อน ยังกำลังเล่าเรียนอยู่ แต่มีปรีชาสามารถควรยกย่องให้มีสมณยศ เพื่อประกาศสมณคุณ จึงฮดขึ้นเป็นเจ้าหัวปรีชาไว้ก่อน

ที่ ๗ เจ้าหัวสมเด็จ ตำแหน่งนี้ยังมืด ไม่ทราบว่าจะมีส่วนอันใดในตำแหน่งทั้งหลาย ดูประหนึ่งตั้งไว้พอเป็นบทบูรณ์เท่านั้น หรือบางทีจะคว้ามาจากที่อื่นก็ไม่ทราบ เพราะเป็นนิสัยคว้าเก่งอยู่หน่อย…

 

ส่วนในทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เรียบเรียงเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พระโพธิวงศาจารย์ พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ลำดับสมณยศไว้ ๘ ชั้น ได้แก่ ๑ สำเร็จ, ๒ ซา, ๓ คู, ๔ ฝ่าย, ๕ ด้าน, ๖ หลักคำ, ๗ ลูกแก้ว และ ๘ ยอดแก้ว จะเห็นว่า มีสมณยศ ฝ่าย เพิ่มเข้ามาจากข้อมูลเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทำเนียบสมณศักดิ์ ที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เรียบเรียงยังเป็นข้อสันนิษฐานของท่านซึ่งมักจะปรากฏการใช้คำว่า น่าจะ ในการอธิบายความตลอดทั้งเรื่อง

ส่วนในข้อเขียนเรื่อง ประเพณีเถราภิเษกอีสาน ของ พระอริยานุวัตร (เขมจารี) ได้ลำดับสมณยศไว้ ๑๐ ชั้น ดังนี้ ๑ สำเร็จ, ๒ ซา, ๓ คู, ๔ ราชคู, ๕ คูฝ่าย, ๖ คูด้าน, ๗ คูหลักคำ, ๘ คูลูกแก้ว, ๙ คูยอดแก้ว, ๑๐ ราชคูหลวง โดยตำแหน่งที่ ๑ – ๔ เป็นฝ่ายปริยัติ ส่วน ๕ – ๑๐ เป็นฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนของพระอริยานุวัตรนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเป็นข้อสันนิษฐานของท่านจากความทรงจำ

สิ่งที่น่าสนใจในงานเขียนของพระอริยานุวัตรคือ การกล่าวถึงการหดสรงซึ่งในตำแหน่ง ซา และ คู จะมีการฮดสรง ๓ ครั้งก่อนเลื่อนไปชั้นสูงขึ้นไป โดยเรียกตามจำนวนหลาบที่ได้รับจากการหดสรง เช่น ซา ๒ หลาบ หมายถึงหดสรงในชั้นซามาแล้ว ๒ ครั้ง ดังนั้น คู ๓ หลาบ จึงหมายถึง ผู้ได้รับการหดสรงในชั้นสำเร็จ ๑ ครั้ง ซา ๓ ครั้ง และชั้นคู ๓ ครั้ง รวมชั้นคู ๓ หลาบคือผู้ได้รับหลาบ ๗ หลาบ

จากข้อมูลเกี่ยวกับสมณยศของปราชญ์อีสานทั้งสองท่าน ผู้เขียนเห็นเจตนาของผู้เขียนว่าท่านได้ลำดับสมณยศจากการหดสรงจากข้อสันนิษฐานหรือการเดา ดังที่พระอริยานุวัตรได้บันทึกในบทความของท่านว่า จะแน่นอนประการใดจึงขอฝากไว้กับท่านผู้รู้ได้พิจารณาด้วย เพราะจะเดาไปคงผิดมาก ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่ล่วงเลยมานานและที่เห็นทำอยู่ต่างเป็นการฝั้นเฝือ ไม่ได้เป็นแบบแผนแน่นอนชัดเจน

อีกประการหนึ่ง ในการศึกษาจารึกโบราณพบว่า ยังมีสมณยศอื่นที่น่าสนใจไม่ปรากฏในข้อมูลของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) โดยเฉพาะสมณยศ ขนัน หรือ ขนาน ซึ่งปรากฏในจารึกลานเงินในอูบสำริดบรรจุพระอุรังคธาตุ ระบุ พ.ศ.๒๒๔๑ ความว่า

ศักราช ๖๐ ตัว ปีเปิกยี เดือน ๓ ขึ้น ๒ ค่ำ วัน ๖ พ่อออกพระขนานโคดกับทั้งบุตรภริยา มีประสาทะศรัทธาในวรพุทธศาสนายิ่ง จึงได้นำอูบพระชินธาตุเจ้าที่จันทปุระมาถาปนาที่ธาตุประนมทานวิเศษเป็นเหตุขอให้ได้เถิงสุข ๓ ประการ มีนิพพานสุขเป็นแล้ว อย่าคลาดอย่าคลา

จากจารึกลานเงินในอูบบรรจุพระอุรังคธาตุปรากฏข้อความ พระขนานโคด แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งขนานเป็นสมณยศของพระภิกษุในวัฒนธรรมล้านช้าง สอดคล้องกับชื่อผู้จารใบลานเช่นปรากฏนาม เจ้าขนันจำปาเป็นผู้จารหนังสือสินไซ เป็นต้น

ขนัน ขนาน สมณยศโบราณที่ตกสำรวจ

เมื่อตรวจสอบงานเขียนของนักปราชญ์รุ่นก่อนแล้วพบว่า ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับสมณยศโบราณล้านช้างที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งเมื่อตรวจสอบกับเอกสารโบราณที่มีนามพระสมัยก่อนยังมีสมณยศที่ขาดหายไป คือ ขนัน หรือ ขนาน

ในฝ่ายล้านนา ใช้คำว่า ขนาน เป็นคำเรียกผู้ที่สึกจากพระ เริ่มมีใช้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชที่มีการบวชด้วยแพขนานเป็นนทีสีมา แม้ปัจจุบันจะไม่ได้บวชในนทีสีมาแล้ว ในล้านนายังนิยมใช้คำว่า หนาน เรียกพระที่สึก คู่กับคำว่า น้อยที่เรียกเณรที่สึก ซึ่งไม่สอดคล้องกับจารึกในอีสาน-ล้านช้าง

ข้อมูลจาก พ่อจารย์บัวศรี ศรีสูง ในหนังสือ ฮีต – คอง อีสานและปกิณกะคดี เผยแพร่เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ ช่วยเติมเต็มข้อมูลเกี่ยวกับสมณยศโบราณไว้ว่า

“…แห่บวชแห่พระหม่อม ขนัน สำเร็จ เจ้ายาซา ยาคูเฒ่าใต้เหนือ ยาคูใหญ่ ยาคูพระลูกแก้วพระหลักคำ แต่ก่อนบวชปีแรกเรียกว่า หม่อม ฮดที่หนึ่งว่า ขนัน ฮดที่สองว่า สำเร็จ ฮดที่สามว่า หัวซา ฮดที่สี่เรียกว่า หัวซา ฮดที่ห้าเรียกว่า ยาคู ฮดที่หก ยาคูใต้ ฮดที่เจ็ด ยาคูเหนือ ฮดที่แปด ยาคูใหญ่ ฮดที่เก้า ยาคูพระลูกแก้ว ฮดที่สิบ ยาคูพระหลักคำ” หมดเพียงแค่นี้ ไม่มีตำแหน่งอื่น ๆ เหมือนทุกวันนี้ซึ่งมาทีหลังตั้งมาจากที่อื่น…

ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าในธรรมเนียมลำดับสมณยศของอีสาน – ล้านช้างแต่โบราณมีลำดับชั้นอย่างไร รวมถึงมีลำดับพิธีกรรมในการเลื่อนชั้นอย่างไร แต่ร่องรอยความทรงจำของบรรพชนผู้เป็นปราชญ์ชาวอีสาน ได้ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหาย ทำให้ได้รู้ว่า ขนัน หรือ ขนาน ซึ่งปรากฏในเอกสารโบราณจำนวนมาก เป็นตำแหน่งของพระภิกษุที่ได้รับการหดสรงครั้งแรกนั้นเอง

นามยศ “เจ้าขนันจำปา” ในใบลานเรื่องสินไซ

ประกาศยกเลิกสมณยศโบราณ แต่ไม่ ได้ห้ามหดสรง

ในหนังสือประวัติศาสตร์อีสาน ได้บันทึกสาระสำคัญของการประกาศยกเลิกสมณยศโบราณ ในการประชุมร่วมระหว่างฝ่ายบ้านเมืองมีพระยาวิเศษสิงหนาท ผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี กับ ฝ่ายสงฆ์มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชมุนี มหาสังฆปาโมกข์ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๕๖ ไว้ว่า

“…เจ้าคณะมณฑลเห็นว่า ราษฎรในมณฑลนี้ บางเหล่ามักตั้งตำแหน่งสมณศักดิ์ขึ้นเอง โดยฐานเล่น ๆ บ้าง โดยจารีตเดิมบ้าง โดยความขลาดเขลาบ้าง เป็นต้นว่า เรียกกันเป็นพระครู โดยเชิงเล่นเลยกลายเป็นจริงก็มี ฮด (รด) กันเป็นสมเด็จเป็นซา เป็นคู ตามจารีตเดิมก็มีจงใจตั้งกันเป็นพระครูด้วยไม่รู้จักหน้าที่และอำนาจของตนก็มี ทั้งนี้ ดูเป็นประเพณีขัดต่อพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์มาตรา ๒ อยู่ ถ้าเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจัดไม่ให้เป็นไปได้ บางทีจะเป็นการสะดวกแก่การปกครองคณะสงฆ์…

…พระครูกัลยา เจ้าคณะแขวงอำเภอปจิมอุบล ชี้แจงว่า กาวัดนี้เป็นประเพณีมาแต่เดิมจึงได้กระทำตามกันต่อ ๆ มา ไม่ควรจะเลิกเสีย

เจ้าคณะมณฑลจึงได้แสดงเหตุผลที่เป็นไปแห่งโปราณกะชนในที่ประชุมดังนี้

“…ชาวไทยเหนือแต่โบราณเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงบ้านเมืองกุลบุตรมีศรัทธาบวชมากขึ้น จึงต้องมีพระเถระที่ทรงธรรมทรงวินัยให้มีสมณศักดิ์ปกครองหมู่ เพื่อจะรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ธรรมเนียมที่ทำกันแต่โบราณนั้น จะเป็นอย่างไรแน่ แบบแผนก็ไม่ปรากฏตลอด มีอยู่ก็แต่ประกาศที่อ่านเมื่อฮดกันแล้ว ความในนั้นก็เป็นหลักฐานอยู่บ้าง เป็นของผู้ใหญ่ไม้สูงไม่ใช่เป็นของราษฎรที่จะพึงทำกันให้ตื่นดุจทุกวันนี้

ข้อประกาศนั้นสำนวนต่าง ๆ กัน ย่อบ้างพิสดารบ้าง แต่หลักฐานคือ

พระพุทธศักราช…ปี…ศก…ฤดู…เดือน…ปักษ์…ดิถี…วัน…เวลา…ฤกษ์…ราษีเหมือนกันทุกฉบับ ที่จำได้เป็นเค้า ๆ ดังนี้

เริ่มว่า ศรี ศรี, ศุภมังคลุตตมฑีฆายุวัฒนพุทธศักราช… พรรษา ปี…ศก ตกอยู่ใน…ฤดูเดือน…ขึ้น…แรม…ค่ำ วัน…เวลา…เป็นกาลนิยมพรหมทีนโนตม์ พระจันทร์แจ้งโชติใสแสงแฝงกับนักขัตยุตตมราชฤกษ์ถึกหน่วยชื่อว่า…ภรณีลูกใสสนิทสถิตอยู่ใน…เมษราศี สุกใสดีบ่เศร้า ภายในมีสังฆราชคูเจ้าเป็นเค้า ภายนอกมีเจ้าภูมิปาละเป็นประธาน กับทั้งบุตรหลานกรมการใหญ่น้อยสิบฮ้อยท้าวพญาศรัทธาเจ้าแล

พร้อมด้วย..มีปสันนะธิตตาเป็นอันยิ่ง จึงได้น้อมนำมาซึ่งปริขาราและน้ำมุทธาภิเษกอดิเรกบวชแถมนามกรตื่มยศฮดเจ้าหัว…ขึ้นสู่พื้นสุวรรณรัฏะปัตตาวาสมเด็จ…ให้เป็นซา…ให้เป็นคู (ครู).. คัมภีรปัญญาหรือสุขุมปัญญา ศาสนูปถัมภ์สัมปันนะวีโรจน์โชตีปาละเจ้าแล

แบบนี้ เมื่อสันนิษฐานให้ละเอียดแล้วไม่ใช่ส่วนของราษฎรที่จะพึงทำได้โดยส่วนตัว เพราะในนั้นมีคำว่า มหาสังฆราชคูเป็นเค้า เจ้าภูมิปาละเป็นประธาน มหาสังฆราชคู นั้น ก็ต้องหมายถึงพระเถระผู้ใหญ่ในแคว้นอันนั้น เจ้าภูมิปาละนั้น ก็ต้องหมายถึงเจ้าผู้เป็นใหญ่ในแคว้นอันนั้น ทั้งสองนี้เป็นประธานในการตั้งสมณศักดิ์แต่คงจะไม่เป็นมหาสังฆราชครูเป็นผู้เลือก เจ้าภูมิปาละเป็นผู้ตั้ง ส่วนปริขารที่จะถวายผู้ได้รับสมณศักดิ์นั้นของใคร ๆ ก็ได้แล้วแต่ศรัทธา…

…อีกโสตหนึ่งได้ยินแว่ว ๆ ว่า เมื่อตั้งสมณศักดิ์ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแล้ว นัยว่าเจ้าภูมิปาละต้องตั้งราษฎรให้เป็นแสนหลายคนมีแสนสุทธิ แสนโกษา ฯลฯ เป็นต้น โดยลำดับสมณยศ เพื่อให้ปฏิบัติท่านสมณศักดิ์เหล่านั้นยกเว้นการบ้านเมืองทีเดียว

ธรรมเนียมดังกล่าวนี้ ดูเป็นช่องของท่านผู้มีอำนาจวาสนาชาวเวียงจันทน์แต่โบราณตั้งแต่งไว้ ไม่ใช่ส่วนราษฎรที่จะพึงทำได้โดยลำพังของตัว ถ้าจะคิดดูอีกในหัวเมืองมณฑลเรานี้ แต่ไหน ๆ ก็ยังไม่เคยได้เห็นได้ยินว่าสมณรูปใดได้เป็นมหาราชคู ส่วนเจ้าคณะเมืองก็ยังไม่มีใครได้เป็นเจ้าภูมิปาละพอที่จะแต่งตั้งสมณยศได้

ด้วยเหตุนี้ชาวเราทั้งหลาย จึงไม่ควรตั้งสมณศักดิ์ให้เป็น สมเด็จ เป็นซา เป็นคู ฯลฯ เป็นต้น ให้รกแก่พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ มาตรา ๒ ถึงแม้จะฮดสรงแล้วถวายอัฐบริขารเป็นส่วนสังฆบูชานั้นควรอยู่ เพราะเป็นการทำบุญ จะทำด้วยอาการอย่างไรก็ได้ ซึ่งเป็นส่วนไม่นอกรีต คือไม่ผิดวินัยบัญญัติและพระราชบัญญัติ

พระยาวิเศษสิงหนาทกล่าวว่า ตามข้อประกาศนี้ได้ความว่าเป็นของครั้งเจ้าผู้ครองเวียงจันทน์ทำขึ้นไว้ สำหรับเป็นประเพณีแต่งตั้งสมณศักดิ์ และพร้อมด้วยเจ้าครองเวียงจันทน์รู้เห็นด้วย แต่ชาวบ้านไปเก็บเอามาใช้จนฝั้นเฝือถึงราษฎรโดยมากก็แต่งตั้งสมณศักดิ์ได้โดยความเข้าใจผิด ที่คิดห้ามเสียคราวนี้ก็เป็นการสมควรมาก

ที่ประชุมตกลงว่า ต่อไปให้จัดการตามที่พระยาวิเศษสิงหนาท สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานีได้ชี้แจงไว้

ทั้งนี้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัดทุกชั้น แนะนำบริษัทอันอยู่ในท้องที่ของตน ๆ ให้เข้าใจ แล้วแต่นี้ไปอย่าตั้งสมณศักดิ์เอาเองเป็นอันขาด

พิธีสรงน้ำพระโพธิญาณเถระ (หลวงปู่ชา สุภัทโท) ผ่าน “รินสรง” ที่ทำจากไม้ไผ่อย่างเรียบง่าย

จากผลการประชุมดังกล่าว นำไปสู่การประกาศเลิกสมณยศอย่างโบราณ ซึ่งในสาระสำคัญ พบว่า เป็นการยกเลิกสมณยศเท่านั้นมิได้เป็นการยกเลิกพิธีหดสรง ทั้งจากพรมแดนความรู้นี้ ยังมีข้อควรค้นหาต่อไปอีกว่า ขนันหรือ ขนาน ในวัฒนธรรมอีสาน ล้านช้าง มีที่มาอย่างไร ทั้งนี้ด้วยไม่พบข้อเขียนของปราชญ์รุ่นก่อนอรรถาธิบาย จึงเป็นประเด็นให้ได้ติดตามเปิดผ้าม่านกั้งต่อไป

อ้างอิง

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ๒๕๔๖. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

บัวศรี ศรีสูง. ๒๕๓๕. ฮีต – คอง อีสานและปกิณกะคดี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.

พระโพธิวงศาจารย์ (อ้วน ติสฺโส). ๒๔๗๑.

ทำเนียบสมณศักดิ์ของชาวเมืองเวียงจันทน์โบราณ. เอกสารสำเนา.

พระอริยานุวัตร. ๒๕๒๘. ประเพณีเถราภิเษกอีสาน. เอกสารสำเนา.

Related Posts

การค้นพบสมุนไพรวิเศษ
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com