เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑

ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมเบิ่งลาว (ภาค ๒)

เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑

๑. กุหลาบปากซัน

เมื่อวันที่ ๑๗ – ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่าน มา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้านศิลปวัฒนธรรม และประเพณี ที่ สปป.ลาว อีกครั้งหนึ่งหลังจากบทความเรื่อง “ไขป่องเอี้ยมเยี่ยมเบิ่งลาว” ตอน “ตามฮอยญาคูขี้หอม” ได้อวสานไป ในนิตยสารทางอีศานฉบับที่ ๘๒ ผู้เขียนจึงรีบหา เวลาเหมาะ ๆ ที่จะไปท่องเที่ยว และนำมาเสนอผู้อ่านอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้อ่านลืม “แคน ลำโขง” คนผู้ฮ้ายท้ายลีบคนนี้

แม้หลายท่านอาจจะเคยอ่านและเคยไปท่องเที่ยวตามสถานที่ ที่ผู้เขียนจะได้บรรยายถึง ในลำดับต่อไปนี้มาหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่มุม มองและการนำเสนออาจจะแตกต่างกันไป ดัง นั้น จึงใคร่ขอความกรุณาได้ติดตามอ่านให้กำลัง ใจกับผู้เขียน (มือสมัครเล่น) คนนี้ด้วยนะครับ เข้าเรื่องกันดีกว่า

เวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒ อากาศช่วงนี้กำลังเย็นสบาย ๆ และเป็นช่วงที่กำลังฝันดีด้วยสิ แต่ผู้เขียนจำใจลุกจากที่นอนอันอ่อนนุ่ม สลัดผ้าห่มออกจากเรือนกายอย่างอ้อยอิ่ง ไม่อยากลุกจากที่นอนเลย พับผ่าสิ! แต่ทำไงได้ในเมื่อโปรแกรมการท่องเที่ยววันแรก ล้อรถต้องเคลื่อนออกจากที่นัดหมายเวลา ๐๕.๐๐ น.

หลังทำภารกิจส่วนตัวเสร็จสรรพประมาณ ๒๐ กว่านาที ผู้เขียนรีบบึ่งรถออกจากที่พักโดยมีแม่บ้านนั่งไปด้วย ไปยังที่นัดหมายคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดสกลนคร หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “สกสค. สกลนคร” ได้อย่างทันเวลา อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ถูกเพื่อน ๆ ร่วมทีมรอ หรือบ่น หรือคิดในใจว่าเป็นคน “ไม่ตรงต่อเวลา” เพราะผู้เขียนถือเรื่องการตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญมาก

เมื่อไปถึงเอากระเป๋าลงจากรถ ให้แม่บ้านขับรถกลับ ทริปนี้แม่บ้านไม่ได้ไปด้วยปล่อยให้ตาเฒ่าคนนี้ไปหาความเบิกบานสำราญใจตามความ (ใฝ่) ฝันคนเดียว ซึ่งหาโอกาสเหมาะ ๆ แบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว โลกช่างสดใสอะไรเช่นนี้ ตาเฒ่า “แคน ลำโขง” เอ๋ย

ผู้เขียนลากกระเป๋าไปให้คนขับรถตู้เก็บที่ท้ายรถมีเพื่อนร่วมทีมมาถึงแล้ว ๕ คน ซึ่งเดินทางมาจากอำเภอกุดบาก ผู้เขียนเป็นคนที่ ๖ ยังข้าวจี่ปาเต้ อาหารมื้อเช้า เหลือสมาชิกอีก ๙ คน จึงจะครบทีม ๑๕ คน

หลังพูดคุยสนทนากันสักพัก ได้รับข้อมูลจากผู้จัดทัวร์ว่า มีลูกทีม ๒ คน รออยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ และอีก ๑ คน รอที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองนครพนม เหลือสมาชิกในอำเภอเมือง ๖ คนเท่านั้นที่ยังมาไม่ถึง พวกเรายืนสนทนากันรอสมาชิก ๖ คนอย่างออกรสออกชาติ เพราะนาน ๆ จะได้ร่วมกิจกรรมกันสักที ไม่นานสมาชิกที่เหลือก็มากันพร้อมหน้า นาฬิกาเรือนทองที่ข้อมือบอกเวลา ๐๕.๑๐ น. ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี ล้อรถก็เคลื่อนออกจาก สกสค. สกลนคร ซึ่งมีรถตู้จากสปป.ลาว มารับลูกทัวร์ ๑ คัน และรถส่วนตัวของผู้จัดทัวร์อีก ๑ คัน

รถวิ่งออกจากตัวเมืองสกลนครมุ่งหน้าไปยังบ้านธาตุ เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงบ้านธาตุ เยื้องมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ช่างเป็นบุญโดยแท้ บังเอิญเป็นไฟเขียวไม่ต้องรอนาน พนักงานขับรถหักพวงมาลัยเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปทางนครพนม ตามถนนหมายเลข ๒๒ ซึ่งหลายท่านไม่ทราบว่าถนนสายนี้มีชื่อว่าอะไร ส่วนใหญ่จะเรียกว่าถนนสายสกลนคร – นครพนม ที่แท้คือถนนนิตโยนั่นเอง ซึ่งมีประวัติดังนี้

ถนนนิตโยเดิมมีชื่อเรียกว่า “ทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-ธาตุนาเวง-นครพนม” ได้รับการตั้งชื่อว่า ถนนนิตโย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกียรติแก่นายโสภณ นิตตะโย อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางชุมแพ

ถนนนิตโย หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒ สายอุดรธานี–นครพนม เริ่มจากบริเวณวงเวียนห้าแยกหอนาฬิกา ซึ่งเป็นถนนทหาร และถนนอุดรดุษฎี ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี (เส้นเดียวกับถนนโพศรี) ผ่านเทศบาลตำบลหนองบัวในเขตอำเภอเมืองอุดรธานี ผ่านอำเภอหนองหาน อุทยานประวัติศาสตร์บ้านเชียง และเข้าสู่เขตจังหวัดสกลนครที่อำเภอสว่างแดนดิน ผ่านอำเภอสว่างแดนดิน อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมืองสกลนคร เทศบาลตำบลท่าแร่ อำเภอกุสุมาลย์ และเข้าสู่เขตจังหวัดนครพนม ที่อำเภอเมืองนครพนม ไปบรรจบเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๒ (ถนนสุนทรวิจิตร) ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ ๒๔๐.๗๔๖ กิโลเมตร (๑๔๙.๕๙๓ ไมล์)

รถวิ่งมาถึงอำเภอกุสุมาลย์ จอดรับสมาชิกอีก ๒ คน รวมเป็น ๑๔ คน จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่เมืองนครพนม ซึ่งถนนช่วงจากอำเภอกุสุมาลย์ไปนครพนม กำลังก่อสร้างเป็นถนน ๔ ช่องจราจร ผ่านชุมชนและทุ่งนาที่แห้งผาก นาน ๆ จะพบต้นคูนออกดอกเหลืองอร่ามเต็มต้น เพิ่มสีสันให้กับท้องทุ่งหน้าแล้ง มองดูไม่อับเฉาห่อเหี่ยวหัวใจเท่าใดนัก

เข้าเขตตัวเมืองนครพนม เอารถยนต์ส่วนตัวของผู้นำทัวร์ไปจอดไว้ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครพนม จากนั้นนั่งรถตู้คันแรก อัดเป็นปลากระป๋องไปยังสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ๓ ซึ่งเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย ที่บ้านห้อม หมู่ ๑ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนมกับ สปป.ลาว ที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน

ถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว ๓ ทุกคนลงจากรถ เพื่อนร่วมทีมอีกคน และรถตู้จาก สปป.ลาวอีกคันหนึ่งได้มารอพวกเราอยู่ก่อนแล้ว พร้อมกับนำข้าวจี่ลาว (ปาเต้) มาให้ทุกคนรับประทานเป็นอาหารมื้อเช้า

ข้าวจี่ปาเต้ อาหารมื้อเช้าคณะทัวร์ ๑๕ ชีวิต

หลังพูดคุยเจรจากันเล็กน้อย ทุกคนรีบเข้าแถวนำเอกสาร (พาสปอร์ต) ไปให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล และประทับตราลงวันที่ อนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นไม่นานเพราะตอนเช้า ๆ คนไม่มากนัก ด่านเปิดทำการตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น. – ๒๒.๐๐ น.

เมื่อประทับตราพาสปอร์ตครบหมดทุกคนก็แยกกันขึ้นรถตู้ ๒ คัน คันที่ ๑ มีชายล้วนจำนวน ๗ คน ส่วนคันที่ ๒ มีสมาชิกที่มาแพ็คคู่ ๓ คู่ กับหญิงเดี่ยวอีก ๒ คน รวมเป็น ๘ คน สมาชิกครบ ๑๕ คน จึงออกเดินทางข้ามสะพานไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองของสปป.ลาวโดยพลัน!

ถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง สปป.ลาว ทุกคนลงจากรถ เข้าแถวนำพาสปอร์ตไปให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล และประทับตราอนุญาตให้เข้าประเทศได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมคนละ ๒๗,๐๐๐ กีบ (๑๐๐ บาท ข้อมูล ณ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒)

เมื่อจ่ายค่าธรรมเนียม หรือหลายคนพูดติดปากว่า “ค่าเหยียบแผ่นดินลาว” เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จึงจะคืนพาสปอร์ตให้ เราต้องตรวจสอบข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่เขาประทับตราลงวันที่ และลงลายมือชื่อกำกับหรือยัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงขึ้นภายหลัง เคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว ตอนขาเข้าเจ้าหน้าที่ลาวไม่ประทับตราให้ อาจจะหลงลืมหรือเผอเรออะไรมิทราบได้ และเจ้าตัวก็ไม่ได้ตรวจสอบ รับมาก็เก็บเข้ากระเป๋า

พอตอนขากลับเขากักตัวไว้ หาว่าเข้าเมือง อย่างผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการประทับตรา ตอนขาเข้า ต้องเสียเงิน เสียเวลา เดือดร้อนถึง กงสุล ดีไม่ดีติดคุกหัวโต นี่คือข้อควรระวัง ไม่ว่า จะเข้าประเทศใดก็ตาม

เวลา ๐๘.๕๐ น. เสร็จภารกิจตรงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่บ้านเวินใต้ เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ทุกคนรีบขึ้นรถประจำตำแหน่งของตัวเองมุ่งหน้าไปทางถนนหมายเลข ๑๓ เหนือ จุดหมายปลายทาง คือไปรับประทานอาหารเที่ยงที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ แต่สำหรับเช้านี้ ทุกคนอิ่มอร่อยกับข้าวจี่ลาว (ปาเต้) ปั้นขนาดเท่าแขนผู้เขียนยอมรับว่าไม่เคยทานมาก่อน รู้สึกฝืด ๆ คอยังไงชอบกล แต่ก็อดใจทานจนหมดไปครึ่งท่อน แค่นี้ก็รู้สึกอึดอัดแน่นท้องแทบแย่

ระหว่างเส้นทางหมายเลข ๑๓ เหนือ ไปปากซัน จะผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ และป่าเขาลำเนาไพรที่สวยสดงดงาม เมื่อมองไปด้านซ้ายมือก็จะเห็นกำแพงหินยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่กำแพงหินนี้สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่รูปลักษณะเหมือนคนสร้างขึ้น หากแต่คนลาวไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เลย เพราะเห็นมาจนคุ้นชินตาแล้ว ผ่านตลาดน้ำดิก (น้ำลึก) มีสินค้านานาชนิดมาวางขาย ทั้งของป่า ปลา ผักหวาน ปูแดง (ปูภูเขา) ที่หลายท่านซื้อติดไม้ติดมือไปด้วย สอบถามรู้ว่า เป็นปูที่อร่อยมาก ไข่เยอะเนื้อแน่น ที่สำคัญคือสะอาด ไม่มีพยาธิ

เวลา ๑๐.๑๐ น. ถึงบ้านทางแบ่ง (ทางแยก) แขวงบอลิคำไซ เส้นทางสาย ๑๓ จากท่าแขกไปบ้านทางแบ่ง ร้อยกว่ากิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอด สองข้างทางเป็นหมู่บ้านห่างกันเป็นระยะ ๆ และยังมองเห็นทิวเขาสูง สีครามตัดกับท้องทุ่งสีเขียวขจีอยู่ไกลลิบ ๆ

ระหว่างบ้านทางแบ่งไปหลักซาว รถแล่นบนยอดเขาขึ้นลง และข้างทางเป็นภูเขาใหญ่น้อยสวยงามจนไม่สามารถหาคำใด ๆ มาบรรยายได้…ไพรพฤกษ์เมืองลาวนี้อุดมสมบูรณ์ทำให้มีสายน้ำซับ น้ำตกและกระแสธารตลอดเส้นทางที่ผ่านเป็นระยะ ๆ น้ำในลำธารใสไหลเย็นจนเห็นหินที่พื้นใต้น้ำ วันนี้อากาศแจ่มใส ท้องฟ้าสีครามปนปุยเมฆสีขาวลอยฟ่อง ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายแม้จะนั่งในรถเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงก็ตาม

เมื่อผ่านมาทางนี้ ผู้เขียนขอพูดถึงแขวงบอลิคำไซสักนิด แขวงนี้ตั้งอยู่ระหว่างแขวงเวียงจันทน์และแขวงคำม่วน มีเมืองเอกคือ เมืองปากซัน เป็นประตูสู่ลาวใต้ และยังเป็นแขวงที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศลาว เพราะเป็นเมืองท่าด่านติดชายแดนสองประเทศ โดยทางด้านทิศตะวันตกริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณเมืองปากซัน จะตรงข้ามกับจังหวัดบึงกาฬของไทย ส่วนทางด้านทิศตะวันออกบริเวณด่านแก้วเหนือจะติดด่านกอเตรียวของประเทศเวียดนาม

ปลาและปูแดง (ปูภูเขา) ที่ตลาดน้ำดิก (น้ำลึก)

ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันทางทิศตะวันตกและพื้นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำโขง โดยมีสายน้ำใสสะอาดสีเขียวจากแม่น้ำในเมืองปากซัน ไหลออกมาบรรจบกับสายน้ำสีขุ่นของแม่น้ำโขง เกิดเป็นจุดชมวิว น้ำสองสี ที่สร้างชื่อเสียงทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักแขวงบอลิคำไซและเมืองปากซัน

เมืองสองน้ำแห่งนี้ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นมากในภายในตัวเมือง แต่เป็นเมืองศูนย์กลางของการค้าขาย การเดินทาง และที่ตั้งของกองทัพ นับเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถนั่งรถสามล้อชมเมืองได้ และจุดที่ไม่ควรพลาดคือ “แม่น้ำสองสี” บริเวณปากแม่น้ำซัน ห่างจากบริเวณตลาดใหม่ ๓ กิโลเมตร บริเวณนี้มีร้านอาหารอยู่ไม่กี่ร้าน ให้บริการอาหารประเภทปลาแม่น้ำโขงและปลาแม่น้ำซัน ส่วนที่พักจะมีเป็นเกสเฮาท์เล็ก ๆ ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะนิยมไปเช้า เย็นกลับ หรือเที่ยวเมืองปากซันตอนเช้าและลัดเลาะไปเมืองท่าแขก

ปากกะดิ่ง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองปากซัน ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ปากกะดิ่ง เป็นชื่อเรียกของปากแม่น้ำกะดิ่งที่ไหลออกมาบรรจบกับแม่น้ำโขง แต่บริเวณนี้ไม่ปรากฏเป็นน้ำสองสีเหมือนปากซัน ปากกะดิ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านปากกะดิ่ง บริเวณปากกะดิ่งมีร้านค้าและแผงขายปลาให้นักท่องเที่ยวแวะมาซื้อของและชิมปลากันได้

แขวงบอลิคำไซ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองสองน้ำอาหารการกินส่วนใหญ่จึงมาจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำซัน เมนูส่วนใหญ่จะเป็นพวกปลา ร้านอาหารส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำซัน บางร้านมีระเบียงยื่นออกไปที่แม่น้ำ อาหารเหล่านี้จะสร้างบรรยากาศด้วยการเปิดเพลงลาวให้ลูกค้าฟัง

 

ถนนเมืองปากซัน

เวลา ๑๒.๓๐ น. คณะซำเหมาของเราก็ถึงที่หมาย คือปากซัน หลายท่านคงจะเคยได้ยินหรือเคยร้องเพลง “กุหลาบปากซัน” มาไม่น้อยเพราะเป็นเพลงฮิต ที่บรรยายถึงสาวงามของเมืองปากซันได้อย่างตรึงใจ จนใคร ๆ ก็อยากจะมาเยือนเมืองปากซัน จากการประพันธ์ของท่านจำปา ลัดตะนะสะหวัน เจ้าของนามปากกา“สุลิวัต” หรือ “ส.สุลิวัต” ศิลปินลาวที่เรียนจบจากไทย มอบให้ ก.วิเสส เป็นผู้ขับร้อง แต่ปัจจุบันมีศิลปินนักร้องทั้งไทยและลาวหลายคนนำมาบันทึกเสียงใหม่ เนื้อร้องมีดังนี้

 

กุหลาบปากซัน

…แดนดินถิ่นไกล เหลือตา

อยู่สุดนภายังมีดอกฟ้า แสนงาม

หากไผได้เห็น จะมัวหลง

เฝ้าคิดพะวง หลงติดตาม

สาวเอยแสนงาม งามเหลือใจ

…งามจริงดังคำ เขาชม

หากได้สุขสมภิรมย์กับน้อง สมใจ

จะขอใฝ่ฝัน แต่นางเดียว

บ่ขอข้องเกี่ยว หญิงอื่นใด

เฝ้าแต่หลงใหลใฝ่ฝันใจปอง

…โอ้ กุหลาบสวรรค์

แห่งเมืองปากซันให้อ้ายใฝ่ฝัน หมายปองใจ

อ้ายหวังอยากเคียงประคอง

กุหลาบเป็นสีดั่งทอง

เมื่อยามแสงส่องจากดวงสุรีย์

…ยามแล้งค่ำลงน้ำซัน

หมู่บริพรรณน้ำซันไหลผ่าน ใสดี

ข้อยเห็นผู้สาว เจ้าล่องลอย

หมู่ปลาใหญ่น้อย ลอยล่องนที

สิ้นแสงสุรีย์สาดสีแสงจันทร์

เชื่อว่าหลายท่านคงเปล่งเสียงร้องไปตามเนื้อร้องนี้แน่เทียว เป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองไพเราะเกินคำบรรยาย พวกเราแวะรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารริมทางแห่งหนึ่ง ในเมืองปากซัน มีปิ้งปลาเนื้ออ่อน ส้มตำ ข้าวเหนียว อาหารหลักของคนอีสานและคนลาว หลังอิ่มหน่ำสำราญกันทุกคน ก็แยกย้ายกันขึ้นรถ ออกเดินทางไปเมืองเชียงขวาง แต่ก่อนจะออกจากเมืองปากซัน แวะถ่ายภาพที่อนุสาวรีย์ “ท่านสีสมพอน ลอวันไช” นักปฏิวัติกระดูกเหล็ก แห่งเมืองปากซัน

คนไทยคุ้นหูกับเพลง “กุหลาบปากซัน” มายาวนาน แต่เอ่ยชื่อ “สีสมพอน ลอวันไช” น้อยคนที่จะรู้จักรูปปั้นของสหายสีสมพอน ลอวันไช ตั้งตระหง่านอยู่กลางสวนสาธารณะ เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไช

สหายสีสมพอน เป็น ๑ ใน ๗ กรมการเมืองชุดแรกของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว มีเชื้อสายเวียดนาม เกิดที่บ้านโพสี เมืองไชจำพอน แขวงบอลิคำไช ติดชายแดนเวียดนาม ครอบครัวสหายสีสมพอน ย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากินแถวล่องน้ำซัน เมืองปากซัน และได้พบกับจัดตั้งที่ให้การศึกษาลัทธิมาร์กซ์ – เลนิน

สหายสีสมพอนในวัยหนุ่ม ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวปฏิวัติ และต่อต้านจักรพรรดินิยมฝรั่งเศสที่ยึดครองแผ่นดินลาวอยู่ เมื่อฝรั่งเศสพ้นจากดินแดนลาว ก็ต้องพบกับการเข้าแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา ทำให้ลาวแตกเป็น ๓ กลุ่มคือลาวฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และฝ่ายเป็นกลาง

สหายสีสมพอนเริ่มเข้าสู่ขบวนปฏิวัติ จากการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ภายใต้การนำของลุงโฮ ก่อนจะแยกมาก่อสร้างพรรคปฏิวัติประชาชนลาว ร่วมกับสหายไกสอน พมวิหาน สหายสุพานุวง สหายหนูฮัก พูมสะหวัน สหายพูน สีปะเสิด สหายคำไต สีพันดอน ฯลฯ

ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา คณะกรรมการพรรคแขวงบอลิคำไช จัดคาราวานท่องเที่ยวสู่เมืองไชจำพอน บ้านเกิดของสหายสีสมพอน ลอวันไช

เมื่อถ่ายภาพเสร็จ รีบขึ้นรถมุ่งหน้าสู่เชียงขวาง โบกมืออำลากุหลาบปากซันด้วยความอาลัยอาวรณ์

(โปรดติดตามอ่านฉบับต่อไป)

อนุสาวรีย์ ท่านสีสมพอน ลอวันไช

อ้างอิง/ภาพประกอบ

เฟซบุ๊กเขตปลดปล่อยมิวสิคเฟสติวัล

https://th.wikipedia.org/wiki

http://www.oceansmile.com/Lao/Bolikhamsai.htm

h t t p s : / / w w w . f a c e b o o k . c o m /PhenluangPhenlao/posts

https://www.google.com/search?q=ข้าวจี่ปาเต้

Related Posts

เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com