นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรมพระปาจิต นางอรพิม

ดร.รังสิมา กุลพัฒน์

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๔๙  พฤษภาคม ๒๕๕๙

***

การเคลื่อนที่ของนิทานประจำถิ่นนั้นเป็นไปตามการเคลื่อนย้ายของคนในท้องถิ่น ชาวโคราช และชาวบุรีรัมย์นั้น ต่างก็เคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปตามเส้นทางการค้าและการเกษตรโดยไม่ได้คำนึงถึงเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างจังหวัด จากสี่กลุ่ม ของชาวบุรีรัมย์ คือ ไทยโคราช ไทยลาว ไทยเขมร และกูย ชาวไทยโคราชนั้นมีที่พำนักถิ่นฐานในจังหวัดบุรีรัมย์ เขตพื้นที่ติดกับจังหวัดนครราชสีมา เช่นอำเภอนางรอง ดังนั้นอาจมีการเรียกว่า ไทยนางรอง บ้างก็อยู่ในอำเภอปะคำ ชำนิ โนนสุวรรณ หนองกี่และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ในบางส่วน

คนไทยโคราชนั้น รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ กล่าวว่า เป็นคนไทยผสมเขมร พูดได้หลายภาษาบางกลุ่ม ก็พูดโคราช บางกลุ่ม พูดภาษากลาง บางกลุ่มพูดได้ทุกภาษา ส่วน ศ.ธวัช ปุณโณทก กล่าวว่า คนไทยโคราชเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษากลางเป็นหลักเพียงแต่สำเนียงพูดเหน่อไป โดยมีคำลาวปนอยู่บ้าง สำเนียงค่อนข้างห้วนสั้น โดยกร่อนเสียงพูด เช่น ทำไอ๋ (ทำอะไร) ดูถว่ะ (ดูเถิดวะ) และคำศัพท์ที่เป็นของตนเอง ซึ่งไม่ใช่ทั้งภาษาไทยและภาษาลาว เช่น โหง่ย (ล้มลง) จั๊กเด่ะ(ไมรู่สิ้) และชาวพิมายก็ยังมีสำเนียงและคำศัพท์ที่เป็นของชาวพิมายโดยเฉพาะอีก

ปราสาทหินพนมรุ้ง ที่เชื่อว่าเป็นวังของปาจิต และนางอรพิม

นิทานประจำถิ่นของชาวบุรีรัมย์ที่โดดเด่นนั้นคือ นิทานปาจิตอรพิม และ อินทปัตถา-กุญลวงศ์ ในส่วนของนิทานอินทปัตถา เบญจวรรณนาราสัจจ์ ผู้เขียนดุษฏีนิพนธ์เรื่อง “การช่วงชิงวาทกรรมว่าด้วยการจัดการมรดกวัฒนธรรมโบราณสถานปราสาทพนมรุ้ง” วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ พบว่า “ไม่พบผู้รู้จักตำนานเรื่องดังกล่าวเลย พบเพียงแต่วรรณกรรมเรื่อง“อินทปัตถา” ซึ่ง ภูมิจิต เรืองเดช ปริวรรตจากต้นฉบับเป็นสมุดข่อยโบราณ ฉบับที่บิดาของเธอเป็นชาวจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับต่อมาจากปู่และเก็บรักษาไว้นานแล้ว”

“ปาจิต-อรพิม” นั้นได้เคลื่อนที่ไปกับชาวไทยโคราชที่ย้ายถิ่นฐานไปยังที่ต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่บ้านนางรอง หรือในกลุ่มชาวไทยเขมร ซึ่งต่างก็ได้เล่าที่มาของสถานที่ตามเนื้อเรื่องคล้ายและต่างกันไป โดยมีเรื่องที่มาของคำว่า “นางรอง” ซึ่งต่างก็กล่าวว่าเพี้ยนจากคำว่า “นางร้อง” แต่ด้วยสาเหตุต่าง ๆ กัน บ้างก็ว่า นางอรพิมเดินทางตามปาจิต เพื่อกลับไปเมืองนครธม แต่เดินนานจนเหนื่อยอ่อนเมื่อยล้าจนต้องร้องไห้ ออกมากลายเป็น “นางร้อง” และกลายเป็น “นางรอง” ในปัจจุบัน อีกสำนวนหนึ่งกล่าวว่า ปาจิตถูกงูกัดตายที่นี่ นางอรพิม จึงร้องไห้และเปลี่ยนเป็น “นางรอง” ซึ่งถ้าลองออกเสียง “นางร้อง” เป็น “นังโร่ง”แบบเขมรผสมโคราชก็จะคล้าย ๆ กับคำว่า “นางรอง” อยู่ไม่มากก็น้อย

ตำนานของเมืองนางรองกล่าวว่า เจ้าชายปาจิตแห่งเมืองนครธม บ้างก็ว่า พนมรุ้ง เช่นที่เบญจวรรณ นาราสัจจ์ ได้สัมภาษณ์ชาวบ้านบ้านตาเป๊ก ว่า “เจ้าชายปาจิตมาพบนางบัว ผู้เป็นแม่ของอรพิมบริเวณเชิงเขาพนมรุ้ง และสร้างปราสาทพนมรุ้งให้เป็นที่อยู่ของนางจนคลอดอรพิมออกมา และในตอนท้ายทั้งคู่กลับมาแต่งงานและอยู่ร่วมกันที่ปราสาทพนมรุ้ง” (ในขณะที่ตำนานชาวเมืองตํ่ากล่าวว่า เจ้าชายปาจิตมาจากพนมรุ้ง และได้เนรมิตปราสาทเมืองต่ำให้เป็นบ้านนางบัวและนางอรพิม : ผู้เขียน) โดยมีการอ้างถึงหลักฐานยืนยันตำนานเป็นคราบดำของเขม่าควันไฟ และกองขี้เถ้าในท้องพระโรง ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชี้ว่าเป็น “ห้องแม่อรพิมอยู่ไฟ” อันหมายถึงการอยู่ไฟของนางบัวหลังคลอดนางอรพิม และคำเรียกปรางค์น้อยกว่า “ปรางค์อรพิม” รวมถึงเรียกชื่อต้นไม้ที่ออกดอกสีเหลืองสวยงามรอบบริเวณปราสาทว่า “ฝ้ายอรพิม” (ปัจจุบันเรียกว่า “ฝ้ายคำ” หรือ “สุพรรณิการ์”) เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นต้นไม้ที่ขึ้นตามยอดภูเขาไฟที่ดับแล้ว ซึ่งมีหลายยอดในจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมเรื่องเล่าว่านางอรพิมปลูกไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์การแต่งงาน”

ปราสาทหินเมืองตํ่า ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวังที่เจ้าชายปาจิตเนรมิตให้นางอรพิม

ขณะนั้นท้าวพรหมทัต ผู้ครองเมืองหนึ่ง ได้ออกมาประพาสตามเมืองต่าง ๆ ได้แวะพักที่สระเพลิง ซึ่งปัจจุบันคือ ทะเลเมืองตํ่า อำเภอประโคนชัย พรหมทัตได้พบกับนางอรพิมที่อยู่บริเวณปราสาท จึงให้ทหารฉุดนางอรพิมไประหว่างทางนางอรพิมขอร้องให้ปล่อยแต่ไม่เป็นผลจึงนั่งร้องไห้ บริเวณที่นางอรพิมนั่งร้องไห้จึงชื่อว่า “ลำนางรอง” แถบบ้านจะบวก ต่อจากนั้นจึงพานางอรพิมเดินทางต่อไปเมืองพิมาย

เจ้าชายปาจิตรู้ข่าวนางอรพิมถูกฉุดคร่าไปขณะเดินทางกลับมาจากเมืองนครธม ระหว่างทางได้แวะพักที่บ้านแซะ ที่เมืองครบุรี จากนั้นเดินทางต่อมาถึงเช้าที่แห่งหนึ่ง บริเวณนั้นจึงชื่อว่า “เสิงสาง” แปลว่า เช้า และเดินทางต่อมาถึงลำนํ้าแห่งหนึ่ง ด้วยความโกรธแค้นจึงทุบทำลายข้าวของในบริเวณลำนํ้านั้น ทิ้งเครื่องขันหมากซึ่งมีทั้งเงินและทอง ทำให้ลำนํ้าบริเวณนั้นได้ชื่อว่า “ลำปลายมาศ” ซึ่งแปลว่า เงิน ทอง ในภาษาเขมร ขว้างเป็ดทองคำออกไป ทำให้บริเวณนั้นชื่อว่า “ถ้ำเป็ดทอง” ซึ่งอยูที่อำเภอปะคำ ทำลายรถเหลือไว้แต่ล้อรถ ในบริเวณที่เป็น บ้านกงรถซึ่งอยู่อำเภอห้วยแถลง ขึ้นกับจังหวัดนครราชสีมา ติดกับอำเภอลำปลายมาศ ที่ขึ้นกับจังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อปาจิตเดินทางไปถึงเมืองที่อรพิมถูกนำไปกักขังไว้ นางอรพิมเห็นปาจิตเข้ามาจึงเรียกออกไปว่า “พี่มา พี่มา พี่มา” สามครั้ง อันเป็นที่มาของคำว่า เมืองพิมาย ปาจิตคิดแผนฆ่าพรหมทัต โดยคิดอุบายให้พรหมทัตตกหลุมพรางที่เต็มไปด้วยหอกดาบซึ่งตนเองขุดไว้ โดยการมอมเหล้าพรหมทัต เมื่อพรหมทัตตกลงไป ปาจิตและอรพิมจึงหนีกลับนครธม ระหว่างทางก็ได้ผ่านสถานที่ต่าง ๆ เช่นทุ่งกระเต็น ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปาจิต อรพิม และเหล่าทหารติดตาม เลี้ยงฉลองการที่ได้สังหารพรหมทัตและปลดปล่อยนางอรพิมสำเร็จ จึงกระโดดกระเต้นอย่างดีใจในบริเวณนี้ จนเป็นที่มาของคำว่า “ทุ่งกระเต้น” และเปลี่ยนมาเป็น “ทุ่งกระเต็น” ในที่สุด ต่อมาไปหยุดพักผ่อนที่แห่งหนึ่ง ใกล้ ๆ กับหนองทองลิ่ม จึงเรียกบริเวณนั้นว่า“ทุ่งอรพิมพ์” และเดินทางต่อไปผ่านบ้านแซะละออ และเดินทางต่อไปยังนครธม

กลุ่มบ้านทุ่งกระเต็น หนองกี่ จังหัน โนนสุวรรณ ได้มีเรื่องเล่าของตนเอง ว่าระหว่างที่นางอรพิมพลัดพรากจากปาจิต โดยถูกเณรพาปาจิตไปอีกฝั่งนํ้า และพานางอรพิมนั่งเรือไปด้วยกับตนจนนางอรพิมออกอุบายให้เณรขึ้นต้นมะเดื่อและสุมหนามเผาไฟจนเณรตายอยู่บนต้นมะเดื่อกลายเป็นแมงหวี่ตอมผลมะเดื่อ นางอรพิมรอนแรมตามหาปาจิตไปเรื่อย ๆ จนผ้าขาดหวิ่นชาวบ้านสงสารจึงหากี่ทอผ้ามาให้นางอรพิม จนเป็นที่มาของชื่อหนองกี่ เพราะเชื่อว่าวันดีคืนดีก็มีกี่ทอผ้าลอยขึ้นมาบริเวณหนองนํ้า ทำให้หนองนํ้านั้นชื่อหนองกี่ และร่วมกันตั้งศาลเจ้าแม่อรพิมไว้ใกล้ ๆ กัน นางอรพิมบวชเป็นนาคในบริเวณนั้นจึงชื่อว่า หนองบุญนาค ปัจจุบันคือ หนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา และไปฉันจังหันที่หมู่บ้านหนึ่ง จนได้ชื่อว่าบ้านจังหัน อยู่ในอำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์

บริเวณหนองกี่ศาลเจ้าแม่อรพิม ที่ตำบลหนองกี่ อำเภอหนองกี่จังหวัดบุรีรัมย์

เรื่องราวที่เล่าต่อ ๆ กันจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่หมู่บ้านหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่ต่อ ๆ กันระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์นี้ แสดงให้เห็นถึงความนิยมของเรื่องปาจิต อรพิม ที่มีในกลุ่มชาวพื้นถิ่น และความสัมพันธ์ของภูมิศาสตร์กับเรื่องเล่า เป็นการอธิบายพื้นที่ด้วยความภูมิปัญญาชาวบ้าน และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชาวโคราชที่นำพาเรื่องเล่าผ่านไปกับการย้ายถิ่นฐาน

(ติดตามต่อฉบับหน้า)

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

ท้าวปาจิต – นางอรพิม : จากตํานานท้องถิ่น สู่ชาดกนอกนิบาต

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

คําผญา (๔)
พระไม้…ลมหายใจคนไทยอีสาน (จบ)
ฮูปแต้มวัดจักรวาฬภูมินิมิต
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com