สิทธิพลเมืองกับความยากจน

สิทธิพลเมืองกับความยากจน

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๐ 

ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๗


เขียนถึงปัญหาความยากจนมานมนานแล้ว แต่ก็ยังต้องยํ้าเตือนกันอีกบ่อย ๆ เพราะเรื่องนี้คือปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศ…มิใช่หรือ

 

เรามีประเทศ มีการปกครอง ก็เพื่อทำให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดี มีความสุข

 

“รัฐ” ต้องดูแลทำให้สำเร็จ

ถ้า “รัฐ” ไม่ทำหน้าที่เหล่านี้ให้ดี ก็ไม่รู้จะมี “รัฐ” เอาไว้ทำไม !

 

รัฐที่เลวร้ายนั้น รู้จักแต่ใช้อำนาจปราบปรามประชาชน ไม่เคยคิดสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้บังเกิดแก่พลเมือง

 

ปัญหาความยากจนนั้น รัฐมักมองว่ามันเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับด้านอื่น ๆ เช่นสิทธิมนุษยชน

 

แต่ในทางเป็นจริง ความยากจนเป็นทั้งผลและเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงต้องใส่ใจกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นต้นเหตุหนึ่งของความยากจนด้วย

 

ปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้น มักจะมองกันแต่ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ละเลยด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรมไป

สิทธิทางเศรษฐกิจ คือสิทธิในการมีงานทำ สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการได้รับค่าจ้างและราคาผลผลิตเป็นธรรม สิทธิได้รับการจัดสรรสถานที่ให้ประกอบอาชีพ สิทธิได้รับหลักประกันการมีมาตรฐานชีวิตอย่างพอเพียง สิทธิการมีที่อยู่อาศัย สิทธิมีอาหารกินอย่างเต็มอิ่ม ฯลฯ

สิทธิทางสังคม คือสิทธิได้รับการประกันสุขภาพได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเลี้ยงตัวยามชรา สิทธิในการเลือกคู่ครอง สิทธิได้รับการรักษาพยาบาลและการมียาราคาถูก สิทธิของแม่ลูกอ่อนในการได้รับสวัสดิการ สิทธิของเด็ก ผู้หญิงและคนพิการ สิทธิไม่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านความเชื่อด้านการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ อายุ เพศ ผิว ฯลฯ

สิทธิทางวัฒนธรรม คือสิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการแต่งกายตามวิถีชาติพันธุ์ สิทธิในการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อ สิทธิในการมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ สิทธิในการมีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม การบันเทิงและกีฬา ฯลฯ

รัฐมีพันธกิจและพันธกรณีในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการปกป้อง คุ้มครอง และจัดให้สิทธิทั้งหมดเกิดขึ้นในสังคม

 

รัฐบาลใดยังจัดสิทธิเหล่านี้ให้เกิดเป็นจริงขึ้นไม่ได้ทั้งหมด ก็ย่อมจะถูกเรียกร้อง ถูกวิจารณ์ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ใส่ใจคำเรียกร้อง หรือกระทั่งละเมิดสิทธิเหล่านั้นเสียเอง เสียงวิจารณ์เสียงคัดค้านก็ย่อมจะแรงขึ้น

 

สิทธิมนุษยชนทั้งห้าด้าน คือสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สิทธิทางสังคม และสิทธิทางวัฒนธรรม สรุปรวมเรียกว่าสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือจะเรียกอีกอย่างว่า สิทธิในการไม่ถูกทำให้เป็นคนจนก็ได้ เพราะความจนเป็นสิ่งที่ทำให้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ถูกลดทอน

 

การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องมอบสิทธิทั้งหมดข้างต้นนี้ มิใช่ให้สิทธิเพียงบางด้าน เช่น ให้สิทธิการเมือง ไปเลือกตั้งตามวาระ แต่ไม่ให้สิทธิทางเศรษฐกิจ และการให้สิทธิทั้งหมดดังกล่าวก็ต้องให้กับประชาชนอย่างทัดเทียมกัน ประเทศจึงจะพ้นจากความยากจนได้อย่างแท้จริง


Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)
ขับ ลำ เพลงลาว
คุยเรื่องพริกกับคนช่างสงสัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com