นอ เครื่องคํ้าของคูณแห่งลุ่มแม่นํ้าโขง

นอ เครื่องคํ้าของคูณแห่งลุ่มแม่นํ้าโขง

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง

โดย ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ

นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

หัวหน้าพรานชาวลาวใช้อาวุธปราบแรดในป่า ภาพลายเส้นจากภาพวาดของอองรี มูโอต์

นักสำรวจชาวฝรั่งเศส พ.ศ.๒๔๐๑ – ๒๔๐๔

คํ้าคูณ” หมายถึง เป็นมงคล หรือบังเกิดความสุขความเจริญ สิ่งใดที่มีแล้วเชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งความเป็นมงคล ทำให้บังเกิดความสุขความเจริญแก่เจ้าของคนสองฝั่งแม่นํ้าโขงเรียก สิ่งนั้นว่า “เครื่องคํ้าของคูณ” ซึ่ง คุณพ่อปรีชา พิณทอง ปราชญ์แห่งเมืองอุบลราชธานีได้สาธยายเรื่องเครื่องคํ้าของคูณไว้ใน “สารานุกรมภาษา อีสาน-ไทย-อังกฤษ” ว่าเป็นสิ่งที่คนโบราณถือว่าใครมีไว้ในบ้านเรือนจะสมบูรณ์พูนสุขด้วยลาภยศ

ในคาถาแม่นํ้าทั้งสิบสำหรับเสกนํ้ามนต์ที่ใช้กันในสายเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก มีกล่าวถึงเครื่องคํ้าของคูณในบทสวดว่า “ฮด คด แก้วแข่ว เขา นอ งา อันเป็นของบิดามารดามาแต่ปางก่อน ของคูณแล้วก็ฮดให้คูณดังเก่า เป็นท้าวเล่าหลายทีเหมือนดังพระจันทร์เพ็งศรีใสส่องเหมือนดังพระอาทิตย์ส่องใสงาม ตามโบราณด่านด้าว

ด้วยความคติชนของคนสองฝั่งแม่น้ำโขงที่เชื่อถือเกี่ยวกับเครื่องคํ้าของคูณ จึงใคร่จะนำเรื่องราวของ นอ หนึ่งในเครื่องคํ้าของคูณที่สำคัญของคนลุ่มแม่น้ำโขง มา เปิดผ้าม่านกั้งตั้งเป็นประเด็นในครั้งนี้

นอ นิยามและความหมาย

นิยามและความหมายของคำว่า นอ จาก “สารานุกรม ภาษา อีสาน-ไทย-อังกฤษ” ได้สรุปความหมายคำว่า นอ ไว้ ๔ ความหมาย ดังนี้

“นอ” ๑ น. สิ่งที่งอกขึ้นเหนือจมูกแรดเรียก นอแฮด นอของสัตว์ทุกชนิดคนโบราณถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีอยู่ในเรือนจะทำให้คนภายในเรือนมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พูลสุข อย่างว่านอนิลแก้วพิฑูรย์ทำมะราช ควรค่าซื้ออย่าถือได้ล่วงเอา (บ.)

“นอ” ๒ น. นอที่เกิดบนใบหน้าของคนปรากฏว่าคนคนนั้นเป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นอย่างมาก บริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินบริวารเกียรติยศและชื่อเสียงตลอดชีวิต

“นอ” ๓ น. กากะทิง ชื่อพรรณไม้ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ดอกหอมสีขาว เรียก ต้นดอกนอ

“นอ” ๔ เป็นคำกิริยาช่วย บอกคำขอร้องอ้อนวอน หรือตกลง เช่น ไปด้วยกันนะ เรียก ไปนำกันนอ กินนำกันนอ อยู่นำกันนอ

ส่วน“วจนานุกรมภาษาลาว” ของ ทองคำอ่อนมะนีสอน ได้สรุปความหมายคำว่า นอ ไว้ ๔ ความหมาย ดังนี้

“นอ” ๑ น. เขาที่งอกขึ้นเหนือจมูกแรดและกระซู่ มีลักษณะเหมือนเขาควาย เรียก นอแรด นอกระซู่ แต่แรดมี ๒ นอ, นอใต้อยู่ถัดจมูกขึ้นไป นอเทิงอยู่ตรงหน้าผาก, นออยู่ใต้ใหญ่ นออยู่บนเล็ก, ส่วนกระซู่มีนอเดียว, นอที่เกิดขึ้น หรือโนขึ้นตามหน้าและร่างกายของคนและสัตว์ก็เรียกนอเหมือนกัน

“นอ” ๒ น. ชื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งใบเกลี้ยงและหนา ดอกเล็ก มีกลิ่นหอม เรียก ต้นดอกนอ

“นอ” ๓ น. ชื่อเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งคล้ายแคน เป็นของพวกลาวเดิม หรือพวกมูเซอ

“นอ” ๔ ว. เป็นคำช่วยกิริยา หรือคำวิเศษเช่น ไปนำกันนอ กินนำกันนอ ดีนอ ใหญ่นอ

นอ เครื่องมงคลราชบรรณาการ

ในหนังสือประวัติศาสตร์ลาว โดย มหาสิลา วีระวงส์ ได้กล่าวถึงรัชสมัยพญาฟ้างุ่ม ในยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง และขยายอิทธิพลลงมาสู่พื้นที่อีสาน และได้ยกกองทัพมีพล ๔๘,๐๐๐ คน ช้าง ๕๐๐ เชือก ออกจากเวียงจันท์เพื่อจะลงมาตีเมืองล้านเพียคือกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น พระเจ้าฟ้างุ่มได้จับเจ้าเมืองในเขตอีสานมาขังไว้ที่เมืองร้อยเอ็ด แล้วส่งพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าอู่ทองว่า “จักรบหรือบ่รู้ว่าสิ่งใดนั้นจา” พระเจ้าอู่ทองมีความกลัวจึงตอบพระราชสาส์นว่า

เราหากเป็นพี่น้องกันมาแต่ขุนบรมปางก่อนพุ้นดาย เจ้าอยากบ้านได้เมืองให้เอาแต่เขตแดน ดงสามเส้า เมือเท่าภูพญาพ่อ และแดนเมืองนครไท เป็นเจ้าท้อน อันหนึ่ง ข้อยจักส่งนํ้าอ้อยนํ้าตาลซุปี อันหนึ่ง ลูกหญิงข้าชื่อ นางแก้วยอดฟ้า ใหญ่มาแล้ว จักส่งเมือให้ปัดเสื่อปูหมอนแก่เจ้าฟ้าแล

นอกจากนี้ พระเจ้าอู่ทองยังได้จัดเครื่องราชบรรณาการ ประกอบด้วย ช้างพลาย ๕๑ เชือก ช้างพัง ๕๐ เชือก ทองคำสองหมื่น เงินสองแสน นอแสนหน่วย กับเครื่องบรรณาการอื่น ๆ อีกอย่างละร้อยไปถวายพญาฟ้างุ่ม เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี

เรื่องราวข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างล้านช้างและล้านเพีย ในสมัยแผ่นดินพญาฟ้างุ่ม แห่งล้านช้างกับพระเจ้าอู่ทองแห่งล้านเพีย โดยมีการกล่าวถึง “นอ” จำนวนถึงหนึ่งแสน ที่พระเจ้าอู่ทองส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการให้กับพญาฟ้างุ่ม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “นอ” ในฐานะเครื่องมงคลราชบรรณาการที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารลุ่มแม่นํ้าโขงตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙

นอ สินค้าสำคัญในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง

ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ปรากฏเอกสารประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึง “นอ” ในฐานะผลผลิตสำคัญของอาณาจักรล้านช้าง โดย เกอร์ริต ฟอนวูสฮอฟ (G. Van Wuysthoff) ที่เดินทางเข้ามายังนครเวียงจันท์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับอาณาจักรล้านช้าง ใน ระหว่าง พ.ศ.๒๑๘๔ – ๒๑๘๕ ตรงกับรัชสมัยพญาสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ.๒๑๘๑ – ๒๒๓๘) เขาได้บันทึกรายการสินค้าสำ คัญของอาณาจักรล้านช้างไว้ว่าประกอบด้วย ทอง กำยาน ชะมดเชียง ครั่ง หนังกวาง ยางรัก ฆ้องทำด้วยทองแดง ฝ้าย ผ้าไหมและ นอแรด

นอแรดเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ถูกใช้ในการปรุงยาจีน จึงทำให้นอแรดมีราคาสูงมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ บันทึกการเดินทางของ เกอร์ริต ฟอน วูสฮอฟ ได้บันทึกไว้ว่าพ่อค้าชาวกว่างนาม(Quang-nam) ซึ่งมาจากบริเวณภาคกลางของเวียดนามจะนำไหมดิบมาขายที่บริเวณเมืองละครหรือนครพนม และซื้อผ้าไหมและนอแรดกลับไป ซึ่งการค้าขายนี้เกิดขึ้นปีละ ๓ ครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีบันทึกของ Giovanni Filippo de Marini บาทหลวงชาวอิตาลี ที่เขียนเกี่ยวกับอาณาจักรล้านช้าง โดยอาศัยข้อมูลจากบันทึกของ Giovanni Maria Leria บาทหลวงชาวอิตาลีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเวียงจันท์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๘๕ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๑๙๐ กล่าวว่า สินค้าสำคัญของอาณาจักรล้านช้างประกอบด้วย ทอง กำยาน ชะมดเชียง งาช้าง นํ้าผึ้ง ขี้ผึ้ง เงิน เหล็ก ตะกั่วดีบุก เกลือ ฝ้าย และ นอแรด โดยชนชั้นปกครองและคนรวยมักจะใช้นอแรดสำหรับเป็นเครื่องรางของขลัง นอแรดจึงมีการซื้อขายกันในราคาสูง

เรื่องราวของนอแรดจากบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาในเวียงจันท์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ “นอ” ในฐานะสินค้าสำคัญในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒

“แฮด” ฮูปแต้มวัดบ้านหนองเหล่า วาดปี พ.ศ.๒๔๗๐ (ภาพจาก ณัฐพงศ์ มั่นคง)นอ แต่งเป็นตลับสีผึ้ง ความทรงจำสุดท้ายเกี่ยวกับนอ ของคนลุ่มแม่นํ้าโขง

นอ ส่วยจากลุ่มแม่น้ำโขงสู่ราชสำนักสยาม

งานศึกษาของ สุวิทย์ ธีรศาศวัต เกี่ยวกับสิ่งของที่เป็นส่วยจากลาวที่ต้องส่งให้กับราชสำนักสยามในช่วง พ.ศ. ๒๓๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๙๒ พบว่า ประกอบด้วย ทองคำผุย ทองคำ งาช้าง ผลเร่ว เส้นไหม ครั่ง ป่าน ผ้าขาว ขี้ผึ้ง และนอระมาต โดยรายการของนอระมาตหรือนอแรดนี้ ปรากฏในจดหมายเหตุ ร.๓ จ.ศ.๑๑๙๓ เลขที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๓๗๔) ระบุว่า ลาวต้องส่งนอระมาต ในจำนวนนํ้าหนัก ๑ กิโลกรัม คิดเป็นราคา ๑๘.๓๔ บาท และมีรายการส่วยของเมืองศรีทันดรที่ส่งให้กับราชสำ นักสยามปรากฏในจดหมายเหตุ ร.๓ จ.ศ.๑๑๙๔ เลขที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๓๗๕) พบว่า มีจำนวน ๗ ยอด หนัก ๔ ชั่ง ราคา ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๑ บาท หรือหนัก ๔.๘ กิโลกรัม คิดเป็นราคา ๘๙ บาท

หากเฉลี่ยนํ้าหนักของนอจำนวน ๗ ยอดหนัก ๔.๘ กิโลกรัม นอจึงมีนํ้าหนักเฉลี่ยนอละ๗ ขีด ดังนั้น ถ้าต้องส่งส่วยนอแรด ๑ กิโลกรัม ต้องใช้จำนวน ๒ นอ คือฆ่าแรดในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขงอย่างน้อย ๑ ตัวเพื่อส่งเป็นส่วย แต่ข้อมูลที่น่าตกใจคือ จากรายงานการสำรวจสินค้าของป่าในลาวใน พ.ศ. ๒๓๙๔ พบว่า มีรายการนอแรดชั้น ๓ จำนวน ๕๐๐ นอ นอแรดชั้น ๒ จำนวน ๕๐ นอ และนอแรดชั้น ๑ จำนวน ๑๐ นอหรือกล่าวได้ว่ามีแรดถูกฆ่าเพื่อเอานอไม่ตํ่ากว่า ๕๐๐ ตัว

นอ ความทรงจำอันรางเลือนเกี่ยวกับแรด

จำนวนนอแรดที่ถูกนำมาขายเป็นสินค้าสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณแรดที่เคยมีเป็นจำนวนมากในดินแดนลุ่มแม่นํ้าโขง แต่ด้วยความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อนอแรด ทำให้ปัจจุบันแรดได้สูญพันธุ์จากลุ่มแม่นํ้าโขงจนหมดสิ้นเหลือเพียงความทรงจำอันรางเลือน

ภาพสะท้อนความทรงจำเกี่ยวกับแรดที่ผู้เขียนพบ คือภาพแรดในผ้าผะเหวดโบราณ วัดป่าสักดาราม บ้านท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปว่าผ้าผะเหวดผืนนี้มีอายุเก่าแก่เพียงใด ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตจากภาพแรดที่ปรากฏในผ้าผะเหวดซึ่งถูกต้องตามลักษณะแรดในธรรมชาติ ข้างภาพมีข้อความบรรยายว่า “แฮดสีกกไม้” แสดงให้ เห็นว่าผู้วาดเคยเห็นแรดจึงได้วาดออกมาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ถ้าปี ๒๓๙๔ หรือประมาณ ๑๖๖ ปีก่อน เป็นปีที่แรดถูกล่านอกว่า ๕๐๐ ตัว เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของแรดในลุ่มแม่นํ้าโขง เช่นนั้นแล้ว ผ้าผะเหวดผืนนี้คงมีอายุไม่น้อยกว่า ๑๖๖ ปี หรือถูกสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อเปรียบเทียบภาพแรดจากผ้าผะเหวดโบราณบ้านท่าม่วง กับแรดในฮูปแต้มวัดบ้านหนองเหล่า อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่วาดไว้ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ แล้ว หรือประมาณ ๙๐ ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ผู้แต้มเหลือเพียงความทรงจำอันเลือนรางว่าแรดเป็นสัตว์มี “นอ” บนหน้าผากเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่ามีกี่นอ และตัวแรดมีลักษณะเช่นใด “นอ” จึงเป็นสิ่งที่หลงเหลือจากความทรงจำอันลางเลือนเกี่ยวกับแรดในลุ่มแม่นํ้าโขง

นอ เครื่องคํ้าของคูณแห่งลุ่มแม่นํ้าโขง

“นี้แม่นแฮดสีกกไม้” ภาพแรดจากผ้าผะเหวดโบราณ บ้านท่าม่วง

ภาพ “นอ” ในฮูปแต้มวัดบ้านหนองเหล่าบอกเล่าถึงลักษณะ “นอ” ในความรับรู้ของผู้คนในยุคที่แรดสูญพันธุ์ไปแล้วจากแผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขง เพราะภาพนอที่เห็นบนหน้าผากสัตว์พาหนะที่มีลักษณะคล้ายม้านั้น เป็นลักษณะของนอที่ถูกตัดแต่งสำหรับทำเป็นตลับสีผึ้งที่ยังหลงเหลือมาให้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งนอเหล่านี้เป็นของพกพาในฐานะเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ที่มีอานุภาพเป็นเครื่องคํ้าของคูณแห่งลุ่มแม่นํ้าโขง

ด้วยความเชื่ออันเป็นคติชนของคนในลุ่มแม่นํ้าโขง ทำให้มีการแสวงหา “นอ” มาไว้ที่บ้านเรือนเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งรํ่ารวย บ้างก็นำมาใส่ห่อผ้าผูกไว้ที่กระด้งหนอนไหมเพื่อจะได้ไหมคุณภาพดี บ้างก็นำมาทำตลับสีผึ้งสีปากเชื่อว่าเป็นมหานิยม บ้างก็นำมาทำเป็นด้ามมีดหรือดาบเชื่อว่าเป็นมหาอำนาจ นอกจากนี้ คติชนของคนในลุ่ม แม่น้ำโขงยังเชื่อว่า น้ำฝนที่ตกลงหลังคาบ้านที่มีนอแม้ไหลไปสู่บ้านเรือนผู้ใด ผู้นั้นก็จะมีความสมบูรณ์มั่นคงไปด้วย

นอที่เชื่อว่าเป็นนอคํ้าคูณ ได้แก่ “นอนิล” คือนอที่มีสีดำสนิท “นอนํ้าผึ้ง” คือนอที่มีสีเหลืองคล้ายนํ้าผึ้ง และ “นอเหม็น” คือนอที่มีกลิ่นเหม็นเน่า แต่คนโบราณเชื่อว่ากลิ่นนี้ลอยไปถึงบ้านใด บ้านนั้นจะมีความสมบูรณ์มั่นคงไปด้วยเช่นกัน

ยุคต่อมา เมื่อ “นอ” กลายเป็นของหายากจึงมีการนำวัสดุเทียมนอมาทำเป็นตลับสีผึ้งเพื่อการพกพา และเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกันเช่น ใช้แก้ว เรียกว่า “นอหน่วยแก้ว” ก็มี

แต่โบราณมาคนลุ่มแม่นํ้าโขงเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของ “นอ” จึงได้แสวงหามาเป็นเครื่องคํ้าของคูณ โดยมีคำโบราณกล่าวไว้ว่า

นอนิลนํ้าคูณคามค่ามาก

นอหน่วยแก้วคูณลํ้าอยู่เลิง

นอนํ้าเผิ่งคูณเลิงบ่ฮู้ล่า

นอด้ามพร้าคูณหน้ากว่าหลัง

แม่นมีเงินคำแก้วสามบวกควายนอน

กะบ่คูณดั่งเดียวคือนอในห้อง

ความเชื่อเรื่องนอคํ้าคูณในปัจจุบันยังมีอยู่ในกลุ่มผู้สนใจเกี่ยวกับคติชนลุ่มแม่นํ้าโขง แต่ปริมาณนอได้ลดน้อยลงจนกลายเป็นของหายากและในที่สุดได้มีการใช้วัสดุอื่น เช่น เขา ต้นตาลต้นไผ่ มาทำเลียนแบบเป็นจำนวนมาก

นอ ที่ไม่ใช่ นอแรด

ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ “นอ” ที่ไม่ใช่นอแรด แต่ถูกใช้ในพิธีกรรมการบวชของคนในลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะมีการห่อหุ้มบาตรด้วยผ้าตุ้มไหมถักด้วยด้ายเป็นรูปนาค ภายในบาตรจะใส่สมุด ดินสอ เข็ม มีดโกน ที่กรองนํ้า ใบคูณ ใบยอ ใบโพธิ์ และใบต้นดอกนอ อย่างละ ๙ ใบ

ใบต้นดอกนอ” เรียกสั้น ๆ ว่า “ใบนอ” คือ ใบกากะทิง ในคติชนลุ่มแม่นํ้าโขงไม่ได้ใช้ใบต้นดอกนอตามคติเรื่องนอแรดดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ใช้ใบต้นดอกนอในฐานะใบไม้ของต้นไม้พิเศษที่จะถูกเรียกว่า “ต้นโพธิ์” ในสมัยที่พระศรีอาริยเมตไตรยจะมาประทับตรัสรู้ ดังปรากฏในอนาคตวงศ์ที่ได้กล่าวถึงอนาคตพุทธะและต้นไม้ตรัสรู้ของอนาคตพุทธะไว้ว่า

องค์สมเด็จพระมหามุนีธิคุณเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า นานไปเบื้องหน้า พระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ พระองค์นั้นจะได้ตรัสรู้แด่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นลำดับกัน คือ องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า เปนปฐม ที่ ๑

ถัดนั้น จึงพระรามโพธิสัตว์ จะได้ตรัสที่ ๒

ถัดนั้น จึงพระเจ้าปสนทิโกศล จะได้ตรัสเปนพระธรรมราช ที่ ๓

ถัดนั้น พระยามาราธิราช จะได้ตรัสเปนพระธรรมสามี ที่ ๔

ถัดนั้น อสุรินทราหู จะได้ตรัสเปนพระนารทะ ที่ ๕

ถัดนั้น โสณพราหมณ์ จะได้ตรัสเปนพระรัสสีมุนี ที่ ๖

ถัดนั้น สุภพราหมณ์ จะได้ตรัสเปนพระเทวเทพ ที่ ๗

ถัดนั้น โตไทยพราหมณ์ จะได้ตรัสเปนพระนรสีหะ ที่ ๘

ถัดนั้น ช้างธนบาลหัตถีนาฬาคีรี จะได้ตรัสเปนพระดิสสะ ที่ ๙

ถัดนั้น ช้างปาลิไลยหัตถี จะได้ตรัสเปนพระสุมงคล ที่ ๑๐

พระองค์ได้ตรัสเปนลำดับกันโดยนิยมดังนี้อันว่าไม้พระศรีมหาโพธิอปราชิตบัลลังก์ ที่นั่งทรงพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทธรรม แล้วตรัสรู้เปนพระสัพพัญญูเจ้านั้น

พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า คือ ไม้กากะทิงเปนที่ตรัส ๑

พระรามเจ้า ไม้แก่นจันทน์แดง เปนที่ตรัส ๒

พระธรรมราชเจ้า ไม้กากะทิง เปนที่ตรัส ๓

พระธรรมสามีเจ้า ไม้รังใหญ่ เปนที่ตรัส ๔

พระนารทะเจ้า ไม้แก่นจันทน์แดง เปนที่ตรัส ๕

พระรังสีมุนีเจ้า ไม้ดีปลีใหญ่ ลางคัมภีร์ว่าไม้เลียบ เปนที่ตรัส ๖

พระเทวเทพเจ้า ไม้จัมปา เปนที่ตรัส ๗

พระนรสีหะเจ้านั้น ไม้แคฝอย เปนที่ตรัส ๘

พระดิสสะเจ้า ไม้ไทร เปนที่ตรัส ๙

พระสุมงคลเจ้า ไม้กากะทิง เปนที่ตรัส ๑๐

อันว่าไม้พระมหาโพธิ ๑๐ ต้นนี้ เปนที่ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญูแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ อันจะบังเกิดในอนาคตกาลเบื้องหน้าฯ

เช่นนี้ ต้นดอกนอ หรือ ไม้กากะทิง อันเป็นไม้พระศรีมหาโพธิอปราชิตบัลลังก์ ที่พระพุทธเจ้าจะนั่งทรงพิจารณาพระปฏิจสมุปบาทธรรม แล้วตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูเจ้านั้นจึงมีความสำคัญ เพราะจะเป็นที่ตรัสรู้ของอนาคตพุทธะถึง ๓ พระองค์ จึงเป็นที่มาของคติชนลุ่มแม่นํ้าโขงเกี่ยวกับการนำ “ใบนอ” มาใส่ในบาตรคู่กับใบโพธิ์ในพิธีการบวชของกุลบุตรแห่งลุ่มแม่นํ้าโขง

เครื่องคํ้าของคูณในลุ่มแม่นํ้าโขงจากอดีตถึงปัจจุบัน เกิดจากการที่ผู้คนสังเกตและทำความเข้าใจในธรรมชาติรอบตัว นำมาซึ่งการแสวงหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง ยิ่งเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนองตอบการแสวงหาเพื่อสนองกิเลสที่พองโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดเป็นการทำลายล้าง เพื่อสนองตอบเรื่องราวเหนือจินตนาการที่ถูกเล่าขานต่อเนื่องมาไม่มีวันจบสิ้น เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “นอ” ที่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นเพียงความทรงจำอันเลือนรางของคนลุ่มแม่นํ้าโขง

อ้างอิง

บำเพ็ญ ระวิน. (๒๕๔๒). ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาค ๓ พระอนาคตวงศ์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์

วิชาการ.

โยซิยูกิ มาซูฮารา. (๒๕๔๖). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของราชอาณาจักรลาวล้านช้าง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗ จาก “รัฐการค้าภายในภาคพื้นทวีป” ไปสู่ “รัฐกึ่งเมืองท่า”. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (๒๕๓๙). ประวัติศาสตร์ลาว. ขอนแก่น : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Related Posts

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน
วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
ยาพิษแสลงใจ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com