เรื่องการเขียนหนังสือ

เรื่องการเขียนหนังสือ

รายงานพิเศษ

ปิตุภูมิ รายสัปดาห์

เขียนโดย โฮจิมินห์ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม

แปลจาก “เวียตนาม นิวส์” ฉบับที่ ๑๓ โดย “ณรงค์”


หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ขณะนั้นข้าพเจ้าใคร่จะโฆษณาถึงประเทศของตนบ้าง แต่ทว่าข้าพเจ้ายังไม่รู้ภาษาฝรั่งเศสดี เลยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร?

ขณะนั้น สหายซึ่งทำงานในหนังสือพิมพ์ “ชีวิตกรรมกร” คนหนึ่งได้บอกข้าพเจ้าว่า

“คุณมีเรื่องอะไรก็เขียนไปเถอะ เสร็จแล้วผมจะเป็นผู้นำลงตีพิมพ์ให้เอง”

“เรื่องที่จะเขียนก็พอมีเหรอก แต่ผมเขียนไม่เป็นนะซิ” ข้าพเจ้าตอบ

“คุณเขียนสักสี่ห้าบรรทัดก็ได้ มีอะไรก็ว่าไปตามเรื่อง ขาดตกบกพร่องตรงไหน ผมจะเติมแต่งแก้ไขให้เอง” สหายผู้นั้นกล่าว

แต่นั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าก็เริ่มหัดเขียนเรื่องส่งไปลงหนังสือพิมพ์ แรก ๆ ก็เขียนเพียงสามสี่บรรทัด เมื่อเขียนเสร็จก็ลอกเป็นสองกอปปี้ กอปปี้ส่งไปโรงพิมพ์ อีกกอปปี้หนึ่งข้าพเจ้าเก็บไว้ พอเรื่องที่เขียนได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรก

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นสุขที่สุดในชีวิต

ข้าพเจ้าได้นำเอาเรื่องที่พิมพ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์มาเทียบดูกับต้นฉบับที่เก็บไว้ ว่ามีที่ไหนบกพร่องบ้าง คนอื่นเขาแก้อย่างไร?

อีกไม่นานสหายผู้นั้นได้บอกข้าพเจ้าว่า

“คุณหัดเขียนได้สามสี่บรรทัดแล้ว ต่อไปจะต้องเขียนให้ยาวออกไปกว่านี้”

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้พยายามเขียนให้ยาวขึ้นกว่าเดิม จนสามารถเขียนได้ยาวถึงสิบบรรทัด แต่สหายก็ได้บอกอีกครั้งหนึ่งว่า

“คุณจะต้องเขียนให้ยาวออกไปอีกหน่อย โดยเอาเนื้อหาเหล่านั้นเขียนเป็นเรื่องสั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนเรื่องให้ยาวออกไป ส่วนสหายของข้าพเจ้าก็ตั้งหน้าตั้งตาตรวจแก้พร้อมกับให้กำลังใจข้าพเจ้าอยู่เสมอมิได้ขาด

วิธีนี้ดีมาก ข้าพเจ้าได้พยายามอยู่ไม่เว้นที่จะเขียนเรื่องให้ยาวออกไป ยาวออกไปและยาวออกไปจนกระทั้งได้หนึ่งคอลัมน์ คอลัมน์กว่าแล้วก็ยาวออกอีกจนถึงคอลัมน์ครึ่ง

เช่นนี้แล้ว สหายผู้นั้นก็พูดกับข้าพเจ้าอีกว่า “อา, เดี๋ยวนี้คุณเขียนเป็นแล้วนี่ แต่คุณยังต้องหัดอีกอย่างหนึ่ง คือเขียนให้มันสั้นเข้า”

มันช่างลำบากยากเย็นเสียนี่กระไร ก่อนนี้ต้องเขียนให้ยาวออก เดี๋ยวนี้กลับจะให้สั้นเข้า !

แต่สหายข้าพเจ้า แย้งว่า “เมื่อคุณเขียนให้ยาวออกได้แล้ว คุณก็น่าจะเขียนให้สั้นเข้าได้ คอลัมน์ครึ่งลดเหลือคอลัมน์เดียวก็พอ เขียนให้รัดกุมเข้า เสร็จแล้วทบทวนดูอีกที ตอนไหนยาวเกินความจำเป็นก็ตัดทอนออกเสีย…”

อีกไม่นาน สหายก็เอ่ยกับข้าพเจ้าอีกว่า

“คุณต้องเขียนให้สั้นเข้าอีก !”

ข้าพเจ้าก็พยายามอย่างเต็มที่ สั้นแล้วสั้นเล่าในที่สุดสหายบอกว่า

“เอาละ เมื่อเขียนได้ทั้งยาวและสั้นเช่นนี้แล้วถ้ามีเรื่องอะไรจะเขียน จะเอายาวหรือสั้น คุณก็เป็นคนกำหนดเองได้”

สหายผู้นั้นยังได้เตือนสติข้าพเจ้าอยู่เสมอว่า

ประโยคที่เขียนยาว ๆ นั้น จะต้องเขียนให้อ่านรู้เรื่องได้ความแจ่มชัด อย่าเขียนซ้ำซาก เป็นอันขาด คำไหนที่จะใช้ ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายดีพอต้องซักถามให้มาก ๆ ไม่ควรใช้พรํ่าเพรื่อ

สหายผู้นั้นเดิมเป็นกรรมกร เขาลงมือหัดเขียนด้วยตนเอง ภายหลังได้เป็นผู้รับผิดชอบในงานหนังสือพิมพ์ ที่ข้าพเจ้าเขียนได้เช่นนี้ก็เนื่องมาจากการแนะนำช่วยเหลืออย่างไม่เบื่อหน่ายของเขานั่นเอง

หลังจากข้าพเจ้าเขียนหนังสือลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ได้แล้ว ข้าพเจ้ายังดำริที่จะเขียนนวนิยายขนาดสั้น ซึ่งนับว่าอาจหาญพอดูทีเดียว ที่ข้าพเจ้ากล้าที่จะลองเขียนดูนั้น ก็ด้วยวันหนึ่งข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องสั้นของ อนาโตล ฟรังค์ (Anatole France – นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส) และต่อมายังได้อ่านนวนิยายของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy นักประพันธ์ชาวโซเวียต) อีก เห็นว่าทั้งสองท่านเขียนได้เนื้อความกะทัดรัดดีเป็นพิเศษอ่านเข้าใจได้ง่าย

ข้าพเจ้าลองเขียนเรื่องสั้น สะท้อนถึงความเข้าใจของข้าพเจ้าต่อชีวิตกรรมกรในกรุงปารีส หลังจากเขียนเสร็จ ข้าพเจ้าได้มอบให้กองบรรณาธิการแผนกวรรณคดีของหนังสือพิมพ์ ฮูมานิเด้ พร้อมทั้งแจ้งให้ทราบว่า

“ต้นฉบับนี้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าหัดเขียน ถ้าเห็นสมควรที่จะนำลงตีพิมพ์ได้ ก็กรุณานำลงด้วย ตอนใดเห็นว่าควรจะแก้ไขเพิ่มเติม ก็จงแก้ไขเพิ่มเติมเถิดข้าพเจ้าไม่ถือเป็นการเสียหายสำหรับตัวข้าพเจ้าแต่ประการใดเลย การแก้ไขเพิ่มเติมของท่านทั้งหลายจะเป็นตัวอย่างแก่การหัดเขียนของข้าพเจ้าด้วย”

ต่อมา หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นก็ได้ดีพิมพ์นวนิยายขนาดสั้นของข้าพเจ้า นับเป็นครั้งที่สอง ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นสุขที่สุด

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้เขียนแต่บทรายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริงบางประการ ของเวียดนาม – ปิตุภูมิ ของข้าพเจ้าและประเทศเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเท่านั้น สหายฝรั่งเศสทั้งหลายชอบอ่านมาก ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ที่รายงานไปส่วนมากเป็นเรื่องที่พวกเขายังไม่ทราบนั่นเอง

หลังจากการปฏิวัติของเวียดนามในเดือนสิงหาคมสำ เร็จลงแล้ว ข้าพเจ้าได้เขียน บทแถลงการณ์ “ประกาศอิสรภาพ” ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามสำเร็จ นับเป็นครั้งสามที่ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นสุขใจอย่างยิ่ง

ปัจจุบันข้าพเจ้าเขียนอะไรก็มอบให้บรรดาสหายทั้งหลายพิจารณาดูที่ไหนเข้าใจยาก สหายก็เรียกร้องให้ข้าพเจ้าทำการแก้ไขเพิ่มเติม

สรุปแล้ว การเขียนก็คงเช่นเดียวกับงานอื่น ๆ ต้องมีจิตมุ่งมั่น ไม่ปิดบังความไม่รู้ของตนเอง ทั้งต้องอาศัยการวิจารณ์ ทั้งของผู้อื่นและตนเอง จึงจะมีความก้าวหน้า

Related Posts

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน
วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
ยาพิษแสลงใจ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com