เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)

มาคุยกันต่อเรื่องเงินตราโบราณของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งหมายถึงดินแดนของประเทศลาวและของอีสานบ้านเฮาครับ ฉบับนี้ขอใช้ภาษาที่เป็นทางการหน่อยแล้วกันนะครับ เพื่อที่ทุกคนจะได้อ่านกันรู้เรื่องโดยที่ไม่ต้องมีคำบรรยาย

ดังที่ผมได้เกริ่นให้ฟังตั้งแต่ฉบับที่แล้วว่าเงินตราของล้านช้างมีชนิดใดบ้าง ฉบับนี้และฉบับต่อ ๆ ไปคงจะได้ลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับเงินตราประเภทต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างให้มากขึ้น

มาเริ่มกันเลยนะครับ ผมขอเริ่มจากเงินฮ้อยหรือถ้าออกเสียงเป็นภาษาทางภาคกลางก็น่าจะเรียกว่า “เงินร้อย” แต่ถ้าออกเสียงภาษาลาวหรืออีสานแบบตรงวรรณยุกต์จะเรียกว่า “เงินฮ่อย” คำว่าเงินฮ้อยนี้ปรากฏหลักฐานในหนังสือเรื่อง ลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑ ลัทธิธรรมเนียมราษฎรภาคอีสาน (โรงพิมพ์ทรงธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๗๐ หน้า ๕๓-๕๗) ของ หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตรนคร) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งระบุว่า เงินฮ้อยคือเงินที่มีนํ้าหนักสิบบาท แต่คนลาวจะเรียกว่าฮ้อยหนึ่งหรือร้อยหนึ่ง อนึ่ง เงินฮ้อยมิใช่เงินที่หล่อด้วยเงินแท้ ๆ เป็นเงินชนิดปน คือเขาเอาทองสำริดหรือทองขาว (ทองแดงหรือดีบุก) มาหลอมสูบในไฟไล่ขี้โลหะออกไปหลาย ๆ หน จนหมดตะกั่วและชินที่อยู่ในเนื้อทองสำริด ผสมกับเนื้อเงินแท้ ๆ ในสัดส่วนเงินหนัก ๑๐ สลึง ทองสำริดหนัก ๗ บาท ๒ สลึง (รวมนํ้าหนักเป็น ๑๐ บาท) แล้วนำไปหลอมจนละลายเทลงในแม่พิมพ์จะได้เงินฮ้อยหนึ่งแท่ง จากบันทึกของหลวงผดุงฯจะเห็นได้ว่าเงินฮ้อยที่กล่าวถึงนั้นเป็นเงินฮ้อยในยุคหลัง ๆ ที่ใช้กันในภาคอีสาน ที่ราษฎรผลิตขึ้นใช้เอง เนื้อเงินค่อนข้างตํ่าคือประมาณร้อยละ ๒๕ แต่ในอดีตที่อาณาจักรล้านช้างยังรุ่งเรืองอยู่นั่นเงินฮ้อยเป็นเงินที่มีมูลค่าสูงสุดของอาณาจักรล้านช้าง ถึงแม้จะไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ก็ตามแต่เปอร์เซ็นต์ของเงินในเงินฮ้อยจะค่อนข้างสูงคือประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐ และเงินฮ้อยเหล่านี้จะผลิตที่โรงกษาปณ์หลวง วิธีการผลิตนั้นยังเป็นที่สงสัยและไม่ทราบแน่ชัดว่ามีวิธีการผลิตอย่างไรกันแน่ เพราะจากที่ผมเก็บสะสมเงินตราเหล่านี้ก็ไม่เคยพบเห็นเงินฮ้อยที่มีลักษณะเหมือนกันเลย ทุกแท่งมีความแตกต่างกันทั้งรูปทรง ลักษณะของตุ่ม ตราประทับ เหล่านี้ล้วนยังเป็นข้อสงสัยว่าโบราณนั้นท่านผลิตเงินตราชนิดนี้ด้วยวิธีใด

เงินฮ้อย

ลักษณะของเงินฮ้อยเป็นเงินแท่งยาวคล้ายกับกระสวยทอหูกหรือลำเรือ ตามลำตัวด้านบนของตัวเงินจะมีตุ่มล้อมรอบ โดยตุ่มนั้นจะเรียงเป็นสองแบบคือ ตุ่มด้านในเรียงกันเป็นแถวยาวจากหัวด้านหนึ่งไปยังหัวอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของตุ่มจะเรียงตัวชิดกันเป็นปื้น โดยเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับตีตราประทับ (จะได้เล่าต่อไปว่ามีตราอะไรบ้าง) ส่วนตุ่มด้านนอกหรือด้านริมจะเรียงตัวตามพื้นที่ที่ยังว่างอยู่ลักษณะของตุ่มจะเรียงตัวไม่ชิดกัน ขนาดตุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้าง ด้านหลังของตัวเงินเรียบ ไม่มีตุ่ม หรือลักษณะอื่น ๆ

เงินฮ้อย

คำว่าเงินฮ้อยนั้น น่าจะเป็นชื่อที่ราษฎรใช้เรียกเงินนี้ สืบเนื่องมาจากว่ามาตรวัดของล้านช้างและล้านนานั้นใช้มาตรวัดเดียวกันคือ บาทหนึ่งหนักประมาณ ๑๒ กรัม หน่วยย่อยกว่าบาทนั้นเรียกกันว่า “เงือน หรือเงิน” โดยหนึ่งเงินนํ้าหนักประมาณ ๑.๒ กรัม ดังนั้น เงินที่หนักประมาณ ๑๒๐ กรัม จึงเรียกกันว่า ฮ้อยเงิน หรือเงินฮ้อย ซึ่งมีค่าสิบบาทและเรียกติดปากกันมาเช่นนั้น

แต่มีเอกสารฉบับหนึ่งของล้านช้าง ที่เรียกกันว่า ใบจุ้ม หรือลายจุ้ม ซึ่งหมายถึงหนังสือราชการหรือพระราชโองการ หรือใบบอก ที่เป็นคำสั่งจากเมืองใหญ่ไปถึงเมืองเล็กให้ทำตามคำสั่ง โดยส่วนมากจะเป็นพระราชโองการของพระมหากษัตริย์จากเมืองหลวงไปยังหัวเมือง ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง ดังเช่น ใบจุ้มเลขที่ ๓ ลงศักราชไว้ว่า ศักราช ๑๔ ตัว (จุลศักราช ๑๐๑๔ หรือพุทธศักราช ๒๑๙๕) จารึกด้วยอักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้สมัยล้านช้าง ดังรูป

ใบจุ้มเลขที่ ๓ จากหอสมุดแห่งชาติ

ข้อความเริ่มต้นว่า “ษุภมัสตู พระราชอาจญาลายจู้มสมเด็จบรมบพิตร พระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้าสมเด็จพระเป็นเจ้า อยู่หัว ประสิทธิจู้มดวงนี้ใส่หัวพระยาขวางม้า” ซึ่งมีใจความถอดออกมาได้ว่า สมเด็จบรมบพิตรพระมหาธรรมิกราชาธิราชเจ้า (ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช) มีพระราชโองการถึงพระยาขวางม้า โดยรายละเอียดในใบจุ้มนี้แจ้งให้พระยาขวางม้าเป็นกองข้อยคานเสโล (น่าจะเป็นตำแหน่งนายกอง) ดังเก่า พร้อมกันนั้นยังมีการระบุชื่อบุคคลที่อยู่ในสังกัดประมาณ ๕๑ คน ทั้งคนเก่าและคนใหม่ อีกทั้งต้องส่งเงินภาษีประจำปีขึ้นมาถวายทางเมืองหลวง โดยเรียกเงินที่ต้องนำมาถวายว่า “เงินคาน” ซึ่งน่าจะหมายถึงเงินฮ้อยที่เรียกกันในภายหลัง เงินคานน่าจะเรียกตามลักษณะของเงินคือ เงินไม้คาน (มีลักษณะเหมือนไม้คานหาบของ) แต่เรียกให้สั้นลงว่าเงินคาน โดยบรรทัดที่ ๘-๑๐ หลังจากเอ่ยชื่อบุคคลที่อยู่ในสังกัดพระยาขวางม้าครบถ้วนแล้ว ระบุว่า “คนเก่าเข้า ๔๕ เงินคานเก่าหกร้อย คนใหม่ ๖ แรงไท ๓ รามสีน ๓ ขึ้นเงินคาน ๙ บาดเงิน โฮมเงินคานเก่าใหม่เข้าด้วยกันเป็นเงินหกร้อย ๙ บาด โฮมคนเก่าคนใหม่เข้ากันเป็น ๕๑ คน เถิงขวบปีให้เขานำเงินคานมาถวาย หกร้อย ๙ บาด มาถวายซุปีเป็นปกระติ” ท้ายหนังสือระบุ “สักราช ๑๔ ตัวเดือน ๗ แรม ๖ คํ่า วัน ๔ ฤกษ์ ๒๔ ลูก” แล้วประทับตราพระราชลัญจกรของพระมหากษัตริย์ลงชื่อว่า “พระยาสรีมระคุดกลาบทูล”

จากใบจุ้มฉบับนี้ทำให้ได้รู้ว่าเงินที่ชาวลาวล้านช้างใช้นั้น เรียกกันว่า เงินคาน (ภายหลังเรียกกันว่าเงินฮ้อย) ซึ่งขนาดของเงินคานที่ผลิตในอดีตที่ข้อความในใบจุ้มกล่าวนี้ น่าจะมีเพียงขนาดเดียวคือฮ้อยเงินหรือหนักประมาณ ๑๒๐ กรัม จากข้อความที่ระบุว่า “คนเก่าเข้า ๔๕ เงินคานเก่าหกร้อย” หมายความว่าคนเกาที่อยู่ในสังกัด ๔๕ คน ต้องจ่ายเงินเป็นเงินคานเก่าจำนวนหกร้อย (หกร้อยเงินหรือเงินคานเก่า ๖ แท่ง) ส่วนข้อความ “คนใหม่ ๖ แรงไท ๓ รามสีน ๓ ขึ้นเงินคาน ๙ บาดเงิน โฮมเงินคานเก่าใหม่เข้าด้วยกันเป็นเงินหกร้อย ๙ บาด” หมายความว่า คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอยู่จำนวน ๖ คนนั้นต้องจ่ายเป็นเงินคานใหม่ ๙ บาท รวมเงินคานทั้งเก่าและใหม่เป็นเงินหกร้อยเงิน (หกสิบบาท) กับอีก ๙ บาท จากข้อความนี้ทำให้ทราบว่าภายหลังเงินคานหรือเงินฮ้อย ได้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกหลายขนาด นอกเหนือจากที่มีเพียงขนาดฮ้อยเงินหรือสิบบาทเมื่อในอดีต คือก่อนสมัยกษัตริย์พระองค์ที่ระบุในใบจุ้ม เพื่อให้สามารถใช้สอยได้ง่ายและสะดวกขึ้น โดยขนาดที่พบจะมีด้วยกัน ๕ ขนาดคือ

๑. นํ้าหนักประมาณ ๑๒๐ กรัม ยาว ๑๒-๑๓ ซม. มีค่าฮ้อยเงิน หรือสิบบาท เป็นขนาดที่นิยมผลิตมาตั้งแต่อดีต

๒. นํ้าหนักประมาณ ๒๔๐ กรัม ยาว ๑๖-๑๘ ซม. มีค่าสองฮ้อยเงิน หรือซาวบาท (ยี่สิบบาท)

๓. นํ้าหนักประมาณ ๙๐-๑๐๐ กรัม ยาว๑๐.๕-๑๑ ซม.มีค่าแปดบาท หรือเก้าบาท

๔. นํ้าหนักประมาณ ๖๐ กรัม ยาว ๙-๑๐ ซม. มีค่าห้าบาท

๕. นํ้าหนักประมาณ ๓๐ กรัม ยาว ๕-๖ ซม. มีค่าสองบาทเคิ่ง (สองบาทครึ่ง) เป็นเงินฮ้อยขนาดเล็กสุด ผลิตเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จึงพบจำนวนน้อยมาก

เงินคานหรือเงินฮ้อยตั้งแต่ลำดับที่ ๒-๕ เป็นขนาดที่ผลิตเพิ่มเติมในภายหลัง สำหรับราคาหรือค่าของเงินฮ้อยในอดีตก็คงตามนํ้าหนักที่ระบุไว้ และน่าจะมีส่วนผสมของเงินตั้งแต่ร้อยละ ๖๐ ขึ้นไป แต่ราษฎรก็ใช้ราคาเต็มมูลค่าของนํ้าหนัก แต่ในยุคหลังคงมีความเชื่อถือโลหะเงินมากกว่า จึงใช้มูลค่าไม่เต็มราคาตามนํ้าหนักแต่ใช้ตามมูลค่าของส่วนผสมของเงิน ดังที่หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตรนคร) ได้ระบุไว้ว่า “เงินฮ้อยแม้นจะมีนํ้าหนักถึง ๑๐ บาท เงินก็ดี ก็ใช้เป็นราคาฮ้อยหนึ่งเพียง ๖ บาทบ้าง ๓ บาทบ้าง เงินฮ้อยที่กล่าวมานี้เป็นเงินฮ้อยที่เขาบัญญัติใช้มาแต่เดิม เงินฮ้อยชนิดนี้เขาเรียกแต่โบราณว่า ฮ้อยนํ้าหก คือราคาหกบาทนั่นเอง”

จากข้อความจะเห็นได้ว่าเงินฮ้อยในอดีตส่วนมากเป็นเนื้อเงินร้อยละ ๖๐ เมื่อก่อนใช้เป็นราคาฮ้อยเงินหรือสิบบาท แต่ต่อมาในระยะหลังใช้เป็นราคาเพียง ๖ บาท (ขนาด ๑๒๐ กรัม) ๓ บาท (ขนาด ๖๐ กรัม) ตามส่วนผสมของเนื้อเงิน แต่เงินฮ้อยในยุคหลัง ๆ ที่อาณาจักรล้านช้างเสื่อมอำนาจไปแล้วนั้น ก็มีการผลิตเงินฮ้อยออกมาในเปอร์เซ็นต์ของโลหะเงินที่ตํ่าลงมาอีกคือประมาณร้อยละ ๒๕ ตามที่หลวงผดุงฯได้ระบุไว้ และเงินฮ้อยดังกล่าวราษฎรโดยทั่วไปก็สามารถผลิตขึ้นใช้เองได้ แต่ราคาค่าเงินขึ้น ๆ ลง ๆ เอาแน่นอนไม่ได้ และด้วยราคาค่าเงินที่ไม่แน่นอนจึงส่งผลให้ผู้คนมีความนิยมใช้เงินฮ้อยลดลง อีกทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการนำเงินเหรียญแบนจากส่วนกลางขึ้นไปใช้ ต่อมาผู้คนจึงเลิกใช้เงินตราชนิดนี้ไปในที่สุด แต่ราษฎรบางที่ก็ยังนิยมใช้เงินฮ้อยเป็นสินสอดในการแต่งงานเช่นเดียวกับในอดีตทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ที่เคยเป็นดินแดนเดียวกันมาก่อน

จะเห็นได้ว่าอาณาจักรล้านช้างแห่งนี้น่าจะมีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ถึงสามารถผลิตเงินตราที่มีขนาดใหญ่ขึ้นใช้ได้ เรื่องราวของเงินฮ้อยรวมทั้งเงินตราชนิดอื่น ๆ ที่เคยใช้ในอาณาจักรล้านช้างยังมีอีกค่อนข้างมาก ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเชื่อ รวมถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในดินแดนแถบนี้ ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวผ่านเงินตรา ที่มีร่องรอยความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านตราประทับที่อยู่บนโลหะเงิน ซึ่งตราประทับเหล่านี้ได้ทำให้เรารู้ถึงความสัมพันธ์ในอดีตของผู้คนที่ยังไม่ได้แบ่งเชื้อแบ่งชาติ เหมือนปัจจุบันนี้ ดังจะได้กล่าวต่อไปในฉบับหน้าครับ ว่าเงินฮ้อยตอกตราอะไรบ้าง แต่ละตราสื่อถึงสิ่งใด

แล้วฉบับหน้ามาฟังกันต่อนะครับ ฉบับนี้ขอพอสํ่านี้ก่อนเนาะพี่น้อง สบายดี !

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com