โศกนาฏกรรมการก่อเกิดบ้านเหล่าใหญ่ ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – ลึกซึ้งรากเหง้าวิถีพี่น้องผู้ไท

โศกนาฏกรรมการก่อเกิดบ้านเหล่าใหญ่

ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – ลึกซึ้งรากเหง้าวิถีพี่น้องผู้ไท

การอพยพย้ายถิ่นผู้ไทเหล่าใหญ่

บรรพชนคนผู้ไทเคยยิ่งใหญ่มาเก่าก่อน แต่ด้วยเหตุที่มีนิสัยรักความสงบ ชอบความอิสระ ใช้ชีวิตเรียบง่าย ชอบอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีชายป่า เชิงภูเขา ชอบทำการเกษตร มีภาษาพูดเป็นภาษาผู้ไท มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง บรรพบุรุษของคนผู้ไทอยู่ที่เทือกเขาอัลไต เมืองน่านเจ้า ไม่ชอบการปกครองของฮ่องเต้เมืองจีน จึงได้อพยพมาสร้างบ้านแปงเมืองอยู่สิบสองปันนา สิบสองจุไท เรียกเมืองนาน้อยอ้อยหนู เขตรอยต่อระหว่างประเทศเวียดนาม กับประเทศลาว แต่เมื่อเกิดศึกสงคราม จีนยังบังคับให้ชายฉกรรจ์ไปฝึกทหารแล้วออกรบต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงหนีลงมาอยู่ที่หนองแส แล้วเจอกับความแห้งแล้งกันดาร บางปีก็น้ำท่วม ต้องมาขอพักอยู่กับเจ้าเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว

เจ้าเมืองเวียงจันทร์ให้พักอยู่ที่เมืองบก เมืองวัง (ปัจจุบัน วีละบุลี) ต่อมา พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้มีสงครามความขัดแย้งกับกรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับช่วงเจ้าก่ำครองเมืองวัง ทางกรุงเทพฯได้ส่งกองทัพมาสู้รบกัน กรุงเทพฯเป็นผู้ชนะ ได้กวาดต้อนชาวผู้ไทเมืองวังเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แล้วกลุ่มผู้ไทเมืองวังได้อพยพเรื่อยมาตามสายเครือญาติ ส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (ผู้ให้ข้อมูล : นางวันดี ใจศิริ อายุ ๘๙ ปี บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๘)

กลุ่มผู้ไทเหล่าใหญ่

จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นจากการลงเก็บข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๖๖ โดยการนำของพระโพธิ์ ร่วมกับ ตาแสงแก้ง ขุนหาญชนะ นายกัสติยะ และชาวผู้ไทที่ได้อพยพเรื่อยมาตามสายเครือญาติ กลุ่มของผู้ไทเหล่าใหญ่ ได้พักอยู่ที่บ้านนาแค (ปัจจุบัน คือ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม) อีกกลุ่มหนึ่งมาพักอยู่ที่ห้วยนาตาเปอะ (บ้านาตาเปอะ ตำบลบ้านค้อ อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารในปัจจุบัน)

จากคำบอกเล่าของนายประมวล แสบงบาล ผู้ให้สัมภาษณ์ ปัจจุบันอายุ 73 ปี บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๑ ได้ยินยายทวดเล่าให้ฟังตั้งแต่เป็นเด็กว่า การอพยพของเครือญาติผู้ไทเหล่าใหญ่นั้นมากันหลายกลุ่มพี่น้อง (หลักฐานที่ตอนยังเป็นเด็กคือ โซ่ล่ามช้าง) สาเหตุที่อพยพก็เพราะถูกกวาดต้อนไพร่พล เพราะเกิดศึกสงคราม กรุงเทพฯไประดมกวาดต้อนเอาผู้คนเอาไพร่ราษฎร์ ไม่ใด้ไปกวาดล้างยึดเอาดินแดน เพื่อมาเป็นคนของประเทศตนเอง พอกวาดต้อนได้ก็เดินข้ามแม่น้ำโขง ท้าวกะวิน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มผู้ไท และนางอินตา ผู้เป็นภรรยา(นางอินตา มีลูกสาวชื่อนางตาดำ นางตาดำมีลูกสาวชื่อนางไพร นางตาดำแม่ของนางไพร หาบเสื่อมาได้ข้างละผืน ช่วงนั้นแม่ของยายไพรกำลังเป็นสาวอายุประมาณ 12-13 ปี พี่สาวของแม่ยายไพรมีสามีแล้วแต่ยังไม่มีลูก ข้ามน้ำโขงผ่านมาทางดงบังอี ได้ยินว่าเอาช้างมาได้ 4 ตัว เอาอีกุดกับอีฮุ้ย ช้างตัวผู้ 2 ตัว กำลังอยู่ในวัยคะนองข้ามน้ำของมา แต่เอาไม่อยู่ก็ปล่อยไว้ที่ดงบังอีอยู่ที่คำชะอี ช้างกำลังเป็นหนุ่มชื่อ บักขุ่น กับบักขวาน พี่สาวของแม่อินายชื่อนางอินตา ซึ่งเป็นยายทวดของนายประมวล แสบงบาล) เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นานก็เกิดศึกสงครามได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาทางฝั่งขวา ซึ่งนางอินตานั้นมีรูปร่างหน้าตางดงามที่สุดในเมืองวัง เป็นลูกชาวไร่ชาวสวน มีรูปงามจนมีฉายาว่า “นางอินขี้ดินกร่อง” ท้าวกะวินเป็นคนร่ำรวยมีแก้วแหวนเงินทองมาก และมีช้างอยู่ 8 เชือก ได้หลงรักนางอินตาจึงได้ไปสู่ขอมาเป็นเมีย พอถึงเดือนห้าท้าวกะวินก็ได้ไปขอนางอินตาแต่งงาน พอแต่งงานแล้วถึงเดือนหกก็เกิดภัยสงคราม ท้าวกะวินได้อพยพพาครอบครัวข้ามน้ำโขงเข้ามาทางฝั่งไทย โดยได้นำช้างมาด้วย 5 ตัว ชื่ออีกุด อีฮุ้ย บักขวานลอนบ้อง บักขุนทอง บักกว๊าดอ้าง และขนเอาทรัพย์สินเงินเอาทอง มีคนรับใช้ติดตามมาด้วย โดยให้คนใช้เกาะหางช้างอีฮุ้ย ช้างที่ชื่อว่าอีกุดนั้นหางจะด้วน ท้าวกะวินได้พานางอินตา และน้องสาวอีก 7 คนขี่หลังช้างมา ช้างตัวผู้สามตัวไม่สามารถเอามาด้วยได้ก็ปล่อยไว้ที่ป่ากลางทาง พามาได้แต่อีกุด อีฮุ้ย พวกทหารกวาดต้อนโดยใช้ปืนยิงใส่ น่ากลัวมาก

พอเดินทางมาถึงเมืองหนองสูงก็ได้แวะพัก เจ้าเมืองหนองสูงก็เห็นนางอินตาก็เกิดชอบและหลงรักนางอินตาอยากได้มาเป็นเมีย เท้ากะวินไม่ยอมยกนางอินตาให้ แต่ได้เสนอยกน้องสาวของตนเองที่ติดตามมาด้วยให้แทน เจ้าเมืองหนองสูงไม่ยอมรับข้อเสนอ จะเอานางอินตาให้ได้ ถ้าไม่ให้ก็จะฆ่าทุกคน ท้าวกะวินทั้งที่รักและสงสารเมียของตนเองมาก แต่ก็ต้องเสียสละ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะตายกันทั้งกลุ่ม พอยกนางอินตาให้เจ้าเมืองหนองสูง ท้าวกะวินและพวกก็พากันอพยพลงมาทางทิศวันตก โดยให้พวกพ้องของตนเองเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ท้าวกะวินได้อาศัยอยู่ตามป่าเขารอบ ๆ เมืองหนองสูง จนเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนคิดว่าไม่มีหนทางช่วยเหลือนางอินตาออกมาได้จึงได้เดินทางตามพวกของตนไป

ฝ่ายนางอินตา ถูกเจ้าเมืองหนองสูงบังคับข่มเหงทุกวัน นางร้องไห้ด้วยความทุกข์ทรมาน จนลูกสาวเจ้าเมืองหนองสูงชื่อ หม่อมแย้ง สงสารมาก เห็นพ่อของตนกักขังล็อคกุญแจนางไว้ในห้องตลอดเวลา บังคับขื่นใจจนนางกลายเป็นคนเสียสติเพราะความหวาดกลัว วันหนึ่งเจ้าเมืองหนองสูงชะล่าใจ ล็อคกุญแจธรรมดาแล้วออกไปทำงาน หม่อมแย้งซึ่งเคยถูกพ่อบังคับให้แต่งงานกับคนแก่ รู้สึกเห็นใจและเข้าใจหัวอกลูกผู้หญิง จึงตัดสินใจงัดประตูห้องขัง แล้วบอกนางอินตาให้รีบเดินทางหนีเอาตัวรอด ตามหาสามีของนางให้พบ พร้อมกับห่อคำหมากให้ มีพร้าป๊อก ๑ เล่มติดตัว พอปล่อยตัวนางอินตาหม่อมแย้งก็เขียนจดหมายฝากไปกับผู้อพยพที่กำลังเดินทางไปทางทิศตะวันตก เพื่อฝากจดหมายให้ท้าวกะวินมารับเอาเมีย พวกอพยพก็ส่งจดหมายต่อ ๆ กันไปจนกระทั่งได้หนึ่งเดือนจดหมายถึงบ้านดงเหนือ ซึ่งเป็นจุดที่กลุ่มของท้าวกะวินพักตั้งหลักแหล่งอยู่ ส่วนท้าวกะวินก็เดินทางมาถึงบ้านดงเหนือวันเดียวกับที่จดหมายจากหม่อมแย้งมาถึง พอได้รับจดหมายท้าวกะวินก็รีบขึ้นไปเมืองหนองสูง (บ้านดงเหนือเกิดก่อนบ้านเหล่าใหญ่ ผู้อพยพจะมาชุมนุมกันที่บ้านดงเหนือก่อน)

ฝ่ายนางอินตาเมื่อถูกปล่อยออกมาก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ประกอบกับถูกเจ้าเมืองหนองสูงกระทำความรุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจจนเป็นคนเสียสติ ได้เข้าไปอยู่ตามป่าห้วยบังทราย ห้วยบังอี เห็นคนก็เกิดอาการหวาดกลัว อาศัยกินผลไม้ตามป่าเขา กินอยู่แบบลิง เดินทางไปเรื่อย บ้างก็อาศัยพักนอนตามเถียงนาของชาวบ้านในตอนกลางคืน ช่วงกลางวันอาศัยอยู่ตามต้นไม้ พอมาถึงบริเวณที่เป็นน้ำบ่อมีน้ำไหลตลอด นางอินตาก็อาศัยที่นี่อยู่หลายวันหลายคืน ช่วงนั้นเดือน 6 พอดี ตอนนั้นนางอินตา ได้เคี้ยวหมากที่หม่อมแย้งห่อให้แล้วคายคำหมากลงใต้ถุนเถียงนา จนเป็นที่สงสัยของชาวบ้าน เลยเฝ้าสังเกต แต่ตอนกลางวันนางอินตาออกจากเถียงนาเข้าไปอยู่ป่าเพื่อหาอาหาร กินหมากไม้ หมากบก หมากก่อเป็นอาหาร จนตัวดำมีขนยาวขึ้นตามตัว ผมเผ้ารุงรัง เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ชาวบ้านจึงไม่พบนาง พอถึงฤดูทำนาเสร็จจนข้าวออกรวง คำหมากที่นางอินตาคายทิ้งก็จางหายไป หกเดือนผ่านไนางอินตาไม่ได้กินข้าวปลาอาหาร กินแต่หมากไม้ป่าพอประทังชีวิต

ฝ่ายท้าวกะวินยังรักและคิดถึงนางอินตา พอได้รับจดหมายจากหม่อมแย้ง รีบย้อนคืนมาหานางอินตาตามหมู่บ้าน ได้ถามไถ่ชาวบ้านละแวกนั้นก็คาดการณ์ว่านางอินตาได้มาอาศัยอยู่แถวเถียงนาของชาวบ้านตั้งแต่เดือน 6 เพราะเห็นคำหมากที่คายทิ้ง เจ้าของเถียงนาเล่าเหตุการณ์และข้อสงสัยให้ท้าวกะวินฟัง เลยเชื่อแน่ว่าใช่นางอินตาแน่นอน แต่หายังไงก็ไม่พบตัวจนหมดปัญญา ในใจคิดว่าถ้านางอินตาตายก็ขอเอากระดูกของนางอินตากลับไปด้วยก็ยังดี

ท้าวกะวินว่าจ้างนายพรานเป็นเงิน 4 ตำลึงให้พาตามหาตามป่าเขา โดยให้พาไปและเอาหมาพรานไปด้วย เจ้าของเถียงนาก็ไปด้วย หาอยู่ 2-3 วันก็ขยายวงออกไป หมานายพรานเห็นนางอินตาก็เห่า ในที่สุดพบเจอนางอินตา แต่นางวิ่งหนีเพราะความหวาดกลัว ท้าวกะวินและนายพรานไล่จับแต่ก็จับไม่ได้เพราะตัวนางอินตานั้นลื่น ร้องก็ไม่ร้อง ใช้เวลาอยู่นานจนในที่สุดผมของนางไปเกี่ยวกับกิ่งไม้จึงจับตัวนางได้ ท้าวกระวินพานางอินตาไปที่วัดให้พระรดน้ำมนต์ นางอินตาก็เลยพูดว่า “อิอ้ายบ้อ” นางอินตาจำท้าวกะวินผู้เป็นสามีตัวเองไม่ได้แล้ว นางได้เสียสติจนจำใครไม่ได้

ท้าวกะวินได้พามาอยู่ที่บ้านตะแบะวังพัน อยู่ได้ไม่นานก็ย้ายมาอยู่นาหนองกกเค้า ทำไร่ทำสวน บริเวณนี้จะเป็นป่าเหล่าหนาทึบ ช่วงหน้าแล้งก็จะเกิดไฟลามป่า ลามเข้าไหม้บ้านเรือนและเล้าข้าว การทำนาปลูกข้าวสมัยนั้นทำยากลำบากมากเพราะไม่มีเครื่องมือทำการเกษตร ข้าวจึงมีราคาแพงกว่าทองคำ แล้วก็พากันย้ายเข้ามาอยู่บ้านห้างนาฝาง ย้ายมาอีกจนมาอยู่ที่บ้านเหล่าใหญ่ ท้าวกะวินก็รักษานางอินตาจนหาย จนมีลูกมีหลานมาถึงทุกวันนี้.

๐ สืบค้นประวัติความเป็นมาและจัดเก็บข้อมูล
นางเพ็ญศรี นิลโสม ผู้ช่วยนักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่
น.ส.นงค์นุช โสภาคะยัง ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่

๐๐ บ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน | พี่น้องผู้ไทต้อนรับที่วัดหอไตร ด้วยขบวนกลองตุ้ม, สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และชมสิม | งานพาแลง มีบายศรีสู่ขวัญ การแสดงชุดต่าง ๆ และรำวงสามัคคี | เช้า 30 พ.ย. ร่วมตักบาตรถนนสายบุญ, ขึ้นภูน้ำจั้นชมปลาโบราณ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com