ขุนพลผู้ยาตราทัพ ปักธงชัยหมอลำในกลางกรุงฯ (๑)

ขุนพลผู้ยาตราทัพ ปักธงชัยหมอลำในกลางกรุงฯ (๑)

แผ่นเสียงหมอลำเก่าลำทำนองโบราณของ อังคนางค์ คุณไชย, สไบแพร บัวสด และฉวีวรรณ ดำเนิน

คำว่า หมอ คืออะไร

คำว่าหมอ คือ ผู้ชำนาญการแต่ละสาขา เปรียบภาษากลาง คือคำว่า “นัก” เช่น นักร้อง นักดนตรี นักเขียน นักมวย นักกีฬา ฯลฯ

เปรียบภาษาใต้ คือคำว่า “ขุน” เช่น ขุนทะเล ขุนธนู ขุนขวาน ฯลฯ

ภาษาอีสาน คือคำว่า หมอลำ หมอแคน หมอมวย หมอยา หมอขวัญ เป็นต้น

คำว่า ลำ มีหลักฐานประวัติศาสตร์มากว่า ๓,๐๐๐ ปี ลำ หมายถึง สิ่งใดที่มีลักษณะทอดยาวออกไป เช่น ลำไม้ไผ่ ลำเรือ ลำราง ลำคลอง เป็นต้น

คำว่า หมอลำ หมายถึงผู้ที่มีความชำนาญในศิลปะการ “ขับลำ” “ขับร้อง” กลอนลำศิลปะพื้นเมืองของภาคอีสาน เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาสำเนียงทำนองกลอนลำไปสู่ผู้ฟัง

คนภาคอีสานมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปีแต่คนอีสานมักไม่จดจารหรือบันทึกเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปให้เป็นประวัติศาสตร์ไว้ นอกจากเรื่องราวทางพุทธศาสนา พุทธประวัติ นิทานชาดก เรื่องตำนานนิทานโบราณต่าง ๆ เช่นเรื่อง “สังข์สินไชย” “ผาแดงนางไอ่” “ขูลูนางอั้ว” “นางแตงอ่อน” “ท้าวกํ่ากาดำ” ฯลฯ ที่นักปราชญ์โบราณหรือนักบวชได้จดจารเอาไว้ในใบลาน ที่เรียกว่า หนังสือผูก ชนเผ่าอีสานมีอักษรเป็นของตัวเอง แต่ปล่อยให้ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา ฯลฯ เหมือน คุณเอนก นาวิกมูล ผู้รวบรวมประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ของไทย เขียนคำนิยมให้กับหนังสือ “กลอนลำภูมิปัญญาของอีสาน” เขียนโดย .ไพบูลย์ แพงเงิน ที่ว่า

“ปัญหาการศึกษาเพลงพื้นบ้านอีสานสำหรับคนทั่วไป คือการขาดแคลนข้อมูลในอดีต ขาดศูนย์รวบรวมเผยแพร่ข้อมูล เพื่อการค้นคว้าในสมัยปัจจุบัน ทำให้เกิดข้อสงสัยและความสับสนต่าง ๆ มากมาย… (ข้อมูลที่ได้อาจบิดเบือนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย… ผู้เขียน) กระบอกเสียงเก่าแผ่นเสียงเก่า เทปรีล หรือแม้แต่เทปตลับยุคแรก ๆ ที่ออกกันเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ไม่มีผู้รวบรวมไว้เป็นกิจจะลักษณะยิ่งมาถึงยุคใหม่ ในขณะที่เทปเพลงหมอลำได้รับความนิยมสูงสุด แม้แต่คนภาคอื่น ๆ ยังหันมาฟังหมอลำ สถานีวิทยุเปิดหมอลำทั่วไป แผงเทปมีเทปหมอลำวางขายกันเกร่อ ถึงกระนั้นก็ดูจะยังไม่มีหน่วยงานใด ตั้งงบประมาณ ตั้งจุดประสงค์ รวบรวมเทปเหล่านี้เพื่อการศึกษาไว้เลย แผ่นเสียงและเทปทั้งหมดจำนวนมากที่มีคงสูญหายไปตามกาลเวลาน่าประหลาดใจที่ภาคอีสานซึ่งรํ่ารวยศิลปะโวหารดี ๆ ไม่มีหนังสือประวัติชีวิต ภาพถ่าย และผลงานหรือแม้แต่บัญชีรายชื่อ ที่คนทั่วไปสามารถหาอ่านหรือค้นคว้าได้…”

ผู้เขียนได้อ่านข้อความนี้ของนักสะสมประวัติศาสตร์ นั่นคือ คุณเอนก นาวิกมูล นานมาแล้วรู้สึกชื่นชมและเห็นด้วย รู้สึกสะท้อนใจในฐานะเป็นคนอีสาน ผู้เขียนเป็นนักแต่งเพลง เป็นนักจัดรายการวิทยุ ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เคยพรํ่าบ่นกับนักเขียน ครูบาอาจารย์จากสถาบันต่าง ๆ ถึงเรื่องไม่มีใครรวบรวมประวัติหมอลำเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง และคนภาคอื่นที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้า พูดมา ๔๐ กว่าปีก็ยังไม่มีสถาบันใดคิดจะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที เรื่องราวของหมอลำจึงต้องฟังและสอบถามจากปากคำของผู้รู้เล่าต่อ ๆ กันมา บางครั้งฟังจากปากของ “ผู้สู่รู้” ก็ทำให้ประวัติศาสตร์หมอลำต้องบิดเบือนไป และนับว่าจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

ผ่านมา ๔๐ กว่าปี วันหนึ่งผู้เขียนได้รับเชิญไปพูดเรื่องหมอลำในงานนิทรรศการ “แคนล่องคะนองลำ” จัดโดย พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่เขารวบรวมประวัติจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์หมอลำขึ้นและมีโทรทัศน์ช่องหนึ่งมาสัมภาษณ์เรื่องประวัติหมอลำ จึงมาคิดว่าเราน่าจะเขียนประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งในช่วงที่หมอลำเริ่มพัฒนา ในช่วงที่ผู้เขียนเป็นผู้บุกเบิกเพื่อต่อสายจากประวัติเดิมที่เคยมีผู้เขียนไว้แล้ว…

หมอลำคืออะไร

หมอลำ คือ ผู้ชำนาญการขับลำ “ขับ” คือการเปล่งเสียงให้เป็นทำนองสูงตํ่า “ลำ” คือบทกลอนที่ร่ายยาวเป็นเรื่องเป็นราว

ศิลปะหมอลำ คือการขับร้องขับลำ ที่มีหลายวาดหลายลีลาทำนอง ไม่ใช่เหมือนที่คนภาคอื่นเข้าใจ แต่หมอลำมีวาด หรือทำนองที่แยกแขนงออกไปอีกหลายสิบทำนอง เปรียบเหมือน “เพลง” ที่มีทั้งเพลง “ลูกทุ่ง” “ลูกกรุง” “สตริง” “เพื่อชีวิต” “เพลงพื้นเมือง” ต่าง ๆ

หมอลำก็มีทั้ง “ลำชิงชู้” “ลำกลอน” “ลำเต้ย” “ลำเพลิน” “ลำเรื่องต่อกลอน” “ลำผู้ไท” “ลำตังหวาย” ฯลฯ เฉพาะลำกลอน ยังแยกย่อยออกเป็น ลำสั้น ลำยาว ลำล่อง ลำเดินดง ฯลฯ และลำเต้ยยังแยกย่อยออกเป็น เต้ยพม่า เต้ยสีพันดอน เต้ยหัวโนนตาล เป็นต้น

หมอลำก็เหมือนสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ย่อมต้องมีการประยุกต์ พัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม หมอลำยังมีความโดดเด่นที่จะพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีกมากมาย ถ้าไม่หลงทาง หรือผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดัดแปลงพาเข้ารกเข้าพงไปเสียก่อน

พูดถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลง มีผู้รู้หลายท่าน บ่นว่า ปัจจุบันหมอลำกลอนสูญพันธุ์ไปแล้ว ถ้าจะมองในแง่ดี หมอลำกลอนก็ยังอยู่ แต่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นหมอลำซิ่ง ซึ่งนิยมกันอยู่ในยุคนี้ (เริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา) หมอลำซิ่งไม่ใช่วาด หรือประเภทของหมอลำ เหมือนหมอลำกลอน ลำเต้ย ฯลฯ แต่คือการแสดง โดยนำกลอนหมอลำประเภทลำสั้น มาประยุกต์ใส่ดนตรีสากลโดยเร่งจังหวะให้เร็วขึ้น มีหางเครื่อง แด๊นเซ่อร์ มาเต้นประกอบสร้างความสุข สร้างสีสันมากขึ้น จึงเรียกว่า “ลำซิ่ง” “ซิ่ง” หมายถึง ความรวดเร็วทันใจเหมือนซิ่งรถ ซิ่งมอเตอร์ไซค์ ซิ่งเรือ ฯลฯ

ตัวอย่างแผ่นเสียงหมอลำซิ่ง

ตำนานพื้นบ้านและนิทานโบราณต่าง ๆ ของภาคอีสาน เช่น เรื่อง “ท้าวกํ่ากาดำ” หรือ “ท้าวกาดำ” ถูกถ่ายทอดสู่
สาธารณชนในรูปแบบการแสดงหมอลำ

กำเนิดหมอลำ

จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของผู้รู้ว่า หมอลำกำเนิดมาตั้งหลายพันปี คนโบราณมีสิ่งบันเทิงอยู่อย่างเดียวคือ ฟังนิทานจากผู้รู้นักปราชญ์ นักเล่าตำนาน นิทานชาดกต่าง ๆ เหมือนกับการไปดูหนังดูละคร

เวลาว่างจากการทำนาในเทศกาลงานบุญ งานรื่นเริงต่าง ๆ ไม่ว่าเด็กผู้ใหญ่ทุกเพศทุกวัยก็จะนิยมฟังนิทาน แรก ๆ ก็เล่าไปตามเนื้อเรื่อง นานไปการเล่าก็พัฒนาขึ้นทำเสียงเหมือนพากย์หนัง มีเสียงหญิงเสียงชาย เสียงเจ้า เสียงเสนา เสียงตัวโกง เสียงตัวโจ๊ก คนฟังก็ชอบเพราะฟังไปสร้างมโนภาพไปด้วย

ต่อมาผู้เล่าก็กลัวผู้ฟังจะเบื่อก็สอดใส่สำเนียงทำนองเข้าไป ใช้วิธีจับไปผสมกับกลอนลำจนกลายมาเป็นขับลำ เหมือนการแหล่ ทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้นจนมีการตบรางวัล ถึงกับจ้างให้มาขับลำในงานจึงมีศิลปินคิดค้นหาวิธีขับลำในรูปแบบใหม่ ๆ นอกจากเล่านิทาน เพิ่มผู้ขับลำเป็น ๒ คน ๓ คน จนมาเป็น หญิง ๒ ชาย ๑ เรียกว่า “หมอลำชิงชู้” ไม่ใช่การเล่านิทานแต่เป็นการโต้ตอบเพื่อจะครองใจชายด้วยสำนวนกลอนที่คิดขึ้นเอง และพัฒนาจนเป็น “หมอลำกลอน” จะมีหญิงชายฝ่ายละคน หรือหญิง ๒ ชาย ๑ หรือ หญิง ๑ ชาย ๒ ก็ได้ กลอนลำก็พัฒนาให้มีเรื่องราวหลากหลายขึ้น นอกจากฝากรักฝากใคร่กัน ยังมีเรื่องราว นิทานชาดก ประวัติพระพุทธเจ้าประวัติตำนานต่าง ๆ ชมธรรมชาติ แตกแขนงออกเป็นลำสั้น ลำยาว ลำล่อง ลำเต้ย…

 

หมอลำจะมี ฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย และมีแคนเป็นดนตรีประกอบ สถานที่แสดงจะเป็นเวทีสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ ๕-๖ เมตร ยกพื้นสูง ๕-๖ เมตร แสงสว่างจะใช้กระบอง หรือขี้ไต้ มาจนถึงยุคตะเกียงเจ้าพายุ การลำไม่มีเครื่องเสียงไมโครโฟน ใช้ร้องปากเปล่า จะเริ่มลำตั้งแต่หนึ่งทุ่ม หรือสองทุ่ม ตอนหัวคํ่าก็จะเป็นการลำแนะนำตัว และถามตอบกันระหว่างหมอลำหญิงชาย ต่อจากนั้นก็จะเป็นการทดสอบภูมิรู้โต้ตอบกันว่า ใครจะเหนือกว่ากัน บางคู่ฝีปากจัดจ้านก็จะโต้กันมัน จนทำให้ผู้ฟังลุ้นจนเครียด พอดึกหน่อยก็จะผ่อนคลายด้วยการลำเต้ยกลอนรักสนุก ๆ สลับกับการลำยาวลำล่องที่มีทำนองช้า ๆ โหยหวน

ผู้ฟังบางคนก็กลัวว่าฟังลำเหงา ๆ ช้า ๆ จะพาลให้ง่วงเหงาหาวนอน ก็จะมี “นักสอย” “สอย” คือการร้องแทรกเป็นประโยคสั้น ๆ ขณะที่หมอลำกำลังลำอยู่ การสอยนี้มีนัยยะว่าต้องการกระตุ้นผู้ฟังลำตัดที่กำลังเคลิบเคลิ้มไปกับทำนองลำที่เศร้า ๆ ให้ตื่นตาหายง่วง คำสอยจึงมักเป็นเรื่องราวที่สนุก ขำขัน บางคนเป็นนักสอยเจ้าสำนวน อาจทำใหผู้ฟังลำถึงกับหัวเราะ คนแก่นํ้าหมากกระจายเลยทีเดียวส่วนมากก็จะเป็นเรื่องสองแง่สองง่าม หรือออกจะหยาบก็มี เช่นคำที่ว่า “สอย สอย เฒ่าสิตายบายของเมีย ว่าแมนแผนที่ ตรงนี้อ่าวไทย…นี่กะว่าสอย สอยแล้วสอยอีก” หรือคำสอยรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งเช่น “สอยสอย สาวซํ่าน้อย บ่ฮู้จัก ศรคีรี บาดไปถืกเขาบาย…? พอทีนะคุณ…”

พอเลยเที่ยงคืน หมอลำได้พักดื่มนํ้าดื่มท่าก็เริ่มลำโต้ตอบกันต่อ อาจจะรุนแรงขึ้นถึงขั้นเล่นของสงวนกันเลย ออกสองแง่สองง่าม บางครั้งก็แง่เดียวตรง ๆ เลย ไม่แพ้ลำตัด ลำแบบนี้คนอีสานเรียกว่า “ลำเพ๋อะ” ออกจะใกล้เคียงหยาบคาย หมอลำฝ่ายหญิงระดับมืออาชีพก็ไม่ยอมให้ละลาบละล้วงฝ่ายเดียว โต้ตอบคำแรง ๆ จนเล่นเอาฝ่ายหมอลำชาย “หงายเงิบ” ไปก็มี เล่นเอาผู้ฟังรุ่นใหญ่ปรบมือเชียร์กันสนุกหายง่วง ลำโต้กันไปจนรุ่งสาง … ทำไมเขาจึงลำเพ๋อะ หรือจะเรียกว่า “ลำเหรตเอ๊กซ์” มาลำกันหลังเที่ยงคืนแล้ว เพราะดึกมากแล้วกลัวผู้ฟังจะง่วง ก็มากระตุ้นต่อมเสียวต่อมฮากันหน่อย และเฉพาะตอนดึกแล้ว เด็ก ๆ ที่ตามพ่อแม่ ตายายมาฟังด้วยหลับกันหมดแล้ว เหลือแต่ผู้ใหญ่ที่จะฟังลำเพ๋อะได้ นี่ก็เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณอีกอย่างหนึ่ง

พอรุ่งสว่างแจ้งแล้ว หมอลำก็จะเปลี่ยนแนวมาลำล่อง ลำยาว ที่มีทำนองอ่อนช้อย อ่อนหวาน และออดอ้อน สั่งลาผู้ฟังมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ สั่งลาเจ้าภาพแถมอวยพรให้เจ้าภาพมีความสุข ให้รํ่ารวย ปีหน้าจะได้ไปจ้างมาลำอีก ในช่วงนี้ถ้าเป็นหมอลำระดับมือโปรผู้ชำนาญกลอนจะร่ายกลอนคมคายออดอ้อนผู้ฟัง สั่งลาอาลัยกันกว่าจะได้มาพบกันอีกคงนานจนงานใหม่ปีหน้าโน่น ถึงกับเรียกนํ้าตาอาลัยจากผู้ฟังวัยลุงป้าน้าอาได้เลยทีเดียว

ทำไมหมอลำกลอนจึงต้องลำกันชนิดโต้รุ่งตะวันไม่ขึ้นไม่เลิก นี่ก็คือภูมิปัญญาของคนโบราณเช่นกัน เหตุผลที่หมอลำกลอนต้องลำกันโต้รุ่ง เพราะสมัยโบราณ การจัดหมอลำขึ้นแต่ละหมู่บ้านตำบลเป็นความบันเทิงอย่างเดียวในสมัยนั้น นาน ๆ จะได้ฟังกันสักที หมู่บ้านไหนวัดไหนจัดหมอลำขึ้นก็กระจายข่าวออกไป ชาวบ้านหมู่บ้านตำบลใกล้เคียงก็จะมาฟังลำกัน การคมนาคมใช้เดินกันมา ห่างไกล ๓ กิโลฯ ๖ กิโลฯ ข้ามเขาข้ามห้วย ผ่านดงผ่านป่ากันมาจนยามตกคํ่าฟังลำกัน ถ้าหมอลำเลิกตอนเที่ยงคืนคนที่มาจากบ้านไกลก็กลับไม่ได้ การเดินทางกลางคืนอาจเจอสัตว์ร้ายหรืออันตรายอย่างอื่นก็จะนั่งกันจนฟ้าสว่างแจ้ง มีแสงสว่างจึงจะเดินทางกลับได้ หมอลำจึงต้องลำให้สว่างคุ้มกับการเดินทางมาไกล มันเป็นกุศโลบายให้เข้ากับวิถีชาวบ้านสมัยนั้น

ต่อมาราวปี ๒๕๐๐ ได้เกิดมีหมอลำอีกชนิดหนึ่งซึ่งลำกันเป็นหมู่คณะประกอบกัน ๑๐ ถึง ๒๐ คนลำเป็นเรื่อง นิทานโบราณเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่นเรื่อง“ขุนช้างขุนแผน” “ท้าวกํ่ากาดำ” “ศรีธน -มโนราห์” ใช้ทำนองลำที่เรียกว่า “ลำเพลิน” คนอีสานเรียกว่า “หมอลำหมู่” หรือ “หมอลำเพลิน” แต่คนภาคกลางเรียกว่า “ลิเกลาว” เพราะการ แต่งตัวคล้ายลิเก มีดนตรีบรรเลงคือ พิณ แคน และกลองเป็นที่นิยมมากขึ้น

จนราวปี ๒๕๑๐ ก็ได้เกิดหมอลำอีกชนิดหนึ่งขึ้นคือ “ลำเรื่องต่อกลอน” ตั้งเป็นคณะเหมือนกันแต่ตัวประกอบผู้แสดงมากกว่าอาจถึง ๕๐ คนลำเป็นเรื่องนิทานเช่นกัน แต่ทำนองลำจะเป็นแนว “ละเวียง” ทำนองช้า ภาษาสวย การฟ้อนการเดินเหินจะละเมียดละไมกว่า การแต่งตัวก็คล้ายลิเก เป็นที่นิยมไม่แพ้คณะลำเพลิน

การแสดงหมอลำโดยมีโครงเรื่องจากนิทานโบราณจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น “ขุนช้างขุนแผน” และ “ศรีธน – มโนราห์” เป็นที่นิยมในทศวรรษ ๒๕๐๐

ตัวอย่างแผ่นเสียงหมอลำของศิลปินและครูเพลงท่านต่าง ๆ

หมอลำยุคบุกเบิก

หมอลำ เป็นศิลปะการขับร้องขับลำ ที่มีเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ ทั้งถ้อยคำสำนวน ท่วงทำนอง ที่เรียกว่า “วาด” หลายวาด หลายทำนอง และหลายลีลา ทั้งบทเศร้า บทสนุก เพลิดเพลิน เป็นที่ภูมิใจของคนอีสานมาไม่เสื่อมสูญ แต่ก็คงอยู่ในความนิยมของคนอีสาน หรือคนเชื้อสายชาติพันธุ์ลาวเท่านั้นนานไปคงเสื่อมคลายไปตามความเจริญของสังคมสมัยใหม่เหมือนศิลปะแขนงอื่น ๆ ถ้าไม่มีการขยับขยาย คลี่คลายพัฒนา หรือประยุกต์ให้ทันสมัยอย่างมีระบบ และเข้มแข็ง

ประเทศไทยเริ่มมีเครื่องบันทึกเสียงเข้ามาครั้งแรกราวปี ๒๔๔๓ เป็นเครื่องบันทึกเสียงที่เรียกว่า“กระบอกเสียง” ถัดมาไม่นาน บริษัทผู้ผลิตกระบอกเสียงลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์สมัยนั้นว่า “บริษัทมีกระบอกเสียงบันทึกเพลง มโหรีปี่พาทย์ พร้อม “แอ่วลาว” จำหน่าย” ก็แสดงว่าหมอลำหรือที่คนสมัยนั้นเรียกว่า แอ่วลาว ได้รับการบันทึกเสียงมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันว่าหมอลำยุคนั้นชื่ออะไร

ต่อมาปี ๒๔๕๒ เครื่องบันทึกเสียงที่เป็นกระบอกเสียงก็พัฒนาขึ้นเป็น “แผ่นเสียง” และได้มีบริษัทผลิตแผ่นเสียงเกิดขึ้นหลายบริษัท แผ่นเสียงจะทำด้วยครั่งผสมสารเคมีเป็นแผ่นแบน ๆ กลม ๆ คล้ายจานข้าว เขาจึงเรียกว่า “จานเสียง” และต้องเล่นกับเครื่องเล่นที่เรียกว่า “หีบเสียง” เป็นเครื่องเปิดแผ่นเสียงแบบไขลาน คือต้องหมุนลานให้ตึง ตัวลานจะฉุดแผ่นให้หมุนวนขวา วางบนแผ่นจานแผ่นก็จะหมุนไปด้วย วางหัวเข็มที่ต่อเป็นแขนกระบอกของหีบเสียงลงบนแผ่นก็จะเกิดเสียงออกทางช่องลำโพง ถ้าลานจะหมดหรืออ่อนลงแผ่นก็หมุนช้าลงเสียงร้องก็จะอืดลง ต้องรีบหมุนลานใหม่ให้เสียงเร็วขึ้น หีบเสียงเป็นสิ่งแปลกใหม่ทันสมัย ในยุคนั้นเป็นที่นิยมกันมาก

จานเสียงหรือแผ่นเสียงที่ทำด้วยครั่งมีนํ้าหนักมาก ถ้าหล่นจะแตกง่าย การเก็บรักษาลำบากจึงทำให้แผ่นเสียงยุคนั้นสูญหายไปกับการชำรุดแตกหัก ที่เรียกว่าแผ่นสปีด ๗๘ หรือแผ่นครั่ง แต่ก็ยังพอมีผู้เก็บรักษาแผ่นรุ่นนี้ไว้บ้าง จึงพอประมวลได้ว่า หมอลำยุคบุกเบิกได้บันทึกเสียงหมอลำรุ่นแรก ๆ ที่มีชื่อเสียง หมอลำฝ่ายชายคือ หมอลำคูณถาวรพงษ์ ฉายา “หมอลำคูณสี” ฝ่ายหญิงคือหมอลำจอมศรี บรรลุศิลป์

รุ่นต่อมา มีบริษัทผลิตแผ่นเสียงหมอลำ เกิดขึ้นอีกหลายบริษัท มียี่ห้อหรือหน้าตราต่าง ๆ เช่น “ตราฟิลิปส์” “ตราสิงโต” “ตรากระต่าย” ของห้าง ต.เง็กชวน “ห้างไทยนคร” เป็นต้น

หมอลำที่ได้อัดแผ่นเสียงรุ่นต่อมาก็มี หมอลำทองมาก จันทะลือ ฉายา “ถูถา”, หมอลำเคน ดาเหลา, หมอลำทองมา ฉายแวว, หมอลำเปลี่ยนวิมลมุก, หมอลำวัง สถาน, หมอลำอำพร สง่าจิตร หมอลำฝ่ายหญิงคือ หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัยหมอลำคำภา ฤทธิทิศ, หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข

ถัดมาอีกรุ่นฝ่ายชายคือ หมอลำทองคำ เพ็งดี, หมอลำทองมี มาลัย ส่วนฝ่ายหญิงก็มี หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน, หมอลำบุญยัง สุภาพ เป็นต้น

ในยุคนี้ห้างผู้ผลิตจำหน่ายแผ่นเสียงหมอลำเกิดใหม่อีกหลายห้าง เช่น “ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ตรามงกุฎ” “ห้างแผ่นเสียงทองคำตราพิณแคน” “ห้างเสียงสยามตราไก่คู่” “ห้างแผ่นเสียงกรุงไทยตราสุพรรณหงษ์”

หมอลำยุคพัฒนา ขุนพลผู้ยาตราทัพ ปักธงชัยหมอลำในกลางกรุงฯ

เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ เป็นยุคที่หมอลำพัฒนาไปสู่ยุครุ่งเรืองที่สุด เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ผู้เขียนจะค่อย ๆ ทบทวนลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ความรุ่งโรจน์ของหมอลำยุคนี้ให้ผู้อ่านได้ศึกษาไว้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ผู้เขียนกับเครื่องบันทึกเสียง แผ่นเสียง และคอลเล็กชั่นแผ่นเสียงเกี่ยวกับการแสดงหมอลำและวัฒนธรรมบันเทิงจากแดนอีสาน

Related Posts

ภาษาลาว ภาษาอีสาน
ฟันดาบไทย-ลาว การละเล่นใน “สมุทรโฆษคําฉันท์”
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com