[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางตามหาอรพิม

จากการศึกษาด้านเอกสาร คำบอกเล่าบันทึก ภาพเขียน ของตำนานท้าวปาจิตและนางอรพิม พบว่า เรื่องเล่าที่ก่อกำเนิดเส้นทางการเดินทางของปาจิต อรพิม การเล่าชื่อบ้านนามเมืองนั้นที่เห็นชัดเจนคือเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นบริเวณเมืองพิมาย นางรอง ครบุรี ลำปลายมาศ ยาวจรดไปถึงพรมแดนระหว่างไทยและกัมพูชา บริเวณเมืองประโคนชัย และยังมีกลุ่มคนที่อพยพไปยังเมืองสุรินทร์ก็ได้เล่าต่อ ๆ กันเรื่องชื่อบ้านนามเมือง ทำให้เกิดเส้นทางที่ต่อเนื่อง ซึ่งสามารถจับกลุ่มเส้นทางได้ถึง ๕ เส้นทางย่อยด้วยกัน แบ่งเป็นเส้นทาง ตามหานางอรพิม เส้นทางขันหมาก เส้นทางหนี เส้นทางตามหาปาจิตและเส้นทางสู่มาตุภูมิ

เส้นทางตามหานางอรพิม

เริ่มตามเนื้อเรื่องที่ปาจิตเดินทางจากบ้านเกิด เมืองพรหมพันธุ์นครหรือนครธม ออกตามหานางอรพิม ไล่มาตามตำนานเมืองพิมายและนางรอง ตั้งแต่บ้านจารย์ตำรา ตามตำนานว่าปาจิตเดินทางมาถึงบริเวณนี้จึงกางแผนที่ หรือตำราดูว่าบ้านนางอรพิมอยูที่ใด เดินต่อไปจึงถึงบ้านสนุ่น มีต้นสนุ่นอยู่ใกล้ตรงนี้ และบ้านท่าหลวงจากนั้นจึงเดินต่อไปพบนางบัวแม่นางอรพิมที่บ้านสำเร็จ หรือบ้านสำริด ช่วยนางบัวทำนาจนกระทั่งจะคลอดนางอรพิม จึงไปตามหมอตำแยมาจากบ้านตำแย เมื่อนางอรพิมหัดคลานบริเวณนั้นจึงเรียกว่า ถนนนางคลาน เมื่อหัดเดินบริเวณที่หัดเดินได้ชื่อว่าบ้านนางเดิน ซึ่งเพี้ยนเสียงมาเป็นนางเหริญ

บริเวณที่กล่าวถึงมาทั้งหมดยกเว้นเมืองนครธมนั้น อยู่ในบริเวณเมืองพิมาย เป็นหมู่บ้านที่อยู่เชื่อมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าชื่อที่ตั้งไว้และมีการเล่าต่อกันมาแต่โบราณ ปัจจุบันก็ยังใช้ชื่อเดิมและมีผู้คนอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีตตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ในบริเวณนี้นอกจากปราสาทหินพิมายและพนมวัน ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี บริเวณบ้านตำแย บ้านสำริด ซึ่งมีการค้นพบกระเบื้องพิมายดำ มีอายุกว่าสองพันปี ซึ่งบริเวณไม่ไกลกันนักคือ บ้านธารปราสาท บ้านโนนวัด เป็นแหล่งขุดค้นขนาดใหญ่ที่มีอายุเทียบเคียงกับสมัยบ้านเชียง

ความสำคัญของพื้นที่ในเส้นทางปาจิตอรพิมก็คือ ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยมาตลอดตั้งแต่โบราณกาลจนปัจจุบัน ดังตัวอย่างที่เห็นในเส้นทางนี้คือ “บ้านตำแย” ซึ่งมีที่ตั้งห่างจากบ้านสำริด ๗ กิโลเมตร และห่างจากเมืองพิมายประมาณ ๕ กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนา และเป็นแรงงานในโรงงานเกลือพื้นที่ของหมู่บ้านจากการสำรวจของนักวิจัยพบว่า มีอายุประมาณยุคนีโอลิทิค เป็นพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำมูลตอนบน มีคูนํ้าล้อมรอบ และมีการทำเกลือและเหล็กมาก่อน การขุดค้นทางโบราณคดีโดยเวลช์ และแมคเนล พบว่าบริเวณบ้านตำแยมีชั้นของประวัติศาสตร์ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น จากการค้นพบวัตถุโบราณ นักวิจัยทั้งสองประมาณว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีการตั้งรกรากตั้งแต่ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่แล้วโดยเลือกพื้นที่ตะกอนลุ่มน้ำซึ่งมีนํ้าขัง บริเวณลุ่มแม่นํ้ามูล ซึ่งเหมาะแก่การปลูกข้าว มีการขุดค้นพบกำไลสำริด เครื่องมือเหล็ก และภาชนะดินเผาพิมายดำ มีการทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงหมู ควาย และน่าจะมีการเลี้ยงไก่ด้วย แต่ก็ยังคงล่าสัตว์ป่าอยู่

ภาชนะดินเผาพิมายดำ (ที่มา : พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย)หลุมขุดค้นบ้านตำแย (Welch & McNeill, 1986)
เส้นทางขันหมาก

เส้นทางขันหมาก

หลังจากอรพิมมีอายุได้ ๑๖ ปี ปาจิตจึงมีความประสงค์จะกลับไปแผ่นดินเกิด เพื่อไปบอกกับบิดามารดา ให้จัดขบวนขันหมากเพื่อมาสู่ขอนางอรพิม เส้นทางนี้จึงเป็นการเดินทางกลับมาของขบวนขันหมาก ทำให้มีเหตุการณ์อันเป็นต้นเหตุที่มาของชื่อบ้านนามเมืองในบริเวณนี้ เนื่องจากขณะขบวนขันหมากของปาจิตที่เดินทางจากบ้านเมืองมารุ่งสางที่เมืองเสิงสาง เมื่อเดินทางต่อมาถึงบ้านพลับพลา ปรากฏว่ามีข่าวเรื่องนางอรพิมถูกพรหมทัตจับตัวไปในวัง ปาจิตโกรธมากจึงทุบทำลายข้าวของในขบวนขันหมากขว้างเป็ดทองคำไปตกที่บริเวณเมืองปะคำบริเวณลำนํ้ามาศ กลายเป็นถํ้าเป็ดทอง เงินทองก็เทกระจาดทิ้งบริเวณนั้นจึงชื่อ ลำปลายมาศเพราะน่าจะกร่อนคำมาจาก เปรี๊ยะ ซึ่งแปลว่าเงิน และมาศแปลว่าทองในภาษาเขมร ส่วนเกวียนที่บรรทุกสิ่งของก็ถูกทุบทำลายเหลือแต่ล้อทิ้งไว้บริเวณนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า บ้านกงรถเพราะกง หมายถึงล้อวงกลม

ในบริเวณเมืองต่าง ๆ ของเส้นทางนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเมืองโบราณที่มีผังเมืองแบบโบราณมีคูนํ้าล้อมรอบสองชั้น หรือสามชั้น ซึ่งมักจะเป็นความนิยมของผู้คนในยุคทวารวดี มาตั้งรกรากไม่ไกลกันนักกลุ่มเมืองโบราณ เมืองฝ้ายหนองหงส์ อำเภอลำปลายมาศ ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นเมืองโบราณจากกรมศิลปากร เมืองฝ้ายนี้ รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาโบราณคดี ผู้ซึ่งมีความสนใจในเส้นทางปาจิต อรพิม ได้ทำการสำรวจเส้นทางนี้เมื่อหลายปีก่อน กล่าวว่า

“การสำรวจแหล่งโบราณสถานตามเส้นทางพระปาจิตกับนางอรพิมครั้งนั้น มีศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดีเสด็จด้วย เส้นทางการสำรวจเริ่มแต่ประตูเมืองทางทิศใต้ของเมืองพิมาย จากท่านางสระผม ผ่านที่ราบลุ่มตำบลรังกาใหญ่ แล้วหักวกขึ้นพื้นที่เนินสูงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านปราสาทหินที่เป็นอโรคยาศาลและธรรมศาลาผ่านชุมชนบ้านอรพิมพ์และเมืองพลับพลา มายังตำบลหินดาดในเขตอำเภอห้วยแถลง เข้าอาศัยพักแรมที่วัดหินดาด (หรือวัดอุทัยมัคคาราม) ที่มีผู้นำพระพุทธรูปโบราณมาประดิษฐานไว้ เมื่อเข้าไปดูก็พบว่าเป็นพระพุทธรูปหินปางนาคปรกอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบทวารวดีนั่งขัดสมาธิราบ ซึ่งศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ผู้ทรงเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะทรงอธิบายว่าเป็นของในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเพราะไม่ค่อยได้พบในภาคอีสานขณะนั้นข้าพเจ้าติดใจพระพุทธรูปเก่าแก่องค์นี้ ไม่เพียงเรื่องอายุ แต่อยากรู้ที่มา จึงได้รับคำตอบว่ามีผู้เคลื่อนย้ายมาจากเมืองโบราณแห่งหนึ่งคือเมืองฝ้าย ในเขตอำเภอลำปลายมาศ

“การพบพระพุทธรูปนาคปรกแบบทวารวดีสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และรู้ว่าพบที่เมืองฝ้ายในการสำรวจหลักฐานทางโบราณคดีครั้งนั้นเป็นหมุดหมายที่มีความสำคัญแก่การศึกษาพัฒนาการของชุมชนเมืองขึ้นเป็นรัฐและนครรัฐของข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก เริ่มแต่ทำให้ข้าพเจ้ารู้ว่าเมืองฝ้ายมีตัวตนเป็นเมืองประวัติศาสตร์สมัยทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา และมีอายุต่อมาถึงสมัยลพบุรีหรือสมัยวัฒนธรรมขอมอย่างแน่นอน เพราะต่อมาได้พบโบราณวัตถุที่เป็นของในสมัยหลังเหล่านั้น ทว่าอายุของเมืองฝ้ายเหนือจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ขึ้นไปถึงยุคไหนยังเป็นปัญหาที่หลายคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วยระยะแรก ๆ มักโยนว่าเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์    เพราะพบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือหินขัดในพื้นที่เช่นเดียวกับเมืองโบราณอื่น ๆ อีกหลายแห่ง” (ข้อมูลจาก http://www.rimkhobfabooks.com/blog/MuangFai/)

ฉบับหน้า ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปพบกับ “ลำปลายมาศ” “บ้านกงรถ” และ “ถํ้าเป็ดทอง” ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งทางโบราณคดีที่สำคัญในฐานะเป็นเมืองโบราณของอุษาคเนย์เกี่ยวข้องไปถึงพระจิตรเสน เจ้าชายแห่งลุ่มน้ำมูล กษัตริย์ชาวจามปา อีกทั้งยังมีชั้นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่บริเวณ “ถํ้าเป็ดทอง” อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์

เมืองฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์พระพุทธปฏิมากรนาคปรก อายุในราวปลายพุทธศตวรรษ ที่ ๑๑ พบที่เมืองโบราณบ้านฝ้าย จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดอุทัยมัคคาราม ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

วิจิตรตา… วัดศรีเทพประดิษฐาราม
การเขียนหนังสือ
ว่าด้วยเงือก (๔) ขวัญไทดํา จากองค์ความรู้ของ ดร.คําจอง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com