มาเยอ ปู่เยอ ย่าเยอ

วันขึ้นปีใหม่ หลวงพระบาง ภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ขอบคุณภาพจาก สหวิชา ดอท คอม)

เยอ

ดร. ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า (สารานุกรมภาษา อีสาน ไทย อังกฤษ หน้า ๖๔๑)

เยอ (วิเศษณ์) เป็นคำกริยาช่วย เชิญชวนให้มากินด้วยกัน อย่างว่า มาเยอหล้ามากินต้มไก่หัวสิงไคใส่พร้อมหมากนาวน้อยใส่นำ จํ้าแล้วจํ้าจํ้านํ่าบ่มีถอย อย่าหวังอย่าคอยว่าอี่นางชิมีชู (คำกลอน)

“เย่อ (วิเศษณ์) ใหญ่โต บุหรี่มวนโต เรียกกอกยาเย่อ กอกยาเดอะ ก็ว่า”

“วัดจะนานุกมพาสาลาว สะถาบันวิทะยาสาดสังคมแห่งชาด ๒๐๑๒” หน้า ๗๙๔ เยอ ใช้ ย-หางยาว

หมายความว่า

“เยอ (คำช่วยกริยา) คำเสริมท้ายคำกรรมใดหนึ่งสำหรับบอกคำเรียกร้องชักชวน เช่น ไปเยอ, มาเยอ, กินเสียเยอ ; ลักษณะที่เป็นคำสั่ง เช่น กินเยอ ! นอนเยอ ! ไปเยอ ! เร็ด (เฮ็ด) เยอ ! มาเยอ ! เช่า (หยุด) เยอ ! ย่า (อย่า) เร็ด (เฮ็ด) อีกเยอ !”

“วัดจะนานุกม พาสาลาว ดร. ทองคำ อ่อนมะนีสอน” หน้า ๖๖๕ อธิบายว่า

“เยอ (คำอุทาน) เป็นคำต่อท้ายคำกริยาบอกความประสงค์ ดั่ง กินเยอ ! นอนเยอ ! เป็นต้น”

คำ “เยอ” นี้ ในภาษาพูดจริง ๆ จะใช้กันมากเพียงใด นักสำรวจภาคสนามเท่านั้นที่จะตอบได้ แต่ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นสังเกตว่าใช้มากในคำสู่ขวัญตอนที่อัญเชิญ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือเชิญ “ขวัญข้าว” คือใช้กับสิ่งที่เคารพ

ยา หมายถึง ใหญ่, ยิ่งใหญ่

ข้าพเจ้าคิดว่า เยอ ก็มีความหมายว่า ใหญ่ เช่นกัน เสียง “ใหญ่” สระ – ใอ ไม้ม้วน บ่งบอกว่าเป็นเสียง ผสม ไอ – เออ อย่างที่ ชาวไทเหนือ, ไทมาว ออกเสียงคำว่า “ใต้” เป็น “เต้อ – เต๋อ”

พจนานุกรมราชบัณฑิต ก็ให้ความหมายว่าใหญ่

เยอ ๑ (ถิ่น) ว. ใหญ่ เช่น ผาเยอ.ก. ยกย่อง ชมเชย.

ยกตัวอย่างโคลงท้าวฮุ่งขุนเจือง

๏ หนักหนิ่น เนื้อน้อยอ่อน          ขวันหัว มาเยอ

ทังแขนกลมไหลขวา                แขนเจ้า

แอวองอ้วนเลางาม                 ขวันพระเนต ก็มา

ยืนหยู่หมั้นไนย้าว                   หมื่นปี แม่ถ้อน ๏

ทางหลวงพระบางมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องแห่แหนกันในช่วงสงกรานต์คือ “ปู่เยอ ย่าเยอ”

มีตำนานเล่าว่า

“ตำนานเกี่ยวกับปู่เยอย่าเยอ กล่าวว่านานมาแล้ว ณ เมืองแถน ได้มีเครือเขากาดยักษ์เครือหนึ่ง ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้า ปกคลุมลงมาบนพื้นดินทำให้บดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ทั้งหมด ทำให้บ้านเมืองมืดมิด มืดมัวและหนาวเย็น ประชาชนเดือดร้อน ทำมาหากินไม่ได้ ขุนบูลม (หรือขุนบรม ในภาษาไทย) ผู้เป็นเจ้าเมืองได้เรียกเหล่ามหาเสนาอำมาตย์มาปรึกษาหารือกันว่า จะทำอย่างไรดี จึงจะตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ลงมาได้  จึงให้ทหารป่าวประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่สามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ลง ได้มีผู้อาสาเป็นจำนวนมากแต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะตัดเครือเขากาดยักษ์นี้ให้ขาดลงมาได้

ต่อมาได้มีสองเฒ่า ผัวเมีย ชื่อว่าปู่เยอและย่าเยอ ได้เข้ามาขออาสาไปตัดเครือเขากาดยักษ์นั้น ขุนบูลม จึงถามว่าหากสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์ได้แล้ว ต้องการสิ่งของรางวัลอะไรบ้างเฒ่าทั้งสองตอบว่าไม่ขอรับของรางวัลทั้งสิ้น ขอแต่เพียงว่า ถ้าหากทั้งสองคนได้ตายไปแล้ว ขอให้ประชาชนทุกคนอย่าลืมชื่อของพวกเขาทั้งสองคน และขอให้ทุกคนเคารพสักการบูชาด้วย ขุนบูลมก็รับปาก

เฒ่าทั้งสองก็มุ่งหน้าถือขวานขนาดใหญ่เดินทางไปยังโคนต้นเครือเขากาดยักษ์ทันที และลงมือตัดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา ๓ เดือนกับอีก ๓ วัน ก็สามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นั้นลงมาได้ แต่เครือเขากาดยักษ์นั้นใหญ่มาก

เมื่อขาดแล้วจึงได้ล้มลงมาทับเฒ่าทั้งสองตายในทันที ความมืดมิดก็หายไป แสงสว่างก็กับมาสู่ผืนแผ่นดินอีกครั้ง ไพร่ฟ้าประชาชนก็ทำมาหากินได้ตามปกติ พระยาขุนบูลมพร้อมด้วยไพร่ฟ้าประชาชน ก็ได้นับถือสักการะปู่เยอ ย่าเยอ นับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของปู่เยอและย่าเยอ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชนชาติลาวพวน ก็ได้ทำรูปสัญลักษณ์แทนตัวของผู้เฒ่าทั้งสองไว้ให้เป็นที่สักการะ นับถือ สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ลูกหลานชาวลาวได้มีการแต่งเป็นโขนเล่าเรื่องราวของปู่เยอย่าเยอนี้ ซึ่งจะมีการแสดงตามพิธีงานบุญต่าง ๆ เช่น ในงานบุญปีใหม่ งานบุญธาตุหลวง การสรงนํ้าพระบาง และงานพิธีต่าง ๆ โดยจัดให้มีพิธีการกราบไหว้ สักการะและถวายเครื่องทานแก่ปู่เยอย่าเยอ ตามงานพิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามฮีตคอง (จารีต ธรรมเนียม) ประเพณีในโอกาสต่าง ๆ นี้จะมีการแต่งกายเป็นรูปของปู่เยอย่าเยอออกมา ฟ้อนรำ สร้างความสนุกสนานและเพื่อเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ลูกหลานด้วย”

ขอบคุณที่มา : http://www.eastasiawatch.in.th/article.php id=815 , https://goo.gl/UTLtsJ

วัฒนธรรมหน้ากากเกี่ยวพันกับการปลูกข้าว ภาพระบำ หน้ากากของชาวนา แถบลุ่มแม่นํ้าเซียง มณฑลหูหนาน (ถิ่นหนึ่งของชาวไป่เยวี่ย)

เรื่องปู่เยอย่าเยอยังมีอีกตำนานหนึ่ง แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องที่ดัดแปลงไปภายหลังจากที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียแล้ว

“มีนิทานเกี่ยวกับปู่ย่าเยอ เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยก่อนคนกับผีอยู่ปะปนกัน มีเขตแดน ๒ เขต คือ เขตบกและเขตนํ้า เขตบกมีสิงคะโลก (สิงโต) มีอิทธิพล เขตนํ้ามีช้าง คล้าย ๆ กับหมู (ตรงนี้พิกล ไม่ทราบว่าข้าพเจ้าจะฟังผิดหรือไม่

จริง ๆ แล้วช้างกับหมู่ก็ปน ๆ กันอยู่ปีนักษัตร ที่เราว่าปีกุนหมูนั้น บางวัฒนธรรมเขาว่าปีช้าง) ร้ายกาจที่สุด กินคน ร้อนถึงพระอินทร์ต้องส่งคนมาปราบ คนนั้นเป็นฤ ๅษีชื่อเรียกกันว่าปู่เฒ่าเจ้าหลวง อยู่บริเวณพูซวง แต่มีข้อแม้ว่าถ้าปราบสัตว์ได้ คนปราบก็ต้องตายเหมือนกัน แต่ก่อนจะตายได้อธิษฐานว่าขอให้ประชาชนคิดฮอดคิดถึงจึงได้เกิดเป็นปู่เยอ ย่าเยอ”

(http://www.csr.chula.ac.th/60year-1/th-18/3724-pu-ye-ya-yoe.html)

มีหลายคนสงสัยความหมายของ “เครือเขากาด”

ลองค้นดู พบคำอิบายที่ดีมากใน http://www.lookforest.com/00_newlook/article_person.php?id_send=265

ท่านอธิบายว่า “เขา” แปลว่า ใหญ่ “กาด” แปลว่า พาด ขวาง โดยอ้างอิงวรรณคดี “พญาคันคาก” ปริวรรตโดย อ.นิพล สายศรี สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ม.มหาสารคาม

อันว่า เครือเขาเกี้ยว พาเครือเขากาด

เลยเล่าเกี้ยว กันขึ้นฮอดแถน

ก็เพราะ เครือเขานั้น เป็นดินฝังฮาก

เครือใหญ่เกี้ยว กันขึ้นโยชน์ยาว

สำหรับการแต่งกายของ “ปู่เยอ ย่าเยอ” หลวงพระบางนั้น ยังอธิบายกันไม่ชัดเจนแต่มีประเด็นที่นักค้นคว้าควรใส่ใจคือ เรื่อง “วัฒนธรรมหน้ากาก”

มนุษย์ดึกดำบรรพ์ล้วนมีคติความเชื่อเกี่ยวกับหน้ากาก สำหรับวัฒนธรรมไป่เยวี่ยซึ่งเป็นต้นเค้าของการปลูกข้าวนั้น ดึกดำบรรพ์มีพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวที่แม่มดหมอผีต้องสวมหน้ากาก

ปัจจุบันชนกลุ่มไท-กะได ที่ยังเหลือร่องรอยวัฒนธรรมหน้ากากอยู่มากหน่อยคือ “ชนชาติผู้ญัย” (“ปู้อี”) ในมณฑลกุ้ยโจว ในขณะที่ชาวจ้วงในกวางสีไม่หลงเหลือวัฒนธรรมหน้ากากเลย

เสียง ญัย – เญอ ใกล้กัน หน่วยปกครองโบราณของชาวผู้ยัยเรียกว่า “ควน – กวน” ทำให้นึกถึง “หมอผี – เจ้ากวน” ผีตาโขน

Related Posts

กินสาหร่าย กินพลังงาน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com