เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

บริเวณเกาะปาจิต ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

จากตอนที่แล้ว กล่าวถึง เส้นทางของการเดินทางตามเนื้อเรื่องนิทานประจำถิ่นปาจิตอรพิม ที่ผู้เขียนได้จัดหมวดหมู่ไว้ ๕ เส้นทางด้วยกัน คือ เส้นทางตามหานางอรพิม เส้นทางขันหมาก เส้นทางหนี เส้นทางตามหาปาจิต และเส้นทางกลับบ้าน ซึ่งในแต่ละเส้นทางนั้นมีสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ และได้เริ่มนำมาเขียนถึงในฉบับที่แล้ว เริ่มแต่เส้นทางตามหานางอรพิมจนถึงเส้นทางขันหมาก ซึ่งในเส้นทางขันหมากนี้มีสถานที่ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง ในฉบับนี้จะเขียนถึง เมืองลำปลายมาศ บ้านกงรถ และถํ้าเป็ดทอง

ลำปลายมาศ ตามตำนานปาจิต อรพิม ได้ชื่อมาจากลำนํ้า ลำปลายมาศ ซึ่งเป็นสาขาของลำนํ้ามูล คำว่า ปลายมาศ นั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ‘เปร๊ยะ’ ซึ่งแปลว่า ‘เงิน’ และ ‘มาศ’ ที่แปลว่า ‘ทอง’ ในภาษาเขมร ลำปลายมาศ ก็คือ ลำนํ้าที่มีแต่เงินและทอง ตามตำนานนั้นเล่าว่า เมื่อปาจิตยกขบวนขันหมากมาบริเวณนี้ และรู้ข่าวว่า พรหมฑัต ได้ลักพาตัวนางอรพิมไป ปาจิตโมโหจึงทุบทำลายข้าวของในขบวนขันหมากขว้างเงินทองไปที่บริเวณลำนํ้านี้

ลำปลายมาศนั้นมีจุดเริ่มต้นจากพนมดงรักบริเวณเทือกเขาใหญ่ หรือที่คนไทยเรียกกันว่าภูเขาสันกำแพง ในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลลงมาแถบอำเภอปะคำ นางรองผ่านอำเภอลำปลายมาศ อำเภอพิมาย สู่แม่นํ้ามูลที่อำเภอประทาย ประมาณความยาวทั้งสิ้นได้ ๒๐๐ กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้บางท่านจึงอาจจะมีความเห็นแย้งว่า เงินทองที่พระปาจิตขว้างมานั้นกระจายอยู่ทั้งลำปลายมาศที่เป็นลำนํ้าเลยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อำเภอลำปลายมาศ เป็นจุดกำหนดตำนานนี้ได้ด้วยชื่อบ้านนามเมือง ที่มีสถานที่ที่ทางชาวบ้านได้เล่าต่อ ๆ กันว่า ในบริเวณลำนํ้าที่ชาวบ้านเรียก ลำมาศ มีจุดที่เป็นเกาะแก่ง อยู่ในบริเวณหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่าเกาะปาจิต เป็นที่ที่สันนิษฐานว่า พระปาจิต ทิ้งขันหมาก เงิน ทอง ไว้ที่ตรงนี้

อนึ่งโคลงจากวรรณกรรม “ตำนานเมืองพิมาย” ใน วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี ที่ปริวรรตโดยกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงที่มาของ “ลำปลายมาศ” ไว้ว่า

อันลำชัยใครอย่าได้มากล่าวเรียก

เราสำเนียกนามชื่อไว้ใหม่หนา

ชื่อลำเมียกเรียกอึงแต่นั้นมา

ต่างภาษาถ้าคำไทยแปลว่าทอง

เขมรภาษาถ้าทองเรียกว่าเมียก

เป็นคำเรียกต่างว่าภาษาสอง

กลับมาเพี้ยนเปลี่ยนไพล่ไปหลายคลอง

เปลี่ยนทั้งทองเปลี่ยนซํ้าทั้งลำธาร

ลำชัยเมียกช่างมาเรียกว่าปลายมาศ

ผิดโอวาทผิดคำนามขนาน

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๔๗)

เกวียน สมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ภาพวาดจาก “บันทึกการเดินทางจากหนองคายไปโคราช” ในหนังสือชื่อ Notes of a Journey on the Upper Mekong, Siam ของ Warington H. Smyth ใน พ.ศ.๒๔๓๘

บ้านกงรถ

บ้านกงรถ อยู่ไม่ไกลจากอำเภอลำปลายมาศ หากใช้การเดินทางแบบชาวบ้านตั้งแต่โบราณที่ใช้เกวียนและการเดิน โดยไม่มีป้ายแบ่งเขตแดนบอกอย่างในปัจจุบัน ลำปลายมาศ และกงรถก็เป็นเพื่อนบ้านกันที่พูดภาษาโคราชคล้าย ๆ กัน หากไม่นับว่ามีคนลาวที่ย้ายถิ่นมา แต่ปัจจุบันบ้านกงรถได้ถูกกำหนดให้อยู่ในอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมาตามการแบ่งเขตการปกครองจากกระทรวงมหาดไทย

ตำนานจากเรื่องปาจิต อรพิม กล่าวว่า เมื่อพระปาจิต ทุบทำลายขบวนขันหมาก ได้ทำลายเกวียนที่บรรทุกขันหมากมาด้วย เหลือทิ้งไว้แต่ล้อรถในบริเวณหมู่บ้านนี้ จนเป็นที่มาของชื่อบ้านกงรถ เนื่องจาก ‘กง’ ในภาษาอีสาน หมายถึง กลม หรือ ล้อ ส่วนรถ ก็คือ ‘รถ’ ในสมัยที่ยังใช้เกวียนเป็นพาหนะ เกวียนคือคำว่า รถ นั่นเองจากข้อมูลเว็บไซต์ของเทศบาลตำบลกงรถเขียนไว้ว่า

“ท้าวปาจิตโกรธมากถึงกับโยนข้าวของเครื่องใช้ขันหมากทิ้งลงแม่นํ้าหมด (ที่ตรงนั้นเรียกว่าลำมาศ) ไหลลงสู่ลำนํ้ามูลจนทุกวันนี้ส่วนรถทรง ก็ตีล้อดุมรถ และกงรถจนหักทำลายหมด ชาวบ้านนำมากองรวมกันไว้ในที่แห่งหนึ่ง(เรียกชื่อว่าบ้านกงรถ) จากนั้นท้าวปาจิตจึงเดินทางไปตามลำพัง พระเจ้าอุทุมราชและข้าทหารจึงเดินทางกลับนครธม

ท้าวปาจิตเดินทางไปพบยายบัว ปลอบโยนนางรับปากว่าจะช่วยนางอรพิมออกมาให้ได้ จากนั้นท้าวปาจิตจึงใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนคลี่คลายช่วยนางอรพิมได้ในที่สุด

ต่อมาผู้คนได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นทำมาหากินในบริเวณที่ได้พบ “กงล้อ กงเกวียน” หรือ “กงรถ” จึงพากันขนานนามหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านกงรถ” และตั้งเป็นชื่อของตำบลเนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่คนอพยพมาอยู่เป็นหมู่บ้านแรก คนส่วนใหญ่ในตำบลได้อพยพมาจากมหาสารคาม อุบลราชธานี นางรองและนครราชสีมา เข้ามาตั้งถิ่นทำกินในบริเวณแหล่งนํ้า ลำห้วยตะเคียน ลำห้วยกงรถ และลำนํ้ามาศ

ปัจจุบัน “กงรถ” ดังกล่าว ทางราชการได้เก็บรักษาไว้ และบ้านกงรถยังเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในจังหวัดนครราชสีมา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙)”

ภาพเสมาธรรมจักร ที่เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัด นครราชสีมา (ภาพ : พรนิภา ฉะกระโทก)ชิ้นส่วนเสมาธรรมจักรสมัยทวารวดี พบบริเวณบ้านกง รถ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายผไทรินทร์เมืองฝ้ายบ้านกงรถบ้านพลับพลา

จากการสืบค้นทางโบราณคดี พบว่าบริเวณบ้านกงรถนี้ มีผังเมืองเป็นแบบวงกลม มีคูนํ้าล้อมรอบสามชั้น มีลักษณะเป็นแบบเมืองโบราณ เป็นที่นิยมการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในสมัยทวารวดี ซึ่งในบริเวณอำเภอลำปลายมาศและอำเภอห้วยแถลงนั้นเป็นแหล่งชุมชนทวารวดีประกอบด้วยเมืองฝ้าย บ้านผไทรินทร์ บ้านกงรถ บ้านพลับพลา ซึ่งมีหลักฐานจากแผนที่ทางอากาศ ที่จะเห็นภาพผังเมืองโบราณได้ชัดเจน

คำกลอนจาก “ตำนานเมืองพิมาย” ฉบับวรรณกรรมสมัยธนบุรี เล่มสอง กล่าวถึงการตั้งชื่อเมือง พลับพลา กับกงรถ ไว้ดังนี้

ฉวยพระแสงแกว่งกระชั้นเข้าฟันรถ

ก็หมุดหมดจับกระแทกให้แตกผาง

ทั้งกำกงทั้งงอนก็หักกลาง

พระจับขว้างทวกหมุนเป็นจุณ

พระวงศ์ญาติพิศเพ่งให้เกรงขาม

ว่าจะห้ามก็หาอาจจะห้ามไม่

ผลักแต่กูไสแต่มึงออกอึงไป

ด้วยกลัวไท้คลุ้มคลั่งกำลังมัว

ชาวประชาชายหญิงที่เกิดใหม่

เห็นคูค่ายอัศจรรย์ก็สั่นหัว

เห็นกงรถเรี่ยราดให้ขลาดกลัว

ทุกคนตัวนึกสำคัญในสัญญา

ว่าทีนี้เห็นทีจะเป็นเมือง

อร่ามเรืองค่ายคูดูหนักหนา

ทั้งเรียบเลี่ยนรื่นดิบดีที่พลับพลา

สำคัญว่าเห็นจะเป็นท้องพระโรง

ด้วยเรือนรถเพพังยังแต่กง

ทุกคนตรงชวนกันขนานนาม

จึงให้ชื่อตามตรงว่ากงรถ

พระฟันขาดราชรถจนหมดงาม

แต่กงกำนั้นยังเห็นเป็นสำคัญ

ชาวประชาเห็นพลับพลากับกงรถ

นึกกำหนดจริงใจเป็นแม่นมั่น

ก็ว่าเมืองเรียกก็เป็นเห็นสำคัญ

จึงชวนกันเรียกชื่อแต่นั้นมา

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๔๘)

โปรดติดตามตอนต่อไป

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

คนอีสานค้นหากันให้พ้อ
ที่ บ้ า น ก็ มี
พุทธศาสนาเข้าสู่อีสาน…ในตำนานอุรังคธาตุ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com