จาก “สีหปักษี” ถึง “หัสดีลิงค์” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีศพสูงศักดิ์

จาก “สีหปักษี” ถึง “หัสดีลิงค์” สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีศพสูงศักดิ์

“เมรุนกหัสดีลิงค์” จังหวัดนครพนม (ภาพโดย ผศ.พวงเพชร รัตนรามา)

ภาพ “เมรุนกหัสดีลิงค์” ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพมงคลเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ บันทึกภาพโดย ผศ.พวงเพชร รัตนรามา แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่างงดงาม อลังการ น่าประทับใจ

ทำให้ผมหวนคิดถึงพิธีศพของชาวบาหลี อินโดนีเซีย ที่มีธรรมเนียมสร้างหุ่นสัตว์ในเทพนิยายอย่างวิจิตรตระการตา สำหรับอัญเชิญศพสู่พิธีฌาปนกิจเช่นกัน

ด้วยศรัทธาสูงส่งที่มีต่อเทพเจ้าทั้งหลายในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู พิธีศพของชาวบาหลีจึงมีกระบวนการอันเอิกเกริก ดั่งการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายคืนสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งจะต้องสร้างอุปกรณ์สำคัญสองสิ่ง

คือ “บาเดห์” (Wadah) หออัญเชิญศพแบบจำลองจักรวาลตามคติของชาวบาหลี ซึ่งมีฐานเป็น “กุรมะ” หรือเต่า กับพญานาคสองตนพันกันอยู่ ความสูงของหอนี้ขึ้นกับวรรณะของผู้ตาย อาทิ หากเป็นวรรณะพราหมณ์ จะต้องสร้างหอสูง ๑๑ ชั้น ฯลฯ

และ “เลมบู” (Lembu) หุ่นสัตว์ในเทพนิยายสำหรับอัญเชิญศพสู่พิธีเผา อาทิ หุ่นวัวตัวผู้ หรือโคนนทิ พาหนะทรงของพระศิวเทพ หรือ สีหปักษี (สิงห์มีปีก) หรือ วารีกุญชร (ช้างมีครีบและหางปลา) ฯลฯ โดยครอบครัวผู้ตายต้องจัดขบวนแห่หออัญเชิญศพ และหุ่นวัวจากบ้านไปสู่ฌาปนสถานอย่างเอิกเกริก

เขย่า และส่ายตัวหุ่นอย่างแรง เมื่อขบวนแห่ศพชาวบาหลี ผ่านทางแพร่งหออัญเชิญศพ แบบจำลองจักรวาลตามคติของชาว บาหลี“สีหปักษี” หุ่นสัตว์ในเทพนิยายสำหรับอัญเชิญศพของ ชาวบาหลีขบวนแห่นกหัสดีลิงค์ ในพิธีศพชาวล้านนาแต่โบราณ (ภาพจาก www.postjung.com)

เมื่อขบวนแห่ผ่านทางแพร่ง อาทิสี่แยกบรรดาชายฉกรรจ์ผู้แบกเลมบู จะพร้อมใจกันเขย่า และส่ายตัวหุ่นอย่างแรง มีนัยว่าเพื่อให้ดวงวิญญาณผู้ตายหลงทาง จำทางกลับบ้านไม่ได้ตามหลักปรัชญาการตายของชาวบาหลีที่ว่า การเผาศพ คือการส่งมอบกายคืนสู่ธาตุทั้งห้า คือ ดิน นํ้า ลม ไฟ เหล็ก ส่วนความตาย คือการเดินทางของวิญญาณจากชีวิตในภพภูมินี้ ไปสู่ชีวิตใหม่บนสรวงสวรรค์

ถ้าเช่นนั้น นกหัสดีลิงค์ สำคัญอย่างไร จึงถูกนำมาเป็น “เมรุ” หรือปราสาทศพ ในพิธีฌาปนกิจบุคคลสำคัญที่สังคมยกย่อง อาทิ พระเกจิอาจารย์ เชื้อพระวงศ์ นักปราชญ์ ฯลฯ

ในหนังสือ “ไตรภูมิ” ระบุว่า นกหัสดีลิงค์มีลำตัวเป็นหงส์ มีหัวเป็นช้าง ทำหน้าที่คาบซากศพไปทิ้ง เพื่อมิให้ดินแดนอุตตรกุรุทวีปสกปรก จึงเป็นที่มาของคติความเชื่อในการสร้างปราสาทเผาศพเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ อันเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ อาทิ พุกาม ล้านนา สิบสองปันนา ล้านช้าง ฯลฯ

ในสังคมสองฟากฝั่งลำน้ำโขง มีตำนานนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ เล่าขานว่ากาลครั้งหนึ่ง พระราชาแห่งนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เสด็จสวรรคตกะทันหัน มหาเทวีจึงจัดพิธีอัญเชิญพระศพไปถวายพระเพลิงที่ทุ่งหลวงตามโบราณประเพณี

ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหาร บินจากป่าหิมพานต์ผ่านขบวนแห่พอดี เมื่อนกเห็นพระศพก็คิดว่าเป็นอาหาร จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน มหาเทวีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีออกมาต่อสู้กับนกหัสดีลิงค์เพื่อแย่งพระศพคืนมา                           

แต่นักสูทั้งหลายกลับถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด พระธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์ โดยใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตาย ตกลงมาพร้อมพระศพ มหาเทวีจึงโปรดให้ช่างทำเมรุ คือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์เพื่อถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน

จากตำนานดังกล่าว เชื้อพระวงศ์ตักกะศิลาเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ได้ถือเอาประเพณี ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม สืบทอดกันมาตราบจนวันนี้

ทั้งนี้ ในบทความ “นกหัสดีลิงค์ พาหนะสู่สวรรค์ความเชื่อคนล้านนา” ระบุว่า ในปี ๒๔๘๒พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ทางวัฒนธรรมไทย เคยทำหนังสือถวาย สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ความว่า “ชาวเชียงใหม่ ทำศพโดยทำรูปนกหัสดีลิงค์ น่าจะเอาอย่างมาจากอุตตรกุรุ (คืออินเดีย)” กรมพระยานริศฯประทานคำตอบว่า “ประเพณีจากอินเดียมาสู่เขมร จากเขมรเข้ามาไทยภาคอีสาน แล้วทางพายัพจึงเอาอย่างมาจากอีสาน

นับเป็นการเปิดประเด็นว่าด้วยการเลื่อนไหลถ่ายเททางวัฒนธรรมของ “เมรุนกหัสดีลิงค์” ที่น่าสนใจยิ่งนัก ควรค่าที่คนรุ่นหลังจะทำการศึกษาค้นคว้า เพื่อการต่อยอดทางความรู้ความเข้าใจใน “วัฒนธรรมร่วม” ของชาวอุษาคเนย์อย่างลึกซึ้ง มิใช่เพื่อนำมากล่าวอ้างว่า “นี่ของฉันนั่นของเธอก็เอามาจากฉัน” อันหาประโยชน์อันใดมิได้

ประติมากรรมนกหัสดีลิงค์ (ที่สองจากขวา) ประดับหลังคาโบสถ์ในดินแดนล้านนา

เอกสารอ้างอิง

๑. หนังสือ “ลวดลายพุทธศิลป์น่าน” โดยโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปกรรมดั้งเดิมในพุทธศาสนสถานจังหวัดน่าน, ๒๕๕๑

๒. บทความ “นกหัสดีลิงค ์ พาหนะสู่สวรรค์ความเชื่อคนล้านนา” จาก www.postjung.com

Related Posts

ตํานานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง (๒)
ประวัติศาสตร์จากสาเกเชื่อม
ศาสนาวานนี้ วันนี้ และวันหน้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com