ยา

คำเก่าอย่าฟ้าวลืม

ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๙  ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๖๐

ยา ในที่นี้ คือ “ยา” ในคำว่า “ยาคู (ยาครู), ลูกยาเธอ”

คำว่า “ลูกยาเธอ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ อธิบายว่า

ลูกยาเธอ น. คำนำหน้านามพระราชโอรสในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงปัจจุบัน, เรียกเต็มว่าพระเจ้าลูกยาเธอ, ถ้ามีพระมารดาเป็นพระองค์เจ้าขึ้นไป เรียกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ.

ยา ๒ ว. ใช้ประกอบคำ พี่, น้อง, ลูก ว่า พี่ยา, น้องยา, ลูกยา, ใช้ในราชาศัพท์หมายความว่า เพศชาย เช่น พระเจ้าลูกยาเธอ.

(ออกวัง ก. แยกจากวังหลวงไปอยู่วังส่วนพระองค์ ใช้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ)

สรุปว่า นักวิชาการปัจจุบันให้ความหมายคำว่า “ยา” ในราชาศัพท์ไว้สองอย่างคือ เพศชาย (พี่ยา, น้องยา, ลูกยา) และ สูงศักดิ์ ยิ่งใหญ่เรียกพระราชโอรสที่มีพระราชมารดาเป็นพระองค์เจ้าขึ้นไปว่า “ลูกยาเธอ”

คำว่า “ยา” ภาษาลาว-อีสาน มี ๓ ความหมาย

๑. คำนาม ยารักษาโรค (อักษรลาวปัจจุบันใช้ ตัว ย-หางยาว)

๒. คำกริยา หมายความว่า อย่า

๓. คำนาม เป็นคำเรียกพระภิกษุที่เคารพยกย่องว่า “ยาคู” (ยา ออกเสียงขึ้นจมูก)

อันนี้เป็นจารีตโบราณ มีคำเรียกพระ ว่า สำเร็จ, ยาซา, ยาคู, ราชคู คำเรียกพวกนี้เป็นสมณศักดิ์ของล้านช้างโบราณ ปัจจุบันฝั่งไทยไม่นิยมใช้แล้ว

วัดจะนานุกมพาสาลาว ของ สะถาบันวิทะยาสาดสังคมแห่งชาด ปี ๒๐๑๒ ให้ความหมายไว้ว่า

“ยา น. มีอำนาจในแคว้นเขตใดแคว้นเขตหนึ่ง ซึ่งแผลงมาจากคำว่า อาญา หรือ อาชญา ที่หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่  ผู้มีอำนาจปกครองในแคว้นในเมืองหนึ่ง คำนี้มีผู้นำไปใช้นำหน้าชื่อให้บุคคลบางคนในสมัยศักดินา, ขุนนาง เช่น ยาพ่อ, ยาแม่, ยาท้าว”

“ยาคู น. คำใช้สำหรับพระภิกษุผู้มีพรรษามาก และได้รับการเถราภิเษก หรือฮดสรงครั้งที่สาม เรียกว่า คูยาคู, อาดยาคู, ยาคู”

วัดจะนานุกมพาสาลาว ของ ดร.ทองคำ อ่อนมะนีสอน ให้ความหมายไว้ว่า

“ยา น. ตัดจากคำว่า อาดยา หรืออาชะยา(อาชญา) ใช้นำหน้านามของผู้มียศศักดิ์สูง เช่น ยาพ่อ, ยาแม่”

ถ้าหากจะพอใจกับคำอธิบายว่า “ยา” มาจากคำบาลี อาญา, อาชญา เรื่องก็จบได้

แต่บางความเห็นโยงคำว่า “ยา” ไปเกี่ยวกับคำว่า “เพีย”, “เพี้ย”, “พญา-พระยา” “ออกญา” และว่าน่าจะเป็นคำลึกคำดึกของไท-ลาว ไม่ใช่คำบาลี

พจนานุกรมศัพท์ล้านนา เฉพาะที่ปรากฏในใบลาน โดย อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และคณะ (สุริวงศ์บุ๊คเซนเตอร์ จัดพิมพ์ในวโรกาสเฉลิมฉลอง ๗๐๐ ปี เมืองเชียงใหม่) อธิบายคำว่า “ยา” – คำนามไว้ ๓ ความหมาย ความหมายที่ ๓ คือ

ยา น. คุณท่าน, ท่าน, ออกญา you

“ยา น. คุณ, ท่าน, ออกญา you ดังตัวอย่าง คนสามสิบครวันินำยารงัสีครวันิง”

ยา แปลว่า คุณ, ท่าน แสดงว่าให้เกียรติใช้คำว่า คุณ คำว่าท่าน “ยา” จึงน่าจะใช้กับผู้ที่มีเกียรติสูง ส่วน “ออกญา” ในที่นี้ ใส่ไว้เพื่อบ่งบอกอะไร ยังนึกไม่ออก

คำว่า “ออกญา” นั้นนิยมใช้กันสมัยกรุงศรีอยุธยา

“ออกญา น. บรรดาศักดิ์ชั้นสูงที่พระราชทานในสมัยอยุธยา สูงกว่า ออกพระ เข้าใจว่ามาจากเขมร”

“ญา” หมายถึง พญา, พระยา

“ออก” วิกิพีเดีย อธิบายว่า “ส่วนคำว่าออก ที่เติมหน้า บรรดาศักดิ์สมัยโบราณนั้น เช่น ออกญา ออกขุน ออกหลวง นั้น มักเป็นคำแสดงความอาวุโสในบรรดาศักดิ์นั้น แต่ยังไม่ได้เลื่อนขึ้นไปยังบรรดาศักดิ์ที่สูงกว่า” [จุดนี้ข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจเชื่อ…]

ข้าพเจ้าเปิด พจนานุกรม เขมร-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน หาคำที่ออกเสียงคล้ายเสียง “ออก” พบหมายความว่า “กรอกปาก” และ “นกออก” ส่วนที่ดูเป็นเรื่องเกี่ยวกับราชสำนักหน่อยคือคำว่า “อกร์” ออกเสียงว่า “ออก”

“อกร์ (ออก) หญิงสูงอายุที่พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้มียศสูงกว่า ยาย (เยยีย), จาส่(จะส์) ทั้งปวง มีหน้าที่เพียงเข้าเฝ้าตามกำหนดในพระราชพิธีต่าง ๆ กับนำเสด็จเจ้านายผู้หญิงหรือเจ้าจอม ไปมาในพระราชวัง ไม่ว่าจะมีกิจธุระใด ๆ มักเลือกแต่งตั้งจากพระสนมในรัชกาลก่อน ๆ เพราะรู้ระเบียบแบบแผนเป็นอย่างดี”

สรุปว่า ยังไม่รู้ว่า เพิ่มคำว่า “ออก” นำหน้าบรรดาศักดิ์ เพื่อบ่งบอกอะไร

จึงมองกว้างออกไปถึงภาษาเพื่อนบ้านใกล้เคียง พบคำที่ใกล้เคียงกับ “ยา” ในภาษามลายูเก่า “raya” กัณหา แสงรายา สรุปไว้ในบทความ “ภาษาไทย-มลายู มีรากเหง้าเดียวกัน” ตอนที่ (๓) สำนักข่าวอิศรา ว่า

“คำว่า ‘ยา’ หรือ ‘เยอ (ใหญ่)’ มาจากคำว่า raya ตามการสืบสร้างของนักภาษาศาสตร์     

คำว่า raya = ราย, (พระ) ยา หรือ (พ) ญา แปลว่า ใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่ เช่นในคำว่า (พญา) มังราย หรือ (พญา) เมงราย หรือ พระยาเมืองทั่ว ๆ ไป

ในขณะที่คำว่า ‘ยา’ (ya) ในคำว่า ‘พระเจ้าน้องยาเธอ’ ก็แปลว่า เยอ หรือใหญ่นั่นเอง”

บางท่านอาจจะนึกโต้แย้งในใจแล้วว่าภาษาตระกูลไท-กะได กับภาษาตระกูลออสโตรเนเซียน จะมาตรงกันได้อย่างไร?

ข้าพเจ้าอธิบายอย่างย่นย่อมาก ๆ ว่า ชาวไป่เยวี่ย (เยวี่ยร้อยจำพวก) ใต้แม่นํ้าแยงซีลงมานั้น พัฒนาต่อมาเป็นกลุ่มชนในตระกูลภาษาสามตระกูล ได้แก่ ตระกูลภาษาม้ง-เหมี่ยน, ตระกูลภาษาออสโตรเนเซียน, ตระกูลภาษาไท-กะได

โดยเฉพาะตระกูลออสโตรเนเซียนกับตระกูลไท-กะได ใกล้ชิดกันมาก จนนักวิชาการบางกลุ่มจัดรวมเข้าเป็นตระกูลภาษาเดียวกันแล้ว ให้ชื่อว่า “ตระกูลภาษาออสโตรไท”

รายา raya, ยา, แปลว่าใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่ ร่องรอยยังปรากฏในคำ “ยาคู”, “ลูกยาเธอ”, “รายา”

แล้วมันเกี่ยวถึงคำว่า เยอ, เย่อ (ลาวอีสาน แปลว่า ใหญ่ มักใช้กับสิ่งของ) อย่างไร? รออ่านต่อเดือนหน้าครับ

Related Posts

ฮูปแต้มวัดไชยศรี บ้านสาวะถี
ตํานานพระธาตุในลุ่มแม่นํ้าโขง
เบอร์เดียวกัน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com