เมื่อฝรั่งตะลึงสยาม พยุหยาตราชลมารค

เมื่อฝรั่งตะลึงสยาม พยุหยาตราชลมารค

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือสำคัญในพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ – ๒๓๓๑) เป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยาในทุกด้าน โดยเฉพาะการค้าขายและการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาอารยะประเทศ ทรงคบหาสมาคมกับชาวยุโรปอย่างใกล้ชิดสนิทสนม จนทำให้มีคณะราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าใน พ.ศ.๒๒๒๘ ด้วยเป้าประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ เข้ารีต เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

พระองค์ทรงเลือกดำเนินกุศโลบายไม่รับแต่ก็ไม่ปฏิเสธ แล้วจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคต้อนรับอย่างเอิกเกริก เพื่อสำแดงให้ชาวต่างชาติประจักษ์ในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงแสนยานุภาพของชาวสยาม ซึ่งจะเป็นคำตอบ (ที่ไม่ต้องตอบ) ได้เป็นอย่างดี ว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์อย่างไรในเรื่องการนับถือศาสนา

นับว่าได้ผลเกินคาด ด้วยขบวนพยุหยาตราชลมารคอันอลังการตระการตา ทำให้บาทหลวงตาชาร์ ซึ่งร่วมคณะมาด้วยเล่าไว้ในบันทึกการเดินทางของท่านอย่างตื่นเต้นว่า มีชาวบ้านมาร่วมงานนี้กว่าหกแสนคน โดยนั่งมาในเรือกว่าสองหมื่นลำ ในขณะที่ “โยคิม บูเว่” บาทลวงฝรั่งเศสอีกรูปหนึ่งบันทึกภาพที่เขาเห็นไว้ตอนหนึ่งว่า…

“ขบวนเรือหลวงมีเรือ ๗ ถึง ๘ ลำ มีฝีพายลำละ ๑๐๐ คน มีทหารประจำเรือรวมทั้งสิ้นประมาณ ๔๐๐ คน ตามมาด้วยข้าราชบริพารอีก ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๒๐๐ คน ซึ่งนั่งมาในเรือแกะสลักเป็นลวดลายลงรักปิดทอง บางลำก็เป็นเรือสำหรับพวกปี่พาทย์โดยเฉพาะ”

ส่วนคนที่อยู่ในเรือก็ “…เห่เรือกันอย่างสุดเสียง ทั้งยังพายเรือด้วยความสง่างามเหมือนกับเป็นของง่าย…มันเป็นภาพที่สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ… มองไปทางไหนก็เห็นแต่เรือและผู้คน ผ่านไปมาในแม่น้ำอย่างไม่ขาดสาย”

ต้องไม่ลืมว่าฝรั่งดั้งขอ (หมายถึงคนจมูกยาวและงุ้มลงเหมือนตะขอ) ไม่คุ้นเคยกับเรือพอได้เห็นเรือของชาวสยามในกรุงศรีอยุธยามหาศาลปานนั้น ก็ออกอาการตื่นตะลึง ถึงกับยกให้ชาวสยามเป็น “ชาวสะเทินน้ำสะเทินบก” ในขณะที่ เออร์เนสท์ ยัง บันทึกว่าเขาเห็นชาวสยามพายเรือแล้วเหมือนกำลังนั่งชมการแสดงกายกรรมกลางน้ำ เพราะ

“ทั้งที่เรือจอแจแน่นขนัดเช่นนี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง…ถ้าเรือคว่ำ …ก็ไม่มีใครจมน้ำตาย เขาเพียงแค่พลิกเรือกลับ แล้วนั่งแจวต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เรือเหล่านี้เล็กนิดเดียว อยู่ในน้ำโดยลำพังก็ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้แล้ว ดังนั้น ไม่มีฝรั่งคนไหนลงไปนั่งได้”

บาทหลวงบูเว่ถึงกับออกปากว่าชาวสยามนั้นเป็นคนดี แต่ชอบนั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ทำงานยกเว้นตอนพายเรือ เหมือนจะมีกำลังวังชาขึ้นมาทันที ซึ่งเรื่องนี้ อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางสู่สยามประเทศในศตวรรษต่อมา (สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ก็ลงความเห็นเช่นกันว่าชาวสยามนั้นดูเหมือนคนขี้เกียจ จะไปไหนก็ต้องนั่งเรือไป ถ้าอยู่กับบ้านก็มักนั่งเฉย ๆ ไม่ขี่ม้า หรือเดินเหินออกกำลังกายเหมือนชาวตะวันตกบ้างเลย

กระนั้นก็ตาม อองรี มูโอต์ ผู้เปิดโลกแห่งมหาปราสาทนครวัด นครธม ในกัมพูชาให้โลกประจักษ์ ก็มีคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลให้ตนเองว่า คงเป็นเพราะ “ชาวสยามถือว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะเดินไปไหนต่อไหน ในเมื่อทุกคนสามารถแจวเรือไปได้อย่างสบาย”

พูดถึงเรื่องฝรั่งกับแม่น้ำ มีเรื่องชวนให้อมยิ้มกับบันทึกของ ฟรังซัว อองรี ตุรแปง ชาวฝรั่งเศสอีกคนที่เข้ามาสยามในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อต้นกรุงธนบุรี ได้รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับสยามไว้ตามข้อมูลที่ได้รับจากบาทหลวงบรีโกต์ ประมุขมิสซังกรุงสยาม แล้วเขียนเป็นหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักร
สยาม” ตีพิมพ์ในปี ๒๓๑๔ เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า

“มีแม่น้ำใหญ่และลึกสายหนึ่ง ซึ่งไหลลงมาถึงเมืองบางกอก มีชื่อว่า “แม่น้ำ” (Maenam)แปลว่าแม่ของน้ำ เพราะไหลไปทั่วประเทศ เมืองสำคัญต่าง ๆ ของกรุงสยามก็ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำนี้”

อนุมานได้ว่าแม่น้ำที่กล่าวถึงคือเจ้าพระยาแต่คงเป็นเพราะตอนที่บาทหลวงเห็นเจ้าพระยาครั้งแรก เขาถามชาวสยามว่า “นี่คืออะไร?” แทนที่จะถามว่า “แม่น้ำนี้ชื่ออะไร?” ชาวสยามคงนึกในใจว่าบาทหลวงคนนี้ไม่รู้จักแม่น้ำหรือไร? จึงตอบไปว่า “นี่คือแม่น้ำ” ทำให้บาทหลวงเข้าใจว่าแม่น้ำนี้ชื่อ “แม่น้ำ”

เหมือนตอนฝรั่งเศสทำแผนที่ประเทศลาวส่วนหนึ่งของดินแดน “อินโดจีนของฝรั่งเศส”ด้วยวิธีสำรวจหมู่บ้านต่าง ๆ โดยมีผู้ช่วยชาวลาวคอยบอกว่า บ้านนี้ชื่อ “หนองแวง” ก็บันทึกลงในแผนที่ว่า “บ้านหนองแวง” แต่มีอยู่บ้านหนึ่งที่ผู้ช่วยชาวลาวบอก “ข้อยบ่ฮู้จัก” โดยไม่นึกว่ากาลต่อมา ปรากฏชื่อบ้าน “บ่ฮู้จัก” ในแผนที่อินโดจีนของฝรั่งเศสด้วยจากแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีก่อน ซึ่งคงมิใช่แผ่นดินแรกที่ราชสำนักสยาม จัดแบบแผนกระบวนเรือในพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค ตราบจนวันนี้ แผ่นดินล้นเกล้ารัชกาลที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สยามประเทศยังอนุรักษ์และสืบสานแบบแผนการจัดกระบวนเรือพระราชพิธีไว้อย่างสมบูรณ์แบบ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสด็จเลียบพระนครของพระมหากษัตริย์ที่เหลืออยู่เพียงแผ่นดินเดียวในโลกใบนี้

ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ นี้ จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ที่โลกจะจดจ้องมองมายังประเทศไทยอีกครั้ง ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันเป็นเบื้องปลายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งถือเป็นความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้งหนึ่งอย่างมิอาจปฏิเสธได้

ภาพวาดกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค สมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช สะท้อนความตื่นตะลึงของชาว ยุโรปที่ได้มาเห็นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจัดกระบวนเรือพยุหยาตรา ชลมารคอวดแขกบ้านแขกเมืองแบบเรือลำหนึ่งในกระบวนพยุหยาตราชลมารคกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคอันอลังการในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Related Posts

เข้าพรรษาที่เชียงคาน
บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)
มาเป็นนักดื่มฝันกับฉันไหม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com