ฮีตเดือนเก้า

ในช่วงบุญเดือนเก้า หรือบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหารคาวหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ อย่างละเล็กน้อย แล้วห่อด้วยใบตองเล็ก ๆ นำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์หรือโบสถ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว

*****

คำว่า ข้าวประดับดิน คือการดำนาโดยการเอาข้าวกล้ามาปักดำลงในนา ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการเอาต้นข้าวมาประดับดินให้ดูสวยงาม ทั้งตอนปักเสร็จแล้วใหม่ ทั้งตอนที่ต้นข้าวเขียวขจีทั่วท้องทุ่งทั้งตอนต้นข้าวออกรวงเหลืองอร่าม เมื่อถึงเดือน ๙ แรม ๑๔ คํ่า ชาวอีสานจะพากันทำบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า บุญข้าวประดับดิน หรือ บุญห่อข้าวน้อย ในวันเดือน ๙ ดับเท่านั้น เพราะในเดือนนี้พญายมบาลได้ปล่อยพวกสัตว์นรกออกมาหากิน หรือมารับส่วนบุญกับญาติพี่น้องที่โลกมนุษย์ ที่เรียกว่าข้าวประดับดินก็เพราะว่า ชาวบ้านผู้ทำบุญได้เอาห่อข้าวเล็ก ๆ ด้วยใบตองกล้วย แล้วนำไปวางไว้ตามดิน แขวนไว้ตามต้นไม้ หรือเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษเพื่อให้สัตว์นรกมาหยิบเอาง่าย ๆ ต้องนำไปวางในเวลาก่อนจะสว่างหรือประมาณ ๐๓.๐๐ – ๐๕.๐๐ น. หรือเช้ามืด หากสว่างแล้วไม่ได้เพราะพวกผีกลัวแสงสว่างจะพากันกลับนรกแล้ว

นิวัตน์ พ.ศรีสุวรนันท์, ประวัติศาสตร์ไทยลาวอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔, (กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์, ๒๕๔๓), หน้า ๓๐๘.

จะเห็นว่า “ข้าวประดับดิน” มีก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ครั้นเมื่อคติความเชื่อของพระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้ามา นักปราชญ์ฝ่ายพระพุทธศาสนาของชาวอีสานก็เลยช่วยกันหาตำนานมาประกอบเพิ่มเติม แล้วประยุกต์ความเชื่อทั้งสองเข้าผสมผสานกันจนกลายเป็นประเพณีบุญข้าวประดับดิน เพื่อทำบุญอุทิศไปหาญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วสืบมาจนถึงปัจจุบันตามคติความเชื่อเรื่องเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารดังนี้

ประติมากรรมรูปเปรตในนรกภูมิที่วัดม่วง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เปรต หมายถึง ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นอมนุษย์หรือปีศาจประเภทหนึ่งในอบาย มีหลายประเภท เช่นประเภทหนึ่งเรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต คือเปรตที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยส่วนบุญที่มีผู้ทำอุทิศให้ หากไม่มีส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ก็มักจะกินเลือดและหนองของตัวเองเป็นอาหาร เชื่อกันว่าบรรดาญาติของพระเจ้าพิมพิสารจัดอยู่ในกลุ่มเปรตประเภทนี้

ประวัติพญายมบาลปล่อยเปรตมากินส่วนบุญ

เมื่อครั้งที่อาณาเขตกาสิกะ เมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ พระเจ้าชยเสนะเป็นเจ้าผู้ปกครองเมือง เมื่อพระปุสสพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วพระพุทธบิดาเป็นผู้มีความศรัทธารับภาระในการบำรุงพระพุทธศาสนา พระอนุชาของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ พระองค์ มีอยู่วันหนึ่งพระปุสสพุทธเจ้าทรงได้รับทูลอาราธนาจากพระราชาให้เสด็จประทับอยู่ในพระราชอุทยานพร้อมภิกษุสงฆ์สามเณรประมาณ ๕๐๐ รูป เพื่อที่จะฉลองศรัทธาในการถวายภัตตาหาร แล้วพระองค์ก็เสด็จมาปฏิบัติศาสนกิจนั้นเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันเหตุการณ์ได้ดำเนินอยู่เช่นนี้จึงทำให้พระอนุชาทั้ง ๓ อยากจะทำบุญบ้างจึงได้ทูลขออนุญาตจากพระบิดาเพื่อที่จะได้ถวายทานด้วยพระองค์เองตลอด ๓ เดือน เมื่อพระโอรสประสงค์ในทางดีเช่นนี้พระองค์จึงทรงอนุญาต ในการถวายทานแก่พระปุสสพุทธเจ้าและหมู่พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย

เมื่อได้รับสิทธิ์ในการถวายทานเป็นการเฉพาะแล้วพระราชบุตรทั้ง ๓ จึงได้ไปเชิญชวนขุนคลัง และนายเสมียนพร้อมด้วยบริวารให้มาเข้าร่วมจัดหาภัตตาหารทั้งคาวและหวาน ต่อมาฝ่ายราชบุตรทั้ง ๓ ก็ได้มีศรัทธาออกผนวช แล้วมอบหมายภาระหน้าที่ให้ขุนคลังและเสมียนพร้อมภรรยารับผิดชอบ โดยรับหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกจัดหาอาหารเลี้ยงพระ เมื่อเป็นโอกาสอันดีจึงได้ชักชวนบรรดาญาติพี่น้องของตน ให้มาช่วยทำอาหารเลี้ยงพระเพราะจะได้มีโอกาสทำบุญบ้าง พวกญาติ ๆ ก็ตกปากรับคำด้วยความยินดี ตอนแรก ๆ ต่างก็ช่วยกันเป็นอย่างดี มีความขยันขันแข็งด้วยความเคารพศรัทธาในช่วงต้นบรรดาญาติของเสมียนก็ยังปฏิบัติตนสุจริตดีอยู่ แต่พอเวลาล่วงเลยไปชักเกิดความประมาท ไม่ค่อยใส่ใจในความถูกต้องเท่าที่ควร คราวเผลอ ๆ ก็พากันแอบบริโภคอาหารก่อนพระภิกษุสงฆ์บ้าง หรือบางครั้งเห็นอาหารหรือผลไม้ดี ๆ แปลก ๆ น่ากิน ก็พากันแอบขโมยกลับบ้านไปฝากคนที่บ้านบ้าง บางคนไม่เคยกินอาหารแบบชาววังก็หยิบกินหรือชิมก่อนบ้าง หรือเห็นเพื่อนก็เลยกินตามเขาบ้าง ซึ่งภัตตาหารเหล่านั้นจัดทำไว้เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์สามเณร กลายเป็นว่าภัตตาหารบางอย่างกลับเป็นเดนไปเลยก็มี อีกทั้งก็มีจิตเป็นอกุศลกรรมริษยาในพระปุสสพุทธเจ้าและพระสงฆ์สามเณรที่ได้ฉันอาหารดี ๆ ด้วย หรือบางคนก็เข้าไปทำลายอาคารที่พักของคณะสงฆ์ก็มี บรรดาญาติ ๆ ของเสมียนแอบมีพฤติกรรมเช่นนี้แรก ๆ ก็ไม่กล้าทำ พอเห็นเพื่อนทำก็เลยทำด้วยกัน ทำผิดอยู่เช่นนี้เป็นนิตย์ด้วยความละโมบ จนกลายเปน็ ความคุน้ เคยไป เมื่อนานไปก็ยิ่งไม่กลัวต่อบาปกรรมทำชั่วจนเป็นปกติไป

สถาบันบันลือธรรม. ๗๖ อุบาสก พุทธสาวกในสมัยพุทธกาล. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์), หน้า ๒๓๑.

กาลต่อมาเมื่อหมดอายุขัยตายจากชาตินี้แล้ว พระราชบุตรทั้ง ๓ ขุนคลัง เสมียน กับบรรดาญาติพี่น้องและบริวารตายไปแล้ว ด้วยผลบุญจึงได้ไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ มีวิมานและโภคทรัพย์อันเลิศรสมากมาย มีแต่ความสุขสมหวัง ส่วนบรรดาญาติพี่น้องและบริวารของเสมียนที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตได้แอบขโมยอาหารถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร เมื่อสิ้นใจแล้วกลับต้องไปเกิดในขุมนรกสิ้นกาลนาน

ครั้นหมดกรรมบางอย่างพ้นจากนรกนั้นแล้ว ผลกรรมที่เหลือก็ส่งให้ไปเกิดเป็นเปรต จำพวกหนึ่งชื่อว่า ปรทัตตูปชีวี คือเปรตจำพวกที่อาศัยผลบุญของญาติเป็นอาหารในการดำรงชีวิต ที่เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัยนับได้ว่าเป็นเปรตที่มีเศษอกุศลที่เบา มีจิตใจสามารถที่จะระงับความทุกข์โศกได้บ้าง จึงสามารถที่จะรับรู้บุญที่พวกญาติอุทิศไปให้ เมื่อรับรู้แล้วตั้งใจอนุโมทนาผลบุญนั้น ความอดอยากยากแค้น ความทุกข์ทรมานก็จะเบาลงหรือหายไป ด้วยอานิสงส์ผลบุญของพวกญาติที่อุทิศให้ ในทางกลับกันถ้าไม่มีพวกญาติระลึกถึงและไม่อุทิศผลบุญให้ เปรตจำพวกนี้ก็จะพากันเที่ยวเร่ร่อนไปเรื่อยเพื่อแสวงหาส่วนบุญจากพวกญาติคนต่อ ๆ ไป แต่ถ้ายังไม่ได้อีกก็จะเวียนกลับมารอรับใหม่อยู่เช่นนี้ พบว่าเปรตพวกนี้จะวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ หมู่ญาติ ด้วยความหวังว่า เมื่อไหร่หนอพวกญาติ ๆ ของเราจะทำบุญแล้ว คงจะอุทิศส่วนบุญมาให้แก่เราบ้างไม่มากก็น้อย…”

หากว่าเมื่อไหร่พวกญาติทำบุญแล้วไม่ได้มีเจตนาอุทิศผลบุญมาให้ พบว่าเปรตพวกนี้ก็จะเดินวนเวียนไปมา ด้วยความผิดหวังหิวกระหายทุรนทุราย หนัก ๆ เข้าอาจถึงกับเป็นลมล้มลงหมดสติไป พอมีลมพัดมากระทบกายเข้า ก็กลับฟื้นคืนทันที ด้วยความหวังจึงพยายามคิดปลอบใจตนเองว่า คงอีกไม่นานดอก จะเป็นวันนี้หรือวันหน้า พวกญาติเราจะระลึกเราได้สักวัน ญาติเราเขาคงจะระลึกได้แล้วจะทำบุญอุทิศส่วนบุญให้เราแน่เลย” เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วเปรตจำพวกนี้ก็จะทนอดอยากหิวกระหายต่อไปอีกตามเคยด้วยความหวังว่า สักวันตนจะได้อาหารจากพวกญาติของตน

ปรทัตตูปชีวีเปรตเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งทำกรรมด้วยกันในคราวที่เป็นเสมียนนั้น ได้รอคอยผลบุญของพระเจ้าพิมพิสารแล้วหลายรอบ วนเวียนไปหาญาติท่านอื่น ๆ บ้างแต่ก็ไม่เคยได้รับสักทีด้วยความอดอยากหิวกระหายทรมานมานานแสนนาน

www.watpanonvivek.com

เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาจนถึงสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้าแล้วนั้น หมู่ชนผู้คนทั้งหลายพอได้ฟังพระสัทธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว ต่างก็พากันเกิดปีติยินดีมีศรัทธา แล้วถวายทานแก่หมู่สงฆ์สามเณรที่มีพระกกุสันธพุทธเจ้าเป็นประธานแล้วพากันอุทิศบุญกุศลให้แก่พวกญาติของตนที่ล่วงลับไปแล้ว ฝ่ายพวกเปรตปรทัตตูปชีวีบางพวกที่เป็นญาติก็ได้อนุโมทนาผลบุญจากญาติแล้วต่างก็พากันแสดงความชื่นชมยินดีสาธุการ พวกเปรตเหล่านั้นก็ยกมือประนมเหนือเศียรเกล้า กล่าวสาธุรับเอาผลบุญกุศลจากญาติพี่น้องที่อุทิศส่งมาให้ แล้วได้พ้นจากสภาพของเปรตไปเกิดตามแต่บุพกรรมของตน หลังจากนั้นเปรตที่ไม่มีญาติก็ชักชวนกันไปเข้าเฝ้าพระกกุสันธพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกญาติพี่น้องของพวกข้าพระบาท จะระลึกถึงแล้วทำบุญอุทิศมาให้พวกข้าพระบาท เพื่อให้พ้นจากสภาพเปรตนี้เมื่อใดพระเจ้าข้า…?”

เมื่อพระกกุสันธพุทธเจ้าทรงสดับเช่นนั้นแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนเปรตทั้งหลาย คงเหลือเวลาอีกนานพอสิ้นกาลศาสนาของเราแล้ว ท่านทั้งหลายก็ยังมีสภาพของเปรตอยู่ เมื่อเราเข้านิพพานไปแล้วสิ้นเวลานานจนแผ่นดินสูงขึ้นได้ ๑๖ กิโลเมตร จะมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โกนาคมนะ พวกท่านทั้งหลายจงไปถามพระโกนาคมนพุทธเจ้าพระองค์นั้นอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกันเถิด… หลังจากสิ้นเขตศาสนาของพระกกุสันธพุทธเจ้าแล้ว กาลล่วงเลยมานับเป็นเวลาพุทธันดรหนึ่ง (เวลาระหว่างพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งกับอีกพระองค์หนึ่งบังเกิดขึ้น)

ในกาลครั้งนั้นเมื่อมาถึงศาสนาของพระโกนาคมนพุทธเจ้าแล้ว พวกเปรตเหล่านั้นก็ได้รับโอกาสเข้าไปทูลถามพระโกนาคมนพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนเปรตทั้งหลาย คงเหลือเวลาอีกนาน พอสิ้นกาลศาสนาของเราแล้ว ท่านทั้งหลายก็ยังมีสภาพของเปรตอยู่ เมื่อเราเข้านิพพานไปแล้วสิ้นเวลานานจนแผ่นดินสูงขึ้นได้ ๑๖ กิโลเมตร จะมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ พวกท่านทั้งหลายจงไปถามพระกัสสปพุทธเจ้าพระองค์นั้นอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน…”

เมื่อถึงสมัยพระศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้าแล้วพวกเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารที่ได้อดทนอดกลั้นความหิวกระหาย และมีความทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานานนั้นมีอยู่วันหนึ่งพวกเปรตเหล่านั้นก็พากันเข้าไปทูลถามแล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนเปรตทั้งหลายคงเหลือเวลาอีกนาน พอสิ้นกาลศาสนาของเราแล้ว ท่านทั้งหลายก็ยังมีสภาพของเปรตอยู่ เมื่อเราเข้านิพพานไปแล้วสิ้นเวลานาน จนแผ่นดินสูงขึ้นได้ ๑๖ กิโลเมตร จะมีพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคตมะ พวกท่านทั้งหลายจงไปถามพระโคตมพุทธเจ้าพระองค์นั้นอีกครั้งหนึ่งก็แล้วกันถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมาก แล้วในกาลนั้นจะมีญาติของพวกท่านทั้งหลาย มาเกิดเป็นพระราชาทรงนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร แล้วท่านจะได้สดับพระสัทธรรมจนเข้าถึงธรรมมีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จะเป็นผู้สร้างวัดเวฬุวันมหาวิหารพร้อมด้วยปัจจัย ๔ ถวายพระสงฆ์สามเณร มีพระโคตมพุทธเจ้าเป็นประธานสงฆ์แล้วพระโคตมพุทธเจ้าจะนำพาญาติของเธออุทิศส่วนบุญกุศลมาให้แก่เธอทั้งหลาย เมื่อพวกเธอทั้งหลายอนุโมทนารับผลแห่งทานครั้งนั้นแล้ว ก็จะพาพ้นจากความทุกข์เดือดร้อนที่สืบมานานหลายกัปนี้ และสภาพเปรตนี้ก็จะอันตรธานหายไปจากตัวเธอทั้งหลายในกาลนั้น…”

เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าทรงมีพระดำรัสตรัสเช่นนี้แล้ว พวกเปรตทั้งหลายต่างก็พากันยินดีอย่างที่ไม่เคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อน พร้อมพากันกล่าวสาธุการว่า ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินข่าวดีเช่นนี้มาก่อนเลย เป็นข่าวมงคลแล้วพวกเราเอย ภาวะเปรตที่แสนทุกข์นี้จะสิ้นสุดอีกไม่ช้าแล้ว ความเดือดร้อนหิวกระหายทุกข์ทรมานจะผ่อนคลายแล้วด้วยกุศลผลบุญของพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นญาติของเรา แม้ว่าพวกเราจะต้องทนรอไปจนกว่าจะหมดเวลาพุทธันดร ก็ยังดีกว่าที่พวกเราจะตั้งตารอโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ความหวังของพวกเรามองเห็นทางรอดแล้ว ช่างเป็นข่าวมงคลเป็นข่าวที่ดีจริง ๆ …!

เมื่อพวกเปรตเหล่านั้นต่างพากันแสดงออกด้วยความยินดี ตามข่าวที่ได้รับรู้ด้วยความหวังนี้จนทำให้ความทุกข์เดือดร้อนความหิวกระหายหมดไปชั่วขณะอย่างไม่รู้ตัว และได้ผ่อนคลายความทุกข์ลงไปเป็นเวลาที่น่ายินดียิ่งนัก

พระโกนาคมนพุทธเจ้า
พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้สดับฟังเสียงเรื่องเปตวัตถุ
(จิตรกรรมฝาผนังภายในวัดหอเชียง นครหลวงพระบาง สปป.ลาว)
พระกกุสันธพุทธเจ้า

พระเจ้าพิมพิสารทำบุญถวายวัดเวฬุวันให้แก่สงฆ์แล้วไม่ได้กรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลให้ใคร

วันต่อมาพระเจ้า พิมพิสารทำบุญเลี้ยงพระเป็นการใหญ่อีกครั้งแล้วกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลให้เปรตที่มาขอส่วนบุญ (ภาพโดย เหม เวชกร)

ต้นตำนานการทำบุญอุทิศให้เปรตญาติ

ในสมัยพุทธกาล ญาติที่เป็นเสมียนของพวกเปรตเหล่านั้นก็ได้มาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เจ้าผู้ปกครองกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วไม่นานก็ได้เสด็จมาโปรดชฎิลสามพี่น้อง (แต่ก่อนเกิดเป็นราชบุตรทั้ง ๓ และขุนคลังได้เกิดมาเป็นวิสาขาอุบาสก ส่วนภรรยาขุนคลังเกิดเป็นธิดาเศรษฐีชื่อว่า ธัมมทินนา) แล้ว จึงเสด็จมาพักอยู่สวนตาลหนุ่ม ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับข่าวจึงได้เสด็จมาพร้อมกับประชาชนจำนวนมากแล้วต่างก็ทำการรับซึ่งกันและกัน แล้วพระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมให้ฟัง แล้วพระเจ้าพิมพิสารประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เชิญพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ได้ถวายสวนไผ่ หรือเรียกอย่างว่า กัลปทนิวาปสถาน คือสถานที่ให้เหยื่อแก่กระแต ที่ตั้งอยู่นอกเมืองสร้างเป็นวัดถวายเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระองค์ ทรงสร้างอารามเวฬุวันถวายแล้ว แต่ไม่ได้ทำการกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้แก่พวกญาติที่เป็นเปรต ที่ได้รับความทุกข์ยากทรมานมาช้านาน พวกเปรตเหล่านั้นจึงมาเข้าฝันพระเจ้าพิมพิสาร ให้เห็นเปรตมาส่งเสียงร้องต่อหน้าต่อตา และแสดงตนอย่างน่าเกลียดน่ากลัว เพื่อขอส่วนบุญกุศลที่พระองค์ทำไปแล้วนั้น

พระเทพดิลก. พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๑๘.

www.dhammathai.org

วิ.ม. ๔/๕๙/๗๑.

พอเช้าวันใหม่พระเจ้าพิมพิสารจึงได้เสด็จไปวัดเวฬุวัน ทรงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ผู้เจริญเมื่อคืนข้าพระองค์ฝันร้าย ฝันเห็นสัตว์ประหลาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน…

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ทรงอย่าได้กลัวเลย เสียงที่ทรงได้ยินนั้นจะไม่เป็นผลร้ายอันใด ที่เป็นสัตว์ประหลาดนั้นเป็นพวกเปรต ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นพระญาติของมหาบพิตรในครั้งสมัยพระปุสสพุทธเจ้าพวกเขามาขอส่วนบุญกุศล มหาบพิตรควรทำบุญกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลไปให้พวกเขา แล้วเขาจะไม่มารบกวนอีกต่อไป

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้สดับเช่นนี้แล้วจึงได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาพร้อมกับพระสงฆ์ทั้งหลาย เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวังวันรุ่งขึ้นแล้วจึงเสด็จกลับ พอถึงรุ่งเช้า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งหลาย ได้เสด็จไปยังพระราชฐานของพระเจ้าพิมพิสารเพื่อรับมหาทาน ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารพร้อมบริวารก็ได้ทรงถวายสักการะต้อนรับเป็นอย่างดีด้วยความเลื่อมใสศรัทธา แล้วจึงทรงถวายภัตตาหารทั้งหวานคาว

หลังจากที่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ก็ทรงแนะให้พระเจ้าพิมพิสารได้หลั่งนํ้า (รับทักษิณานุประทาน) อุทิศส่วนบุญไปให้แก่พวกเปรตด้วยคำว่า อิทัง เม ญาตีนังโหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” แปลว่า ขอสิ่งนี้จงมีแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด…

ครานั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงเนรมิตให้พระเจ้าพิมพิสารและบริวารได้เห็นเปรตทั้งหลายว่าเมื่อได้รับผลบุญจากญาติอุทิศให้แล้วมีสภาพเช่นไร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งนํ้าแล้ว ขณะนั้นสระนํ้าที่เต็มด้วยดอกปทุมก็เกิดมีเปรตเหล่านั้นเต็มไปหมดพร้อมได้ดื่มกินและอาบชำระล้างร่างกาย บรรเทาความกระหายจนหมดความกระวนกระวายไป และมีผิวพรรณเหลืองอร่ามเจริญหูเจริญตา ร่างกายที่พิกลพิการก็กลับคืนดังคนปกติทั่วไปอีกทั้งยังได้รับอาหารที่เป็นทิพย์จนทำให้ร่างกายที่ผอมก็กลับกลายมีนํ้ามีนวลอ้วนพี มีความสุขอิ่มเอิบขึ้นมาทันตาเห็น แต่ว่าพวกเปรตเหล่านั้นจะมีสภาพร่างกายที่ผ่องใสเป็นสุขแต่ก็ยังไม่มีผ้านุ่งผ้าห่ม ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงเห็นเช่นนั้นจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะทำประการใด

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ให้ถวายผ้าสบงจีวรและผ้านิสีทนะแก่พระภิกษุสงฆ์” แล้วพระเจ้าพิมพิสารจึงมีรับสั่งให้บริวาร จัดหาผ้านุ่งผ้าห่มและผ้ารองนั่งนำมาถวายแก่ภิกษุสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้วทรงกรวดนํ้าอุทิศผลบุญไปให้แก่บรรดาพวกเปรตทั้งหลาย ด้วยอานิสงส์ผลบุญนั้นจึงทำให้เกิดมีผ้านุ่งห่ม และมีที่หลับนอนพร้อมที่นั่ง และยานพาหนะปราสาทอันเป็นทิพย์ พร้อมวิมานที่ปรากฏบนอากาศแก่พวกเปรตเหล่านั้น หลังจากได้รับผลบุญของญาติที่เป็นเจ้าผู้ปกครองเมืองอุทิศมาให้แล้วจึงออกปากสาธุการแล้วพากันเข้าไปอยู่ในวิมานที่ปรากฏอยู่บนอากาศนั้น

หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารได้เห็นอานิสงส์การให้ทาน แล้วได้อุทิศส่วนบุญไปให้แก่พวกเปรตที่เป็นญาติทำให้พ้นจากความทุกข์จึงทรงยินดีมาก จนทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในการทำบุญมากยิ่งขึ้น จึงทรงทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายมารับทานต่ออีก ๗ วัน แล้วพระพุทธเจ้าพร้อมหมู่สงฆ์ก็ได้มาฉลองศรัทธาให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร จึงทรงอนุโมทนาว่า การทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญแก่เปรตนั้น ชื่อว่าเป็นการบูชาญาติอย่างยิ่ง”

นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธามีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญข้าวประดับดินร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์พระเจ้าพิมพิสารทำบุญอุทิศไปให้ญาติ อีกทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ตายไปแล้วในครั้งนั้น ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ในช่วงกลางพรรษาในฤดูฝน และมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่า บุญเดือนเก้า

ดังผลกรรมดังกล่าวนี้จึงมีอิทธิพลต่อความคิด และการปฏิบัติของพระสงฆ์และชาวอีสาน จึงกลายเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกต่อการปฏิบัติในงานบุญ จึงเป็นที่มาของการทำบุญเดือนเก้า จากเรื่องที่พระเจ้าพิมพิสารและบริวารได้ทรงสดับพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดจนเข้าถึงพระโสดาบัน จนมีจิตศรัทธา แล้วทรงถวายอุทยานเวฬุวันพร้อมสร้างเป็นวัด เพื่อให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายได้อาศัยเจริญสมณธรรม ต่อมาคืนวันหนึ่งในขณะที่ทรงกำลังบรรทมก็ทรงได้ยินเสียงเปรตที่เป็นญาติร้องโหยหวนอย่างน่ากลัว พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ทำบุญกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้ แล้วทำให้พ้นจากเวรกรรมที่ได้ทำมาเมื่อครั้งสมัยพระปุสสพุทธเจ้า นับตั้งแต่นั้นมา ชาวพุทธจึงนิยมทำบุญกรวดนํ้าแล้วอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ดังนั้นผู้คนในสมัยก่อนจึงเข้มงวดห้ามลูกหลานไม่ให้ไปแตะอาหารที่จะนำไปถวายพระภิกษุสามเณร จึงมีคำกล่าวที่มักพูดเสมอว่า ไอ้นี่จะกินก่อนพระด้วยเป็นเปรตพิมพิสาร”

เสฐียรพงษ์ วรรณปก. พุทธสาวก พุทธสาวิกา. พิมพ์ ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๕๕), หน้า ๑๘๒.

จากคติความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา ผลบุญจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถวายผู้อุทิศ และจะเป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย พร้อมทั้งญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อผู้ถวายได้อุทิศผลบุญจะมีแก่ผู้ให้ผู้ถวายหรือผู้อุทิศด้วยแล้วแบ่งปันไปให้กับเปรตและญาติทั้งหลาย ผู้ถวายจะเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้าส่วนเปรตผู้ได้รับแล้วจะพ้นจากสภาพความเป็นเปรตด้วยการยินดีในบุญที่ญาติอุทิศมาให้ พระพุทธเจ้าจึงให้มีการทำทานด้วยข้าว นํ้า ผ้านุ่งห่ม และเครื่องใช้แก่พระสงฆ์สามเณรแล้วกรวดนํ้าอุทิศส่วนบุญไปหาพวกเปรต เมื่อได้รับผลบุญแล้วก็พ้นจากความทุกข์ทรมาน แล้วไปเกิดในเมืองสวรรค์ตามปรารถนาปราชญ์ชาวอีสานทั้งหลายจึงพากันทำบุญข้าวประดับดินเป็นทานสำหรับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ จนกลายเป็นประเพณีแต่นั้นสืบมา

บุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านส่วนหนึ่งนิยมประกอบพิธีกรรม ในเวลากลางคืน

การกรวดน้ำคือ การตั้งใจอุทิศส่วนกุศลอันจะพึงเกิดจากการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยวิธีการหลั่งน้ำ พร้อมกับกล่าวคำอุทิศ ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลตอนที่พระเจ้าพิมพิสารหลั่งนํ้าอุทิศให้แก่เปรตซึ่งเคยเป็นพระประยูรญาติของพระองค์ และตอนถวายเวฬุวันเป็นที่ประทับ โดยการหลั่งนํ้าลงสู่แผ่นดินเป็นการแสดงกิริยายกให้ (ภาพโดย เหม เวชกร)

Related Posts

ผักปลูกในสารละลาย…มุมมองจากธรรมชาติ
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ฮีตเดือนห้า
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com