ความหมายของขันหมากเบ็ง ลาวล้านช้างโบราณ

ความหมายของขันหมากเบ็ง ลาวล้านช้างโบราณ

ขันหมากเบ็งจ์ หรือ ขันหมากเบ็ง เป็นเครื่องสักการะชั้นสูง มีมาแต่โบราณในอาณาจักรไท ทั้งในล้านนา (หมากสุ่ม หมากเบง) ล้านช้าง (ขันหมากเบ็ง หมากเบญจ์) เป็นบายศรีโบราณ อายุนับหลายพันปี มีจารึกในใบเสมาทวารวดี ประวัติที่ชัดเจนของขันหมากเบ็งจ์ตามหนังสือผูกใบลานกล่าวถึงขันหมากเบ็งจ์ ดังนี้

“ศักราชได้สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช พระเจ้าแผ่นดินชวาเชียงทอง (ล้านช้าง) มีอัครมเหสีจากกรุงกัมปูชานครวัดนครทมนามว่า นางแก้วเกงยา (นางแก้วกัลยา) ตามจาฮีตดั้งเดิมในราชอาณาจักรนั้นตั้งมีการบรวงสรวงผีมเหศักดิ์หลักเมืองเพราะล้านช้างยังนับถือผีอย่างกล้าแข็ง พระองค์ทั้ง ๒ เสร็จประทับในพลับพลา ปะรำพิธีเลี้ยงผีเมืองผีแถนหลวงของล้านช้าง ตามจารีตนั้นบรรดา เสนาอำมาตย์ ต้องฆ่าควายเพื่อเซ่นสรวงผีทั้งหลาย ด้วยการแทงคอ ให้เลือดบูชา ผีที่นับถือเหล่านั้นเมื่อพระนางแก้วเกงยาทอดพระเนตร จึงเกิดสมเพชเวทนาในสัตว์ทั้งหลาย จึงใช้ ความให้นางข้าหลวงของไปทูลพระราชบิดาที่กรุงกัมปูชา เพื่อนำเอาพระศาสนามาประดับไว้ ในล้านช้าง ครานั้นกรุงกัมปูชาจึงได้พระราชทานคำภีร์พุทธศาสนา นำพระสงฆ์และพระบาง(พระพุทธรูป) มาประดิษฐานไว้ที่ชวาเชียงทอง”

ชาวเมืองไพร่ฟ้าเมื่อได้รับรู้ข่าวการมาถึงของพระบางในอาณาจักรล้านช้าง ต่างโสมนัสปลื้มปีติเป็นอันมาก จึงพร้อมใจกันประดิษฐ์ขันหมากเบ็งด้วยใบตองดอกไม้ หมากพลู เพื่อต้อนรับสักการบูชา การมาของพระบางปีนั้น ชวาเชียงทองจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางแต่นั้นเป็นต้นมาอานิสงส์การถวายขันหมากเบ็งจ์คือ จะได้ไปบังเกิดในสรวงสวรรค์ เสวยสุขแสนกัป มีปราสาทสูงหมื่นโยชน์ เป็นที่รักของเทวดาอินทร์ พรหม ทั้งปวง และไปไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีตลอดอสงไขยภัทรกัป เมื่อละจากสรวงสวรรค์แล้วก็จะได้เป็นปัจเจกบุคล อริยบุคคล ตามปารมีนั้นแล

หมากเบ็ง หรือขันหมากเบ็ง เป็นเครื่องสักการะของวัฒนธรรมล้านช้าง เดิมใช้สำหรับบูชาในพระพุทธศาสนา คงมีมาเป็นพันเป็นร้อยปีแล้วกระมัง เพราะในหลักเสมาสมัยทวารวดีของอีสานก็พบว่ามีลวดลายทำนองกะจังกลีบบายศรีปรากฏอยู่บ้าง หมากเบ็งมีคติมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแก่นสารสารัตถะของคำสอนเรื่อง ขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ คำว่าหมาก หมายถึง กอง, หน่วย, ผล คำว่าหมาก ณ ที่นี้ ไม่เกี่ยวกับหมากสำหรับเคี้ยวหรือหมากที่ใช้ทำหมากสุ่มในวัฒนธรรมล้านนาแต่ประการใด และคำว่ามากนี้ตรงกับคำว่า ขันธ์ ในภาษาบาลี ส่วนคำว่า เบ็ง บ้างเขียนเป็น เบ็งจ์ หรือ เบงจ์หมายถึง จำนวน ๕ หรือเลข ๕ มาจากคำว่า เบญจ ปัญจ ในภาษาบาลี และมีความหมายเดียวกันกับคำว่า เบ็นเบญเบ็ญ ในภาษาลาวที่รับมาจากภาษาบาลี ดังนั้นคำว่า หมากเบ็ง จึงหมายถึง กองทั้ง ๕ ซึ่งหมายถึง ขันธ์ ๕ ในพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นกองที่รวมกันเข้าเป็นสัตว์ทั้งหลายในโลก หากสัตว์ไม่มีขันธ์สัตว์ก็ไม่เป็นสัตว์ บุคคลก็ไม่มีบัญญัติ ไม่เป็นตัวเป็นตนมาเสวยชาติเสวยภพ ธรรมทั้งหลายก็อนุเคราะห์แลสงเคราะห์เข้าในขันธ์ ๕ นี้เอง มีอาทิ ธาตุ ๔ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ นักปราชญ์ชาวลาวล้านช้างทั้งหลายทั้งมวลจึงเอาขันธ์ทั้ง ๕ ในตนประดิษฐ์ถ่ายทอดออกมาเป็นหมากเบ็ง เพื่อน้อมสักการะพระไตรรัตน์ทั้ง ๓ เป็นการรำลึกถึงพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสสอนให้สัตว์ทั้้งหลายรู้จักรูปขันธ์ทั้ง ๕ ดังสำนวนผญาธรรมว่า “ท่านเพิ่นผู้ฮู้รู้ธรรมจึ่งเอาธรรมเข้าไหว้สาบานนบธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

รู้ธรรมะคือ รู้ขันธ์ ๕ เอาธรรมะคือ เอาหมากเบ็งตัวแทนแห่งขันธ์ ๕ ไหว้ธรรม คือ ไหว้พระรัตนตรัย โดยลักษณธรรมแล้วขันธ์ ๕ เป็นของไม่เที่ยงหรืออนิจจังเป็นทุกข์คือทุกขัง ไม่มีตัวตนคืออนัตตา อันหมายถึงกฎไตรลักษณ์ทั้ง ๓ โบราณจึงเอาต้นกล้วยมาทำหมากเบ็งเพราะต้นกล้วยและใบกล้วยเป็นตัวแทนของไตรลักษณ์เวลาปลูกกล้วยก็ไม่มีรากให้เกิด ไม่มีแก่นให้หา แกะเปลือกออกก็แกะไปเรื่อยๆ หาแก่นไม่พบ ไม่มีสารัตถะอันใดให้ยึดถือ ต่างจากไม้อื่นที่มีราก มีเปลือก มีแก่น ดังนั้น ช่างล้านช้างโบราณจึงเอาปรัชญาธรรมแฝงคตินี้มาสร้างเป็นหมากเบ็งนั่นเอง

ส่วนคำว่า ขันหมากเบ็ง นั้นต่างจากคำว่า หมากเบ็ง ก็คือ หมากเบ็งหมายถึงการเอาแต่ตัวหมากเบ็งมาสักการะ ส่วนขันหมากเบ็งนั้นต้องเอาเครื่องทั้งหลายมาประกอบและเอาขันมารองเพื่อสักการะ ต่างกันก็แต่เท่านี้ การสร้างหมากเบ็งนั้นช่างโบราณว่าเป็นพุทธศิลป์อย่างหนึ่งต้องประกอบด้วยส่วนทั้ง ๗ จึงสมบูรณ์ คือ ตีน ๑ แก่น ๑ กีบ ๑ ซวย ๑ แซม ๑ แส้ ๑ ขัด ๑ จอม ๑

ตีน คือใบตองหุ้มแก่นกล้วยตีนหมากเบ็ง แก่น คือ ลำกล้วยที่ถูกใบตองหุ้มเป็นตีนหมากเบ็ง กีบ คือกลีบใบตองพับเป็นเหลี่ยมปลายแหลมประดับทิศเป็นช่อชั้นของหมากเบ็ง ซวย คือกรวยอันเป็นแกนกลางของหมากเบ็งที่มีลักษณะ “ปลายแหลม ตีนกว้าง ปากกวง” แซมคือมวลบุปผามาลีมงคลทั้งหลายที่ “แซมปลายกีบสอดตีนกวย” ของหมากเบ็ง เป็นต้นว่า สอนฮัก (เกสรดอกรัก), ดอกฮัก, พุดทะซาดพิดซะยา (ดอกพุด), จำปา, จำปี, สามปี และดาวเฮือง เป็นต้น แส้ คือก้านพร้าวยาวตรงปลายยอดสำหรับร้อยดอกไม้ประดับหมากเบ็งขัด คือ ก้านพร้าวสั้นตัดปลายแหลมเป็นเข็มใช้แทงหรือกลัดส่วนทั้งหลายให้ติดกัน จอม คือ ส่วนยอดที่ประดับร้อยดอกไม้ทั้งหลายให้ยาวเรียวขึ้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก Facebook ของ อภิชิต แสนโคตร บัณฑิตสาขาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ; ผู้สนใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอีสาน – ล้านนา

***

คอลัมน์ ส่องซอด นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๑| กันยายน ๒๕๕๘

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ฮีตเดือนสิบ เกิดจากคติเรื่อง “เมียหลวงอิจฉาเมียน้อย”
“เจนละ” ชนะ “ฟูนัน” ยํ่าปราสาทวัดพู จำปาศักดิ์ ต้นกำเนิดอาณาจักรเจนละ
ความลับของ ‘ดอกเข้าพรรษา’
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com