เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ : สวัสดีปีใหม่

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๑
ปีที่๒ เดือนมกราคม ๒๕๕๗
“ปกรณ์ ปกีรณัม”

คำว่า “ปีใหม่” …คนเราอาศัยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ กำหนดวันเวลาเป็นเดือน เป็นปี ต่อมาสังเกตช่วงอากาศร้อน ฝนตก และอากาศหนาวกำหนดฤดูกาล การจะเริ่มต้นนับว่าช่วงไหนเป็นปีใหม่นั้น ต่างกลุ่มต่างก็ขึ้นปีใหม่กันตามความนิยมที่เห็นว่าเหมาะสมของกลุ่มของตน

ชาวไอยคุปค์ เฟนิเชียนและอิหร่าน เริ่มปีใหม่ราววันที่ ๒๑ กันยายน ชาวโรมันโบราณและโยนกสมัยก่อนพุทธกาล เริ่มปีใหม่ราววันที่ ๒๑ ธันวาคม ชาวเยอรมันแบ่งปีเป็นสองฤดู คือฤดูหนาวกับฤดูร้อน หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็จะร่วมชุมนุมฉลองขึ้นปีใหม่ในราวปลายเดือนพฤศจิกายน ในยุคกลางตอนต้น ชาวคริสเตียนเริ่มปีใหม่ วันที่ ๒๕ มีนาคม ชาวอังกฤษเชื้อสายแองโกลแซกซอน เริ่มปีใหม่ วันที่ ๒๕ ธันวาคม

ต่อมามีหลายท่านนำปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขโดยเพิ่มวันลดวัน ให้ตรงกับฤดูกาลยิ่งขึ้น ปฏิทินแบบใหม่นี้ให้ชื่อว่า ปฏิทินแกรโกเรียนประกาศใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปี

ทุกชาติทุกภาษา มีความเชื่อกันว่า การขึ้นปีใหม่เป็นการสลัดของเก่าทิ้งไปและรับของใหม่เข้ามาเช่นชาวอิหร่านเชื่อว่าปีใหม่นั้นเป็นสมัยแห่งการฉลองชัยของพระสุริยะเทพ และของธรรมชาติตลอดจนของมวลมนุษย์ ชาวซูลู มีประเพณีเบิกปีใหม่ด้วยการกินเลี้ยงผลไม้ที่ผลิผลครั้งแรก พวกผู้ชายต้องกลืนกินเนื้อวัวสด ๆ จะได้มีกำลังกายแข็งแรงและอุดมสมบูรณ์

ชาวจีโรกี (อินเดียแดงพวกหนึ่ง) เมื่อก่อนวันเริ่มขึ้นปีใหม่นั้น จะก่อกองไฟมหึมา แล้วเก็บรวบรวมเสื้อผ้าและเครื่องใช้เก่า ๆ เผาหมด เก็บกวาดห้องนอน จากนั้นดับไฟเก่ากวาดเถ้าถ่านไปทิ้ง เมื่อวันขึ้นปีใหม่จึงก่อกองไฟใหม่แทน แล้วเฉลิมฉลองเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน เต้นรำ ปล่อยนักโทษ เพื่อเทพเจ้าโปรดประทานให้เขามีชีวิตอยู่ได้ในปีต่อไป

ชาวอินเดียแดงในอเมริกาเหนือ ชาวจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายชาติ มีความเชื่อคล้ายกัน

ชาวอังกฤษโบราณ เมื่อถึงวันปีใหม่จะกวาดปล่องไฟให้สะอาด เตรียมรับโชคที่จะมีมาทางปล่องไฟ บางคนถึงกับปีนขึ้นไปเฝ้าดูบนหลังคาว่าปีใหม่ที่จะย่างเข้ามานั้น จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

จารีตประเพณีของไทยแต่เดิมได้ถือตามคติแห่งพุทธศาสนา นับวันแรม ๑ คํ่า เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเปลี่ยนไปตามคติพราหมณ์ ใช้วันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ ทางราชการนิยมใช้ปฏิทินทางสุริยคติ จึงถือเอา วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่

จนกระทั่งปี ๒๔๘๓ รัฐบาลประกาศว่า “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บรมวงศานุวงศ์คณะสงฆ์และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวลนิยมถือวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ให้ถือเป็นจารีตประเพณีของชาติแต่บัดนี้ เป็นต้นไป และขอให้ปีใหม่วันเริ่มขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ นี้ จึงเป็นเวลารุ่งอรุณแห่งชาติ ให้ชาติไทยได้รับความเจริญและก้าวหน้าขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง ให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เทอญฯ”

ปี ๒๕๕๗ ตามปีนักษัตร มีม้าเป็นสัญลักษณ์คนเกิดปีมะเมียธาตุไฟ ทิศใต้เป็นทิศประจำปี และเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ปีนี้ ขอให้ท่านผู้อ่าน สุขภาพแข็งแรง รํ่ารวย มีความสุข ตลอดปีใหม่และตลอดไปครับ

Related Posts

เสมา “พิมพาพิลาป”
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)
ทางอีศาน 21 : ฟ้อนรับปีใหม่

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com